21 Lessons for the 21st Century เล่มนี้ของยูวัล โนอาห์ แฮรารี นี่อ่านยากกว่า Sapiens นะเราว่า หาก Sapiens เน้นการเล่าให้ฟังว่าเรื่องราวในอดีตเป็นอย่างไร 21st นี่ก็จะเน้นไปที่สถานการณ์ในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ เน้นการวิเคราะห์ถกเถียงปัญหามากกว่า
เราอ่านเป็นภาษาไทย แปลโดย สนพ.ยิปซี ในชื่อ 21 บทเรียนสำหรับศตวรรษที่ 21 แปลโดย ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ และคุณธิดา จงนิรามัยสถิต ซึ่งจริงๆ แล้วเล่มนี้เป็นเล่มสุดท้ายจากทั้ง 3 เล่มของคุณแฮรารี โดยมีเล่มคั่นกลางคือ Homo Deus ที่จะพูดถึงมนุษย์ในอนาคตว่าจะสามารถเป็นพระเจ้าได้หรือไม่ แต่ในฉบับภาษาไทยนั้นทาง สนพ. บอกว่าอยากนำมาแปลแบบเรียง sequence มากกว่า เล่ม 2 เลยกลายเป็น 21st เพราะมันบอกเล่าเรื่องราวช่วงคาบเกี่ยวระหว่างอดีตที่เคยเกิดขึ้นแล้ว และอนาคตอีกหลายสิบปีที่กำลังจะมาถึง
อย่างที่บอกว่าหนังสือเล่มนี้จะโฟกัสไปที่ปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ ว่าต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร ซึ่งก็มีหลายหัวข้อที่ควรจะนำมาพูดคุยกัน ไม่ว่าจะเป็นการเมือง การศึกษา ศาสนา เทคโนโลยี ภาวะโลกร้อน ฯลฯ ทั้งหมดทั้งมวลนี้คือสิ่งที่หล่อหลอมสร้างโลกของเราขึ้นมา มันส่งผลกระทบต่อผู้คนแบบทั้งรายบุคคลและส่วนรวม เพราะแบบนี้แหละ เราจึงควรมีอิสระในการแสดงความคิดเห็น เราควรจะสามารถถกเถียงพูดคุยกันได้อย่างเปิดเผย ถึงแนวทางและผลกระทบที่เกิดจากสิ่งที่เราทำในวันนี้ และในอดีต
ต่อจากนี้คือการสรุปเนื้อหาของหนังสือตามแบบที่เราเข้าใจ หากมีตรงไหนผิดพลาดหรืองงๆ ก็ต้องขออภัย >< หนังสือมี 21 บท ตามบทเรียนที่นำเสนอกันไป แต่ละหัวข้อล้วนเป็นประเด็นที่ผู้เขียนตั้งคำถามว่าถึงเวลาแล้วหรือไม่ ที่เราควรจะมาหาคำตอบแก้ไขปัญหากันสักที ถึงเวลาที่เราต้องหันมาคุยเรื่องนี้กันจริงจังแล้วรึเปล่า ก่อนที่มันจะสายเกินไป?
The Technological Challenge
ความท้าทายทางเทคโนโลยีมนุษยชาติสูญเสียศรัทธาต่อเรื่องราวแบบเสรีนิยม
ที่ครอบงำมีอำนาจเหนือการเมืองโลกในหลายทศวรรษที่ผ่านมา
ประจวบเหมาะเป็นห้วงเวลาเดียวกับที่เกิดการผนวกรวม
ของไบโอเทคและอินโฟเทค ทำให้เราเผชิญกับความท้าทาย
ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่มนุษยชาติเคยเผชิญหน้ามา
#1: การขจัดภาพลวงตา – เมื่อจุดสิ้นสุดประวัติศาสตร์ถูกเลื่อนออกไป
มนุษย์เราเชื่อในเรื่องเล่ามากกว่าความจริงหรือทฤษฎี เรียกได้ว่าเรื่องเล่านี่แหละที่ทำให้คนหลายล้านคนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน สามารถมาร่วมมือทำอะไรบางอย่างที่ยิ่งใหญ่ร่วมกันได้ ยิ่งเป็นเรื่องเล่าที่เข้าใจง่ายเท่าไร ก็ยิ่งเชื่อเท่านั้น ไม่ว่ากลุ่มหรือชนชาติไหนก็ล้วนมีเรื่องเล่าของตัวเอง
ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 มีเรื่องราวที่ยิ่งใหญ่ 3 เรื่องที่เหล่าผู้นำต่างอ้างว่าจะสามารถใช้อธิบายอดีตและทำนายอนาคตได้ นั่นคือเรื่องของฟาสซิสต์ คอมมิวนิสต์ และเสรีนิยม
ฟาสซิสต์และคอมมิวนิสต์ถูกแทนที่ด้วยเรื่องราวแบบเสรีนิยมที่ให้คุณค่ากับปัจเจกชน เรื่องราวนั้นระบุว่าเป็นเวลานานที่มนุษย์ต้องอยู่ภายใต้ระบบที่กดขี่ ไม่มีสิทธิเสรีภาพมากพอในการแสดงความคิดเห็น แต่ผู้คนก็ต่อสู้เพื่ออิสรภาพของตัวเองทีละน้อย จนเสรีภาพกลายเป็นสิทธิพื้นฐาน ก่อกำเนิดเป็นระบบประชาธิปไตย ที่ซึ่งทุกอย่างเคลื่อนไหวอย่างอิสรเสรี ไม่ว่าจะเป็นผู้คนที่คิดเพื่อตัวเอง ไม่ต้องทำตามใคร รวมไปถึงเศรษฐกิจที่เปิดกว้าง ลงทุนและค้าขายได้อย่างไม่มีข้อจำกัด
แต่ถึงอย่างนั้น เสรีนิยมก็ยอมรับว่าไม่ใช่ทุกคนจะอยู่ดีกินดี หลายๆ คนในประเทศเสรีนิยมก็ยังคงทุกข์จากภาวะยากจนหรืออดอยาก แม้จะเป็นแบบนั้น แต่อย่างน้อยเราก็รู้ว่าควรแก้ปัญหาอย่างไร นั่นก็คือ ต้องให้เสรีภาพกับพวกเขามากขึ้นนั่นเอง ต้องให้สิทธิทางการเมืองในการลงคะแนนเสียง ต้องทำให้เกิดตลาดเสรี ต้องทำให้ทุกๆ อย่างเคลื่อนไหวไปมาทั่วโลกได้อย่างราบรื่น ซึ่งหลายๆ ประเทศก็น้อมรับเรื่องเล่านี้ไว้ เพราะเชื่อว่ามันจะต้องส่งผลดีแน่นอน พร้อมทั้งเบ้ปากให้กับประเทศที่หันหลังให้กับเสรีนิยม
แต่แล้ว จุดหักมุมก็มาถึง เมื่อคนเริ่มระแวงความเป็นเสรีมากไป จากที่รวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อน ก็เริ่มมีประเทศแยกตัวสลายออกมา มีการกั้นผู้อพยพ เริ่มมีการตั้งมาตรการป้องกันหลายๆ อย่างขึ้นมา เช่น ไฟล์วอล ข้อตกลงทางการค้า การจำกัดอิสรภาพของสื่อ การมาของ Brexit และ Donald Trump ทำให้หลายคนเริ่มตั้งคำถามถึงความสั่นคลอนของเรื่องเล่าแบบเสรีนิยม ว่าถ้ามันดีจริงแล้วทำไมโลกเราหันเหหนีไปจากมัน? ทำไมเราถึงไม่อยากเชื่อมต่อกับประเทศอื่นๆ? เสรีนิยมเป็นเรื่องเล่าอย่างสุดท้ายแล้ว หากไม่มีเรื่องราวแบบเสรีนิยมที่คิดกันไปก่อนหน้านี้ว่าจะเป็นแฮปปี้เอนดิ้ง จะยึดถึงเรื่องเล่าอะไรต่อล่ะ?
อีกสิ่งที่เรากำลังเผชิญตอนนี้คือเทคโนโลยีที่สามารถ disrupt หลายสิ่งอย่างได้ ซึ่งแบ่งออกได้เป็น Biotech (เทคโนโลยีชีวภาพ) และ Infotech (เทคโนโลยีสารสนเทศ) หรือที่เรียกอีกแบบได้ว่าปฏิวัติแฝด ถ้าเกิดขึ้นจริงละก็สมดุลอำนาจจะถูกเทจากฝั่งผู้นำประเทศ มาเป็นกลุ่มที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีแทน
กลุ่มการเมืองไม่ได้คิดถึงเรื่องที่ว่าเทคโนโลยีจะมาแย่งตำแหน่งงานไปจากคนในประเทศด้วยซ้ำ แต่กลับโฟกัสเรื่องคนต่างชาติที่จะเข้ามาแย่งตำแหน่งงานมากกว่า หาได้ตระหนักไม่ว่า เทคโนโลยีอาจจะทำให้ผู้คนตกงาน และทำให้การตัดสินใจนั้นไม่ต้องพึ่งพามนุษย์อีกต่อไป จะเกิดอะไรขึ้น หากในอนาคต ทุกๆ การตัดสินใจจะขึ้นอยู่กับเอไอ?
#2: งาน – เมื่อเธอโตขึ้น เธออาจจะไม่มีงานทำ
ถึงเวลาที่ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence – AI) กำลังจะมาแย่งงานมนุษย์แล้ว…
บอกเลยว่า แม้แต่สัญชาตญาณหยั่งรู้ของมนุษย์ (human intuition) ก็ไม่ใช่อะไรที่ยากแท้หยั่งถึง เพราะจริงๆ แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นในตัวมนุษย์ล้วนก่อกำเนิดมาจากสารเคมีในร่างกาย สามารถแปลงออกมาเป็นกระแสไฟฟ้าตรวจวัดได้ สิ่งที่เราเชื่อว่าเกิดขึ้นในตัวเรานั้น มันมีแพทเทิร์นของมันที่อาศัยประสบการณ์ของเราเพื่อคำนวณโอกาสความเป็นไปได้ เห็นคำว่า “คำนวณ” และ “แพทเทิร์น” ไหม? เมื่อเป็นแบบนี้แล้ว ก็ไม่ใช่เรื่องยากเลยที่ AI จะเลียนแบบ และอาจทำได้ดีกว่าด้วย
ข้อดีของ AI นั้นมีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการที่สามารถเชื่อมต่อกันได้ทั้งระบบ สามารถอัปเดตปรับปรุงข้อมูลให้ทันสมัยได้เสมอ และการคำนวณได้อย่างแม่นยำ นั่นเป็นเพราะจักรกลนั้นมีข้อมูลมากมายให้นำมาประมวลผล ต่างจากมนุษย์ที่มีข้อจำกัดเรื่องข้อมูล
จริงๆ แล้วเมื่อดูจากข้อดีต่างๆ การนำ AI เข้ามาทำงานนี่เป็นการเพิ่มความปลอดภัย ซึ่งก็น่าจะเป็นอะไรที่มนุษย์ต้องการไม่ใช่หรือ? เราจะไปปกป้องงานทำไมในเมื่อหากงานนั้น AI ทำออกมาแล้วดีกว่า ปลอดภัยกว่าให้มนุษย์ทำ ลองคิดดูว่าถ้าเราไม่มีคนขับรถ แต่เป็นรถเอไอแล่นบนถนนทั้งหมด รถทุกคันก็จะมีมาตรฐานเดียวกัน เข้าใจกฏจราจรที่เหมือนกัน คำนวณกะเกณฑ์การวิ่งการจอดได้อย่างแม่นยำ อุบัติเหตุน่าจะน้อยลงมากๆ (แน่นอนว่าเครือข่าย internet of things ก็ต้องวิ่งฉิวด้วย)
ดังนั้น เราไม่ควรไปปกป้องที่ตัวตำแหน่งงาน แต่ควรปกป้องมนุษย์ที่อาจไม่มีงานทำต่างหาก
และอย่าเฉลียวใจไปว่างานในสายอาชีพที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์อันเป็นเอกลักษณ์ของมนุษย์แต่ละคนนั้นจะไม่สามารถถูก AI ยึดครองได้ เพราะอย่างที่บอกว่าถ้าเทคโนโลยีพัฒนามากๆ มันจะสามารถจับได้เลยว่ามนุษย์แต่ละคนมีแพทเทิร์นการคิดยังไง มีฟีดแบ็กยังไงกับสิ่งที่มากระทบประสาทสัมผัส ตัวอย่างงานสายศิลปะก็เช่น สายงานในอุตสาหกรรมดนตรี ที่เราอาจจะเจอ AI ซึ่งสามารถประพันธ์เพลงเองได้ โดยเก็บข้อมูลว่าเราชอบหรือไม่ชอบทำนองแบบไหน แล้วมันก็จะเอามาประยุกต์ทำเพลงให้เราชอบ
ถึงอย่างนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่ามนุษย์จะตกงาน เพราะการผงาดขึ้นของ AI ก็อาจนำพาอาชีพใหม่มาให้มนุษย์ ทว่าอาชีพเหล่านั้นล้วนแล้วแต่เป็นอาชีพที่ต้องใช้ทักษะชั้นสูง เช่น ดูแลการทำงานหรือซ่อมบำรุง AI อีกที ดังนั้น พวกที่ได้เปรียบก็คือพวกที่ฉลาดกว่า ส่วนคนธรรมดาที่ไม่ได้เก่งมากมายนั้นจะหางานได้ยากขึ้น เพราะงานธรรมดาๆ AI ก็แย่งไปหมดละ เหลือแต่งานเทพๆ ที่ทำไม่ได้ นอกจากฝั่งงานแล้ว ฝั่งลูกค้าก็อาจจะมี AI ด้วยเช่นกัน เพราะ AI เองก็ต้องมีทรัพยากรมาหล่อเลี้ยง เช่น แร่เหล็กเพื่อสร้างหุ่นยนต์ หรือในกรณีของวงการโฆษณา ก็อาจจะพูดได้ว่าอัลกอริธึมเป็นลูกค้าเหมือนกัน เมื่อเราต้องการจะทำให้เว็บไซต์ของเราติด SEO เราก็ต้องทำทุกอย่างที่อัลกอริธึมนั้นชอบ เพื่อที่จะเลือกเราขึ้นเป็นอันดับท็อปๆ
แล้วคนตกงานจะทำอย่างไร? ด้วยเหตุนี้แหละ เราจึงควรมีการช่วยเหลือขั้นพื้นฐาน เช่น
รายได้พื้นฐานสากล (Universal Basic Income): ทำได้ด้วยการที่รัฐบาลเก็บภาษีจากคนรวย แล้วนำเงินส่วนนี้ไปช่วยสนับสนุนค่าครองชีพที่ครอบคลุมความจำเป็นขั้นพื้นฐาน วิธีนี้จะช่วยให้ปกป้องคนจนที่ตกงาน และช่วยปกป้องคนรวยจากความเดือดดาลของพวกประชานิยม
บริการพื้นฐานสากล (Universal Basic Security): ทำได้ด้วยการที่รัฐบาลมอบการบริการขั้นพื้นฐานให้เพียงพอกับการใช้ชีวิต เช่น การศึกษา การเดินทาง บริการด้านการแพทย์ ฯลฯ แทนที่จะให้เป็นเงินแล้วผู้คนไปใช้จ่ายกันเอง ก็เหมาจ่ายให้ซะเลยเป็นไง
ว่าแต่ว่า ปัญหาคือ คำว่า “สากล” และ “พื้นฐาน” ของแต่ละคนดันไม่เหมือนกันนี่สิ บางคนบอกว่าต้องมีอาหารกิน มีที่อยู่ มีเสื้อผ้า มียา แค่นั้นคือพื้นฐาน แต่บางคนบอกว่าเฮ้ย ต้องมีเครือข่ายขนส่ง มีไฟฟ้า มีผืนดินทำกิน มีนู่นมีนี่ด้วย ในฝั่งของความเป็นสากล เมื่อเทคโนโลยีไปถึงขีดสุด แน่นอนว่าแรงงานจากประเทศที่ 3 ก็คงไม่จำเป็นอีกต่อไป ความร่ำรวยถูกโอนย้ายมายังประเทศเจ้าของเทคโนโลยี ความแตกต่างก็ยิ่งห่างกันไปอีก แล้วพวกคนรวยจะยอมถูกเก็บภาษี ไปช่วยเหลือคนจนจริงๆ น่ะเหรอ?
#3: เสรีภาพ – บิ๊กเดต้าจับตาคุณอยู่
เสรีนิยมยึดถือเจตจำนงเสรีของมนุษย์แต่ละคน ว่ามีอำนาจไม่ต่างกันไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ให้ทำตามสิ่งที่ตัวเองเรียกร้องเถอะ
ถึงอย่างนั้น อารมณ์หรือเจตจำนงเสรีกลับเป็นผลมาจากระบบในร่างกายที่ทำการคำนวณความเป็นไปได้โดยอ้างอิงจากข้อมูลในอดีตเท่านั้นเอง และในอนาคต คอมพิวเตอร์ซึ่งมีเทคโนโลยีไบโอเทคและอินโฟเทคที่ล้ำหน้า อาจจะสามารถคำนวณสิ่งเหล่านี้ได้ดียิ่งขึ้น และอาจตัดสินใจแทนเรา เพราะมันรู้เรื่องเรามากกว่าตัวเราเอง ตัวอย่างแบบน้ำจิ้มที่เกิดตอนนี้ก็เช่น เครื่องมือทางการแพทย์ที่วินิจฉัยโรคต่างๆ ได้ เพราะแม้แต่เรายังไม่รู้เลย แต่เครื่องมือรู้หมดแล้วว่าเรามีโอกาสป่วยเป็นโรคอะไร
ในอนาคต เอไออาจจะล้ำหน้าไปถึงขั้นตัดสินใจแทนเราในเรื่องสำคัญของชีวิต เช่น การเลือกงาน เลือกเรียน เลือกคู่แต่งงาน เมื่อเป็นเช่นนั้น ชีวิตคนเราจะไม่ใช่ดราม่าแห่งการตัดสินใจอย่างเสรีอีกต่อไป เพราะเทคโนโลยีได้เข้ามาควบคุมการตัดสินใจของเราแล้ว… เอาเข้าจริง ในตอนนี้เอไอก็เริ่มตัดสินใจแทนเราแล้วนะ เช่น การแนะนำหนังใน netflix, การนำทางโดย google maps, โฆษณาขายของที่บอกว่าเราเหมาะกับอะไร คือเราไม่ได้เชื่อตัวเองอีกแล้ว
หลายคนกังวลเรื่องที่ว่าเอไอไม่มีจริยธรรม ซึ่งอาจกระทบต่อการตัดสินใจ แต่เอาเข้าจริงมนุษย์เองก็มักใช้อารมณ์ครอบงำเหตุผลเหมือนกันแหละ อย่าไปกล่าวหา และไม่แน่ว่าในอนาคต เอไออาจถูกโปรแกรมให้มีจริยธรรม มีเหตุมีผลโดยปราศจากอคติ และจะทำให้การตัดสินใจมีความยุติธรรมมากขึ้นด้วย แต่ทีนี้ มันก็ขึ้นอยู่กับคนที่กำหนดทิศทางของเอไอนั้นด้วย ว่าจะให้มันมีสำนึกมากแค่ไหน ฉะนั้นคนที่ควบคุมเอไอนี่ก็สำคัญไม่แพ้กัน
ลองคิดดูว่า…หากเจ้าของรถยนต์ขับได้เองต้องตัดสินระหว่างให้รถชนเด็ก กับ เลี่ยงไปชนรถบรรทุกแทน คนที่เป็นเจ้าของรถคงเลือกชนเด็กเพื่อให้ตัวเองรอด แต่ในสายตาคนนอก ก็จะอยากช่วยชีวิตเด็ก นี่ละคือความแตกต่าง
ในอนาคต เอไออาจจะสามารถรวบรวมข้อมูลทุกคนบนโลกไว้ได้ ทำให้ประสิทธิภาพการประมวลผลแม่นยิ่งขึ้น นโยบายต่างๆ อาจถูกนำมาเสิร์ฟจากเอไอ แทนที่จะเป็นคนด้วยกัน เอไอจะกลายเป็นที่ปรึกษาสำหรับเรื่องใหญ่ๆ ทุกๆ เรื่อง และหากเอไอพัฒนาล้ำหน้าจิตสำนึกของคน สุดท้ายแล้วมันอาจจะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อเราก็ได้
#4: ความเท่าเทียม – ผู้ครอบครองข้อมูลคือผู้ครอบครองอนาคต
ปัจจุบัน โลกาภิวัฒน์ทำให้มนุษย์เกิดความแตกต่างทางชนชั้นมากขึ้น คนบางกลุ่มผูกขาดผลประโยชน์ ทำให้ยิ่งรวยขึ้นๆ ในขณะที่คนอีกมากมายก็ยังคงยากจน ถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง รายงานต่างๆ ระบุว่าคนรวยที่สุด 100 คน เป็นเจ้าของสินทรัพย์มากกว่าคนจนที่สุด 4 พันล้านคนรวมกันเสียอีก
ก่อนหน้านี้ ความเท่าเทียมยังคงสำคัญ เพราะสังคมต้องการแรงงานมนุษย์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ในอนาคต ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น หากคนรวยสามารถใช้เงินอัปเกรดความสามารถของตัวเอง เช่น ยืดอายุ ซื้อสติปัญญา ก็จะทำให้ยิ่งแตกต่างจากคนจน มนุษยชาติก็อาจจะแบ่งแยกออกเป็นวรรณะทางชีววิทยา (biological castes) ได้ ชนชั้นผู้นำอาจทิ้งคนจนไว้เบื้องหลัง สร้างอาณาเขตของคนรวยขึ้นมาเอง แล้วกันพวกคนจนออกไป ฟังดูเป็นนิยายดิสโทเปียมากๆ
เนื่องจากในปัจจุบันและอนาคต สิ่งที่มีมูลค่าคือ “ข้อมูล” ซึ่งยิ่งใครมีข้อมูลมากเท่าไรก็ยิ่งได้เปรียบเท่านั้น การป้องกันไม่ให้เกิดการสะสมความมั่งคั่งและอำนาจอยู่เพียงในมือของคนกลุ่มเล็กๆ ได้แก่การบังคับควบคุมความเป็นเจ้าของข้อมูล ตอนนี้ เหล่าบริษัทยักษ์ใหญ่ เช่น เฟซบุ๊ก กูเกิล ต่างใช้ของฟรีมาล่อให้คนมอบข้อมูลส่วนตัวให้ เพื่อพวกเขาจะได้นำข้อมูลนี้ไปขายต่อ และในอนาคต กูเกิลอาจจะสามารถบอกได้เป๊ะๆ ว่าเราเหมาะกับสินค้าบริการอะไร แล้วการโฆษณาก็อาจจะไม่จำเป็นอีกเลย
ดังนั้น เราต้องหาวิธีที่จะเป็นผู้ควบคุมข้อมูลส่วนตัว และมีสิทธิ์ที่จะเลือกได้ว่าควรมอบให้กับใคร พูดง่ายแต่ทำยาก เพราะปัจจุบันคนเราก็ชินซะแล้วกับการมอบข้อมูลให้บริษัทชั้นนำเพื่อที่จะได้ใช้บริการต่างๆ เช่น อีเมล โซเชียลมีเดีย อย่างฟรีๆ ในอนาคตก็จะยิ่งยากขึ้นไปอีก เพราะเราอาจจะยิ่งต้องพึ่งพาคอมพิวเตอร์มากขึ้น ผูกติดกับเทคโนโลยีมากขึ้น ข้อมูลของเราอาจจะไหลไปสู่เครือข่ายต่างๆ โดยอัตโนมัติเลยทีเดียว จึงเป็นการดีที่เราจะมาหาคำตอบกันว่า เราจะควบคุมดูแลความเป็นเจ้าของข้อมูลได้อย่างไร?
The Political Challenge
ความท้าทายทางการเมืองการผนวกรวมอินโฟเทคและไบโอเทคคุกคาม
แก่นคุณค่าสมัยใหม่เรื่องเสรีภาพและความเท่าเทียมกัน
คำตอบสำหรับความท้าทายทางเทคโนโลยีจะเกี่ยวข้องกับ
บรรษัทใหญ่ระดับโลก แต่ลัทธิชาตินิยม ศาสนา และ
วัฒนธรรม แบ่งแยกมนุษยชาติออกเป็นฝักฝ่าย
ที่เป็นปรปักษ์ต่อกัน จนทำให้เป็นเรื่องยากยิ่ง
ที่จะเกิดความร่วมมือในระดับโลก
#5: ชุมชน – มนุษย์มีตัวตน
ก่อนหน้านี้ผู้คนสนิทชิดเชื้อกันเป็นกลุ่มเล็กๆ แต่เมื่อมีแบบแผนในจินตนาการเกิดขึ้น เช่น ชาติ การเมือง ศาสนา ผู้คนก็ถูกครอบงำโดยกลุ่มอย่างเช่นประเทศชาติแทน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ใหญ่จริงแต่ก็ไม่สนิทสนมเท่าครอบครัวหรือญาติมิตร ผลก็คือ คนต้องใช้ชีวิตกันอย่างเปล่าเปลี่ยวในโลกที่เชื่อมต่อกันมากขึ้น
ในปี 2017 มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก บอกว่าเขาจะสร้างชุมชนโลกขึ้นใน Facebook โดยมี AI เป็นเครื่องมือ เพื่อรักษาความแตกสลายของชุมชนมนุษย์ เขาอยากสร้างชุมชนออนไลน์ที่ทำให้คนรู้สึกว่าได้เป็นส่วนหนึ่ง สามารถแชร์เรื่องราวต่างๆ ได้อย่างเปิดใจ ฟังดูดีมากๆ แต่ต่อมาไม่นาน ก็เกิดเหตุการณ์ Cambridge Analytica ขึ้น ทำให้ความน่าเชื่อถือของเฟซบุ๊กสั่นคลอน ถึงกระนั้น ก็เป็นเรื่องน่ายกย่องที่เฟซบุ๊กตั้งเป้าไปที่การเยียวยาสังคม ต่างจากบริษัทอื่นๆ ที่ตั้งเป้าเรื่องเงิน ความท้าทายคือ เมื่อเฟซบุ๊กอยากที่จะปฏิวัติสังคม ให้คนใช้เวลาบนออนไลน์อย่างเหมาะสม มันจะกระทบกับโมเดลธุรกิจและกำไรหรือไม่? อันที่จริงส่วนใหญ่แล้ว ผู้ที่ปฏิวัติสังคม มักไม่ใช่บริษัท แต่เป็นทหารหรือนักบวชมากกว่า เพราะการปฏิวัติที่แท้จริงย่อมมาพร้อมความเสียสละ ซึ่งบริษัท ลูกจ้าง และผู้ถือหุ้นไม่พร้อมจะทำแบบนั้น
ความท้าทายสำคัญคือการเชื่อมต่อระหว่างออนไลน์และออฟไลน์ ชุมชนอาจจะรวมตัวกันบนออนไลน์ก่อน แต่ถ้าจะให้หยั่งรากลึกจริงๆ ก็อาจจะต้องแน่นแฟ้นกันในออฟไลน์ด้วย ซึ่งที่ผ่านมานี้เทคโนโลยีมีแต่จะทำให้คนห่างไกลจากความออฟไลน์ ง่ายๆ เลยคือคนสนใจสิ่งที่อยู่ในโซเชียลมีเดียมากกว่าสิ่งที่อยู่ตรงหน้า มองมือถือมากกว่ามองคนใกล้ตัว ทำหลายสิ่งหลายอย่างผ่านหน้าจอพร้อมกันโดยไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าบรรยากาศรอบด้านเป็นยังไง เราลืมไปแล้วว่าความสัมพันธ์กับผู้คนในชีวิตจริงนั้น matter กว่าคนผ่านหน้าจอมาก หากเราป่วย แม้ว่าคนที่อยู่อีกฟากโลกจะทักมาบอกให้หายไวๆ ได้ แต่คนที่อยู่รอบตัวเราต่างหากที่จะเป็นคนคอยดูแล หยิบยื่นยาให้เรา
เทคโนโลยีทำให้คนตัดขาดจากร่างกายตัวเองมากขึ้น ไปพึ่งพาอุปกรณ์อิเล็กโทรนิกส์แทน และในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นด้วยเทคโนโลยีอย่าง AR หรือการเชื่อมต่อสมองกับคอมพิวเตอร์ ออฟไลน์กับออนไลน์อาจจะตัดขาดกันไม่ออกเลยก็เป็นได้ และบริษัทยักษ์ใหญ่ก็จะควบคุมร่างกายเราด้วยวิธีนี้แหละ
#6: อารยธรรม – โลกนี้มีอารยธรรมแค่เพียงหนึ่งเดียว
มนุษย์ไม่เหมือนสัตว์ตรงที่พฤติกรรมของมนุษย์นั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับพันธุกรรม สำหรับมนุษย์นั้นพฤติกรรมมันเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ซึ่งต่างจากสัตว์ที่เป็นแบบไหนก็แบบนั้น กอริลลากับชิมแปนซีไม่สามารถสลับพฤติกรรมไปเลียนแบบอีกฝ่ายได้…
กับมนุษย์นั้นแม้จะมีระบบสังคมที่ต่างกัน แต่นี่ก็ไม่ได้เป็นผลพวงมาจากพันธุกรรมเลย และไม่สามารถอยู่ยงคงกระพันได้ยาวนานเกินกว่า 2-3 ศตวรรษด้วย ตัวอย่างเช่นเยอรมนีที่มีระบบการปกครองตัวเองถึง 6 แบบด้วยกันในเวลาไม่ถึง 100 ปี
ความจริงแล้วอารยธรรมต่างๆ ก็เป็นสิ่งที่คนแต่ละชาติสร้างขึ้นมา และมันก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา เรามองว่าโลกเราช่างมีอารยธรรมที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นยุโรป อเมริกัน เอเชีย แอฟริกัน ฯลฯ แต่ความจริงแล้ว เรามีอารยธรรม “โลก” อยู่
ในขณะที่สัตว์แต่ละสปีชีส์ที่มาจากบรรพบุรุษเดียวกันนั้นไม่สามารถหลอมรวมกันได้ มนุษย์กลับสามารถหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกันได้ภายใต้อารยธรรมโลก ถึงกระนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าจะกลมเกลียวกันได้ตลอด เพราะมันก็ยังมีการแบ่งแยกทางการเมือง เผ่าพันธุ์ วัฒนธรรม เศรษฐกิจ ที่บ่อนเซาะความเป็นหนึ่งเดียวกันนี้…
บางที การแบ่งแยกที่สำเร็จอาจจะต้องอยู่ภายใต้การหลอมรวมที่แข็งแกร่ง เช่น ตลาดร่วมที่แข็งแกร่งทำให้สามารถแบ่งแยกแรงงานได้ และบางครั้งเรื่องราวก็ตลกร้าย เพราะการเชื่อมโยงกันในบางเคสก็เกิดจากการเป็นศัตรูด้วยซ้ำไป ดูอย่างในสมัยสงคราม โลกาภิวัฒน์ทำงานได้ดีกว่าสมัยค้าขายรุ่งเรืองอีก เพราะสงครามช่วยแพร่กระจายแนวคิด เทคโนโลยี และผู้คนได้อย่างรวดเร็ว ต่างฝ่ายต่างใส่ใจสนใจในเรื่องราวและความคืบหน้าของอีกฝ่าย กลายเป็นว่ากลมเกลียวบนความเกลียดซะอย่างนั้น
เอาเข้าจริง เราจะคลั่งชาติและแบ่งแยกอารยธรรมกันไปทำไม ชาติต่างๆ เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ ก่อนหน้านั้นเราอยู่กันแบบไร้เส้นแบ่งก็อยู่กันมาได้ และในปัจจุบันโลกนี้ก็มีอารยธรรมที่ครอบคลุมแบบสากลอยู่
หนึ่งคือเงิน ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าถ้าคุณมีเงิน ไปที่ไหนก็สามารถใช้จ่ายเงินนั้นได้ ธนบัตรดอลลาร์ย่อมมีค่าแม้ว่ามันจะอยู่ในมือของคนอิสลาม นี่ยังไม่พูดถึงคริปโตฯ ที่เป็นเงินดิจิทัล ไม่จำกัดสัญชาติอีก
สองคือความรู้ เมื่อก่อนนั้น ผู้คนแต่ละแห่งมีความเชื่อไม่เหมือนกัน แต่ปัจจุบัน ทุกคนมีความรู้ชุดเดียวกันหมด เมื่อก่อนแต่ละวัฒนธรรมแต่ละเผ่าอาจจะมียารักษาโรคที่ต่างกันออกไป แต่ตอนนี้เรามียาที่แพทย์ใช้เหมือนกันทั่วโลก
#7: ลัทธิชาตินิยม – ปัญหาระดับโลกต้องการคำตอบระดับโลก
ชาตินิยมอ่อนๆ ทำให้ประเทศแข็งแกร่ง เพราะทำให้คนรู้สึกจงรักภักดี มีเมตตากับเพื่อนร่วมชาติ ยอมที่จะเสียสละกันได้ แต่ถ้ามากไปถึงขั้นถือตัวว่าชาติตัวเองดีที่สุด ก็จะทำให้เกิดความรุนแรง ความขัดแย้งเพียงนิดเดียวก็นำไปสู่สงครามได้
การที่คนกลุ่มหนึ่งสะดวกใจกับความเป็นชาตินิยมมากกว่าความกลมเกลียวระดับโลกนั้นความจริงแล้วพอเข้าใจได้ระดับหนึ่ง หากดูจากอดีตของมนุษย์ ที่แม้จะเป็นสัตว์สังคม แต่แรกเริ่มนั้นมนุษย์ก็จับกลุ่มกันเป็นกลุ่มเล็กๆ ที่สนิทสนม ประมาณ 20-30 คน มนุษย์เพิ่งเรียนรู้การอยู่แบบรวมกลุ่มกันเป็นรัฐชาติเมื่อ 2,000-3,000 ปีที่แล้วนี่เอง เมื่อมนุษย์แต่ละเผ่าเจอปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขเองได้ แต่ละเผ่าก็ต้องรวมตัวกันเป็นชนชาติหนึ่งเดียวกัน ร่วมมือกันถึงจะแก้ไขปัญหาใหญ่ๆ ได้
ดังนั้นหากเทียบกันแล้ว ในปัจจุบัน ความเป็นโลกาภิวัฒน์ทำให้สามารถร่วมมือกันสร้างสิ่งใหญ่ๆ ได้ แต่ตอนนี้ดูเหมือนแต่ละประเทศเริ่มอยากจะหวนคืนสู่ความเป็นชาตินิยมแล้ว
ทว่าปัญหาที่เรากำลังเผชิญอยู่ตอนนี้นั้นเป็นระดับโลกทั้งนั้น นั่นก็คือนิวเคลียร์ ภาวะโลกร้อน และเทคโนโลยี ซึ่งหากไม่ได้การร่วมมือกันแบบนานาชาติ ก็ไม่มีทางที่จะรับมือกับมันได้
การเกิดขึ้นของนิวเคลียร์ทำให้ความขัดแย้งและสงครามระหว่างประเทศลดลง มีแต่ประเทศมหาอำนาจเท่านั้นที่สามารถสร้างนิวเคลียร์ได้ ทุกคนรู้ว่ามีภัยเงียบนี้อยู่ จึงไม่มีใครกล้าไปแหยม สิ่งคุกคามนี้จึงทำให้เกิดสันติสุขได้อย่างน่าประหลาด คนตายจากสงครามมีน้อยลง แต่ตอนนี้ดูเหมือนบางประเทศต้องการตุนนิวเคลียร์เป็นอาวุธเพื่อผลประโยชน์ของชาติตัวเอง ซึ่งอาจจะทำให้เกิดรอยร้าวบนสันติสุขที่สะสมมานานได้
ภาวะโลกร้อนเองก็สำคัญไม่แพ้ภัยคุกคามจากนิวเคลียร์ หรือดิสรัปชั่นจากเทคโนโลยี เพียงแต่คนไม่ค่อยสนใจกัน เพราะมันคลุมเครือ คนไม่อยากแลกผลระยะสั้นกับผลระยะยาว การจะรับมือภาวะโลกร้อนได้นั้น ต้องใช้ความร่วมมือระดับโลก ไม่ใช่แค่ประเทศใดประเทศหนึ่ง เพราะแรงของประเทศเพียงแห่งเดียวอาจถูกกลบด้วยประเทศอื่น กล่าวคือ แม้ประเทศหนึ่งจะพยายามใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์มากเท่าใด แต่หากอีกประเทศยังคงขยันปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ ความร่วมมือเพื่อการเปลี่ยนแปลงนี้ก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง เปลืองแรงของประเทศที่พยายามเปล่าๆ
เหตุที่ความร่วมมือระดับโลกในเรื่องโลกร้อนมักไม่ได้ผล เป็นเพราะไม่ใช่ทุกประเทศที่จะได้รับผลกระทบเลวร้าย บางประเทศได้ผลดีจากโลกร้อนด้วยซ้ำ อย่างกลุ่มประเทศที่ส่งออกน้ำมัน หากเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาด ประเทศพวกนี้ก็จบสิ
ดิสรัปชั่นจากเทคโนโลยีก็เช่นกัน หากมีประเทศใดประเทศนึงตัดสินใจใช้เทคโนโลยีที่อาจสร้างประโยชน์กับประเทศตน ประเทศอื่นๆ ก็จะหาทางเลียนแบบทำตาม การที่แต่ละประเทศพากันอัปเกรดเทคโนโลยีโดยไม่สนใจผลกระทบเชิงสังคม อาจทำให้อนาคตมนุษย์เผชิญความเปลี่ยนแปลงใหญ่หลวง
ที่สำคัญคือ สามปัญหาที่ว่ามานี้ สามารถผสมกันเป็นทรีอินวันได้ เมื่ออากาศเกิดวิกฤติมากๆ มนุษย์ก็จะคิดค้นเทคโนโลยีที่ล้ำหน้ามากขึ้นไปอีกเพื่อเอาชนะปัญหานี้ เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นอาจส่งให้เกิดการเสียสมดุลระหว่างประเทศ และอาจจะมีอำนาจยิ่งกว่านิวเคลียร์ด้วย
#8: ศาสนา – ปัจจุบันแม้พระเจ้าก็ยังรับใช้ชาติ
ก่อนหน้านี้ศาสนาแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง เช่น สภาพอากาศ ความเจ็บป่วย ศาสนาสามารถหาคำอธิบายมาซัพพอร์ตสิ่งเหล่านี้ได้หมด ถ้าเกิดภัยแล้งก็วิ่งไปหานักบวชให้ช่วยสวดอ้อนวอนต่อพระเจ้า เวลาป่วย คนก็มักจะไปหาผู้นำทางศาสนาหรือหมอผี แทนที่จะเป็นหมอจริงๆ แต่ตอนนี้วิทยาศาสตร์เป็นผู้แก้แทนแล้ว แม้กระทั่งผู้คลั่งศาสนาก็ต้องยอมรับในเทคโนโลยีที่ดีขึ้น ศาสนาที่เริ่มลดระดับความสำคัญลง ทำให้คนในโลกเริ่มมีความคล้ายกันมากขึ้น เพราะทุกคนหันหน้าเข้าหาความจริงที่วิทยาศาสตร์มอบให้เหมือนกัน
คนมักจะใช้ศาสนามากล่าวอ้างจุดยืนของตัวเองทางด้านวิทยาศาสตร์หรือเศรษฐศาสตร์ คนสองกลุ่มศาสนาอาจจะซัพพอร์ตไอเดียด้านเทคโนโลยี ด้านโลกร้อน ด้านการเมืองกันคนละแบบ โดยแต่ละฝ่ายก็จะอ้างคัมภีร์ทางศาสนามาแบ็กอัพการเข้าข้างของตัวเอง ทั้งที่จริงๆ ศาสนาไม่เกี่ยวกับความแตกต่างพวกนี้เลย การที่คนต่างศาสนาหรือลัทธิมีการขัดแย้งกัน บางทีมาจากปัจจัยอื่น เช่น ฐานะที่ไม่เท่ากัน มากกว่าด้านศาสนาโดยตรง
แม้ว่าศาสนาดูเหมือนจะถูกลดความสำคัญไปมาก แต่รัฐชาติก็ยังใช้ประโยชน์จากศาสนาในแง่ของการรวมคนในประเทศให้เป็นหนึ่งเดียวกัน และสร้างเอกลักษณ์ทำให้คนกลุ่มนี้ต่างจากคนกลุ่มอื่น (เช่น ชีอะฮ์แบบอิหร่าน ซุนนีแบบซาอุฯ และยูดาห์จากอิสราเอล) พวกเขาสวมเสื้อผ้าคนละแบบ มีพิธีกรรมคนละอย่าง มีกฏข้อห้ามที่ต่างกันไป บางศาสนามีความรุนแรงเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เช่น หากเป็นพวกรักร่วมเพศในอิหร่าน ก็จะถูกลงโทษ อย่างไรก็ดี ตราบใดที่มนุษย์ยังคงเชื่อในเรื่องเล่า ศาสนาก็ยังคงมีอิทธิพล เพื่อให้มนุษย์รวมเป็นรัฐชาติหนึ่งเดียวกัน
แต่กระนั้น พอไปสู่ระดับโลก ก็เป็นเรื่องยากขึ้นที่คนต่างกลุ่มจะร่วมมือกัน หากยังมีศาสนาและชาตินิยมเป็นตัวขวางกั้นอยู่ สิ่งนี้ทำให้การร่วมมือระดับโลกเพื่อแก้ปัญหาเป็นไปได้ยากขึ้น เพราะในบางที่ ศาสนาถูกใช้เป็นเครื่องมือของระบบชาตินิยม ปลูกฝังให้คนเชื่อว่าชนชาติตัวเองดีที่สุด คิดถึงผลประโยชน์ของชาติตัวเองก่อน และรังเกียจชาติอื่น
#9: การอพยพถิ่นฐาน – บางวัฒนธรรมอาจเหนือกว่าวัฒนธรรมอื่น
โลกาภิวัฒน์ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายของคนได้ง่ายขึ้นมาก มีการอพยพถิ่นฐานเกิดขึ้นอยู่บ่อยๆ กลุ่มประเทศที่ดูจะเผชิญเรื่องนี้เยอะสุดคือยุโรป ซึ่งก่อกำเนิดมาจากการรวมตัวของแต่ละประเทศเช่นกัน แต่แล้วเมื่อกำลังจะมีผู้อพยพมาจากแอฟริกาและตะวันออกกลาง คนยุโรปก็เริ่มแตกออกเป็นสองฝ่าย…
บ้างรับไม่ได้กับการเข้ามาใหม่ของวัฒนธรรมใหม่ เพราะกลัวว่าจะกระทบต่อเอกลักษณ์ความเป็นยุโรป และความปลอดภัย พวกเขาลืมไปแล้วรึเปล่าว่ายุโรปเองก็ก่อขึ้นมาจากหลายๆ วัฒนธรรมเช่นกัน? อีกกลุ่มรับได้กับการมีผู้อพยพ แต่นั่นหมายความว่าพวกเขาศรัทธาต่อความหลากหลายของยุโรป หรือเพราะพวกเขาน่าอายที่สนับสนุนโครงการซึ่งไม่อาจสำเร็จได้กันแน่? การจะเข้าใจประเด็นนี้ให้มากขึ้น เราควรกำหนดพื้นฐาน 3 เรื่องก่อน ซึ่งจะนำไปสู่การถกเถียงต่อไป
3 ข้อที่ว่านี้คือ ประเทศควรรับผู้อพยพหรือไม่? ผู้อพยพควรปรับตัวเท่าไร? ประเทศผู้รับควรช่วยเหลือขนาดไหน?
ข้อแรก ประเทศควรเปิดรับผู้อพยพหรือไม่ ควรเปิดขนาดไหน ทุกคนเลยไหม? ผู้สนับสนุนมองว่ามนุษย์ควรใจดีมีเมตตาต่อมนุษย์คนอื่น ใครที่ไม่ทำแบบนี้ก็คงเป็นพวกเห็นแก่ตัวไม่ก็เหยียดเชื้อชาติ อีกอย่าง การอพยพเป็นอะไรที่ห้ามไม่ได้อยู่แล้ว แทนที่จะแอกลักลอบกันเข้ามา ก็ทำให้ถูกกฏหมายซะเลยสิเป็นไง ผู้ที่ไม่สนับสนุนนั้นมองว่ามนุษย์มีสิทธิขั้นพื้นฐานที่จะร่วมกันปกป้องตัวเองจากการรุกราน ย่อมมีสิทธิ์เลือกได้ว่าจะรับใครไม่รับใครไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม และหากตัดสินใจรับผู้อพยพเข้าประเทศ ก็ถือเป็นความอนุเคราะห์ ไม่ใช่เรื่องบังคับกะเกณฑ์ และผู้อพยพซึ่งได้รับการอนุเคราะห์ก็ควรซาบซึ้ง ไม่ใช่ทำตัวเหมือนตัวเองเป็นเจ้าของประเทศ ความซับซ้อนจะเกิดขึ้นเมื่อประเทศต้องการใช้ประโยชน์จากผู้อพยพสำหรับแรงงานราคาถูก และไม่ยอมให้สถานะตามกฏหมายแก่ผู้อพยพ สิ่งนี้จะยิ่งทำให้เกิดชนชั้นขึ้นมา
ข้อที่สอง ผู้อพยพควรปรับตัวเท่าไร ควรจะซึบซับวัฒนธรรมของประเทศใหม่ขนาดไหน? ต้องเปลี่ยนศาสนาไหม เปลี่ยนอาหารการกิน เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มรึเปล่า? ผู้สนับสนุนมองว่ายุโรปมีเอกลักษณ์ตรงความใจกว้างและความอิสรเสรี ไม่จำเป็นที่ผู้อพยพจะต้องเปลี่ยนตัวเอง ในเมื่อยุโรปเองก็เกิดจากหลายวัฒนธรรมเช่นกัน ดังนั้นจึงไม่มีวัฒนธรรมไหนที่เด่นชัดพอจะเป็น “ยุโรป” ผู้ต่อต้านผู้อพยพมองว่าผู้อพยพส่วนใหญ่มาจากวัฒนธรรมที่ใจแคบ เหยียดผู้หญิง เพศที่สาม จึงรับไม่ได้ที่ค่านิยมพวกนี้ขัดต่อความใจกว้างของพวกเขา (ฟังดูแหม่งๆ ดี) และหากมีผู้อพยพที่มีค่านิยม “ต่ำกว่า” พวกเขาเข้ามาเรื่อยๆ สังคมยุโรปก็จะลดระดับลงทันที นอกจากนี้ หากผู้อพยพปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมยุโรปไม่ได้แล้วมาก่อปัญหา ก็อย่าเข้ามาเลยซะดีกว่า ประเด็นของข้อที่สองนี้คือ เราจะเห็นได้ว่าแม้แต่ยุโรปเองก็ยังตีความไม่ได้ว่า “เอกลักษณ์” ของยุโรปจริงๆ แล้วคืออะไร มันจึงเป็นเรื่องยากที่จะกะเกณฑ์ว่าจะรับหรือไล่ผู้อพยพออกดี
ข้อที่สาม หากผู้อพยพสามารถปรับตัวได้ดี ประเทศผู้รับควรช่วยเหลือขนาดไหน? ต้องใช้เวลานานเท่าไรกว่าผู้อพยพจะกลายเป็นสมาชิกของสังคมใหม่โดยสมบูรณ์ ผู้สนับสนุนมองว่าควรจะมีการยอมรับโดยเร็วที่สุด ถ้าผ่านไป 3 รุ่นแล้วยังไม่ยอมรับ แปลว่าประเทศเจ้าบ้านทำดีไม่พอ ไม่เปิดใจละสิ อาจทำให้เกิดความขัดแย้งได้ ผู้ที่ต่อต้านมองว่าควรจะมีช่วง probation ที่ยาวนาน เพื่อเป็นบททดสอบว่าผู้อพยพอยู่ได้จริงไหม ปัญหาของข้อที่สามคือ timescale ที่แตกต่างกันในมุมมองของแต่ละคน หากดูแบบภาพรวมแล้ว 40 ปีอาจจะดูเหมือนแป๊บเดียว แต่ถ้ามองในแง่บุคคล นี่มันเหมือนจะครึ่งชีวิตเลย
หากไม่รู้ทั้ง 3 ข้อนี้ ก็จะไม่รู้ข้อ 4 คือข้อตกลงเหล่านี้ใช้การได้หรือไม่ ทั้งสองฝ่าย (เจ้าบ้านกับผู้อพยพ) ทำตามข้อตกลงอย่างสมบูรณ์หรือยัง?
แท้จริงแล้ว วัฒนธรรมเท่าเทียมกัน หรือมีบางวัฒนธรรมที่เหนือกว่า? เราสามารถเหมารวมว่าประเทศเจ้าบ้านมีวัฒนธรรมที่เหนือกว่าได้ไหม ในเมื่อมีคนอยากอพยพมาอยู่ด้วย? เมื่อคนที่มีวัฒนธรรมแตกต่างกันมาเจอกัน ก็อาจจะเข้ากันไม่ได้ เจ้าบ้านที่มีจำนวนมากกว่าอาจจะพยายามไม่รับคนต่างถิ่นมาทำงาน เพราะเห็นว่ามีนิสัยใจคอ & สไตล์การทำงานที่เข้ากันกับพวกเขาไม่ได้ อันที่จริงมองเผินๆ อาจจะดูเหมือนเป็นการเหยียดชาติพันธุ์ แต่แท้จริงแล้วมันคือการเหยียดวัฒนธรรมมากกว่า การเหยียดชาติพันธุ์ที่แท้จริงนั้นไม่ค่อยมีให้เห็นแล้ว เพราะวิทยาศาสตร์ได้ทำการพิสูจน์แล้วว่าไม่เป็นความจริง คนผิวดำไม่ได้ด้อยกว่าคนผิวขาว คนเอเชียไม่ได้ด้อยกว่าฝรั่ง ความฉลาดไม่ได้ขึ้นอยู่กับชาติพันธุ์เลย
Despair and Hope
ความสิ้นหวังและความหวังแม้จะไม่เคยเกิดความท้าทายเช่นนี้
และแม้จะไม่ลงรอยกันอย่างรุนแรง
มนุษยชาติต้องใช้ความพยายามอย่างยิ่งยวด
เพื่อควบคุมความกลัวของเราไว้
และแสดงความเห็นอย่างถ่อมตนมากขึ้น
#10: การก่อการร้าย – อย่าตระหนก
ผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้าย มีน้อยกว่าจากอุบัติเหตุจราจร หรือ โรคเบาหวานซะอีก
แล้วทำไมคนถึงกลัว? เพราะงานหลักของการก่อการร้ายคือการสร้างความกลัว เนื่องจากพวกเขาอ่อนแอเกินกว่าจะทำลาย asset อีกฝ่ายตรงๆ ได้
การก่อการร้ายก็เหมือนการสร้างละครแหละ ต้องทำให้คนตราตรึง ทำให้คนกลัว แม้ว่าจะไม่ได้กระทบด้านกายภาพหรือจุดยุทธศาสตร์ก็ตาม แต่มันสามารถใช้เป็นข้อต่อรองทางการเมืองได้ ตัวอย่างก็เช่นเหตุการณ์ 9/11 คนส่วนใหญ่จำภาพการถล่มของตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ได้ดีกว่าอาคารเพนตากอน ซึ่งเป็นที่ทำการของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ถือว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ทำไมคนถึงสนใจตึกเวิลด์เทรดที่เป็นอาคารออฟฟิศมากกว่า? เพราะตึกเวิลด์เทรดตั้งเด่นเป็นสง่า ไม่เหมือนเพนตากอนที่เป็นอาคารแบนราบ การโจมตีตึกที่โดดเด่นแบบนั้นก็เหมือนการเล่นละครฉากใหญ่ คนเห็นกันทั่ว อิมแพ็กก็ต้องเยอะกว่า
รัฐที่มีความปลอดภัยสูง ไม่มีความรุนแรงทางการเมือง ก็ยิ่งเปราะบางต่อการก่อการร้าย เวลาเกิดเหตุทีคนก็ชุลมุนกว่า พอเป็นแบบนี้ เพื่อที่จะให้ได้ใจพลเมือง รัฐก็ต้องยิ่งเล่นละครตอบโต้ผู้ก่อการร้าย พลเมืองจะได้เห็นว่ารัฐเอาจริง นั่นเพราะรัฐสมัยใหม่ให้สัญญาว่าจะปกป้องคุ้มครองประเทศจากความรุนแรง หากทำไม่ได้ก็จะเสียหน้า การซุ่มโจมตีแบบลับๆ นั้นแม้จะตรงประเด็นและมีประสิทธิภาพมากกว่า แต่คนเห็นน้อยกว่า รัฐก็ไม่ได้หน้า คนไม่เชิดชู
วิธีการตอบโต้การก่อการร้ายที่รัฐควรใช้คือ 1.โจมตีแบบลับๆ แต่ตรงประเด็น 2. สื่อไม่ควรโฟกัสจนเกินไป 3. เราควรเลิกกลัวจนเกินเหตุ เพราะยิ่งกลัว ยิ่งตีโพยตีพายกันเท่าไร การก่อการร้ายก็มีโอกาสประสบความสำเร็จมากเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์ที่กล่าวมานี้อ้างอิงจากการก่อการร้ายในอดีต แต่ถ้าในอนาคต ผู้ก่อการร้ายสามารถใช้นิวเคลียร์หรืออาวุธทำลายล้างที่โหดสัสได้ ทุกอย่างก็จะเปลี่ยนไป เป็นการยากที่จะหาคำตอบว่าควรทำเช่นไร เพราะไม่มีใครสามารถเตรียมตัวกับทุกเรื่องได้ ถ้ามันยังไม่เกิดขึ้นจริงๆ
#11: สงคราม – อย่าประเมินความงี่เง่าของคนเราต่ำไป
เมื่อก่อนนี้ประเทศรุ่งเรืองจากการชนะสงคราม ในขณะเดียวกันก็มีคนตายมากกว่า แต่ปัจจุบันการชนะสงครามด้วยการใช้ความรุนแรงนั้นไม่เป็นที่นิยมแล้ว เพราะไม่ได้ให้ผลประโยชน์อะไรมากเหมือนเมื่อก่อน เนื่องจากปัจจุบัน ทรัพย์สินของประเทศไม่ใช่วัตถุอีกต่อไป แต่เป็นองค์ความรู้ที่ไม่ได้แย่งกันง่ายๆ เพียงเพราะชนะสงคราม และหากไปรุกรานประเทศใด แม้ประเทศนั้นจะเป็นประเทศเล็กๆ แต่ก็อาจจะสามารถรุกกลับได้ เพราะเทคโนโลยีที่ดีขึ้น ไม่เหมือนเมื่อก่อนที่ประเทศเล็กๆ อาจจะสู้ไม่ได้เพราะ resource ไม่พอ
เดี๋ยวนี้ ผลประโยชน์ของสงครามมีน้อยลง แต่ความเสียหายมีมากขึ้น เลยไม่คุ้ม แต่ถึงอย่างนั้นก็อย่าได้ประเมินความโง่เขลาของมนุษย์ต่ำเกินไป เพราะมนุษย์สามารถทำตัวไร้เหตุผลได้ ทางเยียวยาที่พอจะเป็นไปได้คือมนุษย์ควรถ่อมตัวลงหน่อย ลดความ “ของฉัน” ลง ไม่ว่าจะเป็น ประเทศของฉัน ศาสนาของฉัน วัฒนธรรมของฉัน ผลประโยชน์ของฉัน
#12: ความถ่อมตน – คุณไม่ได้เป็นศูนย์กลางของโลก
แต่ละประเทศและศาสนาต่างก็โอ้อวดว่าชาติพันธุ์ตัวเองอยู่เหนือชาติพันธุ์อื่นๆ หรือไม่ก็บอกว่าประวัติศาสตร์ของโลกมีต้นกำเนิดมาจากพระเจ้าของตัวเอง ทั้งที่จริงๆ แล้ว ไม่มีศาสนาหรือชาติใดๆ ในปัจจุบันดำรงอยู่เลยเมื่อสมัยมนุษย์ครองโลกแรกๆ หรือเริ่มประดิษฐ์นู่นนี่นั่น
คนยิวได้รับการสอนมาว่าศาสนายูดาห์คือศาสนาที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ทั้งที่จริงๆ แล้วกระทบกับภาพรวมของโลกน้อยมาก ความจริงแล้ว หลักศีลธรรมมีมาตั้งนานแล้วก่อนจะมีศาสนาคริสต์หรือยูดาห์ซะอีก ความมีศีลธรรมก็มีรากฐานวิวัฒนาการมาอย่างลึกซึ้งตั้งแต่ก่อนการปรากฏของมนุษยชาติเมื่อหลายล้านปีก่อน ผ่านสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อยู่เป็นฝูง ซึ่งล้วนมีหลักจรรยาบรรณที่เปลี่ยนไปตามวิวัฒนาการ เพื่อสนับสนุนให้พวกมันร่วมมือกันในกลุ่ม
ดังนั้น อะไรก็ตามที่มนุษย์เชื่อถืออยู่ ไม่ว่าจะเป็นชาติพันธุ์ ลัทธิ ศาสนา ไม่ได้เป็นจุดศูนย์กลางของโลกเลย โลกอยู่มาได้ตั้งแต่ก่อนจะมีสิ่งเหล่านี้ด้วยซ้ำ
#13: พระเจ้า – อย่ากล่าวหาพระเจ้าโดยเสียเปล่า
ในขณะที่ผู้คนเชิดชูว่าพระเจ้าเป็นผู้ยิ่งใหญ่ เป็นผู้อยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์หลายๆ อย่างที่วิทยาศาสตร์ไม่สามารถอธิบายได้ แต่ผู้คนก็นิยมเหลือเกินกับการอ้างชื่อของพระเจ้าในการทำสิ่งต่างๆ หรือต่อต้านพฤติกรรมต่างๆ เช่น พระเจ้ารังเกียจคนรักร่วมเพศ พระเจ้ารังเกียจคนชาตินู้นชาตินี้ ฯลฯ ซึ่งถือเป็นเรื่องขี้ปะติ๋วมากหากนับว่าพระเจ้าเป็นผู้ยิ่งใหญ่ ทำไมจะต้องมาห้ามนู่นห้ามนี่ สนใจในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แบบนี้ด้วย? ดูเหมือนว่านี่จะเป็นเพียงสิ่งที่เหล่าสาวกนำมาอ้างเพื่อแบ็กอัพมุมมองของตัวเองก็เท่านั้น
#14: คามิยนิยม – ยอมรับเงาของตัวเอง
คามิยชนอาจถูกมองว่าเป็นพวกหันหลังให้ศาสนา แต่จริงๆ แล้วพวกเขาแค่ไม่ยึดถือในความเชื่อในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แต่จะเน้นความจริงเป็นหลัก ไม่มีการบูชาเชิดชูสิ่งของแบบไร้เหตุผล ไม่มีการถามว่า “พระเจ้าทรงบัญชาเช่นไร” แต่พวกเขาจะรับฟังเหตุผลมุมมองรอบด้าน และตัดสินใจแบบทางสายกลาง โดยทุกอย่างต้องอยู่บนพื้นฐานของความจริง
ทุกศาสนาและลัทธิล้วนมีเงาของตัวเอง บางศาสนาเคยก่อให้เกิดการฆ่าฟันกัน การเข้าใจว่าอะไรคือข้อผิดพลาด และยอมรับว่าตัวเองโง่เขลา คือสิ่งที่มนุษย์ควรทำ สำหรับคามิยชนนั้น พวกเขากล้าที่จะยอมรับความผิดพลาดและจุดบอดของตัวเอง
บางที การเป็นคนดี อาจไม่จำเป็นว่าต้องขึ้นอยู่กับศาสนาใดศาสนาหนึ่ง คนเราสามารถเป็นคนดีได้แม้ว่าจะไม่นับถือศาสนาใดๆ เลย เพราะศีลธรรมนั้นถือเป็นพื้นฐานที่มนุษย์ควรมีอยู่แล้ว ก็เหมือนคำว่า “ศีล” ที่แปลว่า “ปกติ” นั่นแหละ
Truth
ความจริงแท้ถ้าคุณรู้สึกพ่ายแพ้และสับสน
กับสภาวะอันลำบากของโลก คุณมาถูกทางแล้ว
กระบวนการต่างๆ ทั่วทั้งโลกกลายเป็นสิ่งสลับซับซ้อน
เกินกว่าบุคคลใดบุคคลหนึ่งจะสามารถเข้าใจได้
แล้วคุณจะรู้ถึงความจริงแท้ของโลกได้อย่างไร
จะหลีกเลี่ยงการตกเป็นเหยื่อของโฆษณาชวนเชื่อ
และรับข้อมูลผิดๆ ได้อย่างไร?
#15: ความโง่เขลา – คุณรู้น้อยกว่าที่คิด
เรามักนึกว่าตัวเองรู้หลายเรื่อง แต่จริงๆ เราไม่ได้รู้ขนาดนั้น นั่นเป็นเพราะมนุษย์มีแนวโน้มที่จะคิดเป็นกลุ่ม ไม่ได้คิดแบบปัจเจกชน และมักซึมซับความรู้จากคนอื่นแบบผิวเผิน
ที่แย่ไปกว่านั้น ยิ่งเราอยู่ใกล้อำนาจ หรือครอบครองอำนาจไว้ในมือ ความจริงที่เรารู้ก็จะยิ่งถูกบิดเบือน เพราะมีแต่คนพยายามจะเปลี่ยนความจริง เพื่อหาทางใช้ประโยชน์จากอำนาจของเรา ถ้าเราต้องการความจริง ให้พาตัวเองออกมาจากศูนย์กลางอำนาจนั้น
#16: ความยุติธรรม – สำนึกแห่งความยุติธรรมของเราอาจล้าสมัย
ปัจจุบันนี้ ทุกอย่างเชื่อมโยงกันหมด จนไม่รู้ว่าความผิดถูกที่แท้จริงคืออะไร ไม่เหมือนเมื่อก่อนที่ straightforward หากเราฆ่าเขา เราก็ผิด หากเราขโมยของ เราก็ผิด ไม่ยุติธรรมสำหรับเจ้าของของชิ้นนั้นๆ
แต่ตอนนี้ ทุกอย่างเชื่อมโยงถึงกันและซับซ้อนมากขึ้น กล่าวคือ…เราอาจจะกำลังลงทุนในบริษัทที่กำลังปล่อยมลพิษออกสู่ธรรมชาติ เราอาจจะกำลังใส่เสื้อผ้าของบริษัทที่ใช้แรงงานเด็กแบบผิดกฏหมาย นี่หมายความว่าเราทำการไม่ดีด้วยหรือไม่? โอ้ tricky มากๆ
ในปัจจุบัน ทุกทวีปในโลกเชื่อมโยงกันหมดแล้ว ส่งผลกระทบถึงกันและกัน การจะรับมือกับปัญหาใหญ่ได้ ทั่วโลกต้องร่วมมือกัน แต่ก็เป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจปัญหาสเกลใหญ่ได้ มนุษย์ส่วนใหญ่จึงทำเรื่องซับซ้อนให้เข้าใจง่ายขึ้นด้วย 4 วิธี คือ
1. ทำให้เล็กลง: เช่น เปรียบให้ปัญหาระหว่างประเทศ เป็นเหมือนปัญหาของคนสองคน
2. ทำให้จับใจขึ้น: เช่น ไม่เล่าเรื่องด้วยสถิติความจริง แต่ใช้สตอรี่ของเด็กน่าสงสารมาเรียกน้ำตาและเงินบริจาค
3. ทำให้มีทฤษฎีสมรู้ร่วมคิด: เช่น ระบบการเงินโลกช่างซับซ้อน งั้นสร้างเรื่องขึ้นมาว่า มีมหาเศรษฐีชักใยอยู่เบื้องหลังละกัน
4. ทำให้มีความเชื่อ: เช่น ใช้ศาสนา อุดมคติ ที่อ้างว่าอธิบายได้ทุกอย่าง
#17: ยุคหลังสัจธรรม – ข่าวลวงบางชิ้นจะคงอยู่ตลอดไป
จริงๆ แล้วยุคหลังสัจธรรมมีมานานแล้ว ตั้งแต่เริ่มมีการสร้างเรื่องเล่าและศาสนาต่างๆ เรื่องราวของศาสนาก็นับว่าเป็นข่าวปลอม เพราะคุณจะอธิบายศาสนาอื่นอย่างไรหากมองว่าไบเบิลเป็นเรื่องจริง?
อย่างไรก็ตาม ข่าวปลอมหรือเรื่องเล่าก็ทำให้มนุษย์รวมตัวกันและร่วมมือกับคนแปลกหน้าได้ นั่นเพราะมนุษย์ให้ความสำคัญกับความเชื่อมากกว่าความจริง เพราะความเชื่อทำให้พวกเขาควบคุมโลกได้ แต่ความจริงทำไม่ได้ เรามักจะลืมไปว่าหลายๆ สิ่งบนโลก เช่น เงิน ชาติ กีฬา เป็นเพียงเรื่องแต่งเท่านั้น ดังนั้น เราไม่ควรเชื่ออะไรง่ายๆ เวลาเสพอะไรสักอย่างควรเสพจากหลายๆ สื่อ เพื่อเห็นมุมมองที่ต่าง อย่าเชื่อจากแหล่งเดียว
#18: นิยายวิทยาศาสตร์ – อนาคตไม่ได้เป็นแบบที่เห็นในภาพยนตร์
อย่างที่บอกว่ามนุษย์เชื่อในเรื่องเล่า ดังนั้นนิยายหรือหนังไซไฟจึงมีส่วนสำคัญในการทำให้คนเข้าใจความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ส่วนใหญ่คนเลือกที่จะดูหนัง ไม่ได้อ่านบทความทางวิชาการ เพราะฉะนั้นคนก็อาจจะมีทัศนคติผิดๆ ต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีได้ หนังและนิยายหลายเรื่องมักวางให้เทคโนโลยีเป็นผู้ร้าย ทำให้คนกลัวเทคโนโลยีเกินเหตุ แต่เอาเข้าจริงแล้วเราควรจะกลัวการแบ่งชนชั้นของผู้คน อันมีเทคโนโลยีเป็นต้นกำเนิดมากกว่า
นอกจากนี้ หนังไซไฟบางเรื่องก็ไม่ได้สะท้อนวิทยาศาสตร์แบบจริงจัง แต่เป็นการแสดงการตีความเรื่องอื่น เช่น Ex Machina ที่เล่าเกี่ยวกับผู้เชี่ยวชาญเอไอที่ตกหลุมรักหุ่นยนต์สาว จริงๆ แล้วนี่ไม่ใช่หนังเกี่ยวกับมนุษย์และหุ่นยนต์ แต่เป็นการเปรียบเปรยความกลัวของผู้ชายที่มีต่อผู้หญิงฉลาดต่างหาก
Resilience
ความยืดหยุ่นคุณจะใช้ชีวิตในยุคแห่งความสับสนได้อย่างไร
เมื่อเรื่องราวเก่าแก่ล่มสลาย
และไม่มีเรื่องราวใหม่ๆ เกิดขึ้นมาแทนที่?
#19: การศึกษา – ความเปลี่ยนแปลงคือสิ่งเดียวที่แน่นอน
เราไม่สามารถเดาได้เลยว่าในอนาคตปี 2050 จะเป็นอย่างไร เทคโนโลยีทำให้ชีวิตเดายากขึ้น ในขณะที่เมื่อ 1,000 ปีที่แล้ว ยังเป็นการง่ายกว่าที่จะเดาว่าปี 1050 จะเป็นเช่นไร… ความเปลี่ยนแปลงจะยิ่งรวดเร็วขึ้นกว่าเดิม เราต้องเรียนรู้ที่จะยืดหยุ่นและปรับตัว อยู่เฉยๆ ไม่ได้ สิ่งที่เราเรียนวันนี้ ในปี 2050 อาจใช้การไม่ได้แล้ว
เทคโนโลยีกำลังพัฒนาเพื่อที่จะแฮกตัวเรา เรียนรู้เกี่ยวกับตัวเรา ยิ่งเราพึ่งพาเทคโนโลยีมากเกินไป ก็จะยิ่งถูกควบคุมได้ง่าย ถามว่าแล้วถ้างั้นเราควรพึ่งตัวเองได้ไหม? อันนี้ยิ่งยาก เพราะจริงๆ แล้วเสียงในหัวของเราก็สะท้อนมาจากสิ่งที่เรารับรู้ภายนอกอีกทีนั่นแหละ ดังนั้น การรู้จักตัวเองจริงๆ จึงเป็นสิ่งที่ควรทำ
ทุกวันนี้มีข้อมูลข่าวสารมากมาย สิ่งสุดท้ายที่เราต้องการคือการถูกยัดเยียดข้อมูลเพิ่ม สิ่งสำคัญที่ควรทำทำความเข้าใจข้อมูลและคัดกรองข้อมูลที่ถูกต้องออกมาต่างหาก นอกจากนี้ โรงเรียนควรลดการสอนวิชาการเชิงเทคนิคลง และไปโฟกัสกับทักษะชีวิตทั่วไป สรุปเป็นหลักการ 4C คือ การคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) การสื่อสาร (Communication) การประสานร่วมมือกัน (Collaboration) และความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) นอกจากนั้นยังควรสอนทักษะกว้างๆ อย่างการเอาตัวรอด การเปิดรับและพร้อมเปลี่ยนแปลงต่อสิ่งใหม่ๆ แทน เพราะได้ใช้แน่ๆ
#20: ความหมาย – ชีวิตไม่ใช่เรื่องเล่า
ผู้คนมักจะถามว่า “ฉันเป็นใคร ฉันควรทำอะไรในชีวิต อะไรคือความหมายของชีวิต?”
มีเรื่องเล่าอยู่มากมายในโลกใบนี้ที่ชวนให้เรานึกว่าคือตัวเรา เราคือส่วนหนึ่งของมัน เราอาจจะเชื่อว่าเราเป็นพลเมืองดีที่รักชาติ มีหน้าที่ที่ต้องทำ เป็นศาสนิกชนที่ดี เป็นนักเรียนที่ดี แต่เราต้องระวังจุดนี้ให้ดี อย่าไปนึกว่ามันคือตัวเรา 100% ทั้งหมดนั้นเป็นแค่บทบาทที่เราได้รับมาเท่านั้น
สิ่งที่ทำให้เรื่องเล่าดูน่าเชื่อถือยิ่งขึ้นก็คือพิธีกรรมต่างๆ ซึ่งถ้ายิ่งเราทำ มันก็เหมือนยิ่งเป็นการตอกย้ำว่าเป็นความจริง ที่แย่คือมีผู้คนเชื่อว่าถ้าไม่มีเหตุผลอย่างเรื่องเล่ามาแบ็กอัพการกระทำของตัวเอง ก็จะดูแย่ในทันที (เช่น การบูชายัญ การทำร้ายคนอื่น อ้างว่าทำเพราะศาสนา หรือชาติ)
เอาเข้าจริง คนมักเชื่อเรื่องเล่าหลายๆ เรื่องพร้อมกัน แม้บางเรื่องจะขัดแย้งกันเองก็ตาม แต่พวกเขาก็ไม่ได้ใส่ใจมันมากนัก พวกเขามีวิธีจัดการเรื่องเล่าที่แตกต่างกันเหล่านี้ได้ เพราะสมัยนี้ คนมักจะเข้าซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งเรื่องเล่า พวกเขาปรารถนาที่จะมีเรื่องเล่าหลายๆ แบบให้เลือกดู ไม่ใช่แค่แบบเดียว เรื่องเล่าบางเรื่องก็โหดร้าย แต่พวกเขามองว่าเป็นสิ่งสวยงาม เช่น การเป็นฟาสซิสต์ ที่ยึดถือประเทศตัวเองเป็นหลัก พวกเขามองว่าประเทศตัวเองช่างน่ายกย่อง แม้ว่าประเทศจะไปสร้างสงครามฆ่าคนมากมายก็ยังเชิดชูประเทศ
แต่เรื่องเล่าที่ว่ามาทั้งหมดทั้งมวลนั่น คือตัวเราจริงๆ เหรอ?
แท้จริงแล้ว เราไม่สามารถควบคุมอะไรได้เลย ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยภายนอก หรือปัจจัยภายใน สิ่งที่เราคิดว่าเป็นตัวตน ล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นมาจากชีวเคมีในร่างกาย ซึ่งเราไม่สามารถไปควบคุมอะไรมันได้ เราไม่สามารถไปบังคับให้ตัวเองไม่ป่วยได้ ถ้าเช่นนั้นแล้วจริงๆ เราคือใคร?
ศาสนาพุทธสอนว่าแท้จริงแล้วทุกอย่างต้องมีการเปลี่ยนแปลง และสิ่งที่เราเห็นหรือสัมผัสอยู่นั้นว่างเปล่า ไม่มีอะไรที่เป็นตัวแทนของอะไร ไม่มีเรื่องเล่า ทุกอย่างล้วนเป็นในแบบที่มันเป็น และไม่จีรังยั่งยืน ในอีก 10,000 ปีข้างหน้า เชื่อว่าสิ่งที่เราเห็นและรู้จักกันอยู่ตอนนี้ น่าจะไม่หลงเหลืออยู่แล้วด้วยซ้ำ
ถึงกระนั้น ก็มีชาวพุทธบางส่วนที่กระทำขัดแย้งกับศาสนาของตัวเอง เช่น ทำร้ายคนอื่นที่อาจจะขัดแย้งกับพวกเขาเรื่องศาสนา เพียงเพราะพวกเขาเชื่อในศรัทธาของตัวเองที่มีต่อศาสนามากเกินไป ไม่ได้เชื่อที่ตัวเนื้อแท้ของศาสนา แต่ไปเคารพบูชาอย่างหน้ามืดตามัว
วิธีนึงที่จะทำให้ตัวเองตาสว่างว่าอะไรคือของจริง อะไรคือของเก๊ คือ อย่าไปดูที่เรื่องเล่า ให้สังเกตความทุกข์ เพราะความทุกข์นี่แหละคือของจริง หลายครั้งที่เรามักจะอุปมาอุปมัยหลายสิ่งอย่างให้เหมือนมันมีชีวิต เช่น ประเทศชาติ ว่าประเทศชาติหลั่งเลือดอย่างนู้นอย่างนี้ แท้จริงแล้วเราแค่ให้มันยืมร่างกายของเราไป ความจริงคือประเทศไม่สามารถประสบทุกข์ได้ มันเป็นแค่เรื่องแต่งเท่านั้น ในขณะเดียวกัน ความทุกข์ของคนที่ไปออกรบ หรือเจอประสบการบุกรุกคือเรื่องจริง แม้ว่าการบุกรุกจะเกิดขึ้นจากความเชื่อในเรื่องเล่าก็ตาม
#21: การทำสมาธิ – แค่สังเกต
หากอยากเข้าใจความจริงของชีวิต ให้ลองนั่งวิปัสสนา ทำสมาธิ แล้วสังเกตตัวเอง แล้วจะเห็นว่าความทุกข์ รวมถึงความรู้สึกทั้งหมด เกิดจากตัวเราเองทั้งนั้น ไม่มีอะไรจีรังยั่งยืน แม้กระทั่งตัวเราเอง ความรู้สึกที่เราคิดว่าเป็นของตัวเอง แท้จริงก็ไม่ใช่ เดี๋ยวโกรธเดี๋ยวดีใจ สักพักก็รู้สึกเฉยๆ เรากล้าพูดหรือเปล่าว่าความรู้สึกใดความรู้สึกหนึ่งคือตัวเราจริงๆ ? ก็พูดไม่ได้
หรือแท้จริงแล้ว จะไม่มีตัวเราอยู่เลย?
นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ใช้การทำสมาธิบนการทดลองกับผู้อื่น แต่ไม่ค่อยใช้กับตัวเอง ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ขัดแย้งกันดี เพราะแท้จริงแล้วการทำสมาธิเป็นวิธีการที่จะทำให้เราเข้าใจจิตใจตัวเองมากขึ้น เข้าใจธรรมชาติของจิตใจ
…และเราควรรีบเข้าใจจิตใจตัวเอง ก่อนที่อัลกอริธึมจะมาเข้าใจแทนเรา
จบแล้ว ดูเหมือนบทเรียนหลังๆ นี่ความยาวจะเริ่มน้อยลงๆ T^T คือตัวเนื้อหาในหนังสือมันก็น้อยลงด้วยแหละ ส่วนคนสรุปก็เริ่มเบลอๆ แล้วด้วยเลยคัดมาเน้นๆ แค่สารหลักของแต่ละบท ทั้งหมดทั้งมวลนี้ น่าจะพอทำให้เราเห็นภาพของศตวรรษที่ 21 และอนาคตอันใกล้-ไกลมากขึ้น ว่าแท้จริงแล้ว ยังมีปัญหาสเกลใหญ่ให้เราในฐานะมนุษย์โลกช่วยกันจัดการอีกมาก แต่การที่จะไปขจัดปัญหาใหญ่นั้นได้ เราก็ต้องจัดการปัญหาเล็กๆ ยิบย่อยที่ทำให้พวกเราชาวโลกแตกคอกันเสียก่อน
เราเข้าใกล้อนาคตมากขึ้นเรื่อยๆ ยังมีอีกหลายสิ่งอย่างที่คาดเดาไม่ออกเลยว่าจะเป็นอย่างไร หากสิ่งที่ผู้เขียนกล่าวถึงในหนังสือนั้นเกิดขึ้นจริงเป็น worst case scenario โลกเราก็คงจะกลายเป็นเหมือนหนังดิสโทเปียเรื่องหนึ่งที่น่าสนุกในสายตาคนดู แต่ขมขื่นสำหรับคนอาศัย
ยังคงยอมรับว่าเราเองก็ไม่ได้เข้าใจทุกเรื่องในหนังสือเล่มนี้แบบ 100% ยังมีจุดที่ไม่ชัดเจนอยู่บ้าง บางส่วนก็มีความซับซ้อน ต้องอ่านหลายๆ รอบถึงจะเริ่มเข้าใจความเชื่อมโยงและเหตุผลเบื้องหลัง ที่สรุปมานี้ก็อาจจะมีความเห็นส่วนตัวแทรกเข้าไปด้วย ยังไงอ่านสรุปนี้แล้วก็อ่านจากที่อื่นด้วยละกัน อ่านจากหลายๆ ที่เพื่อความเข้าใจที่ชัดกว่านะฮะ หรืออ่านหนังสือเล่มเต็มเลยก็ได้สำหรับใครที่มีเวลาและอยากรู้แบบละเอียดๆ แม้ว่าจะเป็นหนังสือที่อ่านค่อนข้างยาก เหมือนยาขมมากกว่าไอติม แต่เราก็ขอแนะนำ เพราะทำให้เข้าใจกลไกและสังคมโลกในปัจจุบันอย่างมากขึ้นจริงๆ