สรุปไว้อ่านเล่น : กล้าที่จะถูกเกลียด
เขียนโดย คิชิมิ อิชิโร และ โคะกะ ฟุมิทะเกะ
“กล้าที่จะถูกเกลียด” บอกเล่าถึงแนวคิดด้านจิตวิทยาของอัลเฟรด แอดเลอร์ ผ่านการสนทนาของตัวละครสองตัว: ชายหนุ่มที่กำลังมีปัญหากับชีวิต และ นักปรัชญาผู้ซึ่งให้คำปรึกษาชายหนุ่มโดยอิงจากฐานความรู้ของทฤษฎีแอดเลอร์ ระหว่างอ่านเรารู้สึกแปลกใจไม่น้อยกับแนวคิดสุดโต่งที่ไม่เคยคาดฝันมาก่อนว่าจะมีบนโลกใบนี้ แต่ก็สนใจทฤษฎีอันแปลกประหลาดนี้ด้วยเช่นกัน เพราะมีหลายๆ จุดเลยที่อ่านแล้วรู้สึกว่า เฮ้ย จริงด้วย เหมือนที่เคยเจอมาเลย หรือไม่ก็ โห จริงว่ะ รู้ได้ไงเนี่ย รู้สึกเหมือนโดนจี้ใจดำ ไขข้อสงสัยบางจุดซะกระจ่าง
หนังสือแบ่งออกเป็น 5 บทใหญ่ๆ ซึ่งทำหน้าที่ถ่ายทอดแนวคิดหลักของแอดเลอร์ เพื่อตอบคำถามหลักที่ว่า ‘ทำอย่างไรถึงจะมีความสุขและมีอิสระ’
ข้างล่างนี้จะเป็นสรุปเนื้อหาหนังสือล้วนๆ ไม่มีความคิดเห็นของตัวเองมาเกี่ยวข้อง ยกเว้นตอนท้ายที่เป็นการสรุปความรู้สึกส่วนตัว
1) อย่าเชื่อเรื่องแผลใจ
– แอดเลอร์ปฏิเสธการมีอยู่ของแผลใจ เพราะมองว่าอดีตไม่สามารถส่งผลกระทบต่อปัจจุบันได้ (ตรงกันข้ามกับทฤษฎีของซิกมันด์ ฟรอยด์)
– การที่คนเรานึกว่าแผลใจในอดีตทำให้เกิดสภาพในปัจจุบันนั้นแท้จริงแล้วเป็นการหลอกตัวเอง โดยเอาเรื่องราวในอดีตมาเป็นข้ออ้างเพื่อให้สามารถดำรงอยู่ในสภาพปัจจุบันได้ และเพื่อเป็นเครื่องมือในการบรรลุเป้าหมายของตัวเอง เพราะมนุษย์ “ยึดถือเป้าหมายเป็นหลัก”
– ยกตัวอย่างเช่น เด็กมีปัญหาที่ขังตัวเองอยู่ในห้อง เราอาจจะคิดว่าเขาทำอย่างนั้นเพราะถูกพ่อแม่ทำร้ายตอนเด็ก ส่งผลให้กลัวการเข้าสังคม แต่แท้จริงแล้วไม่ใช่เลย เขาสามารถลิขิตชีวิตตัวเองให้ออกไปสู่โลกภายนอกได้ แต่ที่เขาเลือกจะอยู่ในห้องนั้นเป็นเพราะเขามีเป้าหมายว่า “จะต้องอยู่ในห้อง” เขาจึงสร้างความกลัวโดยอิงจากเรื่องราวในอดีตขึ้นมา
– ถามว่าทำไมต้องมีเป้าหมายแบบนั้น? นั่นเป็นเพราะเป้าหมายหลักของเขาคือการ “เรียกร้องความสนใจ” จากพ่อแม่ และอาจเป็น “การแก้แค้น” ให้พ่อแม่เป็นห่วงกลายๆ ด้วย
– เช่นเดียวกันกับกรณีของอารมณ์โกรธ อารมณ์โกรธนั้นไม่ได้เกิดเพราะเหตุการณ์ที่ทำให้เราหัวเสีย เพราะแท้จริงแล้วเราสามารถนิ่งเฉยได้ แต่ที่เราปล่อยอารมณ์โมโหออกมานั้นเป็นเพราะเรามี “เป้าหมาย” ว่าจะต้องโวยวายให้คนอื่นนอบน้อมต่างหาก กล่าวคือ อารมณ์โกรธเป็นเพียง “เครื่องมือ” ในการให้ได้มาซึ่งเป้าหมายที่เราต้องการ
– ดังนั้น จึงสรุปได้ว่าเราสามารถกำหนด “ไลฟ์สไตล์” ของตัวเองได้ ณ วินาทีนี้ โดยที่ไม่มีการยึดถืออดีตและปัจจัยรอบด้าน
– คนส่วนใหญ่อยากมีชีวิตที่ดีกว่า อยากมีความสุขมากกว่านี้ แต่ไม่ลงมือเปลี่ยนแปลงเพราะรู้สึกว่าชีวิต ณ ตอนนี้ก็สบายดีอยู่แล้ว แม้จะมีเรื่องที่ติดขัดอยู่บ้างแต่ก็คงสะดวกสบายกว่าการเปลี่ยนไลฟ์สไตล์แน่นอน
2) ความทุกข์ใจทั้งหมดล้วนเกิดจากความสัมพันธ์
– แอดเลอร์สรุปว่าหากเรายังใช้ชีวิตอยู่ในสังคมที่มีผู้คน ความทุกข์ย่อมเกิดขึ้น หากไม่อยากมีทุกข์ก็ต้องอยู่คนเดียว
– เรามักจะนำตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่นจนเกิดความทุกข์ อย่างเช่น ความรู้สึกต่ำต้อย ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นสิ่งที่เราปรุงแต่งขึ้นมาเอง ต้นเหตุมาจากการที่มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องการแสวงหาความเหนือกว่า ความรู้สึกต่ำต้อยนั้นหากนำมาใช้เป็นแรงผลักดันให้พัฒนาตัวเองย่อมกลายเป็นสิ่งดี แต่หากเรานำความรู้สึกต่ำต้อยมาเป็นข้ออ้างเมื่อไร ความรู้สึกต่ำต้อยจะกลายเป็นปมด้อยในทันที การทำแบบนี้คือการสร้างความเป็นเหตุเป็นผลลวง คือการหาข้ออ้างให้ตัวเองยอมรับสิ่งแย่ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตได้
– นอกจากนี้ ปมด้อยยังสามารถพัฒนากลายเป็นปมเด่นได้ นั่นคือพฤติกรรมของคนที่ชอบโอ้อวดเพื่อพยายามปกปิดปมด้อยของตัวเอง บางคนชอบอวดความทุกข์ของตัวเองเพื่อจะได้กลายเป็นคนพิเศษที่คนอื่นให้ความใส่ใจ และบางคนก็อาจใช้ความอ่อนแอเป็นอำนาจควบคุมคนอื่น อย่างเช่น เด็กทารกที่ยังทำอะไรเองไม่เป็นก็จะมีผู้ใหญ่คอยดูแล
– แม้จะมีความแตกต่าง แต่มนุษย์ทุกคนล้วนเท่าเทียม เราควรปฏิบัติต่อคนอื่นเหมือนเพื่อนมนุษย์คนหนึ่ง
– เราไม่ควรแข่งขันเพื่อเอาชนะคนอื่น แต่ควรแข่งขันกับตัวเองเพื่อพัฒนาตัวเองให้ก้าวไปได้ไกลกว่าเดิม เพราะการแข่งขันกับคนอื่นจะทำให้เรามองคนอื่นเป็นศัตรู และนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่เป็นทุกข์ ฝ่ายที่พ่ายแพ้อาจหาทางแก้แค้นเราในภายหลัง
– ในกรณีที่เราเป็นฝ่ายถูก ก็ไม่ควรคิดว่าเราถูก เพราะอีกฝ่ายจะกลายเป็นคนผิดทันที สิ่งนี้จะนำไปสู่การต่อสู้เพื่อเอาชนะ การมุ่งแต่จะเอาชนะอย่างเดียวอาจทำให้เราเลือกทางเลือกที่ผิดได้
– หากเราเปลี่ยนมุมมองว่าคนอื่นๆ เป็นมิตร เราก็จะสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ราบรื่นได้
– มนุษย์มีเป้าหมายด้านพฤติกรรมและด้านจิตใจ ด้านพฤติกรรมคือการพึ่งพาตัวเองได้และใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นในสังคมได้ ส่วนด้านจิตใจคือการรู้สึกว่าตนมีความสามารถ และรู้สึกว่าทุกคนเป็นมิตร เป้าหมายเหล่านี้จะได้รับการบรรลุเมื่อเราประสบความสำเร็จกับภารกิจของชีวิตทั้ง 3 ด้าน นั่นก็คือการงาน การเข้าสังคม และความรัก
– มนุษย์จะใช้ปมด้อยมาเป็นข้ออ้างเพื่อหลีกหนีภารกิจของชีวิต พฤติกรรมนี้เรียกว่าการโกหกตัวเอง
3) ตัดเรื่องของคนอื่นทิ้งไปเสีย
– เนื่องจากเราไม่ได้เกิดมาเพื่อทำตามความคาดหวังของคนอื่น เราก็ไม่ควรปรารถนาการได้รับการยอมรับจากคนอื่นเช่นกัน การใช้ชีวิตตามความคาดหวังของคนอื่นทำให้ชีวิตของเราเองหายไปเพราะมัวแต่ไปใช้ชีวิตแบบที่คนอื่นอยากให้เป็น ทำให้เราไม่สามารถมีอิสระได้
– คนเราอยากได้การยอมรับจากคนอื่นเพราะไม่อยากถูกเกลียด ดังนั้น การจะได้มาซึ่งอิสระและความสุขคือการกล้าที่จะถูกเกลียด เพราะตราบใดที่ยังสนใจคำวิพากษ์วิจารณ์หรือคำนินทา เราก็จะไม่มีวันได้ใช้ชีวิตในแบบที่ตัวเองต้องการ
– ปัญหาจากความสัมพันธ์ส่วนใหญ่มีต้นตอมาจากการไม่รู้จักแยกแยะธุระของแต่ละคน โดยเราอาจจะไปก้าวก่ายธุระคนอื่น หรือไม่ก็คนอื่นมาก้าวก่ายธุระของเรา การจะระบุว่าเป็นธุระของใครนั้นให้ดูว่าสุดท้ายแล้วผลกระทบของเรื่องนั้นๆ จะไปตกอยู่ที่ใครเป็นหลัก
– “เราสามารถจูงม้าไปริมแม่น้ำได้ แต่ไม่สามารถบังคับให้ม้ากินน้ำได้” หมายความว่าเราสามารถให้ความช่วยเหลือคนอื่นได้ แต่ไม่สามารถบังคับให้คนอื่นทำตามที่เราต้องการได้
– เราควรเลือกเส้นทางที่ตัวเองเชื่อว่าดีที่สุด คนอื่นจะตัดสินยังไงก็เป็นธุระของเขา เราไม่สามารถไปบังคับเขาได้ หากมัวแต่กลัวสายตากังวลของคนอื่น เราอาจไม่ได้เดินตามทางที่เราอยากเดินจริงๆ
– ทุกความสัมพันธ์จำเป็นต้องมีระยะห่างที่พอเหมาะ ไม่ใกล้ไป ไม่ไกลไป
– เราเป็นคนกำหนดความสัมพันธ์ได้ด้วยตัวเอง หากอยากเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ เราควรเป็นฝ่ายเริ่มก่อน และอย่าคาดหวังให้อีกฝ่ายเปลี่ยนแปลงตามที่ตนต้องการ
4) ศูนย์กลางของโลกอยู่ตรงไหน
– เป้าหมายสูงสุดของความสัมพันธ์คือความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ซึ่งการจะรู้สึกแบบนั้นได้ เราจะต้องมองว่าคนอื่นๆ เป็นมิตรและรู้สึกว่าที่ตรงนี้คือที่ของเรา นอกจากนี้เราต้องทุ่มเทให้กับสังคมนั้นอย่างเต็มที่ผ่านภารกิจของชีวิต
– พึงรำลึกไว้เสมอว่าเราไม่ใช่ศูนย์กลางของโลก เราเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสังคมที่กว้างใหญ่ สังคมมีอยู่หลายแบบหลายขนาด เช่น สังคมครอบครัว โรงเรียน จังหวัด โลก จักรวาล เราควรฟังเสียงของสังคมที่ใหญ่กว่า เพราะเป็นมุมมองความเห็นที่เป็น universal มากกว่า ดังนั้น หากเจอปัญหาในสังคมเล็กๆ ที่ตัวเองประจำอยู่ทุกวัน ให้เข้าใจว่ามันคือ “พายุในถ้วยชา” ที่เมื่อเราออกมาจากสังคมนั้นแล้ว เราจะเห็นว่ามันเป็นเรื่องเล็กๆ เท่านั้น
– เราควรสร้างความสัมพันธ์แบบเท่าเทียม ไม่มีการแบ่งชนชั้น เพราะการแบ่งชนชั้นจะนำไปสู่ความรู้สึกต่ำต้อย ความสัมพันธ์แบบเท่าเทียมคือการ treat อีกฝ่ายแบบเพื่อนมนุษย์คนหนึ่ง โดยวิธีนึงที่ใช้ได้คือการไม่ให้รางวัล (เช่น คำชม) และไม่ลงโทษ (เช่น ดุด่า) เนื่องจากสองวิธีนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อการควบคุมอีกฝ่าย เป็นอีกกลไกนึงของความสัมพันธ์แบบแบ่งชนชั้น และทำให้เราคาดหวังสิ่งตอบแทนสำหรับการกระทำทุกๆ อย่าง แทนที่จะชม ก็เปลี่ยนเป็นคำขอบคุณหรือคำแสดงความยินดีแทน คำชมคือการประเมินคนที่ไร้ความสามารถโดยคนที่มีความสามารถ หากเรายินดีในคำชม นั่นหมายความว่าเรากำลังมองตัวเองว่าไร้ความสามารถ
– การที่คนเราไม่กล้าเผชิญปัญหาเป็นเพราะเขาขาดความกล้า ความกล้าเกิดขึ้นได้เมื่อคนเรารู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า มีประโยชน์ต่อสังคมนั้นๆ ถึงอย่างนั้นคำว่าประโยชน์ก็ไม่ได้จำกัดแค่การกระทำเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงตัวตนด้วย เช่น คนป่วยที่ไม่สามารถออกแรงช่วยเหลือใครได้ ก็ไม่ได้หมายความว่าตัวเขาไร้คุณค่า เขายังมีคุณค่าสำหรับญาติมิตรเพราะสำหรับญาติมิตรนั้น แค่เขามีชีวิตอยู่ก็ถือว่ามีคุณค่าแล้ว
5) ใช้ชีวิต ณ “วินาทีนี้” อย่างจริงจัง
– การจะรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคมนั้น เราต้องยอมรับตัวเอง เชื่อใจคนอื่น และช่วยเหลือคนอื่นให้ได้เสียก่อน
– การยอมรับในตัวเองคือการตระหนักรู้ว่าเรามีอะไร เราขาดอะไร เข้าใจสภาพของเราว่าแท้จริงแล้วเป็นยังไงเพื่อพัฒนาตัวเองต่อไป สิ่งนี้คือการเต็มใจรับสภาพ ว่ามีสิ่งไหนที่เปลี่ยนแปลงได้บ้าง และเราจะใช้ประโยชน์จากสิ่งที่เรามีอยู่ได้ยังไง ในขณะที่การมั่นใจในตัวเองคือการอวดเก่งหลอกตัวเองไปวันๆ แม้จะเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ก็ตาม
– การเชื่อใจคือการเชื่อคนอื่นอย่างไร้เงื่อนไข หากเรากลัวที่จะเชื่อใจคนอื่น เราจะไม่มีทางสร้างสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับใครได้ หากเรากลัวว่าจะถูกหักหลัง ให้ตระหนักไว้ว่าหากเขาคิดจะหักหลัง นั่นก็เป็นธุระของเขา เราไม่สามารถไปควบคุมได้ หน้าที่ของเราคือตัดสินแค่ว่าจะเชื่อใจหรือไม่เท่านั้น
– การช่วยเหลือคนอื่นจะทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าและมีความสุข ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องเข้าใจว่าการช่วยเหลือดังกล่าวต้องเป็นการช่วยเหลือแบบใจจริง ไม่ได้มีเป้าหมายว่าตัวเองจะต้อง “มีคุณค่าในสายตาคนอื่น” การจะช่วยเหลือคนอื่นได้อย่างบริสุทธิ์ใจนั้น เราจะต้องมองว่าคนอื่นเป็นมิตรก่อน เราถึงจะสามารถช่วยเหลือเขาอย่างเต็มที่ ไม่เสแสร้งได้
– หากโยงกลับไปที่เป้าหมายของมนุษย์ จะเห็นได้ว่าการพึ่งพาตัวเองได้ กับการรู้สึกว่าตนมีความสามารถ คือเรื่องการยอมรับตัวเอง ส่วน การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมได้ดี กับการรู้สึกว่าทุกคนเป็มมิตร คือการเชื่อใจคนอื่นและช่วยเหลือคนอื่น
– คนที่มองชีวิตเพียงด้านเดียวจะตัดสินทุกอย่างด้วยมุมมองแคบๆ ของตัวเอง รวมถึงคนที่ทุ่มเทให้กับด้านใดด้านนึงในชีวิตมากเกินไป เช่น คนบ้างานที่ทุ่มเทให้งานและนำมันมาเป็นข้ออ้างในการไม่ยอมทำภารกิจชีวิตอื่นๆ
– เนื่องจากมนุษย์เราต้องการก้าวหน้า คนที่ไม่ประสบความสำเร็จบางคนอาจใช้วิธี “แสวงหาความเหนือกว่าแบบมักง่าย” กล่าวคือ การทำตัวแย่ๆ เพื่อเรียกร้องความสนใจ จะได้หลุดจากสถานะคนธรรมดามาเป็นคนพิเศษที่ได้รับความสนใจ แม้จะเป็นด้านลบก็ตาม
– แอดเลอร์เชื่อว่าชีวิตคือจุดที่เชื่อมต่อกัน ไม่ใช่เส้นทางตรงๆ ที่กำหนดวางแผนล่วงหน้าได้ เพราะชีวิตแต่ละช่วงนั้นเราสามารถ improvise ได้เอง ณ วินาทีนั้นๆ มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับอดีตที่ผ่านมา หรืออนาคตที่ยังมาไม่ถึง การมองว่าชีวิตประกอบด้วยจุดหลายๆ จุด คือการเข้าใจว่าชีวิตมีความยืดหยุ่น สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา เหมือนการเต้นรำที่เต้นตามจังหวะไปเรื่อยๆ โดยไม่ทราบว่าสุดท้ายแล้วเมื่อเพลงจบ เราจะยืนอยู่ตรงจุดไหน ดังนั้น เราไม่มีทางรู้เลยว่าเป้าหมายที่เราวางไว้นั้นจะเปลี่ยนแปลงทีหลังรึเปล่า เราไม่ควรไปยึดติดกับมัน ขอแค่เราทุ่มเทให้กับวินาทีนี้อย่างสุดกำลังก็พอ เมื่อเราทำอะไรสักอย่างจนสำเร็จไปเองโดยไม่รู้ตัว นั่นหมายความว่าชีวิตของเราสมบูรณ์ในตัวเองแล้ว
ความรู้สึกส่วนตัวหลังอ่านจบ
เอาจริงๆ คืออ่านหนังสือเล่มนี้เมื่อ 2 ปีที่แล้ว และเป็นหนึ่งในหนังสือที่ชอบที่สุด อยากแนะนำให้หลายๆ คนรอบตัวอ่านเพราะมันทำให้เข้าใจมนุษย์ สังคม และความสัมพันธ์ได้ระดับนึง อย่างน้อยก็เข้าใจตัวเอง กล้าที่จะทำในสิ่งที่คิดว่าใช่สำหรับตัวเอง และเลิกกลัวคนอื่นๆ เกลียดด้วยการทำตามใจคนอื่นสักที
จะเห็นได้ว่าตัวหนังสือไม่ได้บอกให้เราทำตัวแย่ๆ เพื่อให้ทุกคนเกลียด หรือให้เราตัดขาดไม่แคร์โลกเลย ตรงกันข้าม มนุษย์ยังต้องการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ไม่มากก็น้อย เพียงแต่วิธีการนั้นไม่ใช่การฝืนตัวเองเข้าสังคม แต่ทุกอย่างต้องมาจากภายใน มาจากความยินดีในตัวเราเองและคนอื่นๆ มาจากความต้องการของเราเองจริงๆ ที่อยากจะทำสิ่งนั้น
สุดท้ายมันก็คือการไม่ยึดติดความคาดหวังหรือความต้องการของคนอื่น ทั้งนี้ก็เพื่อเปิดช่องว่างให้ตัวเองทำในสิ่งที่ต้องการ ค้นพบตัวเองให้เจอ แล้วเราก็จะมีอิสระ แม้จะมีอุปสรรคภายนอกอื่นๆ หรือปัจจัยอื่นที่ไม่เอื้ออำนวยนัก แต่อย่างน้อยเราก็ชนะใจตัวเองได้แล้ว
ถึงอย่างนั้น ไม่ใช่ทุกๆ จุดของหนังสือที่เราเห็นด้วย อย่างที่บอก บางจุดเราก็รู้สึกว่ามันสุดโต่งไป เช่น จุดที่บอกว่าคำชมเป็นการควบคุมปั่นหัวอีกฝ่าย เรารู้สึกว่าคำชมจากใจจริงมันก็ดี และในฐานะผู้ที่ได้รับคำชม มันก็รู้สึกดีนะ และรู้สึกว่าตัวเองมีค่าด้วยซ้ำ
ยังไงก็ตาม ใครที่สนใจจิตวิทยา หรือกำลังตบตีกับความคิดตัวเองอยู่ ลองอ่านหนังสือเล่มนี้ได้ 🙂