รีวิว The Little Prince (1943): อย่าลืมวัยเยาว์ของเรา

The Little Prince หรือ เจ้าชายน้อย น่าจะเป็นหนึ่งในหนังสือที่คุ้นหูใครหลายคนมากที่สุด สำหรับเรานั้น เราได้กลับมาอ่านอีกครั้งหลังจากอ่านครั้งแรกไปเมื่อประมาณ 4-5 ปีก่อน ครั้งนี้เลยอยากบันทึกความรู้สึกหลังการอ่านเก็บเอาไว้

*มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วน*

การเดินทางของเจ้าชายน้อย

หนังสือเล่มนี้เป็นวรรณกรรมฝรั่งเศสเขียนโดย Antoine de Saint-Exupéry เป็นหนังสือเล่มบาง ๆ หน้าปกเหมือนหนังสือนิทานเด็ก พลิกเปิดข้างในก็ยิ่งดูเฟรนด์ลี่เพราะเต็มไปด้วยภาพวาดฝีไม้ลายมือของผู้เขียนเอง แวบแรกใครหลายคน (รวมถึงเรา) จึงอาจมองได้ว่านี่เป็นนิทานสำหรับเด็กแน่นอน แต่เมื่อได้อ่านจริง ๆ แล้วจะค้นพบว่า ผู้ใหญ่ต่างหาก ที่อ่านเรื่องพวกนี้แล้วจะยิ่งอิน

ผู้บรรยายของเรื่องนี้คือนักบินที่เครื่องบินตกในทะเลทราย เขาได้พบเจอเด็กชายประหลาดที่เขาเรียกว่าเจ้าชายน้อยที่นี่ เจ้าชายน้อยได้เล่าถึงดาวที่เขาจากมา และการเดินทางไปเยือนยังดาวต่าง ๆ จนกระทั่งมาสิ้นสุดที่ดาวโลก

ฟังแบบนี้ดูเป็นนิทานแฟนตาซี แต่สิ่งสำคัญที่กินใจนั้นอยู่ระหว่างทางต่างหากล่ะ

กัดจิกผู้ใหญ่ตั้งแต่บทแรก

สิ่งแรกที่ได้สัมผัสเมื่อเริ่มต้นบทแรกคือการจิกกัดจินตนาการของผู้ใหญ่ โดยผู้บรรยายนั้นเล่าให้ฟังว่า เขาเคยวาดภาพงูเขมือบช้างเอาไปโชว์ให้ผู้ใหญ่ดู แต่ผู้ใหญ่กลับมองว่ามันคือหมวกต่างหาก ไม่เห็นน่ากลัวเลยหนู สื่อให้เห็นว่าผู้ใหญ่เห็นอะไรแค่เพียงผิวเผิน ส่วนเด็กนั้นจะสามารถคิดต่อจินตนาการไปได้เรื่อย ๆ

ต่อจากนั้น ก็ยังมีการแซะผู้ใหญ่อีก จริง ๆ จะว่าแซะทั้งเรื่องเลยก็ว่าได้ ผ่านการเดินทางของเจ้าชายน้อยที่ได้พบเจอผู้คนที่อยู่ในดาวต่าง ๆ เช่น พระราชาที่ชอบออกคำสั่ง คนหลงตัวเอง คนขี้เมา คนทำงานที่ยึดถือคำสั่ง นักภูมิศาสตร์ที่ไม่เคยออกเดินทางเลย และนักธุรกิจที่คร่ำเคร่งแต่แค่กับตัวเลข คนเหล่านี้ทำให้เจ้าชายน้อยตั้งคำถาม และฉงนสนเท่ห์ไปกับความคิดที่เจ้าตัวไม่เคยสัมผัสมาก่อน

ระหว่างที่อ่าน ในฐานะผู้ใหญ่คนหนึ่ง ก็อดเห็นด้วยตามไม่ได้ว่ายิ่งเราโตเป็นผู้ใหญ่ หลายครั้งเรามักจะยึดติดกับบางสิ่งบางอย่างที่เป็นเพียงของนอกกาย ไม่ได้ตั้งคำถามกับมันเลยว่าสิ่งนี้สำคัญกับเรายังไง แต่เป็นเพราะสังคมให้ค่ากับมัน เราเลยคล้อยตาม

เจ้าชายน้อยเป็นตัวแทนของความเยาว์วัย

สังเกตได้ว่า เจ้าชายน้อยมักจะตั้งคำถาม และจะถาม ๆๆๆ จนกว่าจะได้คำตอบที่พึงพอใจ สะท้อนให้เห็นถึงความอยากรู้อยากเห็นและความไร้เดียงสาแบบเด็ก พอเราโตเป็นผู้ใหญ่ ด้วยความที่เราเห็นโลกมากขึ้น ก็มักจะทำให้เราคำนึงไปเองว่าเรารู้ทุกอย่างแล้ว เราเข้าใจทุกอย่างดี อีกทั้งบางสังคมยังมองว่าการตั้งคำถามเป็นพฤติกรรมก้าวร้าว จุดชนวนความแตกแยก ก็ยิ่งส่งผลให้ใครหลาย ๆ คนไม่กล้าตั้งคำถาม ไม่เหมือนเด็กที่ยังไม่รู้อะไรมาก ถ้าอยากรู้อะไรก็แค่ถาม

นอกจากนี้ อย่างที่กล่าวไปข้างต้น เจ้าชายน้อยดูจะไม่เก็ตเลยกับความคิดของผู้ใหญ่ที่เขาได้พบพาน เจ้าชายน้อยก็เปรียบเสมือนผ้าขาวที่ยังไม่ถูกแต่งแต้ม ยังไม่ได้พบเจอสังคมชีวิตจริงว่ามันโหดร้ายขนาดไหน ยังคงเป็นเด็กที่คิดอะไรซื่อ ๆ ตรง ๆ ยังไม่ถูกย้อมด้วยกิเลส ตัณหา และกฏเกณฑ์ทางโลกต่าง ๆ

สิ่งที่สำคัญ ไม่ได้มองเห็นได้ด้วยตา

พาร์ตนึงที่กินใจเรามาก ๆ คือความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าชายน้อยกับหมาจิ้งจอก โดยหมาจิ้งจอกแนะนำให้เจ้าชายน้อยรู้จักความผูกพัน ให้เจ้าชายน้อยเข้าใจว่าไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ สิ่งของ สิ่งมีชีวิต หรือสิ่งไม่มีชีวิต หากเราใส่ใจ ทุ่มเทดูแล สร้างความผูกพัน อีกฝ่ายก็จะโดดเด่นเป็นสิ่งสำคัญขึ้นมาทันที ดอกกุหลาบหลายพันดอกที่สวยงามนั้นไม่มีดอกไหนเลยที่มีความหมายสำหรับเจ้าชายน้อย มีเพียงดอกเดียวที่ติดตราตรึงใจคือดอกที่เจ้าชายน้อยดูแลรดน้ำเองกับมือ

ดังนั้น จุดนี้ปริมาณไม่สำคัญเลย เพราะสิ่งที่มีความหมายต่อเรานั้นอาจจะมีเพียงหยิบมือ และใกล้ตัวเรามาก ๆ จนบางทีเราก็มองข้าม เพราะมัวแต่ไปหาสิ่งของภายนอกมาประโลมตัวเอง ทางที่ดีคือเราควรจะกลับมาใส่ใจคนรอบข้าง หรือสิ่งรอบกายที่ไม่ไกลจากเรานี่แหละ

การจากลา

ในตอนสุดท้าย เจ้าชายน้อยต้องกลับดาวตัวเอง จุดนี้เป็นอีกจุดที่อ่อนไหวมาก เพราะเจ้าชายน้อยกับผู้บรรยายได้เป็นเพื่อนกันแล้ว เจ้าชายน้อยให้ข้อคิดว่าทุกการจากลานั้นเจ็บปวดเสมอ แต่สุดท้ายแล้ว เราก็จะสามารถข้ามผ่านไปได้ เหลือไว้เพียงความทรงจำดี ๆ ที่เคยมีให้กัน และเมื่อถึงตอนนั้น เราจะรู้สึกโชคดีที่ได้รู้จักคนคนนี้

ในตอนที่เจ้าชายน้อยจากไป มีการถกเถียงกันมากว่าสรุปแล้วเจ้าชายน้อยตายหรือไม่? หนังสือไม่ได้ให้คำตอบชัดเจน เป็นปลายเปิดให้คนคิดต่อเอง ถ้าโดยมุมมองของเราแล้ว เราคิดว่าเจ้าชายน้อยเดินทางกลับดาวตัวเองอย่างปลอดภัยดีแล้ว เราไม่อยากจะคิดว่าเจ้าชายน้อยจะตายทั้ง ๆ ที่ผ่านอะไรมากมาย ไปเที่ยวมาตั้งหลายดาว การคิดว่าเจ้าชายน้อยตาย ก็เหมือนการฆ่าตัวตนในวัยเด็กของเราดี ๆ นี่เอง

ในมุมของเรา เราคิดว่าเจ้าชายน้อยเป็นตัวแทนของความเยาว์วัยในอดีต ที่โผล่ออกมาย้ำเตือนตัวเราว่า เรายังมีความเป็นเด็กอยู่ในตัวนะ มันไม่ได้หายไปไหนแม้ว่าเราจะเติบโตขึ้น แม้บางทีเราอาจจะหลงลืมมันไปบ้างก็ตามที

สรุป

เราคิดว่านี่เป็นหนังสือที่ควรหยิบมาอ่านซ้ำเรื่อย ๆ ยิ่งโตก็ยิ่งต้องอ่าน กลับมาทวนบ่อย ๆ เหมือนรอบนี้ที่พอเราหยิบมาอ่าน ก็หวั่นไหวไปกับบางบทที่ก่อนหน้านี้ไม่ได้รู้สึกอะไร เราคิดว่ายิ่งเราเจออะไรในชีวิตมามาก หนังสือเล่มนี้ก็จะยิ่งช่วยปลอบประโลมเราได้ดียิ่งขึ้น และมอบกำลังใจให้เราเดินหน้าสู้ชีวิตต่อไปได้ 🙂

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

Blog at WordPress.com.

Up ↑

%d bloggers like this: