เมื่อวันเสาร์ที่ 29 ตุลาคมที่ผ่านมา เราได้มีโอกาสไปงาน iCreator Conference ซึ่งเป็นงานที่รวบรวมเหล่าคอนเทนต์ครีเอเตอร์ทั่ววงการมาแชร์เทรนด์และความรู้ให้ฟังกัน ถ้าใครอยู่ในสายงานนี้ไม่ควรพลาดเลย เพราะแค่ต้องเลือกว่าจะดูหัวข้อไหน ฮอลล์ไหน ก็เล่นเอาคิดแล้วคิดอีก รู้แหละว่าดูย้อนหลังได้ แต่บรรยากาศก็คงไม่เหมือนได้ไปนั่งดูสด ๆ (ไม่ใช่อะไร ขอออกมาข้างนอกบ้างหลังอยู่ติดบ้านมานานเพราะโควิด)
ซึ่งในโพสนี้ เราจะขอมาสรุปเนื้อหาที่ได้ไปฟังมาคร่าว ๆ จะขอเลือกแค่หัวข้อที่เราได้ไปฟังหน้างานนะคะ เพราะคัดมาแล้วว่าน่าจะเกี่ยวข้องโดยตรงกับงานเราหน่อย ถ้ามีตรงไหนผิดพลาดประการใด สามารถทักมาแจ้งได้เลยค่ะ
The Next Chapter of Content Creator ยุคแห่งการเปลี่ยนผ่านสู่สิ่งใหม่ โดย คุณ @Khajochi – ขจร จาก RAiNMaker

เป็นธรรมเนียมที่เจ้าภาพจะขึ้นมาพูดก่อน รอบนี้คุณขจรชูด้วยคำศัพท์ Creatornomic หรือก็คือ Ecosystem ของคอนเทนต์ครีเอเตอร์นี่แหละ โดยเล่าว่าเมื่อก่อนนั้นผู้เล่นหลัก ๆ คือ แบรนด์เอเจนซี่ คนทำคอนเทนต์ และผู้รับสื่อ ซึ่งแต่ละฝ่ายก็จะมีหน้าที่ชัดเจน เอเจนซี่ก็รับบรีฟมาจากแบรนด์ ส่งต่อให้คนทำคอนเทนต์ ส่วนผู้รับสื่อก็รับอย่างเดียว ไม่ต้องทำอะไร คนทำคอนเทนต์ก็ปั่นคอนเทนต์ไปตามบรีฟ ขณะเดียวกันก็ทำคอนเทนต์ตอบโจทย์ผู้รับสื่อของตัวเอง
แต่ในปัจจุบันนั้นภาพนี้ได้เปลี่ยนไป เพราะแต่ละฝ่ายไม่ได้ยึดติดอยู่กับหน้าที่ตัวเอง แต่สามารถข้ามเส้นแบ่งไปเล่นเป็นตัวละครอื่นได้ด้วย เรียกได้ว่าเส้นแบ่งนี้มีความเบลอขึ้นมาก ๆ เช่น แบรนด์อาจจะเป็นคนสร้างคอนเทนต์เองเลยก็ได้ จากตัวอย่าง Jones Salad หรือ LMWN ที่ทำคอนเทนต์ออกมาได้ปังและน่าสนใจจริง ๆ ผู้รับสื่อเองก็เป็นคนทำคอนเทนต์ได้เหมือนกัน เห็นได้จากปรากฏการณ์ Clubhouse คนทำคอนเทนต์จะสร้างแบรนด์เพื่อขายตัวเองด้วยก็ได้ และแพลตฟอร์ม Social Media ต่าง ๆ ก็ทำตัวเป็นเอเจนซี่ได้ด้วยเหมือนกัน เช่น TikTok Creator Market Place และ Facebook Brand Collabs Manager

ในส่วนที่ว่าแล้วอนาคตแวดวงคอนเทนต์จะเปลี่ยนไปยังไง คุณขจรก็ได้สรุปว่า เทรนด์ที่กำลังมาแรงได้แก่
- วิดีโอสั้น (Short-Form Videos)
- Commercial Live ที่ต่อจากนี้ไม่ได้มีแค่บน E-Commerce Platform อย่าง Shopee, Lazada แล้ว แต่ลามมา YouTube กับ TikTok ด้วย
- Community ซึ่งแต่ก่อนอาจจะเน้นแค่ Facebook Group แต่เดี๋ยวนี้แพลตฟอร์มอื่น ๆ ก็เริ่มเติบโต เช่นของ Twitter และ LINE
Make It Shorter เทรนด์ใหม่ของแพลตฟอร์มวิดีโอ โดย คุณกานจิ – สิริประภา จาก TikTok Thailand

แพลตฟอร์มที่มาแรงมาก ๆ ในยุคนี้หนีไม่พ้น TikTok ซึ่งจากสถิติต่าง ๆ ที่คุณกานจินำมาโชว์ให้ดู ก็เป็นหลักฐานชั้นดีว่ายุคนี้น่ะถ้าเมิน TikTok จะตกรถไฟขบวนใหญ่เอานะเธอ เพราะคนใช้เวลากับ TikTok เพิ่มขึ้นมาก และเทรนด์ส่วนใหญ่ก็มักจะเริ่มจาก TikTok นี่แหละ
ซึ่งนอกจากความบันเทิงแล้ว ใน TikTok ก็ยังมีอีกเทรนด์ที่กำลังมา คือคลิปให้ความรู้ซึ่งก็ได้รับความสนใจเหมือนกัน ทาง TikTok ก็สร้าง Hashtag “TikTokUni” มาได้ 2 ปีแล้ว
สำหรับใครที่จะกระโดดมาสร้างคอนเทนต์บน TikTok คุณกานจิก็สรุปไว้ว่า จะต้องมี
- ความครีเอทีฟ ต้องหลุดออกจากรอบ มีความพิเศษเฉพาะแพลตฟอร์ม TikTok มีความล้อไปกับเทรนด์
- เข้าเรื่องเร็วไม่อ้อมค้อม เล่าเรื่องง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน ถ้าเป็นสาระก็ต้องย่อยง่าย
- มีการสร้าง engagement ที่ดีกับผู้รับสื่อ วางตัวเหมือนเป็นเพื่อนกับผู้รับชม เล่นกับแฟน ๆ ให้มากขึ้น
What’s Next on YouTube for Creator อนาคตและสิ่งที่กำลังจะมาบน YouTube โดยคุณมายด์ – ฐรินทร์ญา จาก YouTube Thailand

YouTube ก็ยังเป็นอีกช่องทางนึงสำหรับคนชอบดูวิดีโอ ไม่ได้หายไปไหนแม้จะมี TikTok มาร่วมเป็นผู้เล่น โดยคุณมายด์ก็เล่าว่า ตอนนี้กลุ่มผู้ชมมีความแยกเป็นกลุ่มย่อย ๆ ชัดเจน มีความชอบส่วนตัวที่อาจจะไม่เหมือนผู้อื่น ดังนั้นการทำคอนเทนต์จึงต้อง personalized รู้ว่ากำลังคุยกับใคร เลือกเรื่องให้ถูก
โดยการทำ YouTube ในก้าวต่อไป ควรเน้นไปที่ “ความคิดสร้างสรรค์” ใน 3 องค์ประกอบ คือ
- Community: เพราะคนส่วนใหญ่มีความชอบที่แตกต่างกัน เราควรหา Community ของคนที่ชอบในเรื่องที่เราอยากสื่อให้เจอ เพราะเมื่อเจอแล้ว พลังของ Community ที่เหนียวแน่นก็จะช่วยผลักดันเราได้ ทั้งในแง่ของยอดวิว ยอด engagement หรือยอดการเปย์ก็ตาม
- Responsive: ควรมีความเข้าถึงอารมณ์ของคนดู ทำให้คนดูรู้สึก comfortable กับเรา สถิติที่น่าสนใจบอกไว้ว่า gen Z ส่วนใหญ่ชอบดูวิดีโอที่จรรโลงใจ (ตัวอย่างเช่น ASMR) และหลายคนก็ชอบดูเรื่องเล่าหลอน ๆ ก่อนนอน ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่แปลกดี
- Multi-Format: ควรลองฟอร์แมตที่หลากหลาย สั้นบ้างยาวบ้าง เพราะคนบางกลุ่มอาจจะดูคลิปสั้นก่อน ถ้าชอบค่อยไปดูคลิปยาว
Creators of Tomorrow : A New Movement of Creative Content Online ครีเอเตอร์แห่งอนาคตกับการสร้างสรรค์เนื้อหาออนไลน์ โดย คุณป๊อปปี้ – ธาธินาฎ จาก Meta Thailand

มาถึงแพลตฟอร์มยอดฮิตอีกอันคือ Facebook และ Instagram ซึ่งครั้งนี้คุณป๊อปปี้ก็ไฮไลต์เทรนด์ 2 อันด้วยกันคือ Reels และ Metaverse
Reels นั้นถือเป็นฟอร์แมตที่เติบโตเร็วมาก นับเป็น 20% ของเวลาที่คนใช้บน Instagram เลย ซึ่งคนไทยก็ใช้ Reels กันเยอะมาก คำแนะนำในการทำ Reels สามารถแตกออกมาได้ตามนี้เลย
- R – Relate to your audience
- E – Express your perspective
- E – Engage in conversation
- L – Let go of your fear
- S – Surprise People
ในฝั่งของ Metaverse นั้น จริง ๆ ก็เริ่มมีบ้างแล้ว ทั้งพวก AR Affects ที่เล่นกับตาม Filter หรือจะเป็นพวก Facebook Avatars และไหนเลยจะมีให้ลง NFT ใน Instagram อีกด้วย
The Secret Sauce of THE STANDARD ไขเคล็ดลับ เบื้องหลังความสำเร็จของ THE STANDARD โดย คุณเคน – นครินทร์ จาก THE STANDARD

สื่อที่ได้ใจคนรุ่นใหม่ หนึ่งในนั้นคงหนีไม่พ้น THE STANDARD กับเจ้าของสโลแกน Stand up for the people โดย Session นี้คุณเคนได้มาแชร์บทเรียนที่ได้จากการทำ THE STANDARD มีถึง 10 อย่างด้วยกัน
- Start with why: หาจุดมุ่งหมายของตัวเองให้เจอ ทำไมบริษัทหรือแบรนด์ของเราต้องมีตัวตนอยู่
- Find your winning zone: Winning Zone คือจุดที่บรรจบกันพอดีระหว่างสิ่งที่ลูกค้าต้องการ กับสิ่งที่แบรนด์ทำได้ดี ในการแข่งขันนั้นเราควรสร้างความแตกต่างออกมาจากคู่แข่งให้ได้ ลองหาว่าอะไรที่ต้องเป็นเราเท่านั้นที่ทำ ไม่ใช่เจ้าอื่น

- Who’s your audience: เพราะการคุยกับคนแต่ละกลุ่มก็ต้องใช้คนละเมสเสจ เราสามารถมี persona ของคนแต่ละกลุ่มที่เราอยากคุยด้วยได้ ลองดูว่าเราอยากโฟกัสกับใคร ที่สำคัญคืออย่าโฟกัสหมดในขณะที่ resource ยังมีจำกัด
- Surfing mega trend waves: ทำหัวข้อที่มีแนวโน้มขาขึ้น คนกำลังให้ความสนใจ ตัวอย่างเช่น สุขภาพ การเรียนรู้ตลอดชีวิต ความยั่งยืน
- Ronaldo’s moment: Go for scoring chance: ถ้าโอกาสมา ต้องรีบคว้าไว้ เช่น ถ้ามี breaking news ต้องรีบทำเป็นเจ้าแรก ๆ เลย เพราะมีโอกาสที่คอนเทนต์เราจะไปไกลมาก ๆ
- Judo strategy: เขาใช้แปลไทยว่าวิถีแบบหมาจนตรอก ซึ่งเนื้อหาจริง ๆ มันก็ไม่ได้ฟังดูด้านลบขนาดนั้น มันคือการที่เราพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้ตัวเองรอด เช่น หากลุ่มเฉพาะทาง (niche) เคลื่อนไหวตัวเร็ว เคลื่อนไหวไม่ให้คู่แข่งรู้ทัน ต่อยอดจากคู่แข่ง หาสิ่งที่มีแล้วใช้ประโยชน์จากมันให้ดีที่สุด
- Never stop creating: ความสม่ำเสมอเป็นเรื่องสำคัญ อย่าหยุดเรียนรู้เทรนด์ใหม่ ๆ หาโอกาสใหม่ ๆ เจอคนใหม่ ๆ
- Fail fast, learn fast: อันนี้ประยุกต์ได้ดีกับคอนเทนต์ เพราะทำได้เร็วและไม่ต้องมีต้นทุนอะไรมาก พอปล่อยคอนเทนต์ไปแล้วก็ควรนำกลับมาวิเคราะห์ฟีดแบ็กของมันเพื่อให้ได้เรียนรู้ต่อ
- Stand up for the people (หาจุดยืนของตัวเองให้เจอ อันนี้คือของ THE STANDARD): การเป็นกลาง ไม่ลำเอียงเป็นเรื่องสำคัญ แต่สิ่งสำคัญกว่าคือความเป็นธรรม การนำเสนอความจริง
- Team spirit: หลายคอนเทนต์ไม่สามารถทำได้ด้วยตัวคนเดียว การมีทีมที่ดีจะช่วยให้ก้าวไปข้างหน้าได้ดียิ่งขึ้น
แนวคิดที่แนะนำสำหรับการวางแผนทำคอนเทนต์ในอนาคตคือการ Reason Back, Look Forward นั่นคือการเรียนรู้จากอดีต หาเหตุผลว่าทำไมเราถึงยังอยู่ตรงนี้ จากนั้นให้ลืมทุกเหตุผลและมองไปข้างหน้าว่าเราจะก้าวไปต่อยังไง
New Verse, New Era โลกใหม่ โอกาสใหม่ แห่งยุค 5.0 โดย คุณเสถียร บุญมานันท์ จาก MetaverseXR

การมาถึงของ Digital 3.0 นั้นจะเป็นครั้งแรกที่เมืองไทยจะได้ส่งออกเทคโนโลยีกับชาวบ้านทั่วโลกเค้าบ้าง ซึ่งตอนนี้เทคโนโลยีนี้ก็ถือว่าเกือบจะเสร็จสมบูรณ์แล้ว ขาดก็เพียงแค่ Content Creator ที่จะมาช่วยสร้างบริบทให้กับเทคโนโลยีเหล่านี้
โดย Content Creator ที่ว่า ก็ควรจะมีทักษะในการสวมหมวกของคนเขียนบท ผู้กำกับ นักแสดง และผู้ชมในคราเดียวกัน เพื่อสร้างโลกเสมือนที่เหมือนจริงที่สุด
ซึ่งในปัจจุบัน เทคโนโลยีนี้ก็เริ่มเป็นจริงแล้ว จากการนำ AR (Augmented Reality) และ VR (Virtual Reality) มาใช้ในงานต่าง ๆ เช่น งานคอนเสิร์ต งานขายของ เกม
ใน Session นี้ ยังพิเศษด้วยการเชิญน้อง Ailynn ซึ่งเป็น Virtual Influencer จาก AIS มาสัมภาษณ์แบบสด ๆ ด้วย ให้เราได้ตระหนักถึงพลังของ Virtual Human ว่ามาได้ไกลขนาดนี้แล้วนา แม้น้องจะหน้าเกร็ง ๆ เบี้ยว ๆ สัญญาณกระตุกไปบ้าง แต่ก็ถือว่าเก่งแล้ว

The Next Normal of Online Contents Consumption After COVID-19 ส่องเทรนด์ผู้บริโภคยุคใหม่ ผ่านสถิติคอนเทนต์ที่น่าจับตามองหลังยุคโควิด โดย คุณหยก – นารีรัตน์ จาก InsightEra

สำหรับ Session นี้จะมาสรุปเทรนด์คอนเทนต์ที่ผู้บริโภคนิยมในยุคโควิดกัน โดยแบ่งเป็น 3 ประเภทที่กำลังมาแรง คือ
- คอนเทนต์สายสุข: เป็นประเภทที่มาแรงที่สุดเพราะคนไทยอะเนอะเป็นคนตลก ส่วนใหญ่ก็มักจะมองหาคอนเทนต์ที่ทำให้รู้สึกสนุก ขบขัน ยิ้มออก พวกเขามักจะจดจำโฆษณาที่มีความตลก และเพราะชีวิตมันซีเรียสพอแล้ว ก็ชอบที่จะให้แบรนด์ต่าง ๆ มีบุคลิกตลกหน่อยเพื่อให้ชีวิตมีสีสันขึ้น (โดยเฉพาะ Gen Y & Z)
- การเงิน-การลงทุน: อาจเพราะความไม่แน่นอนของสถานการณ์ ทำให้ผู้คนเริ่มมองหาความมั่นคงให้ชีวิต โดยสถิติต่าง ๆ เกี่ยวกับคอนเทนต์การเงินการลงทุนนั้นพุ่งมาก ทวิตเตอร์คึกคัก คนเสิร์ชกูเกิลก็เยอะขึ้นจากปี 2019 ถึง 44% และ engagement กว่า 12 ล้านครั้งตั้งแต่ต้นปีนี้ก็มาจากอินฟลูเอนเซอร์สายการเงิน (เรียกเก๋ ๆ ว่า FinFlencer)
- สุขภาพ: จริง ๆ คนไทยก็สนใจเรื่องสุขภาพอยู่แล้ว แต่ยิ่งสนหนักขึ้นอีกเมื่อมีโควิด ยิ่งช่วงที่ออกไปไหนไม่ได้ ก็ไม่สามารถไปฟิตเนสได้ หลายคนก็เปิดคลิปออกกำลังใน YouTube นี่แหละ (เราก็คนนึง) โดยยอด followers ของอินฟลูฯ สายสุขภาพนั้นโตขึ้นถึง 200% ตั้งแต่ปี 2020
ในปี 2023 ที่กำลังจะมาถึง คุณหยกก็ได้แนะนำประเภทคอนเทนต์ที่น่าจับตามอง ดังนี้
- สั้น ๆ กระชับ เข้าใจง่าย ไม่ใช่แค่วิดีโอนะแต่พวกงานเขียนก็ด้วย ซึ่งก็สะท้อนจากผู้ใช้งาน Twitter ของไทยนั้นติดอันดับ 8 ของโลกเลยทีเดียว
- UGC หรือ User-Generated Content ก็คือคอนเทนต์ที่ผู้ใช้งานเป็นคนสร้าง ตัวอย่างเช่น ทวิตที่ขอให้แต่ละคนมาแชร์ประสบการณ์หรือป้ายยากัน หรือ Challenge ใน TikTok
- การวัดผลและหา Insight ก็ยังเป็นเรื่องสำคัญ
Short Video Trend : From TikTok to Other Platforms เจาะลึกคลิปสั้น เทรนด์ใหม่ของแพลตฟอร์มวิดีโอ โดย คุณอาร์ต – ปภังกร (@Artymilk) คุณเฟิร์น – โสรยา (@fern_fernforfun) และคุณแซม – พลสัน (@samponsan)

เพราะเทรนด์คลิปสั้นกำลังมาแรงเลยขอแวบมาฟัง session นี้หน่อย ซึ่งแต่ละท่านก็เป็นครีเอเตอร์ชื่อดังใน TikTok กัน เราขอสรุปข้อสังเกตและเคล็ดลับเป็นข้อ ๆ มาให้ดังนี้
- จริง ๆ แล้วคลิปสั้นไม่ได้ทำง่ายไปกว่าคลิปยาวเลย มันขึ้นอยู่กับไอเดียในการนำเสนอ ถ้าคลิปสั้นแต่เล่นใหญ่ก็ยากเหมือนกัน
- แม้ว่าจะเป็นคลิปที่ขายของ ก็ควรเพิ่มความสนุก และเพิ่มความเป็นตัวตนของครีเอเตอร์เข้าไปด้วย
- ควรทำยังไงก็ได้ให้คนหยุดดูคลิปของเราภายใน 6 วินาที
- หากอยากทันเทรนด์ ก็ต้องใช้เวลาบนแพลตฟอร์มเยอะ ๆ คอยสังเกตว่าชาวบ้านเขาทำคอนเทนต์เป็นยังไง ควรตามให้ทันว่าตอนนี้แฮชแท็ก เพลง หรือเอฟเฟ็กต์ไหนที่กำลังมาแรง
- ควรหาแรงบันดาลใจจากเทรนด์ที่กำลังร้อนแรง
- ในอนาคต คลิปสั้นน่าจะกลายเป็นอีกหนึ่งประเภทคอนเทนต์ทั่วไป เหมือน ๆ กับวิดีโอยาว บทความ พอดแคสต์ แน่นอนว่าคอนเทนต์ประเภทอื่น ๆ ก็จะไม่หายไปไหน แค่มีคลิปสั้นเพิ่มมาด้วยเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้ผู้เสพ
- อย่าเอาเงินเป็นที่ตั้งในการทำคลิป ให้หา passion ของตัวเองให้เจอ
- คิดเสมอว่า “เราจะให้อะไร” กับผู้เสพ
The Art of Storytelling แกะวิธีการเล่าเรื่องให้ต่างผ่าน Visual โดย คุณปั๋น – ดริสา (Riety) และคุณเปียว – เปรื่องวุฒิ (GOG GAG)

สำหรับ Session นี้ก็จะเน้นคุยประสบการณ์พร้อมแกะวิธีการทำงานของคุณปั๋นและคุณเปียว ซึ่งถือเป็นครีเอเตอร์สาย Visual ชื่อดังอีกสองท่านของวงการเลย
ขอเริ่มที่คุณเปียวก่อน ซึ่งงานของคุณเปียวนั้นจะโดดเด่นด้วยมุกตลกเกรียน ๆ แต่น่ารัก แบบเอ้อคิดได้นะ แถมยังทำออกมาเป็นเพลงได้ด้วย
- คุณเปียวเล่าว่า เขาจะเริ่มคิดจากไอเดียมุกตลกก่อน แล้วค่อยแปลงไปเป็นเพลงกับเรื่องราวในการ์ตูน
- เน้นให้คอนเทนต์เฟรนด์ลี่กับผู้เสพ นึกถึงผู้เสพว่าอยากดูอะไร ไม่ใช่แค่ว่าตัวเองชอบอะไร
- บางงานก็เอา Insight จากบทสนทนากับลูกค้ามาทำเป็นคอนเทนต์
- แม้เพลงจะเป็นแบบเดิม แต่พอเปลี่ยนเนื้อเรื่อง มันก็แตกต่างแล้ว
- หาเทรนด์จากหลาย ๆ แพลตฟอร์ม
- ไม่ได้ดูแค่ยอด engagement อย่างเดียว แต่พยายามหาไอเดียใหม่ ๆ ด้วย
ต่อด้วยคุณปั๋น นักวาดที่มีลายเส้นเฉพาะตัว แถมมีคอนเทนต์น่าสนใจใน YouTube เพียบ

- ด้วยความที่คุณปั๋นรู้ตัวว่าไม่ใช่คนตลก จึงเลือกที่จะเล่าเรื่องราวการทำงานของตัวเองแทน
- ตัวอย่างงานที่โดดเด่นและใหญ่มาก ๆ ของคุณปั๋นคือวาดภาพ Wrap ให้รถไฟบีทีเอสทั้งขบวน
- คอนเทนต์ที่ดีคือคอนเทนต์ที่ผู้สร้างอิน มีความรู้สึกกับมัน
- ในงานลูกค้านั้น จะพยายามหาแง่มุมของแบรนด์ออกมาขยายเป็นเรื่องราว (ไม่ได้ขายตรง ๆ)
- ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของอัลกอริธึม เราควรมีจุดยืนของตัวเองที่ชัดเจน
- คุณปั๋นอยากที่จะลองสิ่งใหม่ ๆ ที่สนุก
- แนะนำว่าการทำคอนเทนต์ให้เริ่มต้นที่เหตุผล Start with Why
Changemaker : Make Value Go Viral ขับเคลื่อนโลกด้วยการสร้างคุณค่าให้คอนเทนต์ โดย คุณสิงห์ – วรรณสิงห์ จาก เถื่อนChannel และคุณแยม – ฐปณีย์ จาก The Reporters

Session นี้สำหรับสายทำ Hard Content หรือแนวสารคดีและ investigative news โดยเฉพาะ ซึ่งแม้จะไม่ได้เกี่ยวกับสายงานเราขนาดนั้น แต่ก็มีแง่มุมที่น่าสนใจหลายอันที่อยากโน้ตเก็บไว้
- โจทย์ยากของทั้งคู่คือ “จะทำยังไงให้คนสนใจในเรื่องที่พวกเขาไม่ได้สนใจ” ซึ่งตัวอย่างก็เช่นเรื่องสิ่งแวดล้อม ผู้อพยพ ซึ่งค่อนข้างเป็นเรื่องไกลตัวผู้คน ปกติแล้วถ้าเป็นเรื่องที่คนสนใจ ก็ง่ายที่คอนเทนต์จะปัง แต่พอคนไม่ได้สนใจ ก็ต้องบิดหาแง่มุมอื่น ๆ ที่น่าดึงดูดมาเล่าแทน เช่น ในคลิปของคุณสิงห์ ก็ไม่ได้เล่าแค่สาระหนัก ๆ อย่างเดียว แต่จะเสริมการผจญภัย การเล่าประสบการณ์ การใส่ footage วิวสวย ๆ เข้าไปด้วยเพื่อให้คลิปมีสีสันมากขึ้น
- ทำคอนเทนต์อย่างเดียวอาจจะไม่สามารถเปลี่ยนโลกได้ ต้องมีการสนับสนุนจากรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงครีเอเตอร์ท่านอื่น ๆ ที่สามารถหยิบยกเรื่องราวเหล่านี้ไปเล่าต่อให้เกิดเป็นกระแส
- ในฝั่งของข่าว คุณแยมไม่ทำแค่รายงานแล้วก็จบ แต่จะเน้นการเปิดมุมมอง ไปสัมภาษณ์แบบเจาะลึกถึงที่มาที่ไป คอยติดตามทุกย่างก้าว มีบางกรณีที่คุณแยมยื่นมือไปช่วยผู้เดือดร้อน ซึ่งก็มีคนค้านไว้มันไม่ใช่หน้าที่ของนักข่าว แต่คุณแยมมองว่าเราทำในฐานะเพื่อนมนุษย์ที่อยากช่วยเหลือเขาให้ชีวิตดีขึ้น
- การทำงานควรมีจรรยาบรรณสื่อที่ดี การแทรกโฆษณาก็ควรเลือกลูกค้าให้ดี ไม่ควรเลือกแบบที่ขัดกับจุดยืนของเรา
- ทั้งคู่เปรยว่าอยากจะเห็นครีเอเตอร์รุ่นใหม่ ๆ ทำ Hard Content มากขึ้น โดยเฉพาะในแพลตฟอร์มที่กำลังฮิตอย่าง TikTok
สรุป
และนี่ก็เป็น Session ที่เราได้เข้าไปฟังสด ๆ และได้ข้อสรุปที่ค่อนข้างชัดว่า เทรนด์คลิปสั้นกำลังมาแรง เหมือนที่เทรนด์พอดแคสต์เคยมาแรงในช่วง 2-3 ปีที่แล้วนั่นแหละ ก็ต้องมาติดตามต่อไปว่า เทรนด์นี้จะอยู่ได้อีกนานมั้ย แล้วจะมีอะไรมาแทนรึเปล่า
โดยรวมแล้ว งานจัดออกมาได้ดี เราว่าคนสายคอนเทนต์น่าจะแฮปปี้มาก ๆ กับงานนี้ ถ้าปีหน้าจัดอีกก็มาอีกแน่นอน ติดนิดเดียวก็ตรงที่ศูนย์สิริกิติ์ฯ ซึ่งเป็นที่จัดงานนั้นแอร์หนาวมาก ทางผู้จัดงานก็เตือนแล้วแหละว่าให้เอาเสื้อกันหนาวมา แต่ขนาดเราเอามาด้วยก็ยังรู้สึกว่าหนาวอยู่ดี ทำให้บางช่วงที่ฟังการบรรยายก็รู้สึกอยากหาหมอนหาผ้าห่มมากางนอนเสียตรงนั้น ถ้าแอร์เป็นอุณหภูมิปกติก็น่าจะทำให้มีสมาธิในการเข้าฟังบรรยายกว่านี้
สำหรับใครที่ไม่อยากพลาดงานสัมมนาดี ๆ แบบนี้ ก็ติดตามได้ที่ https://www.facebook.com/rainmakerth เลยค่ะ
Leave a Reply