สารภาพเลยว่าเห็นความหนาของ “เซเปียนส์” ครั้งแรก ก็แอบกลืนน้ำลายเบาๆ เพราะคาดไว้ว่าต้องเป็นงานช้างแน่ สำหรับคนที่ไม่ค่อยถนัดอ่านหนังสือประวัติศาสตร์อย่างเรา หรืออันที่จริงคือมีความรู้ประวัติศาสตร์ประดับหัวไว้น้อยมาก
ก่อนอ่านก็เตรียมใจไว้แล้วแหละ ถ้าอ่านได้ 25% แล้วท้อก็ไม่ต้องเสียใจนะ วางไว้ก่อนแล้วค่อยมาต่อใหม่ หรือถ้าไม่ไหวจริงๆ ก็แค่เลิก ไม่ต้องทนอ่าน โอเคนะ
แต่เรื่องน่าประหลาดก็เกิดขึ้น เมื่ออ่านไปได้บทแรกก็รู้สึกว่าเฮ้ย สนุกว่ะ อยากอ่านต่อแล้ว จึงไปต่อกับบท 2 3 4 และเป็นเช่นนั้นเรื่อยมา
แน่นอนว่าตามประสาหนังสือประวัติศาสตร์ ย่อมมีบางจุดที่คนอ่อนประวัติศาสตร์อย่างเราอ่านแล้วมึน ตามไม่ทัน ไม่อิน แต่นั่นก็แค่ส่วนหนึ่ง หากมองภาพรวมแล้ว เรารู้สึกว่าเซเปียนส์เป็นหนังสือที่อ่านสนุกกว่าที่คิดเยอะมาก และที่สำคัญคือช่วยเปิดกะลาหัวได้อย่างดี ตอนนี้ชักอยากจะไปหาประวัติศาสตร์อ่านเพิ่มเติมเลยเว้ย
แต่ก่อนอื่น เราอยากมาสรุปเนื้อหาย่อๆ ของหนังสือเล่มนี้ที่เขียนโดย Yuval Noah Harari (แปลโดย ดร.นำชัย ชีววิวรรธ์) ไว้ก่อน เผื่อกลับมาอ่านเอง หรือ เผื่อใครสนใจดูเป็นแนวทาง เราจะสรุปไว้แบบเนื้อๆ เน้นๆ ให้อ่านง่ายๆ แต่ถ้ามีตรงไหนที่ผิดพลาดก็ต้องขออภัยด้วย สามารถทักมาบอกได้เลย
สำหรับเนื้อหาของหนังสือ จะแบ่งเป็น 4 ส่วนใหญ่ๆ ได้แก่
- การปฏิวัติการรับรู้
- การปฏิวัติเกษตรกรรม
- การรวมเป็นหนึ่งของมนุษยชาติ
- การปฏิวัติวิทยาศาสตร์
โดยส่วนตัวเราชอบส่วนแรกที่สุด เพราะมันห่างไกลจากจุด ณ ปัจจุบันที่สุด และเราก็ไม่เคยได้หาอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับมนุษย์ยุคโบราณอย่างจริงจัง เนื้อหาในส่วนนี้จึงน่าตื่นตาตื่นใจที่สุด
แต่ส่วนอื่นๆ ก็ไม่ใช่ว่าจะแย่ อันที่จริงทุกๆ ส่วนของหนังสือมีความเชื่อมโยงกันหมด ถ้ามองเป็นภาพใหญ่ก็จะเห็นเส้นสายระโยงระยางกันไปมา บางอย่างที่เราเห็นกันทุกวันแต่ไม่เคยนึกสงสัย หรือ บางอย่างที่เราไม่นึกว่ามันจะเชื่อมโยงกัน หนังสือเล่มนี้ก็จะชวนให้เราคิดวิเคราะห์ สนุกดีเหมือนกัน
งั้นมาเริ่มกันก่อนที่การปฏิวัติแรก
ปฏิวัติการรับรู้ (~70,000 ปีก่อน)
ภาพพิมพ์มือของมนุษย์ในถ้ำที่อาร์เจนตินา เมื่อ 9,000 ปีที่แล้ว (Source: World History Connected)
ทบทวนอีกทีว่ามนุษย์เราผ่านการปฏิวัติมาแล้วสามครั้งใหญ่ๆ
1. ปฏิวัติการรับรู้ เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 70,000 ปีที่แล้ว
2. ปฏิวัติเกษตรกรรม เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 12,000 ปีที่แล้ว
3. ปฏิวัติวิทยาศาสตร์ เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 500 ปีที่แล้ว
สามการปฏิวัตินี้เป็นส่วนสำคัญที่กำหนดเส้นทางประวัติศาสตร์ แต่เอาเข้าจริง มนุษย์เราอยู่มานานกว่าประวัติศาสตร์ที่ว่านี่อีก ไม่ใช่ว่ามาโผล่ตอนปฏิวัติครั้งแรก
แต่ถึงกระนั้น พวกเขาก็ไม่ได้สลักสำคัญอะไร เป็นเพียงวานรที่ไม่ได้ต่างอะไรไปจากสัตว์อื่นๆ
เล่ารวมๆ ก่อนว่าสิ่งมีชีวิตทั้งหมดในโลกนี้ สามารถแบ่งออกเป็นสปีชีส์ ซึ่งก็คือสัตว์ที่สามารถผสมพันธุ์กันแล้วให้กำเนิดทายาที่แข็งแรงได้ ตัวอย่างสปีชีส์ที่ต่างกันไปก็อย่างเช่น สิงโต เสือดาว เสือจากัวร์ จะทะลึ่งเอาสิงโตไปผสมกับเสือจากัวร์ก็ไม่ใช่เรื่อง
แต่ถึงแม้จะมีสปีชีส์ต่างกัน หากมีบรรพบุรุษร่วมกัน ก็จะถูกรวบให้อยู่ในสกุล (Genus) เดียวกัน เช่น สิงโต เสือดาว เสือจากัวร์ อยู่ในสกุลแพนเธอรา (Panthera)
นักชีววิทยาจะตั้งชื่อสิ่งมีชีวิตเป็นชื่อภาษาละติน แล้วแยกเป็น 2 ส่วนนี้ เช่น สิงโต ก็คือ Panthera Leo เผื่อใครเจอในวิกิพีเดียครั้งต่อไปจะได้ไม่งงว่าชื่อแปลกๆ นี่มายังไง
ส่วนมนุษย์เราที่เรียกกันว่า Homo Sapiens นั้น ก็ตามกฎที่กล่าวมาเลย นั่นก็คือ สกุลของเราคือ Homo ส่วนสปีชีส์คือ Sapiens
บรรพบุรุษของเราคือวานรยักษ์ นั่นหมายความว่าจริงๆ แล้วชิมแปนซี กอริลลา อุรังอุตัง ก็เป็นญาติเรา แต่ไม่ได้อยู่สกุลเดียวกันกับเรานะ
สัตว์อื่นเค้ามีหลายสปีชีส์ในสกุลเดียว แล้วเซเปียนส์ล่ะมีไหม?
มี!
นอกจากเซเปียนส์ (ซึ่งก็คือเราๆ ท่านๆ ในปัจจุบัน) จริงๆ แล้วสกุลโฮโม หรือ “มนุษย์” นั้น ยังมีอีกหลายสปีชีส์ ตัวอย่างเช่น นีแอนเดอร์ธัลล์ อีเร็กตัส เดนิสโซวา ฯลฯ แล้วแต่ถิ่นที่อยู่ที่ต่างกันไป
สิ่งหนึ่งที่เหล่ามนุษย์แต่ละสายพันธุ์มีเหมือนกันคือสมองที่ใหญ่โต
เนื่องจากสมองต้องการพลังงานถึง 25% ของพลังงานทั้งหมดในเวลาพัก ซึ่งเยอะมากเมื่อเทียบกับวานรอื่นๆ ที่ใช้พลังงานเพียง 8% ของพลังงานทั้งหมด มนุษย์จึงต้อง…
1. หาอาหารมาฟีดสมองให้มากขึ้น
2. ส่งพลังงานให้สมองแทนที่จะเป็นกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อฝ่อลง
อีกสิ่งที่มนุษย์แต่ละสปีชีส์เป็นเหมือนกันคือการยืนตัวตรง ไม่ได้ยืนด้วยสี่ขาเหมือนสัตว์อื่นๆ
ด้วยเหตุนี้ มนุษย์จึงสามารถใช้มือทำงานที่ละเอียดอ่อนได้ รังสรรค์เครื่องมือนู่นนี่นั่นที่บันดาลให้ชีวิตดีขึ้น
แต่การปรับเปลี่ยนเป็นยืนสองขาก็ทำให้กระทบกับโครงสร้างดั้งเดิมของมนุษย์ที่เอื้อต่อการเดิน 4 ขามากกว่า มนุษย์จึงต้องเผชิญกับอาการปวดหลัง ปวดคอ
ที่พีคคือเรื่องนี้ยังกระทบยาวไปถึงการให้กำเนิดลูก เพราะสะโพกกับช่องคลอดของผู้หญิงจะแคบลงเพื่อเดินสองขา หมายความว่าหากบุตรที่อยู่ในท้องโตเต็มวัย น่าจะเป็นเรื่องยากพอสมควรที่จะมุดลอดช่องคลอดออกมาได้
เพราะแบบนี้ การคัดสรรตามธรรมชาติจึงเลือกเอามนุษย์ที่คลอดก่อนกำหนดเอาไว้ เพราะหากปล่อยให้โตเต็มที่ชนิดที่ว่าคลอดปุ๊บวิ่งได้ปั๊บเนี่ย ไม่น่าจะรอดทั้งแม่ทั้งเด็ก
นั่นหมายความว่า ทารกที่เราเห็นๆ กันทุกวันนี้ ความจริงคือทารกก่อนกำหนดทั้งนั้น! เพียงแต่เราเห็นจนชินตา เป็นมาตรฐานของชีวิตกันไปแล้วว่าเด็กเกิดมาใหม่ต้องง่อยทำอะไรไม่เป็น ต้องใช้เวลานานกว่าสัตว์อื่นๆ ในการพัฒนาทักษะการเอาตัวรอด ไม่เหมือนทารกสัตว์อื่นๆ ที่หลังจากคลอดไม่นานก็วิ่งได้ หาอาหารเองได้
พอทารกมนุษย์ทำอะไรเองไม่ได้ ก็ต้องได้รับการสนับสนุนจากสังคม แม่ก็ต้องเลี้ยงดู ญาติก็มาช่วยเลี้ยง คนในสังคมก็มาช่วยเลี้ยง มาช่วยขับกล่อมขัดเกลา
นี่จึงเป็นที่มาของคำกล่าวที่ว่า “มนุษย์เป็นสัตว์สังคม”
ถึงอย่างนั้น มนุษย์ก็ยังไม่ใช่ท็อปออฟเดอะห่วงโซ่อาหาร จนกระทั่งเจอกับ…
…ไฟ!!…
มนุษย์ใช้ไฟเพื่อให้ความอบอุ่น ให้แสงสว่าง ใช้เป็นอาวุธขู่สัตว์ ซึ่งถือเป็นอาวุธที่ดีมากเพราะไฟไม่ขึ้นกับร่างกายมนุษย์เลย เพียงแค่เด็ก ผู้หญิง คนชรา ถือไฟไว้ในครอบครอง ก็จะมีอำนาจขึ้นมาทันที
ไฟทำให้การประกอบอาหารง่ายขึ้นเช่นกัน เพราะทำให้อาหารแข็งๆ ดิบๆ ทั้งหลายสุก เคี้ยวง่าย มนุษย์ไม่ต้องใช้เวลาเป็นชั่วโมงๆ ในการกินและย่อยอาหารอีกต่อไป กล่าวคือมนุษย์สามารถดูดซับพลังงานจากอาหารได้มากขึ้นเพื่อไปเลี้ยงสมอง สมองจึงใหญ่ขึ้น ในขณะที่ลำไส้หดสั้นลงเพราะไม่มีความจำเป็นต้องใช้งานมันหนักเท่าเมื่อก่อนอีกต่อไป
โอ้ เยี่ยมไปเลย อย่างนี้แสดงว่ามนุษย์ทุกสปีชีส์ก็น่าจะยังรอดหลงเหลืออยู่ใช่ไหม ถ้าพวกเขาแข็งแกร่งเหมือนโฮโมเซเปียนส์แบบนี้
เปล่า พวกเขาสูญพันธุ์กันไปหมดแล้ว
อ้าว ทำไมเป็นงั้น
สันนิษฐานกันว่าพวกโฮโมเซเปียนส์ที่ขยับขยายถิ่นฐานจากแอฟริกาที่เป็นแหล่งกำเนิด ไปยังถิ่นของสปีชีส์อื่นๆ นั้นอาจจะ…
1. ผสมข้ามสายพันธุ์ หากเป็นเช่นนี้แสดงว่าปัจจุบันอาจจะยังหลงเหลือมนุษย์ลูกเสี้ยวสปีชีส์อื่นอยู่บ้าง ซึ่งผลการทดลองก็บอกว่ามีอยู่จริง เช่น คนยุโรปมีดีเอ็นเอของนีแอนเดอร์ธัลล์อยู่ 1-4% ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่คอนเฟิร์ม 100% ว่าข้อสันนิษฐานนี้เป็นจริง
2. โฮโมเซเปียนส์ใช้สกิลหลายๆ อย่างที่เหนือกว่าสปีชีส์อื่น เพื่อแย่งชิงทรัพยากรไป
3. โฮโมเซเปียนส์เปิดฉากฆ่าแม่งให้หมด จบ
ไม่มีข้อสันนิษฐานข้อไหนได้รับการยืนยันว่าถูกต้อง 100% ผลลัพธ์จากการวิจัยยังค่อนข้างคลุมเครือ ส่วนกายวิภาคที่แตกต่างกันไปของเซเปียนส์แต่ละภูมิภาคในสมัยนี้นั้น อาจจะเป็นไปได้ว่ามีการผสมข้ามสายพันธุ์กันในอดีต หรือไม่ก็อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมเซเปียนส์ในแต่ละแห่ง เพื่อให้เข้ากับสภาพอากาศที่แตกต่างกันไป (<< อันนี้ไม่มีระบุในหนังสือนะ ไปอ่านเจอที่อื่นมา)
อีกข้อสันนิษฐานที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุดคือภาษาของเซเปียนส์ ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทำให้อยู่ยงคงกระพันมาถึงปัจจุบันได้
ภาษารูปแบบใหม่ของเซเปียนส์ ส่งผลให้เกิด “การปฏิวัติการรับรู้”
มันเกิดขึ้นได้ยังไง? ผู้เชี่ยวชาญบอกตรงๆ เลยว่า “ไม่รู้” ตอนนี้ได้แต่ตั้งข้อสรุปง่ายๆ ว่าคงเพราะพันธุกรรมของเราเปลี่ยน เนื่องจากระบบประสาทในสมองเปลี่ยนไปอย่าง “บังเอิญล้วนๆ”! โอ้ ส้มหล่นยิ่งนัก
ผลลัพธ์ก็คือ เซเปียนส์เราพัฒนาภาษาและการสื่อสารได้เหนือชั้นยิ่งกว่าสิ่งมีชีวิตอื่นๆ รวมถึงมนุษย์สปีชีส์อื่นด้วย
ภาษาของเซเปียนส์นั้นเจ๋งยังไงบ้าง?
1. มีความยืดหยุ่น อธิบายรายละเอียดได้ กล่าวคือ เราสามารถวางแผนและดำเนินการได้ซับซ้อนยิ่งขึ้น ไม่ใช่บอกทื่อๆ ว่าระวังสิงโต จบ แต่เราจะสามารถอธิบายได้ด้วยว่าสิงโตมันมาทำอะไร มันเคลื่อนไหวยังไง แล้วมันมุ่งหน้าไปทางไหน เล่าได้แบบมีดีเทลมาก
2. เอื้อต่อการซุบซิบนินทา ถ่ายทอดข้อมูลของคนในกลุ่ม คือจำได้ใช่ไหมว่าเซเปียนส์เป็นสัตว์สังคม ฉะนั้นการจะทำให้สังคมมันแน่นขึ้น แน่นอนว่าต้องมีเรื่องเม้าท์ภายในกลุ่ม ใครทำอะไรที่ไหนยังไง เป็นชู้กับใคร ใครตาย ใครนิสัยยังไง เรื่องเหล่านี้จะทำให้สังคมเหนียวแน่นขึ้น งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าตัวเลขจำนวนของคนในสังคมหนึ่งๆ ที่เหมาะสมคือ 150 คน หากมากกว่านี้ก็จะเริ่มกว้างเกินไปละ ไม่สามารถทำอะไรแบบเดิมๆ ได้ ซึ่ง 150 คนก็เป็นสมาชิกโดยประมาณของเซเปียนส์กลุ่มแรกๆ
3. สามารถถ่ายทอดจินตนาการและเรื่องราวที่ไม่มีจริง กล่าวคือ ล้วนเป็นสิ่งสมมติที่มนุษย์สร้างขึ้นทั้งนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ เช่น ความเชื่อทางศาสนา การมีอยู่ของบริษัท สิทธิมนุษยชน ตำนานพื้นบ้าน ฯลฯ เรื่องเหล่านี้แหละคือกุญแจสำคัญที่ทำให้คนแปลกหน้าหลายร้อยคน (มากกว่า 150 คน) ร่วมมือกันเพื่อสร้างพฤติกรรมทางสังคมใหม่ๆ ลองนึกภาพคนทั้งเมืองพร้อมใจกับมาสร้างศาสนสถานอะไรสักอย่างสิ ถ้าไม่มีศรัทธาอันแรงกล้า (หรืออย่างน้อย คนสั่งให้ทำก็ต้องมี และโน้มน้าวเก่งด้วย) คงไม่มีทางเกิดขึ้น
การปฏิวัติการรับรู้นี่สำคัญมาก เพราะมันเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเซเปียนส์ได้เร็ว โดยไม่ต้องรอพันธุกรรมหรือสภาพแวดล้อมเปลี่ยนเหมือนสัตว์อื่นๆ เลย เพียงแค่ทุกคนมีความเชื่อร่วมกัน ก็พร้อมลุกขึ้นมาทำอะไรใหม่ๆ แล้ว หรือหากมีการเปลี่ยนแปลงความเชื่อใดกะทันหัน ผู้คนก็จะเปลี่ยนพฤติกรรมไปตามนั้นเช่นกัน
ในช่วงปฏิวัติการรับรู้ โฮโมเซเปียนส์ยังถือว่าเป็น “นักล่า” อยู่ วันหนึ่งๆ พวกเขาต้องเข้าไปในป่าเพื่อหาอาหาร ซึ่งในวันๆ หนึ่งเขาก็ไม่รู้ว่าจะได้เจออะไร ทำให้ได้กินอาหารที่หลากหลายมากๆ ส่งผลให้สุขภาพแข็งแรง และเสี่ยงต่อการขาดอาหารน้อยกว่า นอกจากนั้นยังต้องรู้วิธีหาทางหนีทีไล่ เอาตัวรอดท่ามกลางสภาวะอันตรายอันคาดไม่ถึงด้วย เรียกได้ว่าต้องมีความรู้รอบตัวอย่างดี หากเทียบกันแบบรายบุคคลแล้ว เผลอๆ เหล่านักล่าในอดีตอาจจะเก่งและแกร่งกว่าเราปัจจุบันที่ไม่ได้มีชีวิตโลดโผนก็ได้
เมื่อเหล่าเซเปียนส์มีทักษะและเครื่องมือเพิ่ม พวกเขาก็เริ่มออกเดินทาง แต่ไม่ว่าพวกเขาจะเดินทางไปที่ไหน ก็ดูเหมือนว่าจะสร้างความวุ่นวายไปทั่ว สัตว์ท้องถิ่นเริ่มสูญพันธุ์ ธรรมชาติถูกทำลาย ทั้งนี้ก็เพื่อให้เซเปียนส์กลุ่มใหม่เข้าไปยึดครอง ดูเหมือนว่าเซเปียนส์จะแก้ตัวอะไรไม่ได้เลย เพราะไม่ว่าเอ็งไปที่ไหนที่นั่นก็ฉิบหายตลอด การที่เซเปียนส์มีอำนาจแบบนี้ก็เพราะ 1. สัตว์อื่นๆ ใช้เวลาในการให้กำเนินบุตรของตน ไม่สามารถแพร่พันธุ์ได้เร็ว จึงทำให้สูญพันธุ์ง่าย 2. เซเปียนส์สามารถใช้ไฟได้อย่างชำนาญ และ 3. เซเปียนส์เริ่มทำการบุกรุกในตอนที่เกิดการเปลี่ยนแปลงได้สภาพอากาศพอดี เลยยิ่งทำให้ผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมยิ่งโกโซบิ๊กไปกันใหญ่
ภาพสันนิษฐานของกราวนด์สลอธยักษ์ และตัวนิ่มยักษ์ ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว (Source: Science Photo Library)
ทว่านั่นไม่ใช่ตอนจบ การเปลี่ยนแปลงไม่ได้หยุดแค่นี้ เพราะการปฏิวัติครั้งต่อไปกำลังมา…
ปฏิวัติเกษตรกรรม (~12,000 ปีก่อน)
และแล้วเซเปียนส์ก็หาวิธีปลูกพืชผักได้จนได้…
การปลูกพืชผักพลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์ของเซเปียนส์อย่างที่เราคาดไม่ถึงเลย ชีวิตนักล่าของเซเปียนส์แทบจะพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ จากที่เคยวิ่งตะลอนหาของป่า ตอนนี้พวกเขาล้วนอยู่กับที่เพื่อปลูกพืชผักและเลี้ยงสัตว์
ทรัพยากรอาหารของเซเปียนส์เพิ่มจำนวนขึ้น ตามมาด้วยประชากรที่มากขึ้นเช่นกัน ประชากรอันล้นเหลือเหล่านี้ก็ต้องตบตีกันแย่งอาหาร มีแนวโน้มที่จะเกรี้ยวกราดใส่ชาวบ้านมากกว่าเดิม เพราะเริ่มมีการเป็นเจ้าข้าวเจ้าของที่ดิน ใครอย่าได้มาย่ำกรายเชียว
ทางด้านการเลี้ยงสัตว์ เซเปียนส์ก็มีวิธีรับมือกับความดุร้ายของมัน ด้วยการทารุณให้พวกสัตว์อ่อนแอลง ทำถึงกระทั่งตัดตอนอวัยวะบางอย่างเพื่อให้สัตว์ไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ด้วยตัวเองได้ ต้องพึ่งพามนุษย์ ถึงตอนนี้เซเปียนส์ได้เข้าไปรบกวนอิสรภาพและความเป็นอยู่ของสัตว์ร่วมโลกเข้าแล้ว
หากดูแบบกว้างๆ เราก็อาจจะนึกว่าการทำเกษตรกรรมนั้นทำให้ชีวิตมนุษย์ก้าวหน้าขึ้น แต่จริงๆ แล้วเป็นเช่นนั้นเหรอ? ผู้คนต้องตรากตรำปลูกพืชผักเลี้ยงสัตว์ทั้งวัน ส่งผลให้เป็นโรคภัยไข้เจ็บ แล้วถามว่าพวกเกษตรกรได้กินอาหารทั้งหมดนั่นไหม? ความน่าเจ็บใจคืออาหารส่วนใหญ่ถูกนำไปบำเรอชนชั้นสูงที่ร่ำรวย ไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์ กองทัพ หรือนักบวช อาหารที่หลงเหลือสำหรับเกษตรกรจริงๆ นั่นมีปริมาณแค่พอประทังชีวิตเท่านั้น สิ่งนี้เกิดขึ้นเพราะ…
ระเบียบแบบแผนตามจินตนาการ
ฟังชื่อแล้วดูสลับซับซ้อน แต่แท้จริงแล้วมันคือสิ่งที่เราพบเจอกันในปัจจุบันจนมองข้ามกันไปแล้ว ระเบียบแบบแผนตามจินตนาการนี้สร้างขึ้นเพื่อควบคุมชุมชนไม่ให้นอกลู่นอกทาง ตัวอย่างก็เช่น สิทธิมนุษยชน ศาสนา กฎหมาย การเมือง ตำนานพื้นบ้าน สอดคล้องกับความสามารถของเซเปียนส์ที่สามารถกุเรื่องแล้วเชื่อว่ามันเป็นเรื่องจริง สิ่งนี้นำไปสู่การร่วมมือกันของมนุษย์ แต่ขณะเดียวกันก็นำไปสู่การกดขี่
เราหนีจากระเบียบแบบแผนนี้ไปไม่ได้เลย เพราะมันฝังอยู่ในชีวิตประจำวันของเราทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะในสังคมที่ผู้คนพร้อมใจกันเชื่อในสิ่งนี้ (อัตวิสัยร่วม) คนที่ไม่เชื่อเพียงคนเดียวไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ ในขณะเดียวกัน ทุกคนพร้อมใจจะเชื่อก็เพราะรู้ว่าคนอื่นๆ ก็เชื่อเช่นกัน เราเชื่อว่าเงินมีค่าก็เพราะเห็นว่าคนอื่นๆ ก็เชื่อแบบนี้
ยิ่งมีระเบียบแบบแผนทางจินตนาการมากขึ้นเท่าไร และยิ่งแบบแผนนี้เปลี่ยนแปลงไปมากเท่าไร ข้อมูลก็ยิ่งล้นมากขึ้นเท่านั้น ลำพังสมองมนุษย์ไม่สามารถจำได้ทั้งหมดหรอก ดังนั้นจึงเกิดการ “เขียน” เป็นอักขระขึ้นมาเพื่อบันทึกข้อมูลเหล่านั้น
ภาษาของชาวซูเมอเรียน ซึ่งเป็นคนกลุ่มแรกที่เริ่มการขีดเขียนโดยใช้ดินเหนียวบันทึกไว้ (Source: Fun with CY)
อักขระถูกแบบเป็น 2 ประเภท คือ
1. อักขระแบบไม่สมบูรณ์ เป็นภาษาที่อธิบายแค่บางสิ่งเฉพาะเจาะจง เช่น ภาษาคณิตศาสตร์ ภาษาดนตรี ระบบภาษี (สมัยนี้ก็ต้องเติมภาษา Python, R ฯลฯ เข้าไปด้วยสินะ)
2. อักขระแบบสมบูรณ์ เป็นภาษาที่สามารถอธิบายความคิดของมนุษย์ได้ เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย ภาษาที่ใช้สื่อสารทั่วๆ ไป หรือบทกวี
ระเบียบแบบแผนตามจินตนาการนี้แบ่งลำดับของผู้คน ไม่ว่าจะด้วยชนชั้นวรรณะ สีผิว เชื้อชาติ เพศ ทั้งหมดเกิดขึ้นมาจากความเชื่อของคนกลุ่มหนึ่งทั้งสิ้น แถมระเบียบแบบแผนนี้ยังก่อให้เกิดวงจรอุบาทว์จำพวกเกิดความบังเอิญในประวัติศาสตร์ขึ้น ทำให้คนขาวคุมคนผิวสี กฏหมายลำเอียง ทำให้คนผิวสีไม่ได้รับโอกาสพัฒนาตัวเอง ทำให้โดนมองไม่ดีและโดนเหยียด ส่งผลทำให้กฏหมายไม่เอื้อ ทำให้ถูกเหยียดอีก วนไปวนมาแบบนี้ไม่จบสิ้น ถึงได้บอกไงว่ามันสร้างการกดขี่
สถานะทางเพศก็เช่นกัน จริงๆ แล้วทางชีววิทยา โครงสร้างของชายหญิงนั้นเหมือนเดิมตลอดมาตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน ที่เปลี่ยนไปก็มีแค่มุมมองผ่านวัฒนธรรมที่แตกต่างกันไป แต่ส่วนใหญ่แล้วก็หนีไม่พ้น “ชายเป็นใหญ่”
การรวมเป็นหนึ่งของมนุษยชาติ
ส่วนใหญ่แล้ว ระเบียบแบบแผนทางจินตนาการที่เรียกว่า “วัฒนธรรม” ต่างๆ นั้นก็ได้รับมาจากวัฒนธรรมบ้านใกล้เรือนเคียงอื่นๆ อีกที ปัจจุบันนี้ไม่น่าจะเหลือวัฒนธรรมดั้งเดิมที่เป็นตัวของตัวเองแล้ว แม้กระทั่งวัฒนธรรมไทย ก็ได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมอื่นๆ อย่างอินเดีย จีน ขอม เช่นกัน
ถึงอย่างนั้น เราก็มีวัฒนธรรมหลักๆ 3 อย่าง ที่ใช้กันทั่วโลก
1. เศรษฐกิจ ระบบการเงิน
2. การเมือง จักรวรรดิ
3. ศาสนา
วัฒนธรรมที่ 1: การเกิดขึ้นของระบบการเงิน
เงินเป็นความเชื่อที่ครอบคลุมโลกนี้มากที่สุด เพราะสามารถใช้แลกเปลี่ยนได้ไม่ว่าจะเป็นที่ไหน คุณสมบัติหลักๆ ของเงินนั้นถูกกำหนดว่าจะต้องเป็นสิ่งที่แลกเปลี่ยนได้ พกพาได้ และเก็บความมั่งคั่งได้ ช่วงแรกๆ มนุษย์คิดค้นเงินเพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสิ่งของ วัตถุที่ใช้แทนเงินก็ยังเป็นสิ่งที่มีคุณค่าในตัวเองแหละ เช่น ข้าวบาร์เล่ย์ ที่สามารถเอาไปกินได้ แต่สุดท้ายเงินก็เปลี่ยนไปใช้วัตถุที่ไม่ได้มีค่าในตัวมันเอง อย่าง เงินเชเคล ซึ่งภายหลังก็พัฒนามาเป็นเหรียญเงิน ที่มีการตราว่าน้ำหนัก (หรือมูลค่า) ของมันคือเท่าไร และมีการการันตีโดยผู้ออกเหรียญ อย่างตอนนั้นก็จะเป็นกษัตริย์ สองสิ่งนี้ทำให้เหรียญเงินมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น
หนึ่งในเหรียญที่เก่าแก่ที่สุด อายุราว 7 ศตวรรษก่อนคริสตกาล ค้นพบที่ลีเดีย (Source: Ancient Gold Coins)
วัฒนธรรมที่ 2: การเกิดขึ้นของจักรวรรดิ
คำจำกัดความของจักรวรรดิคือการเชื่อมโยงกลุ่มคนมากมายแต่ละกลุ่มเข้าด้วยกัน และต้องมีพื้นที่ที่ยืดหยุ่นต่อการขยับขยาย การเกิดขึ้นของจักรวรรดินี่แหละที่ทำให้ความหลากหลายในผู้คนนั้นมีลดลง เพราะเมื่อถูกกลืนเข้าไปอยู่ในจักรวรรดิอะไร วัฒนธรรมที่แตกต่างกันก็ย่อมปนเปกันไป คงยากที่จะหาวัฒนธรรมดั้งเดิมสุดๆ เพราะวัฒนธรรมก็จะเปลี่ยนไปตามการผันเปลี่ยนของจักรวรรดิ ช่วงแรกๆ ของการขยายจักรวรรดิอาจจะเริ่มด้วยความรุนแรงโหดร้ายอยู่บ้าง แล้วแต่กรณี แต่เมื่อควบรวมกันได้แล้ว ความมีเมตตาอารีของจักรพรรดิ์นี่แหละที่จะช่วยให้จักรวรรดิคงอยู่ต่อไปได้อย่างยั่งยืน ภายหลังเมื่อสิ้นสุดยุคล่าอาณานิคม บางประเทศก็ได้ผลดีจากการตกอยู่ภายใต้อำนาจของจักรวรรดิ เช่น อินเดียมีระบบคมนาคมที่ดีและมีทักษะการใช้ภาษาอังกฤษ
สถานีรถไฟ Chhatrapati Shivaji ในมุมไบ สร้างโดยอังกฤษ (Source: Zeenews)
วัฒนธรรมที่ 3: การเกิดขึ้นของศาสนา
อะไรถือเป็นศาสนา? ศาสนาถูกนิยามว่าต้องนำมาซึ่งมาตรฐานศีลธรรมและความประพฤติของมนุษย์ กับ ต้องมีระเบียบแบบแผนของอภิมนุษย์ การที่จะทำให้ศาสนาแพร่หลาย ศาสนานั้นจะต้อง “เป็นจริง” ในทุกๆ ที่ และต้องมีความต้องการที่จะถูกเผยแพร่ ช่วงแรกๆ นั้นผู้คนนิยมการนับถือเทพเจ้าท้องถิ่น ต่อมาก็เป็นการบูชาเทพเจ้าหลายองค์เพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ ต่อมาก็กลายเป็นการบูชาเทพเจ้าองค์เดียวที่ควบคุมทุกอย่าง ลอยเหนือกิจของมนุษย์ทั้งปวง ซึ่งภายหลังก็มีการไปปนๆ กับการบูชาเทพเจ้าหลายองค์ นอกจากนั้นก็ยังมีศาสนาที่แบ่งแยกขั้วอำนาจเป็นสองด้าน คือด้านดีกับด้านชั่ว ความเชื่อนี้เอื้อต่อการบูชาเทพเจ้าองค์เดียว เพราะช่วยอธิบายได้ว่าเหตุที่มีความชั่วร้ายเกิดขึ้นในโลกก็เพราะมีด้านชั่วที่เทพเจ้าไม่สามารถควบคุมได้
นอกเหนือไปจากการบูชาเทพเจ้าแล้ว รู้ไหมว่าศาสนาก็สามารถใช้เรียกการบูชามนุษย์ด้วยกันได้?
เราอาจจะช็อกเมื่อรู้ว่าลัทธิต่างๆ อย่างเสรีนิยม สังคมนิยม และนาซี ก็ถือเป็นศาสนาเช่นกัน ทั้งสามศาสนานี้เชื่อในคุณภาพที่ดีที่สุดของมนุษย์ สิ่งที่ต่างกันออกไปก็คือลัทธิเสรีนิยมจะให้คุณค่ากับการเป็นตัวของตัวเอง และอิสรภาพส่วนบุคคล ในขณะที่สังคมนิยมจะเน้นภาพใหญ่ อยู่รอดไปด้วยกัน ส่วนลัทธิวิวัฒนาการนิยมของนาซีนั้นเชื่อว่ามนุษย์สามารถวิวัฒน์ให้ดีขึ้นหรือแย่ลงก็ได้ พันธกิจของนาซีคือต้องปกป้องมนุษยชาติไม่ให้ถอยหลัง ด้วยเหตุนี้นาซีจึงต่อต้านยิว เพราะเชื่อว่ายิวคือชนชั้นด้อยกว่าที่จะฉุดรั้งการพัฒนาของมนุษยชาติ
เอาละ คราวนี้โลกก็เป็นปึกแผ่นเดียวกันแล้ว ยังมีอะไรที่จะเปลี่ยนไปได้มากกว่านี้อีก อ้อ มีสิ…
การปฏิวัติวิทยาศาสตร์ (~500 ปีก่อน)
สิ่งที่อธิบายการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ได้ดีที่สุด คือเหตุการณ์เปลี่ยนโลกอย่างการขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์ของนีล อาร์มสตรอง และ การระเบิดของระเบิดอะตอมลูกแรก
ระเบิดอะตอมลูกแรก ณ วันที่ 16 ก.ค. 1945 (Source: Encyclopaedia Britannica)
ทำไมวิทยาศาสตร์ถึงมาได้ไกลขนาดนี้? นั่นเพราะมีความแตกต่างระหว่างธรรมเนียมความรู้เดิมๆ กับธรรมเนียมความรู้แบบใหม่ แบบเดิมนั้นผู้คนมักจะไม่รู้ว่าตัวเองไม่รู้อะไร สิ่งที่คนไม่พูดถึงก็คงจะเป็นสิ่งไม่สำคัญสินะ ด้วยเหตุนี้ธรรมเนียมความรู้เก่าๆ จึงไม่กระตุ้นให้คนศึกษาค้นหาอะไรเพิ่มเติม ต่างกับธรรมเนียมความรู้ใหม่ที่ 1. ยอมรับในความไม่รู้ 2. อ้างอิงการใช้งานคณิตศาสตร์ในการอธิบายทุกสิ่งอย่าง และ 3. ได้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ทั้งหมดนี้ดลบันดาลให้มนุษยชาติค้นเจออะไรใหม่ๆ มากมาย
อันที่จริงแล้ว วิทยาศาสตร์กับเทคโนโลยีไม่เคยมาบรรจบกันเลยในช่วงระยะเวลาก่อนปี ค.ศ. 1500 ผู้คนใช้วิทยาศาสตร์ในการควบคุมประสิทธิภาพการทำงานไม่ให้หย่อนคล้อย ไม่ได้คิดว่าจะนำไปพัฒนาอะไรให้ดีขึ้น ส่วนเทคโนโลยีนั้นเกิดขึ้นเพราะความผิดพลาดซะมากกว่า
วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมารวมตัวกันได้ก็เมื่อระบบทุนนิยมกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมโคจรมาเผชิญกัน
วงจรใหม่เกิดขึ้นโดยมี 3 ปัจจัยหลักๆ คือการวิจัย ทุนทรัพย์ และอำนาจ
เหตุการณ์จะเป็นแบบนี้ คือ นักวิทยาศาสตร์ต้องการเงินเพื่อมาทำวิจัย แน่นอนว่าผลลัพธ์ของงานวิจัยนี้จะต้องนำมาซึ่งอำนาจให้ใครก็ตามที่ถือทุนทรัพย์อยู่ เขาผู้นั้นถึงจะยอมมอบทุนทรัพย์ให้ไปทำวิจัย
นั่นหมายความว่างานวิจัยนั้นไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองจุดมุ่งหมายด้านวิทยาศาสตร์หรอก แต่เป็นการตอบสนองการใฝ่หาอำนาจต่างหาก และงานวิจัยวิทยาศาสตร์จะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อร่วมมือกับความเชื่อด้านการเมือง เศรษฐกิจ หรือศาสนาเท่านั้น
วิทยาศาสตร์และจักรวรรดิยังเข้าขากันได้ดีมาก
ชาวยุโรปถือเป็นชนชาติที่เก่งในการสร้างอำนาจและขยายอาณาจักรมาก นั่นเพราะพวกเขามีความทะเยอทะยานแล้วโหยหาผืนแผ่นดินใหม่ๆ ตลอดเวลา พวกเขาเดินทางไปยังที่ต่างๆ ไปศึกษาตามพื้นที่นั้นๆ ก็ด้วยจุดประสงค์ที่จะครอบครอง หาความรู้ไปเรื่อยๆ พร้อมกับเดินทางไปเรื่อยๆ
การขยายอาณาจักรไปยังดินแดนอันไกลโพ้นนั้นถือว่าเป็นเรื่องไม่ปกติของมนุษย์ โดยส่วนใหญ่แล้วเรามักจะขยายอาณาจักรไปยังอาณาเขตใกล้ๆ กันมากกว่า นี่เป็นผลมาจากการนำวิทยาศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย นักวิทยาศาสตร์มักจะตามติดนักล่าอาณานิคมเพื่อไปศึกษาศาสตร์ต่างๆ ของถิ่นนั้นๆ
การผจญภัยและการวิจัยใหม่ๆ จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าเราไม่มี “เศรษฐกิจยุคใหม่”
เศรษฐกิจยุคใหม่คือการเข้ามามีบทบาทของ “เครดิต” มากขึ้น ผู้คนสามารถขอยืมเงินล่วงหน้าเพื่อไปทำการอะไรบางอย่าง แล้วจะเอาเงินกลับมาคืนพร้อมดอกเบี้ยหรือกำไร แน่นอนว่าหากเป็นเศรษฐกิจยุคเก่านั้น ไม่มีทางที่เราจะให้เงินใครง่ายๆ แน่แม้ว่าเขาคนนั้นจะมีแผนการดีเพียงไร เพราะเราไม่ได้คาดหวังว่าจะมีอะไรดีขึ้น ต่างกับเศรษฐกิจยุคใหม่ที่ผู้คนมีความคาดหวังแง่ดีต่ออนาคต จึงยอมที่จะให้คนอื่นมายืมเงินแล้วเอาไปลงทุนในอะไรสักอย่าง สิ่งนี้สำคัญมากเพราะก่อให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ หากขาดเครดิตไปแล้ว เศรษฐกิจจะไม่มีทางโตเลย เพราะไม่มีใครลงทุนทำอะไรใหม่ๆ
ที่เป็นแบบนี้ เพราะเศรษฐกิจยุคใหม่ในมุมมองของอดัม สมิธ เชื่อว่าบริษัทจะนำผลกำไรกลับไปผลิตสินค้าบริการเพิ่ม เพื่อเติบโตยิ่งขึ้นไปอีก ต่างกับเศรษฐกิจยุคเก่าที่ผู้คนเชื่อว่าพอได้กำไรก็จบ เอากำไรไปซื้อของ จัดงานเลี้ยง สร้างวัง ไม่ได้เอากลับมาลงทุนต่อ เพราะฉะนั้นเลยไม่มีการลงทุนเพิ่ม
ด้วยเหตุนี้ ในประวัติศาสตร์จึงมีเหตุการณ์ที่ว่าเหล่าพ่อค้าคือผู้ชนะในการครอบครองแผ่นดิน เพราะสามารถนำเงินที่ได้มาไปลงทุนทำกำไรต่อ ต่างจากพวกกษัตริย์ที่พอได้เงินมาก็เอาไปทำสงคราม ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้นเลย
ถึงอย่างนั้น ใช่ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจจะดีเสมอไป ลัทธิทุนนิยมที่มากเกินไปนี้ส่งผลกระทบด้านร้ายต่อผู้คนมากมาย ก่อให้เกิดแรงงานทาส การตายจากการขาดแคลนอาหาร ผู้คนล้มละลายและฆ่าตัวตายจากเหตุการณ์ฟองสบู่แตก
หากอยากหลีกหนีให้พ้นทุนนิยมที่มีการเมืองมาเกี่ยวข้อง เศรษฐศาสตร์มองว่าตลาดเสรี (Free Market) เป็นทางเลือกที่ดี ปล่อยให้กลไกอุปสงค์อุปทานทำงานไปโดยไม่ต้องให้รัฐบาลเข้ามายุ่งเกี่ยว ก็จะได้ตลาดที่เป็นธรรม ไม่มีการบิดเบือนสภาพตลาดเพื่อเรียกคะแนนเสียง สะท้อนสภาวะที่แท้จริง แต่อันที่จริงแล้วโลกไม่ง่ายเสมอไป เพราะหากตลาดเปิดเสรีเกินไป อาจจะมีการเอารัดเอาเปรียบจากผู้ค้า เช่น ผู้ค้าที่คิดจะต้มตุ๋นผู้บริโภค เพราะฉะนั้นด้วยเหตุนี้เราจึงยังต้องมีรัฐบาลเข้ามาควบคุมด้วยการออกกฎ ไม่ให้ผู้ค้าทำตัวสุดโต่งเกินไป
การปฏิวัติอุตสาหกรรม
การผลิตต่างๆ ต้องใช้พลังงานกันทั้งนั้น แรกเริ่มเดิมทีมนุษย์ก็มีแค่สองมือสองเท้านี่แหละที่ใช้ทำงาน อะแถมพลังงานจากแสงอาทิตย์และพืชผักเข้าให้ด้วย แต่นั่นก็ยังถือว่าน้อยมากๆ ที่จะทำการใหญ่ ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเกิดขึ้นเมื่อมีการคิดค้นเครื่องจักรไอน้ำขึ้นมาใช้ในการผลิต การขนส่ง และการค้นหาแร่ธาตุใหม่ๆ เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมขึ้น เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ถูกคิดค้นเพื่อทุ่นแรง แถมยังทำให้ผลผลิตมีมากขึ้นอีกด้วย ผลผลิตก็มีเพียงพอต่อปากท้องของคนทำงานในอุตสาหกรรม
สัตว์มากมายถูกปฏิบัติราวกับเป็นส่วนหนึ่งของสายพานการผลิต พวกมันถูกทารุณอย่างแสนสาหัส ในขณะเดียวกันผลผลิตก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ จนล้น แน่นอนว่าหากมีแต่ผลผลิตอย่างเดียว เศรษฐกิจก็คงไม่โต บริษัทก็คงเจ๊ง ฉะนั้นจะต้องมีคนซื้อของเหล่านี้ด้วย จึงก่อให้เกิดลัทธิบริโภคนิยมขึ้นมา เพื่อกระตุ้นให้ผู้คนจับจ่ายใช้สอยเกินความจำเป็น ผ่านการโฆษณาชวนเชื่อต่างๆ
การปฏิวัติอุตสาหกรรมได้เปลี่ยนโลกนี้ไปหลายอย่าง เช่น
1. เราเคารพเวลามากขึ้น แต่ก่อนนั้นเราพึ่งพาสภาวะอากาศในการปลูกผักและเก็บเกี่ยว แต่เมื่อมีโรงงานเกิดขึ้น ชาวโรงงานก็ต้องเข้าออกตามเวลา มีชั่วโมงการทำงานที่แน่นอน สิ่งนี้ส่งผลให้เหล่าระบบคมนาคมอย่างรถไฟต้องมีเที่ยวรถที่ชัดเจนเพื่อเอื้อต่อการใช้งานของผู้คน ช่วงแรกๆ ที่อังกฤษมีปัญหาคือแต่ละเมืองมีเวลาไม่ตรงกัน ทำให้เวลาเดินทางนั้นผิดพลาดบ้างอะไรบ้าง ดังนั้นอังกฤษเลยตั้งให้ทั่วทั้งประเทศใช้เวลากรีนิช (Greenwich) เป็นบรรทัดฐานซะเลย
2. เราใกล้ชิดกับครอบครัวและชุมชนท้องถิ่นน้อยลง แต่ใกล้ชิดกับรัฐชาติและตลาดมากขึ้น ในอดีตนั้นครอบครัวและชุมชมรอบๆ ตัวเราจะเป็นคนสรรหาทุกอย่างมาให้เรา ไม่ว่าจะเป็นงาน คู่ครอง อาหาร ยารักษาโรค ความช่วยเหลือต่างๆ แต่ตอนนี้รัฐชาติกับตลาดมอบสิ่งเหล่านี้ให้กับเราแทนแล้ว เช่น หากป่วยเราก็มีประกันสังคม มีสวัสดิการ หากเราอยากได้อะไร เราก็แค่ใช้เงินซื้อ ถ้ามีเงินซะอย่าง ตลาดก็จะรับประกันได้ว่าเราไม่ขาดสิ่งเหล่านั้นแน่นอน สิ่งเหล่านี้ทำให้ปัจเจกชนเข้มแข็งขึ้น ความสำคัญที่มากขึ้นของรัฐชาติและตลาดยังก่อให้เกิดชุมชนทางจินตนาการอย่าง “ประเทศ” และ “กลุ่มผู้บริโภค” อีกด้วย
3. เราพบเจอความรุนแรงและสงครามน้อยลง นี่ถือเป็นเรื่องดีอย่างหนึ่ง เพราะในอดีตเนี่ยความรุนแรงส่วนใหญ่จะเป็นขนาดเล็ก คืออยู่ในแวดวงครอบครัว ชุมชนท้องถิ่น อารมณ์แบบบ้านนี้ไม่ถูกกับบ้านนั้น ถิ่นนี้จองเวรถิ่นนั้น ฆ่ากันเป็นเรื่องปกติ แต่พอรัฐบาลเข้ามามีอำนาจก็จัดการควบคุมความรุนแรงท้องถิ่นไม่ให้เกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นน้อยลง
ส่วนสงครามระหว่างประเทศก็มีน้อยลงแล้ว เพราะ…
3.1 ต้นทุนการทำสงครามสูงขึ้น ตั้งแต่มีการคิดค้นระเบิดอะตอม ก็มีเพียงประเทศใหญ่ๆ เท่านั้นแหละที่จะสะสมสิ่งเหล่านี้ การที่รู้ว่าประเทศใหญ่ๆ มีระเบิดปรมาณูอยู่นะ ทำให้ประเทศเล็กๆ ไม่กล้าก่อประกายไฟอะไร เดี๋ยวจะแจ็กพ็อต ฉะนั้นเรามารักษาสันติภาพกันเถอะ
3.2 กำไรของการทำสงครามนั้นน้อยลง เมื่อก่อนนั้นของมีค่าทั้งหลายต่างอยู่ในรูปแบบรูปธรรม เช่น ทองคำ เงิน ทรัพยากรอาหาร เมืองไหนรวยๆ หน่อยก็เป็นที่หมายตาของโจร แต่ปัจจุบันนี้ทรัพย์สินส่วนใหญ่มาจากโครงสร้างทางสังคม ความรู้ความชำนาญ และมันสมองความคิดของคน เช่น ผู้คนที่ทำงานอยู่ในซิลิคอน วัลเล่ย์ ต่างก็เป็นเรี่ยวแรงสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจอเมริกาเติบโต แน่นอนว่าการลักพาตัวคนนั้นน่าจะยากกว่าการไปขโมยของ
3.3 สันติภาพต่างหากที่ก่อให้เกิดผลกำไร เพราะหากประเทศต่างๆ เป็นมิตรกัน พวกเขาก็จะทำการค้าขายกัน ต่างฝ่ายต่างวินๆ
3.4 พวกผู้นำต่างมีมุมมองต่อสงครามที่เปลี่ยนไป เมื่อก่อนนั้นผู้นำต่างคิดว่าสงครามเป็นเรื่องดี ต้องทำ ไม่ทำไม่ได้ แต่ตอนนี้ผู้นำต่างมองว่าสงครามไม่ใช่เรื่องดี ไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้นมาเลย
ทั้งหมดทั้งมวลนี้ทำให้โลกของเรากลายเป็นจักรวรรดิขนาดใหญ่จักรวรรดิหนึ่งเลยก็ว่าได้
ว่าแต่ว่า จากการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดมานี้ พวกเรามีความสุขขึ้นหรือไม่?
คำถามนี้ตอบยากอยู่เหมือนกัน เพราะความสุขก็มาจากหลายปัจจัย และทุกๆ คนก็ไม่ได้พบเจอสถานการณ์ที่เหมือนกัน เราไม่สามารถฟันธงได้ว่าคนรวยกว่านั้นมีความสุขกว่า ในขณะที่บางทีคนรวยอาจจะเหงาอ้างว้าง ในขณะที่คนจนมีความสุขเพราะสร้างบ้านเสร็จ หรือมีครอบครัวเพียบพร้อม
สิ่งที่ก่อให้เกิดความสุขได้นั้น มีสองประเภท คือสิ่งที่จับต้องได้ (บ้าน รถ ตำแหน่ง) กับสิ่งที่จับต้องไม่ได้ (ความสัมพันธ์กับผู้คน ความรัก ศีลธรรม) ไม่ว่าจะแบบใดก็ตาม สามารถกระตุ้นให้เกิดความสุขได้ นั่นหมายความว่า เราไม่ได้เหมารวมว่าสิ่งเหล่านี้คือ “ความสุข” ซะทีเดียว มันเพียงแค่ตัวกระตุ้นเท่านั้น
นิยามของความสุขนั้นมีหลายแบบ ศาสตร์และศาสนาต่างมีคำอธิบายแตกต่างกันไป
ในทางชีววิทยา ความสุขเกิดขึ้นมาจากการหลั่งของฮอร์โมนเซโรโทนิน โดพามีน และอ็อกซีท็อกซิน ซึ่งร่างกายก็จะมีกลไกการบาลานซ์ไม่ให้เรามีความสุขมากเกินไป ไม่เช่นนั้นมนุษย์ไม่ทำมาหากินกันพอดี
ในทางจิตวิทยา ความสุขขึ้นอยู่กับความคาดหวัง และการเปรียบเทียบ ความสุขไม่ได้ขึ้นอยู่กับความหล่อ แต่ขึ้นอยู่กับความ “หล่อกว่าคนอื่น” จะเห็นได้ว่ากลไกโลกสมัยนี้อย่างการสื่อสารและการโฆษณาส่งผลมาก หากเรายึดถือความสุขในแง่นี้
ในทางพุทธศาสนา ความสุขคือการยอมรับว่าสุขทุกข์คือธรรมชาติ ไม่ยึดติดกับมัน เพราะถ้ายึดติดเมื่อไรก็จะทุกข์เมื่อนั้น ความสุขรูปแบบนี้จะเป็นความสงบนิ่ง และพอใจในสิ่งที่เกิดขึ้น
ในทางเสรีนิยม ความสุขมาจากตัวเราเอง เกิดขึ้นในใจเรา ไม่ใช่จากภายนอก ลัทธิเสรีนิยมจึงมุ่งเน้นให้ทุกคนเป็นตัวของตัวเอง ใช้อิสระของตัวเองให้เต็มที่
บางที เราอาจจะต้องให้ความสำคัญกับการศึกษาความสุขบ้าง หลังจากเปลี่ยนแปลงนู่นนี่นั่นและศึกษาสิ่งต่างๆ กันมาหลายอย่าง
อีกสิ่งหนึ่งที่อาจจะกำลังเปลี่ยนไปในอนาคตอันใกล้ หรือบางทีอาจจะเกิดขึ้นแล้ว ก็คือการแทนที่การคัดสรรตามธรรมชาติ (Natural Selection) ด้วยเทคโนโลยี มนุษย์ไม่รอให้ธรรมชาติตัดสินใจแล้ว เพราะมนุษย์จะตามใจตัวเองด้วยการคัดสรรส่วนที่ดีที่สุดมาผสมกันเพื่อสร้างสิ่งมีชีวิตใหม่เอง วิธีการก็อย่างเช่น
1. วิศวกรรมชีวภาพ (Biological Engineering): การปรับเปลี่ยนลักษณะทางชีววิทยา เช่น การฝังยีนใหม่เข้าไปในสัตว์ หรือ การศัลยกรรมมนุษย์
2. วิศวกรรมไซบอร์ก (Cyborg Engineering): การผสมผสานส่วนของอินทรีย์และอนินทรีย์ไว้ด้วยกัน เช่น คนที่มีแขนกล หรือ คนที่สวมแว่นตา
3. วิศวกรรมชีวิตอนินทรีย์ (Engineering of Inorganic Life): การสร้างสิ่งมีชีวิตที่ไม่ได้อ้างอิงกับชีววิทยาเลย เช่น ไวรัสคอมพิวเตอร์
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงที่น่าจับตามองที่สุดน่าจะเป็นการเชื่อมโยงกันระหว่างสมองกับคอมพิวเตอร์ ลองคิดดูเล่นๆ ว่าถ้าเราและคอมพิวเตอร์สามารถสื่อสารกับแบบโต้ตอบได้ จะเกิดอะไรขึ้น? จะเกิดการเข้าถึงความทรงจำร่วมกัน รู้จักประวัติของคนอื่นๆ โดยไม่ต้องถามหรือฟัง มีความคิดร่วมกัน ซึ่งอาจจะส่งผลต่ออัตลักษณ์ส่วนตัวของแต่ละคน
ตอนนี้เราเป็นแค่โฮโมเซเปียนส์ แต่ในอนาคตเราอาจจะกลายเป็นสุดยอดมนุษย์ที่มีความสามารถมากมาย เก่งกว่าเราในปัจจุบันร้อยเท่าพันเท่า เราอาจจะสร้างมนุษย์อัจฉริยะได้ แล้วมนุษย์พันธุ์ใหม่เหล่านั้นอาจจะเข้ายึดครองโลกเราแทน
โฮโมเซเปียนส์จะยังอยู่รอดต่อไปหรือไม่ หรือเรากำลังถูกเราในเวอร์ชั่นใหม่กลืนกิน? และสุดท้ายแล้ว ตอนนี้เรากำลังมุ่งหน้าไปยังทิศทางใดกันแน่?
หนังสือจบลงอย่างดาร์กๆ ชวนให้คิดต่อว่าอนาคตของพวกเราจะสวยงามหรือมืดหม่น (อ่านแล้วรู้สึกมืดหม่นมากกว่า) ตราบใดที่มนุษย์ยังคงใช้อำนาจเบียดเบียนธรรมชาติและเพื่อนร่วมโลก โดยไม่รู้ว่าตัวเองกำลังมุ่งหน้าไปทางไหน ก็เป็นเรื่องน่ากลัวว่าเราเองอาจจะเป็นภัยร้ายที่สุดที่เรากำลังจะเผชิญ
เซเปียนส์ทำให้เราเข้าใจอะไรหลายๆ อย่างรอบตัวมากขึ้น เห็นภาพประวัติศาสตร์ชัดเจนขึ้นแม้จะยังไม่ได้กระจ่างแจ้ง เพราะหนังสือก็หยิบยกมาแค่ตัวอย่างที่สำคัญๆ จะให้อธิบายทั้งโลกก็คงไม่ไหว เนื้อหามีการยกตัวอย่างมากมายให้เราเห็นภาพมากขึ้น บวกกับสำนวนของผู้เขียนที่มีลูกล่อลูกชน ตั้งคำถาม วิเคราะห์วิจารณ์ ชวนให้ขบคิดอยู่เสมอ ก็ทำให้อ่านได้ไม่เบื่อเลย คารวะผู้เขียนจริงๆ
ใครสนใจและยังลังเลอยู่ เราแนะนำให้ลองอ่าน ลองเปิดใจดู แล้วจะได้ค้นพบอะไรใหม่ๆ จริงๆ
ยังอ่านบทความไม่จบ แต่สงสัย 2 เรื่อง
– ทารกแรกเกิดที่ทำอะไรไม่ได้ ไม่ใช่เฉพาะคนอย่างเดียวหนิครับ สัตว์ต่างๆ หมา แมว เกิดมาก็ต้องได้รับการเลี้ยงดูก่อน ตายังไม่เปิด ไม่สามารถหาอาหารเองได้เหมือนกัน
– สันนิษฐานเรื่องการขยับย้ายถิ่นฐานต่อสปีชีส์อื่น 3 ข้อนั้น สงสัยเรื่องการที่ถ้าคนเราทั้งโลกคือสปีชีส์เดียวกันหมด ทำไมถึงมีกายภาพที่แตกต่างกันทั้ง คนดำ คนขาว คนเอเชีย
“เปิดฉากมาฆ่าให้หมด” หมายความว่ายังไง คือโฮโมเซเปี้ยนที่กระจายอยุ่ตามถิ่น คนดำ คนขาว คนเอเชีย ทำแบบนี้เหมือนกันหมดหรอ หรือมันมาจากกลุ่มๆเดียวแล้วค่อยขยายถิ่นที่อยู่ไปเรื่อยๆ … แล้ววิวัฒนาการมันมาพร้อมๆกันหรอ แบบลิงดำ ลิงขาว ลิงเอเชีย พัฒนามาเป็นคนดำ คนขาว คนเอเชีย ในเวลาที่ใกล้ๆกัน แล้ว”ฆ่าให้หมด” พร้อมๆกัน?
อาจจะถามงงๆ โดยสรุปคือ สงสัยว่าแล้วคนขาว คนดำ คนเอเชีย เกิดจากโฮโมเซเปี้ยนประเภทเดียวกันรึป่าว ทำไมถึงมีภายภาพที่แตกต่างกันได้ขนาดนี้
LikeLike
Q: ทารกแรกเกิดที่ทำอะไรไม่ได้ ไม่ใช่เฉพาะคนอย่างเดียวหนิครับ สัตว์ต่างๆ หมา แมว เกิดมาก็ต้องได้รับการเลี้ยงดูก่อน ตายังไม่เปิด ไม่สามารถหาอาหารเองได้เหมือนกัน
A: ตรงนี้เราเผลอสรุปรวบรัดไปหน่อยค่ะ จริงๆ แล้วก็มีสัตว์ที่ไม่สามารถดูแลตัวเองได้ตั้งแต่แรกเกิดเหมือนกัน แต่ถึงอย่างนั้นสัตว์ก็ใช้เวลาพัฒนาสกิลของตัวเองไวกว่ามนุษย์มาก อย่างแมวคือไม่กี่สัปดาห์ก็หาอาหารได้ด้วยตัวเองแล้ว
Q: สันนิษฐานเรื่องการขยับย้ายถิ่นฐานต่อสปีชีส์อื่น 3 ข้อนั้น สงสัยเรื่องการที่ถ้าคนเราทั้งโลกคือสปีชีส์เดียวกันหมด ทำไมถึงมีกายภาพที่แตกต่างกันทั้ง คนดำ คนขาว คนเอเชีย
A: ข้อนี้หนังสือก็ไม่ได้ให้คำตอบที่แน่ชัดนะ โดยส่วนตัวเรามองว่าทฤษฎีข้อแรกอย่างการผสมข้ามสายพันธุ์นั้นฟังดูเข้าท่า สามารถอธิบายความแตกต่างได้ แต่ทั้งนี้งานวิจัยก็ยังไม่คอนเฟิร์มว่าจริงแท้รึเปล่า สำหรับข้อสันนิษฐานอื่นๆ ก็เหมือนกัน ที่นักวิจัยก็ไม่ได้ฟันธงเลยว่าเป็นแบบไหน
Q: “เปิดฉากมาฆ่าให้หมด” หมายความว่ายังไง คือโฮโมเซเปี้ยนที่กระจายอยุ่ตามถิ่น คนดำ คนขาว คนเอเชีย ทำแบบนี้เหมือนกันหมดหรอ หรือมันมาจากกลุ่มๆเดียวแล้วค่อยขยายถิ่นที่อยู่ไปเรื่อยๆ … แล้ววิวัฒนาการมันมาพร้อมๆกันหรอ แบบลิงดำ ลิงขาว ลิงเอเชีย พัฒนามาเป็นคนดำ คนขาว คนเอเชีย ในเวลาที่ใกล้ๆกัน แล้ว”ฆ่าให้หมด” พร้อมๆกัน?
A: โฮโมเซเปียนส์มีจุดกำเนิดที่แอฟริกาที่แรก คือเป็นเผ่าพันธุ์บริสุทธิ์เลย ยังไม่มีการแบ่งแยกเชื้อชาติเป็นคนขาวคนดำคนเอเชีย กลุ่มจากแอฟริกานี้แหละที่ขยับขยายไปยังถิ่นต่างๆ ที่มีมนุษย์พันธุ์อื่นจับจองอยู่ก่อน อาจจะมีการทะเลาะเบาะแว้งกันเพื่อแย่งทรัพยากร เซเปียนส์เลยฆ่าหมดเพื่อแย่งดินแดน ซึ่งตรงนี้ก็ทำให้เราสงสัยต่อว่าแล้วเซเปียนส์แต่ละแห่งมีรูปลักษณ์ต่างกันไปได้ยังไง อย่างน้อยๆ ก็น่าจะมีการผสมข้ามเผ่าพันธุ์บ้างรึเปล่า อีกทางหนึ่งคือเป็นไปได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมของเซเปียนส์เพื่อให้อยู่รอดได้ในสภาพแวดล้อมแต่ละแบบ
Q: อาจจะถามงงๆ โดยสรุปคือ สงสัยว่าแล้วคนขาว คนดำ คนเอเชีย เกิดจากโฮโมเซเปี้ยนประเภทเดียวกันรึป่าว ทำไมถึงมีภายภาพที่แตกต่างกันได้ขนาดนี้
A: มีพื้นเพมาจากประเภทเดียวกันเลย ส่วนกายวิภาคที่ต่างกันนั้นยังไม่มีการคอนเฟิร์มที่แน่ชัด หากไม่ผสมกับสายพันธุ์อื่น ก็น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมเพื่อให้เข้ากับสภาพแวดล้อม หรือไม่ก็ผสมๆ กันทั้งสองแบบเลย
เดี๋ยวเราขอนำเนื้อหาตรงนี้ไปเติมแต่งในบทความเพิ่มดีกว่า เพื่อความชัดเจนขึ้นค่ะ
LikeLike