เชื่อว่าใครหลาย ๆ คนต้องเตะตาหนังสือเล่มนี้แน่ ๆ ทั้งสีส้มแปร๋น ทั้งชื่อหนังสือที่แสนจะเฮ้วเหลือเกิน จนอดสงสัยไม่ได้ว่าเนื้อหามันจะเป็นยังไง
The Subtle Art of Not Giving a Fuck เขียนโดยบล็อกเกอร์สาย Self-Help อย่าง Mark Manson เป็นหนังสือที่เสนอมุมมองใหม่เกี่ยวกับการมีความสุขกับชีวิต โดยหัวใจหลักก็คือการ “ช่างแม่ง”
เอาละ แค่นี้ก็อยากรู้เพิ่มเติมแล้ว เอนทรี่นี้เลยขอมาสรุปหนังสือเล่มนี้ให้อ่านกันค่ะ
บทที่ 1: Don’t Try – อย่าพยายาม
หนังสือเริ่มต้นด้วยการเล่าเรื่องของ Charles Bukowski นักเขียนชายชาวเยอรมันคนหนึ่งที่เขียนหนังสือขายได้เป็นกอบเป็นกำ แม้ว่าด้วยพฤติกรรมต่าง ๆ จะโน้มเอียงไปทางไอ้ขี้แพ้ ตามขนบเดิม ๆ หลายคนก็คงอวยว่าเพราะชาร์ลส์พยายามอย่างไม่ย่อท้อ ถึงพิชิตความฝันของตัวเองได้
แต่อนิจจา ป้ายหลุมศพของชาร์ลส์ดันสลักไว้ว่า “อย่าพยายาม”
ชาร์ลส์ยอมรับว่าตัวเองเป็นไอ้ขี้แพ้ เขาไม่พยายามที่จะปกปิดด้วยการสร้างภาพลักษณ์สวยหรูหรือนิสัยติดตัวที่ดูดี เขายอมรับมันโต้ง ๆ นี่แหละ เขียนถึงมันตรง ๆ ไปเลย
สังคมสมัยนี้พยายามยัดเยียดให้เราไขว่คว้าสิ่งที่สูงขึ้นไปอีกเรื่อย ๆ ต้องสวยหล่อขึ้น ต้องสุขภาพดีขึ้น ต้องเก่งขึ้น ต้องรวยขึ้น ต้องแฮปปี้ขึ้น ฯลฯ แต่พอมองให้ดี ๆ การยุยงเหล่านี้ล้วนตอกย้ำว่าสถานะเราตอนนี้มัน “ยังไม่พอ” เรายังขาดอะไรบางอย่าง เรายังไม่สมบูรณ์…
คนที่มีความสุข เขาไม่ต้องคอยพูดย้ำกับตัวเองว่าเขามีความสุขหรอก เช่นเดียวกันกับคนที่เขารวย หรือคนที่เขาหุ่นดี เขาไม่ต้องพยายามโน้มน้าวตัวเองเลยว่า “ฉันรวย ฉันเก่ง ฉันดูดี” คนที่พอใจกับสิ่งที่มี เขาก็แค่พอใจ จบ ไม่จำเป็นต้องย้ำเตือนกับตัวเอง
แต่ก็นั่นแหละ ค่านิยมสมัยนี้จะพยายามสะกดจิตเราว่าเรายังขาดสิ่งนู้นสิ่งนี้ไป ถ้าไม่มีสิ่งนี้ ความสุขของเธอจะไม่สมบูรณ์ ฯลฯ สังคมพยายามยัดเยียดให้เราแคร์ทุกอย่าง เพราะมันดีกับระบบทุนนิยม ทั้งที่จริง ๆ แล้วหนทางสู่ความอิสระก็คือการช่างแม่งให้มากที่สุดต่างหาก
The Feedback Loop from Hell
เชื่อว่าหลาย ๆ คนเคยเกิดอาการนี้
…กังวลมากว่าพรุ่งนี้จะทำได้มั้ย สักพักก็เริ่มกังวลที่ตัวเองกังวลเรื่องพรุ่งนี้ แล้วอีกพักนึงก็เริ่มกังวลว่าอ่าวเฮ้ย ทำไมฉันกังวลเยอะจัง
หรือไม่ก็ เคืองที่เพื่อนไม่ทักทรงผมใหม่ สักพักก็เคืองตัวเองว่าทำไมเรื่องแค่นี้ต้องเคืองด้วยวะ แล้วก็เคืองตัวเองอีกว่าทำไมเคืองได้แม้กระทั่งเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ
สิ่งนี้คือวงจรความรู้สึกที่เกิดขึ้นซ้อน ๆ ทับกันไป ทำให้เรายิ่งรู้สึกแย่กับตัวเอง ยิ่งโกรธตัวเอง ยิ่งไม่ชอบตัวเอง โดยเฉพาะสมัยนี้ที่โลกเปิดกว้าง เราสามารถเห็นคนอื่น ๆ เค้าแฮปปี้ดี๊ด๊ากันใน Social Media ส่วนเรานั่งเหม่อเฉย ๆ อยู่ที่บ้าน ก็ยิ่งตอกย้ำความไม่เอาไหนของตัวเองไปกันใหญ่
นี่แหละคือจุดที่ความช่างแม่งจะมาช่วยได้ ถ้าเราช่างแม่งกับความขี้กังวล ความขี้เคือง ความ loser ของเรา เราก็จะตัดวงจร Feedback Loop from Hell นี่ออกไปได้เลย จบ แยกย้าย
ทุกวันนี้เรามีของเยอะมาก มี smart TV ดูหนังได้เป็นร้อย ๆ เรื่อง มีของกินเยอะแยะมากมายให้สั่ง มีเสื้อผ้าให้ใส่เต็มตู้ แต่ทำไมบางคนถึงยังไม่รู้มีความสุข? นั่นเพราะเขายังไม่หยุดตามหาสิ่งนู้นสิ่งนี้มาเติมเต็ม ยิ่งเราโหยหามากเท่าไร มันก็ยิ่งตอกย้ำว่าเราไม่มีมากเท่านั้น
ในขณะเดียวกัน คนที่เขาพอใจกับชีวิตตัวเอง เขาก็แค่ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้า ไม่ว่าจะดีหรือร้าย
การยิ่งไขว่คว้าหาความสุขนั้น แท้จริงแล้วเป็นประสบการณ์ในแง่ลบ เพราะมันยิ่งตอกย้ำว่าเราไม่มีความสุข ในทางกลับกัน การยอมรับประสบการณ์ที่ไม่ค่อยดีเท่าไรนั้น กลับกลายเป็นเรื่องที่ดี เพราะประสบการณ์ที่ไม่ค่อยดี ที่ต้องใช้แรงกายแรงใจ มันจะเป็นบทเรียนให้เราแข็งแกร่งขึ้น
การหลีกหนีความพ่ายแพ้ การพยายามกลบซ่อนปมด้อย การมองข้ามเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ทำให้ความสัมพันธ์ย่ำแย่ ล้วนไม่ส่งผลดีทั้งนั้น ยิ่งพยายามสร้างภาพเท่าไรก็ยิ่งตอกย้ำว่าเราไม่ใช่สิ่งนั้น เราควรจะปะทะกับสิ่งเหล่านี้บ้าง เพื่อความสำเร็จที่แท้จริง
ดังนั้น เราต้องช่างแม่งบ้างว่าชีวิตมันไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ชีวิตมันไม่สามารถมีความสุขได้ตลอดเหมือน Instagram Feed ชีวิตมันสั้น ถ้าเรายึดติดกับทุกสิ่งบนโลกนี้ ก็คงมิวายหัวหมุนไปทั้งวี่ทั้งวัน และไม่ได้มีความสุขจริง ๆ สักที
3 ข้อควรทำ ของการช่างแม่ง
เวลาเราคิดถึงคำว่า “ช่างแม่ง” เราอาจจะนึกภาพคนคนนึงที่ไม่สนใจอะไรในชีวิตเลย เฉย ๆ ไปกับทุกเรื่อง ไม่มีไฟในการทำอะไรสักอย่าง
อันที่จริงนี่เป็นความเข้าใจที่ผิด การช่างแม่งที่ดีนั้นก็มีกฏของมันเหมือนกัน นั่นคือ
- การช่างแม่งคือการที่เราสามารถโอบกอบความแตกต่างได้อย่างสบาย ๆ เรากล้าที่จะเป็นตัวของตัวเอง เรากล้าช่างแม่งในบางสิ่งเพื่อจะบรรลุเป้าหมายในบางสิ่ง ตรงนี้อ่านแล้วก็นึกถึงหนังสือ “กล้าที่จะถูกเกลียด” เลย
- การช่างแม่งที่ดีคือการเลือกช่างแม่งในสิ่งที่ไม่สำคัญ เราควรหาให้เจอก่อนว่าอะไรคือสิ่งสำคัญในชีวิตที่เราจะใส่ใจ ทุ่มเทเวลาสนใจมันจริง ๆ เมื่อเรามีสิ่งนั้นให้แคร์แล้ว เรื่องยิบย่อยต่าง ๆ เราก็จะสามารถช่างแม่งไปได้เลย
- ยิ่งเราโตขึ้น ประสบการณ์ก็จะหล่อหลอมให้เราเข้าใจว่าอะไรคือสิ่งไม่สำคัญ ไม่ต้องไปใส่ใจมากนัก ท้ายที่สุดแล้วเราก็ต้องเลือกบางอย่างที่จะใส่ใจแหละ ไม่มีใครสามารถอยู่ได้แบบช่างแม่งทุกอย่าง
สิ่งที่หนังสือเล่มนี้จะมอบให้เรา
หนังสือเล่มนี้จะไม่ได้ให้วิธีที่เยียวยาทุกสิ่งอย่าง หรือทำให้ทุกอย่างดีขึ้นแบบหน้ามือเป็นหลังมือ แต่จะช่วยให้เรารู้สึกสบายใจกับปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา อาการย่ำแย่ต่าง ๆ ก็เป็นเรื่องธรรมดา หรือเรียกอีกแบบว่าปล่อยวางนั่นเอง
บทที่ 2: Happiness is a Problem – ความสุขคือปัญหา
บทนี้เริ่มต้นด้วยการย้อนประวัติของพระพุทธเจ้า ว่าด้วยการตรัสรู้ถึงความจริงของชีวิต ว่าชีวิตนั้นย่อมมีเกิด แก่ เจ็บ ตาย มีความทุกข์เป็นธรรมดา และเราไม่สามารถหลีกหนีมันได้
อันที่จริง ความเจ็บปวดนั้นถือว่าเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญของการมีชีวิตรอดอยู่ เพราะถ้าชีวิตเราสุขสบายหายห่วง เราคงไม่ต้องดิ้นรนอะไร ไม่ต้องทำมาหากิน ไม่ต้องพัฒนาอะไรกันแล้ว มนุษยชาติก็คงจะย่ำอยู่กับที่ ความเจ็บปวดนั้นถือเป็นหนึ่งวิธีที่ธรรมชาติฟีดแบ็กเรามาว่าสิ่งนี้อย่าทำอีก มันไม่ดี
การเดินไปเตะโต๊ะ ร่างกายก็ส่งความเจ็บมาให้เรารับรู้ว่ามันเป็นพฤติกรรมที่อันตรายกับร่างกาย ขณะเดียวกัน การอกหักก็ส่งความเจ็บปวดมาให้เราเรียนรู้เกี่ยวกับความรักความสัมพันธ์มากขึ้น ดังนั้นการพบเจอความเจ็บปวดบ้างในปริมาณที่พอเหมาะนั้นเป็นเรื่องที่ดี เพราะมันจะทำให้เรามีภูมิคุ้มกัน มีประสบการณ์กับชีวิตมากขึ้น
ความสุขที่แท้จริงมาจากการแก้ไขปัญหาได้
บอกเลยว่าไม่มีใครมีชีวิตที่ไร้ซึ่งปัญหา แม้กระทั่งคนรวยยังมีปัญหาเรื่องการบริหารเงินเลย คนหุ่นดีก็มีปัญหาในการ Maintain หุ่นเหมือนกัน สิ่งที่ต่างกันก็คงมีแค่ไซส์ของปัญหา แน่นอนว่าปัญหาเรื่องเงินของคนรวย ก็คงไม่หนักหนาเท่าปัญหาเรื่องเงินของคนจน แต่ประเด็นก็คือ…ทุกคนล้วนมีปัญหาฉบับของตัวเอง
เมื่อเราแก้ปัญหานึงได้แล้ว ปัญหาใหม่ก็ตามมา… สมมติเราอยากจะแก้ปัญหาความสัมพันธ์จืดจาง เราอาจจะนัดเจอกันทุกวันพุธ อะได้วันละ เหมือนจะจบแล้วแต่ยังไม่จบ ปัญหาใหม่ตามมาอีก… จะทำอะไรด้วยกันดี จะแต่งชุดอะไร เจอกันแล้วจะคุยเรื่องอะไร ฯลฯ
ชีวิตเราต้องแก้ปัญหาไปเรื่อย ๆ ซึ่งความสุขของเราก็จะได้จากการที่เราแก้ปัญหาได้สำเร็จนี่แหละ
บางคนทำไม่ถูกจุด ไม่ยอมแก้ปัญหาตรง ๆ แต่กลับใช้วิธีหลบปัญหา หรือบ่นท้อว่าตัวเองไม่มีศักยภาพพอที่จะแก้ไขปัญหานั้น ๆ สิ่งเหล่านี้อาจบรรเทาความทุกข์ได้ชั่วครู่ แต่ในระยะยาวไม่ดีแน่ ๆ
อย่าให้น้ำหนักกับอารมณ์มากเกินไป
เคยมั้ยที่ตัดสินใจอะไรด้วยอารมณ์ชั่ววูบ ตื่นขึ้นมาอีกทีก็รู้สึกเสียใจว่านี่ฉันทำอะไรลงไป
นั่นเพราะอารมณ์ของเรานั้นเปลี่ยนแปลงเสมอ นอกจากนี้แล้ว มันยังไม่ใช่ตัววัด “ความถูกต้อง” ที่ accurate ด้วย เพราะบางอย่างทำให้เราอารมณ์ดี แต่มันอาจจะไม่ได้ส่งผลดีกับตัวเรา (เช่น ดื่มเหล้า กินอาหารขยะ นอนเปื่อยดูทีวี) ในขณะเดียวกัน อะไรที่ทำให้เรารู้สึกเหนื่อย อารมณ์บ่จอย อาจจะส่งผลดีกับตัวเราก็ได้ (เช่น ตื่นแต่เช้ามาอ่านหนังสือ ออกกำลังกาย)
เลือกให้ดีว่าตัวเองพร้อมจะลำบากกับอะไร
หลายคนมักจะจินตนาการถึงความสุขที่ตัวเองอยากได้ เช่น งานในฝัน หุ่นในฝัน ความรักในฝัน
แต่สิ่งที่หลายคนลืมคิดคือ สิ่งเหล่านั้นเป็นเพียงผลลัพธ์ ซึ่งการจะได้ผลลัพธ์นั้น มันก็ต้องมีการลงทุนลงแรงกันบ้าง
หลายคนอยากเป็นดารา แต่ไม่อยากทำงานหามรุ่งหามค่ำ
หลายคนอยากหุ่นดี แต่ไม่อยากกินคลีน ออกกำลังทุกวัน
หลายคนอยากมีแฟน แต่ไม่อยากเจอความขัดแย้งในความสัมพันธ์
ซึ่งจริง ๆ แล้ว มันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะได้ผลลัพธ์โดยไม่ออกแรงหรือพร้อมจะแลกบางสิ่งบางอย่าง คำถามที่เราควรจะถามตัวเองจึงควรเป็น “เราพร้อมจะลำบากกับอะไรได้บ้าง”
บางทีการที่เราทำอะไรไม่สำเร็จ มันอาจจะไม่ใช่เพราะเราพยายามไม่มากพอหรอก แต่มันอาจจะเพราะเราไม่ได้อยากได้มันขนาดนั้น มากขนาดที่เราจะยอมเสียสละตัวเอง
สิ่งนี้จึงเป็นการค่อย ๆ ค้นหาตัวเอง เพราะสิ่งที่คนอื่นมองว่าลำบาก สำหรับเรามันอาจจะสนุก เป็นปัญหาที่เราอยากแก้ไปเรื่อย ๆ ก็ได้ เช่น บางคนอาจจะชอบออกกำลังกาย ก็จะได้หุ่นที่ดีไป บางคนชอบความท้าทายในที่ทำงาน ก็จะได้ไต่ระดับงานขึ้นสูงไปเรื่อย ๆ เป็นต้น
บทที่ 3: You Are Not Special – คุณไม่ใช่คนพิเศษ
เราอาจจะเคยเจอคนบางคนที่เก่งแต่พูด ดูเหมือนไม่เคยประสบปัญหาอะไรเลยในชีวิต แต่แท้ที่จริงแล้วก็ยังไม่ได้ทำอะไรสำเร็จสักอย่าง
และเราก็อาจจะเคยเจอคนที่ชอบเอาปมด้อยตัวเองมาอ้างการกระทำของตัวเอง เรียกร้องความสงสารเพราะชีวิตเขามันช่างแย่
สิ่งที่คนเหล่านี้ทำคืออ้างสิทธิ์ให้ตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นสิทธิ์ของคนที่คิดว่าตัวเองเจ๋งกว่าคนอื่น หรือสิทธิ์ของคนที่คิดว่าตัวเองโชคร้ายกว่าคนอื่น
แท้จริงแล้วสิ่งเหล่านี้คือการสร้างภาพลวงตาให้ตัวเองรู้สึกมีความสุขชั่วคราว แต่ไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุอย่างจริงจัง
เหตุผลที่คนยุคนี้มักจะโหยหาความสุดโต่ง (ไม่ว่าจะสุดโต่งด้านดีหรือด้านแย่) ก็เพราะพวกเขาอยากจะเป็นคนพิเศษ ไม่อยากเป็นคนธรรมดา ๆ ใช้ชีวิตน่าเบื่อ ๆ นั่นก็เพราะสื่อต่าง ๆ ในสมัยนี้มักจะโชว์แต่ด้าน extreme ยิ่งเราเสพมันเท่าไรเราก็ยิ่งหลงคิดว่านี่คือ new normal ชีวิตฉันต้องเจ๋งสิ ต้องสุดสิ
แต่อันที่จริงแล้ว ต้องยอมรับว่าชีวิตคนเราส่วนใหญ่นั้นน่าเบื่อ คิดดูสิว่าถ้าทุกคนมีชีวิตที่เจ๋งกันหมด นั่นหมายความว่าไม่มีใครเจ๋งกว่าใครเลยรึเปล่า
มันเป็นการยากมากที่จะหาใครที่เก่งครบทุกด้าน หรือหลายด้าน เพราะชีวิตคนเรามีเวลาจำกัด ใครบ้ามันจะไปมีเวลาให้ทุกอย่างแล้วประสบความสำเร็จทุกอย่าง ด้วยเหตุนี้เราจึงอาจจะเห็นนักธุรกิจไฟแรงที่ครอบครัวกำลังหย่าร้าง หรือดาราที่มีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์
การที่คนคนหนึ่งจะไปสู่จุดสุดยอดได้นั้น ไม่ใช่เพราะพวกเขาคิดว่าตัวเองสุดยอด นั่นกลับจะทำให้พวกเขาไม่ยอมพัฒนาอะไร อันที่จริง คนที่เก่งในด้านใดมาก ๆ นั่นเป็นเพราะพวกเขาคิดว่าตัวเองยังไม่เจ๋งพอ ยังมีอะไรให้พัฒนาอีกเยอะ พวกเขาก็เลยยังคงมุ่งมั่นที่จะทำตัวเองให้ดีขึ้น
ในท้ายที่สุดแล้ว เราก็ต้องยอมรับว่าชีวิตโดยส่วนใหญ่ของเรามันจะไม่ได้เจ๋งไปซะหมด หรือโรยด้วยกลีบกุหลาบไปตลอดหรอก เมื่อเรารู้แจ้งเช่นนี้ เราจะเริ่ม appreciate กับความธรรมดาในชีวิตของเรามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนที่ดี ครอบครัวที่ดี มีเวลาออกไปเดินเล่น มีเวลาดูหนังดี ๆ สักเรื่อง… ซึ่งสิ่งเหล่านี้แหละคือความสุขที่หาได้ในทุก ๆ วัน และเราสามารถเอ็นจอยกับมันได้ถ้าเราไม่ไปยึดติดเรื่องที่ว่าเราต้องมีชีวิตสุดโต่งอะไรนั่น
บทที่ 4: The Value of Suffering – คุณค่าของความทรมาน
คุณค่าที่เรายึดถือนั้นจะเป็นตัวสำคัญที่จะกำหนดการตัดสินใจ การกระทำ และสภาพจิตใจของเรา
คนบางคนอาจจะยึดถือว่าความจงรักภักดีนั้นมีคุณค่าอย่างยิ่ง เราก็จะเห็นคนคนนี้ทำทุกอย่างเพื่อแสดงความจงรักภักดี แม้นั่นจะทำให้เขาลำบากก็ตาม เหมือนที่เราเห็นตามหนังพีเรียด พวกที่ยอมหลั่งเลือดเพื่อชาติอะไรนั่น
Self-Awareness Onion
การรู้เท่าทันตัวเองก็เหมือนหัวหอม ที่ต้องปลอกเปลือกออกมาหลาย ๆ ชั้น ยิ่งลึกเท่าไร ก็ยิ่งน้ำตาไหลไม่น่าอภิรมย์ที่จะรู้เท่านั้น แต่เราก็จำเป็นต้องทำเพื่อให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้น
ชั้นแรก – คือการรู้เท่าทันอารมณ์ของตัวเอง
ชั้นที่สอง – คือการรู้เท่าทันว่าทำไมอารมณ์นั้นถึงเกิดขึ้นมา
ชั้นที่สามและชั้นถัด ๆ ไป – ทำไมเราถึงมองว่าสิ่งนี้คือความสำเร็จ/ความล้มเหลว เราจะหา metric ชี้วัดตัวเองได้อย่างไร เราใช้มาตรฐานไหนในการตัดสินตัวเราและคนอื่น ๆ
มันคือการขุดลึกลงไปถึงสิ่งที่เราให้คุณค่า รวมถึงวิธีที่เราใช้วัดว่าคุณค่านั้น ๆ เกิดขึ้นจริงรึเปล่า สิ่งนี้แทบจะเรียกได้ว่า determine ความสุขในชีวิตเราเลยก็ว่าได้
สมมติว่าเราให้คุณค่ากับความสัมพันธ์ฉันครอบครัว นั่นเป็นเรื่องดี แต่ถ้าเราใช้ตัววัดเป็นการพูดคุยสม่ำเสมอแม้ว่าจะไม่ได้เจอหน้ากัน เราก็อาจจะนอยด์เวลาใครในครอบครัวไม่ตอบแชต หรือไม่โทรมาบ่อยเท่าที่ควร
ซึ่งจริง ๆ แล้ว เราก็อาจจะต้องมาคิดว่า ตัววัดนี้มันใช่จริง ๆ เหรอ บางทีความสัมพันธ์ที่ดีอาจไม่จำเป็นต้องพูดคุยกันบ่อยก็ได้ บางทีเราอาจจะวัดกันด้วยความเชื่อใจและความเคารพที่มีให้กันและกันก็ได้
นอกเหนือจากตัววัดแล้ว ตัวคุณค่าเองเราก็ต้องเลือกให้ดี เพราะถ้าเลือกคุณค่าผิด ชีวิตก็เปลี่ยนได้
ตัวอย่างคุณค่าที่ไม่ดี
- ความพึงพอใจ – สิ่งนี้เป็นเพียงอารมณ์ชั่ววูบ และไม่ใช่ว่าทุกการกระทำที่ก่อให้เกิดความพึงพอใจจะเป็นสิ่งที่ดี
- ความสำเร็จด้านวัตถุเงินทอง – สำหรับคนที่ไม่มีกินมีใช้ สิ่งนี้อาจจะเปลี่ยนชีวิตได้ แต่สำหรับคนที่มีพอกินแล้วยังอยากได้อีก มีเท่าไรมันก็ไม่พอ ก็ต้องไล่ล่าไปเรื่อย ๆ
- ตัวเองต้องถูกเสมอ – ในหลาย ๆ ครั้งชีวิตมันไม่ได้เป็นไปตามที่เราคาดหวัง เราต้องหกล้มบ้าง การไปคาดหวังให้ตัวเองถูกตลอดนั้นแทบไม่มีทางเป็นไปได้
- การมองโลกในแง่ดีตลอดเวลา – เหมือนจะดี แต่ถ้าชีวิตคิดบวกไป มันอาจทำให้เรามองข้ามปัญหาและไม่ยอมไปแก้ที่ต้นเหตุสักที
แล้วคุณค่าที่ดีควรเป็นยังไง
- อิงตามความจริง เราไม่ได้มโนไปเองคนเดียว
- ส่งผลดีต่อสังคม
- สามารถควบคุมได้
คุณค่าที่ไม่ดีก็คืออะไรที่ตรงกันข้าม เป็นสิ่งงมงาย ส่งผลเสียกับสังคมรอบด้าน และควบคุมไม่ได้ด้วย
คุณค่าที่ดี เช่น ความซื่อสัตย์ เป็นสิ่งที่ทำได้จริง ส่งผลดีกับคนรอบข้าง และเราก็สามารถควบคุมได้
คุณค่าดี ๆ อย่างอื่นก็เช่น ความใฝ่รู้ ความคิดสร้างสรรค์ การยืดหยัดเพื่อตัวเองและคนอื่น ความเคารพในตัวเอง ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
คุณค่าที่ไม่ดี เช่น ชื่อเสียง แล้วถ้ายิ่งใช้ตัววัดเป็นจำนวนคนที่มาชวนเราเต้นในงานปาร์ตี้ ก็ยิ่งแย่เข้าไปใหญ่ เพราะ 1) เราไม่รู้ว่าเรามีชื่อเสียงจริงมั้ย เราอาจจะมโนไปเอง 2) เราควบคุมคนอื่นไม่ได้ เกิดวันนั้นคนมาน้อย หรือมีคนอื่นที่เด่นกว่า เราก็แห้วไป พานจะอารมณ์เสียเปล่า ๆ
บทที่ 4: You Are Always Choosing – เราต้องเลือกเสมอ
ประสบการณ์การถูกบังคับให้ไปวิ่งมาราธอน กับการสมัครใจไปวิ่งเอง ย่อมเกิดความรู้สึกแตกต่างกัน ทั้ง ๆ ที่เป็นกิจกรรมเดียวกัน
นั่นก็เพราะเมื่อเราถูกบังคับให้ทำอะไรที่เราไม่ชอบ เราก็คงรู้สึกแย่ แต่ถ้าเมื่อไรการกระทำนั้นเป็นสิ่งที่เราเลือกเองแล้วว่าจะรับผิดชอบ เราจะรู้สึกว่าเราควบคุมได้ และมันก็จะกลายเป็นประสบการณ์ที่ดี
ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในชีวิตนั้น เราต้องเลือกอยู่เสมอว่าจะตอบโต้กับมันยังไง
The Responsibility/Fault Fallacy
หลายคนคิดว่า “ความรับผิดชอบ” นั้นมาพร้อมกับ “ความผิด” แต่จริง ๆ แล้วสองอย่างนี้ไม่ได้มาคู่กันเสมอไป
ถ้าเราโยนลูกบอลไปกระแทกหน้าต่างบ้านคนอื่นจนมันแตก โอเคว่านั่นเป็นความผิดเรา และเราต้องรับผิดชอบสิ่งนั้น ๆ ต้องจ่ายค่าหน้าต่างให้
แต่ถ้าวันหนึ่งเราขโมยขึ้นบ้าน ขโมยของพังข้าวของไปหมด แน่นอนว่านี่ไม่ใช่ความผิดเรา แต่เราต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทางด้านอารมณ์ หรือด้านข้าวของเครื่องใช้ที่ได้รับความสูญเสีย
ไม่ว่าจะทางไหน เราต้องรับผิดชอบต่อการตัดสินใจของเราทั้งนั้น และการเลือกที่จะรับผิดชอบนี่แหละคือสิ่งที่จะมอบพลังให้กับเรา
หลายคนพอเจอสิ่งที่ไม่ได้เป็นความผิดของตัวเอง เช่น เกิดมาพิการ โดนขโมยของ ฐานะยากจน พวกเขาเลือกที่จะไม่รับผิดชอบต่อสิ่งนั้น ๆ เพราะมองว่ามันไม่ใช่ความผิดของตัวเอง ในทางตรงกันข้าม พวกเขาใช้วิธีเล่นบทบาท “เหยื่อผู้น่าสงสาร” ทำอะไรไม่ได้ ได้แต่ยอมรับชะตา
แต่จริง ๆ แล้ว เราสามารถลุกขึ้นมาทำบางอย่างได้ทั้งนั้น เพียงเราเลือกที่จะรับผิดชอบสิ่งที่เกิดขึ้น มันก็จะ empower เราให้สามารถทำสิ่งต่าง ๆ ได้ พัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นกว่าเดิม
บทที่ 6: You’re Wrong About Everything (But So Am I) – เราเข้าใจทุกอย่างผิดมาตลอด
เมื่อเรามองย้อนกลับไปในวัยเด็ก เชื่อว่ามันจะต้องมีโมเม้นต์ที่เราหัวเราะเยาะตัวเอง ที่เข้าใจเรื่องนั้นเรื่องนี้ผิด
ตอนเด็ก ๆ เราอาจจะเคยคิดว่าซานต้าคลอสมีอยู่จริง คิดว่า ATM กดเงินได้ไม่จำกัด คิดว่าพระอาทิตย์หมุนรอบโลก ฯลฯ
มาในวันนี้เราได้รู้ความจริงหลาย ๆ อย่าง (ที่ทำลายความฝันของเด็กไปบ้างไม่มากก็น้อย) และนี่ก็คือสัญญาณที่บอกว่าเราได้เติบโตขึ้น
หลายคนกลัวความผิดพลาด กลัวการเข้าใจผิด อยากที่จะถูกตลอดเวลา ซึ่งจริง ๆ แล้วมันยากมากเพราะโลกนี้มีอะไรให้เรียนรู้เยอะแยะ การที่เราผิดบ้างต่างหากคือการเรียนรู้ การเติบโต การไม่หยุดอยู่นิ่ง ๆ
สมองคิดเองเออเอง
การทำงานของสมองเรานั้นจะใช้วิธีจับเชื่อมโยงกัน พยายามหาเหตุผลมาอธิบายทุกอย่าง สมมติว่าเกิดเรื่องบังเอิญขึ้น 3 ครั้ง สมองเราก็เริ่มจะคิดละว่าต้องมีอะไรอยู่เบื้องหลังแน่ ๆ ต้องมีทฤษฎีมาอธิบายเรื่องนี้ แม้ว่าจริง ๆ แล้วมันจะไม่มีความเชื่อมโยงกันเลย และสมองของเราก็แค่คิดไปเองทั้งนั้น
ยิ่งมั่นใจ ยิ่งอันตราย
การที่เรามั่นใจในอะไรมาก ๆ นั้น มักจะทำให้เราไม่เปิดใจเรียนรู้มุมมองที่ต่างออกไป จะยิ่งยึดว่าสิ่งนี้คือสิ่งที่ถูกต้องแล้ว
และยิ่งเราโหยหาความมั่นคง ความมั่นใจในอะไรสักอย่าง นั่นก็ยิ่งหมายความว่าเรากำลังรู้สึก insecure ไม่ไว้วางใจบางสิ่งบางอย่างอยู่ ไม่อย่างนั้นเราคงไม่กระวีกระวาดพยายามหาบางอย่างเพื่อเกาะหรอก
ทางที่ดีก็คือ ให้ยอมรับว่าชีวิตมันมีอะไรไม่แน่นอน ยังมีอีกหลาย ๆ เรื่องที่เราไม่รู้ การที่เราคิดว่าเรารู้เยอะแล้ว มีแต่จะทำให้เราอีโก้จัดและไม่ยอมเปิดรับสิ่งใหม่ ๆ เข้ามา เพราะคิดว่ารู้ทุกเรื่องแล้ว คนประเภทนี้ไม่มีทางที่จะเติบโตหรือเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ได้เลย เหมือนแก้วที่น้ำเต็มปริ่มแล้ว
ดังนั้นหากใครยังไม่ค้นพบว่าตัวเองชอบอะไร เหมาะกับงานแบบไหน หรือเส้นทางชีวิตควรเป็นยังไง ก็โล่งใจไปได้ ณ จุดนี้ เพราะยิ่งเราไม่รู้ มันก็จะยิ่งผลักดันให้เราขวนขวาย หาประสบการณ์ไปเรื่อย ๆ
เรามักจะหนีอะไรก็ตามที่จะมาทำลายตัวตนของเรา
ใคร ๆ ก็อยากจะมี comfort zone อยากเชื่อว่าตัวเองเป็นคนอย่างนู้นอย่างนี้
หลาย ๆ ครั้ง เรายึดว่าเราเป็นคนดี และนั่นอาจจะทำให้เราไม่กล้าทำบางสิ่งบางอย่างที่อาจจะดีต่อชีวิตเรา ไม่กล้าปฏิเสธนัดที่ไม่อยากไป ไม่กล้าทวงเงินที่ถูกยืมไป ไม่กล้าเถียงเพื่อยืนยันความคิดของตัวเอง
บางคนอาจจะไม่กล้ามีชีวิตที่ใฝ่ฝัน เพราะนั่นอาจหมายถึงความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้น เขาอาจจะกลายเป็น “ศิลปินที่ไม่มีใครชอบ” ดังนั้นเขาเลยไม่กล้าออกจากงานประจำมาเป็นศิลปินสักที เขารู้สึกปลอดภัยกับการเป็นเพียง “ศิลปินที่ไม่มีคนรู้จัก” ทำงานศิลปินเป็น part-time ไปเรื่อย ๆ ต่อ
หากเรากล้าที่จะละทิ้งตัวตนเหล่านี้ สงสัยในสิ่งที่ตัวเองเป็นอยู่เสมอ เราก็จะกล้าตัดสินใจมากขึ้น เราไม่ต้องทนอยู่กับความสัมพันธ์ห่วย ๆ เพียงเพราะอยากจะเป็นคนที่มี relationship ที่ดีกับคนอื่น เราไม่ต้องทนอยู่กับงานที่เกลียดเพียงเพราะอยากจะพิสูจน์ว่างานที่ตัวเองทำนั้นประเสริฐ
อย่าพยายามยึดติดตัวตนที่โคตรจะแคบ อย่างการเป็น “พนักงานดาวรุ่ง” หรือการเป็น “อัจฉริยะที่ยังไม่มีใครค้นพบ” เพราะนั่นยิ่งทำให้เราเครียดกับการทำตัวเองให้ไปถึงจุดนั้น ทางที่ดีคือพยายามโยงตัวเองเข้ากับอะไรกว้าง ๆ เช่น นักเรียน คู่ชีวิต เพื่อน ผู้สร้าง ชีวิตก็จะง่ายขึ้นเยอะ
วิธีเอาชนะความมั่นใจในตัวเอง
การคอยตั้งคำถามและสงสัยในความคิดของตัวเองอยู่เสมอนั้นเป็นสกิลที่หินระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้ยากเกินไป เหล่านี้คือคำถามที่จะช่วยให้เราตั้งรับกับความไม่แน่นอนในชีวิตได้ดีขึ้น
#1: ถ้าฉันผิดล่ะ?
เป็นการดีที่เราควรตั้งคำถามว่าสิ่งที่เราคิดนั้น “ผิด” ไปบ้างรึเปล่า ไม่ใช่เอะอะก็ยืนยันว่าตัวเองถูกลูกเดียว บางทีสิ่งที่อีกฝ่ายพูดอาจจะถูก เราอาจจะผิด เราอาจจะกำลังอีโก้สูงรึเปล่า
การตั้งคำถามแบบนี้เรื่อย ๆ จะช่วยให้เรารู้สึกถ่อมตัวว่าตัวเองไม่ได้ถูกเสมอไป มันอาจจะมีวิธีแก้ปัญหาอื่น ๆ ที่ดีกว่านี้ก็ได้
และส่วนใหญ่แล้ว เรามักจะต้องทำอะไรผิดสักอย่างหนึ่งก่อนแหละ เราถึงจะพลิกเปลี่ยนชีวิตเราได้ ถ้าเลือกงานที่ผิด ชีวิตแย่ ก็จะเป็นแรงผลักดันให้เราหางานใหม่ที่ดีกว่าเดิม
#2: ถ้าฉันผิด มันจะหมายถึงอะไร?
การที่เรารู้ถึงขั้นว่า ถ้าเราผิดนั้น มันจะหมายถึงอะไร เป็นคำถามที่ดีพมาก ๆ เพราะนั่นหมายถึงการท้าทายตัวเองระดับนึงเลย คำตอบอาจจะออกมาว่า ถ้าเราผิด มันอาจจะหมายถึงว่าเราเป็นคนขี้ระแวง คนหลงตัวเอง คนงี่เง่า คนเห็นแก่ตัว ฯลฯ การหาคำตอบให้ตัวเองแบบนี้ เป็นอะไรที่เจ็บแต่ก็เป็นความจริงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
#3: การที่ฉันผิดนี่ มันจะทำให้เกิดปัญหาที่ดีขึ้นหรือแย่ลง สำหรับตัวฉันและคนอื่น ๆ?
เป้าหมายของคำถามนี้คือการหาว่า ปัญหาไหนที่ดีกว่า เพราะไหน ๆ ชีวิตเราก็มีปัญหาไม่เว้นแต่ละวัน แต่เราสามารถเลือกที่จะโฟกัสปัญหาที่ดีกว่าได้
หลายคนเลือกที่จะคิดว่าตัวเองถูก และรังควานคนที่คิดต่างไปเรื่อย ๆ เพราะมันง่ายกว่า แต่ออปชั่นนี้ไม่ได้ส่งผลดีกับใครเลย มีแต่จะทำให้ความสัมพันธ์กับชาวบ้านเขาแย่ลง ทางที่ถูกคือการตระหนักว่าตัวเองอาจจะผิด เคารพการตัดสินใจของคนอื่นที่อาจจะขัดกับความคิดของตัวเอง ให้เขาได้มีพื้นที่ของตัวเองในขณะที่เราก็ต้องเอาชนะความกังวล ความไม่แน่นอนที่ผุดขึ้นในใจของเรา แต่ส่วนใหญ่คนไม่ค่อยเลือกทางนี้เท่าไรเพราะมันยาก
บทที่ 7: Failure is The Way Forward – แม้แต่ความล้มเหลวก็ถือเป็นการก้าวไปข้างหน้า
หลายคนกลัวความล้มเหลว แต่คนที่ประสบความสำเร็จและเก่ง ๆ นั้นต้องเคยพลาดกันมาแล้วบ้าง พลาดหลายครั้งด้วยกว่าจะเก่งขั้นเทพ
แต่ทุก ๆ คนย่อมมีจุดหนึ่งที่ไม่อยากพลาด เพราะสังคมมักจะลงโทษคนที่ทำผิดพลาด อีกทั้งสื่อต่าง ๆ ยังชอบประโคมข่าวความสำเร็จของคนนู้นคนนี้ ไม่ค่อยนักหรอกที่จะเจาะลึกว่าคนคนนั้นเคยผิดพลาดอะไรบ้าง
ทว่าถ้าไม่กล้าที่จะผิดพลาด เราก็จะไม่ได้เรียนรู้อะไรสักที
ความกลัวที่จะผิดพลาดนั้นส่วนใหญ่มาจากการที่เรายึดติดเรื่องไม่เข้าท่า ไปยึดติดสิ่งภายนอกที่เราควบคุมไม่ได้ เช่น “อยากให้ทุกคนชอบเรา” แน่นอนว่ามันไม่มีใครชอบเราหมดทุกคนหรอก ถ้าเรายึดติดคุณค่ากับสิ่งนี้ เราจะรู้สึกเฟลถ้าใครไม่ชอบเรา และอาจจะทำให้เราไม่กล้าเข้าไปทักคนอื่นก่อน เพราะกลัวความผิดพลาด
คุณค่าดี ๆ ที่เราควรยึดถือนั้น ควรเป็นอะไรที่เราควบคุมได้เอง เช่น “การแสดงความจริงใจต่อผู้อื่น” ซึ่งมันเป็นอะไรที่สามารถทำได้เรื่อย ๆ ไม่มีวันจบสิ้น เมื่อเรายึดถือคุณค่าเป็นตัวการกระทำ เราจะสามารถทำมันไปเรื่อย ๆ ความล้มเหลวจะไม่ทำให้เรารู้สึกเฟล เพราะเราถือว่าเราได้ทำไปแล้ว
ความเจ็บปวดคือส่วนหนึ่งของกระบวนการ
ในช่วงปี 1950 นักจิตวิทยาชาวโปลิชนามว่า Kazimierz Dabrowski ทำงานวิจัยที่พบว่า ผู้ที่รอดจากสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้นมองชีวิตตัวเองดีขึ้น แฮปปี้ขึ้น เพราะสงครามทำให้พวกเขารู้ว่าอะไรคือสิ่งที่สำคัญจริง ๆ
แม้จะเป็นประสบการณ์ที่เจ็บปวดที่ว่าขอไม่เจอซะดีกว่า แต่มันก็ช่วยหล่อหลอมให้พวกเขาเป็นคนที่ดีขึ้นกว่าเดิม
ก็เหมือนกล้ามเนื้อและกระดูกที่จะแข็งแกร่งขึ้นจากการออกแรงใช้งานจนปวด จิตใจเราก็เหมือนกัน ต้องประสบพบเจอกับความเจ็บปวดบ้างเพื่อให้มันโตขึ้น
สังเกตดูว่าส่วนใหญ่แล้ว ชีวิตเราจะดีขึ้นหลังจากตกต่ำสุด ๆ เพราะเมื่อชีวิตตกต่ำสุด ๆ นั่นแหละเราถึงจะเริ่มมองหาวิธีทำให้มันดีขึ้น ทำให้ตัวเองหลุดพ้นจากจุดนั้น
ซึ่งหลาย ๆ ครั้ง เรามักจะไม่กล้าลงมือทำอะไรสักอย่าง ได้แต่ถามว่า “ต้องทำยังไง” จริง ๆ คำตอบนั้นง่ายมาก ก็แค่ลองลงมือทำให้ได้รู้ไปเลย อย่าไปกลัว เรียนรู้จากความผิดพลาดแล้วก็พัฒนาตัวเองต่อไป
หลักการแห่งการ “ทำอะไรสักอย่างเถอะ”
ตัว Mark Manson เองก็เคยถึงจุดที่เคว้งคว้าง ไม่รู้จะทำยังไง ลาออกจากงานประจำกะมาเป็นนายตัวเอง เขางงอยู่พักนึงถึงค่อยนึกคำสอนของครูวิชาเลขในสมัยมัธยมปลายได้ ครูเคยบอกเขาว่า “ถ้าติดปัญหาอะไร อย่าแค่นั่งเฉย ๆ แล้วคิดถึงมัน ให้ลองเริ่มไขปัญหานั้นเลย แม้ว่าเธอจะไม่รู้ว่ากำลังทำอะไรก็เถอะ แค่ทำอะไรสักอย่างเดี๋ยวสุดท้ายไอเดียที่ดีก็จะโผล่ขึ้นมาเอง”
เขาได้ทำตามคำแนะนำของครู และได้ค้นพบอีกอย่างหนึ่งว่า การกระทำนั้นไม่ใช่แค่ผลลัพธ์ของแรงจูงใจ แต่ยังเป็นต้นเหตุของแรงจูงใจอีกด้วย
ฟังดูแล้วอาจจะไม่คุ้น ปกติแล้วเราต้องมีแรงบันดาลใจ ถึงจะมีแรงจูงใจ ให้ทำอะไรสักอย่างไม่ใช่เหรอ ถ้าไม่มีอารมณ์ข้างต้น ก็ทำอะไรไม่ได้
จริง ๆ แล้ว กระบวนการนี้ไม่ได้จบสิ้นที่จุดใดจุดหนึ่ง แต่เป็นกระบวนการที่วนเวียนเป็นลูปต่างหาก หน้าตาเป็นแบบนี้
แรงบันดาลใจ > แรงจูงใจ > การกระทำ > แรงบันดาลใจ > แรงจูงใจ > การกระทำ > ต่อไปเรื่อย ๆ
ซึ่งเมื่อเห็นอย่างนี้ เราก็สามารถแฮ็กระบบตัวเองได้ละ ถ้าขาดแรงจูงใจ งั้นก็ลงมือทำอะไรสักอย่าง ทำอะไรก็ได้ เคสจริงก็คือตอนแรกเราอาจจะรู้สึกไม่อยากทำ แต่เมื่อลงมือทำปุ๊บ เอ้าติดลมเฉย ทำไปทำมาได้งานเป็นชิ้นเป็นอันเพราะทำแล้วเพลิน นี่แหละตัวอย่างของการกระทำที่ก่อให้เกิดแรงจูงใจต่อ
การที่เราแค่ทำอะไรสักอย่างนั้น ความล้มเหลวจะไม่ใช่เรื่องใหญ่เลย เพราะถือว่าเราได้ทำไปแล้ว ไม่ว่าผลลัพธ์จะเป็นยังไงก็ถือเป็นความก้าวหน้าทั้งนั้น
บทที่ 8: The Importance of Saying No – ความสำคัญของการปฏิเสธ
Mark Manson เล่าให้ฟังว่าประสบการณ์การไปอยู่ที่รัสเซียนั้นเป็นอะไรที่ประทับใจมาก
ช่วงแรก ๆ เขาช็อกกับวัฒนธรรมการพูดตรง ๆ ไม่อ้อมค้อมของชาวรัสเซีย เขารู้สึกว่ามันทำร้ายจิตใจกันมาก แต่พออยู่ไปเรื่อย ๆ เขาก็เริ่มชอบความอิสระที่สามารถพูดอะไรออกมาก็ได้
เขาได้พูดคุยกับครูชาวรัสเซียถึงทฤษฎีที่อธิบายถึงพฤติกรรมเหล่านี้ ครูเล่าว่า นั่นอาจเพราะรัสเซียเมื่อก่อนนั้นในช่วงคอมมิวนิสต์ไม่ค่อยมีโอกาสทางเศรษฐกิจที่ดีนัก ทุกคนเกรงกลัวกันไปหมด มีเพียงสิ่งเดียวที่มีค่าก็คือความเชื่อใจกันและกัน และนั่นก็ทำให้ต่างฝ่ายต่างแสดงออกแบบเปิดเผย ไม่กั๊กว่าใครรู้สึกยังไง
ในขณะที่ฝั่งประเทศตะวันตกนั้น มีโอกาสทางเศรษฐกิจมากมาย ผู้คนเชิดชูสิ่งนี้มากกว่าการเชื่อใจกันและกัน และนั่นก็เป็นเหตุผลให้ต่างคนต่างพยายามทำตัวเองให้ดูดี พยายามประจบสอพลอหรือเป็นเพื่อนกับคนที่ไม่ชอบหน้า ซื้อของที่ไม่ชอบเพียงเพื่อโอ้อวด เพราะเราไม่รู้เลยว่าเราสามารถเชื่อใจใครได้บ้าง จึงต้องทำตัวให้คนชอบไว้ก่อน
การปฏิเสธทำให้ชีวิตดีขึ้น
สังคมรอบด้านอาจจะพยายามหล่อหลอมให้เราเปิดรับทุกอย่าง เปิดรับทุกโอกาสที่เข้ามา เซย์เยสกับทุกเรื่อง แม้ว่าบางทีจะไม่ใช่เรื่องที่เราอยากทำ แต่ก็ต้องทำเพราะเกรงใจ/กลัวไม่ได้รับการยอมรับ/กลัวเสียหน้า
แต่จริง ๆ แล้วในชีวิตเรานั้น เราต้องปฏิเสธอะไรสักอย่างตลอดเวลา การที่เราเลือกชีวิตแบบนี้ งานนี้ เพื่อนคนนี้ มันก็เหมือนปฏิเสธด้านตรงกันข้าม หรือตัวเลือกอื่น ๆ ไปกลาย ๆ แล้วละ
และถ้าเราไม่ปฏิเสธอะไรเลย เปิดรับทุกอย่าง ตัวตนที่แท้จริงของเราจะอยู่ไหนล่ะ? คุณค่าที่เรานับถือจะอยู่ไหน?
เราต้องกล้าปฏิเสธบ้างเพื่อแสดงจุดยืนของเรา เพื่อคุณค่าที่เรายึดถือ เพื่อชีวิตที่มีความสุขขึ้น
เส้นแบ่งความสัมพันธ์
หลายคนน่าจะเคยได้ยินเรื่องราวของ Romeo & Juliet ซึ่งมักจะถูกเชิดชูให้เป็นสัญลักษณ์แห่งรักแท้ อานุภาพของความรัก
แต่พอดูเข้าจริง ๆ แล้ว เรากลับจะพบได้ว่า ตัวละครทั้งสองคนเข้าข่ายคลั่งรักจนไม่สนใจอะไรทั้งสิ้น ถึงขั้นยอมตายเลยทีเดียว ซึ่งความรักแบบหลงใหลไม่ลืมหูลืมตา หลงเหมือนเสพติดโคเคนนี่เป็นประเภทความรักที่ไม่ค่อยดีเท่าไร เข้าข่าย toxic relationship
ความรักมีสองรูปแบบ คือความรักที่ดีต่อใจ และความรักที่ไม่ดีต่อใจ ความแตกต่างของสองรูปแบบนี้จะถูกกำหนดโดย 1) ต่างคนต่างรับผิดชอบตัวเองได้ดีขนาดไหน และ 2) ความยินยอมที่จะปฏิเสธ และถูกปฏิเสธโดยอีกฝ่าย
ความสัมพันธ์ที่ดี ต่างฝ่ายจะต้องมีเส้นแบ่งที่ขีดคั่นตรงกลางชัดเจน ว่านี่เป็นความรับผิดชอบของใคร และต่างคนต่างก็ดูแลรับผิดชอบสิ่งนั้น ๆ ของตัวเอง
ตัวอย่างความสัมพันธ์ที่แย่ ที่ล้ำเส้นอีกฝ่าย เช่น
- อย่าไปอยู่ใกล้ผู้ชายคนอื่นนะ ผมหึง อยู่กับผมแค่คนเดียว
- น้องในทีมมันไม่เอาไหนเลย ฉันต้องเข้าประชุมสายเพราะต้องคอยสอนงานมัน
- อย่าทำให้ฉันดูโง่ในสายตาคนอื่นสิ อย่าเห็นต่างกับฉันต่อหน้าคนอื่น
- ฉันก็อยากจะไปทำงานต่างประเทศนะ แต่แม่ฉันต้องโวยแน่เลยที่ย้ายไปไกล
- เราคบกันได้นะ แต่อย่าไปบอกเพื่อนฉัน เดี๋ยวพวกมันซึมที่ฉันหนีไปมีแฟน
ตัวอย่างเหล่านี้ ล้วนแสดงให้เห็นถึงการผลักภาระความรับผิดชอบความรู้สึก/ปัญหาตัวเองไปให้คนอื่น ไม่ก็รับความรู้สึก/ปัญหาของคนอื่นมาเก็บไว้ที่ตัวเอง ทั้งคู่ล้วนแล้วแต่ทำให้ความสัมพันธ์เปราะบาง ไม่เฮลตี้
ความสัมพันธ์แบบ “เหยื่อ-ฮีโร่” นี่เห็นได้บ่อย เพราะทั้งคู่มักจะดึงดูดกันและกัน คนที่รับบทเหยื่อ มักจะอยากทำให้ตัวเองดูน่าสงสาร ดูเหมือนมีปัญหา เพื่อเรียกความสนใจจากคนอื่น หวังว่าคนอื่นจะมาช่วยตน มักจะโยนความรับผิดชอบของตัวเองให้คนอื่นมาดูแล
ในขณะที่คนที่รับบทฮีโร่ ก็มักจะอยากเข้าไปช่วยเหลือเหยื่อ เพื่อให้ตัวเองได้รับความสนใจ ได้รับความรัก ได้รับการยอมรับ มักจะเข้าไปตอบรับความรับผิดชอบของคนอื่นแทน
นึกภาพง่าย ๆ เหมือนคนนึงชอบก่อเพลิง อีกคนชอบดับเพลิง วนลูปซ้ำไปซ้ำมาแบบนี้ แค่คิดก็เหนื่อยแล้ว
หากแต่ละคนรู้ชัดเจนว่าต่างคนต่างมีความรู้สึก/ปัญหาอะไรที่ตัวเองต้องรับผิดชอบ สุดท้ายตนก็ต้องเป็นที่พึ่งแห่งตนถึงจะดีที่สุด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าต่างฝ่ายต่าง support กันและกันไม่ได้นะ เราสามารถอยู่เคียงข้างอีกฝ่าย ให้เขาเติบโต แก้ปัญหาเองได้ แต่อย่ายื่นมือไปจัดการปัญหาของเขาด้วยมือเราเอง เพราะมันไม่ใช่เรื่องของเรา
และถ้าจะเกิดเคสการเสียสละ อยากช่วยเหลืออีกฝ่ายจริง ๆ มันก็ต้องเกิดจากความอยากช่วยจริง ๆ ไม่ไช่เพราะรู้สึกว่าต้องช่วย ติดค้างบุญคุณ กลัวโดนเกลียด ฯลฯ ไม่อย่างนั้นมันก็คือการถูกปั่นหัวดี ๆ นี่เอง
เทสได้ง่าย ๆ เลย ถ้าเราบอกปฏิเสธคำขออะไรไป แล้วมันกลายเป็นเรื่องดราม่าใหญ่โต แสดงว่าความสัมพันธ์นี้ไม่แข็งแรงแล้ว เป็นความสัมพันธ์ที่อีกฝ่ายต้องการอะไรจากเรา ถ้าเขาไม่ได้เขาก็โกรธ
แต่ถ้าปฏิเสธแล้วไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทุกคนใช้ชีวิตปกติไป แสดงว่าความสัมพันธ์ยังเฮลตี้ดี
วิธีสร้างความเชื่อใจ
Mark Manson มองว่า ความสัมพันธ์ที่ดีนั้น ต่างฝ่ายต่างต้องจริงใจแก่กัน ไม่โกหกเพียงเพื่อให้ต่างคนรู้สึกดี ต้องยอมรับคำปฏิเสธของอีกฝ่าย และกล้าปฏิเสธอีกฝ่าย
เพราะเมื่อเริ่มโหยหาความรู้สึกดีตลอดเวลาเมื่อไร นั่นอาจจะหมายถึงเรากำลังเก็บซ่อนบางอย่างไว้ใต้พรม สิ่งนั้นอาจจะเป็นเรื่องที่เราอึดอัดไม่กล้าบอก หรือเรื่องที่อีกฝ่ายทำตัวไม่ดีแต่เราก็พยายามไม่ถือสาเพราะไม่อยากให้มันเป็นเรื่องใหญ่โต นานวันเข้าสิ่งที่หมักหมมไว้ก็มีแต่จะยิ่งมากขึ้นเรื่อย ๆ จนในที่สุดอาจจะกระทบความสัมพันธ์ได้
ความเชื่อใจเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญที่สุดของความสัมพันธ์เลย ถ้าขาดความเชื่อใจแล้ว ความสัมพันธ์นั้นก็จะตั้งอยู่บนความหวาดระแวง อยู่ด้วยแล้วไม่สบายใจ แกแอบไปมีกิ๊กรึเปล่า ว้าวุ่นแทนที่จะแฮปปี้
การที่มีใครคนใดคนนึงนอกใจ หรือขี้โกงในความสัมพันธ์นั้น ๆ นั่นก็เพราะเขา value บางอย่างเหนือความสัมพันธ์ เช่น ถูกดึงดูดด้วยความสนุกชั่วคราว ต้องการการมีอำนาจ ต้องการมีตัวตนผ่านการมีเซ็กส์ ฯลฯ
ถ้าคนที่นอกใจต้องการจะคงความสัมพันธ์ปัจจุบันอยู่ ก็ต้องจริงใจกับอีกฝ่าย ว่าเหตุผลที่นอกใจนั้นเป็นเพราะอะไร แล้วก็ต้องพยายามกู้คืนความเชื่อใจกลับมาอีกครั้ง ซึ่งก็คงต้องใช้เวลาพักนึงเพราะความเชื่อใจเมื่อพังไปแล้วมันก็เหมือนจานแก้วที่ต้องใช้เวลากลับมาต่อให้เหมือนเดิม
อิสระผ่านการผูกมัด
ลัทธิบริโภคนิยมคะยั้นคะยอให้คนคิดว่ายิ่งมีมากยิ่งดี ยิ่งมีความสุข
แต่จริง ๆ แล้ว เมื่อเรายิ่งมีมากขึ้น ความสุขส่วนที่เพิ่มมากขึ้นมีแต่จะน้อยลง ๆ จนแทบไม่รู้สึกอะไร เพราะเราชินชากับมันไปแล้ว
ในทางตรงกันข้าม Mark Manson ได้ค้นพบว่า จริง ๆ การผูกมัดตัวเองกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งนาน ๆ ก็ดีเหมือนกัน ทั้งการคบกับผู้หญิงที่เขารักอย่างจริงจัง การหันมาทำงานเขียนแบบ full-time มันทำให้เขาได้กอบโกยความสุขที่แท้จริง เป็นประสบการณ์ที่แค่ทำอะไรฉาบฉวย จะไม่สามารถเข้าใจได้แน่นอน
การผูกมัดตัวเอง ฟังเผิน ๆ อาจจะดูเหมือนขาดอิสรภาพ แต่ Mark บอกว่า จริง ๆ แล้วมันให้อิสระกับเรา เพราะมันทำให้เรารู้ว่าอะไรที่สำคัญจริง ๆ รู้ว่าควรทุ่มเวลาให้กับสิ่งไหนที่สร้างความสุขให้เราจริง ๆ เราก็จะสามารถบอกปัดสิ่งอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้อง ที่ฉาบฉวยออกไปได้
เพราะถ้าหากไม่มีที่ยึดติด เราก็จะออกตามหาไปเรื่อย ๆ ไม่จบไม่สิ้น อาจจะดีสำหรับช่วงแรก ๆ ที่ยังเป็นวัยเด็ก ต้องหาประสบการณ์เยอะ ๆ แต่เมื่อถึงจุด ๆ หนึ่ง ประสบการณ์เหล่านั้นไม่ได้ทำให้รู้สึกตื่นเต้นเท่าไรแล้ว หากเรารู้แล้วว่าต้องการอะไร มันก็คุ้มค่าที่จะลงหลักปักฐานไปเลย
บทที่ 9: …And Then You Die – แล้วคุณก็ตาย
บทนี้ Mark เล่าให้ฟังถึงเรื่องราวในอดีตสมัยยังเป็นวัยรุ่น เขามีเพื่อนรุ่นพี่คนหนึ่งชื่อจอร์จซึ่งเขามองเป็นไอดอลมาก แต่วันหนึ่งเกิดอุบัติเหตุขึ้นทำให้จอร์จเสียชีวิต และนั่นก็ส่งผลให้ Mark ซึมไปนาน
แต่ถึงอย่างนั้น Mark ก็ได้ค้นพบสัจธรรมข้อหนึ่ง ที่ว่าสุดท้ายแล้วความตายเป็นเรื่องใกล้ตัวนิดเดียว ยังไงเราก็หนีไม่พ้น ฉะนั้นไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น จะเสียใจ ทุกข์ใจ อับอายขายขี้หน้า มันขี้ปะติ๋วมากหากเทียบกับว่าเราจะตายวันพรุ่งนี้ ดังนั้นถ้าตั้งใจจะทำอะไรก็ทำไปเถอะ ไม่ต้องกลัว
การตายของจอร์จ กลายเป็นจุดตัด เป็นเส้นแบ่งชีวิตช่วงที่แย่/ดีของ Mark ไปซะอย่างนั้น เพราะหลังจากที่เขาเข้าใจจุดนี้ เขาก็ละทิ้งสิ่งไร้สาระต่าง ๆ ที่เคยทำ และหันไปมุ่งมั่นเอาดีด้านการเรียนและการเข้าสังคมมากขึ้น ซึ่งทำให้ชีวิตเขาดีขึ้นด้วย
สิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเรา
หนังสือ The Denial of Death ของ Ernest Becker ได้บอกเล่าถึงมุมมองเกี่ยวกับความตาย ที่ถูกเขียนขึ้นในวาระสุดท้ายของชีวิตเขา เนื้อความมีอยู่ประมาณว่า
- มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตประเภทเดียวที่สามารถจินตนาการได้ คิดเพ้อไปได้ว่าชีวิตถ้าเป็นแบบนั้นแบบนี้จะเป็นยังไง ดังนั้นจึงเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวที่สามารถจินตนาการถึงโลกที่ไม่มีตัวเองอยู่ได้ (ว่าง่าย ๆ คือ เข้าใจว่ายังไงสักวันเราก็ต้องตาย)
- มนุษย์มีตัวตน 2 แบบ แบบแรกคือร่างกาย แบบที่สองคือตัวเราในความนึกคิด ร่างกายนั้นสักวันก็ต้องตาย เมื่อเรารู้อย่างนั้นแล้ว เราก็อยากทำอะไรสักอย่างที่จะฝากรอยเท้าไว้ให้โลกใบนี้ ที่ถึงแม้ตัวตายไปแล้ว นามเราจะยังคงอยู่ นี่เป็นเหตุผลที่หลายคนทำสิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างชื่อเสียง สร้างคุณประโยชน์ให้สังคม หรือแม้กระทั่งก่อวอร์ปะทะกันก็ตาม
พ้อยต์ก็คือ เราต้องยอมรับว่ายังไงๆ สักวันเราก็ต้องตาย ถ้าเราขุดลึกเจอว่าการกระทำหรือความเชื่อไหนของเรามันมาจากการกลัวตัวตายแล้วคนจะหลงลืมเรา เราก็จะได้จัดการกับมันได้ สามารถเลือกได้ว่าเราจะทำต่อมั้ย หรือเปลี่ยนไปทำอย่างอื่นที่น่าจะดีกว่า
ด้านสว่างของความตาย
Mark Manson เล่าให้ฟังว่าเขาเคยไปนั่งริมขอบหน้าผาตรง Cape of Good Hope ที่แอฟริกา จุดนั้นเป็นจุดที่น่าหวาดเสียวว่าจะตกลงไปจบชีวิตมาก กว่าเขาจะรวบรวมความกล้าเข้าไปใกล้เส้นแบ่งระหว่างความเป็นความตายได้นั้นก็เหนื่อยเอาเรื่อง
แต่เมื่อได้ไปนั่งตรงนั้น ได้ซึมซับบรรยากาศและวิวที่สวยงาม ได้วางใจให้สงบนิ่ง และยอมรับถึงความเป็นไปได้ของการตาย Mark กลับรู้สึกสงบ และได้เห็นภาพชัดขึ้นว่าหลาย ๆ สิ่งที่เราให้คุณค่ากับมันนั้นแทบจะไร้ความหมายมากเมื่อกำลังเผชิญความตายตรงหน้า
ว่าง่าย ๆ คือ เมื่อคนคนหนึ่งต้องสบตากับความตาย อะไรอย่างอื่นก็แทบจะไม่สำคัญแล้ว
การย้ำเตือนตัวเองเสมอว่าคนเราต้องตาย ได้ทำให้ Mark เลือกที่จะให้คุณค่ากับสิ่งที่สำคัญจริง ๆ ไม่ใช่สิ่งเปลือกนอก ยิ่งไปกว่านั้น เขาสามารถรับแรงกดดัน หรือความผิดหวังได้ดีขึ้น เพราะไม่ว่าจะเกิดอะไรแย่ ๆ ขึ้นในชีวิต มันเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับความตาย
เมื่อเราตายไป เราจะทิ้งอะไรไว้กับโลกนี้? เราจะสร้างผลกระทบอะไร? Mark บอกว่าความสุขที่แท้จริง คือความสุขที่ครอบคลุมไปมากกว่าตัวเอง คือการรู้ตัวว่ากำลัง contribute ให้อะไรสักอย่างที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเอง ที่เกิด impact ในวงกว้าง นี่แหละคือเหตุผลที่ทำไมคนถึงไปวัดวาอาราม เป็นเหตุผลที่คนสร้างครอบครัวเพื่อสืบเชื้อสายวงศ์ตระกูล เป็นเหตุผลที่เก็บออมไว้เพื่ออนาคต เป็นเหตุผลที่สร้างสิ่งนู้นสิ่งนี้ให้ชีวิตสะดวกสบายขึ้น
แต่เมื่อเรายึดติดเป็นตัวเรา ของเราเมื่อไร เมื่อนั้นแหละ เราจะเริ่มมองว่าทุกอย่างหมุนรอบตัวเอง เริ่มมองตัวเองเหนือกว่าคนอื่น เริ่มคิดว่าตัวเองต้องได้รับความสนใจ เมื่อเราไม่ได้รับการตอบสนอง เราก็จะรู้สึกไม่ได้ดั่งใจ ทั้งที่จริง ๆ แล้ว เราไม่ควรจะต้องไปคาดหวังมันด้วยซ้ำ
Mark แนะนำว่า สิ่งสำคัญคือ การตระหนักรู้อยู่เสมอว่าวันนึงเราจะต้องตาย เราไม่ได้มีเวลามากมายในชีวิตที่จะไปสนใจหรือ give a fuck ในทุกเรื่อง ดังนั้นเราควรจะคิดดี ๆ ตั้งสติดี ๆ ว่าด้วยเวลาและเรี่ยวแรงที่เรามีเหลืออยู่นี้ เราควรจะโฟกัสพลังของเราไปที่สิ่งใด
สรุป
จะว่าเล่มนี้เป็นหนังสือกึ่ง ๆ ปรัชญาชีวิตก็อาจจะว่าได้ หรือจะบอกว่าเป็นหนังสือธรรมะเวอร์ชั่น adapt ให้เข้ากับวัยรุ่นก็ดี อ่านหนังสือเล่มนี้เหมือนเราได้ย้ำเตือนกับตัวเองถึงธรรมชาติของชีวิต ที่คงไม่มีอะไรราบรื่นเรียบง่ายเหมือนที่ใจอยาก หนังสือไม่ได้ประโคมน้ำเย็นแล้วบอกเราว่าทุกอย่างมันจะดีขึ้น สวยหรู สวยงาม แต่บอกตรง ๆ เลยว่าเนี่ย ไอ้ที่หวังไว้มันไม่มีหรอก ฝันลม ๆ แล้ง ๆ ทั้งนั้น ตื่นขึ้นมาแล้วยอมรับความจริงซะ
ที่ชอบคือ คุณ Mark Manson เขียนภาษาได้มันส์หยดมาก อ่านแล้วเพลินเหมือนเวลาฟังเพื่อนเมา ๆ เล่าเรื่องไปเรื่อย แต่มันดันเป็นเรื่องที่สนุกและแฝงสาระไว้ได้อย่างแนบเนียน
แน่นอนว่าบางท่อนบางตอนก็อาจจะดู abstract ๆ ไปหน่อย เราสรุปเองก็ยอมรับว่าบางจุดยังเข้าใจไม่ลึกซึ้งเท่าไร อาจจะด้วยประสบการณ์ชีวิตของตัวเองที่ยังไม่ได้เยอะมาก หรืออาจเป็นเพราะกำแพงภาษาที่ทำให้เราไม่สามารถเข้าใจได้ขนาดนั้น หรือมันอาจจะปรัชญาติสต์เกินไปจนเราเข้าไม่ถึง เราก็ไม่แน่ใจ
แต่สำหรับใครที่รู้สึกเคว้งคว้าง ๆ ในชีวิต หรือรู้สึกว่าทำไมชีวิตนี้มันวุ่นวายจังวะ จะทำอะไรก็ไม่ได้ดั่งใจสักอย่าง อยากให้ลองมาอ่านหนังสือเล่มนี้ แล้วจะรู้ว่า จริง ๆ แล้ว ภาระจิตใจของเรานั้น ลดโหลดลงไปได้เยอะ เพียงแค่ช่างแม่งให้ถูกเรื่อง : )
Leave a Reply