สรุปหนังสือ “กล้าที่จะถูกเกลียด 2”: จงพึ่งพาตัวเอง และเลือกวิถีชีวิตของตัวเอง

สรุปไว้อ่านเล่น : กล้าที่จะถูกเกลียด 2
เขียนโดย คิชิมิ อิชิโร และ โคะกะ ฟุมิทะเกะ

เราเคยอ่าน “กล้าที่จะถูกเกลียด” เล่มแรกเมื่อหลายปีก่อน เป็นหนึ่งในหนังสือที่ประทับใจ ให้แง่มุมที่แปลกใหม่ดี (มีสรุปไว้แล้ว ที่นี่) พอเห็นว่ามีเล่ม 2 แถมสียังแดงแรงฉูดฉาดล่อใจเป็นยิ่งนัก ก็ต้องจัดสิ อยากรู้ว่าการเสวนาของชายหนุ่มกับอาจารย์จะต่อยอดจากเดิมอย่างไรบ้าง เพราะถ้าใครจำได้ คนคู่นี้เค้าปะฉะดะกันอย่างดุเดือดดีแท้

สำหรับ “กล้าที่จะถูกเกลียด 2” นี้ยังคงใช้สไตล์การเล่าเรื่องแบบเดิม คือเป็นบทสนทนาระหว่างชายหนุ่มกับอาจารย์ เล่าแบบบทละคร เป็นคำพูดตอบโต้ไปมา อ่านลื่นไหลเหมือนเดิม ชายหนุ่มก็ยังคงอารมณ์ร้อนเหมือนเดิม ส่วนอาจารย์ก็คมกริบได้คงเส้นคงวาเช่นกัน

เรื่องราวของเล่มนี้เริ่มขึ้น 3 ปีผ่านไปหลังจากพวกเขาทั้งคู่จากกันในเล่มแรก คราวนี้ชายหนุ่มหัวฟัดหัวเหวี่ยงกลับมาหาอาจารย์อีกครั้ง เขาเริ่มไม่แน่ใจว่าควรจะเชื่อแนวคิดของอัลเฟรด แอดเลอร์ต่อไปดีหรือไม่ เนื่องจากเขาค้นพบว่ามันใช้ไม่ได้ผลในฐานะครูคนหนึ่งที่ต้องสอนนักเรียน เขาไม่ว่า ไม่ชม เหมือนที่แอดเลอร์เคยแนะนำไว้ ปรากฏว่าผลลัพธ์ออกมาไม่เป็นท่า เด็กนักเรียนมองว่าเขาเป็นครูที่อ่อนด๋อย ซึ่งอาจารย์ก็ตอบว่าที่เป็นแบบนี้ก็เพราะชายหนุ่มเข้าใจวิธีการผิดไป เรามาเสวนาใหม่กันอีกครั้งเถอะ คราวนี้เอาแบบเจาะลึกกันไปเลย

ต่อจากนี้จะเป็นการสรุปเนื้อหาจากหนังสือโดยตรง ไม่มีการใส่ความคิดเห็นเพิ่มเติม นอกจากช่วงท้ายที่เราจะสรุปมุมมองของเราเข้ามานะ ถ้าตรงไหนมีผิดพลาดยังไงก็ขออภัย ทักมาบอกกันได้เลย

บทที่หนึ่ง: คนอื่นเลวร้าย เราช่างน่าสงสาร

– เป้าหมายของการสอนคือการทำให้ “พึ่งพาตัวเองได้” (หนึ่งในเป้าหมายด้านพฤติกรรมของมนุษย์) เพราะแอดเลอร์เชื่อว่ามนุษย์เกิดมาเป็นสิ่งมีชีวิตที่ไร้พลังอำนาจ แล้วเราก็อยากหลุดพ้นจากสภาพนี้ จึงแสวงหาความเหนือกว่า โดยธรรมชาติแล้วมนุษย์จึงต้องการ “อิสรภาพ” จากการติดแหง็กช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เพราะฉะนั้น การสอนจึงไม่ใช่การ “ก้าวก่าย” แต่เป็นการ “ช่วยเหลือ” ให้เด็กพึ่งพาตัวเองได้ต่างหาก ถ้าไม่มีการ “พึ่งพาตัวเองได้” เป็นเป้าหมาย การสอนจะกลายเป็นการบังคับเคี่ยวเข็ญไปเลย

– เราสามารถเริ่มต้นความสัมพันธ์ด้วยการ “เคารพ” ผู้อื่นในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ไม่ว่าอีกฝ่ายจะเป็นเด็ก จะนิสัยเกเรยังไง เราก็ต้องมองเขาในแบบที่เขาเป็น หากเราไม่เคารพเขา เขาก็จะไม่ยอมฟังเรา หลายคนอาจคิดว่าการเคารพคือการชื่นชมและโค้งคำนับอีกฝ่าย แต่จริงๆ แล้วความรู้สึกนั้นคือความกลัว การสยบยอม และความศรัทธาเพราะกลัวในอำนาจของอีกฝ่าย

– ในเมื่อการเคารพคือการมองคนในแบบนี้เขาเป็น ด้วยการใส่ใจใน “สิ่งที่เขาใส่ใจ” เช่น หากเด็กสนใจเล่นเกม ก็ต้องเข้าใจเขาว่านั่นคือสิ่งที่เขาชอบ หากไปขัดขวางก็จะกลายเป็นการไม่เคารพเด็กคนนั้น เท่ากับว่าผู้ใหญ่กำลังปฏิเสธสิ่งที่เด็กใส่ใจอยู่ เด็กก็จะยิ่งตีตัวออกห่าง

– เราสามารถจินตนาการถึงสิ่งที่ตาของคนอื่นเห็น สิ่งที่หูของคนอื่นได้ยินได้ ไม่ได้หมายความว่าเราต้องหนีไปจากอคติของตัวเอง 100% หากอยากเข้าใจคนอื่นให้มากขึ้น ให้ลองจินตนาการว่าเราเป็นเขาดู นี่คือการสร้างความรู้สึกร่วม คือเทคนิคที่เราใช้เวลาจะเข้าหาคนอื่น

มนุษย์สามารถกำหนดชีวิตของตัวเองได้ทุกเมื่อ ประสบการณ์ในอดีตไม่ได้เป็นตัวกำหนดชีวิตเราในปัจจุบัน มันขึ้นอยู่กับว่าเราจะให้ความหมายแก่ประสบการณ์ในอดีตยังไง ปัจจุบันเป็นตัวกำหนดอดีตต่างหาก มนุษย์จะเอาแค่อดีตที่ตรงกับเป้าหมายของตัวเองในปัจจุบันมารองรับ ขณะเดียวกันก็จะลบอดีตที่ขัดกับเป้าหมายปัจจุบันทิ้งไป เหตุการณ์เดียวกันนี้เราสามารถมองมันได้สองมุม ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเลือกมุมไหน ตัวอย่างก็เช่น ประวัติศาสตร์มักถูกเขียนขึ้นโดยผู้ชนะ โดยเขียนเพื่อมอบความชอบธรรมให้กับตัวเอง

– เวลาเจอเรื่องแย่ๆ มนุษย์มักมองอยู่สองมุม ไม่ “คนอื่นเลวร้าย” ก็ “เราช่างน่าสงสาร” ซึ่งไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไรเลย มีแต่จะเรียกคำปลอบใจสงสาร ซึ่งก็ช่วยให้ดีขึ้นประเดี๋ยวประด๋าว แต่สุดท้ายพอเจอเรื่องแย่อีกก็จะเศร้าอีก ต้องพึ่งพาคนอื่นให้ช่วยปลอบขวัญอีก สิ่งที่เราควรพิจารณาคือ “ต่อจากนี้ไปจะทำอย่างไร” ต่างหาก

บทที่สอง: ทำไมจึงไม่ควรใช้วิธี “ให้รางวัลและลงโทษ”

– แอดเลอร์มองว่ากฏต้องมาจากกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตย ไม่ใช่เผด็จการ ในกรณีของห้องเรียน ก็ควรเป็นประชาธิปไตยเช่นกัน นั่นหมายความว่าอำนาจอยู่ในมือของเด็กทุกคน ไม่ได้กระจุกอยู่ที่ครูคนเดียว หากครูหลงตัวใช้อำนาจเมื่อไร ก็จะเปรียบเสมือนผู้นำเผด็จการ ซึ่งหนึ่งในเครื่องมือที่พวกเขาใช้คือการชมและการว่า

– เด็กบางคนทำตัวไม่ดีเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ สิ่งที่ผู้ใหญ่ควรทำไม่ใช่การดุด่า แต่เป็นการสอนให้รู้ แล้วถ้าเป็นเด็กที่ตั้งใจทำตัวไม่ดีล่ะ? จริงๆ แล้วพวกเขามีเหตุผลเบื้องหลัง เราต้องเข้าใจ 5 ขั้นของพฤติกรรมก่อปัญหา แล้วจะเข้าใจว่าทำไมแอดเลอร์ไม่สนับสนุนให้ดุด่า

– ทั้ง 5 ขั้นนั้นจะเป็นเป้าหมายที่แตกต่างกันออกไป ควรแก้ไขให้เร็วที่สุดก่อนจะถลำลึก เริ่มต้นที่ขั้นแรกก็คือ “ต้องการการชื่นชม” พวกเขาจะทำตัวดี เพราะอยากได้รับสถานะพิเศษในสังคม หากไม่มีใครชื่นชมเขาเลย ก็จะไม่พอใจ สิ่งที่เราควรทำคือ สอนให้เขารู้ว่า ถึงจะไม่ได้เป็น “คนพิเศษ” แต่เขาก็ยังมีคุณค่าอยู่ดี ซึ่งทำได้โดยการ “เคารพ” ด้วยการหมั่นสังเกตพฤติกรรมของเขา และใส่ใจในสิ่งที่เขาใส่ใจ

เป้าหมายขั้นที่ 2 คือ “เรียกร้องความสนใจ” เป้าหมายนี้จะเกิดขึ้นเมื่อไม่สามารถบรรลุเป้าหมายข้อแรก นั่นก็คือไม่มีใครชื่นชมนั่นเอง หรือบางคนอาจจะไม่อยู่ในจุดที่ได้รับคำชมแน่ๆ ก็จะคิดว่า ไม่ต้องชมก็ได้ ขอแค่เป็นจุดเด่นก็พอ ต่อให้ต้องทำเรื่องแย่ๆ หรือโดนดุก็ตาม ดีกว่าโดนเพิกเฉย อย่างน้อยก็ถือว่าได้มีที่ทางในสังคมแล้ว เราสามารถรับมือกับพวกเขาได้ด้วยวิธีที่คล้ายๆ กับขั้นแรก คือต้อง “เคารพ” และบอกเขาว่าไม่จำเป็นต้องพยายามเป็นคนพิเศษ แค่เป็นอยู่ตอนนี้ก็มีคุณค่ามากพอแล้ว

– ตั้งแต่ขั้น 3 ขึ้นไปนี่จะรับมือยากแล้ว เป้าหมายขั้นที่ 3 คือ “ช่วงชิงอำนาจ” คนกลุ่มนี้จะไม่ฟังใคร ท้าทาย ต่อต้าน และพร้อมมีเรื่องตลอดเวลา ชอบโอ้อวดอำนาจและแสดงว่าตัวเองอยู่ในสถานะที่พิเศษกว่าคนทั่วไป ผู้ใหญ่มักจะดุด่า แต่หารู้ไม่ว่ากำลังเล่นไปตามเกมของอีกฝ่าย

เป้าหมายขั้นที่ 4 คือการ “แก้แค้น” เกิดจากการช่วงชิงอำนาจไม่สำเร็จ คนกลุ่มนี้จะถอยกลับมาตั้งหลักแล้ววางแผนแก้แค้น ในเมื่อไม่สามารถบรรลุเป้าหมาย 3 อันแรก ซึ่งแสดงออกถึงการต้องการความรักได้ พวกเขาก็จะเปลี่ยนไปต้องการการเกลียดชังแทน ประมาณว่า ในเมื่อไม่รักก็เกลียดกันไปเลย แต่อย่างน้อยขอให้อยู่ในสายตาของคนอื่น (ตัวอย่างเช่น สตอร์กเกอร์) นอกจากนี้ พฤติกรรมทำร้ายตัวเองก็เป็นอีกวิธีแก้แค้นเช่นกัน เป็นการประกาศว่า “ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะแก” สำหรับคนกลุ่มนี้ เราควรให้คนนอกที่ไม่เกี่ยวข้อง หรือผู้เชี่ยวชาญมาช่วย

เป้าหมายขั้นที่ 5 คือการ “แสดงให้เห็นว่าไร้ความสามารถ” ในเมื่อทำทุกอย่างแล้วไม่สำเร็จ ก็จะถอดใจ ทุกคนก็ยังคอยมาจ้ำจี้จ้ำไช วุ่นวายกับพฤติกรรม คาดหวังว่าพวกเขาจะเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ พวกเขาจะสิ้นหวังกับชีวิต เกลียดตัวเอง เลือกที่จะหนีปัญหาโดยการแสดงให้ทุกคนเห็นว่า “ฉันมันไร้ความสามารถ อย่าคาดหวังอะไรเลย” กลายเป็นว่าตอนนี้พวกเขาไม่พยายามทำอะไรแล้ว เพราะกลัวล้มเหลว สู้ตัดใจไปเลยว่า “ทำไม่ได้” ยังสบายกว่า จากนั้นไม่นานพวกเขาก็จะปักใจเชื่อว่าตัวเองโง่ขึ้นมาจริงๆ ถ้าเจอขั้นนี้ต้องปล่อยให้ผู้เชี่ยวชาญจัดการ ส่วนครูนั้นมีหน้าที่หลักคือยับยั้งไม่ให้เด็กถลำลึกเกินไปกว่าขั้นที่ 3

– การดุด่าหรือลงโทษนั้นใช้สอนไม่ได้ผลจริงหรอก เพราะถ้าได้ผลจริง คงไม่ต้องมีการใช้ซ้ำๆ การดุด่าว่ากล่าวคือการทำลายความ “เคารพ” ซึ่งกันและกัน ทำให้ความสัมพันธ์แย่ลง

– เป้าหมายสูงสุดของการสื่อสารคือการทำให้เกิดความเห็นพ้องต้องกัน ซึ่งต้องใช้เวลาและการลงทุนลงแรงไปกับมัน ท้ายที่สุดแล้วหากคนเราเบื่อที่จะพูดคุยต่อ ก็จะลงเอยด้วยการใช้ความรุนแรง ซึ่งเป็นการสื่อสารที่ใช้ต้นทุนต่ำมาก เป้าหมายคือเพื่อให้อีกฝ่ายยอมจำนน พฤติกรรมรุนแรงนั้นไม่ใช่แค่การทำร้ายทางร่างกาย แต่อากัปกิริยาก้าวร้าวหรือคำพูดดุด่าก็ถือว่ารุนแรงเช่นกัน

– หลายครั้งผู้ใหญ่มักจ้ำจี้จำไชเด็ก เพราะอยากควบคุมให้เด็กอยู่ภายใต้อำนาจตัวเอง ไม่อยากให้เด็กพึ่งพาตัวเองได้ อีกอย่างคือเนื่องจากกลัวว่าหากเด็กทำอะไรผิด ตัวเองจะต้องรับผิดชอบ หมายความว่าจริงๆ แล้วผู้ใหญ่ไม่ได้ห่วงเด็กหรอก ห่วงตัวเองต่างหาก ผู้ใหญ่ควรให้อิสระและปล่อยให้เด็กได้คิดและตัดสินใจเอง ทำหน้าที่สนับสนุนและคอยเฝ้าดูในระยะห่างที่ไม่ใกล้ไม่ไกลเกินไป ทำให้เด็กๆ รู้สึกว่าพึ่งพาตัวเองได้ ชีวิตเขา เขาเลือกได้

บทที่สาม: จากการแข่งขัน ไปสู่การร่วมมือ

– ในขณะที่การดุด่าไม่ควรถูกนำมาใช้ คำชมก็ไม่ควรถูกนำมาใช้เช่นกัน เพราะมันเป็นการประเมินคนที่ไร้ความสามารถโดยคนที่มีความสามารถ ซึ่งมีเป้าหมายคือเพื่อ “ควบคุม” คนอื่น

– เมื่อมีคนที่ปรารถนา “การชื่นชม” มาอยู่รวมกัน สังคมจะเกิด “การแข่งขัน” ตามมา เราจะมองว่าคนอื่นเป็นศัตรู ดังนั้น วิธีให้รางวัลและลงโทษเป็นสิ่งที่ห่างไกลจากความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด เพราะประชาธิปไตยคือสังคมที่ขับเคลื่อนบนพื้นฐานของ “การร่วมมือ” ไม่ใช่การแข่งขัน ทุกคนจะมองว่าคนอื่นๆ เป็นมิตร ไม่มีการแบ่งชนชั้น ไม่มีผู้แพ้ผู้ชนะ

– มนุษย์ทุกคนล้วนมีความรู้สึกต่ำต้อยในช่วงที่ยังเป็นเด็ก เนื่องด้วยร่างกายที่ไม่สมบูรณ์พร้อม พัฒนาไม่ทันจิตใจ ปัญหาคือผู้ใหญ่มักมองแค่รูปลักษณ์ภายนอก จึงปฏิบัติด้วยเหมือนเด็ก ไม่แปลกที่เด็กจะรู้สึกต่ำต้อย เพราะพวกเขาไม่ได้ถูกมองในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่เท่าเทียม

– แต่ความอ่อนแอของมนุษย์ก็มีข้อดี เพราะเป็นแรงผลักดันให้ประดิษฐ์คิดค้นสิ่งต่างๆ ได้ นอกจากนี้ เพราะอ่อนแอ มนุษย์จึงสร้างสังคมขึ้นมาเพื่อใช้ชีวิตอยู่บนความสัมพันธ์แบบร่วมมือกัน มนุษย์ไม่สามารถดำเนินชีวิตคนเดียวอย่างโดดเดี่ยวได้ ดังนั้น ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคม จึงถือเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ความเป็นมนุษย์

– โดยพื้นฐานแล้ว มนุษย์ต้องการ “ที่ทาง” ในสังคม เพราะความโดดเดี่ยวเปรียบเสมือนการตายทางสังคม วิธีการที่หลายคนสร้างที่ทางให้ตัวเองคือการพยายามทำตัวให้เป็นคนพิเศษ ให้คนอื่นยอมรับ ทั้งที่จริงๆ แล้วนั่นคือการพึ่งพาคนอื่น และจะใช้ชีวิตแบบที่ต้องเรียกร้องจากคนอื่น จะไม่มีวันมีความสุข หนทางแก้ไขคือเราต้องกล้าที่จะยอมรับความเป็นตัวของตัวเอง แม้จะไม่ใช่คนพิเศษเด่นดังก็ไม่เป็นไร แค่ยอมรับตัวเองในแบบที่เป็นและพอใจกับมัน เพราะมนุษย์ทุกคนย่อมมีความโดดเด่นแตกต่างกันไป

บทที่สี่: จงให้แล้วท่านจะได้รับ

– เพื่อให้ดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข มนุษย์ต้องบรรลุภารกิจของชีวิตทั้งสามอย่าง (การงาน สังคม และความรัก) ซึ่งล้วนแล้วแต่ข้องเกี่ยวกับความสัมพันธ์กับผู้คน จึงอาจเรียกอีกอย่างได้ว่า ความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน ความสัมพันธ์กับเพื่อนฝูง และความสัมพันธ์กับคนรัก ที่เน้นเรื่องความสัมพันธ์เพราะความสุขและความทุกข์ของมนุษย์ล้วนมาจากความสัมพันธ์กับคนอื่น

“ความเชื่อถือ” คือการเชื่ออย่างมีเงื่อนไข เช่น ธนาคารเชื่อว่าเราจะจ่ายหนี้ได้เมื่อดูจากสินทรัพย์ของเรา เขาเชื่อในสิ่งที่เรามี ไม่ได้เชื่อที่ตัวเรา ส่วน “ความเชื่อใจ” คือการเชื่ออย่างไร้เงื่อนไข” คือการเชื่อที่ตัวตนของคนคนนั้นจริงๆ ความเชื่อใจยังเป็นการ “เชื่อตัวเองที่เชื่อคนอื่น” ด้วย เพราะถ้าไม่มั่นใจในการตัดสินใจของตัวเอง เราก็ย่อมอยากได้หลักประกัน ดังนั้น เราจะเชื่อใจคนอื่นได้ก็ต่อเมื่อเราเชื่อใจตัวเอง

– ความสัมพันธ์ด้านการงานจะตั้งอยู่บนความเชื่อถือ ส่วนความสัมพันธ์ด้านสังคมจะตั้งอยู่บนความเชื่อใจ

– งานคือสิ่งที่ทำเพื่อความอยู่รอด การอยู่รวมกันเป็นกลุ่มทำให้มนุษย์รู้จักการแบ่งงานกันทำ หากเราไม่เชื่อถือคนอื่น ก็จะไม่สามารถร่วมมือกันได้ ภารกิจด้านการงานเป็นความสัมพันธ์แบบจำเป็นต้องร่วมมือกัน  ไม่ใช่ว่าร่วมมือกันเพราะชอบ

– ในสังคมที่แบ่งงานกันทำ แค่ทำสิ่งต่างๆ โดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนตนไปเรื่อยๆ สุดท้ายมันจะกลายเป็น “การช่วยเหลือคนอื่น” ไปเอง เพราะแต่ละคนก็เก่งแตกต่างกันไป และความเก่งนี้ก็จะช่วยเสริมงานของคนอื่นๆ ได้ ดังนั้น ทุกงานจึงมีคุณค่า เพราะต่างก็ส่งผลถึงกัน ไม่มีงานไหนด้อยกว่างานไหน

– คุณค่าของงานไม่ได้ถูกตัดสินที่ประเภทของงาน แต่ตัดสินกันที่ “ท่าทีที่มีต่องาน” เช่น ถ้าเราเป็นคนมุ่งมั่นตั้งใจ กระตือรือร้น งานนั้นก็จะมีคุณค่าขึ้นมาในสายตาของคนอื่นๆ

– ความสัมพันธ์ของครูกับนักเรียน ดูเผินๆ เหมือนจะเป็นความสัมพันธ์ด้านการงาน แต่จริงๆ แล้วมันคือความสัมพันธ์ด้านสังคม เพราะการสอนที่ดีนั้นต้องเริ่มต้นที่การเคารพและเชื่อใจอีกฝ่ายในตัวตนที่เขาเป็น

– ไม่สำคัญว่าเราจะได้หรือไม่ได้อะไรมาบ้าง ทุกอย่างขึ้นอยู่กับว่าเราจะใช้สิ่งที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์ได้อย่างไร ไม่ว่าอีกฝ่ายจะเป็นใคร เราก็สามารถเคารพและเชื่อเขาได้ มันเป็นการตัดสินใจของเราเอง

– ถ้ารักตัวเองไม่เป็นก็จะรักคนอื่นไม่เป็นด้วย และถ้าไม่สามารถเชื่อตัวเองได้ ก็จะไม่สามารถเชื่อคนอื่นได้เช่นกัน แน่นอนว่ามนุษย์ไม่สามารถเข้าใจกันได้ตลอดหรอก จึงต้องเชื่อใจกันเท่านั้น ทุกความสัมพันธ์จะต้องมีใครสักคนที่เริ่มก่อน คำแนะนำคือเราควรจะเป็นฝ่ายเริ่มก่อน ถึงแม้คนอื่นจะไม่มีท่าทีอยากร่วมมือด้วย นั่นก็ไม่ใช่ธุระของเรา อย่าไปกังวล

– การเชื่อคนอื่นอย่างไร้เงื่อนไขและการเคารพถือเป็นการ “ให้” รูปแบบหนึ่ง ปกติแล้วคนที่จะ “ให้” มักเป็นคนที่มีฐานะมั่งคั่ง ไม่อย่างนั้นคงไม่มีอะไรจะให้ หากมองในมุมนี้ เราต้องทำจิตใจให้มั่งคั่งก่อน แล้วนำความมั่งคั่งนี้ไปมอบให้คนอื่น เราไม่ต้องรอให้คนอื่นเป็นฝ่ายเคารพเราก่อน

บทที่ห้า: เลือกชีวิตที่มีความรัก

– โดยทั่วไปแล้วความรักที่คนเราพูดถึงมักมีแต่ “ความรักแบบเทพ” ที่เป็นอุดมคติ กับ “ความรักแบบสัตว์” ที่เกิดจากสัญชาตญาณ ไม่ค่อยมีการโฟกัสถึง “ความรักแบบมนุษย์” เลย

– เวลามีความรัก มนุษย์ไม่ได้อยู่ในสภาวะ “ตกหลุม” เพราะถ้านี่คือความรักจริงๆ ไม่ว่าใครก็ทำได้ ไม่มีค่าพอให้เป็นภารกิจของชีวิต สาเหตุที่ภารกิจด้านความรักทำได้ยากเพราะมันเป็นสิ่งที่ต้องทุ่มเทใจสร้างขึ้นมาจากศูนย์

– หลายครั้งที่มนุษย์เข้าใจว่า “ความอยากเอาชนะ อยากครอบครอง อยากเป็นเจ้าของ” คือความรัก แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่เลย เพราะเมื่อเราได้สิ่งนั้นมาแล้ว มีหลายครั้งที่เราทิ้งขว้างไม่ไยดี นี่ไม่ได้เรียกว่าความรัก ความรักที่แท้จริงคือการรับผิดชอบและดูแลความสัมพันธ์นั้นต่อไป ความรักแบบครองคู่คือ “การที่ทั้งสองคนต้องร่วมมือกันสร้างความสุขให้สำเร็จ”

– ความสุขของมนุษย์คือการ “รู้สึก” ว่าได้ช่วยเหลือคนอื่น คนเราจะเห็นว่าตัวเองมีคุณค่าก็ต่อเมื่อคิดว่า “ตัวเองมีประโยชน์กับใครสักคน” เน้นย้ำว่าเป็นความ “รู้สึก” ของเรา เพราะเราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าอีกฝ่ายยินดีจริงๆ หรือไม่ แต่แค่ความรู้สึกว่าได้ช่วยสำหรับเราก็เพียงพอแล้ว

– เวลาทำภารกิจด้านการงาน เราจะยึดความสุขของตัวเอง ซึ่งสุดท้ายมันจะนำไปสู่ความสุขของใครสักคนโดยอัตโนมัติ เวลาทำภารกิจด้านสังคม เราต้องยึดความสุขของคนอื่นหรือประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ ส่วนภารกิจด้านความรัก ต้องยึดหลัก “ความสุขของเราสองคน” ที่ไม่อาจแบ่งแยกจากกันได้ ถ้าให้จัดลำดับความสำคัญที่จะทำให้ชีวิตมนุษย์มีความสุขที่สุดก็คือ “เราสองคน” อยู่เหนือกว่า “ตัวเอง” และ “คนอื่น” ประธานของชีวิตจากที่เคยเป็น “ฉัน” จะเปลี่ยนมาเป็น “พวกเรา” แทน … “ฉัน” ควรจะหายไปเพื่อให้ชีวิตมีความสุข ความรักจะช่วยปลดปล่อยเราจาก “ตัวเราเอง” 

– ตอนเด็กๆ เราอาจจะเป็น “ศูนย์กลางของโลก” เพราะไม่ว่าใครก็ต้องดูแลเรา เนื่องจากเราอ่อนแอ แต่เมื่อเติบโต ทุกอย่างก็จะเปลี่ยนไป เราไม่สามารถเป็น “ศูนย์กลางของโลก” ตลอดไปได้ เราจึงต้องหัดเข้าใจโลก และตระหนักว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของโลก การพึ่งพาตัวเองได้คือการหลุดพ้นจากการยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง เราต้องหาทางหลุดพ้นจากไลฟ์สไตล์ของเด็กที่ถูกตามใจและได้ทุกอย่างที่ต้องการนั่นเอง

– ในตอนเด็กๆ นั้น เรามีชีวิตอยู่ได้ก็เพราะความรักของพ่อแม่ เมื่อเติบโตมาได้จนอายุประมาณ​ 10 ขวบ เราจะตัดสินใจเลือก “ไลฟ์สไตล์” ด้วยตัวเองในขณะที่ยังต้องพึ่งพาคนอื่นในการเอาชีวิตรอด นั่นหมายความว่า เป้าหมายสูงสุดจึงได้แก่ “ทำอย่างไรจึงจะเป็นที่รักของคนอื่น” เพื่อใช้เป็นกลยุทธ์ในการเอาชีวิตรอด เรียกได้ว่าเป็นไลฟ์สไตล์ของเด็ก

– คนเราจะเป็นผู้ใหญ่ได้ก็ด้วยการรักคนอื่น ความรักคือการพึ่งพาตัวเองได้ เพราะเหตุนี้การรักถึงได้เป็นเรื่องยาก

– ลูกคนโตมีแนวโน้มจะกลายเป็นคนที่ “โหยหาอดีต” และสร้างไลฟ์สไตล์แบบอนุรักษนิยมที่มองความเปลี่ยนแปลงหรือสิ่งใหม่ๆ ในแง่ลบ เนื่องจากลูกคนโตจะมีช่วงเวลาที่ได้ครอบครองความรักจากพ่อแม่เต็มๆ แต่แล้วเมื่อมีลูกคนรอง ความรักนั้นก็จะถูกแบ่งออกไป หากปรับตัวไม่ได้ ก็จะตั้งเป้าว่าต้องกลับไปครองอำนาจสูงสุดอีกครั้ง แต่ถ้าพ่อแม่สอนให้ลูกคนโตช่วยเลี้ยงดูลูกคนรอง ก็มีแนวโน้มว่าเขาจะเป็นผู้นำที่ดีในอนาคต และจะค้นพบความสุขจากการช่วยเหลือคนอื่น

– ส่วนลูกคนรองมีแนวโน้มจะเป็นนักปฏิวัติ เนื่องจากมีพี่เป็นแบบอย่างตั้งแต่เกิด อยากไล่ตาม อยากเป็นให้ได้แบบนั้นบ้าง หรือไม่ก็อยากเอาชนะ ลูกคนรองจะอยากล้มล้างกฎและธรรมเนียมที่บอกว่าเขาควรทำตัวอย่างไรในฐานะที่เป็นน้อง ในกรณีของลูกคนเดียวที่ไม่มีพี่น้องให้แข่ง เขาก็จะยึดพ่อหรือแม่เป็นคู่แข่งแทน

– ลึกๆ แล้วเรากลัวการรักใครสักคน เพราะการรักนั้นไม่มีหลักประกันใดๆ มันคือความรู้สึกที่ให้จากใจจริง ซึ่งขัดกับความเชื่อทั่วไปที่เราคิดว่าถ้าเรารักอีกฝ่ายมากๆ แล้วอีกฝ่ายต้องรักตอบ

– แอดเลอร์ไม่เชื่อเรื่องเนื้อคู่หรือโชคชะตา เขาบอกว่าเหตุผลที่คนเราเชื่อเรื่องเนื้อคู่ก็เพื่อตัดตัวเลือกอื่นออกไป เพราะจริงๆ แล้วเรามีโอกาสสร้างความสัมพันธ์กับทุกๆ คนที่อยู่ในชีวิตเรา เพียงแต่เราไม่กล้าพอ จึงตั้งความหวังว่าจะได้พบเนื้อคู่ที่เข้ากันได้กับตัวเองจริงๆ ซึ่งคือการตั้งความหวังไว้สูงๆ เพื่อจะได้ไม่ต้องสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่น นี่คือเหตุผลที่แท้จริงของคนที่ชอบบอกว่า “ไม่มีโอกาสได้เจอใคร”

– แอดเลอร์ยืนยันว่าเราสามารถ “รักใครก็ได้” ถ้าเราตัดสินใจจะทำอย่างนั้น เวลาที่คนเรารักกัน ก็มักจะคิดว่อีกฝ่ายคือเนื้อคู่ ซึ่งจริงๆ แล้วมันเป็นเพียงการตัดสินใจว่าจะ “เชื่อว่าเป็นพรหมลิขิต” เท่านั้นเอง จริงๆ แล้วการรักใครสักคนคือการตัดสินใจ การตกลงใจ และการให้คำสัญญา เพราะ “โชคชะตา” กำหนดได้ด้วยมือของเราเอง

– ภารกิจด้านความรักไม่ได้มีแต่เรื่องดีๆ เพราะมันมีความรับผิดชอบที่ใหญ่หลวงรออยู่ด้วย ถึงอย่างนั้นแล้วเรายังจะสามารถรักได้อยู่รึเปล่า บางคนบอกว่า “รักดอกไม้” แต่ก็ลืมรดน้ำ ไม่เปลี่ยนกระถางให้เหมาะสมกับขนาด ไม่ใส่ใจดูแลมัน ดอกไม้ก็จะเหี่ยวเฉา คนประเภทนี้ไม่ได้รักดอกไม้จริงๆ หรอก พวกเขาแค่ชอบมองดอกไม้เฉยๆ เพราะการรักอะไรสักอย่างหรือใครสักคนต้องมีความรับผิดชอบต่อภาระที่ตามมาด้วย ไม่ใช่แค่หวังดอกผลของมัน

– มีแต่การรักคนอื่นเท่านั้นที่จะช่วยให้เราหลุดพ้นจาก “ไลฟ์สไตล์ของเด็ก” เราจะกลายเป็นคนที่พึ่งพาตัวเองได้ และรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เมื่อเราเปลี่ยนประธานชีวิตจาก “ตัวเรา” เป็น “พวกเรา” ซึ่งไม่ได้จำกัดแค่ความรักแบบครองคู่เสมอไป ก็จะทำให้เราระลึกว่าแค่เรามีตัวตนอยู่ก็ถือเป็นการช่วยคนอื่นแล้ว

– คนเราพบเจอกันเพื่อลาจาก ดังนั้น เมื่อเราได้เจอใครสักคน เราต้องพยายามรักษาความสัมพันธ์ให้ดี เพื่อนำไปสู่ “การลาจากที่ดีที่สุด” เราจึงจะได้รู้สึกว่า “ดีใจจริงๆ ที่ได้เจอคนคนนี้และได้ใช้เวลาร่วมกัน” ดังนั้น จงรักคนอื่น จงพึ่งพาตัวเอง และจง “เลือกวิถีชีวิตของตัวเอง”

ความรู้สึกหลังอ่านจบ

ถ้าเล่มก่อนเปรียบเสมือนหนังสือเรียน “แอดเลอร์ขั้นพื้นฐาน” เล่มนี้ก็คงเป็น “แอดเลอร์ขั้นแอดวานซ์” พออ่านแล้วรู้สึกเลยว่าเล่มแรกกล่าวถึงแนวคิดของแอดเลอร์เพียงผิวเผินเท่านั้น ไม่ได้เจาะลึกลงมาละเอียดเหมือนเล่มนี้ ถึงอย่างนั้น เล่มแรกก็ทำได้ดีในฐานะหนังสือที่แนะนำให้เรารู้จักแนวคิดแบบแอดเลอร์ แต่เพราะมันไม่ได้เจาะประเด็นมาก จึงมีหลายๆ จุดที่เรายังไม่ซื้อไอเดีย เช่น การห้ามชม

มาเล่มนี้ ราวกับว่าคนเขียนเขารู้นะว่าเราข้องใจในประเด็นนี้ เลยถึงขั้นจัด 1 บทใหญ่ๆ ที่ถกเถียงกันถึงประเด็นนี้เลย ซึ่งพอมาอ่านเล่มนี้ก็ทำให้เข้าใจแนวคิดเบื้องหลังคำแนะนำที่ว่า “ห้ามชม ห้ามดุด่า” มากขึ้น เป็นสิ่งแปลกใหม่และน่าสนใจดี โดยเฉพาะ “5 ขั้นของพฤติกรรมก่อปัญหา” นี่ชอบมาก ไม่เคยรู้มาก่อน คิดว่าถ้าลองเอาทฤษฎีนี้ไปวิเคราะห์พฤติกรรมของคนอื่นหรือตัวละครก็น่าสนุกดี

เราเห็นด้วยกับหนังสือว่าการดุด่าหรือใช้ถ้อยคำรุนแรงนั้นไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้นมาเลย รังแต่จะทำให้ความสัมพันธ์พังเปล่าๆ แต่ที่คนยังทำอยู่ก็เพื่อตอบสนองเป้าหมายของตัวเองเท่านั้นแหละ ไม่ว่าจะเป็นการอยากระบายอารมณ์โกรธ การอยากควบคุมอีกฝ่าย การอยากให้อีกฝ่ายกลัว ฯลฯ พูดง่ายๆ ว่าทำเพื่อความสะใจส่วนตัวล้วนๆ ส่วนเหตุผลที่บอกว่าดุด่าเพราะรักและเป็นห่วงอีกฝ่าย อาจจะเป็นเพียงข้ออ้างให้ตัวเองดูดีเท่านั้น เพราะถ้าว่ากันตามตรง มันมีวิธีแสดงออกแบบอื่นอีกมากที่ไม่ทำร้ายอีกฝ่าย จะแนะนำ จะให้คำปรึกษา จะสอนแบบดีๆ ก็เลือกทำได้ แต่ไม่ทำ เพราะอะไร? เพราะมันกินแรง คนส่วนใหญ่มองว่าการดุด่าลงโทษเป็นหนทางที่ง่ายที่สุด ในการกำราบอีกฝ่ายให้เห็นพ้องกับตน หรือทำตามที่ตนต้องการ

ในฝั่งของคำชมนั้น เราว่าซับซ้อนกว่าคำดุด่ามาก เพราะในขณะที่หลายคนสามารถควบคุมอารมณ์โกรธได้ แต่ก็ยังมีหลายคนที่มักจะติดการชมกันจนชินปากโดยไม่คิดว่ามันส่งผลเสียอะไร เราเองก็เป็น หลังจากอ่านเล่มนี้จบเราก็ยังไม่หมดข้อกังขาในประเด็นนี้เท่าไร พอเข้าใจแค่ว่าถ้าเป็นคำชมเชิงอวยๆ หรือสรรเสริญเยินยอกันแบบเว่อร์ๆ ก็น่าเลิกทำอยู่ แต่ถ้าเป็นคำชมที่ชมกันตามเนื้อผ้าล่ะ แบบทำงานได้ดีก็บอกว่าดี อะไรแบบนี้ ถือว่าควรหรือไม่ควร? หรือบางคนที่พอได้รับคำชมแล้ว ก็มีเหมือนกันที่เขามีความสุข เขาพอใจ เขามีแรงทำนู่นทำนี่ต่อ แต่ไม่ได้คิดจะไปแข่งกับใคร แค่ฟินอยู่คนเดียว แบบนี้ถือว่าไม่ได้รับผลเชิงลบ หรือเปล่า? เราว่าประเด็นเรื่องการชมนี่นำมาถกกันต่อได้อีกยาวๆ (สำหรับเรานะ)

นอกจากนี้ เล่มสองยังเจาะลึกภารกิจทั้ง 3 ของชีวิตลึกลงไปอีก ทำให้เข้าใจกลไกเบื้องหลัง และความเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน เป็นหนังสืออีกเล่มที่ยืนยันว่า มนุษย์เป็นสัตว์สังคม และจะอยู่รอดก็ต่อเมื่ออยู่รวมกันเป็นกลุ่มเท่านั้น (ตรงกับที่ เซเปียนส์ บอกไว้) และในเมื่อเราต้องใช้ชีวิตในสังคมต่อไป ดังนั้นความสุขหลักๆ ของมนุษย์เราจึงขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์กับผู้อื่น แม้จะเป็นคนที่ชอบใช้ชีวิตอยู่คนเดียว เป็น introvert สุดๆ แบบเรา ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเราไม่ได้อยู่ “คนเดียว” ยังต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนอยู่ดี

หนังสือเล่มนี้สรุปได้ดีตรงที่ว่าการจะสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่นให้ดีได้นั้น เราต้องเป็นฝ่ายเริ่มก่อน ตรงกับวลี “ยิ่งให้ยิ่งได้” คืออย่ารอให้คนอื่นมาทำดีด้วย ตัวเองเริ่มก่อนเลย แล้วดอกผลของการทำดีนั้นจะย้อนคืนมาสู่เราเองไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง อย่างน้อย มันก็ทำให้รู้สึกว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ซึ่งก็จะช่วย fulfill จิตใจของเราให้มีความสุข

แน่นอนว่าถ้าทุกคนในสังคมเป็นแบบนี้ สังคมก็จะแข็งแกร่ง น่าอยู่ แต่น่าเสียดายที่ในโลกจริงนั้นไม่ใช่ยูโทเปีย เรายังต้องเจอคนอีกหลายประเภทที่อาจจะทำให้เรานอยด์ในหลายๆ เรื่อง มันเป็นอะไรที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้ว ในความคิดของเรา เรามองว่าเราก็คงต้องทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด อย่าไหลไปตามอารมณ์ของอีกฝ่าย และถ้าเป็นได้ ก็ช่วยเหลืออีกฝ่ายให้หลุดพ้นจากอะไรก็ตามที่กำลังกัดกินเขาอยู่ ซึ่งการจะทำแบบนั้นได้ เราก็ต้อง “รัก” เขาก่อน ยอมรับเลยว่าอ่านแล้วก็ยังรู้สึกว่ายากที่จะทำจริงๆ เพราะแบบนี้ละความรักถึงต้องใช้ความกล้า

โดยสรุปแล้ว กล้าที่จะถูกเกลียด 2 มีความซับซ้อนและเข้าใจยากกว่าเล่มแรก เพราะเจาะแนวคิดของแอดเลอร์ลึกขึ้นไปอีก ยอมรับว่าในบางประเด็นเราก็ยังไม่กระจ่างขนาดนั้น แต่โดยรวมก็ทำให้เข้าใจแนวคิดจากเล่ม 1 มากขึ้นแหละ ใครที่สนใจมุมมองใหม่ๆ ก็ลองหามาอ่านดูได้ แล้วเราจะได้มองโลกผ่านอีกเลนส์หนึ่งไปด้วยกัน

ป.ล.1 เพิ่งรู้ว่าหนังสือเล่มนี้มีชื่อภาษาญี่ปุ่นว่า Shiawase Ni Naru Yuki ซึ่งแปลว่า “กล้าที่จะมีความสุข” โอโห ถ้าไม่บอกนี่นึกว่าหนังสือคนละเล่ม ฟีลต่างกับชื่อเวอร์ชั่นภาษาไทยสุด ภาษาญี่ปุ่นความหมายดูฟรุ้งฟริ้งมาก อย่างว่าละนะถ้าไม่แรงคนไทยไม่สน คารวะ บ.ก. เลย ฮา

ป.ล. 2 อันที่จริง แอบรู้สึกว่า “กล้าที่จะถูกเกลียด” นี่เข้ากับเนื้อหาเล่ม 1 มากกว่าเล่ม 2 นะ เพราะในขณะที่เล่ม 1 จะเน้นสร้างอิสรภาพให้ตัวเองเป็นหลัก เล่ม 2 นี่จะเน้นการรักคนอื่นให้มากขึ้น เป็นส่วนหนึ่งของสังคมมากขึ้น อะไรประมาณนั้น

2 thoughts on “สรุปหนังสือ “กล้าที่จะถูกเกลียด 2”: จงพึ่งพาตัวเอง และเลือกวิถีชีวิตของตัวเอง

Add yours

  1. ขอบคุณบทความนี้ครับ สรุปในมุมคนอ่านอีกคน ผมอ่านอันนี้แล้วไปอ่านของเล่ม 1 ด้วย ดีทั้งคู่เลย ตอนอ่านเองความคิดมันกระจัดกระจายและรวบประเด็นแบบนี้ไม่ได้อะ

    Like

    1. ขอบคุณที่แวะเข้ามาอ่านกันนะคะ ดีใจที่ทำให้เข้าใจหนังสือได้มากขึ้นค่ะ

      Like

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

Blog at WordPress.com.

Up ↑

%d bloggers like this: