สรุปหนังสือ ทักษะความสุข: สิ่งที่เราพยายามตามไล่ อาจอยู่ใกล้เรากว่าที่คิด

พอพูดถึงความสุข เชื่อว่าน่าจะเป็นสิ่งที่ใครหลาย ๆ คนตั้งเป้าอยากได้กัน ก็ใครล่ะจะไม่อยากมีความสุข?

หลายคนพยายามออกตามหาความสุข ทว่าทำไมนะยิ่งตามเท่าไรกลับรู้สึกว่าความสุขมันห่างไปเรื่อย ๆ ไม่จีรังยั่งยืนเลย

ในหนังสือ “ทักษะความสุข” ของคุณนิ้วกลม ได้รวบรวมแง่มุมของความสุขจากแหล่งต่าง ๆ ไว้ มาประกอบกันเป็นกึ่ง ๆ แนวคิดและทฤษฎีต่าง ๆ ที่ชาวมนุษย์ได้รู้เกี่ยวกับความสุข ว่าแท้จริงแล้วรูปร่างหน้าตามันเป็นยังไง แล้วทำยังไงเราถึงจะรักษามันไว้ได้

ในโพสนี้เลยอยากจะสรุปเนื้อหามาให้ทุกคนได้รับรู้ไปพร้อม ๆ กันสักหน่อย


ตัวตนและจิตใจ

ความสุขคืออะไร?

ถ้าเราไม่รู้ว่าความสุขคืออะไร มันก็เหมือนเรากำลังตามหาอะไรสักอย่างที่เราไม่เคยเห็นแม้แต่หน้าค่าตา

หลายคนมักสับสนระหว่างความสุข กับ ความสนุก คิดว่ามันเป็นสิ่งเดียวกัน เลยพยายามหาสิ่งเร้าต่าง ๆ มาสร้างความบันเทิงให้ตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการออกไปเที่ยว ดูหนังฟังเพลง นัดเจอเพื่อน ปาร์ตี้ หรือแม้กระทั่งควานหาสารเสพติดมาช่วย

ก็ไม่ได้บอกว่าทำสิ่งเหล่านี้ไม่ได้นะ แต่สังเกตมั้ยว่าทำไมพอทำกิจกรรมเหล่านั้นแล้ว มันมีความรู้สึกหวือหวาแค่ตอนเราดำเนินกิจกรรมนั้น แต่หลังจากนั้นล่ะ? ก็กลับมาเซ็ง ๆ เนือย ๆ เหมือนเดิม อาจจะเศร้าด้วยซ้ำเพราะกิจกรรมสนุก ๆ จบลงแล้ว

ความสนุกนั้นอาจเปรียบได้เหมือนความรู้สึกตื่นเต้น หวือหวา เร่าร้อน คงอยู่ไม่นาน ขณะที่ความสุขนั้นจะเป็นความเนิบนิ่ง สงบเย็น คงอยู่ได้เรื่อย ๆ ถ้าเพียงแต่เรามองหาแง่มุมของมัน

เมื่อเปรียบด้วยความรู้สึกเช่นนั้น แท้จริงแล้ว ความสุขไม่ได้อยู่ไหนไกลหรอก มันอยู่รอบ ๆ ตัวเรานี่แหละ อยู่ในความธรรมดาของชีวิตที่เรามองว่าจำเจน่าเบื่อ

หลายคนอยากมีชีวิตที่หวือหวาตื่นเต้น อยากเป็นคนดังที่สปอร์ตไลต์สาดส่อง แต่ส่วนใหญ่แล้วชีวิตคนเราไม่ได้เป็นแบบนั้นนี่สิ (และเหล่าคนดังที่มีชื่อเสียง แท้จริงชีวิตเขาก็อาจจะไม่ได้สุข 100% ก็ได้) มนุษย์เรามีชีวิตที่สุดแสนจะธรรมดา เช้าตื่นมาไปทำงาน เจอคนกลุ่มเดิม ๆ งานเดิม ๆ กลับบ้านมาอย่างมากก็ดูซีรีส์ แล้วเข้านอน

เราจะมองให้วงจรนี้น่าเบื่อก็ได้ หรือจะมองว่าเฮ้ย มันก็สุขสงบดีนะ

สิ่งธรรมดาเหล่านี้ ส่วนมากแล้วคนเรามักไม่เห็นคุณค่าของมัน จนกระทั่งเราเสียมันไปนั่นแหละ ตัวอย่างเช่น วันหนึ่งครอบครัวที่เราแสนจะคุ้นหน้า หนึ่งในนั้นอาจจะเป็นโรคร้าย หรือตายจากไป แทบจะสั่นสะเทือนไปถึงขั้วหัวใจจนทำอะไรไม่ได้เลยใช่มั้ยล่ะ

หรือถ้าวันหนึ่งงานที่เราบ่นอยู่ทุกวี่ทุกวัน กลับอันตรธานหายไปเพราะเราโดนไล่ออก อ้าวเสียศูนย์เลยสิ จะทำยังไงต่อ วุ่นวายกับการหางานใหม่อีก

ความสุขแท้จริงแล้ว จริง ๆ ก็คือการที่เราพอใจในความธรรมดา ๆ นี่แหละ เมื่อไรที่เรารู้สึกว่าไม่ต้องขวนขวายหาอะไรเพิ่ม จิตใจเราจะอยู่ภาวะสงบนิ่ง ไม่มีอะไรมารบกวน นั่นแหละคือความสุขที่แท้จริง

หรืออาจเรียกได้ว่า ความสุขเป็นสมการของ “ความรู้สึกต่อสิ่งที่ได้รับมา – ความคาดหวัง”

ยิ่งเราคาดหวังน้อย ความรู้สึกต่อสิ่งที่เราได้รับมา ก็จะโดนหักลบน้อย ทำให้เหลือความสุขมากขึ้น แต่ถ้าคาดหวังสูง พอผิดหวังเราก็นอยด์ ทั้งที่เป็นเรื่องเดียวกัน แต่ถ้าคาดหวังคนละอย่าง ก็จะรู้สึกคนละอย่าง

หลายคนพยายามเพิ่มฝั่งซ้าย แต่จริง ๆ แล้ว การลดฝั่งขวาลงอาจจะง่ายกว่าด้วยซ้ำ เพราะมันคือการปรับตัวเอง แทนที่จะไปสรรหาของนอกกายที่ควบคุมได้ยากกว่า

นิยามตัวตนที่งดงาม

ในช่วงชีวิตคนเราน่าจะต้องเคยเจอคำวิจารณ์ คำด่า คำติกันบ้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรูปร่างหน้าตา หรือนิสัย

ถึงจุดหนึ่งมันอาจจะครอบงำตัวเรา แล้วถ้าเราไม่รู้ทัน เราอาจจะคิดว่า จุดด้อยที่คนชอบตำหนิวิจารณ์นั่นคือเราจริง ๆ

เราสามารถจะก้มหัวยอมรับก็ได้ หรือจะ “ช่างแม่ง” แล้วนิยามตัวเองใหม่ เป็นตัวตนที่ปลีกออกมาจากสิ่งที่ทุกคนตัดสินเรา

เราอาจจะเริ่มต้นง่าย ๆ ก่อนว่าตอนนี้เรามีจุดด้อยอะไรที่เราไม่พอใจในตัวเอง เช่น บางคนไม่ชอบความขี้อายของตัวเอง และเมื่อต้องการจะพูดคุยกับใครสักคน เสียงปริศนาในหัวก็จะดังว่า “ฉันทำไม่ได้หรอก ก็ฉันขี้อายนี่”

เคล็ดลับข้อแรกคือ เปลี่ยนจากคำว่า “ฉัน” เป็น “เธอ” หรือสรรพนามบุคคลที่ 2 อะไรก็ได้ เมื่อเปลี่ยนเป็นแบบนี้ มันจะเหมือนว่าเราไม่ได้นิยามตัวเอง แต่เป็นคนอื่นมาพูดว่าเราเป็นอย่างงั้นอย่างงี้ต่างหาก

ซึ่งสิ่งนี้อาจจะเป็นอะไรที่ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่ยังเด็ก ๆ เราอาจจะเคยโดนผู้ใหญ่ดุด่า โดนเพื่อนล้อ จนทำให้เราคิดว่าเสียงนั้นคือตัวตนของเราจริง ๆ แต่แท้จริงแล้วไม่ใช่เลย

เมื่อเราสามารถแยกแยะได้ว่าคนเรามีแง่มุมตั้งหลายแง่มุม เราไม่ได้ถูก define ด้วยแง่มุมที่เราไม่ชอบอย่างเดียวสักหน่อย เราสามารถนิยามความเป็นตัวเองขึ้นมาใหม่ได้ ดึงจุดแข็งออกมาพัฒนาเพื่อทำให้ตัวเราเฉิดฉายมากขึ้น เช่น คนขี้อายอาจจะเก่งการเขียน ก็นิยามตัวเองเป็นนักเขียนไปเลย คนที่รูปลักษณ์ไม่สวยงามตามมาตรฐานสังคมอาจจะพูดให้กำลังใจคนเก่ง ก็นิยามตัวเองเป็นนักพูดสร้างแรงบันดาลใจไป เป็นต้น

อภัยคนที่ทำให้เราเจ็บ

การอยู่ในสังคมที่ไว้ใจกันนั้นทำให้มีความสุข เพราะเราไม่ต้องเครียดว่าเราจะถูกหักหลังมั้ย จะถูกโกงมั้ย

เมื่อเราไว้ใจใคร เราก็จะ relax มากขึ้น ไม่ตั้งกำแพงจนสูงเว่อร์ พร้อมเปิดใจพูดคุยและช่วยเหลือทุกคน

แต่สำหรับในกรณีที่เราเคยเจอประสบการณ์เลวร้ายกับมนุษย์ เช่น เคยถูกหักหลัง เคยถูกทำร้าย ก็คงจำฝังใจ และไม่อยากจะเชื่อใจใครง่าย ๆ

การตั้งการ์ดนั้นจริง ๆ ก็เป็นธรรมชาติของมนุษย์ เพื่อป้องกันตัวเอง แต่การตั้งการ์ดสูงไปก็อาจทำให้เราไม่มีความสุขกับชีวิต มัวแต่คอยระแวดระวังคนที่อยู่รอบตัว ไม่มีเพื่อนหรือความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลกันได้

หากอยากปล่อยวาง เราก็ต้องกล้าให้อภัยคนที่เคยทำร้ายเราในอดีต เหมือนตัดจบเรื่องเลวร้าย ไม่กลับไปนึกถึงมันแล้ว ซึ่งพูดง่ายแต่ทำยาก อาจจะต้องใช้เวลาและความกล้ามาก ๆ แต่มันคุ้มค่าแน่นอน

หากให้อภัยปากเปล่าไม่ได้ อาจจะกลับไปเขียนเป็นจดหมายก็ได้ หรือถ้าไม่ไหวจริง ๆ อาจจะระบายด้วยการตะโกนด่าออกมาดัง ๆ ปลดปล่อยความแค้นออกมาก่อน ก็จะช่วยให้เราเรียบเรียงคำพูดได้ง่ายขึ้น

การให้อภัยเป็นเหมือนการปลดโซ่ที่พันธนาการเรากับอดีตอันเลวร้ายไว้ ถ้าเราไม่อยากให้อดีตนั้นส่งผลกับปัจจุบันและอนาคต เราก็ต้องปล่อยวางและให้อภัยคนที่เคยทำร้ายเรา เพื่อเตรียมพร้อมพบเจอคนใหม่ ๆ สร้างมิตรภาพใหม่ ๆ ที่มีความไว้เนื้อเชื่อใจกัน

หมื่นพันความสุขที่ถูกละเลย

เราสามารถแบ่งตัวตนเราออกได้เป็น 2 ร่าง คือ Experiencing Self และ Remembering Self

Experiencing Self คือตัวตนเราที่สัมผัสประสบการณ์และความรู้สึกปัจจุบัน เช่น กำลังพิมพ์งานอยู่อย่างตั้งใจ กำลังกินกาแฟที่อร่อย กำลังดูดอกไม้อย่างเพลิดเพลิน เป็นโมเมนต์ปัจจุบันที่นักจิตวิทยาบอกว่า แต่ละโมเมนต์จะอยู่กับเราประมาณ 3 วินาทีเท่านั้น

Remembering Self คือตัวตนที่จะมองภาพรวมของชีวิตเราที่ผ่านมาแล้วประเมิน วิเคราะห์อีกที มันมีแนวโน้มที่จะจำช่วงเวลาพีค ๆ ของเราได้ แต่จะหลงลืมช่วงเวลาธรรมดา ๆ ไป

บางคนอาจจะโหยหาจุดพีคของชีวิต ชีวิตต้องเอ็กซ์ตรีม ต้องขึ้นสุดลงสุด ต้องออกไปใช้ชีวิตให้คุ้ม นั่นอาจเพราะเขาตัดสินความสุขในชีวิตด้วย Remembering Self เพราะถ้าจำอะไรไม่ได้ มันจะไปมีความหมายอะไร ต้องทำชีวิตให้พีค ๆ จะได้จดจำได้

แต่จริง ๆ แล้ว ความสุขเราสามารถแทรกอยู่ในโมเมนต์อันหลากหลายที่เราเผชิญ ณ ปัจจุบัน หรือที่ Experiencing Self กำลังเผชิญ กล่าวคือ ถ้าเราสามารถซึมซับความสุขด้วย Experiencing Self ได้ เราจะมีความสุขกับ ณ ขณะปัจจุบันมากขึ้น ซึ่งเป็นอะไรที่เกิดขึ้นบ่อยกว่าเหตุการณ์พีค ๆ ซะอีก

เรื่องนี้มีเล่าเพิ่มเติมในหนังสือ Thinking, Fast and Slow อ่านสรุปคลิกเลย

เป็นมิตรกับความเครียด

ความเครียดฟังดูเป็นอะไรที่เราไม่อยากเจอ แต่ถึงอย่างนั้นมันก็หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยว่าชีวิตเราต้องเจอความเครียดเรื่อย ๆ

ถึงอย่างนั้น งานวิจัยก็ได้ชี้ว่า คนเราสามารถมองความเครียดได้สองแบบ คือ 1. มองว่าความเครียดเป็นอันตราย และ 2. มองว่าความเครียดไม่ได้เป็นอันตราย

ผลลัพธ์คือ คนแบบแรกนั้นมีอัตราการเสียชีวิตจากความเครียดสูงกว่าคนกลุ่มที่สอง

นั่นหมายความว่า หากเราสามารถเป็นเพื่อนกับความเครียดได้ เราก็จะรับมือมันอย่างสบาย ๆ เพราะเราเชื่อว่ามันไม่ทำร้ายเรา

ในเวลาที่เราเครียดนั้น จะเกิดปฏิกิริยาทางร่างกายต่าง ๆ เพื่อรับมือ เช่น หัวใจเต้นเร็วขึ้น หายใจหอบถี่ขึ้น ซึ่งถ้าเป็นบ่อย ๆ คงไม่ดีเท่าไร แต่พอเชื่อว่าความเครียดไม่ทำร้ายเรา ร่างกายเราจะรีแลกซ์มากขึ้น ความเครียดจึงไม่สามารถทำอะไรเราได้

ความเครียดยังทำให้เราอ่อนโยน กล้าเปิดใจ สร้างความสัมพันธ์กับคนอื่นมากขึ้น เพราะเมื่อเครียด ร่างกายจะหลั่งสารออกซิท็อกซินออกมา เป็นสารที่จะกระตุ้นให้เราโหยหาความสัมพันธ์ ทำให้เราอ่อนโยนลง กล่าวคือ เมื่อเราเครียด เรามีแนวโน้มจะหาความช่วยเหลือจากคนอื่น ๆ มากขึ้น เราไม่จำเป็นต้องเผชิญความเครียดอยู่คนเดียว

ก้าวออกจากหลุมความคิดลบ

ถ้าใครเคยเผชิญเหตุการณ์ยากลำบาก ปัญหาถาโถม ไม่รู้จะหาทางออกจากความทุกข์นั้นยังไง (เชื่อว่าน่าจะเคยเจอกันทุกคน) เราคงรู้ดีว่าสภาพจิตใจของเรามันซึมกะทือแค่ไหน

แน่นอนว่าเราอยากพาตัวเองออกจากจุดนั้นให้ไวที่สุด แต่บางทีก็ไม่รู้จะทำยังไง ก็มันเฮิร์ตนี่ จะให้จู่ ๆ ลุกขึ้นมาวิ่งเล่นเหมือนปกติได้ยังไง

คำตอบคือ สิ่งเหล่านี้ต้องใช้การฝึกพอสมควร โดยวิธีแรกคือเราต้องลองหัดมองชีวิตในมุมกว้างมากขึ้น เพราะบางทีเรามองข้ามหลายสิ่งในชีวิตที่ดี ๆ แต่ไปโฟกัสแค่จุดร้าย ๆ จุดเดียว

การมองชีวิตในภาพใหญ่จะช่วยให้รู้สึกว่า เอ้อ ชีวิตมันก็มีด้านอื่น ๆ และภาพรวมมันก็ไม่แย่นะ นั่นหมายความว่า ยิ่งเราสรรหาเรื่องดี ๆ เติมเข้ามาในชีวิตเท่าไร ก็เปรียบเสมือนเราเติมน้ำใสเข้าไปเจือจางเศษฝุ่นในแก้วนั่นแหละ

ในเวลาที่เจอเรื่องแย่ ๆ สิ่งที่เราทำ จึงไม่ใช่การจมจ่อมอินดี้ ๆ อยู่คนเดียวแล้วหวังว่าทุกอย่างจะมลายหายไปเอง แต่เราต้องออกไปหาอย่างอื่นที่ทำให้รู้สึกว่าชีวิตยังมีด้านอื่น ๆ ยิ่งเป็นประสบการณ์ใหม่ ๆ ยิ่งดี เพราะมันอาจจะทำให้เราค้นพบเจอสิ่งใหม่ ๆ ที่เปลี่ยนชีวิตเราไปในทางที่ดีขึ้นก็ได้

อยู่ตรงนั้นเพื่อใครสักคน

หลาย ๆ ความทุกข์ที่เกิดขึ้นนั้น มาจากการที่เรา “สำคัญตัวเอง” ว่าเรานั้นสำคัญต่อโลก เป็น Somebody ที่จะต้องเก่งกว่า เหนือกว่า ดูดีกว่าคนอื่น ๆ ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อมีใครที่เหนือกว่าเรา เราก็ย่อมทุกข์ใจ และเผลอ ๆ อาจจะโกรธเคืองคนอื่นด้วย

คุณ Polly Young-Eisendrath นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านการบำบัดจิต ได้จำแนกพิษร้ายของการสำคัญตนออกเป็น 4 อารมณ์

  • ความละอายใจ: เป็นความรู้สึกว่าตัวเองด้อยกว่าคนอื่น หรือแม้ว่าเหนือกว่าคนอื่นก็จะรู้สึกไม่กล้าอวด
  • ความรู้สำนึกผิด: รู้สึกว่าต้องรับผิดชอบและแก้ไขทุกเรื่องผิดพลาดที่เคยทำไป
  • ความอิจฉา: เกิดขึ้นเมื่อเราเห็นคนอื่นได้ดีกว่าเรา
  • ความริษยา: ต่อยอดมาจากความอิจฉา ความริษยาคือต้องการแย่งชิงของ ๆ คนอื่นมาด้วย

หากอยากมีความสุขมากขึ้น เราต้องเรียนรู้ที่จะละทิ้งการนำตัวเองเป็นบรรทัดฐาน ไม่มองว่าตัวเองคือคนสำคัญของโลก แต่เป็นเพียงสิ่งมีชีวิตเล็กจ้อยบนโลกเท่านั้น

ซึ่งวิธีหนึ่งที่ทำได้ คือการที่เรามี “ใครสักคน” ที่เรารู้สึกว่าเราต้องอยู่ตรงนั้นเพื่อเขา เห็นเขามีความสุขเราก็ดีใจ แต่ถ้าเขาไม่ไยดีกับเรา นั่นก็เป็นเรื่องของเขา เพราะเราแฮปปี้แค่เห็นเขาแฮปปี้ เข้าข่ายรักแบบไม่มีเงื่อนไขนั่นแหละ

ตัวอย่างคือคุณลาร์รี่ ท็อปคอมเม้นท์ในคลิปของคุณ Polly ซึ่งคุณลาร์รี่ก็เคยเป็นคนที่มีทุกอย่างในชีวิต จนกระทั่งวันหนึ่งสูญเสียทุกอย่างไป เขาก็เกือบจะยอมแพ้แล้ว ถ้าไม่เจอลูกแมวสภาพโทรมซะก่อน

คุณลาร์รี่ตัดสินใจเลี้ยงลูกแมวตัวนั้น และนั่นก็ทำให้ชีวิตเขาพลิกผันไปเลย เขามีความสุขมากกับการเลี้ยงแมว ได้เห็นแมวเติบโตและกลับมามีสุขภาพดีอีกครั้ง หลังจากนั้นเขาก็เลี้ยงแมวเพิ่มจนมีแมวทั้งหมด 9 ตัว

แม้บางตัวจะไม่สนใจเขา ยังไม่เชื่อใจเขา ลาร์รี่ก็ไม่ติดอะไร เพราะนั่นก็เป็นธรรมชาติของแมว เขามีความสุขแค่ได้อยู่ตรงนั้นกับพวกมัน การได้เลี้ยงแมวนั้นช่วยกลบหลุมในใจที่เคยเติมไม่เต็มของลาร์รี่ได้

ก็เหมือนกับคนอื่น เราต้องหัดที่จะให้ผู้อื่นโดยไม่หวังว่าเขาจะให้อะไรเราตอบแทน เพราะถ้าเราคาดหวังเมื่อไร มันก็เหมือนเราเอาตัวเองเป็นจุดศูนย์กลางอีกแล้ว ซึ่งเมื่อไม่ได้ดั่งใจ เรายิ้มให้แต่เขาบึ้งตอบ เราก็ทุกข์อีหรอบเดิม

ความสุขนั้นเป็นสิ่งที่ยิ่งเราไม่นึกถึงมันเท่าไร เราก็จะยิ่งมีมากขึ้น แต่ถ้าเริ่มนึกถึงมันเมื่อไร ก็จะหดน้อยลง

บางคนเกิดมามีความสุขน้อยกว่าคนอื่น

นักวิจัยค้นพบว่า การที่คนเรามีความรู้สึกสุขมากหรือน้อยกว่าคนอื่นนั้นเป็นส่วนหนึ่งจากผลพวงของพันธุกรรมเหมือนกัน กล่าวคือ มียีนที่ส่งผลกระทบกับความรู้สึกสุข-ทุกข์ของเราเกือบ ๆ 50%

อีก 50% จึงกล่าวได้ว่า เป็นผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมที่เราเติบโตมา ซึ่งจุดนี้แหละเป็นสิ่งที่เราควบคุมได้

ทุก ๆ คนมี Set Point ของตัวเอง สิ่งนี้คือค่ากลางที่ไม่สุขไม่ทุกข์ ส่วนใหญ่ชีวิตเรามักจะอยู่จุดนี้ เพราะความสุขหรือทุกข์สุดโต่งมักจะผ่านไปเสมอ หรือเราเองอาจจะชินจนจากที่รู้สึก extreme ก็จะรู้สึกเฉย ๆ

จุด Set Point เป็นจุดที่ร่างกายเราทำงานได้ดีเกือบจะที่สุด หัวใจไม่เต้นแรงเกินไป เรียกว่าเฮลตี้ละกัน

ส่วนจุดที่ดีที่สุด คือจุดที่เหนือ Set Point นิดหน่อย ก็คือมีความสุขนิด ๆ มีความกระฉับกระเฉง มีแรงบันดาลใจอยากทำนู่นทำนี่

Set Point นี้ส่งผลกับความรู้สึกสุขทุกข์ของเรา ยิ่งเราตั้ง Set Point ไว้สูงเกิน หากเจอเรื่องร้าย ๆ เราอาจจะปรับตัวไม่ได้ หรือหากตั้ง Set Point ต่ำไป เจอเรื่องดี ๆ เล็กน้อยก็วิ่งดี๊ด๊าแล้ว

หน้าที่ของเราคือ การปรับ Set Point ให้อยู่ในจุดที่เราคิดว่าสมดุลที่สุด เป็นจุดที่ไม่ว่าจะมีอะไรเข้ามากระทบ เราจะกระเพื่อมน้อยมาก ยิ่งเราใจนิ่งกับทุกสิ่งที่เข้ามาในชีวิตเท่าไร สภาวะความสุขของเราก็จะมั่นคงเท่านั้น

เพราะการไขว่คว้าความสุข ก็คือทุกข์อย่างหนึ่ง และการวิ่งหนีทุกข์ ก็เป็นทุกข์เช่นกัน

เราจึงต้องพยายามฝึกตัวเองให้เป็นคนที่สามารถรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ ฝึกใจให้นิ่งไม่ไหวเพื่อมแรงมากนัก เพราะสภาวะที่เรียบนิ่งคือสภาวะที่สงบสุขที่สุด


งานและความหมาย

วิธีค้นพบพรสวรรค์

หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าตัวเองจะต้องกลบจุดอ่อนให้หมด ทั้งที่จริง ๆ แล้วสิ่งสำคัญคือการเสริมจุดแข็งต่างหาก

จุดแข็ง ก็คือ สิ่งที่เราสามารถทำได้ดี ทำได้อย่างเป็นธรรมชาติ ทำได้ง่าย ๆ ในขณะที่คนอื่นอาจมองว่ายาก

แน่นอนว่าคนที่ใช้จุดแข็งของตัวเองทำงาน ย่อมทำงานได้ดีและมีความสุขกว่าฝืนทำสิ่งที่ไม่ชอบ เหมือนนกไปว่ายน้ำ ปลาไปบิน ทั้งที่ตัวมันเองก็มีจุดแข็งของตัวเอง

จุดแข็งเหล่านี้สามารถมองเป็นพรสวรรค์ได้เช่นกัน มันคืออะไรก็ตามที่เราทำซ้ำ ๆ จนชำนาญ ทำได้อย่างเป็นธรรมชาติ เป็น pattern ของสมอง ซึ่งแต่ละคนก็จะมีไม่เหมือนกัน

โดยจุดแข็งหรือพรสวรรค์นั้น มีข้อสังเกตคือ

  • เราสามารถปรับใช้จุดแข็งของเราให้เข้ากับงานต่าง ๆ ได้ เช่น Warren Buffett มีจุดแข็งคือความใจเย็น เขาใช้กับการลงทุนจนประสบความสำเร็จ ทั้งที่ปกติเมื่อนึกถึงการลงทุน เรามักจะนึกถึงการเทรดไว ตัดสินใจเร็ว
  • สำรวจตัวเองให้ดีเวลาเจอว่าเราไม่เหมาะกับสิ่งที่ทำอยู่ ถ้าเรามองแบบภาพรวม เราอาจจะเผลอตัดโอกาสสายงานนั้นไปเลย บางทีเราอาจจะชอบบางจุดในงาน ซึ่งตรงนี้ถ้าหาเจอ อาจจะทำให้เราค้นพบโอกาสที่ซ่อนอยู่ในงานสายเดิมของเรา
  • บางครั้งเรามองไม่เห็นว่าเราเก่งอะไร อาจจะต้องให้คนอื่นช่วย

ทีนี้ คำถามคือ ถ้าไม่รู้ล่ะว่าจุดแข็งของเราคืออะไร? วิธีหาคือ

  • แยกแยะระหว่าง “พรสวรรค์ตามธรรมชาติ” กับ “สิ่งที่ฝึกฝนเองได้” เพราะพรสวรรค์ตามธรรมชาตินั้นเกิดจากสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เกิด คนผู้นั้นจะสามารถทำมันได้อย่างเป็นธรรมชาติ ยังไงก็ทำได้ดีกว่าคนที่มาฝึกทีหลัง (ถ้าไม่ขี้เกียจจนปล่อยปละละเลยไปซะก่อน)
  • ลองสังเกตว่ามีกิจกรรมอะไรที่เราเรียนรู้ได้เร็ว ทำได้คล่องแคล่ว ทำจนลืมเวลา สิ่งนั้นอาจจะเป็นพรสวรรค์ของเรา
  • ลองเปลี่ยนวิธีเรียกบุคลิกบางอย่างของเราที่มักถูกมองในแง่ลบ ให้เป็นแง่บวก เช่น จาก “จุกจิก” เป็น “ละเอียด” หรือจาก “เจ๊าะแจ๊ะ” เป็น “มนุษยสัมพันธ์ดี” เป็นต้น

ความสุขในงานที่ไม่ชอบ

ในยุคนี้นั้นหลายคนมีแนวโน้มไม่มีความสุขในงานที่ทำมากขึ้นเมื่อเทียบกับเมื่อก่อน ในอดีต เราสร้างสรรค์ชิ้นงานอะไร ไม่ว่าจะเป็นจาน ชาม เสื้อผ้า เรามักเป็นคนลงมือตั้งแต่ต้นจนจบ จึงภูมิใจกับงานที่ทำ

ต่างจากปัจจุบัน เราเป็นเพียงฟันเฟืองของเครือข่ายใหญ่ ๆ ทำแค่หน้าที่ของตัวเองซ้ำไปซ้ำมา เห็นภาพไม่ชัดว่าสิ่งที่เราทำนั้นส่งผลกระทบยังไงบ้าง เลยทำให้เราเบื่อ ไม่เห็นคุณค่าของงานที่ทำเท่าไรนัก

ถ้าอยากให้งานมีความหมายมากขึ้น นักจิตวิทยาวิเคราะห์ไว้ว่า งานนั้นจะต้อง

  • เป็นงานที่ดึงทักษะและพรสวรรค์ของแต่ละคนออกมาอย่างเต็มที่
  • ควรให้เราเห็นกระบวนการทำงานตั้งแต่ต้นจนจบ อย่างน้อยบอกเล่าให้เรารู้ว่าจุดเริ่มต้น เหตุผลในการทำ และผลกระทบของมันส่งประโยชน์ให้ใครบ้าง
  • ควรทำให้เรารู้สึกว่าสิ่งที่เราทำนั้นช่วยอำนวยความสะดวกหรือเป็นประโยชน์กับเพื่อนร่วมงานคนอื่น ๆ ด้วย
  • ต้องไม่ยากหรือง่ายเกินไป ถ้ายากไป จะรู้สึกว่าทำเท่าไรก็ไม่ได้สักที ถ้าง่ายไปก็น่าเบื่อ

สำหรับคนที่กำลังตามหางานที่ใช่ ที่ตอบโจทย์ทั้งเงินและความสุข ลองถามตัวเองดูว่า

  • ฉันสามารถทำอะไรได้บ้าง – สิ่งนี้จะนำพามาซึ่งเงิน
  • ฉันอยากจะทำอะไร – สิ่งนี้จะนำพามาซึ่งความสุข

ถ้าโชคดี คำตอบเหมือนกันทั้งสองคำถาม แปลว่าเราเจอทางสว่างแล้ว แต่ถ้ายังไม่เจอ มีอีกวิธีคือ MPS จาก Dr. Tal Benshahar เจ้าของหนังสือ Happier

  • M = Meaning อะไรที่ทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองมีความหมาย
  • P = Pleasure อะไรที่ทำให้เราพอใจ
  • S = Strength อะไรคือจุดแข็งของเรา

ลองหาคำตอบให้ 3 ข้อนี้ มันจะเป็นจุดเริ่มต้นให้เราเห็นตัวเองชัดขึ้น และอาจนำพาเราไปสู่งานที่ตอบโจทย์เรามากขึ้น ไม่เพียงแต่หางานใหม่เท่านั้น แต่ยังหมายถึงการหาแง่มุมที่ตอบโจทย์ตัวเองในงานเดิมอีกด้วย

แทนที่จะมัวแต่มองด้านร้าย ๆ ที่เรายังทนอยู่กับงานเก่าได้ ให้มองว่า อะไรในงานเก่าที่เราขาดไม่ได้เลย ถ้าไม่ได้ทำ ฉันต้องขาดใจแน่ ๆ เมื่อเจอคุณค่านี้ ก็เอาไปหาในงานปัจจุบัน เพิ่มสัดส่วนให้มันมากขึ้น

แต่ถ้าท้ายที่สุดแล้ว เราหาคุณค่าให้งานประจำไม่ได้เลย ทำเท่าไรก็ไม่แฮปปี้ ก็อาจจะหาทำนอกเวลางานแทน อย่างน้อยก็ทำให้ชีวิตกระปรี้กระเปร่าขึ้น

ไม่ควรขึ้นยอดเขาด้วยเฮลิคอปเตอร์

Dr. Tal Benshahar ได้เปรียบเปรยคน 4 ประเภทเป็นการกินเบอร์เกอร์ 4 ชนิด

  • เบอร์เกอร์อร่อยล้ำที่ไม่ดีต่อสุขภาพ: คนกลุ่มนี้คือพวกเจ้าสำราญ ให้ความสำคัญกับความสุขในปัจจุบันมากกว่าอนาคต
  • เบอร์เกอร์ไม่อร่อยที่ดีต่อสุขภาพ: คนกลุ่มนี้คือพวกหนูถีบจักร ยอมอดทนทำสิ่งที่ไม่ชอบเพื่อหวังความสุขในอนาคต
  • เบอร์เกอร์ไม่อร่อยแถมไม่ดีต่อสุขภาพ: คนหมดอาลัยตายอยาก คิดว่าชีวิตนี้คงไม่มีความสุขอีกแล้ว เพราะเคยเจ็บช้ำมาในอดีต
  • เบอร์เกอร์ที่อร่อยและดีต่อสุขภาพ: คนที่มีความสุขกับชีวิตปัจจุบัน และตอนที่ทำสำเร็จตามเป้าหมายในอนาคต

แบบที่ 4 คือกลุ่มที่โชคดี เป็นคนที่ดื่มด่ำกับสิ่งที่กำลังทำอยู่ เห็นความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ ระหว่างทาง แม้ว่าทางจะไม่ราบรื่น แต่ก็มองว่าอุปสรรคเหล่านั้นคุ้มค่าต่อการเผชิญเพื่อให้ไปถึงเป้าหมาย

หากเปรียบกับการขึ้นเขา ถ้าเราเลือกวิธีเดินขึ้นเขา แน่นอนว่าระหว่างทางคงมีอุปสรรคมากมาย แต่เมื่อผ่านมันไปได้ เราจะรู้สึกว่าการเดินทางนั้นช่างมีคุณค่า

ในทางตรงกันข้าม หากเราเลือกที่จะขึ้นเฮลิคอปเตอร์มุ่งสู่ยอดเขาเลย คงใช้เวลาไม่นานแถมสะดวกสบาย แต่พอมองย้อนกลับมา มันอาจจะไม่ได้น่าตราตรึงขนาดนั้น

ชีวิตที่มีความหมายไม่ใช่ชีวิตที่โรยด้วยกลีบกุหลาย แต่ต้องมีอุปสรรคระหว่างทางบ้างให้รู้สึกว่าท้าทาย ถึงอย่างนั้นก็ต้องเป็นอุปสรรคที่ไม่ใช่บั่นทอนจิตใจ แต่เป็นอุปสรรคที่มีคุณค่า ที่คุ้มค่ากับการเผชิญเพื่อเป้าหมาย เป็นอุปสรรคที่เราแฮปปี้ที่จะพิชิตมัน

เรื่องยากฝากความหมายให้ชีวิต

Dr. Tal Benshahar ได้บอกไว้ในหนังสือ Happier ว่า ความสุขคือประสบการณ์ในภาพรวมของความพอใจและความหมาย

ความพอใจนี่ก็ตรงตัว ถ้าพอใจก็มีความสุข

แต่ “ความหมาย” นั้น บางทีชีวิตที่มีความหมาย อาจไม่ได้เผชิญแค่ความสุขเสมอไป

หลายคนอาจจะคิดว่า เราต้องมีแต่ความสุข ชีวิตถึงจะมีความสุข แต่จริง ๆ แล้ว ในเมื่อความสุขคือภาพรวม เราจะสามารถมีความยากลำบาก ความทุกข์บ้างก็ได้ ถ้ามันจะทำให้ภาพรวมชีวิตเรามีความสุขและมีความหมาย

ความหมายในชีวิตเกิดจากการมีเป้าหมาย เป้าหมายทำให้เราไม่รู้สึกท้อแท้สิ้นหวังแม้ในยามที่ลำบากที่สุด เปรียบเสมือนแสงสว่างในอุโมงค์

เพราะฉะนั้น งานบางงานอาจจะไม่ได้ราบรื่น ผ่านอุปสรรคนู่นนี่บ้าง เป็นงานยากชิ้นหนึ่งซึ่งอาจมีคนถามว่า “ทำไปทำไม” แต่ถ้าเรารู้เป้าหมายชัดเจน เราเห็นคุณค่าของมัน การยอมลำบากเพื่อมัน สุดท้ายแล้วเมื่อเรามองย้อนกลับมา มันจะกลายเป็นความทรงจำที่มีคุณค่า

บทเรียนจากเจ้าชายน้อย และกุหลาบดอกนั้น

เมื่อครั้นเจ้าชายน้อยเดินทางมาถึงโลก และได้พบดอกกุหลาบมากมาย เขากลับรู้สึกว่า กุหลาบพวกนี้เทียบกันไม่ได้เลยกับกุหลาบดอกเดียวที่เขาปลูกและคอยดูแล

นั่นเพราะว่ายิ่งเราทุ่มเทและให้เวลากับสิ่งไหนมากเท่าไร สิ่งนั้นก็จะพิเศษสำหรับเรามากเท่านั้น ชนิดที่ว่าสิ่งอื่น ๆ ที่คล้ายเคียงกันไม่สามารถทดแทนได้ กลายเป็น “ความหมาย” ต่อชีวิต

ในหนังสือ The Power of Meaning คุณ Emily Esfahani Smith ลิสต์ออกมาว่าอะไรที่ทำให้ชีวิตของเรามีความหมายขึ้นบ้าง

  • ความผูกพัน ยิ่งเราผูกพันกับผู้คนมากเท่าไร ก็จะยิ่งรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ไม่โดดเดี่ยว
  • จุดมุ่งหมายในชีวิต ทั้งจุดมุ่งหมายส่วนตัว และจุดมุ่งหมายเพื่อคนอื่น เพื่อสังคม หรือเพื่อโลกใบนี้
  • การเล่าเรื่องให้ตัวเองฟัง ทบทวนบทเรียนในชีวิต เรื่องร้าย ๆ อาจมองเป็นเรื่องดีได้
  • การข้ามพ้นไปจากตัวเอง ปราศจากอัตตา แต่ก็เข้าใจว่าการดำรงของเรานั้นอาจส่งผลกับคนอื่นได้เช่นกัน

ชีวิตที่มีความหมายจึงไม่ใช่ “ทำยังไงให้เราอยู่รอด” แต่เป็น “ทำยังไงให้เราอยู่ร่วมกันได้” ซึ่งมันก็จะทำให้เรามีความผูกพันกับผู้คนและสิ่งต่าง ๆ มาเติมเต็มชีวิตของเรา

แปะ รีวิววรรณกรรมเรื่องเจ้าชายน้อย รวมข้อคิดต่าง ๆ

คนบ้างาน

การบ้างานนั้นฟังเผิน ๆ เหมือนจะดี ดูเป็นคนขยัน แต่ถ้าบ้างานเกินไป ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อด้านต่าง ๆ ของชีวิตได้ ร้ายแรงสุดถึงขั้นตายคาโต๊ะทำงานก็เคยมี

สาเหตุที่คนใช้เวลาทำงานกันเยอะมากขึ้นเรื่อย ๆ นั้น คุณ Chip Conley จากหนังสือ Emotional Equations บอกไว้ว่า การบ้างานก็เหมือนการเสพติดสิ่งอื่น ๆ แหละ เราทำงานเพราะอยากหลีกหนีความรู้สึกไม่อภิรมย์ด้านอื่น เช่น กลัวตัวเองไม่มีคุณค่า ไม่เป็นที่รักของคนอื่น กระทั่งการหลีกหนีปัญหาชีวิตด้านอื่น ๆ เช่น ความสัมพันธ์ที่ไม่สมหวัง

ถ้าใครอยากทดสอบว่าเป็นคนบ้างานมั้ย ลองดูเช็กลิสต์เหล่านี้ ถ้าตอบ “ใช่” เกินครึ่ง แสดงว่าคุณมีแนวโน้มบ้างานแล้วละ

  • มักจะทำงานติดพันจนละเลยครอบครัว เพื่อน และสุขภาพตัวเอง
  • ยกให้งานมีสัดส่วนเยอะที่สุด ที่ส่งผลกระทบต่อการนับถือตัวเอง
  • พูดคุยเรื่องงานเวลาไปปาร์ตี้
  • เป็น perfectionist ทุกอย่างต้องเป๊ะ ถ้าเป็นไปได้ขอทำงานเอง ไม่ส่งต่อให้คนอื่น
  • หาข้ออ้างได้ร้อยแปดพันเก้า ว่าทำไมเราต้องทำงานหนัก
  • เชื่อว่าชื่อเสียง เงินทอง และการยอมรับจะแก้ปัญหาในชีวิตได้
  • ผูกความนับถือตัวเองไว้กับเสียงปรบมือและคำชื่นชมจากคนอื่น
  • นอนไม่หลับเพราะคิดแต่เรื่องงาน
  • คิดว่าใช้เหตุผลอธิบายอารมณ์นั้นง่ายกว่า
  • ไม่สามารถอยู่เฉย ๆ โดยไม่ทำอะไรเลยเป็นเวลา 10 นาที

ยิ่งทำงานหนัก เราจะยิ่งสังเกตตัวเองน้อยลง ไม่รู้ว่าแท้จริงแล้วอะไรกันแน่ที่จะมาอุดรูรั่วของเราได้ หลงคิดว่าต้องเป็นงาน ทั้งที่ความจริง มันอาจจะเป็นการใช้เวลากับเพื่อนและครอบครัวมากขึ้นก็ได้

แล้วถ้าสมมติว่า งานที่ทำเป็นสิ่งที่เราชอบมาก ๆ ละ แบบนี้ยังจะหมายถึงบ้างานรึเปล่า ในเมื่อเราทำตามเสียงเรียกร้องของหัวใจน่ะ

หนังสือ Emotional Equations แนะนำให้ลองตอบคำถามเหล่านี้เพื่อเช็ก

  • คุณมีชีวิตอยู่เพื่ออะไร
  • เมื่อคุณตายไปแล้วจะทิ้งอะไรไว้ให้โลก
  • คุณมีความยินดีในชีวิตที่ไม่ได้เกิดจากงานครั้งล่าสุดเมื่อไร อะไรทำให้พบความยินดีนั้น
  • ถ้าคุณมีชีวิตได้อีก 24 ชั่วโมง จะเอาไปทำอะไร

ถ้ายังเหลือเวลาอีก 1 วันแล้วยังตอบว่าทำงานที่ทำอยู่นี่แหละ สิ่งที่อยากทิ้งไว้ให้โลกก็คืองานตอนนี้นี่แหละ แสดงว่าโชคดี เพราะงานที่ทำเป็นอะไรที่เราชอบ ทำตามสิ่งที่ใจโหยหา

แต่ถ้าดันตอบอย่างอื่น หรือคิดคำตอบไม่ออก แสดงว่างานที่เรากำลังบ้าคลั่งกับมัน กำลังกลืนกินชีวิตเรา และเราก็เป็นคนบ้างานนั่นแล

งานวิจัยแยกแยะคนบ้างานออกเป็น 3 ประเภท

  • แบบย้ำคิดย้ำทำ: ทำตัวให้ยุ่งเข้าไว้ เน้นทำเยอะแต่ไม่เน้นคุณภาพ แบบนี้ควรได้รับการบำบัด
  • แบบ perfectionist: ลึก ๆ คือคนชอบควบคุมคนอื่น ควรฝึกวิธีผ่อนปรนความคาดหวังของตัวเอง
  • แบบมุ่งความสำเร็จ: เป็นแบบที่ดีสุด แต่ต้องระวังเสพติดความนับถือตัวเอง แขวนตัวเองกับความคิดเห็นคนอื่น

อีกสิ่งที่เราต้องไม่หลงลืมคือ Opportunity Cost หรือต้นทุนค่าเสียโอกาส เพราะทรัพยากรที่เราทุ่มเทไปกับงาน 1 อัตรา แลกกับการที่เราไม่ได้นำทรัพยากรนั้นไปทำอย่างอื่น มันอาจจะเป็นการให้เวลากับคนรอบข้าง การรักษาสุขภาพ การอ่านหนังสือดี ๆ เป็นต้น

และบางที คีย์สำคัญของการมีความสุขในชีวิต อาจจะไม่ได้ค้นพบจากงานที่ทำเป็นบ้าเป็นหลัง แต่การหันมาใส่ใจด้านอื่น ๆ ของชีวิตบ้างต่างหาก

ซูเปอร์แมนต้องมีจุดอ่อน

ในชีวิตของเรา จะมีทั้งส่วนที่เราควบคุมได้ และควบคุมไม่ได้

หลายครั้งที่ส่วนที่เราควบคุมไม่ได้ จะทำให้เรารู้สึกเป็นทุกข์ ท้อแท้ เหนื่อย อาจถึงขั้นตัดพ้อว่าทำไมชีวิตถึงโยนอะไรแบบนี้มาให้

แต่ถึงอย่างนั้น เราก็ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน คุณ Jordan B. Peterson ผู้เขียนหนังสือ 12 Rules for Life ยกตัวอย่างว่า ขนาดซูเปอร์แมนยังต้องมีข้อจำกัด นั่นก็คือการแพ้แร่คริปโตไนต์เลย และนั่นก็ทำให้ชีวิตของซูเปอร์แมนมีเสน่ห์ขึ้นมาก ๆ ต่างจากตอนที่ซูเปอร์แมนยังไร้เทียมทาน มีพลังรอบด้าน พออยู่ไปสักพักพล็อตนี้ก็น่าเบื่อ ไม่มีอะไรให้ลุ้น

การที่คนเรามีจุดอ่อนนั้น เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดสภาวะ Becoming หรือการเปลี่ยนแปลงเป็นอีกสิ่งหนึ่ง อาจจะเป็นการเก่งขึ้น แข็งแรงขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดเลยถ้าชีวิตของเราสมบูรณ์แบบแล้ว เพราะนั่นหมายถึงไม่มีอะไรต้องพัฒนาแก้ไข

แต่แน่นอนละ มันไม่ได้หมายความว่าให้เรา romanticize เรื่องแย่ ๆ ในชีวิต หรือปล่อยจอยเพราะเราควบคุมไม่ได้ แต่สิ่งที่เราควรทำคือยอมรับมัน ในขณะเดียวกันก็ไม่ยอมแพ้ที่จะทำให้ชีวิตดีขึ้น

หนึ่งวิธีที่จะรับมือกับเรื่องร้าย ๆ ก็คือ ลองแบ่งเวลามาคิดเรื่องนั้นโดยเฉพาะเลย คิดให้เสร็จตอนนั้นแหละ และเวลาอื่นจะได้ไปทำอย่างอื่น ไม่งั้นเราก็จะจมจ่อมอยู่ 24 ชั่วโมง ที่สำคัญคือในสถานการณ์วิกฤต เราจะต้องควบคุมชีวิตจิตใจตัวเองให้ได้ อย่าเผลอปล่อยไหลไปกับโชคชะตา

และต้องอย่าลืมว่า แม้ในวันที่ร้ายที่สุด ก็อาจมีเรื่องดี ๆ ที่ชีวิตมอบให้ก็ได้ อาจจะเจอท้องฟ้าสีสวย แมวมาทักทาย อาหารอร่อย สิ่งเล็ก ๆ เหล่านี้เราก็ไม่ควรมองข้าม เพราะมันเตือนให้เราเห็นแง่มุมอื่นของชีวิต ที่จะสามารถเติมพลังให้เราได้

สิ่งที่สำคัญกว่าสำเร็จหรือล้มเหลว

ในช่วงชีวิตของเรานั้นอาจจะเคยมีช่วงเวลาที่ล้มเหลว ลำบาก สภาพแวดล้อมไม่เป็นดั่งใจ

แต่สิ่งนี้ไม่ใช่ตัววัดความสำเร็จของเราหรอก สิ่งที่วัดความสำเร็จจริง ๆ คือสิ่งที่เราคิด หรือทัศนคติของเราเกี่ยวกับสิ่งที่เราได้ทำต่างหาก

แม้ว่าเราจะแข่งขันแพ้คนอื่น แต่เราอาจจะมองว่า เฮ้ย เราทำลายสถิติตัวเองได้ละ เราพยายามเต็มที่ ซึ่งเมื่อเราภูมิใจในตัวเอง เราก็จะชอบตัวเอง และนั่นก็ทำให้เรามีความสุข แม้ว่าคนอื่นจะตัดสินเรายังไงก็ตาม

สิ่งที่เราเผชิญอย่างยากลำบากในปัจจุบัน หากเรามีความพยายามผ่านมันไปได้ ก็จะกลายเป็นสิ่งที่เราภูมิใจ บอกต่อคนอื่น ๆ ในขณะที่ถ้าเราไม่ได้พยายามอย่างเต็มที่ เราก็จะรู้สึกเสียดายทีหลัง


วิถีแห่งความสุข

วิธีแยก “ความสุขปลอม” ออกจาก “ความสุขจริง”

คนส่วนใหญ่นั้นเวลาขอพร มักจะขอให้ตัวเองร่ำรวย ขอให้การงานประสบความสำเร็จ ขอให้สมหวังในความรัก

น่าแปลกใจที่น้อยคนจะขอว่า “ขอให้มีความสุข”

ดูเหมือนเราจะเชื่อว่า ความสุขนั้นจะต้องประกอบไปด้วยปัจจัยหลายอย่าง ต้องมีตัวกลาง ทั้งที่จริงแล้วความสุขก็คือความสุขนั่นแหละ เมื่อเรามีความสุข เราจะไม่ต้องการสิ่งใด ๆ เพิ่มเติมเลย

หนังสือ If You’re So Smart, Why Aren’t You Happy? ของคุณ Raj Raghunathan ได้บอกไว้ว่า คนเรามักเจอสภาวะ “ความย้อนแย้งของความสุข” นั่นก็คือ เรามักจะเผลอทำอะไรที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่จะทำให้เรามีความสุข

เช่น เวลากินบุฟเฟ่ต์ แทนที่เราจะกินแต่พอดีเพราะนั่นคือจุดที่สุขที่สุด แต่เราก็ยัด ๆๆ จนปวดท้องไม่สบายตัว เพราะคิดว่าจะต้องกินให้คุ้ม

หรือในความสัมพันธ์ แทนที่เราจะยอมซึ่งกันและกันเพื่อให้ความสัมพันธ์ราบรื่น แต่หลายครั้งเราก็เถียงกันว่าใครถูกใครผิด เพราะเรายึดถือว่าความถูกต้องต้องมาก่อน

และหลายครั้ง เราก็มักไม่รู้ตัวว่า จุดพอดีของเราคือจุดไหน บางทีเรามีแค่นี้เราอาจจะแฮปปี้แล้วก็ได้ ไม่ต้องไปตามหาหรือทำอะไรเพิ่มขึ้น เมื่อเราทำเกินเพดานความอิ่มเหมือนตอนกินบุฟเฟ่ต์ เราไม่ได้ทำเพื่อความสุขแล้วละ แต่เรากำลังหลงไปกับอะไรก็ไม่รู้

คุณ Raj ตั้งข้อสังเกตว่า อาจจะเพราะคนเราให้น้ำหนักกับสิ่งที่เป็นรูปธรรม จับต้องได้ เลยหลงใหลไปกับตัวเลข สิ่งของ ผู้คน ซึ่งจริง ๆ แล้วความสุขเป็นนามธรรม เป็นความรู้สึกดี ก็แค่นั้นเอง

ลองทบทวนดูว่า เรามีความเชื่อแบบไหน เชื่อว่าต้องมีอะไรแล้วจะมีความสุข? เชื่อว่าอะไรที่ต้องมีมากขึ้นถึงจะนำไปสู่ความสุข? แล้วมันเป็นจริงเช่นนั้นรึเปล่า

“สุขจริง” คือความรู้สึกพอดี เหมือนเวลากินบุฟเฟ่ต์แล้วอิ่มกำลังดี ส่วน “สุขปลอม” คืออะไรที่เรายัดเข้าไปมากกว่าจุดนั้นนั่นแหละ

จงกางใบเรือแล่นออกจากชายฝั่งอันปลอดภัย

เมื่อต้องเผชิญทางแยกของชีวิต หลายคนมักเลือกทางที่เสี่ยงน้อยกว่าแม้ว่าจะได้ผลตอบแทนน้อยกว่า ตรงกับพฤติกรรม Loss Aversion แม้ว่าบางที ลึก ๆ ในใจแล้วเราจะโหยหาอีกทาง แต่เราก็ไม่กล้าพอ

อันที่จริงแล้ว งานวิจัยได้เปิดเผยว่า คนส่วนใหญ่มักจะรู้สึกเสียใจกับสิ่งที่ไม่ได้ทำ มากกว่าสิ่งที่ได้ทำลงไปแล้วผิดพลาด

นั่นเพราะว่าความเสียใจจากสิ่งที่ไม่ได้ทำนั้นไม่มีวันสิ้นสุด เราจะมัวแต่สงสัยว่าถ้าเราทำ จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง มันจะคาใจอยู่อย่างนั้น

ในขณะที่ความเสียใจจากการที่เราทำอะไรแล้วผิดพลาดนั้นมักจะมีจุดสิ้นสุด คือเรารู้ละว่าผลลัพธ์เป็นยังไง จบ มูฟออน และมองเหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นบทเรียนหรืออีกหนึ่งตำนานไว้เล่าให้คนอื่นฟังอย่างสนุกสนาน เผลอ ๆ กลายเป็นเรื่องตลกในวงเหล้า

มี 2 คำถามที่ควรถามตัวเอง เมื่อต้องตัดสินใจครั้งใหญ่

  • เราจะมีโอกาสแบบนี้อีกมั้ย ถ้าไม่มี เราควรตัดสินใจทำ
  • ถ้าลงมือทำไปแล้วมีอะไรผิดพลาด เราจะแก้ไขได้มั้ย หรือมีทางไปต่อรึเปล่า ถ้าไม่มีทางแก้เราก็ต้องระวังหน่อย แต่ส่วนใหญ่เรามักจะมองทุกอย่างแบบ extreme คือ มองว่าถ้าเลือกอันนี้แล้ว จะไม่มีตัวเลือกอื่น ๆ อีก ทั้งที่จริง ๆ แม้เราเลือกงาน A แทนงาน B ก็จริงที่เราจะไม่มีวันได้ทำงาน B แต่เราอาจจะไปเจองาน C ก็ได้

ชีวิตที่สปาร์กจอย

“ต้องมีมากแค่ไหนถึงจะพอ?” น่าจะเป็นคำถามที่หลายคนคุ้นชิน แต่สุดท้ายก็ค้นพบว่า มันไม่เคยพอหรอก เพราะเมื่อเรามีถึงจุดนึงที่คิดว่าพอแล้ว เราก็จะคิดว่า มันยังไม่พอว่ะ มันมากกว่านี้ได้อีก

ซึ่งจริง ๆ แล้ว หากลองใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย เราอาจจะค้นพบว่า จริง ๆ การจะมีความสุขกับชีวิตนั้นไม่ต้องมีอะไรมากมายเลย คำถามที่ถามควรจะเป็น “ควรมีน้อยเท่าไรถึงจะพอ?” มากกว่า

ทุกวันนี้ เราเอานู่นเอานี่เข้ามาในชีวิต โดยอาจจะลืมถามความต้องการแท้จริงของตัวเอง และลืมเช็กอยู่สม่ำเสมอว่าสิ่งที่มีนั้นเราชอบจริง ๆ เหรอ ไม่แน่ว่าพอไตร่ตรองดี ๆ เราอาจจะพบว่า เราสามารถตัดบางอย่างทิ้งไปได้โดยที่ไม่กระทบชีวิตตัวเอง

เจ้าแม่การจัดบ้านอย่างคุณมาริเอะ คนโดะ มีคำแนะนำว่า ถ้าไม่รู้ว่าสิ่งนี้ควรเก็บไว้ในบ้านต่อมั้ย ให้ลองถามตัวเองว่าสิ่งนี้ยัง “สปาร์กจอย” กับเราอยู่รึเปล่า ถ้าเราเห็นมันแล้วไม่รู้สึกอะไร นั่นอาจจะแปลว่าถึงเวลาที่เราควรโละมันทิ้ง ซึ่งหลักการนี้ก็ไม่ได้ใช้ได้แค่กับการจัดบ้าน แต่กับชีวิตของเราด้วย ไม่ว่าจะเป็น การงาน ผู้คน สิ่งของ ความคิดเห็น ฯลฯ

จริง ๆ การโละบางอย่างที่ไม่สปาร์กจอยเราออกไป ไม่ใช่เพื่อให้เราอยู่แบบมินิมัลหรือมักน้อยหรอก แต่มันคือการคัดกรองสิ่งที่เราชอบจริง ๆ ให้มาอยู่ในชีวิตต่างหาก มันคือการหันไปทางไหนก็เจอแต่สิ่งที่ชอบ มีคุณค่ากับชีวิตของเรา

ใช้เวลาอย่างมีความสุข

“ไม่มีเวลา” น่าจะเป็นข้ออ้างที่คลาสสิกมากเวลาเราไม่ได้ทำอะไรบางอย่าง หรือทำบางอย่างได้น้อยลง

แต่การ “ไม่มีเวลา” นั้นมีอยู่จริง ๆ หรือว่าเราแค่ใช้สอยและจัดการเวลาของเราไม่เป็นกันแน่?

หนังสือ In Praise of Wasting Time ของคุณ Alan Lightman พบเจอว่า มีคนที่สามารถปั่นจักรยานไปตลาดถึง 16 กิโลเมตร โดยที่ไม่เคยคิดเลยว่าตัวเองใช้เวลานานไปเท่าไร ถือเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจ เพราะสังคมที่คุณ Alan เติบโตนั้น ทุกวินาทีเป็นเงินเป็นทอง มีค่า ไม่สมควรแก่การปล่อยปละละเลยไปกับการขี่จักรยานถึง 16 กิโลเมตรแน่ ๆ

เราถูกปลูกฝังว่าต้องใช้เวลาให้คุ้ม ต้องเสพให้เยอะ ต้องไม่พลาดข่าวสารใหม่ ๆ จนบางทีก็ทำให้เครียดโดยไม่รู้ตัว

เรามีเวลาอยู่ว่าง ๆ น้อยลง เพราะเราจะพยายามหาอะไรมาเติมเต็มตลอด บางทีไถมือถือได้เป็นชั่วโมง หลายครั้งก็รีบเที่ยวรีบกินจะได้เก็บครบหลายจุด หรือบางครั้งก็ต้องรีบไปทำนู่นทำนี่

ข้อแนะนำคือ เราควรหาเวลาว่างอยู่เงียบ ๆ คนเดียว ปลีกตัวออกมาจากความวุ่นวายและคนรอบข้าง การอยู่คนเดียวจะทำให้เราได้ยินเสียงจากข้างในตัวเรา ได้ทบทวนตัวเราเองมากขึ้น และเมื่อเรามีความสุขกับการอยู่คนเดียวได้ เมื่อนั้นแหละเราจะเป็นอิสระจากคนอื่น ๆ เราไม่ต้องพึ่งพาความรู้สึกหรือการตัดสินของคนอื่นมากนัก

ชีวิตเราควรมีช่วงเวลาที่เราได้ดื่มด่ำจนลืมเวลา ใช้เวลาไปกับความหมายบางอย่าง หรือที่ภาษากรีกโบราณเรียกว่า “ไครอส” ในขณะเดียวกันก็ไม่ควรให้ความสำคัญกับ “โครนอส” หรือเข็มนาฬิกาและเวลาเชิงมาตรวัตรมากนัก เพราะความสุขเกิดขึ้นเมื่อเราใช้เวลานั้นอย่างมีความหมาย ไม่ใช่ว่ามัวแต่ทำอะไรก็ไม่รู้เยอะแยะมากมายแต่ไม่ได้เต็มอิ่มกับมันเลย

ใครอยากมีเวลาว่างมากขึ้น ลองนำ 3 วิธีนี้ไปบริหารกันได้

  • กั้นผนังให้ตัวเอง ล็อกเวลาให้ตัวเองอยู่ว่าง ๆ โดยไม่มีอะไรมารบกวน
  • หาวันขี้เกียจให้ตัวเอง อนุญาตให้ตัวเองไม่ทำอะไรโดยไม่รู้สึกผิด
  • แบ่งเวลามาลับขวาน หาความรู้พัฒนาตัวเอง

อันตรายของการเป็นเซเลบ

หลายคนมีความต้องการอยากเด่นอยากดัง ลึก ๆ นั่นเพราะเราต้องการการยอมรับ เราอยากเป็นที่รักของคนอื่น ๆ

ความดังยังอาจนำมาซึ่งความร่ำรวย แถมยังรู้สึกดีที่ตัวเองมีสปอร์ตไลต์สาดส่อง มีผู้คนคอยจดจ้อง

แต่นั่นเป็นความสุขที่แท้จริงหรือ?

เซเลบหลายคนต้องแลกสิ่งเหล่านี้กับความไม่เป็นส่วนตัว การซุบซิบนินทา เวลาว่างน้อยลง ไหนเลยจะการต้องพยายามอย่างหนักเพื่อคีพภาพลักษณ์ตัวเอง เพื่อเอนเตอร์เทนแฟนคลับ แล้วมันคุ้มกันมั้ยนะ? มันใช่สิ่งที่เราอยากทำจริง ๆ เหรอ?

ความรวยและความดังนั้นเป็นอะไรที่อันตราย เพราะยิ่งเราได้มามากเท่าไรก็จะยิ่งเสพติด อยากมีมากขึ้นเรื่อย ๆ หัวจิตหัวใจจะรู้สึกรุ่มร้อนตลอดเวลา แม้ปากจะบอกว่าสิ่งเหล่านี้นำมาซึ่งความสุข แต่ยิ่งวิ่งไปเท่าไรก็เหมือนจะไม่สุขสักที ทำไมมันมีแต่ความวุ่นวาย ต้องทนทำอะไรที่ไม่ชอบเพื่อปลายทางที่ไม่มาถึงสักที

ในทางกลับกัน แทนที่จะวิ่งพุ่งตรงเข้าหาความเด่นดังและความรวย เราควรเลือกทำในสิ่งที่ตัวเองรัก สิ่งที่เรารู้สึกว่ามีคุณค่ากับชีวิตจริง ๆ และสามารถเลี้ยงครอบครัวหรือคนที่รักได้ เท่านี้จริง ๆ ก็เป็นความสุขแล้ว อะไรอื่น ๆ ที่เหลือมันเป็นแค่ผลพลอยได้

การจะเป็นที่รักของคนอื่น ๆ นั้น ไม่จำเป็นต้องเด่นดังหรือมีวีรกรรมแผลง ๆ อะไร แค่เป็นคนดี มีน้ำใจ แค่นี้คนก็ชอบแล้ว

และอันที่จริง สิ่งที่เราควรทำที่สุดคือการรักตัวเอง การทำในสิ่งที่ตัวเองรัก เพราะเมื่อเรารักตัวเองแล้ว เราก็ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาความรักจากคนอื่น

อิคิไกกับนกสีเหลืองตัวนั้น

“อิคิไก” มาจากคำว่า “อิคิ” ที่แปลว่า “การมีชีวิตอยู่” กับ “ไก” ที่แปลว่า “เหตุผลหรือคุณค่า”

เมื่อรวมกัน จึงแปลว่า “เหตุผลของการมีชีวิตอยู่”

หนังสือ The Little Book of Ikigai ของคุณ Ken Mogi ได้ชี้ทางให้ว่าเราจะหาอิคิไกของเราเจอได้ยังไง

  • เริ่มต้นเล็ก ๆ เพราะบางทีถ้าคิดการใหญ่เกินไปอาจท้อได้ ให้ค่อย ๆ เริ่ม แต่ใส่ใจกับมันอย่างเต็มที่
  • ทำช่วงเช้าให้เป็นช่วงเวลาที่ดี เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของวัน หาความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ และปฏิสัมพันธ์กับผู้คนที่เรารักตอนเช้า
  • ให้คำมั่นสัญญากับตัวเอง ตั้งเป้าหมายแล้วลงมือทำ
  • อิจิโกะ อิจิเอะ แปลว่า “หนึ่งชีวิต หนึ่งครั้ง” ให้เราปฏิบัติกับทุกคนและทุกสิ่งเหมือนจะไม่ได้เจอกันอีกแล้ว
  • ทำงานอดิเรกอย่างมีแพสชั่น นอกเวลางานประจำเราก็หาอะไรที่เราชอบทำได้

หนังสือยังเล่าถึงบทละครเรื่องนึงชื่อ The Blue Bird โดยเป็นเรื่องของสองพี่น้องที่ออกตามหานกสีฟ้า เพราะเชื่อว่าเป็นนกแห่งความสุข แต่ไม่ว่าจะพยายามหาเท่าไรก็ไม่เจอ กลับมาบ้านแบบเซ็ง ๆ ถึงค่อยพบว่า ที่แท้นกสีฟ้าอยู่ในบ้านของพวกเขานี่หว่า

ซึ่งบทละครนี้ทางคุณนิ้วกลมได้ปรับนิดนึง ว่าแทนที่จะเป็นสีฟ้า ดันกลับมาเจอนกสีเหลืองหน้าตาธรรมดา ๆ แต่ร้องเพลงเพราะเหมือนกัน เพียงแค่สองพี่น้องไม่เคยเงี่ยหูฟังเพราะเอาแต่จะตามหานกสีฟ้า

นกสีเหลืองนี้ อาจจะเป็นอิคิไกที่อยู่ใกล้ตัวมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว บ้าน สัตว์เลี้ยง เพียงแต่เมื่อเราพบเจอกับสิ่งเหล่านี้ทุกวัน เราจะเริ่มมองความพิเศษเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมดา มองข้ามมันแล้วหันไปออกตามหาความสุขข้างนอกแทน

สำหรับคุณนิ้วกลมแล้ว แก่นของอิคิไก คือการใส่ใจและให้เวลากับทุกสิ่งที่สำคัญ ซึ่งก็จะทำให้ทุกช่วงเวลาและทุกคนมีความหมาย

หลบโลกไปอยู่คนเดียวบ้าง

เรามักจะคุ้นเคยกับความวุ่นวาย การมีสิ่งกระตุ้นตลอดเวลา และจะไม่สามารถทนอยู่กับการอยู่เฉย ๆ เงียบ ๆ คนเดียวได้เลย

นั่นเพราะยิ่งเงียบเท่าไร คนส่วนใหญ่จะยิ่งฟุ้งซ่าน คิดนู่นคิดนี่ไปเรื่อย ทั้งที่จริง ๆ แล้ว ความเงียบจะทำให้เราได้เชื่อมต่อกับตัวเองมากขึ้น ได้ยินเสียงจากข้างในใจของเราได้ดีขึ้น

นี่ยังหมายรวมถึงการใช้โทรศัพท์มือถือ ทุกวันนี้เราเคยชินกับมัน เสพติดการเปิดดูมือถือไถนู่นนี่ไปเรื่อยเพราะมันเพลิดเพลิน แต่จริง ๆ แล้วการเสพติดมือถือทำให้เราไม่ได้ใช้ชีวิตที่อยู่ตรงหน้าเราจริง ๆ


ความสัมพันธ์

ชีวิตประกอบขึ้น จากผู้คนที่รายล้อม

ในช่วงเวลาที่เราลำบากที่สุดนั้น เราจะค้นพบว่า เราได้สร้างความสัมพันธ์แบบไหนกับผู้คนไว้

หากเราคอยสะสมความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้คนรอบข้าง ยามที่เราล้มหรือเผชิญความยากลำบาก ผู้คนเหล่านี้แหละจะเข้ามาช่วยเหลือและให้กำลังใจเรา มอบความรักในวันที่เราต้องการมากที่สุด

ฉะนั้นแล้ว ทุกการพบปะจึงสำคัญ เราควรเริ่มสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับผู้คนรอบด้านตั้งแต่วันนี้เลย เพราะความรักความผูกพันต้องใช้เวลาสะสมบ่มเพาะ

รักอย่างไรให้มีความสุข

หลายคนที่ต้องเผชิญความรักที่ล้มเหลว นั่นเพราะพวกเขามัวแต่คิดว่า จะต้องได้รับอะไรกลับมาจากอีกฝ่าย

เมื่อเราเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง เวลาเกิดปัญหาอะไร เราก็จะไม่พยายามแก้ไข โยนว่าเป็นความผิดของอีกฝ่าย

คนที่รักแบบนี้ คือคนที่รักเหมือนเลือกซื้อสินค้า คิดแต่ว่าจ่ายเงินไปแล้วต้องได้อะไร ซึ่งจริง ๆ แล้ว ความรักที่ดีควรจะเป็นตรงกันข้าม คือเราควรจะถามตัวเองว่า เราจะให้อะไรอีกฝ่ายได้บ้าง

คุณ Eric Fromm ผู้เขียนหนังสือ The Art of Loving ได้เล่าถึงประเภทของความรักไว้ มีความรักประเภทที่เรียกว่า “พึ่งพาอาศัยกัน” ความรักประเภทนี้มักจะมีฝ่ายชัดเจน คือฝ่ายที่รัก กับฝ่ายที่ถูกรัก

ฝ่ายที่รักนั้นก็ทุ่มไปสิ รักไปสิ เห็นอีกฝ่ายเป็นพระเจ้า ในขณะที่ฝ่ายที่ถูกรักนั้น ก็จะรู้สึกเหมือนถูกเชิดชู รู้สึกเหนือกว่าอีกฝ่าย

นี่เป็นความรักที่คุณ Eric ไม่เชียร์ เขาชอบความรักแบบ “มีวุฒิภาวะ” นั่นคือ ทั้งคู่รักกันแต่ก็ยังคงความเป็นตัวเองไว้

การจะคงความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้น มีทักษะ 4 อย่างด้วยกันที่ต้องทำ

  • การห่วงใยดูแลกัน ใส่ใจกันและกัน เห็นพัฒนาการและการเติบโตของอีกฝ่าย เกิดเป็นความผูกพัน เหมือนเวลาเราปลูกต้นไม้ เราต้องลงแรงกับมัน
  • ความรับผิดชอบ เช่น เวลาคนที่เรารักป่วย เราก็ต้องพร้อมดูแลเขาจากใจ
  • การนับถือ คือการยอมรับอีกฝ่ายที่ตัวตนของเขา ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไร โอเคว่าถึงจุดนึงเราอาจจะพบเจอมุมไม่น่าอภิรมย์ แต่เราจะยอมรับสิ่งนี้ได้เมื่อเรามี…
  • ความรู้ คือการเรียนรู้เกี่ยวกับอีกฝ่าย ว่าเขาพบเจออะไรมาบ้าง อะไรทำให้เขาเป็นคนแบบนี้ เมื่อเราเข้าใจเหตุ เราก็จะพร้อมเปิดรับเขาจากตัวตนเขาจริง ๆ

รักแท้ไม่โรแมนติก

พอพูดถึงความรัก หลายคนมักจะนึกถึงความรักแบบ “โรแมนติก” ซะเป็นส่วนใหญ่ เป็นความรักที่หอมหวานไม่มีวันโรยรา แต่งงานแล้วครองคู่กันจนแก่เฒ่า มองตาก็รู้ใจ

แต่ความเป็นจริงนั้นโหดร้าย เพราะยิ่งเราวาดฝันความรักแบบโรแมนติกมากแค่ไหน เราก็มีโอกาสเจ็บปวดกับความผิดหวังมากขึ้นเท่านั้น เพราะเราจะตั้งความคาดหวังไว้สูงเว่อร์กับคนรัก ก่อนจะค้นพบว่าเขาไม่สามารถทำบางสิ่งบางอย่างให้ถูกใจเราได้

3 ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับความรัก

การเลือกคนรัก

จริง ๆ แล้วเราไม่ได้เลือกคนที่ดีหรอก แต่เราเลือกคนที่คุ้นเคยต่างหาก ด้วยเหตุนี้จึงมีคำว่า “ดีเกินไป” เพราะตลอดชีวิตของคนคนนั้น เขาไม่เคยได้รับการดูแลเอาใจใส่ที่ดี พอมาเจอคนทำดีใส่ ก็รู้สึกว่าแปลก ไม่คุ้นเคย อึดอัด ทำให้วนกลับไปหาความสัมพันธ์แบบเดิม ๆ ทางแก้คือ ควรลิสต์คุณสมบัติที่เราไม่ชอบออกมา แล้วดูว่าอันไหนน่ารังเกียจจริง หรืออันไหนเพียงแค่ไม่คุ้นเคย พอทำแบบนี้ เราจะรู้ทันละ และเราจะเปิดใจมากขึ้นกับคุณสมบัติดี ๆ ที่เราไม่คุ้นเคย

การถ่ายโอนความรู้สึก

บางครั้งเราจะพบเจอว่าเพียงแค่เราพูดอะไรนิดหน่อย หรือทำอะไรพลาดเล็กน้อย ก็ทำให้อีกฝ่ายหัวร้อนอาละวาดเหมือนเด็กมีปัญหา นั่นเป็นเพราะเขาอาจจะเคยมีปมในอดีต และพฤติกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ ของเราไปจี้ปมเขา ถ้าทั้งสองฝ่ายเปิดใจกัน เล่าเรื่องราวของกันและกัน ก็จะช่วยให้ทั้งสองฝ่ายเข้าใจพฤติกรรมเหล่านี้

คนรักควรเข้าใจกัน 100%

อันนี้ไม่จริง เพราะยังไงคนสองคนก็เป็นปัจเจกบุคคล ไม่มีทางที่จะทำตัวเป็นเสมือนอีกครึ่งนึงของเราได้หรอก ที่เรามักเข้าใจผิดเพราะช่วงแรก ๆ เรามักจะเจอแต่ “ความชอบที่เหมือน ๆ กัน” เช่น ชอบกินอะไรเหมือนกัน ชอบฟังเพลงแนวเดียวกัน แต่พออยู่ไปสักพัก อีกด้านที่ไม่เหมือนกันก็เริ่มเผย ก็จะเริ่มรับไม่ได้ แต่จริง ๆ นี่เป็นสัญญาณที่ดี เพราะนั่นหมายความว่าทั้งคู่สนิทกันมากพอจนเห็นด้านที่ไม่ดีหรือไม่เหมือนกันแล้ว

จากทั้งหมดนี้ เราจึงควร

  • ไม่วาดภาพฝันความรักให้สวยหรูไป ควรปรับให้สมจริง
  • รู้เท่าทันอิทธิพลจากอดีต ที่อาจจะผลักไสคุณสมบัติที่ดีในตัวคนอื่น ๆ ออก แล้วตามหาแต่คุณสมบัติแย่ ๆ ที่คุ้นเคย
  • มองเห็นความเป็นเด็กในตัวอีกฝ่าย และปฏิสัมพันธ์อย่างเมตตา
  • แชร์กับอีกฝ่ายว่าความเป็นเด็กของแต่ละคนเป็นแบบไหน
  • ไม่คาดหวังว่าคนรักจะเข้าใจเรา 100% และไม่จำเป็นต้องเป็นทุกอย่างสำหรับเรา

และความรักจะสวยงามขึ้นเมื่อเราวางความคาดหวัง 3 อย่าง ได้แก่

  • คาดหวังความสมบูรณ์แบบว่าคนรักของเรามีแต่ด้านดี ๆ ไม่มีด้านแย่ ๆ
  • คาดหวังว่าอีกฝ่ายจะต้องเข้าใจเราทุกอย่าง
  • คาดหวังว่าความรักเป็นเรื่องโรแมนติก

เพราะความรักในชีวิตจริงนั้นไม่โรแมนติก การมองความรักด้วยฟิลเตอร์ความจริงนั้นน่าจะเป็นหนทางที่ทำให้มีความรักได้อย่างแฮปปี้ที่สุด

นั่งรถบุบ ๆ ไปด้วยกัน

จนถึงตรงนี้แล้ว ค่อนข้างชัดว่าการใช้ชีวิตให้มีความสุขมากขึ้นนั้น หนึ่งวิธีคือการไม่คาดหวังว่าชีวิตจะสมบูรณ์แบบ คู่ครองจะต้องเพอร์เฟ็กต์

เพราะในความเป็นจริง ชีวิตจะโยนอะไรเข้ามาบ้างก็ไม่รู้ อาจจะเจอเรื่องร้าย เรื่องน่าปวดหัว แต่เราก็ต้องเผชิญกับมัน

เราเลือกวิธีปฏิบัติตนได้ เราจะร่ำร้องโอดครวญแล้วยอมแพ้ หรือจะเลือกมองตามความเป็นจริงแล้วดีลกับมัน ก็ขึ้นอยู่กับเรา

ความสัมพันธ์ที่ดีนั้นไม่ใช่ความสัมพันธ์ที่สมบูรณ์แบบ แต่เป็นความสัมพันธ์ที่ยอมรับซึ่งกันและกันว่ามันไม่เพอร์เฟ็กต์ 100% เหมือนรถที่มีส่วนบุบอยู่บ้าง ถึงกระนั้นรถคันนั้นก็ยังแล่นได้ดี จึงไม่มีความจำเป็นมากนักที่จะต้องไปซ่อมรอยบุบนั้น

เพราะชีวิตเรามันสั้น เราควรใช้เวลาในชีวิตให้คุ้มค่าที่สุด เหมือนเล่นในสวนสนุกที่รู้ว่าเดี๋ยวก็ต้องปิด แต่ถึงกระนั้นก็ไม่ได้กระวนกระวาย แค่ขอมีความสุขกับตอนนี้ที่สวนสนุกยังไม่ปิดก็พอ


วิธีปฏิบัติ

บางคนเกิดมามีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่าคนอื่น

การที่เรามาถึงจุดที่เรายืนตรงนี้ในปัจจุบันได้ ประกอบไปด้วยสองส่วน คือส่วนที่เราควบคุมได้ กับส่วนที่เราควบคุมไม่ได้

ส่วนที่ควบคุมได้ก็คือความพยายาม มุ่งมั่นตั้งใจ พัฒนาฝึกฝนสกิลของเราเอง

ส่วนที่ควบคุมไม่ได้ก็คือสภาพแวดล้อมที่เราเกิดมา ผู้คนที่รายล้อม โชคดีโชคร้ายที่ได้พบเจอ

อนิจจา โดยส่วนใหญ่แล้ว “ส่วนที่ควบคุมไม่ได้” จะกินสัดส่วนมากกว่า เพราะมันหมายรวมถึงถิ่นกำเนิดของเรา ครอบครัวของเรา โรงเรียนที่เราไป สังคมที่เราคบหา กรรมพันธุ์ ฯลฯ

แน่นอนว่าเราเลือกเกิดไม่ได้ บางคนสวยหล่อแต่กำเนิด บางคนเกิดมาฐานะดี บางคนอยู่ในบ้านที่ครอบครัวอบอุ่น ในขณะที่บางคนเจอสภาพแวดล้อมตรงกันข้าม แค่นี้ต้นทุนชีวิตคนเราก็ไม่เท่ากันแล้ว ดังนั้น การจะ take credit มาที่ตัวเองทั้งหมดก็อาจจะดูแปลก ๆ เพราะในความเป็นจริงนั้น มี “โชค” เข้ามาข้องเกี่ยวด้วย

คำแนะนำของคุณ Rolf Dobelli เจ้าของหนังสือ The Art of the Good Life บอกว่า ถ้าอยากมีความสุขกับความสำเร็จของตัวเอง ให้ทำตามนี้

  • ถ่อมตัวเข้าไว้ อย่ากร่าง ยิ่งสำเร็จเท่าไรก็ยิ่งต้องขอบคุณคนอื่นและสิ่งอื่นที่ช่วยสนับสนุนเรา เพราะหากเราอีโก้สูง นั่นคือการเข้าใจตัวเองผิด
  • แบ่งปันความโชคดีให้คนอื่นที่โชคดีน้อยกว่าเรา เพราะสังคมที่มีความสุขคือสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำน้อย

ความสุขในโลกที่ไม่ใช้เงิน

ชีวิตเราตอนนี้เหมือนถูกทุนนิยมครอบงำ เวลาจะทำอะไรก็มักจะนึกก่อนเลยว่า “ได้เงินเท่าไร”

ซึ่งจริง ๆ แล้ว เงินก็สำคัญแหละ แต่หากยึดติดกับคุณค่าอย่างนี้มากเกินไป อาจทำให้เราพลาดแง่มุมต่าง ๆ ของชีวิต

บางที การทำอะไรโดยที่ไม่มีเงินมาเป็นศูนย์กลาง ก็สร้างความสุขได้เหมือนกัน ตัวอย่างเช่น เวลาเพื่อนมาพักบ้านเรา หรือเรามาพักบ้านเพื่อน ก็เป็นการแลกเปลี่ยนที่แฮปปี้แม้ไม่มีเงิน

และหลาย ๆ การแลกเปลี่ยนโดยไร้ซึ่งเงิน ก็นำมาซึ่งความสัมพันธ์ที่ดี อันเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญของชีวิตที่มีความสุข

ดังนั้น แทนที่จะโฟกัสเรื่องเงิน อาจเป็นการดีที่เราจะเริ่มมาโฟกัสว่า เราสามารถให้อะไรใครได้บ้าง น้ำใจอะไรที่เราสามารถมอบให้คนอื่นได้?

เพราะถ้าเราอยากจะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่น เราก็ต้องให้ความสัมพันธ์ที่ดีนั้นต่ออีกฝ่ายเช่นกัน ใจแลกใจนั่นเอง

20 วินาทีเปลี่ยนชีวิต

หลายคนอาจจะเคยตั้งเป้าหมาย เช่น อยากลดน้ำหนัก อยากอ่านหนังสือให้มากขึ้น อยากออกกำลัง ฯลฯ แต่ก็ค้นพบว่า มันช่างยากเหลือเกินที่จะ stick to the habit หรือทำกิจวัตรนั้น ๆ อย่างต่อเนื่อง

นั่นเป็นเพราะสมองเรายังยึดติดอยู่กับพฤติกรรมที่ “ง่าย” ที่เราเคยชิน เช่น นอนดูซีรีส์ กินขนมไม่มีประโยชน์

อีกส่วนก็เพราะเป้าหมายต่าง ๆ ที่เราตั้งไว้นั้นเข้าถึง “ยาก” เกินไป เมื่อเทียบกับตัวเลือกอื่น ๆ ที่เข้าถึงง่ายกว่า เช่น มันง่ายกว่ามากที่จะไปหยิบคุกกี้บนโต๊ะกินข้าวซึ่งเห็นกันชัด ๆ แทนที่จะเปิดตู้เย็นไปหยิบผลไม้

ซึ่งจริง ๆ แล้ว การจะเปลี่ยนนิสัยตัวเองให้คุ้นชินกับกิจวัตรใหม่ บางทีมันอาจจะง่าย ๆ แค่การตัดอุปสรรคบางอย่างออก ซึ่งอุปสรรคที่ว่านี้อาจจะดูเล็กน้อยมาก แต่ถ้ามันสามารถย่นระยะเวลา 20 วินาทีที่อุปสรรคนี้ขวางเราจากพฤติกรรมที่เราต้องการได้ มันอาจจะส่งผลใหญ่หลวงเลย

เคล็ดลับการสร้างนิสัยใหม่

  • อย่าตั้งเป้าเยอะไป เลือกเฉพาะที่สำคัญ
  • ตระหนักเสมอว่าเรากำลังฝึกนิสัยใหม่ เข้าใจว่าช่วงแรก ๆ มันต้องมีแรงเสียดทานกันบ้าง แต่นาน ๆ ไปเราก็จะคุ้นเอง
  • วางเป้าหมายไว้ใกล้มือ จัดสภาพแวดล้อมให้เราเข้าถึงสิ่งนั้นได้ง่าย ๆ และพยายามกำจัดอุปสรรคต่าง ๆ เช่น ถ้าอยากฝึกกีตาร์ ก็เอาออกมาวางโชว์เลย อย่าเก็บไว้ในตู้
  • สัญญากับตัวเองด้วยการกระทำ เช่น สวมชุดวิ่งเป็นชุดนอน ตื่นมาจะได้ไปวิ่งได้เลย
  • ตัดตัวเลือกออกให้หมด เหลือแค่ชัด ๆ อันเดียวว่าจะทำอะไร จะวิ่ง จะว่ายน้ำ หรือจะเวท
  • สร้างกฎให้ตัวเองที่จะทำหรือไม่ทำสิ่งต่าง ๆ

มีหนังสือเล่มนึงที่ให้คำแนะนำเรื่องนี้แบบละเอียดมาก ๆ ชื่อ Atomic Habits เรามีเขียนสรุปไว้เผื่อใครสนใจอยากอ่าน

ชีวิตเต็มไปด้วยสิ่งที่ควรขอบคุณ

อีกวิธีที่จะช่วยให้เรารู้สึก appreciate ชีวิต และมีความสุขกับสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ธรรมดาสามัญ คือการรู้สึกขอบคุณสิ่งรอบด้าน หรือคนรอบด้าน

ทุก ๆ โมเม้นต์ จะมีสิ่งที่เราสามารถขอบคุณได้

ไม่ว่าจะเป็นพ่อครัวที่ทำกับข้าวให้ ท้องฟ้าที่สวย น้ำที่ไหลเป็นปกติ หรือแม้กระทั่งตัวเองที่ไม่เจ็บไม่ป่วย

การทำแบบนี้ จะทำให้เราได้ซาบซึ้งกับสิ่งที่เรามีอยู่แล้ว เมื่อเรามีความสุขกับสิ่งที่มี เราก็จะไม่โหยหาอยากได้อะไรเพิ่ม กลับกันอยากจะแบ่งปันให้คนอื่นด้วยซ้ำ

วิธีที่จะทำให้เราได้ขอบคุณสิ่งต่าง ๆ คือการ “หยุด-มอง-แล้วค่อยไป”

นั่นคือ ยิ่งเราหยุดมองสิ่งรอบด้านมากเท่าไร เราก็จะยิ่งค้นพบสิ่งน่าขอบคุณมากเท่านั้น

มนุษย์ขี้อิจฉา

มีงานวิจัยออกมายืนยันแล้ว ว่าเมื่อมนุษย์เห็นเพื่อนมีความสุข สมองจะตอบสนองเหมือนเราเจ็บปวดทางกาย ในขณะที่เมื่อมนุษย์เห็นเพื่อนประสบทุกข์ สมองกลับตอบสนองแบบมีความสุขซะงั้น

นั่นหมายความว่า ธรรมชาติของมนุษย์เป็นคนขี้อิจฉานั่นเอง

เป็นความจริงที่น่าเศร้ามาก เพราะการมีความสุขบนความทุกข์คนอื่นฟังยังไงก็ดูพิกลพิการ

ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ เราจะใช้ชีวิตอย่างไม่แฮปปี้เลย เพราะเราจะคอยแต่สอดส่องหาความผิดพลาดในชีวิตผู้อื่น ขณะเดียวกันเมื่อเห็นคนอื่นได้ดี เราก็รู้สึกอิจฉาตาร้อน

รู้อย่างนี้แล้ว เราจะแก้ความขี้อิจฉายังไงดี

  • สร้างความรู้สึกขอบคุณให้กับชีวิต อิ่มเอมในสิ่งที่ตัวเองมี
  • ใช้ความอิจฉามาเป็นแรงจูงใจ ทำยังไงให้ได้แบบเขาบ้าง
  • ลองเปลี่ยนกรอบความคิด อีกฝ่ายอาจจะไม่ได้มีความสุขเหมือนฉากหน้าก็ได้

ความอิจฉานั้นทำลายความสงบสุขในจิตใจ คำแนะนำของท่านดาไล ลามะคือ ให้เรามี “มุฑิตา” กับผู้อื่น นั่นคือ รู้สึกยินดีเมื่อคนอื่นได้ดี และรู้สึกห่วงใยเมื่ออีกฝ่ายประสบทุกข์

การจะมีมุฑิตาได้นั้น ต้องเข้าใจในสัจธรรม 2 ข้อ คือ

  • มนุษย์ทุกคนล้วนเหมือนกัน ใคร ๆ ก็อยากอวดด้านดี ใคร ๆ ก็อยากมีความสุข
  • ชีวิตไม่ใช่เกมที่ลงเล่นเพื่อรอดูผลแพ้ชนะ ไม่ใช่ zero-sum game ที่ต้องมีผู้แพ้ผู้ชนะ คนอื่นได้ดีไม่ได้หมายความว่าชีวิตเราจะแย่ลง

รู้อย่างนี้แล้ว อาจจะลองใช้ social media เป็นเครื่องมือฝึกความมีมุฑิตาของตัวเองดูได้นะ เพราะใน social media ส่วนใหญ่คนจะโพสแต่เรื่องดี ๆ ถ้าเราสามารถเสพหน้าฟีดโดยรู้สึกยินดีไปกับพวกเขา ไม่อิจฉาตาร้อน ก็ถือว่าได้พัฒนาสกิลความสุขอีกรูปแบบแล้ว

ลดละไลก์

หลายคนมักจะเสพติด social media เพราะมันให้ความสุขกับเรา เวลามีใครมากดไลก์ มาคอมเม้นท์ มันก็เหมือนเราได้รับการยอมรับจากสังคม ซึ่งก็ตอบสนองความต้องการดั้งเดิมของมนุษย์ที่ว่าเราเป็นสัตว์สังคม

แต่การเล่น social media มากไปก็เป็นผลเสียเหมือนกัน มันทำให้เราไขว้เขวกับตัวเองเพราะตัวเราจะเหมือนถูกสายตาคนอื่นจ้องมองตัดสินตลอดเวลา อีกทั้งมันยังขโมยเวลาที่เราสามารถเอาไปทำอย่างอื่นที่มีคุณค่าน่าจดจำกว่า

ถ้าเริ่มรู้สึกว่าพฤติกรรมเสพติด social media เริ่มทำให้ชีวิตเราไม่เป็นสุข ลองทำตามวิธีนี้

  • หาเวลาสัก 30 วันในการงดใช้แอปฯ นั้น ๆ ที่คิดว่าไม่จำเป็นกับชีวิต แต่อยากลดละเลิก
  • หากิจกรรมอื่นที่ทำให้เรารู้สึกพึงพอใจ มีความหมายกับชีวิต เช่น วาดรูป ปลูกต้นไม้ เรียนภาษา
  • 30 วันผ่านไป ลองกลับมาใช้แอปฯ ที่ละการเล่นไป แล้วลองคัดกรองอีกทีว่าแอปฯ ไหนได้ไปต่อ แอปฯ ไหนควรโละถาวร

เมื่อเราสามารถคัดแอปฯ ที่ไม่จำเป็นออกไปได้ เราก็จะมีเวลามากขึ้น เอาไปสร้างสรรค์ทำสิ่งอื่นที่มีคุณค่ามากกว่าได้ และสิ่งนี้แหละที่จะทำให้เราภาคภูมิใจและมีความสุขกับมันในระยะยาว

สุขจากการไม่ครอบครอง

บางทีเราสามารถมีความสุขได้โดยที่ไม่ต้องซื้อของมากมาย หรือครอบครองของหลายชิ้น

หากเราเรียนรู้ที่จะ appreciate สิ่งรอบด้านในแบบที่มันเป็น โดยไม่คิดถึงการครอบครอง เท่านั้นความสุขของเราก็จะง่ายดายมาก

ในทางกลับกัน หากเราซื้อของ ก็คงมีความสุขแค่ประเดี๋ยวประด๋าว แต่ไม่นานเราอาจจะชินชากับมัน หรืออาจจะซุกมันไว้แล้วไม่กลับมาดูมันอีกเลย

ยิ่งเรามีสิ่งของในครอบครองเยอะเท่าไร ก็ยิ่งยากที่เราจะผูกพันกับของชิ้นใดชิ้นหนึ่ง เพราะใช้แต่ละชิ้นแค่นิด ๆ หน่อย ๆ ไม่ได้มีชิ้นไหนที่หวงแหนหรือผูกพันเป็นพิเศษ ซึ่งนั่นก็ทำให้คุณค่าของสิ่งต่าง ๆ ถูกลดทอนลงไป ทั้งที่แต่ละชิ้นสามารถฉายแสงได้หากไม่มีคู่แข่ง

ชีวิตคือตอนนี้

หากเรารู้สึกทุกข์ใจหรือเป็นกังวล นั่นหมายความว่าเรากำลังหลงไปในอดีตหรืออนาคต ไม่ได้จดจ่ออยู่กับปัจจุบันขณะ

หลายครั้งในขณะที่เราทานอาหาร เราเผลอนึกเรื่องงานแล้วทุกข์ใจ หรือบางครั้งเจอเพื่อนคนนึง แต่ใจก็เผลอไปนึกถึงอีกคน

น่าเสียดายที่หลาย ๆ ครั้ง เราเมินเฉยต่อสิ่งที่อยู่ตรงหน้า ณ ขณะนั้น ซึ่งจริง ๆ แล้วถือว่ามีค่ามาก ๆ

หากเริ่มรู้สึกว้าวุ่นใจเมื่อไร ให้ลองหยุดอยู่นิ่ง ๆ แล้วสำรวจว่าความรู้สึกนั้นเกิดจากอะไร จากนั้นก็ลองดึงตัวเองมาสู่ปัจจุบัน ทริคนึงที่หลวงพ่อคำเขียนแนะนำคือ ให้ถามตัวเองว่า “ตอนนี้มือวางอยู่ที่ไหน”

เพราะหลายครั้งเรามัวแต่หลงไปในความคิดจนไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าส่วนต่าง ๆ ของร่างกายสัมผัสกับอะไรอยู่ อยู่ในอิริยาบถไหน คำถามง่าย ๆ นี้จะสามารถดึงเรากลับมาสู่ปัจจุบันได้ ปัจจุบันที่ไร้ซึ่งความทุกข์กังวลใจ

ขณะเดียวกัน ยิ่งเราสามารถรู้สึกยินดีกับความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ ณ ปัจจุบันขณะ เราก็จะยิ่งมีความสุขมากเท่านั้น

ถึงอย่างนั้น ไม่ได้หมายความว่าให้ใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบันอย่างเดียวโดยไม่สนใจอนาคตหรืออดีต เพราะยังไงเสียเราก็ควรทบทวนเรื่องราวที่เคยผ่านหรือเรียนรู้ในอดีตบ้าง และควรวางแผนชีวิตในอนาคต แต่เมื่อกระบวนการความคิดตรงนั้นเสร็จสิ้นแล้ว เราก็ควรหาเวลากลับมาอยู่กับปัจจุบัน

7 กฏเพื่อการมีชีวิตที่งอกงาม

หนังสือ The Seven Spiritual Laws of Success ของ Deepak Chopra พูดไว้ว่า “ชีวิตที่งอกงาม” คือความสำเร็จทางจิตใจ ซึ่งคำจำกัดความของมันมีอยู่ 10 ข้อ

  • มีความสุขเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถ้าทุกข์มากขึ้นเรื่อย ๆ แม้ว่าจะมีชื่อเสียง อำนาจ ก็ไม่นับว่าสำเร็จ
  • ตระหนักรู้ถึงความก้าวหน้าของเป้าหมายตัวเอง เข้าใจตัวเองมากขึ้น มีสติมากขึ้น
  • เติมเต็มความปรารถนาของตัวเองได้ง่าย เพราะตั้งเงื่อนไขกับชีวิตน้อยลง
  • สามารถสร้างความมั่งคั่งในใจได้ (ไม่ใช่เรื่องเงิน)
  • มีสุขภาพดี
  • เต็มไปด้วยพลังและความกระตือรือร้น
  • มีความสัมพันธ์ที่ดีกับทุก ๆ คนในชีวิต
  • มีอิสระในการสร้างสิ่งต่าง ๆ เห็นความเป็นไปได้เสมอ
  • มีความมั่นคงทางอารมณ์
  • รู้สึกดีกับชีวิตและสงบสุขภายในใจ

7 กฏเพื่อสร้างความสำเร็จทางจิตวิญญาณ

  • ลองนั่งเฉย ๆ ไม่ตัดสินอะไรสักครึ่งชั่วโมงต่อวัน กลับเข้าหาตัวตนภายใน ไม่ยึดติดสิ่งภายนอก ฝึกมีช่วงเวลาอยู่กับธรรมชาติ
  • เมื่อไปเจอใคร นำของขวัญไปให้เขาด้วยเสมอ อาจจะไม่ต้องเป็นสิ่งของก็ได้ สามารถเป็นความรู้สึกดี ๆ คำพูดดี ๆ น้ำใจเล็ก ๆ น้อย ๆ
  • ถามตัวเองก่อนลงมือทำว่า อะไรคือผลที่จะตามมา ดีกับตัวเราและคนรอบข้างรึเปล่า ทางเลือกที่ดีจะทำให้เรารู้สึกผ่อนคลาย หรือตื่นเต้นในทางบวก
  • ปกป้องตัวเองให้น้อยลง เก็บพลังไว้สร้างสิ่งใหม่หรือหาทางออก ฝึกที่จะยอมรับ รับผิดชอบในการตัดสินใจของตัวเอง
  • ทำอย่างมุ่งมั่นโดยไม่คาดหวังผลลัพธ์ โฟกัสกับปัจจุบัน
  • เฝ้ามองความผิดหวังและผิดแผน ดูว่าจะคลี่คลายไปสู่คำตอบใหม่ ๆ อะไรบ้าง ยอมรับความไม่แน่นอนของชีวิต
  • หาสิ่งที่ทำได้ดี ทำเต็มที่ แล้วคนอื่นจะมีความสุขจากสิ่งที่เราทำ ไม่เปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น

ความสุขคือ

แม้เราจะได้อ่านทฤษฎีเกี่ยวกับความสุขมานักต่อนัก แต่พอถึงเวลาปฏิบัติจริง หลายคนอาจจะค้นพบว่า ก็ไม่ได้มีความสุขเพิ่มขึ้นขนาดนั้นนะ

แต่สิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ คือเราอาจจะเริ่มนิ่งขึ้น มีสติมากขึ้น และพร้อมรับทั้งสุขและทุกข์ ตั้งรับได้ดีขึ้น

ซึ่งความมั่นคงของจิตใจ ความสงบสุขในจิตใจ ก็คืออีกหนึ่งหนทางสู่ความสุขที่ยั่งยืน

โดยหัวใจที่มั่นคงนั้น มีองค์ประกอบหลัก คือ

  • ประสบการณ์ที่ผ่านทุกข์สุขมาพอสมควร ทำให้เราเริ่มนิ่งขึ้น รู้ว่าเดี๋ยวมันก็ผ่านไป ไม่ยึดติดกับมัน
  • สติ การหยุดนิ่งและรู้ตัว การดึงตัวเองกลับมาสู่ปัจจุบัน ไม่ฟูมฟายกับสุขทุกข์มากเกินไป ซึ่งจะช่วยได้ถ้าเราเจริญสติบ่อย ๆ

และอีกปัจจัยที่ขาดไม่ได้ คือ หัวใจที่มีความกรุณา ซึ่งเราอาจจะเชื่อมโยงง่าย ๆ กับ “ความรัก”

ความรัก ซึ่งสามารถแตกออกมาเป็น

  • รักตัวเอง ไม่ทำร้ายตัวเอง รู้จักปลอบใจตัวเองในวันที่เหนื่อยล้า ไม่กดดันตัวเองจนเกินไป
  • รักคนอื่น ในแบบที่ทำให้เขาและเรามีความสุขมากขึ้น ไม่ยัดเยียดหรือคาดหวังอีกฝ่าย รักด้วยความกรุณา สามารถตอบตัวเองได้ว่า
    • สิ่งที่กำลังจะทำนั้นเป็นอันตรายต่อคนอื่นหรือตัวเองรึเปล่า จะทำให้ชีวิตเขาหรือเราแย่ลงมั้ย
    • คนที่เราปฏิสัมพันธ์ด้วยมีความเกี่ยวข้องกับเรายังไง
  • รักสังคม ตระหนักว่าสิ่งที่เราทำนั้นส่งผลกระทบต่อคนอื่น ๆ ในวงกว้าง

โดยสรุปแล้ว ความสุขเกิดขึ้นจาก “หัวใจที่มั่นคง” และ “หัวใจที่มีความกรุณา” เป็นชีวิตที่ไม่ก่อความทุกข์ให้ตัวเองและคนอื่น เป็นชีวิตที่สร้างความสุขให้คนอื่นด้วยนอกจากตัวเอง


หนังสือ “ทักษะความสุข” ของคุณนิ้วกลม เป็นอีกเล่มนึงที่เราแนะนำมาก ๆ อยากให้เป็นของขวัญคนอื่นเลย เพราะรู้สึกว่ากระตุกความคิดได้ดี เตือนสติได้ดี มีแง่มุมของความสุขที่หลากหลาย ซึ่งเรามั่นใจว่าต้องตรงกับชีวิตของแต่ละคนไม่มากก็น้อย

หนังสือย้ำเตือนว่า จริง ๆ แล้วความสุขอาจจะเรียบง่ายมาก ๆ แต่เราทำให้มันซับซ้อนเอง ซึ่งก็รังแต่จะทำให้เราห่างไกลความสุขที่แท้จริงมากขึ้น

อาจจะไม่ใช่หนังสือธรรมะ แต่เราว่าอิทธิพลของเล่มนี้ก็เทียบ ๆ เท่าหนังสือธรรมะเลย แค่เป็นเวอร์ชั่นที่เข้าใจง่ายกว่า เป็นมิตรกับคนอ่านทั่ว ๆ ไปมากกว่า หนังสืออ่านง่าย แบ่งเป็นบทย่อย ๆ

เป็นอีกเล่มที่แนะนำค่ะ สำหรับใครที่ยังเคว้ง ๆ หรือรู้สึกงง ๆ ว่าทำไมชีวิตยังไม่มีความสุข เล่มนี้จะตอบโจทย์มาก ๆ ค่ะ

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

Blog at WordPress.com.

Up ↑

%d bloggers like this: