ขึ้นชื่อว่าความรัก ใครเจอเข้าก็หลงกันทั้งนั้น ไม่ว่าจิตใจจะอ่อนไหวหรือแข็งแกร่ง เหมือนสองพี่น้อง “เอลินอร์” และ “มาริแอนน์” ใน Sense and Sensibility เล่มนี้ที่เขียนโดย Jane Austen
Sense and Sensibility เป็นนิยายเล่มแรกของ Jane Austen ที่ได้ตีพิมพ์ ตอนแรกตีพิมพ์แบบไม่เปิดเผยชื่อด้วย ตัวนิยายเล่าเรื่องของพี่น้องตระกูล Dashwood หลัก ๆ เลยก็คือ เอลินอร์ พี่สาวคนโตอายุ 19 ปี และ มาริแอนน์ น้องคนกลางอายุประมาณ 16 ปี ซึ่งทั้งคู่ถือว่าอยู่ในช่วงวัยรุ่นแรกแย้ม พอดิบพอดีกับการได้พบเจอความรักที่เข้ามาสร้างความสุข พอ ๆ กับมาเป็นบทเรียนสุดขมให้กับเด็กทั้งสอง
เรื่องราวเริ่มขึ้นเมื่อพี่ชายต่างแม่ของเอลินอร์และมาริแอนน์อย่างจอห์นได้รับมรดกเพราะเป็นลูกชายคนแรกที่เกิดจากภรรยาคนแรก ภรรยาคนที่สองซึ่งก็คือแม่ของนางเอกทั้งคู่จึงพาลูก ๆ ระหกระเหินย้ายไปอยู่ที่อีกเมืองหนึ่ง โดยไปเช่าบ้านของญาติห่าง ๆ อย่างท่านเซอร์จอห์น มิดเดิลตัน
ณ ที่แห่งนี้ สาว ๆ ตระกูล Dashwood จึงได้พบเจอผู้คนใหม่ ๆ มากมาย บรรยากาศอบอุ่นเหมือนวันรวมญาติ ในฝั่งของเอลินอร์นั้นเธอต้องพลักพราดจากเอ็ดเวิร์ด ชายผู้เป็นที่รักซึ่งได้พบเจอกันสมัยอยู่ที่บ้านเก่า แต่เอลินอร์ก็ไม่ได้แสดงความรู้สึกอะไรตามสไตล์คนนิ่ง ๆ
ส่วนมาริแอนน์นั้น ได้พบรักกับชายหนุ่มเทสต์ดีอย่างจอห์น วิลโลบี้ ผู้ซึ่งหลงใหลในดนตรี นิยาย และศิลปะเหมือนเธอเปี๊ยบ ด้วยความที่มาริแอนน์เป็นคนละเอียดละออและหัวศิลป์มาก การได้เจอวิลโลบี้จึงเหมือนเจออีกครึ่งหนึ่ง ทั้งคู่คุยได้อย่างถูกปากถูกคอ ความสัมพันธ์คืบหน้าอย่างรวดเร็ว
จากบรรยากาศเนิบ ๆ สบาย ๆ ของนิยาย ใครเล่าจะไปคาดคิดว่า อยู่ดี ๆ หญิงสาวทั้งคู่ก็ต้องผิดหวังในรักอย่างกะทันหัน เล่นเอาคนอ่านอย่างเราตกใจตามไปด้วย และปมเรื่องความสัมพันธ์ต่อจากนี้นี่แหละที่จะขับเคลื่อนนิยายให้ดำเนินไปอย่างน่าติดตามมากขึ้น
—-มีเปิดเผยเนื้อหาบางส่วน—-
พี่น้องท้องแม่เดียวกัน แต่บุคลิกคนละขั้ว
ในนิยายเรื่องนี้ ตัวเอกหลักคือเอลินอร์และมาริแอนน์ เอลินอร์เป็นตัวแทนของคำว่า Sense คือความมีเหตุมีผล ส่วนมาริแอนน์คือตัวแทนของคำว่า Sensibility หรือก็คือความอ่อนไหว
บุคลิกของทั้งคู่ถูกบรรยายออกมาอย่างชัดเจนมาก ๆ เอลินอร์เป็นเด็กสาวที่ค่อนข้างนิ่ง ๆ พูดจามีเหตุมีผล ไม่ค่อยพร่ำเพ้อเท่าไร มีความเป็นผู้ใหญ่เกินตัว ส่วนมาริแอนน์นั้นจะเปรียบเสมือนหลุดออกมาจากบทกวี เป็นคนโรแมนติก เธอแสดงอารมณ์ออกมาอย่างชัดเจนว่าชอบอะไรไม่ชอบอะไร ครั้นเมื่อต้องจากบ้านไปอยู่เมืองใหม่ เธอก็อาลัยอาวรณ์อย่างเห็นได้ชัด ต่างจากเอลินอร์ที่ไม่ค่อยแสดงความรู้สึกเท่าไรนัก
นั่นเป็นต้นตอที่หลาย ๆ ครั้งสองพี่น้องไม่เข้าใจกัน โดยเฉพาะมาริแอนน์ที่ไม่เข้าใจว่าทำไมเอลินอร์ถึงแข็งทื่อนัก และเมื่อครั้นที่มาริแอนน์อกหักปานใจจะขาด เธอก็ไม่ได้รู้เรื่องเลยว่าเอลินอร์ก็อกหักมาเหมือนกัน เธอเอาแต่คิดว่ามีเธอคนเดียวที่ผจญโศกนาฏกรรมความรัก
เอลินอร์เป็นตัวละครที่เราค่อนข้าง relate ได้ดี คือจะเป็นคนเก็บซ่อนความรู้สึกเก่ง มีอะไรก็เก็บไว้ไม่ได้เอาไประบายกับใครเหมือนมาริแอนน์ ครั้นเมื่อเศร้าเสียใจก็เก็บเงียบ ๆ ไว้คนเดียว ดูเผิน ๆ เหมือนเอลินอร์จะไม่ได้รับบาดเจ็บจากรักเท่าไรเมื่อเทียบกับมาริแอนน์ แต่ก็น่าสงสัยว่าจริง ๆ แล้วเธออาจจะเจ็บพอ ๆ กับมาริแอนน์ก็ได้ แต่เธอเลือกที่จะทนอยู่กับมันคนเดียว
ถึงอย่างนั้น แม้สองพี่น้องจะมีความแตกต่างกัน ทั้งคู่ก็ซัพพอร์ตซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะเมื่ออีกฝ่ายเพลี่ยงพล้ำ อีกคนก็จะคอยอยู่ดูแลเป็นแรงใจให้ (หรือแม้กระทั่งแค้นแทน) ซึ่งก็เป็นความสัมพันธ์ที่รักใคร่กลมเกลียวดี
ฐานะมาก่อนทุกสิ่ง
ในเรื่องนี้เราจะเห็นได้ว่าตัวละครให้ความสำคัญกับฐานะมาก ๆ เราจะได้ยินคำถามนี้บ่อย ๆ ว่า “คนนั้นเขาทำเงินได้ต่อปีเท่าไรกันนะ” ยิ่งฐานะดีเท่าไรก็จะยิ่งถูกหมายตา ถึงขั้นว่ายอมแต่งงานกันแม้จะไม่ได้รักกันเลย ซึ่งประเด็นนี้ก็ก่อให้เกิดอุปสรรคด้านความรักของตัวละครในเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเอ็ดเวิร์ด ที่แม่ขู่ว่าจะไม่ยกมรดกให้ถ้าไม่แต่งงานกับผู้หญิงที่หามาให้ หรือวิลโลบี้ ที่ก็ต้องจำใจยอมแต่งงานกับผู้หญิงที่ตนไม่ได้รักเพราะหวังฐานะเหมือนกัน
สุดท้ายแล้ว ก็กลายเป็นว่า “เงิน” ก็ยังเป็นปัจจัยที่สำคัญสำหรับความรักอยู่ดี แม้จะรักกันแต่ถ้าฐานะไม่เอื้อกันทั้งคู่ ความรักนั้นก็ยากที่จะดำเนินต่อไปได้
แต่ถึงอย่างนั้น ความรักความผูกพันก็ใช่ว่าจะจางหายไปเลย
แม้หลาย ๆ คู่ในเรื่องจะแสดงให้เห็นถึงการแต่งงานโดยหวังอย่างอื่นนอกจากความรัก แต่ตัวละครหลักอย่างเอลินอร์และมาริแอนน์นั้นแต่งงานเพราะความรักล้วน ๆ ตรงนี้ถือว่าเป็นจุด happy ending กันไป
นอกจากความรักในเชิงชู้สาวแล้ว นิยายยังเน้นให้เห็นถึงความสำคัญของความสัมพันธ์ในครอบครัว จะเห็นได้ว่าครอบครัวของเอลินอร์และมาริแอนน์ค่อนข้างอบอุ่น รักใคร่กลมเกลียว นอกจากนี้ความสัมพันธ์กับครอบครัวอื่น ๆ ก็สำคัญเช่นกัน อย่างที่ได้เห็นครอบครัว Dashwood ของนางเอกอยู่ในวงล้อมของตระกูล Middleton แทบจะตลอดเวลา มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกันเสมอ
ครอบครัวเองก็มีส่วนในเรื่องของการแต่งงานด้วยเช่นกัน ใช่ว่าการแต่งงานจะเป็นเรื่องของคนสองคน จะเห็นได้จากตระกูล Ferrars ที่แม่อยากให้ลูกชายแต่งงานกับผู้หญิงรวย ๆ เท่านั้น ไม่งั้นจะไม่ยกมรดกให้
บทบาทของผู้หญิงที่ค่อนข้างจำกัด
ในยุคนั้น ผู้หญิงมีโอกาสทางสังคมน้อยมาก ไม่สามารถทำงานได้ ต้องพึ่งพิงผู้ชายอย่างเดียว ดังนั้นการแต่งงานเลยเป็นสิ่งสำคัญมาก ๆๆๆ ชนิดที่ว่าถ้า “ขึ้นคาน” ละก็ซวยแน่ ๆ ชีวิตไม่มั่นคง จะเอาเงินมาจากไหน ฯลฯ เราเลยจะได้เห็นบทสนทนาในเชิงว่า encourage ให้ผู้หญิงรีบหาสามีแต่งงาน แม้ว่าพวกเธอจะยังอายุไม่ถึง 20 ก็ตาม
อีกจุดนึงก็คือเรื่องมรกด จะสังเกตเห็นว่ามรดกมักโอนไปยังผู้ชายก่อน เหมือนอย่างในกรณีของจอห์นที่ได้รับมาจากพ่อเต็ม ๆ
แต่ถึงอย่างนั้น นิยายก็มีตัวละครผู้หญิงที่มีอำนาจเหมือนกัน ส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิงที่มีเงิน (ซึ่งก็แน่นอนว่า…คงได้มาจากผู้ชายในครอบครัวหรือความสัมพันธ์นั่นแหละ)
ภาษาอ่านยาก เตือนไว้เลย
น่าจะเป็นปกติของนิยายคลาสสิกที่ภาษาจะอ่านยาก เป็นสำนวนโบราณที่อ่านแล้วเหมือนอ่านบทกวี อ่านไปนาน ๆ อาจจะเริ่ม lost ไม่รู้เรื่องได้ เราแนะนำว่าอย่าอ่านแบบโฟกัสเกินไป ให้อ่านแบบเห็นภาพรวม ๆ จะทำให้ปวดหัวน้อยลง พออ่านจบบทนึง ก็ไปหา SparkNotes มาอ่านต่อ เพื่อทบทวนว่าเราเข้าใจตรงกันมั้ย แค่นี้ก็น่าจะช่วยได้ระดับนึง
แน่นอนว่า ไม่เหมาะกับใครที่เพิ่งเริ่มอ่านภาษาอังกฤษ อย่าริอ่านใช้นิยายคลาสสิกเป็นหนทางฝึกภาษา เพราะจะยิ่งทำให้ท้อหนักกว่าเดิม และพานเลิกศึกษาไปเลย อีกอย่างคือสำนวนภาษาก็ไม่ได้เป็นอะไรที่ใช้จริงในยุคนี้แล้ว แนะนำให้อ่านนิยายหรือหนังสือใหม่ ๆ จะช่วยได้เยอะกว่า
สรุป
Sense and Sensibility เป็นนิยายรักที่สะท้อนค่านิยมและสังคมสมัยยุคปลาย 1700 ได้เป็นอย่างดี ตัวละครมีความโดดเด่นและน่าติดตาม เนื้อเรื่องอ่านได้เพลิน ๆ ไม่ถึงขั้นสนุก แต่ก็ไม่ได้น่าเบื่อซะทีเดียว บทสนทนาหลาย ๆ จุดอ่านแล้วบันเทิงดี ลองคิดเล่น ๆ ว่าถ้าพล็อตนี้มาเล่นสมัยนี้ ก็จะแอบคล้าย ๆ นิยายแจ่มใสอยู่เหมือนกัน (นางเอกวัยใสตกหลุมรักหนุ่มหล่อ ไรงี้)
มีอย่างเดียวที่น่าจะเป็นกำแพงกั้นไม่ให้เราอินกับเนื้อหามากขนาดนั้น คือเรื่องภาษาที่โบราณจนหลายจุดอ่านแล้วไม่เห็นภาพว่าต้องการสื่ออะไร ต้องไปหาอ่านสรุปเอาทีหลัง แต่ถามว่าภาษาสวยมั้ย เราว่าสวยนะ มันมีความเป็นบทกวี มีความร้อยเรียงกันสละสลวย บางจุดก็มีความดราม่าหน่อย ๆ ซึ่งสมัยนี้คงไม่มีใครพูดแบบนี้กันแล้ว
โดยรวมเราคิดว่าข้อคิดที่ได้จากเรื่องนี้ก็คือ การบาลานซ์ Sense and Sensibility ให้ดี อย่าหนักด้านไหนมากเกินไป ถ้าหนัก Sense เกินไปก็จะเป็นคนทื่อ ๆ ที่ไม่เข้าใจคนอื่น คุยกับคนอื่นไม่รู้เรื่อง ถ้าหนัก Sensibility มากไปก็อ่อนไหวง่าย ร้องไห้ฟูมฟายจนไม่เป็นอันทำอะไร ดีที่สุดก็คือต้องหาจุดสมดุลระหว่างสองสิ่งนี้ รู้ว่าเมื่อไรควรดึงอันไหนมาใช้ และเมื่อไรที่ควรดึงอีกฝั่งมาบาลานซ์ ก็น่าจะช่วยให้ชีวิตไม่เหวี่ยงไม่สุดโต่งเกินไป : )
Leave a Reply