หลาย ๆ สิ่งที่เราทำ เราคิด ล้วนแล้วแต่มาจาก Mindset ของเรา
เคยมั้ยที่คิดจะทำอะไรบางอย่าง แต่เสียงจากลึก ๆ ในสมองเราบอกว่า “อย่าเลย ไม่สำเร็จหรอก”
หรือเคยเป็นมั้ยที่พอทำอะไรไม่สำเร็จ ก็จะมีเสียงกระซิบลึกลับลอยมาว่า “เรามันก็ได้แค่นี้แหละ ไม่มีทางเก่งกว่านี้หรอก”
พอมองคนอื่นที่เก่งกว่า ก็ได้แต่เบ้ปาก น้อยใจตัวเองว่าเราคงไม่มีวันเก่งเท่าเขา ไม่ก็มองว่า “เขามีพรสวรรค์นี่”
หลายคนอาจจะคิดว่า อ้าว ก็เป็นปกติมั้ย ใคร ๆ ก็คิดกันแบบนี้ เราห้ามความคิดตัวเองไม่ได้หรอก
แต่จริง ๆ แล้ว ทฤษฎี Mindset ของ Dr. Carol S. Dweck นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ได้ชี้ทางสว่างไว้แล้วว่า จริง ๆ เราเปลี่ยนความคิดของตัวเองได้ เพียงแต่อาจจะต้องฝึกกันนิดหน่อย
และประโยคน้อยเนื้อต่ำใจด้านบน ก็เป็นผลพวงมาจาก Fixed Mindset ซึ่งเป็นกรอบความคิดที่มองว่าเราไม่มีทางพัฒนาตัวเองได้ เกิดมาเป็นยังไงก็อย่างงั้น
งานวิจัยของเธอได้ค้นพบถึงความสำคัญของ Mindset ที่ส่งผลกับชีวิตของเราในทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นชีวิตส่วนตัว ความสัมพันธ์ การทำงาน การแข่งขัน ฯลฯ ซึ่งในหนังสือเล่มนี้เธอก็ได้มาแชร์เคสต่าง ๆ ที่ได้พบเจอในชีวิตจริงว่าเราสามารถเปลี่ยนแปลง Mindset ได้ รวมถึงวิธีการประยุกต์ใช้ Growth Mindset ที่จะเป็นประโยชน์กับเรามากกว่า โพสนี้เราเลยอยากจะมาสรุปเนื้อหากันสักหน่อย
บทที่ 1: Mindset (กรอบความคิด)
บทนี้เริ่มต้นด้วยการแนะนำให้เรารู้จักเด็กที่คุณ Carol นำมาทดสอบด้วยการให้โจทย์ยาก ๆ ไปแก้เรื่อย ๆ
เธอต้องฉงนเมื่อพบว่าเด็กเหล่านั้นดูจะชื่นชอบความท้าทาย พวกเขาไม่ได้หูลู่หางตก ทำหน้าเบ้ หรือยอมแพ้ เมื่อแก้ไขปัญหาไม่ได้
คุณ Carol คิดว่า ได้เหรอ?? เธอเคยคิดว่ามันน่าจะมีแค่คนที่สามารถรับมือกับความล้มเหลวได้ กับคนที่รับมือไม่ได้ เธอไม่เคยคิดว่าจะเจอใครที่ชอบความล้มเหลวมาก่อน
เด็กกลุ่มนี้คือจุดเริ่มต้นที่ผลักดันให้คุณ Carol เริ่มค้นคว้าเกี่ยวกับคุณสมบัติที่ทำให้เรามองเห็นความล้มเหลวเป็นของขวัญ ยิ้มรับกับความผิดพลาด
นั่นจึงเป็นที่มาของการวิจัยเกี่ยวกับ Mindset ซึ่งก็มีการถกเถียงกันมาแต่ไหนแต่ไรแล้วถึงขั้วความต่าง บางคนเชื่อว่า คนเราเกิดมาเป็นยังไงก็อย่างงั้น ไม่มีทางเปลี่ยนแปลงได้หรอก อยู่เฉย ๆ เหอะ ในขณะที่อีกคนเชื่อว่า คนเราเปลี่ยนแปลงกันได้น่า เราพัฒนาขึ้นได้ เราเก่งขึ้นได้!
Mindset แบบแรกนั้นเรียกว่า Fixed Mindset ก็คือนิ่งตามชื่อ ส่วน Mindset แบบที่สองคือ Growth Mindset ที่หมายถึงการเติบโต
2 แนวคิดนี้ ส่งผลกับพฤติกรรมของเรานะ หากเราเป็นพวก Fixed Mindset เราจะตัดสินอะไรแบบตรง ๆ เช่น ฉันเก่งหรือฉันโง่ ฉันสำเร็จหรือล้มเหลว ซึ่งพอเป็นแบบนี้ เราก็ไม่อยากโง่หรือล้มเหลว แต่ความผิดพลาดมันห้ามกันไม่ได้ เกิดวันนึงเราทำอะไรพลาด เราก็จะเฟลไปเลยเพราะมันหมายถึงว่าฉันโง่/ฉันล้มเหลว ฉันไม่เก่ง งั้นเลิกทำดีกว่า
แต่หากเราเป็นพวก Growth Mindset เราจะมองว่าทุกอย่างมีช่องให้เราพัฒนาตัวเองเสมอ คนเราเปลี่ยนแปลงกันได้ เมื่อเจอความผิดพลาด เราจะหาวิธีแก้ไขและหาทางพัฒนาตัวเอง ทำตัวเองให้ดีขึ้น เพราะเราเชื่อว่า ความล้มเหลวคือการเรียนรู้ คนกลุ่มนี้จะเฟลไม่นาน กลับกัน จะหาทางเอาความเฟลนั้นมาบิ้วด์ตัวเองให้วิ่งไปข้างหน้าได้อีก
ฟังอย่างนี้ ก็คงไม่มีใครอยากมี Fixed Mindset เพราะนอกจากจะไม่ได้พัฒนาตัวเองแล้วยังจมจ่อมอยู่กับความเฟล ทำให้ท้อใจหนักขึ้นไปอีก
แต่ถ้าใครกำลังมี Fixed Mindset ข่าวดีก็คือ เราสามารถเปลี่ยน Mindset ของเราให้ไปเป็น Growth Mindset ได้
บทที่ 2: ข้างใน Mindset
2 Mindsets
Mindset ทั้ง 2 แบบนั้นแทบจะเหมือนแบ่งเป็น 2 โลก
ในโลกของ Fixed Mindset นั้น ความล้มเหลวช่างน่าชัง ความพยายามดูจะไร้ความหมาย เพราะถ้าคุณเก่งแล้ว จะพยายามไปทำไม ยิ่งพยายามก็ยิ่งแปลว่าคุณไม่เก่ง
แต่ในโลกของ Growth Mindset ความล้มเหลวคือโอกาสได้เรียนรู้ ความพยายามจะเพิ่มโอกาสสร้างศักยภาพให้เรา ความสำเร็จก็คือการได้ stretch ตัวเองเรื่อย ๆ การได้ลองทำผิดบ้างเพื่อที่จะได้รู้ว่าสิ่งที่ถูกเป็นยังไง
Mindset ในชีวิตจริง
ในชีวิตจริง การมี Mindset ที่ต่างกันก็จะส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจที่ต่างไป ตัวอย่างเช่น สมมติเราเข้ามหาวิทยาลัยนึงที่ชั้นเรียนเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด คนที่ไม่เก่งภาษาอังกฤษแต่มี Growth Mindset ก็จะเลือกเรียนเสริมภาษาอังกฤษให้ตัวเองเก่งขึ้น ส่วนคนที่ไม่เก่งอังกฤษแต่มี Fixed Mindset ก็จะปล่อยผ่านโอกาสเรียนเสริม เพราะมองว่าสกิลตัวเองไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ หรืออาจจะมองว่า หากตัดสินใจเรียน ก็เท่ากับยอมรับว่าตัวเองไม่เก่ง
ในแง่ของคลื่นสมอง ทางนักวิจัยก็เจอว่าคนที่มี Fixed Mindset นั้นคลื่นสมองจะตอบสนองมากที่สุดตอนที่พวกเขาจดจ่อว่าตัวเองจะทำถูกหรือผิด แต่จะไม่สนใจในเรื่องของการแก้ผิดเป็นถูก หรือการพัฒนาตัวเอง ในขณะที่คลื่นสมองของคนที่มี Growth Mindset จะตรงกันข้าม
เรื่องของการเลือกคู่ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ถูกกระทบโดย Mindset คือคนที่มี Fixed Mindset นั้นจะต้องการคู่ครองที่พร้อมตามใจ เอาอกเอาใจ เห็นดีเห็นงามด้วยเสมอ แต่คนที่มี Growth Mindset จะต้องการคู่ครองที่ช่วยให้ตนได้พัฒนาเป็นคนที่ดีขึ้น คนที่ช่วยระบุข้อบกพร่องเพื่อที่ตนจะได้ปรับปรุงตัว ความท้าทายจึงเกิดขึ้นเมื่อคน 2 คนที่มีต่าง Mindset ต้องมาใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน
ในฝั่งของการทำงาน คนที่เป็นผู้นำอาจจะเจอโรคที่เรียกว่า CEO Disease คือเป็นโรคที่โดนอีโก้ครอบงำ ยึดติดกับความสำเร็จของตัวเอง ไม่หาหนทางใหม่ ๆ เพื่อการเติบโต คนที่มี Fixed Mindset เสี่ยงจะเจอโรคนี้ ผู้นำประเภทนี้มักจะเลือกกลยุทธ์กอบโกยระยะสั้นมากกว่ากลยุทธ์การเติบโตระยะยาว
ความท้าทาย (Challenges) และความสำเร็จ (Success)
คนที่มี Growth Mindset นั้นแทบจะเรียกได้ว่าหายใจบนความท้าทายเลย ทุก ๆ ครั้งที่พวกเขาได้ทำอะไรยาก ๆ มันก็เหมือนได้พัฒนาขีดจำกัดศักยภาพของตัวเอง หรือที่เรียกว่า Stretching ส่วนคนที่มี Fixed Mindset จะพยายามก็ต่อเมื่อเป็นสถานการณ์ที่พวกเขาประเมินแล้วว่าทำได้แน่ ๆ ไม่ได้ยากเกินเอื้อมมือ
ถ้าถามคนที่มี Fixed Mindset ว่า “ตอนไหนที่รู้สึกว่าตัวเองฉลาดที่สุด” คนกลุ่มนี้จะตอบว่า “ก็ตอนที่ทำทุกอย่างออกมาได้เพอร์เฟ็กต์ไม่มีบกพร่องไง” แต่ถ้าเป็นคนมี Growth Mindset จะตอบว่า “ตอนที่ทำอะไรยาก ๆ นาน ๆ แล้วทำสำเร็จนี่แหละ ฟินมาก”
คนที่มี Fixed Mindset นั้นจะยึดที่ความสำเร็จเป็นหลัก โดยมองข้ามช่วงเวลาของการเรียนรู้ไปเลย มันมีแค่ “เป็น” หรือ “ไม่เป็น” แค่นั้น พวกเขาไม่ได้อยากเรียนรู้เพิ่ม พวกเขาแค่อยากได้ความสำเร็จนั้น ๆ การสอบครั้งนึงแทบจะเป็นตัวชี้วัดเลยว่าพวกเขา “เก่ง” หรือ “ไม่เก่ง” ส่วนคนที่มี Growth Mindset จะหาทางพัฒนาศักยภาพของตัวเองจากจุด A ไปจุด B และจุดต่อ ๆ ไปเสมอ
การที่คน Fixed Mindset อยากได้แค่ความสำเร็จนั้น ก็เพราะพวกเขาอยากรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนพิเศษ ไม่เหมือนคนอื่น ซึ่งถ้าแค่รู้สึก value ตัวเอง มันก็ไม่เป็นไรหรอก แต่มันจะเริ่มส่งผลข้างเคียงเมื่อการ value ตัวเองทำให้เริ่มคิดว่าตัวเองอยู่เหนือกว่าคนอื่น พวกเขาจะคิดว่า เขาจะเป็น Somebody เมื่อประสบความสำเร็จ แล้วถ้าไม่ประสบความสำเร็จล่ะ?
ความล้มเหลว (Failure)
เวลาล้มเหลว คนที่มี Fixed Mindset จะยึดถือสิ่งนั้นเป็นตัวตนเขาเลย ก็คือตีตราตัวเองว่าเป็นไอ้โหลยโท่ย และรู้สึกเฟลกับตัวเองไปตลอดกาล ส่วนคนมี Growth Mindset แม้ว่าการล้มเหลวจะเจ็บปวดเหมือนกัน แต่พวกเขาไม่นำมันมาตีตราตัวเอง พวกเขาจะหาวิธีพัฒนาให้ดีขึ้นเพราะรู้ว่าจมจ่อมไปก็ไม่ช่วยอะไร
อีกหนึ่งพฤติกรรมที่คน Fixed Mindset จะทำเมื่อล้มเหลวคือโทษสิ่งต่าง ๆ และพยายามหาคนที่ด้อยกว่ามาเปรียบเทียบเพื่อให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้น ขณะที่คน Growth Mindset จะเปรียบเทียบตัวเองกับคนที่เหนือกว่า เพื่อหาว่าตัวเองควรแก้ไขจุดไหนบ้าง
ความพยายาม (Effort)
Effort กลายเป็นเรื่องน่าขบขันสำหรับคนมี Fixed Mindset เพราะพวกเขามองว่า ใครที่ยังพยายามก็แสดงว่ายังไม่เก่งพอ ถ้าใครพยายามมากกว่าตน แสดงว่าคนคนนั้นด้อยกว่าตน
แต่จริง ๆ แล้ว ทุกคนพยายามกันได้ คนที่เก่งหลายคนก็ต้องพยายามกันทั้งนั้น เพียงแต่เราอาจจะไม่ได้เห็นตอนที่พวกเขาต้องล้มลุกคลุกคลาน เราเห็นแค่ตอนพวกเขาประสบความสำเร็จแล้ว โดยคน Fixed Mindset มักจะชอบคิดว่า คนที่เก่งนั้นเกิดมาก็เก่งเลย เขามีพรสวรรค์ ยิ่งเห็นใครประสบความสำเร็จโดยที่ไม่เห็นฉากหลังของเขา ก็ยิ่งตัดสินไปแบบนั้น
คนที่มี Fixed Mindset มักคิดว่าอยู่เฉย ๆ ยังจะดีกว่าพยายามแล้วเฟล แบบนั้นมันน่าเจ็บใจกว่าอีก พวกเขาใช้สิ่งนี้เป็นข้ออ้างได้ว่า การที่พวกเขาทำอะไรไม่สำเร็จ ก็เพราะ “อ๋อ ก็ตอนนั้นฉันไม่ได้ลองพยายามเต็มที่น่ะ” พวกเขายอมที่จะพูดแบบนี้แทนที่จะพูดว่า “อ๋อ ตอนนั้นฉันทำเต็มที่แล้ว แต่มันก็ไม่สำเร็จ”
ถาม-ตอบข้อสงสัย
Q: ถ้าคนมี Fixed Mindset เขาเก่งจริง ทำไมเขาจะต้องพิสูจน์ตัวเองหลาย ๆ ครั้งด้วยล่ะว่าเขาเก่ง? ขนาดเจ้าชายที่สู้มังกรชนะ ยังไม่ต้องออกไปสู้กับมังกรทุกวี่ทุกวันเลย สู้เสร็จครั้งนึงเขาก็อยู่กับเจ้าหญิงไปสบาย ๆ
A: นั่นก็เพราะในชีวิตจริง เราเจอความท้าทายและอุปสรรคแตกต่างกันไป สิ่งที่เราพิสูจน์ว่าสามารถเอาชนะได้ในวันนี้ ในวันข้างหน้า เราอาจจะไม่ชนะแล้วก็ได้ ถ้าเรายังยึดติดความสำเร็จของตัวเองอยู่ที่เดิม เมื่อปัญหาหรืออุปสรรคใหม่ ๆ มา เราก็ไม่สามารถสู้ได้
Q: เราเปลี่ยนแปลง Mindset ได้มั้ย?
A: เปลี่ยนได้ เพียงรู้ว่าคนเราสามารถมี 2 Mindset เราก็สามารถลองเปลี่ยนวิธีคิดสับไปสับมาได้
Q: คนคนนึงมี 2 Mindset ได้มั้ย แบบครึ่งครึ่งน่ะ?
A: ได้ จริง ๆ แล้วคนเรามีส่วนผสมของ 2 Mindset อยู่ในตัว เราอาจจะมีคนละ Mindset ในแต่ละเรื่อง เช่น เรามี Fixed Mindset เกี่ยวกับสกิลด้านศิลปะของเรา แต่มี Growth Mindset ด้านสติปัญญา เป็นต้น
Q: ในเมื่อความพยายามสำคัญขนาดนั้น คุณกำลังจะบอกว่า เมื่อคนเราล้มเหลว นั่นก็เป็นความผิดของพวกเขา ที่พวกเขาไม่พยายามมากพอรึเปล่า?
A: เปล่าเลย จริงอยู่ว่าความพยายามนั้นสำคัญ แต่ก็ไม่ใช่ปัจจัยเพียงอย่างเดียวที่กำหนดความสำเร็จได้ เราต้องยอมรับว่าคนมีหลายประเภท แต่ละคนล้วนมีต้นทุนต่างกันไป คนที่มีเงิน มีเพื่อนคอนเนคชั่นดี ๆ มีการศึกษาที่ดี ย่อมมีโอกาสที่ความพยายามนั้นจะช่วยให้เขาสำเร็จมากกว่า ในขณะที่บางคน อาจจะฐานะไม่ดี เกิดเหตุทำให้ติดหนี้ แถมยังต้องเลี้ยงปากท้องครอบครัว สถานการณ์ก็ต่างกันแล้ว
ความพยายามสำคัญก็จริง แต่ก็ต้องอย่าลืมว่าสำหรับแต่ละคนนั้น ความพยายามไม่ได้ส่งผลลัพธ์เท่ากันหมด มันขึ้นกับปัจจัยอื่น ๆ ด้วย
Q: คุณมักจะยกตัวอย่างคนที่มี Growth Mindset ว่าล้วนเป็นคนที่ประสบความสำเร็จเหนือคนอื่น มีชื่อเสียงโด่งดัง ไม่ใช่ว่าการมี Growth Mindset คือการพัฒนาตัวเองหรอกเหรอ ไม่ใช่การเอาชนะคนอื่น
A: เราใช้ตัวอย่างของคนที่ประสบความสำเร็จเพื่อให้เห็นว่า Growth Mindset จะสามารถพาคุณไปอยู่จุดไหน อีกอย่าง การใช้ตัวอย่างเป็นคนกลุ่มนี้ก็ดูน่าโน้มน้าวกว่า
แต่อีกจุดหนึ่งที่อยากเน้นคือ Growth Mindset อนุญาตให้คนเราทำในสิ่งที่ชอบ และพัฒนามันไปเรื่อย ๆ โดยไม่ต้องสนใจผลลัพธ์ หลายคนไม่ได้วางแผนไปอยู่จุดสูงสุดด้วยซ้ำ แต่มันก็เป็นผลพลอยได้จากความพยายามของพวกเขา ซึ่งก็ตลกดีเพราะนั่นคือที่ที่คน Fixed Mindset อยากจะไป แต่ไปไม่ถึงสักที
Q: ฉันรู้จักกลุ่มคนบ้างานที่มี Fixed Mindset แต่พวกเขาก็ชอบที่จะพิสูจน์ว่าตัวเองเก่ง และชอบลองความท้าทายใหม่ ๆ แบบนี้ก็แสดงว่าคน Fixed Mindset ไม่จำเป็นต้องขี้เกียจพยายามเสมอไปนี่?
A: คนกลุ่มนี้แม้ว่าจะมีความพยายาม แต่เขาอาจจะมี Fixed Mindset ในด้านอื่น เช่น ต้องการการยอมรับจากผู้คนว่าพวกเขาเก่ง ให้คนอื่นตัดสินคุณค่าของตัวเอง และอาจจะยอมรับไม่ได้หากตัวเองล้มเหลว
Q: ถ้าฉันชอบการมี Fixed Mindset ล่ะ? เพราะมันทำให้ฉันรู้ว่าตัวเองเก่งอะไร มันทำให้ฉันรู้สึกสบายใจ
A: ไม่มีปัญหาเลย ถ้าชอบก็เก็บเอาไว้ การมี Fixed Mindset ทำให้คุณรู้ว่าตัวเองเก่งอะไร ควรไปทางไหน และไม่จำเป็นต้องไปทางไหนเพราะมันไม่ใช่ทางของคุณ
แต่สิ่งนี้ก็มีผลข้างเคียง เพราะมันอาจจะทำให้คุณสูญเสียโอกาสในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ก็ได้ เพียงเพราะคุณประเมินตัวเองต่ำไป คิดว่าตัวเองไม่เก่งพอ
Q: เราจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองในทุก ๆ อย่างรึเปล่า
A: ไม่จำเป็น หากเรารู้ตัวว่านี่ไม่ใช่ความชอบของเรา ไม่ใช่สิ่งที่เรายึดมั่นถือมั่น เราก็ไม่จำเป็นต้องฝืน
Q: คนที่มี Fixed Mindset นั้นมักจะขาดความมั่นใจรึเปล่า
A: เปล่าเลย คนที่มี Fixed Mindset ก็มีความมั่นใจพอ ๆ กับคนที่มี Growth Mindset แหละ เพียงแต่ว่าความมั่นใจนั้นจะสั่นคลอนเมื่อทำอะไรผิดพลาด ในขณะที่ความมั่นใจของคนที่มี Growth Mindset จะไม่สะทกสะท้านมากเท่าหากเจอสถานการณ์เดียวกัน
บทที่ 3: ความจริงเกี่ยวกับความสามารถและความสำเร็จ
เมื่อพูดถึง Thomas Edison หลายคนอาจจะคิดว่า เขาเป็นคนเดียวที่คิดค้นหลอดไฟขึ้นมาได้
แต่ความจริงแล้ว เบื้องหลังการค้นพบนี้ มีทีมงานผู้เชี่ยวชาญจากหลายแขนงมาช่วยกัน ทุ่มเทแรงกายแรงใจกว่าหลายชั่วโมง
อัจฉริยะท่านอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น Charles Darwin หรือ Mozart ก็ล้วนใช้เวลาเนิ่นนานกว่าจะสร้าง masterpiece ออกมา ผลงานของพวกเขาไม่ใช่ว่าจู่ ๆ นึกจะทำก็ทำได้เลย ทุกอย่างล้วนใช้เวลาในการฝึกฝน
ในบทนี้ จะมาไขความลับว่า อะไรคือเครื่องปรุงของความสำเร็จบ้าง ทำไมบางคนประสบความสำเร็จน้อยกว่าที่คาดไว้ และบางคนประสบความสำเร็จอย่างสูง
Mindset ในสถานศึกษา
การมี Growth Mindset ช่วยให้เด็กนักเรียนนักศึกษาเรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้น ส่งผลให้เกรดของพวกเขาดีขึ้นด้วยเช่นกัน
คนที่มี Growth Mindset ไม่ใช่ว่าสักแต่ท่องจำเพื่อให้ได้คะแนนสูง ๆ แต่พวกเขาจะหาทางเรียนรู้ความผิดพลาดของตัวเองอย่างหนักหน่วง
ครูหรืออาจารย์ก็มีผลด้วยเช่นกัน หากคนสอนมี Fixed Mindset ก็ยากที่จะผลักดันให้เด็ก ๆ ทำผลงานได้ดีขึ้น
จุดสำคัญคือ ไม่ว่าเราจะเริ่มต้นด้วยตรงไหน จะเก่งหรือไม่เก่ง จะมีคะแนนเป็นอย่างไร ทุกคนล้วนสามารถพัฒนาตัวเองได้ถ้าตั้งใจจริง ๆ
แล้วทักษะด้านศิลปะล่ะ เป็นพรสวรรค์รึเปล่า?
พอพูดถึงสกิลศิลปะ หลายคนอาจจะคิดว่า มันต้องเป็นพรสวรรค์ส่วนหนึ่งแหละ คงไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถแต่งเพลงได้เหมือนโมซาร์ท หรือวาดภาพได้เหมือนลิโอนาร์โด ดาวินชี
แต่เอาเข้าจริงแล้ว แม้เป็นทักษะด้านศิลปะ ก็ฝึกกันได้ และถึงจะเป็นนักดนตรี หรือนักวาดภาพมือฉมัง ก็ล้วนแล้วแต่ต้องฝึกฝนตัวเองกันทั้งนั้น มันไม่มีหรอกที่ใครจะนั่งเทียนแล้วจู่ ๆ ก็แต่งเพลงขึ้นได้เอง หรือวาดภาพได้เอง
ภาพข้างล่างนี้ เป็นตัวอย่างของพัฒนาการการวาดภาพของเด็กจากวันแรก เทียบกันวันที่ 5 หลังเข้าคอร์สวาดรูปของคุณ Betty Edwards เจ้าของหนังสือ Drawing on The Right Side of The Brain ซึ่งแสดงให้เห็นเลยว่า คนเราสามารถพัฒนาสกิลศิลปะกันได้จริง ๆ ขนาดนี่แค่ 5 วันนะ

ระวัง! อย่าชมความสามารถของคนอื่น
พวกเราอาจจะเคยได้ยินกันว่า การชมเป็นสิ่งที่ดี ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกดี มีกำลังใจ ยังไงการชมก็ดีกว่าการติอยู่แล้ว
แต่คำชมก็มีหลายแบบ และการชมที่พุ่งเป้าไปยัง “ความสามารถ” ของอีกฝ่ายนั้น แท้จริงแล้วกลับกำลังทำร้ายอีกฝ่ายต่างหาก
การทดลองแสดงให้เห็นว่า เด็กที่ได้รับคำชมว่า “เก่งจัง” “ฉลาดมาก” มีแนวโน้มที่จะไม่กล้ารับความท้าทายใหม่ ๆ เพราะพวกเขากลัวว่าหากพวกเขาทำไม่ได้ พวกเขาก็จะดูไม่ “ฉลาด” ตรงกันข้าม เด็กที่ได้รับคำชมว่า “พยายามมาเยอะสินะ” “ต้องตั้งใจมากแน่เลย” เด็กกลุ่มนี้กลับอ้าแขนโอบรับความท้าทาย และมีแนวโน้มจะทำได้ดีมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วย
ดังนั้น หากจะชมใคร ก็ตั้งสติก่อน อย่าอวยว่าอีกฝ่ายมีพรสวรรค์อย่างนู้นอย่างนี้ อย่าชมโดยมุ่งเป้าไปที่คุณสมบัติ แต่ให้ชมโดยสื่อว่าเราประทับใจกับความมุ่งมั่นตั้งใจของเขา นั่นละคือคำชมที่จะกระตุ้น Growth Mindset ของอีกฝ่าย
ตัดสินหรือดูถูกคนอื่นในเชิงลบ ก็ไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น
สังคมเรานั้นมีคนหลายกลุ่ม และก็มีบางกลุ่มที่มักจะโดน Sterotype ในเชิงลบ เช่น ผู้หญิงมักไม่เก่งเลขหรือวิทยาศาสตร์ คนผิวสีมีสติปัญญาด้อยกว่า
เมื่อเราต้องเจอสถานการณ์ที่เราโดนตัดสินแบบเหมารวมในเชิงลบ ก็เป็นไปได้ที่เราจะหวั่นไหว ไม่ว่าจะเป็นคนมี Fixed หรือ Growth Mindset ก็ตาม ต่างกันตรงที่คนมี Fixed Mindset จะคล้อยตามและรู้สึกเฟล ในขณะที่คนมี Growth Mindset จะหาทางยืนหยัดต่อสู้เพื่อพิสูจน์ว่ามันไม่ใช่ความจริง
ผู้หญิงมีแนวโน้มจะเชื่อคำพูดของคนอื่น ๆ ที่ตัดสินตัวเองมากกว่าผู้ชาย นั่นเพราะผู้หญิงมักเติบโตมาด้วยสภาพแวดล้อมที่ผู้คนล้วนชมและรักพวกเธอ ส่วนผู้ชายนั้นมักจะเติบโตมาท่ามกลางการถูกลงโทษ การโดนเยาะเย้ย นั่นจึงทำให้ผู้ชายมีเกราะป้องกันที่แข็งแกร่งกว่า พวกเขารู้ว่าสิ่งที่คนอื่นพูดนั้นก็แค่พล่ามไปเรื่อย ในขณะที่ผู้หญิงที่เคยเชื่อว่าหลาย ๆ คนเอ็นดูเธอ เมื่อมีใครมาตัดสินเธอไม่ดี เธอก็มีแนวโน้มจะเชื่อเช่นกัน
การมอบ Growth Mindset ให้กับกลุ่มที่มักถูกเหมารวมในเชิงลบจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้พวกเขาก้าวข้ามผ่านคำตำหนิติเตียนหรือคำวิจารณ์ได้
บทที่ 4: Mindset ในวงการกีฬา อะไรคือสิ่งที่ทำให้คนเป็นแชมป์?
วงการกีฬานี่แหละตัวดีเลยในด้านการตัดสินสมรรถภาพของคนจากรูปลักษณ์ คำพูดแนว “คนนี้ดูเป็นนักกีฬาดีนะ” น่าจะเคยผ่านหูหลาย ๆ คน
พวกเราเองก็คงเคยคิดว่า นักวิ่งจะต้องผอมเพรียว นักบาสจะต้องตัวสูงใหญ่ นักมวยต้องหุ่นล่ำ ตีภาพลักษณ์ต่าง ๆ กันไปว่าหากใครมีรูปลักษณ์เหล่านี้ คนพวกนี้ยังไงก็เหนือกว่า
ความจริงก็คือ รูปลักษณ์ก็ส่วนหนึ่ง แต่ถ้าใครไม่ได้มีรูปลักษณ์ตามแบบมาตรฐานของกีฬานั้น ๆ ก็ไม่ต้องท้อใจ เพราะความจริงแล้ว สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ Mindset นั่นแหละ
- Muhammad Ali – นักมวยที่รูปลักษณ์ไม่ได้เข้ากับมาตรฐาน วิธีชกก็ผิดเพี้ยนจากตำราไปหมด แต่เขามี Mindset และไหวพริบในการอ่านใจคู่ต่อสู้ ทำให้สุดท้ายก็สามารถเอาชนะ Sonny Liston ที่มีคุณสมบัติทุกอย่างเหนือกว่าได้
- Michael Jordan – ก่อนจะมาเป็นนักบาสเลื่องชื่อ เขาเคยถูกปฏิเสธจากทีมบาสฯ ของทั้งโรงเรียนมัธยมและมหา’ลัย แต่เขาก็ไม่ยอมแพ้ เขาพยายามอย่างหนักยิ่งขึ้น ๆ ไม่เคยหยุดยั้งที่จะพัฒนา จนสุดท้ายก็ประสบความสำเร็จ แต่เมื่อคนส่วนใหญ่มองเขาตอนนี้ ก็จะมองว่าเขาได้ดิบดีเพราะรูปลักษณ์เพียงอย่างเดียวโดยไม่รู้ว่าเขาพยายามแค่ไหน
- Babe Ruth – นักเบสบอลที่ตอนแรกก็ไม่ได้เก่ง แต่เพราะความชื่นชอบการฝึกซ้อมอย่างสม่ำเสมอก็ทำให้เขาพัฒนาขึ้น
- Wilma Rudolph – นักวิ่งหญิงที่เกิดมาพร้อมโรคมากมาย ถึงขั้นเดินไม่สะดวก แต่เธอก็รับการรักษาเรื่อยมาจนหายดี หลังจากนั้นเธอก็เริ่มฝึกกีฬาและการวิ่งจนสามารถคว้ารางวัลโอลิมปิกได้
บทนี้ยังยกตัวอย่างถึงนักกีฬาท่านอื่น ๆ ที่มีคาแรคเตอร์ร่วมกัน นั่นก็คือพวกเขาแต่ละคนไม่มีใครคิดเลยว่าตัวเองวิเศษวิโสมาจากไหน ไม่ได้คิดว่าตัวเองเกิดมาพร้อมชัยชนะ พวกเขาทุกคนฝึกอย่างหนัก เรียนรู้ที่จะโฟกัสในยามคับขัน ให้เครดิตเพื่อนร่วมทีมหรือผู้ช่วย และพร้อมที่จะทะยานเกินขีดความสามารถของตัวเอง
แม้ว่าความสามารถจะเป็นตัวที่ผลักให้นักกีฬาประสบความสำเร็จ แต่อุปนิสัยเหล่านี้แหละคือสิ่งที่จะทำให้นักกีฬารักษาความสำเร็จไว้ได้
บทที่ 5: Mindset ในฝั่งของธุรกิจและผู้นำ
รู้มั้ยว่าจริง ๆ แล้ว การเลือกเอาแต่คนเก่ง ๆ มาทำงาน ก็อาจส่งผลเสียได้?
นี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับ Enron บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ ที่มีอันต้องล้มลง ส่วนหนึ่งอาจกล่าวได้ว่ามาจาก Culture การนับถือความสามารถของผู้คน เยินยอความเก่ง ทำให้พนักงานไม่กล้ายอมรับผิด และต้องการที่จะทำให้ตัวเองดูฉลาดอยู่เสมอ (สไตล์ Fixed Mindset)
Jim Collins ได้กล่าวไว้ในหนังสือ Good to Great ว่า บริษัทที่โตได้แบบยั่งยืนนั้น จะต้องมีผู้นำที่กล้ายอมรับความจริง แม้ว่ามันจะเป็นความล้มเหลวที่เจ็บปวด เขาจะต้องไม่มีอีโก้ ไม่ถือตัวสูงกว่าคนอื่น และทำทุกทางเพื่อพัฒนาบริษัทเรื่อย ๆ (Growth Mindset)
ผู้นำที่มี Fixed Mindset เป็นคนที่ถือตัวเองเป็นใหญ่ ต้องมีใครคนนึงเหนือกว่า และใครคนนึงด้อยกว่า พวกเขาไม่ต้องการทีมที่ดีด้วยซ้ำ แต่ต้องการแค่ผู้ช่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ เพราะพวกเขาอยากจะเป็นพระเอก สปอร์ตไลต์ส่องแต่เพียงผู้เดียว
พวกเขาต้องการถูกรายล้อมไปด้วยคำเยินยอ คำชม และจะไม่ชอบหากใครมาตำหนิหรือวิจารณ์ พวกเขาจะหาทางกลั่นแกล้ง ด่าทอ ทำให้คนที่เก่งน้อยกว่าพวกเขาขายหน้า รวมถึงพยายามกดคนที่มีความสามารถไม่ให้โดดเด่นเกินไป จนสุดท้ายคนเก่ง ๆ ก็หนีไปอยู่บริษัทอื่นกัน
ตัวอย่างผู้นำที่มี Fixed Mindset ที่บทนี้ยกตัวอย่าง เช่น
- Lee Iacocca: อดีต CEO ของ Ford และ Chrysler ที่สนใจแต่ภาพลักษณ์ของตัวเอง แทนที่จะทุ่มเงินไปกับการลงทุนในธุรกิจเพื่อผลระยะยาว เขาไล่คนที่แสดงความกังขาต่อเขาออก แถมยังทรีตไม่ดีกับคนที่ทำงานหนัก สุดท้ายเขาก็โดนบอร์ดไล่ออก ช่วงนั้นรถญี่ปุ่นกำลังตีตลาดอเมริกัน เขาก็เอาแต่ด่าญี่ปุ่น โทษนู่นนี่ แทนที่จะพัฒนาสินค้าเพื่อรับมือ
- Albert Dunlap: อดีตผู้บริหารของ Scott Paper และ Sunbeam ซึ่งสนใจแค่เรื่อง “เงิน ๆๆ” อย่างเดียว เขาไม่สนใจการเติบโตระยะยาวของบริษัท สนแค่ว่าจะคว้ากำไรระยะสั้นยังไง สิ่งนี้เขามองว่าเป็นตัวยืนยันว่าเขาเป็นคนฉลาด มีค่ากับโลกใบนี้ สุดท้ายเขาก็ล้มเหลวและโดนไล่ออก
- Jerry Levin และ Steve Case: Levin เป็น CEO ของ Time Warner ส่วน Case เป็น CEO ของ AOL ซึ่งทั้ง 2 บริษัทกำลังจะควบรวมกัน แทนที่จะช่วยกัน ต่างคนต่างพยายามกอบโกยอำนาจของตัวเอง ขนาดว่ามีคนจะยื่นมือมาช่วยก็ไม่ยอมเพราะกลัวจะเสียเครดิต จนสุดท้ายการรวมบริษัทก็ล้มเหลว เสียหายกว่าแสนล้านดอลล่าร์
วกไปฝั่ง Growth Mindset บ้าง ผู้นำในกลุ่มนี้จะไม่ได้สนใจความเป็นใหญ่ของตัวเอง พวกเขาจะโฟกัสที่การเรียนรู้เติบโต ใส่ใจพนักงานและคนรอบข้าง และจะมองว่าบริษัทเป็นเครื่องยนต์ในการเติบโตของตนและพนักงาน ไม่ได้มองเป็นเครื่องมือหาผลประโยชน์เข้าตัวเอง
ตัวอย่างผู้นำที่มี Growth Mindset ที่บทนี้ยกตัวอย่าง เช่น
- Jack Welch: อดีต CEO ของ GE ที่ก่อนหน้านี้เขาก็มี Fixed Mindset แต่สามารถเปลี่ยนมาเป็น Growth Mindset ได้ในภายหลัง เขามักจะลงไปคุยกับพนักงานอยู่เรื่อย ๆ แถมยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพและความเป็นทีมเวิร์ก เขาโฟกัสที่การเติบโตมากกว่าการพิสูจน์ว่าตัวเองเก่งแค่ไหน
- Lou Gerstner: อดีต CEO ของ IBM ที่เข้ามาช่วยเปลี่ยน IBM ให้กลายเป็นบริษัทที่มี Growth Mindset โดยเขาได้จัดการดึงระบบ Hierachy ออกไป ให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการออกไอเดีย สร้างทีมเวิร์กที่ดี และให้ความสำคัญกับการดูแลลูกค้ามากขึ้น ผลงานดีจนราคาหุ้นของ IBM พุ่งกว่า 800%
- Anne Mulcahy: อดีต CEO ของ Xerox ที่มาช่วยกอบกู้บริษัทจากวิกฤติ แม้เธอจะต้องไล่คนออกแต่เธอก็คุยกับพวกเขาด้วยความรู้สึกขอโทษ เธอยังคงพยายามรักษา Culture ดี ๆ ของบริษัทไว้ เช่น การดูแลพนักงานหลังเกษียณ หรือการให้ลาหยุดในวันเกิด เธอกล้าตีแผ่ให้เห็นความจริงที่แสนโหดร้าย แต่เธอก็เป็นคนอ่อนโยนเช่นกัน
Groupthink อีกหนึ่งผลผลิตของกลุ่มคนที่มี Fixed Mindset
Groupthink คือการที่คนคิดอะไรเหมือน ๆ กัน สาเหตุอาจจะเกิดจากการที่ทุกคนไว้ใจและเทิดทูนผู้นำ คิดว่าผู้นำไม่มีทางทำผิดหรอก อีกสาเหตุอาจเกิดจากการที่ผู้นำอีโก้สูง ไม่รับฟังความเห็นต่าง ลงโทษคนที่ไม่เห็นด้วย คนรอบตัวเลยต้องพยายามเอาอกเอาใจ สุดท้ายแล้ว Groupthink จึงไม่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่มีประสิทธิผลใด ๆ เพราะทุกคนต่างเออออกันและกัน
แนวโน้มของคนทำงาน
ในปัจจุบันและอนาคตเราเสี่ยงที่จะเจอคนทำงานแนว Fixed Mindset ที่ต้องการการยอมรับตลอดเวลา เพราะคนพวกนี้ก็คือเด็กรุ่น 90 หรือ 00 ที่โดนพ่อแม่โอ๋มาอีกที พอมาอยู่ในที่ทำงานก็อดไม่ได้ที่จะอยากได้รับคำชม ได้รับสปอร์ตไลต์ ซึ่งการชมพนักงานนั้นก็ต้องระวังให้ดี พยายามอย่าชมคุณสมบัติ แต่ให้ชมความขยัน ความทุ่มเท ความกล้าสู้กับปัญหา และเผชิญหน้าความท้าทาย ว่าง่าย ๆ คือกลับไปใช้กฎการชมแบบเนื้อหาด้านบน ก็เวิร์กกับผู้ใหญ่เช่นกัน
Mindset ในแง่อื่น ๆ ของการทำงาน
คนที่มี Growth Mindset มีแนวโน้มที่จะต่อรองได้ดีกว่าคนที่มี Fixed Mindset ซึ่งเป็นสกิลที่สำคัญในการทำงาน โดยพวกเขาทำได้ดีในการระบุความต้องการของทั้งสองฝ่าย และสามารถหาข้อสรุปที่สร้างสรรค์ได้
ในฝั่งของการ Coaching หัวหน้าที่มี Growth Mindset ก็จะทำได้ดีกว่า เพราะพวกเขาเชื่อว่าลูกน้องสามารถพัฒนาได้ ไม่เหมือนหัวหน้า Fixed Mindset ที่คิดว่าใครเกิดมายังไงก็อย่างงั้น พวกเขาเชื่อว่า “ผู้นำ” สามารถสร้างกันได้ ไม่ใช่การ born to be
องค์กรที่มี Growth Mindset ยังประกอบไปด้วยพนักงานที่พร้อมจะทุ่มเท และหัวหน้าที่พร้อมจะซัพพอร์ตลูกน้อง อีกทั้งยังมองเห็นศักยภาพการเติบโตของลูกน้อง เป็นวัฒนธรรมที่ช่วยเหลือกันและกัน เพื่อผลักดันทั้งบริษัทและคนให้ก้าวไปข้างหน้า
บทที่ 6: Mindset กับเรื่องความสัมพันธ์
มาถึงประเด็นฮอตฮิตตลอดกาลอย่างเรื่องความรักความสัมพันธ์ ซึ่ง Mindset นี่ก็มีเอี่ยวด้วยเช่นกัน
เกือบทุกคนต้องเคยตกหลุมรัก และน่าจะเคยอกหักหรือโดนทิ้งกันมาบ้าง หากเป็นคนที่มี Fixed Mindset เราน่าจะพอเดาได้ว่าเขาจะรู้สึกเหมือนถูกตีค่าว่า “เป็นคนที่ไม่ถูกรัก” “เป็นคนถูกทิ้ง” และมีแนวโน้มว่าจะเจ้าคิดเจ้าแค้นอีกฝ่ายที่ทิ้งเขา ไม่ปล่อยวางเรื่องในอดีต และไม่กล้าเริ่มต้นกับใครคนใหม่
แต่หากเป็นคนที่มี Growth Mindset แม้จะเจอเรื่องเดียวกัน แต่เขาจะพยายามเรียนรู้จากความสัมพันธ์ที่จบลงไปว่าต้องปรับปรุงหรือพัฒนาอะไร เขาจะยกโทษอีกฝ่ายแล้วก็ move on ต่อ เพราะชีวิตที่เหลือยังรออยู่ข้างหน้า จะมามัวนั่งเสียใจรำลึกถึงอดีตไปเพื่อ
ปัญหาของการมี Fixed Mindset ในความสัมพันธ์
- ไม่คิดจะช่วยกันพัฒนาความสัมพันธ์ เพราะคิดว่า “ถ้าคู่แล้วก็ไม่แคล้วกัน” ถ้า meant to be จริง ๆ ทุกอย่างก็ต้องเรียบร้อยได้ด้วยตัวของมันเองสิ ไม่ต้องลงมือแก้ไขอะไร ซึ่งเป็นความคิดที่ผิด เพราะทุก ๆ ความสัมพันธ์ก็ต้องการ effort ในการรักษามันไว้
- คิดว่าการเป็นคู่รักนั้นหมายถึงการเป็นหนึ่งเดียวด้านความคิด เหมารวมว่าต่างฝ่ายต่าง “อ่านใจ” กันได้ ทำให้ไม่ยอมสื่อสารกัน ส่งผลให้เกิดความเข้าใจผิด ซึ่งนี่รวมถึงการที่เหมาคิดว่าอีกฝ่ายจะชอบอะไรเหมือนตัวเองด้วย ทั้งที่จริง ๆ อาจจะไม่ใช่แบบนั้น
- มักปักใจว่าข้อเสียของอีกฝ่ายนั้นไม่มีทางแก้หาย จึงไม่มองหาวิธีสื่อสารให้ต่างฝ่ายต่างได้ปรับเข้าหากัน คอยแต่จะมองหาคนที่เพอร์เฟ็กต์ไม่มีตำหนิ (ซึ่งไม่มีในโลก) หากเจอสถานการณ์แหม่ง ๆ เช่น อีกฝ่ายแอบคุยโทรศ้พท์ หรือออกไปเที่ยวบ่อย ก็จะไม่กล้าเผชิญหน้าตรง ๆ เพราะกลัวผลลัพธ์ที่จะตามมา
- แทนที่จะหาทางแก้ไขปัญหา กลับกลายเป็นกล่าวโทษตัวเองไม่ก็อีกฝ่าย ซึ่งส่วนใหญ่หวยจะไปตกที่อีกฝ่ายเพราะไม่มีใครอยากรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนผิด
ความสัมพันธ์ที่ว่านี้ไม่ใช่แค่กับคนรัก แต่กับเพื่อนก็เหมือนกัน บางทีเราอาจจะเคยเจอเพื่อนที่มักทำให้เรารู้สึกด้อยกว่า ซึ่งนั่นเป็นวิธีของคน Fixed Mindset ที่ทำเพื่อให้ตัวเองรู้สึกเหนือกว่าคนอื่น
Fixed & Growth Mindset ยังสามารถเกิดได้กับคนขี้อาย สิ่งที่ต่างกันคือ คนขี้อายที่มี Fixed Mindset จะไม่กล้าพบเจอคนใหม่ ๆ เลย จะรู้สึกประหม่าเพราะกลัวถูกมองแย่ นั่นทำให้สกิลการพัฒนาความสัมพันธ์ของพวกเขามีแต่จะตกต่ำลง ในขณะที่คนขี้อายที่มี Growth Mindset แม้แรก ๆ จะเขิน ๆ เวลาเจอคนใหม่ ๆ แต่พวกเขามองว่าการสร้างมิตรภาพใหม่ ๆ เป็นความท้าทาย ไม่นานเครื่องก็ติดและสามารถพูดคุยได้อย่างไม่เคอะเขิน
Mindset ในแง่ของสังคมโรงเรียน
Fixed Mindset สามารถพบเห็นได้จากคนที่ชอบรังแกคนอื่น พวกเขาต้องการทำให้ตัวเองดูเหนือกว่าชาวบ้าน อยากเท่ อยากแกร่ง ด้วยการแกล้งเพื่อนที่พวกเขาตีตราว่าสถานะด้อยกว่า
มาทางฝั่งคนที่โดนรังแกบ้าง หากมี Fixed Mindset ก็จะคล้อยตาม นึกว่าตัวเองไร้ค่า สมควรแก่การโดนแกล้ง และอาจนำไปสู่ความคิดอยากแก้แค้นอีกฝ่าย (ตัวอย่างคือเคส Mass Shooting ในโรงเรียนอเมริกา) แต่หากมี Growth Mindset จะยืนหยัดในคุณค่าของตัวเอง มองอีกฝ่ายว่าเป็นคนมีปัญหา และจะหาทางคุยกับอีกฝ่ายเพื่อช่วยให้อีกฝ่ายดีขึ้น
ที่สำคัญคือ บุคลากรและโรงเรียนจะต้องช่วยเหลือเด็ก ๆ เช่นกัน ไม่ใช่ปล่อยให้เด็กที่โดนรังแกเผชิญปัญหาอยู่คนเดียว ต้องเริ่มจากการเปลี่ยนเป็น Growth Mindset นั่นคือโรงเรียนจะต้องเชื่อว่าเด็กทุกคนสามารถเปลี่ยนแปลงได้ แม้กระทั่งเด็กอันธพาลก็ตาม
บทที่ 7: Mindset สำหรับผู้ปกครอง ครู และโค้ช
บทนี้จะเล่ารวม ๆ ถึงผู้ที่บทบาทมีอิทธิพลกับผู้ในปกครองอย่างผู้ปกครอง ครู และโค้ช ในเนื้อหาจะขอใช้คำว่า “พ่อแม่” เป็นหลัก แต่จริง ๆ ก็คือรวม ๆ ทั้งครูและโค้ชด้วย
แน่นอนว่าคงไม่มีพ่อแม่คนไหนตื่นขึ้นมาด้วยเป้าหมายว่า “วันนี้ฉันจะเหยียบความหวังของลูกให้จมดิน ทำให้มันไม่อยากพยายามอะไร ให้มันรู้สึกไร้ค่า ไม่สามารถพัฒนาได้ดีกว่านี้”
มีแต่พ่อแม่ที่อยากเห็นลูกเติบโต เก่งขึ้น อยากซัพพอร์ตลูก
แต่ในความเป็นจริง สิ่งที่พ่อแม่พูดสามารถสวนทางกันมาก ในใจคิดว่าได้ซัพพอร์ตลูกแล้ว แต่จริง ๆ มันคือการกักสมรรถภาพของลูกด้วยคำชมแบบ Fixed Mindset
ทำนองว่า “เธอเก่งมากที่เรียนรู้ได้เร็ว” “เธอต้องได้เป็นปิกัสโซ่คนต่อไปแน่เลย” “เธอฉลาดมาก สอบผ่านทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ติว”
ฟังเผิน ๆ มันอาจจะเหมือนคำชมทั่วไป ได้ยินก็ชื่นใจดี แต่จริง ๆ แล้วสิ่งนี้แฝงภัยอันตรายอยู่
มันค่อย ๆ ปลูกฝัง Fixed Mindset ในตัวผู้รับสาร ซึ่งก็จะเกิดคำถามว่า “ถ้าเรียนรู้ไม่เร็ว ก็คือโง่เหรอ” “ถ้าวาดรูปไม่สวย ก็คงไม่มีตัวตนสินะ” “ถ้าสอบไม่ผ่าน ก็คือไม่เอาไหนใช่รึเปล่า”
เกิดการตีตราขึ้นในมุมมองของ Fixed Mindset ซึ่งก็จะทำให้เด็กไม่กล้าท้าทายตัวเอง เพราะกลัวว่าจะพลาดแล้วดูเป็นไอ้โง่ ไม่อยากพยายามมากขึ้นเพราะถ้าพยายามก็แปลว่าฉันไม่เก่งน่ะสิ
สิ่งที่ควรทำคือการเปลี่ยนไปชมแบบ Growth Mindset แทน เช่น
- “เห็นได้ชัดว่าเธอได้ทวนหนังสือและเธอก็พัฒนามาก เธออ่านหนังสือซ้ำหลายรอบ สรุปมันออกมา แล้วก็ทำเทสต์กับตัวเอง วิธีนี้ได้ผลแฮะ”
- “ฉันชอบที่เธอลองหลาย ๆ วิธีในการไขโจทย์ข้อนี้ เธอคิดออกมาหลายทางและสามารถหาทางที่เวิร์กได้”
- “ฉันชอบที่เธอกล้าลองโปรเจกต์ใหม่ ๆ ที่ท้าทาย เธอจะได้ทำอะไรเยอะมาก ๆ และจะได้เรียนรู้มากขึ้นแน่นอน”
แล้วถ้าอีกฝ่ายพยายามแต่ไม่สำเร็จผลล่ะ?
- “ฉันชอบที่เธอทุ่มเทนะ แต่มาร่วมมือกันเพิ่มเติมเถอะเพื่อดูว่าส่วนไหนที่เธอยังไม่เข้าใจ”
- “พวกเรามี Learning Curve ที่ต่างกัน มันอาจจะใช้เวลากว่าเธอจะจับต้นชนปลายถูก ถ้าเธอยังพยายามต่อไปเชื่อว่าเธอต้องทำได้แน่”
- “ทุกคนมีวิธีเรียนรู้ที่ต่างกัน มาลองหากันต่อเถอะว่าแบบไหนเวิร์กสำหรับเธอ”
ในกรณีที่อีกฝ่ายทำอะไรเสร็จเร็ว แล้วเสร็จแบบดีด้วยล่ะ? บอกเลยว่าการชมว่า “ว้าว ทำได้เร็วมาก!” หรือ “ดูสิเธอทำไม่ผิดเลย” ก็ถือว่าเป็นคำชมแบบ Fixed Mindset เพราะมันคือการตีค่างานชิ้นไหนให้เหลือแค่ “เร็ว” และ “เพอร์เฟ็กต์” ซึ่งก็จะทำให้อีกฝ่ายไม่อยากทำอะไรที่ท้าทายหรือใช้เวลานานขึ้นเพราะกลัวว่าจะทำ “ช้า” และ “ไม่เพอร์เฟ็กต์
แทนที่จะชม ก็อาจจะใช้คำพูดประมาณว่า “โอ๊ะ เหมือนอันนี้จะง่ายไปนะ ขอโทษทีที่ทำให้เธอเสียเวลา มาลองหาอะไรทำเพิ่มเติมที่เธอน่าจะได้เรียนรู้มากขึ้นกันเถอะ”
สิ่งที่ยากกว่าการชม คือการฟีดแบ็กและให้กำลังใจอีกฝ่ายเมื่อล้มเหลว เช่น แข่งขันแพ้ สอบได้คะแนนน้อย เพราะแค่นี้เค้าก็รู้สึกแย่พอแล้ว เราจะพูดยังไงให้เค้ายิ่งไม่รู้สึกจมดินกว่าเดิม
- “เธอเก่งที่สุด” – เป็นคำปลอบที่โคตรไม่จริงใจ ก็เห็นอยู่ว่าเธอไม่ได้เก่งที่สุด มีคนเก่งกว่าเธอ
- “เธอสมควรได้รับรางวัล ไม่ใช่คนอื่น” – นี่เป็นการกล่าวโทษคนอื่นชัด ๆ
- “สิ่งนี้ (ที่เธอทำไม่สำเร็จ) มันไม่ได้สำคัญขนาดนั้นหรอก” – นี่ก็เป็นการบอกอีกฝ่ายว่าถ้าทำอะไรไม่สำเร็จ ก็ไม่ต้องให้ค่ามันหรอก
- “เธอมีความสามารถและจะต้องชนะในรอบหน้าแน่นอน” – อันนี้อันตราย ความสามารถไม่ได้พาเราไปในที่ที่เราต้องการได้ทุกที่ ถ้าไม่ชนะรอบนี้ รอบหน้าก็ไม่ได้หมายความว่าจะชนะสักหน่อย
- “เธอไม่สมควรชนะเลย” – …
คนส่วนใหญ่คงเผลอปลอบด้วย 4 ประโยคแรก แต่ก็อย่างที่รู้กัน มันเป็นแค่น้ำเย็นชั่วคราวที่ไม่ได้ส่งผลดีต่อ Mindset ระยะยาว
คนที่มี Growth Mindset จะเลือกข้อ 5… แต่อาจจะไม่ได้พูดแบบนี้ตรง ๆ นะเพราะฟังดูใจร้ายเกิน อาจจะปรับเป็น “ฉันรู้นะเธอรู้สึกยังไง มันน่าผิดหวังที่เธอคาดหวังไว้สูง ทำดีที่สุดแล้วแต่ก็ยังไม่ชนะ แต่รู้มั้ย เธอยังไม่ควรชนะหรอก มีคนอื่นที่เค้าอยู่มานานกว่าเธอ ฝึกฝนหนักกว่าเธออีก ถ้าเธอต้องการชนะจริง ๆ เธอก็ต้องฝึกเพิ่ม”
ฟังดูอาจจะโหดหินไปหน่อย แต่นี่คือสิ่งที่คนพ่ายแพ้ทุกคนควรได้ยิน พวกเขาควรได้รับคำพูดที่จริงใจ ไม่ใช่คำอวยที่ประเดี๋ยวประด๋าว ซึ่งถ้าคนรับสารมี Growth Mindset เค้าก็จะยิ่งฝึกฝนมากขึ้นเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ต้องการ (แต่ถ้าคนรับสารเป็น Fixed Mindset ก็อาจจะปิดกั้นไม่ฟังเลย)
แน่นอนว่าสิ่งที่ไม่ควรทำคือตัดสินด่าทอ เช่นสมมติอีกฝ่ายทำไม่เสร็จ ก็ไม่ควรพูดว่า “แกมันโง่ แค่นี้ก็ทำไม่ได้” เพราะนั่นก็จะยิ่งตอกย้ำว่าอีกฝ่ายพัฒนาตัวเองไม่ได้ (ได้แค่ความสะใจส่วนตัวเท่านั้น) ซึ่งอะไรแบบนี้ไม่ใช่ Constructive Feedback เพราะมันไม่ได้ช่วยให้อีกฝ่ายรู้เลยว่าต้องพัฒนาตรงไหน
สิ่งที่คนมักเข้าใจผิดว่าเป็น Growth Mindset
- มองข้อดีของตัวเองว่าเป็น Growth Mindset: บางคนอาจจะมองว่าการที่ตัวเองใจกว้างหรือยืดหยุ่น ก็ถือว่าตัวเองมี Growth Mindset แล้ว การที่พวกเขาไม่ได้เข้าใจความหมายของ Growth Mindset อย่างแท้จริง ก็อาจจะทำให้พลาดโอกาสพัฒนาเพื่อเติบโตได้
- เข้าใจว่า Growth Mindset ข้องเกี่ยวแค่การชมเชยในความพยายามเท่านั้น: สิ่งนี้อาจทำให้บางคนชมความพยายามแม้ว่าความพยายามนั้นจะไม่สำเร็จ ซึ่งสุดท้ายแล้วก็ไม่ได้ส่งผลอะไรเพราะอีกฝ่ายก็ไม่รู้อยู่ดีว่าควรทำยังไงถึงจะแก้ไขผลลัพธ์ได้ การชมความพยายามควรใช้ควบคู่เวลาที่ผลลัพธ์เกิดความสำเร็จ
- คิดว่า Growth Mindset คือการบอกอีกฝ่ายว่า “เธอทำได้ทุกอย่าง”: แค่บอกแค่นั้นแต่ถ้าไม่ไกด์อะไรเลย ก็เหมือนปล่อยอีกฝ่ายให้เคว้ง ทางที่ดีก็ควรช่วยเหลืออีกฝ่ายให้ไปถึงเป้าหมายด้วย
เราจะส่งต่อ Growth Mindset ให้คนอื่นได้ด้วยการ…
- ไม่ทำเพียงแค่ชมผิวเผิน แต่ให้โฟกัสที่กระบวนการเรียนรู้
- มองความผิดพลาดเป็นเรื่องดีที่จะทำให้เราพัฒนา
- โฟกัสที่การสร้างความเข้าใจที่แท้จริง ไม่ใช่แค่จำเนื้อหา (อันนี้เหมาะกับครู)
บทที่ 8: การเปลี่ยน Mindset
การเปลี่ยน Minset นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย และไม่ใช่อะไรที่จะทำได้แบบถอนรากถอนโคนทันทีด้วย
ในบทนี้ได้เล่าถึงขั้นตอนการเปลี่ยนไปเป็น Growth Mindset แบบ step-by-step
ขั้นตอนที่ 1: ยอมรับว่าตัวเองมี Fixed Mindset
อาจจะฟังดูแหม่ง ๆ แต่เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ถ้าเราไม่รู้ว่าสถานะตอนนี้เราเป็นยังไง
คนเรามักจะมี Fixed & Growth Mindset ปน ๆ กัน เราต้องหาให้เจอว่าส่วนไหนบ้างที่เรายังมี Fixed Mindset อยู่ แต่เราอาจจะไม่ต้องถึงขั้นระบุว่ามันโผล่มาบ่อยแค่ไหน หรือมันสร้างความวุ่นวายให้เรายังไงบ้าง
ขั้นตอนที่ 2: รู้ว่าอะไรเป็นตัวกระตุ้นให้ Fixed Mindset ของเราโผล่มา
ลองหาสาเหตุว่าเมื่อไรที่ Fixed Mindset ของเราจะปรากฏตัวออกมา ตัวอย่างเช่น
- อาจจะเป็นตอนที่เรากำลังจะเผชิญความท้าทายใหญ่ งานใหม่ ๆ ไอ้ Fixed Mindset อาจจะโผล่มาวอแวว่า “แกทำไม่ได้หรอก ทำไม่ไหวหรอก”
- อาจจะเป็นตอนที่เราทำอะไรสักอย่างแล้วตันซะทุกทาง ตัว Fixed Mindset อาจจะโผล่มาบอกให้เรายอมแพ้เถอะ ทำไปก็เหนื่อยเปล่า ไปหาอะไรง่าย ๆ ทำเถอะ
- หรืออาจจะเป็นตอนที่ชีวิตเราล้มเหลวขั้นสุด ถูกไล่ออกจากงาน เสียคนรัก ทำอะไรพังอย่างรุนแรง มันอาจมีคิดแหละว่า “เออชีวิตเราไม่ได้ดีอย่างที่เราคิดแฮะ และคงไม่มีวันดีหรอก”
- ตอนเจอคนที่เก่งกว่าเราในทุก ๆ ด้าน โดยเฉพาะด้านที่เราคิดว่าตัวเองคือที่สุดแล้ว ตัว Fixed Mindset อาจจะโผล่มาบอกว่าเราไม่มีทางดีเท่าเขาหรอก หรืออาจจะยุให้เราเกลียดเขาไปเลย
- เราอาจจะมี Fixed Mindset ต่อคนอื่น ๆ เช่น ถ้าเป็นครู พอผลสอบออก อาจจะตัดสินไปเลยว่าเด็กคนนี้ฉลาด คนนี้โง่ หรือถ้าเป็นเจ้านาย พอโปรเจ็กต์ใหญ่ผ่านไป ก็อาจจะตัดสินความสามารถลูกน้อง ทางฝั่งพ่อแม่ อาจจะกดดันลูกให้พิสูจน์ตัวเองว่าลูกฉลาดกว่าคนอื่น และตัดสินลูกจากเกรดหรือคะแนนสอบ
ขั้นตอนที่ 3: ตั้งชื่อให้ Fixed Mindset
อ่านไม่ผิด 555 การตั้งชื่อให้ Fixed Mindset ของเรา เป็นเหมือนการแยกตัวตนออกมาให้ชัดมากขึ้น และยังช่วยให้เราดีลกับตัวตนนี้ได้ ว่าเป็นตัวตนที่เราไม่อยากจะเป็น
ขั้นตอนที่ 4: ค่อย ๆ จัดการกับ Fixed Mindset ที่เกิดขึ้น
ยิ่งเรารู้ว่า Fixed Mindset ของเราเป็นแบบไหน เราก็จะยิ่งระแวดระวังมากขึ้น เราจะพร้อมรับมือมากขึ้นเวลาที่สุ่มเสี่ยงว่า Fixed Mindset จะปรากฏตัว ถ้ามันบอกเราว่าให้ “ยอมแพ้” เราก็จะบอกมันกลับได้ว่า “ลองสักหน่อยเถอะ อาจจะชนะก็ได้”
ตัว Fixed Mindset เกิดขึ้นเพื่อปกป้องเราจากความเสี่ยง ให้เราอยู่ใน comfort zone แต่สิ่งนี้ก็มีข้อเสียเพราะมันจำกัดการเติบโตของเรา เราจึงต้องค่อย ๆ แสดงให้มันเห็นว่า เฮ้ยเราก็ลุยได้นะ
การเปลี่ยนเป็น Growth Mindset นั้นไม่ใช้ One-Stop Journey กล่าวคือมันไม่ใช่ว่าพอเราทำได้แล้วก็หยุด สำเร็จแล้ว แต่มันคือการเรียนรู้ในทุก ๆ วัน เพราะปฏิเสธไม่ได้หรอกว่าวันดีคืนดี Fixed Mindset มันก็ต้องโผล่มาอยู่ดี เพียงแต่ถ้าเราฝึกเรื่อย ๆ ด้วยการค่อย ๆ ปรับเป็น Growth Mindset เราก็จะรับมือได้ดีขึ้น และมีอะไรใหม่ ๆ ให้เรียนรู้เรื่อย ๆ หรือแม้กระทั่งตอนที่เราล้มเหลว มันก็จะทำให้เราไม่เจ็บจนเกินไป
ปิดท้ายด้วยภาพสรุปความแตกต่างของ Fixed VS Growth Mindset สักหน่อย

สรุป
Mindset ถือว่าเป็นหนังสืออีกเล่มนึงที่ส่งผลต่อวิธีคิดมาก ๆ เพราะเมื่อเรารู้ว่ามีสองวิธีคิด และได้เห็นความแตกต่างของมัน เราก็อยากที่จะมี Growth Mindset มากขึ้น เพราะมันจะช่วยให้เราได้เรียนรู้ เติบโต รวมถึงช่วยปรับมุมมองที่เรามีต่อคนอื่น ๆ ด้วย
แต่ทฤษฎีก็ส่วนทฤษฎี ซึ่งอ่านแล้วเข้าใจได้ไม่ยาก ขณะเดียวกันทางปฏิบัติจะค่อนข้างท้าทายหน่อย เพราะหลายคนอาจจะโดน Fixed Mindset ฝังหัวมาตั้งแต่เด็ก อะไรที่มันอยู่มานานก็คงต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนแปลงหน่อย ซึ่งในหนังสือก็บอกว่ามันค่อยเป็นค่อยไปแหละ ไม่ต้องไปรีบร้อน ค่อย ๆ เรียนรู้กันไป จะช้าก็ยังดีกว่าไม่เริ่มเลย
มาที่การเล่าเรื่องของหนังสือ เราว่าหนังสือใช้ศัพท์ไม่ยาก ไม่ได้วิชาการจ๋า ๆ จนอ่านไม่รู้เรื่อง มีความเป็น storytelling ที่อ่านแล้วเข้าใจง่าย จะมีติก็ตรงที่หนังสือค่อนข้างน้ำเยอะ บางจุดอาจจะรู้สึกว่าพูดซ้ำไปซ้ำมาในประเด็นเดิม ๆ ซึ่งอาจจะทำให้เราขี้เกียจอ่านต่อ (เกิดขึ้นกับเราแล้ว บทที่ 4 เกือบทำเราอ่านเล่มนี้ไม่จบ) หลาย ๆ ส่วนเน้นการเล่าเรื่องคนอื่นซะเยอะ ซึ่งบางเรื่องเราไม่รู้สึกอินด้วยเท่าไร แต่ถ้าใครชอบแนวเรื่องราวให้แรงบันดาลใจก็อาจจะชอบ
บทที่เราชอบจะเป็นบทที่ 7 เพราะหนังสือมีคำแนะนำที่ไปปรับใช้ได้จริง ไม่ได้มีแต่เรื่องเล่าอย่างเดียว
โดยสรุปแล้ว Mindset เป็นหนังสือที่ให้แนวคิดที่ดี เราสนับสนุนให้ทุก ๆ คนรู้จักแนวคิดนี้ ส่วนจะอ่านหนังสือหรือไม่ อันนี้แล้วแต่เลย ไม่ได้แนะนำเป็นพิเศษ สำหรับเราเรารู้สึกว่าไปหาอ่านตามบทความข้างนอกก็อาจจะได้สารที่เท่ากันในเวลาที่น้อยกว่า ถ้าอยากได้เนื้อ ๆ อะนะ แต่ถ้าอยากอ่านพวกเรื่องราวต่าง ๆ ที่เอามาซัพพอร์ตไอเดีย ก็ลองหาหนังสือมาอ่านได้ค่ะ
Leave a Reply