สรุปหนังสือ The Origin of (Almost) Everything: ตีแผ่ต้นกำเนิดของ (เกือบ) ทุกสิ่ง

เวลาเรามองสิ่งต่าง ๆ รอบตัว อาจจะเคยเผลอนึกสงสัยว่าเอ๊ะสิ่งนี้มันเกิดขึ้นมาได้ยังไงนะ

หรือพอเห็นสิ่งประดิษฐ์บางอย่าง อาจจะตั้งคำถามว่า ใครนะมันช่างไอเดียบรรเจิดคิดค้นสิ่งนี้

สิ่งเหล่านี้คือคำถามที่ลอยละล่องอยู่ในหัวของเด็กชายนามว่า Graham Lawton ซึ่งเมื่อเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่และได้ทำงานในวงการวิทยาศาสตร์ ก็ถึงเวลาที่เขาจะได้หาคำตอบด้วยตัวเองแล้ว

The Origin of (Almost) Everything หนังสือที่รวบรวมบทความของ Graham Lawton จากวารสาร New Scientist ว่าด้วย “จุดกำเนิด” ของแต่ละอย่าง ไม่ว่าจะเป็นหัวข้อเชิงวิทยาศาสตร์อย่างจักรวาล ชีวิต พลังงาน หรือหัวข้อเชิงสังคมอย่างการคบเพื่อน การทำอาหาร และการเมาเละ

สำหรับโพสนี้เราจะขอสรุปเนื้อหาเน้น ๆ ของหนังสือเก็บไว้ เผื่อกลับมาอ่านและเผื่อใครสนใจค่ะ และต้องเตือนก่อนว่าเนื่องจากเราไม่ได้มีแบ็กกราวน์ด้านนี้ การสรุปหรือแปลอาจจะมีคลาดเคลื่อนบ้าง และมีข้ามไปบางบทบ้าง ถ้าใครเจอว่าข้อมูลตรงไหนควรปรับยังไงก็ทักมาแจ้งได้เลยค่ะ

ส่วนที่ 1: จักรวาล

ทุกอย่างเริ่มต้นได้ยังไง

  • สมัยก่อนนักวิทยาศาสตร์ก็สันนิษฐานกันว่า “จักรวาลมันก็อยู่ของมันมาอย่างนี้ตลอดแหละ” แต่แล้วก็เจอหลักฐานว่าแต่ละกาแล็กซี่เคลื่อนห่างออกไปตามกาลเวลา นำไปสู่อีกข้อสันนิษฐานที่ว่า “เมื่อก่อนจักรวาลเคยเล็กกว่านี้”
  • ถ้ามันเคยเล็กกว่านี้ แสดงว่า มันจะต้องมีจุดเริ่มต้นรึเปล่า? (ช่างสงสัยไปเรื่อยจริง ๆ)
  • หลายคนอาจจะคุ้นเคยกับคำตอบว่า “บิ๊กแบง” แต่ถึงอย่างนั้นจุดเริ่มต้นของจักรวาลก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันในหมู่นักวิทยาศาสตร์ ว่าก่อนหน้าบิ๊กแบง มันมีอะไรรึเปล่า?
  • บางสมมติฐานบอกว่า ก่อนจะมีจักรวาลนั้น ทุกอย่างว่างเปล่า บางสมมติฐานก็มองว่าการเกิดขึ้นของจักรวาลนี้อาจเป็นจุดจบของจักรวาลก่อน หรืออีกสมมติฐานก็บอกว่าบิ๊กแบงที่ทำให้เกิดจักรวาลของเรานั้นเป็นเพียงหนึ่งในหลาย ๆ บิ๊กแบงของจักรวาลภาพใหญ่
  • สุดท้ายแล้ว ก็ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดอยู่ดี ว่าจักรวาลเรามีจุดเริ่มต้นจริงมั้ย หาคำตอบกันต่อไปนะทุกคน

ทำไมดาวถึงส่องแสง

  • ดวงดาวเกิดขึ้นเมื่อสสาร เช่น ก๊าซหรือฝุ่น ถูกแรงดึงดูดดึงให้ชนเข้าหากันจนรวมตัวจับเป็นก้อน ซึ่งเมื่อขยายใหญ่มากขึ้นก็เกิดการอัดแน่นจนทำให้เกิดการหลอมของนิวเคลียส (Nuclear Fusion)
  • แม้กระทั่งกาแล็กซี่ก็เกิดจากปฏิกิริยานี้เหมือนกัน เช่น กาแล็กซี่ทางช้างเผือกของเรา (The Milky Way) ก็เกิดจากการรวมกันของกาแล็กซี่เล็ก ๆ สองแห่ง
  • แม้จะมีวิธีการกำเนิดเหมือนกัน แต่ดวงดาวก็มีความแตกต่างกันไป ใหญ่บ้างเล็กบ้าง สีต่างกันบ้าง สว่างบ้างมัวบ้าง
  • เหตุผลเบื้องหลังความแตกต่างนี้ก็มาจากความแตกต่างของสสารนี่แหละ ยิ่งสสารใหญ่เท่าไร แก่นกลางของดาวก็จะยิ่งร้อน และไฮโดรเจนก็จะยิ่งหลอมเร็วขึ้น ทำให้ดาวดวงนั้นสว่างจ้ามากขึ้นเท่านั้น
  • สสารของดาวก็เป็นตัวกำหนดอายุของมันด้วย แม้ว่าดาวดวงใหญ่จะมีเชื้อเพลิงให้เผามากกว่า แต่มันก็เผาเร็วกว่าทำให้ตายเร็วกว่า

สสารทำมาจากอะไร

  • สสารสุดเบสิกอย่างไฮโดรเจน ฮีเลียม และลิเธียมนั้นเป็นผลผลิตจากบิ๊กแบง ส่วนสสารอื่น ๆ นั้นเป็นเป็นผลผลิตจากการผสมกันของนิวตรอน โปรตอน อิเล็กตรอน ด้วยสัดส่วนต่าง ๆ
  • พูดเหมือนง่ายแต่จริง ๆ เชิงปฏิบัติมันไม่ง่ายเลย เพราะการจะหลอมรวมนิวเคลียสเข้าด้วยกันนั้นใช้พลังงานมหาศาล อย่างน้อยก็ 10 ล้านดีกรีเซลเซียส ซึ่งสถานที่ที่เราจะเจอความร้อนปรอทแตกนี้ได้คือหลังจากบิ๊กแบงเพียงเสี้ยววินาที กับ ภายในดวงดาวเท่านั้น
  • การหลอมรวมภายในดวงดาวจะเนิ่นนานเท่าไรก็ขึ้นอยู่กับขนาดของมัน ยิ่งใหญ่เท่าไรก็ยิ่งนานเท่านั้น สสารต่าง ๆ ก็จะหลอมรวมกันไปเรื่อย ๆ สร้างสสารใหม่ ๆ ไปเรื่อย ๆ เช่น คาร์บอน ออกซิเจน เหล็ก ฯลฯ
  • ในกรณีดาวดวงใหญ่นั้น คาร์บอนกับออกซิเจนจะหลอมรวมกันก่อให้เกิดเหล็ก (Iron) แต่เหล็กนั้นมีนิวเคลียสที่แน่นิ่งมาก ไม่สามารถทำการหลอมรวมได้ มันมีแต่จะถ่วงน้ำหนักของดาวให้เกิดการหลอมรวมกันได้น้อยลง
  • เมื่อดวงดาวมีพลังงานน้อยเกิน แต่แรงโน้มถ่วงยังทำงาน ส่วนกลางของดวงดาวก็จะระเบิด เกิดเป็นปรากฏการณ์ซูเปอร์โนวา (Supernova) ซึ่งจะกระจายชิ้นส่วนต่าง ๆ ของดวงดาวออกมา ชิ้นส่วนนั้นก็อาจจะไปหลอมรวมกับส่วนอื่น ๆ ของอวกาศ ก่อให้เกิดดาวดวงต่อ ๆ ไป

อุกกาบาต (Meteorites) มาจากไหน

  • อุกกาบาตส่วนใหญ่คือเศษเล็กเศษน้อยของดาวเคราะห์น้อย (Asteroids) ที่หลุดออกมาจากวงโคจร บ้างก็โดนแรงกระแทกแล้วร่วงลงมาบนโลก
  • อุกกาบาตมีอยู่ 3 ประเภทด้วยกัน คือ 1) หิน 2) เหล็ก 3) เหล็กปนหิน
  • ส่วนใหญ่อุกกาบาตจะเป็นประเภทที่ 1) ส่วนประเภทที่ 2) นั้นมีประมาณ 1 ใน 20 และประเภทที่ 3) หายากสุด เพราะมีแค่ 1%
  • ก่อนหน้านี้ก็เคยมีเคสอุกกาบาตตกใส่หัวคนเหมือนกัน แต่ก็ยังไม่เคยมีใครตายเพราะอุกกาบาตนะ

จักรวาลทำมาจากอะไรกันแน่

  • สิ่งที่เรามองเห็นและรู้จักนั้นเป็นเพียงเสี้ยวเล็กเสี้ยวน้อยของจักรวาลเท่านั้น หลัก ๆ แล้วจักรวาลประกอบด้วยสิ่งลี้ลับอย่าง สสารมืด (Dark Matter) และ พลังงานมืด (Dark Energy) ที่ก็ยังเป็นปริศนาว่ามันทำมาจากอะไร
  • สสารมืดถูกค้นพบครั้งแรกในช่วงต้นปี 1930s เมื่อนักอวกาศชาวดัตช์เจอกลุ่มดาวที่โคจรแบบผิดปกติในทางช้างเผือก เลยสันนิษฐานว่ามันคงจะมีสสารบางอย่างที่เราไม่รู้จักอยู่เตะส่งแรงโน้มถ่วงมา
  • ในช่วงปี 1970 ก็พบเจออีกว่ามีกาแล็กซี่ที่หมุนคว้างเร็วมากจนควรที่จะฉีกทึ้งตัวเองกระจุยกระจายไปแล้ว หากสันนิษฐานว่าสสารประหลาดนั้นประกอบไปด้วยส่วนผสมเบสิกอย่างนิวตรอน โปรตอน อิเล็กตรอน ดาวต่าง ๆ ก็คงไม่เกิดขึ้นจากการกระจุยกระจายตั้งแต่แรก
  • เชื่อว่าสสารมืดนั้นกินสัดส่วนถึง 27% ของจักรวาลเลยทีเดียว โดยสสารมืดนั้นไม่ทำปฏิกิริยากับแสงหรือแรงใด ๆ นอกจากแรงโน้มถ่วง
  • ส่วนอีกประมาณ 70% ของจักรวาลนั้นคือ พลังงานมืด ถูกค้นพบจากการที่เจอว่า การขยายตัวของจักรวาลนั้นไวกว่าที่คาดไว้ ทั้งที่มันควรจะช้าลงจากแรงโน้มถ่วง

หลุมดำมาจากไหน

  • ไม่มีใครเคยเห็นหลุมดำจริง ๆ แต่ทุกคนก็เชื่อว่ามันมีอยู่จริง
  • หลุมดำถูกมองเป็นการค้นพบแห่งศตวรรษที่ 20 แต่จริง ๆ แล้วไอเดียของมันเกิดขึ้นก่อนหน้านั้น ตั้งแต่ปี 1783 แล้ว
  • ดวงดาวไหนที่มีขนาดใหญ่กว่าดวงอาทิตย์สองเท่าขึ้นไปนั้นมีโอกาสเป็นหลุมดำได้หมด เพราะแรงโน้มถ่วงอันมหาศาลนั้นจะสร้างแรงดึงดูดที่ดึงเข้ากลับ
  • ปกติแล้วดาวจะต้านแรงดึงดูดนี้ด้วยปฏิกิริยา nuclear fusion ตรงแก่น แต่เมื่อเชื้อเพลิงหมดก็สู้แรงโน้มถ่วงไม่ไหว เริ่มกัดกินตัวเองจนเกิดขั้นตอนที่ชื่อ gravitational collaspe ซึ่งบางทีก็ก่อให้เกิดหลุมดำเลย หรือไม่ก็กลายเป็นระเบิดซูเปอร์โนวา
  • ยิ่งระเบิดซูเปอร์โนวายิ่งใหญ่ขนาดไหน มันก็จะยิ่งก่อให้เกิดระเบิดต่อ ๆ ไปมากเท่านั้น และเมื่อสิ่งที่ระเบิดกระจัดกระจายนั้นก่อตัวหนาแน่นมากขึ้น แรงโน้มถ่วงของมันก็มากขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงจุดที่แม้แต่แสงก็ไม่สามารถเล็ดรอดออกมาได้ หลุมดำก็จะถือกำเนิด
  • ขั้นตอนนี้ใช้ไม่ได้กับการก่อกำเนิดของหลุมดำมวลยิ่งยวด (Supermassive Black Hole) ซึ่งหนักอย่างน้อย 100,000 เท่าของดวงอาทิตย์ คาดว่าหลุมดำไซส์ยักษ์นี้อาจจะก่อกำเนิดมาจากสสารขนาดใหญ่ที่ถูกดูดเข้าไปในหลุมดำอย่างยาวนาน ไม่ก็เกิดจากการจับมือรวมกันของหลุมดำทั่วไป หรือไม่ก็เกิดจากการระเบิดของดวงดาวยักษ์ใหญ่ในอดีตกาล
  • เมื่อสิ่งใดก็ตามถูกดูดเข้าไปในหลุมดำ เราเรียกขั้นตอนนี้ว่า Spaghettification หมายความถึงแรงโน้มถ่วงที่ดุดันมากจนสามารถจับสิ่งต่าง ๆ ที่เฉียดเข้าไปใกล้ ยืดออกเป็นเส้นยาว ๆ ก่อนจะดูดกลืนเข้าไปเหมือนเราดูดเส้นสปาเก็ตตี้

ส่วนที่ 2: ดาวเคราะห์ของเรา

ทำไมเราถึงเป็น “หิน” ก้อนที่ 3 จากดวงอาทิตย์

  • เรื่องราวเกิดขึ้นเมื่อ 4.6 พันล้านปีก่อน ดวงอาทิตย์ได้ถือกำเนิดขึ้นจากการรวมตัวกันของไฮโดรเจน ก๊าซฮีเลียม และฝุ่นอีกเล็กน้อย ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่แน่ใจว่าอะไรทำให้เกิดปรากฏการณ์นี้ รู้เพียงแต่ว่ามันไม่ใช่เรื่องแปลกในแวดวงทางช้างเผือกเลย
  • สสารส่วนใหญ่ถูกดวงอาทิตย์กลืนกินไปหมด ส่วนที่เหลือเพียงน้อยนิด (น้อยนิดแบบ 0.02%) ถูกแรงโน้มถ่วงดึงให้โคจรรอบดวงอาทิตย์ในรูปแบบแผ่นดิสก์ หรือที่เรียกว่าจานดาวเคราะห์ก่อนเกิด (Protoplanetary disk)
  • เมื่อเวลาผ่านไป เศษฝุ่นพวกนี้ก็ปะทะกันเรื่อย ๆ จนจับรวมตัวกันมีขนาดใหญ่ขึ้น กลายเป็น planetesimal หรือดาวเคราะห์ที่ยังไม่สมบูรณ์ ขนาดของมันจะใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ตามเวลา พร้อมกันกับแรงโน้มถ่วงที่มากขึ้น ดึงมวลสารรวมถึง planetesimal เข้ามาด้วย จนกลายเป็นดาวเคราะห์ที่สมบูรณ์ในที่สุด
  • ยิ่งอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากเท่าไร ก็ยิ่งมีแค่โลหะและแร่ธาตุซึ่งมีจุดหลอมเหลวสูง ๆ เท่านั้นถึงจะอยู่รอด ขนาดของดาวเคราะห์ก็จะไม่ใหญ่เท่าไร (เล็กจิ๋วมากเมื่อดูเทียบในแผนผังดาวเคราะห์ระบบสุริยะ) ซึ่งดาวเคราะห์ที่ว่านี้ก็คือดาวพุธ ดาวศุกร์ โลก และดาวอังคารนั่นเอง
  • แต่พอไกลออกไป (เลย “ice line” ซึ่งเป็นจุดที่ก๊าซมีเธนกับน้ำแปรสภาพกลายเป็นของแข็ง) ดาวเคราะห์ก็จะสามารถขยายใหญ่ขึ้นได้จากการเก็บเกี่ยวโมเลกุลของไฮโดรเจนและก๊าซอื่น ๆ ผลลัพธ์ก็คือดาวพฤหัสฯ และดาวเสาร์ ไกลยิ่งกว่านั้นในเขตแดนที่หนาวลง ก็จะเจอน้ำแข็งไซส์บึ้มอย่างยูเรนัสและเนปจูน
  • เอาจริง ๆ ทุกคนก็ยังงงอยู่เหมือนกันว่าเศษฝุ่นพวกนี้มันจับรวมเป็นก้อนใหญ่ยักษ์ได้ยังไง มันควรจะถูกดวงอาทิตย์กลืนกินไปหมด เลยคาดเดาว่ามันคงมีจุดที่แรงกดดันน้อย ทำให้มวลสารพวกนี้เกาะรวมกันได้
  • นอกจากดวงอาทิตย์และดาวเคราะห์ทั้งแปด ระบบสุริยะยังมีแถบดาวเคราะห์น้อย (asteroid belt) ซึ่งอยู่ระหว่างดาวอังคารกับดาวพฤหัส เป็นวงแหวนที่ประกอบไปด้วยวัตถุ (ส่วนใหญ่เป็นเศษหิน) สมัยยังเป็นจานดาวเคราะห์ก่อนเกิดซึ่งไม่สามารถจับตัวกันได้เพราะเจอแรงโน้มถ่วงของดาวพฤหัส
  • แล้วก็ต้องไม่ลืมดวงจันทร์ด้วย มีเพียง 3 ดวงที่อยู่แถบในของระบบสุริยะ หนึ่งในนั้นก็คือดวงจันทร์ของเรา คาดว่าดวงจันทร์ก็คือเศษซากที่หลงเหลือไม่ก็ดาวเคราะห์น้อยที่ถูกแรงโน้มถ่วงของดาวเคราะห์ดึงไว้
  • ไกลออกไปจากดาวยูเรนัสและเนปจูนคือแถบไคเปอร์ (Kuiper belt) บริเวณที่ประกอบไปด้วยวัตถุน้ำแข็งมากมายกว่า 100,000 ดวง ซึ่งนี่ก็รวมไปถึงดาวพลูโตด้วย แต่นี่ก็ยังไม่ถึงขอบของระบบสุริยะนะ
  • เพราะยังมีเมฆออร์ต (Oort cloud) ชั้นเมฆทรงกลมที่ประกอบไปด้วยวัตถุน้ำแข็งเป็นส่วนใหญ่ ถึงตรงนี้แทบจะไม่มีแรงโน้มถ่วงจากดวงอาทิตย์ส่งมาถึงแล้ว
ระบบสุริยะ
Source: Phys.org

ดวงจันทร์มายังไง

  • ดวงจันทร์ของเรามีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 5 ของดวงจันทร์ในระบบสุริยะ เป็นรองเพียงดวงจันทร์ของดาวเสาร์ กับดวงจันทร์อีก 3 ดวงของดาวพฤหัส
  • ในปี 1879 นักอวกาศนามว่า George Darwin (คุ้น ๆ ชื่อมั้ย เขาเป็นลูกชายของ Charles Darwin นั่นแหละ) เสนอทฤษฎีต้นกำเนิดของดวงจันทร์ที่ว่า ครั้งหนึ่งโลกของเรากับดวงจันทร์นั้นเคยเป็นหนึ่งเดียวกัน ซึ่งมันก็คงเคยหมุนคว้างอย่างไวจนมีหินบางส่วนหลุดออกมารวมตัวกันเป็นดวงจันทร์
  • ตอนแรกแนวคิดนี้ก็ได้รับความสนใจ แต่ไป ๆ มา ๆ ก็โดนปัดตกเพราะการที่จะเกิดเหตุการณ์นี้ได้นั้น โลกจะต้องหมุนเร็วมาก ๆ ในระดับที่เป็นไปไม่ได้
  • อีกไอเดียนึงที่ตามมาคือ Big Splat มองว่า 50 ล้านปีหลังเกิดระบบสุริยะได้มีวัตถุขนาดเท่าดาวอังคารนามว่า Theia พุ่งเข้าชนโลก ตัวมันได้รับแรงกระแทกและมีชิ้นส่วนหลุดออกมากลายเป็นดวงจันทร์
  • แม้ทฤษฎีนี้จะได้รับการยอมรับ แต่ก็มีจุดชวนกังขาตรงที่ว่า ทฤษฎีนี้มองว่าดวงจันทร์มีส่วนประกอบมาจาก Theia โดยมีส่วนประกอบจากโลกเราน้อยมาก หากเป็นอย่างนั้นเราก็สันนิษฐานได้ว่าก้อนหินของโลกกับของดวงจันทร์ต้องต่างกันมากแน่นอน (เว้นแต่ว่าก้อนหินของโลกกับของ Theia จะมีความเหมือนกันตั้งแต่แรก)
  • ทว่าสิ่งที่ได้รับการค้นพบคือ องค์ประกอบของสสารบนดวงจันทร์ ไม่ว่าจะเป็นออกซิเจน โครเมียม โพแทสเซียม และซิลิโคน ต่างก็เหมือนกับของโลกเรา ก้อนหินบนดวงจันทร์ยังมีส่วนประกอบเป็นน้ำเยอะด้วย ซึ่งถ้าเจอแรงปะทะไปขนาดนั้น น้ำก็ควรถูกกำจัดไปแล้ว
  • เมื่อผลเป็นอย่างงี้ ก็ได้แต่คาดเดาว่าจริง ๆ ดวงจันทร์ก็คงเคยเป็นส่วนหนึ่งของโลกเราแหละ แต่มันหลุดออกมาได้ไงถ้าโลกไม่ได้หมุนเร็วขนาดนั้น? ข้อสันนิษฐานนึงที่มีคือสารกัมมันตรังสีบนแก่นของโลกเรานั้นเกิดการบีบอัดอย่างรุนแรงหลังโลกของเราถือกำเนิด จนระเบิดบางส่วนออกมาเป็นดวงจันทร์
  • ข้อสันนิษฐานอื่น ๆ ก็เช่น มีวัตถุขนาดครึ่งนึงของ Theia พุ่งชนและฝังตัวอยู่ในโลก จากการจำลองเจอว่าการพุ่งชนนี้จะก่อให้เกิดพลังงานเพียงพอที่จะระเบิดชิ้นส่วนออกมาจากโลก
  • อีกเวอร์ชั่นนึงคือ มีดาวเคราะห์เล็ก ๆ สองดวงค่อย ๆ ชนกัน ก่อให้เกิดเป็นโลก และมีดวงจันทร์เป็นของแถม

ทำไมโลกเราถึงมีผืนดินและมหาสมุทร

  • ต้องย้อนกลับไปยังจุดกำเนิดของโลกสักหน่อย เมื่อ 4.567 พันล้านปีก่อน ตอนนั้นโลกยังเป็นตัวอ่อนอยู่จากการชนกันของเหล่า planetesimal
  • 65% ของโลกได้ถือกำเนิดขึ้นเมื่อ 4.55 พันล้านปีก่อน ตอนนั้นโลกเราร้อนมาก เต็มไปด้วยหินหลอมเหลว แต่มันก็ค่อย ๆ เย็นลงจนก่อตัวเป็นพื้นผิวขรุขระ
  • ประมาณ 20 ล้านปีต่อมา โลกก็เริ่มก่อตัว แต่ไม่นานนักก็ถูกชนด้วยวัตถุไซส์ประมาณดาวอังคาร เศษซากจากการชนครั้งนี้ก่อให้เกิดดวงจันทร์ ในชั้นบรรยากาศของโลกก็เต็มไปด้วยไอระเหยจากหิน ซึ่งเมื่อรวมตัวกันก็เกิดเป็นฝนลาวาที่โปรยลงมาเป็นทะเลแห่งหินหลอมเหลวตรงแก่นกลางของโลกอีกครั้ง
  • ยังไม่พอ ประมาณ 4.1 พันล้านปีต่อมา ก็เกิดเหตุการณ์การระดมชนหนักครั้งหลัง (Late Heavy Bombardment) เมื่อมีอุกกาบาตและดาวเคราะห์น้อยร่วงลงมาบนโลก เมื่อผสมโรงกับการเคลื่อนของเปลือกโลกก่อนหน้านี้ และสภาพอากาศ ก็ทำให้ช่วงนั้นเป็นช่วงมหันตภัยของโลกเลย (เรียกช่วงนี้ว่าเฮเดียน (Hadean))
  • เมื่อโลกรอดชีวิตจากยุคเฮเดียนมาได้ (ประมาณ 4 พันล้านปีก่อน) โลกก็มีพื้นดินแห้ง ๆ มหาสมุทร และอาจจะมีสิ่งมีชีวิตด้วยแล้ว
  • เมื่อดูจากเพทาย (zircon) ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่เก่าแก่ที่สุดของโลก มีอายุนานกว่า 4 พันล้านปี นั่นหมายความว่าพวกมันก่อกำเนิดในยุคสมัยเฮเดียน
  • เมื่อตรวจดูแล้ว อ็อกซิเจนในเพทายบอกเราว่า แร่ธาตุนี้ถูกสร้างขึ้นในน้ำ นั่นหมายความว่ามหาสมุทรอยู่มานานกว่า 4 พันล้านปีแล้ว และโลกเราก็คงสร้างพื้นผิวขึ้นมาตอนยุคเฮเดียนนี่แหละ เพราะมหาสมุทรก็ต้องมีพื้นผิวรองรับ
  • พื้นผิวแรกทำมาจากหินบะซอลท์ (basalt) หินภูเขาไฟสีดำ มันสามารถก่อตัวขึ้นเป็นขนาดใหญ่และกลายร่างเป็นพื้นดินท่ามกลางมหาสมุทรได้ ตัวอย่างโลเคชั่นที่มาจากหินบะซอลท์ก็คือไอซ์แลนด์และฮาวาย ขั้นตอนนี้เกิดขึ้นในช่วงต้น ๆ ของการกำเนิดโลก ประมาณหนึ่งพันล้านปีแรก พวกหินภูเขาไฟพวกนี้ผุดขึ้นมาคั่นทะเลเรื่อย ๆ
  • ทวีปแรกของโลกก็ถูกสร้างขึ้นในช่วงประมาณนี้ แต่สร้างจากหินแกรนิต (granite) ซึ่งเป็นหินภูเขาไฟอีกชนิด มีน้ำหนักเบากว่าบะซอลท์
  • สุดท้ายแล้ว ก็ยังไม่ชัวร์ว่ามหาสมุทรเกิดขึ้นบนโลกได้ยังไงทั้งที่เราอยู่ใกล้พระอาทิตย์ ตอนแรกก็สันนิษฐานกันว่ามาจากวัตถุน้ำแข็งอย่างดาวหางและดาวเคราะห์น้อยในช่วง Late Heavy Bombardment รึเปล่า แต่พอตรวจสอบก็พบว่าส่วนประกอบของน้ำไม่เหมือนกับบนโลกเรา
  • พอนำน้ำของโลกเรามาตรวจสอบ ก็พบว่ามันมีส่วนประกอบมาจากหลายต้นกำเนิดทั่วทุกสารทิศของระบบสุริยะเลย

ทำไมสภาพอากาศถึงเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

  • พื้นที่ที่อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร (equator) เป็นพื้นที่ที่โดนแสงอาทิตย์สาดส่องเต็ม ๆ ประเทศที่อยู่ตรงนี้เลยร้อนเป็นพิเศษ (ประเทศไทยก็เช่นกัน) ส่วนพื้นที่ที่โดนแสงอาทิตย์น้อยสุด คือแถบขั้วโลก
  • จากความแตกต่างด้านบน อากาศก็มีการไหลเวียน ความร้อนมักจะเคลื่อนจากส่วนร้อนไปส่วนที่เย็นกว่า
  • โลกเรามีการหมุนตลอดเวลา นั่นทำให้อากาศแถว ๆ เส้นศูนย์สูตรเคลื่อนไหวเร็วกว่า ในขณะที่ขั้วโลกแทบไม่เคลื่อนเลย นั่นทำให้ความร้อนใด ๆ ก็ตามที่ถูกส่งไปยังขั้วโลก ถูกหักเหออกไปด้านข้างหมด ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า แรงคอริออลิส (Coriolis effect)
  • แรงคอริออลิสก่อให้เกิดลมผิวพื้น (surface winds) 6 แถบ ซีกโลกละ 3 รูปแบบ หนึ่งในนั้นคือ equatorial trade winds ซึ่งเมื่อบรรจบพบกัน ตรงพื้นที่นั้นจะมีอากาศปั่นป่วน ฝนตกหนัก มีมรสุมบ่อย เรียกว่าแถบร่องความกดอากาศต่ำแถบศูนย์สูตร หรือ ร่องมรสุม (Intertropical Convergence Zone) ซึ่งไชโย… ไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่อยู่ในแถบนี้
  • นอกจากลม อีกหนึ่งปัจจัยของสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงก็คือน้ำ ซึ่งเราจะสัมผัสได้ผ่านก้อนเมฆและฝน
  • ก้อนเมฆสร้างมาจากไอน้ำในอากาศและกลไกผลักขึ้น ไอน้ำมาจากการระเหยของน้ำ ส่วนกลไกผลักขึ้นมีด้วยกัน 3 วิธีคือ 1) อากาศร้อนที่ลอยตัวขึ้น (thermals) 2) เมื่ออากาศที่มีความหนาแน่นต่างกันมาเจอกัน และ 3) อากาศที่ถูกพัดปะทะภูเขาทำให้ลอยตัวขึ้น
  • เมื่ออากาศลอยตัวขึ้น อุณหภูมิของมันก็จะเย็นลงและเริ่มขยายตัว ถึงจุดนึงก็เริ่มเย็นไปที่ไอน้ำจะคงสภาพเป็นก๊าซ เริ่มจับตัวเป็นละอองน้ำเล็ก ๆ หรือก็คือก้อนเมฆนั่นละ เมื่อก้อนเมฆนี้ใหญ่พอ ก็จะร่วงลงมากลายเป็นฝน ลูกเห็บ หรือหิมะ
  • พายุฝนฟ้าคะนอง เกิดจากการที่มวลอากาศร้อนสัมผัสกับแสงอาทิตย์มาก ๆ ก็จะก่อกำเนิดเป็นปุยเมฆหน้าตาคล้ายดอกกะหล่ำ หรือที่เรียกว่า cumulus clouds เมื่อก้อนเมฆนี้สามารถลอยไปแตะชั้นบรรยากาศแถบล่างสุด (troposphere) ซึ่งอากาศหนาวเย็นตรงนี้จะสร้างเกล็ดน้ำแข็งที่เข้าปะทะกันเรื่อย ๆ เกิดเป็นประจุไฟฟ้าที่เมื่อยิ่งแรงขึ้นก็ยิ่งส่งให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง
  • นิตยสาร Weatherwise จัดอันดับประเทศที่มีอากาศน่าเบื่อที่สุด กล่าวคือตลอด 1 ปีแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงของอากาศเลย แชมป์คือเมืองชายทะเลอย่าง Viña del Mar ประเทศชิลี อุณหภูมิช่วงกลางวันอยู่ระหว่าง 15-25 องศาเซลเซียสตลอดทั้งปี (โห อากาศในฝันเลย) มีเมฆบังเล็กน้อยและมีฝนตกปรอย ๆ บ่อย ไม่เคยหนาวจนแข็งหรือมีหิมะ นาน ๆ ทีจะมีพายุฝนมาบ้างให้ไม่เบื่อ
Viña del Mar
Source: TripAdvisor

ดินมาจากไหน

  • ดินนั้นประกอบไปด้วย 2 ส่วน คือ 1) ส่วนที่เป็นของแข็ง และ 2) หลุมบ่อ
  • ส่วนที่เป็นของแข็งนั้นส่วนใหญ่ก็คือหินก้อนเล็ก ๆ กับอินทรีย์วัตถุ (organic matter) ทั้งที่มีชีวิตอยู่และตายแล้ว
  • หลุมบ่อนี่ก็ไม่ใช่พื้นที่โล่ง ๆ นะ แต่เป็นที่กักเก็บน้ำและก๊าซ ในสัดส่วนที่ต่างกันออกไป
  • จุดเริ่มต้นของดินส่วนใหญ่คือพื้นหินเปล่า ๆ ซึ่งค่อย ๆ ถูกกัดเซาะจากสภาพอากาศต่าง ๆ เช่น ลม ฝน ความหนาว ความร้อน ทำให้เกิดชิ้นส่วนเล็ก ๆ ที่ทับถมกัน
  • นอกจากนั้น หินยังถูกกัดเซาะจากสารเคมีในน้ำฝน ที่ทำการละลายแร่ธาตุบางชนิดด้วยเช่นกัน
  • นอกจากนี้ การกัดเซาะของหินก็เกิดจากสิ่งมีชีวิตอย่างแบคทีเรียและเชื้่อโรคอื่น ๆ ที่ปล่อยกรดซึ่งทำลายหินออกมา ไหนจะตะไคร่ที่เกาะติดกับหินอีก
  • วงจรดำเนินไปเรื่อย ๆ เมื่อสิ่งมีชีวิตนึงทิ้งเศษซากของตัวเองเอาไว้บนดิน สิ่งมีชีวิตชนิดอื่น ๆ ก็จะตามมาใช้ประโยชน์ต่อ จนกระทั่งถึงสิ่งมีชีวิตที่ตัวใหญ่ขึ้นอย่างหนอนและแมลงต่าง ๆ มาอาศัย ก็มาช่วยปรับหน้าดินที่ไม่เป็นรูปเป็นร่างให้สมดุลยิ่งขึ้น
  • เมื่อเวลาผ่านไป ผืนดินก็ยิ่งหนาขึ้นแบ่งเป็นชั้น ๆ ได้แก่ดินชั้นบน และดินชั้นล่างอีกหลาย ๆ ชั้น
  • กว่าเราจะมีดินที่สมบูรณ์นั้นใช้เวลานานมาก คาดการณ์ว่าผืนดินที่ปกคลุมโลกเราส่วนใหญ่นั้นน่าจะใช้เวลาหลายพันปีในการสร้างตัว
  • ดินที่เก่าแก่ที่สุดคือดินบรรพกาล (palaeosols) ตั้งแต่สมัย 2 พันล้านปีก่อน ก่อนที่จะมีพืชผักซะอีก ดินนี้ถือว่าสมบูรณ์มากแม้ว่าจะเป็นดินแรก ๆ ของโลก
  • อยากให้ทุกคนช่วยปกปักษ์รักษาดินของโลกเรา ซึ่งเป็นอีกแหล่งพึ่งพิงของชีวิต เพราะจากรายงานของ UN เจอว่าผืนดินว่า 1/3 นั้นถูกรุกรานจากการทำการเกษตรและก่อสร้าง และเรากำลังทยอยสูญเสียดินชั้นบนที่มีสภาพอุดมสมบูรณ์ในระดับ 30 สนามฟุตบอลต่อนาทีเลยทีเดียว

ทำไมโลกถึงมีอากาศที่ดีนัก

  • ปัจจุบัน อากาศบนโลกของเรานั้นประกอบไปด้วยไนโตรเจน 78% อ็อกซิเจน 21% นอกนั้นเป็นก๊าซอื่น ๆ และไอน้ำ
  • แต่แรกสุดเลยอากาศไม่ได้เป็นแบบนี้ จุดเริ่มต้นของอากาศบนโลกนั้นน่าจะประกอบไปด้วยไฮโดรเจนเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งหลงเหลือมาจากการก่อร่างสร้างตัวของดาว
  • จากนั้น อากาศบนโลกก็เปลี่ยนอีก ภูเขาไฟปล่อยก๊าซหนัก ๆ ออกมา ซึ่งก๊าซนี้ไม่สามารถหนีออกจากโลกได้ โดนดึงด้วยแรงโน้มถ่วง พวกดาวหางและดาวเคราะห์น้อยที่ชนโลกก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งต้นตอของก๊าซใหม่ ๆ เช่นกัน
  • อ็อกซิเจนเริ่มถือกำเนิดช่วงนี้อย่างช้า ๆ เมื่อแสงอาทิตย์ทำปฏิกิริยากับโมเลกุลของคาร์บอน ไดอ็อกไซด์และน้ำ แต่ก็ยังถือเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก ๆ
  • แล้วทำไมจู่ ๆ ไนโตรเจนกับอ็อกซิเจนแย่งชิงสัดส่วนอากาศมาได้ ? มีอยู่ 2 คำตอบ คือ 1) ปริมาณคาร์บอน ไดอ็อกไซด์จำนวนมากละลายในมหาสมุทรและกลายเป็นหินปูน และ 2) สิ่งมีชีวิตถือกำเนิดขึ้น และเปลี่ยนองค์ประกอบของอากาศแบบหน้ามือเป็นหลังมือ
  • แรกสุดเลย สิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวปลดปล่อยก๊าซมีเธนออกมา เป็นของเสียจากการใช้ไฮโดรเจนและคาร์บอน ไดอ็อกไซด์เป็นแหล่งพลังงาน ราว ๆ 3.7 พันล้านปีก่อน ก๊าซมีเธนที่ปล่อยออกมานั้นเยอะมากจนแทบจะคร่าชีวิตไปเกือบหมดโลก
  • ต่อมา ประมาณ 2.3 พันล้านปีก่อน ก็เกิดวิกฤติชื่อ Great Oxygenation Event สาเหตุเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ประมาณพันล้านปี เมื่อมีจุลินทรีย์บางชนิดเกิดวิวัฒนาการขึ้นทำให้สามารถใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ได้ ผ่านการสังเคราะห์ด้วยแสง (photosynthesis) ผลลัพธ์คือของเสียที่เป็นพิษมากและยังไม่ค่อยจะเจอบนโลกมาก่อน นั่นก็คือก๊าซอ็อกซิเจนที่เราคุ้นเคยนั่นเอง
  • การสังเคราะห์แสงช่วงแรก ๆ นั้น อ็อกซิเจนไม่ได้ถูกปล่อยไปในอากาศโดยตรง แต่ถูกกักเก็บไว้ในเหล็ก (iron) ก่อให้เกิดเป็น iron oxides สามารถพบเจอในหินที่มีอายุระหว่าง 1.5-3 พันล้านปี
  • ต่อมา การสังเคราะห์แสงของสิ่งมีชีวิตใหม่ ๆ ได้เปลี่ยนไป พวกมันทนต่ออ็อกซิเจนและสามารถปล่อยอ็อกซิเจนในอากาศได้แล้ว ฆ่าพวกที่ไม่ทันวิวัฒน์ตัวเอง ปริมาณอ็อกซิเจนในอากาศก็เพิ่มขึ้นพรวดจาก 1% เป็นอย่างน้อย 10%
  • วิกฤติ Great Oxygenation Event แทบจะกวาดล้างชีวิตบนผืนโลกไปหมด แต่วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตก็ไม่ย่อท้อ สามารถหาวิธีใช้งานอ็อกซิเจนผ่านการหายใจ (respiration) แทน
  • ต่อมาก็ยังเกิดอีกวิกฤตคือ Snowball Earth ยุคน้ำแข็งซึ่งกินเวลาประมาณ 400 ล้านปี เกิดจากการที่ก๊าซเรือนกระจกอย่าง CO2 ถูกดูดออกจากบรรยากาศและถูกกักเก็บในหินตะกอนผ่านการสังเคราะห์แสง และอ็อกซิเจนกับมีเธนซึ่งเป็นอีกหนึ่งก๊าซเรือนกระจกได้ทำปฏิกิริยากัน เหตุการณ์นี้ส่งผลให้อ็อกซิเจนลดระดับลงไปอีกครั้ง อาจเพราะการสังเคราะห์แสงที่ได้หยุดไป แต่เมื่อน้ำแข็งละลายและสิ่งมีชีวิตกลับมาอีกครั้ง ก็เกิดการปั๊มอ็อกซิเจนเข้าสู่อากาศต่อไป
  • การเพิ่มขึ้นของอ็อกซิเจนช่วยให้โลกเรามีบรรยากาศที่เอื้อต่อการมีชีวิต ผ่านการสร้างเกราะป้องกันอย่างชั้นโอโซนเมื่อประมาณพันล้านปีก่อน อีกด้านนึง ก๊าซไนโตรเจนก็ไหลรั่วออกมาจากภูเขาไฟ ออกมาสู่อากาศมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งประมาณ 600 ล้านปีก่อน องค์ประกอบของบรรยากาศในโลกเราก็ใกล้เคียงกับที่เป็นอยู่ปัจจุบัน
  • ปัจจัยธรรมชาติส่งผลให้สัดส่วนและความหนาแน่นขององค์ประกอบบรรยากาศได้เปลี่ยนไปตามแต่ละช่วงเวลา เช่น เมื่อ 300 ล้านปีก่อน สัดส่วนอ็อกซิเจนพุ่งสูงถึง 30% ส่งผลให้แมลงมีปีกเกิดวิวัฒนาการจนมีขนาดความยาวถึงหนึ่งเมตรเลยทีเดียว

ทำไมเราถึงมีน้ำมัน

  • ต้นกำเนิดของน้ำมันส่วนใหญ่บนโลกเรานั้น เกิดจากแพลงก์ตอน (Plankton) ที่อยู่ในมหาสมุทร เมื่อพวกมันตาย ร่างของพวกมันก็ดิ่งจมลงสู่พื้นทะเลที่ลึกมากจนไม่มีแม้กระทั่งอ็อกซิเจนที่จะช่วยย่อยสลายร่าง
  • ร่างแพลงก์ตอนที่ยังมีพลังงานล้นเหลืออยู่นั้นได้ทับถมกันเป็นโคลนที่ผสมกับเศษดินเศษทราย เวลาผ่านไปก็ค่อย ๆ หายไปในตะกอนหิน
  • เวลาผ่านไปเป็นล้าน ๆ ปี ตัวโคลนถูกฝังลึกยิ่งขึ้นเมื่อตะกอนทับถมกันมากขึ้น เมื่อถึงความลึกที่ระดับ 3 กิโลเมตร ความต้อนทั้งจากด้านล่างและแรงกดทับจากด้านบนก็ทำปฏิกิริยากับโคลนนี้ เป็นผลให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าเคโรเจน (kerogen) ซึ่งแปรเปลี่ยนเป็นปิโตรเลียม (petroleum) ในภายหลัง
  • ส่วนใหญ่เราจะเจอปิโตรเลียมในหินที่มีน้ำ โดยตัวหินนั้นจะต้องมีรูพรุนเพื่อที่ของเหลวและก๊าซจะได้เคลื่อนผ่านได้ และอาจจะต้องมีหินทึบ ๆ มาทับหินที่มีน้ำมันอีกทีเพื่อไม่ให้น้ำมันไหลออกไป พื้นที่ไหนที่มีหินนี้เยอะ ๆ ก็จะกลายเป็นแหล่งน้ำมันไปโดยปริยาย

ส่วนที่ 3: ชีวิต

สิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นมาตอนไหน

  • เอาเข้าจริงนักวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่รู้แน่ชัดว่าสิ่งมีชีวิตถือกำเนิดขึ้นที่ไหนหรือยังไง แต่ก็พอจะเดาได้จากข้อมูลที่พบเจอ
  • คาดว่าสิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อ 3.8 พันล้านปีก่อน เป็นการค้นพบร่องรอยจากฟอสซิลและหิน
  • สันนิษฐานว่าสิ่งมีชีวิตแรกเริ่มน่าจะเกิดจากผืนดินในทะเล ในสถานที่ที่ชื่อว่า “ปล่องน้ำร้อนใต้สมุทรที่เป็นด่าง” (Alkaline Hydrothermal Vent) ซึ่งมีคุณสมบัติค่อนข้างครบในการให้กำเนิดชีวิตแรกเริ่ม
  • ปล่องนี้อุดมไปด้วยแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการกำเนิดชีวิต ผ่านการทำปฏิกิริยากับ CO2 และไฮโดรเจนในน้ำอีกที ก่อกำเนิดเป็นโมเลกุลที่จะสร้างชีวิตในภายหลัง เช่น กรดอะมิโน น้ำตาล และ RNA
  • RNA สามารถแปลงร่างเป็นโปรตีน และสามารถกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาทางเคมีเพื่อให้กำเนิดชีวิตได้ คาดว่าสิ่งมีชีวิตชนิดแรก ๆ น่าจะมีโมเลกุลของ RNA
  • ความต่างของ RNA และ DNA คือ RNA สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง แต่ DNA ต้องใช้โปรตีนในการสร้าง ขณะเดียวกันการจะสร้างโปรตีนขึ้นมาได้นั้นก็ต้องมีข้อมูลจาก DNA
  • ตัวปล่องสามารถกักเก็บโมเลกุลไม่ให้กระจายออกไป เนื่องจากในปล่องมีพื้นที่เล็ก ๆ ที่เชื่อมต่อกันมากมายห่อหุ้มด้วยผนังแร่ธาตุ ช่วยกักเก็บและอัดบีบ RNA รวมถึงโมเลกุลอื่น ๆ ให้ก่อตัวขึ้นบนพื้นผิว
  • RNA ต้องการพลังงาน ซึ่งก็จะได้จากตัวปล่องนี้ เมื่อของเหลวจากปล่องซึ่งเป็นด่างปะทะกับน้ำทะเลซึ่งเป็นกรด ก็จะทำปฏิกิริยาอันก่อให้เกิดพลังงานได้
  • นักวิทยาศาสตร์ก็ยังหาคำตอบไม่ได้ว่าสิ่งมีชีวิตเปลี่ยนจากการใช้ RNA มาเป็น DNA ได้ยังไง
  • อีกทฤษฎีนึงที่ชื่อ panspermia บอกว่าสิ่งมีชีวิตบนโลกเกิดจากดาวดวงอื่น แต่มาอยู่บนโลกได้เพราะดาวหางหรืออุกกาบาตที่ตกลงมา ถึงอย่างนั้นทฤษฎีนี้ก็ไม่ได้อธิบายว่าสิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นเมื่อไรและเกิดมายังไง เป็นแค่การยกจากดาวนึงมาอีกดาวนึงเฉย ๆ
ปล่องน้ำร้อนใต้สมุทรที่เป็นด่าง (Alkaline Hydrothermal Vent)
Source: ResearchGate

สิ่งมีชีวิตที่ซับซ้อนขึ้นมา (complex life) ถือกำเนิดได้ยังไง

  • ในอดีตนั้น สิ่งมีชีวิตที่อยู่บนโลกค่อนข้างเบสิกมาก มีแค่พวกแบคทีเรีย โดยสิ่งมีชีวิตที่ซับซ้อนที่สุดน่าจะเป็นจุลินทรีย์ที่มีอาณานิคมของตัวเอง และตอนนั้นก็ยังไม่มีพืชหรือสัตว์ใด ๆ ทั้งสิ้น
  • ตอนแรกนักวิทยาศาสตร์ก็คาดว่า สิ่งมีชีวิตคงค่อย ๆ มีวิวัฒนาการมาเป็นแบบซับซ้อน แต่ดูเหมือนจะไม่ใช่อย่างนั้น เพราะถ้าเป็นงั้นจริง ก็คงยังต้องพบเจอเซลล์ที่ยังวิวัฒนาการอยู่ แต่มันกลับไม่มีเลย
  • มีเซลล์อยู่ 2 ชนิดเท่านั้น คือ โปรคาริโอต (Prokaryotes) สิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวที่ไม่มีนิวเคลียส เช่น แบคทีเรีย และ ยูคาริโอต (Eukaryotes) สิ่งมีชีวิตที่เซลล์มีความล้ำและใหญ่กว่า เช่น อะมีบา
  • ถ้าให้เทียบกันแล้ว ยูคาริโอตล้ำกว่าโปรคาริโอตมาก เหมือนเอามนุษย์มาเทียบกับอะมีบา สิ่งมีชีวิตที่เราเห็นรอบตัว แทบทุกอย่างล้วนมียูคาริโอตกันทั้งนั้น
  • เรื่องเกิดขึ้นเมื่อ 2 พันล้านปีก่อน เกิดเหตุการณ์บังเอิญมาก ๆ ที่เซลล์แบคทีเรียถูกกลืนกินไปในอีกเซลล์นึง และทั้งสองสามารถอยู่ร่วมกันได้ และสร้างความสัมพันธ์ที่เรียกว่า เอ็นโดซิมไบโอซิส (endosymbiosis) ซึ่งต่อมาก็ทำให้เกิดไมโทคอนเดรีย (mitochondrion) หรือแหล่งสร้างพลังงานของเซลล์
  • เมื่อเซลล์มีไมโทคอนเดรีย ก็เหมือนเปิดความเป็นไปได้อีกมากมาย เพราะโดยปกติแล้วเซลล์ทั่วไปเมื่อเติบใหญ่ขึ้น ก็จะผลิตพลังงานไม่ทัน แต่พอมีไมโทคอนเดรียซึ่งสามารถเพิ่มจำนวนขึ้นได้เรื่อย ๆ ก็ทำให้มีพลังงานมาเลี้ยงเซลล์สม่ำเสมอ พัฒนาสิ่งมีชีวิตให้ยิ่งแอดวานซ์ขึ้น

ทำไมเราถึงมีเซ็กซ์ (นอกเหนือจากเหตุผลที่รู้ ๆ กันอยู่)

  • ทุกคนรู้ว่าทำไมสิ่งมีชีวิตถึงต้องมีเซ็กซ์ ตอบแบบคนดีก็คือเพื่อขยายเผ่าพันธุ์ และสร้างความหลากหลายให้กับสปีชีส์
  • แต่ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง ทำไมถึงต้องใช้วิธีเซ็กซ์? ในเมื่อการโคลนนิ่งตัวเองน่าจะทำได้ง่ายและเร็วกว่าด้วยซ้ำ
  • เมื่อไม่นานมานี้มีคำอธิบายออกมาว่า เซ็กซ์เกิดขึ้นในหมู่ยูคาริโอตตั้งแต่แรกเริ่มแล้ว
  • นอกจากเซ็กซ์ อีกสิ่งที่เหมือนกันของยูคาริโอตคือการมีไมโทคอนเดรีย ซึ่งอาจจะพออธิบายได้ว่าทำไมเซ็กซ์ถึงสำคัญ
  • การปรากฏตัวของไมโทคอนเดรียนั้นถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของพันธุกรรมเลย ในช่วงที่การกลายพันธุ์มีความรุนแรงเช่นนี้ การใช้เซ็กซ์แทนการโคลนนิ่งนั้นเสี่ยงน้อยกว่า ได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า โดยสิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช้เซ็กซ์นั้นต่างทนต่อการกลายพันธุ์นี้ไม่ได้ ล้มหายตายจากกันไป
  • แม้ว่าในไมโทคอนเดรียจะมียีนสำคัญ ๆ แต่ก็ต้องพึ่งพาจีโนมจากนิวเคลียสของเซลล์ในการสร้างโปรตีนและขยาย DNA อยู่ดี ทั้งคู่จึงต้องทำงานร่วมกันเพื่อให้มั่นใจว่าจะมีพลังงานไปหล่อเลี้ยงเซลล์ต่าง ๆ
  • การมีเซ็กซ์นั้นสามารถช่วยให้การประสานงานของเซลล์ทั้งคู่ยังคงอยู่ เหตุเพราะจีโนมของไมโทคอนเดรียจะมีวิวัฒนาการเร็วมาก ๆ จนแซงหน้าจีโนมในนิวเคลียส (เร็วกว่า 10 เท่าในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม) ทำให้สายสัมพันธ์ของทั้งคู่นั้นขาดลงได้ แปลง่าย ๆ ได้ว่าเรากับไมโทคอนเดรียกำลังจะแยกห่างออกจากกัน
  • เซ็กซ์ช่วยแก้ตรงนี้ด้วยการโยนยีนจากนิวเคลียสใหม่เข้าไปให้ตอบความต้องการของไมโทคอนเดรีย
  • อธิบายแบบเนิร์ด ๆ เซ็กซ์คือการฉีกจีโนมออกเป็นครึ่งนึง แล้วเอาครึ่งนั้นไปผสมรวมกับอีกครึ่งจีโนมที่มาจากอีกคนนึง เพื่อสร้างจีโนมใหม่ขึ้นมา ซึ่งสิ่งมีชีวิตก็ทำได้ผ่านการมี 2 เพศ
  • บางสปีชีส์นั้นไม่เหมือนเราตรงที่สามารถมีเซ็กซ์กับใครเท่าไรก็ได้ แม้กระทั่งกับตัวเอง เจอว่ามีมดสปีชีส์นึงที่มี 3 เพศด้วยกัน คือราชินี และเพศผู้ 2 แบบ แบบนึงจะให้กำเนิดมดแรง ส่วนอีกแบบจะให้กำเนิดราชินี (นี่มัน threesome ชัด ๆ)

ทำไมถึงมีแมลงหลายแบบจัง

  • ทุก ๆ ปี นักวิทยาศาสตร์จะค้นพบเจอ 20,000 สปีชีส์ใหม่ ๆ ส่วนใหญ่จะเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง (invertebrates) ซึ่งปาไปแล้ว 10,000 สปีชีส์คือแมลง
  • แมลงนั้นเรียกได้ว่าเป็น success case ของสิ่งมีชีวิตบนโลก เพราะไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหนก็ยังอุตส่าห์ทนโท่มีชีวิตอยู่ ไม่สะทกสะท้านต่อความเปลี่ยนแปลงของโลก แถมยังมีสปีชีส์เยอะมากตั้ง 1 ล้านสปีชีส์
  • ฟอสซิลของแมลงที่เก่าแก่ที่สุดนั้นมีอายุ 410 ล้านปีมาแล้ว เป็นช่วงเวลาที่สิ่งมีชีวิตเริ่มมาอาศัยบนดินเป็นครั้งแรก โดยคาดว่าแมลงถือกำเนิดเป็นครั้งแรกเมื่อประมาณ 480 ล้านปีก่อน
  • สันนิษฐานว่าสถานที่ที่แมลงมีวิวัฒนาการนั้นคือเส้นแบ่งเขตระหว่างทะเลและผืนดิน โดยบรรพบุรุษน่าจะเป็นเรมิพีด (remipede) สัตว์น้ำเปลือกแข็งชนิดหนึ่งที่อาศัยอยู่ในถ้ำแถบชายฝั่งทะเล
  • การขึ้นมาใช้ชีวิตบนผืนดินนั้นจะว่ายากก็ยาก จะว่าง่ายก็ง่าย ข้อดีคือมีของกินเยอะขึ้น และมีโอกาสถูกล่าน้อยกว่าตอนอยู่ในทะเล แมลงเริ่มมีวิวัฒนากรรมแบบก้าวกระโดดเมื่อประมาณ 440 ล้านปีก่อน ที่สปีชีส์เริ่มขยับขยายมากขึ้น
  • อีกหนึ่งพัฒนาการที่ช่วยอัปเวลให้แมลงก็คือความสามารถในการบิน พบเจอว่าฟอสซิลปีกแมลงที่เก่าแก่ที่สุดนั้นมีอายุ 324 ล้านปี แต่ชิ้นส่วนปากของแมลงที่เจอ (ที่อายุ 410 ล้านปีในประโยคด้านบน) เป็นของแมลงมีปีกแน่แท้ นั่นแสดงว่าแมลงสามารถบินได้ตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้ว
  • 200 ปีก่อนไดโนเสาร์บินได้อย่างเทอโรซอร์ (pterosaur) จะปรากฏตัว แมลงถือเป็นผู้ครองผืนฟ้า การที่แมลงบินได้นั้นช่วยให้ชีวิตติดจรวดมาก ๆ จะหาอาหารก็ง่าย จะหาคู่ผสมพันธุ์ก็สบาย จะหาที่อยู่ใหม่ก็ไม่ยาก แถมยังหลบหนีสัตว์นักล่าอื่น ๆ ได้
  • อีกความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญคือการที่แมลงสามารถเปลี่ยนสัณฐาน (metamorphosis) ได้ นึกภาพหนอนผีเสื้อกลายเป็นผีเสื้อ หรือหนอนกลายเป็นแมลงวัน นั่นแหละ
  • โดยพื้นฐานแล้วแมลงจะถูกจำกัดด้วยโครงกระดูกภายนอกที่ไม่ยืดหยุ่น แต่พอสามารถเปลี่ยนสัณฐานได้ พวกมันก็เติบโตขึ้นทีละขั้น เริ่มจากการลอกคราบ ที่ช่วยให้ชิ้นส่วนของร่างกายเติบโตขึ้น
  • การเปลี่ยนสัณฐานที่สมบูรณ์ทำให้แมลงสามารถแบ่งวงจรชีวิตได้ชัดขึ้น ตอนเป็นตัวอ่อนก็เน้นกิน ตอนเป็นผู้ใหญ่ก็เน้นสืบพันธุ์
  • นอกจากนั้น การเปลี่ยนสัณฐานก็ช่วยให้แมลงหลายชนิดไม่สูญพันธุ์แม้จะเจอโลกถล่มกี่ครั้งก็ตาม การอยู่ในดักแด้ช่วงเปลี่ยนผ่านจากตัวอ่อนไปสู่ผู้ใหญ่นั้นช่วยป้องกันได้ดี ดักแด้ถือเป็นโล่ชั้นยอดที่คอยปกป้องแมลงจากภัยร้ายทั้งปวง อย่างตอนที่ดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนโลกเมื่อ 65 ล้านปีก่อน กวาดไดโนเสาร์ตายเรียบ แมลงคือผู้ที่รอดมาได้อย่างสบายฉิว
  • ประมาณ 300 ล้านปีก่อน ขนาดของแมลงได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แมลงปอยักษ์ (Meganeura) มีระยะระหว่างปลายปีกสองข้างที่ยาวถึง 70 เซนติเมตร นั่นเพราะช่วงนั้นต้นไม้ได้ถือกำเนิด และยังไม่มีสิ่งมีชีวิตไหนไปเกาะแกะให้ผุพัง อ็อกซิเจนเลยเยอะมาก กินสัดส่วนถึง 31% ในอากาศเลย (คูณสองของปัจจุบัน) ด้วยเหตุนี้แมลงที่สูดอ็อกซิเจนมากขึ้นก็ขยายลิมิตของตัวเองมากขึ้น
  • แมลงยังตัวใหญ่อยู่จนกระทั่งประมาณ 150 ล้านปีก่อน ระยะระหว่างปลายปีกสองข้างหดเหลือครึ่ง คงเพราะมีสิ่งมีชีวิตใหม่วิวัฒนาการขึ้น เป็นสัตว์ปีกบินได้ที่กินแมลงเป็นอาหาร นั่นก็คือนกนั่นเอง

ยุคของไดโนเสาร์เริ่มขึ้นเมื่อไร

  • หลายคนน่าจะคุ้นเคยกันดีกับเรื่องเล่าขานเกี่ยวกับการสูญพันธ์ของไดโนเสาร์เมื่อ 65 ล้านปีก่อน จากเหตุการณ์ดาวเคราะห์น้อยถล่มโลก แต่น้อยคนนักจะรู้ต้นกำเนิดของไดโนเสาร์
  • นักบรรพชีวินวิทยาสันนิษฐานว่าไดโนเสาร์น่าจะถือกำเนิดมาประมาณ 200 ล้านปีก่อนในยุคไทรแอสซิก (Triassic) ต้นกำเนิดของมันนั้นก็เหมือนกับจุดจบของมันเลย คือโชคล้วน ๆ
  • เรื่องราวก็คือเมื่อ 251 ล้านปีก่อน เป็นจุดสิ้นสุดของยุคเพอร์เมียน (Permian) เกิดเหตุที่ทำให้มีการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ มีเพียงพืชและสัตว์บกไม่กี่ประเภทเท่านั้นที่รอดมาได้
  • กลุ่มแรกคือสัตว์เลื้อยคลานที่หน้าตาเหมือนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอย่างซีแนปซิด (synapsids) ซึ่งพวกมันก็ครองผืนดินในยุคต้น ๆ ของไทรแอสซิก พอมายุคกลางของไทรแอสซิกก็มีสัตว์เลื้อยคลานกลุ่มที่สองที่รอดชีวิตมาจอยน์ด้วย นั่นคือไดอะซิด (diapsids) ซึ่งแก๊งสัตว์ประหลาดเหล่านี้ก็กลายพันธุ์ไปเป็นสัตว์อื่น ๆ รวมถึงงูและจิ้งจกด้วย
  • แต่วิวัฒนาการที่น่าสนใจที่สุดเป็นของสัตว์บกเลื้อยคลานที่ชื่ออาร์โคซอร์ (archosaurs) ซึ่งถือกำเนิดในช่วงยุคกลางของไทรแอสซิก ต่อมาก็กลายพันธุ์เป็นจระเข้ ไดโนเสาร์ และเทอโรซอร์
  • 200 ล้านปีก่อน เกิดเหตุการณ์สูญพันธุ์ครั้งใหญ่ ทำลายอาร์โคซอร์และสัตว์อื่น ๆ ไปซะหมด เหลือทิ้งไว้เพียงไดโนเสาร์ที่เป็นผู้สืบทอดของมัน
  • พบเจอว่าไดโนเสาร์มี 2 ประเภทตั้งแต่เริ่มถือกำเนิดแล้ว แบบแรกคือซอริสเชียน (saurischian) มีโครงสร้างแบบสัตว์เลื้อยคลาน แบบที่สองคือออร์นิทธริสเชียน (Ornithischian) มีโครงสร้างแบบนก
ไดโนเสาร์แต่ละแบบ เรียงตามแต่ละยุค
Source: Britannica

ดวงตามีวิวัฒนาการมาได้ยังไง

  • ดวงตาแรกถือกำเนิดเมื่อ 541 ล้านปีก่อน ในช่วงต้น ๆ ของยุคแคมเบรียน (Cambrian) สัตว์ชนิดแรกที่มีดวงตาคือไทรโลไบต์ (trilobites) ทำให้พวกมันกลายเป็นนักล่าทันที
  • นักชีววิทยาวิวัฒนาการเจอว่า ในการพัฒนาดวงตาระดับพื้นฐานให้กลายเป็นดวงตาขั้นแอดวานซ์แบบของมนุษย์ได้นั้น ใช้เวลาไม่เกินกว่าครึ่งล้านปี
  • สเต็ปแรกคือต้องมีเซลล์ที่อ่อนไหวต่อแสงก่อน ต่อมาเซลล์นั้นต้องสามารถจับพิกัดได้ เพื่อให้รู้ว่าแสงนั้นมาจากตรงไหน
  • จากนั้นก็ต้องพัฒนาหลุมเล็ก ๆ ไว้กักเก็บเซลล์นี้ เพื่อให้สามารถแยกแยะแสงได้ง่ายขึ้นว่ามาจากด้านไหน ยิ่งปากรู (รูรับแสง) เล็กเท่าไร ก็จะยิ่งประมวลภาพได้ดีขึ้น
  • สุดท้ายก็คือการเกิดขึ้นของเลนส์ ซึ่งตอนแรกก็คงเป็นเพียงผิวหนังที่ห่อหุ้มป้องกันรูรับแสง แต่ไป ๆ มา ๆ มันก็กลายเป็นอีกส่วนหนึ่งของตาที่ช่วยให้โฟกัสแสงได้ดีขึ้น

ทำไมเราต้องนอน

  • ทุกคนล้วนรู้ว่าการนอนน้อยหรืออดนอนนั้นไม่ดีต่อสุขภาพแน่ ๆ เพราะการนอนให้คุณประโยชน์หลายอย่าง เช่น ฟื้นฟูพลังงาน ซ่อมแซมร่างกายและสมอง ช่วยระบบภูมิคุ้มกัน จัดการข้อมูล ควบคุมอารมณ์ และรวบรวมความทรงจำ
  • คาดว่าการนอนหลับนั้นเกิดขึ้นมากว่า 4 พันล้านปีแล้ว เพราะแม้กระทั่งจุลินทรีย์ก็ยังมีช่วงเวลาที่แอ็กทีฟและไม่แอ็กทีฟ
  • การนอนหลับมี 2 แบบ แบบแรกคือการหลับลึก (deep sleep) แบบสองคือ REM (rapid eye movement)
  • คลื่นสมองช่วง REM นั้นจะค่อนข้างแอ็กทีฟเหมือนคนตื่นตัว ต่างจากการหลับลึกที่คลื่นสมองจะยาวและไม่ค่อยกระเตื้องมาก ในฝั่งกายภาพนั้น REM เป็นช่วงที่ลูกตาเคลื่อนไปมา และกล้ามเนื้อต่าง ๆ จะเสมือนถูกล็อกไว้ ขยับตัวไม่ได้ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ท่าทางที่เราทำในฝันนั้นออกท่าทางจริง ๆ กันอันตราย
  • ความฝันนั้นมักเกิดขึ้นช่วง REM โดยความฝันนั้นเปรียบเสมือนกระจกสะท้อนภาพความเป็นจริง ส่วนใหญ่เรามักจะฝันถึงเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้น ซึ่งภาพฝันเหล่านี้ก็ไม่ได้มาแบบตรงไปตรงมา แต่มักจะกลายเป็นเรื่องราวอะไรไม่รู้ที่สะเปะสะปะ เหมือนเอาหลาย ๆ อย่างมาผสมกัน คาดว่าเป็นการทำงานของสมองที่พยายามจัดการข้อมูลในสมอง
  • นอกจากนี้ ความฝันยังสามารถมอบความเป็นไปได้ที่อาจเกิดขึ้นในชีวิต เช่น มีเคสว่าคนที่หูหนวกนั้นฝันว่าตัวเองได้ยินเสียง และคนที่เป็นใบ้ฝันว่าตัวเองพูดได้
  • ในฝั่งของฝันร้าย คาดว่าเกิดขึ้นเพราะสมองจำลองสถานการณ์เลวร้ายที่อาจเกิดขึ้นกับเราได้ เพื่อฝึกให้เรารับมือ (ขอบใจ แต่ไม่ต้อง)
  • จริง ๆ แล้วความฝันสามารถเกิดขึ้นในช่วงอื่นที่ไม่ใช่ REM ได้เหมือนกัน แต่ฝันนั้นจะไม่ชัดเจนเท่าไร และมักจะสั้นกว่า
  • อีกช่วงที่อาจเกิดฝันได้คือช่วงกึ่งหลับกึ่งตื่น ซึ่งอาจนำไปสู่ความฝันรู้ตัว (lucid dream) สถานการณ์การฝันที่เรารู้ตัวว่ากำลังฝัน และสามารถควบคุมความฝันได้

ลิงกลายเป็นมนุษย์ได้ยังไง

  • เผ่าพันธุ์มนุษย์นั้นแยกออกมาจากชิมแพนซีน่าจะประมาณ 7 ล้านปีก่อน และ 4 ล้านปีต่อมาจากจุดนั้น มนุษย์ก็ยังมีความเป็นลิงสูง
  • พบเจอว่ามนุษย์ยุคโบราณในแถบเอธิโอเปียที่มีชีวิตอยู่เมื่อ 3.2 ล้านปีก่อน มีสมองขนาดเล็กพอ ๆ กับลิง มีแขนยาว จึงคาดเดาว่าสปีชีส์นี้ยังคงปีนป่ายต้นไม้อยู่ แต่มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนมนุษย์ยุคปัจจุบันคือสามารถเดินสองขาได้ มนุษย์โบราณกลุ่มนี้อยู่ในสกุล (Genus) ที่ชื่อ australopiths
  • คาดว่าสกุล Homo ของเราก็วิวัฒน์มาจาก australopiths นี่แหละ แต่เป็นสปีชีส์ไหนก็ไม่ชัวร์เหมือนกัน
  • โฮโม อีเร็กตัส (Homo erectus) น่าจะเป็นสปีชีส์ homo แรกที่ถือกำเนิด เมื่อประมาณ 1.9 ล้านปีก่อน ตัวโฮโม อีเร็กตัส นี้ก็พัฒนาแล้วเพราะไม่ได้ใช้ชีวิตบนต้นไม้ละ แถมยังเจอฟอสซิลของโฮโม อีเร็กตัส กระจายอยู่ทั่ว ทั้งเอเชียและยุโรป ไม่ได้อยู่แค่แอฟริกาเหมือนมนุษย์โบราณก่อนหน้า
  • นอกจากนั้น โฮโม อีเร็กตัส ยังประดิษฐ์เครื่องมือได้ล้ำหน้ากว่าบรรพบุรุษก่อนหน้านี้ด้วย และอาจจะเป็นกลุ่มแรกที่สามารถใช้ไฟได้
  • นักวิจัยบางคนก็มองว่า โฮโม อีเร็กตัส น่าจะเป็นต้นคิดการทำอาหาร นำไปสู่การบริโภคที่ดีขึ้น ทำให้สมองใหญ่ขึ้น จากหลักฐานที่ว่าสมองของโฮโม อีเร็กตัส ในช่วง 1.5 ล้านปีที่พวกเขาเดินดินนั้นมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ จริง ๆ
  • แต่ถึงอย่างนั้น โฮโม อีเร็กตัส ก็ยังพูดไม่ได้
  • สปีชีส์ต่อมาที่ถือกำเนิดคือ Homo heidelbergensis เป็นสปีชีส์ที่วิวัฒน์มาจากโฮโม อีเร็กตัส ในแอฟริกาเมื่อ 600,000 ปีก่อน เจอว่าพวกเขามีกระดูกที่เชื่อมโยงกับการออกเสียงเหมือนมนุษย์ปัจจุบัน ส่วนของหูก็น่าจะสามารถได้ยินได้
  • จากการค้นคว้า คาดว่าเมื่อ 200,000 ปีก่อนในแอฟริกา Homo heidelbergensis นี่ละที่ให้กำเนิด โฮโม เซเปียนส์ (Homo sapiens) เผ่าพันธุ์ของมนุษย์เรา ๆ ท่าน ๆ ในปัจจุบัน
  • Homo heidelbergensis กลุ่มอื่น ๆ ที่อยู่แถบยูเรเซียก็วิวัฒน์กลายเป็นนีแอนเดอร์ทัล (Neanderthals) ในแถบตะวันตก และเดนิโซแวน (Denisovan) ในแถบตะวันออก
  • เวลาผ่านไป ทั้งนีแอนเดอร์ทัลและเดนิโซแวนต่างสูญพันธุ์โดยไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด คาดว่าโฮโม เซเปียนส์ น่าจะมีส่วนอยู่ไม่มากก็น้อย แต่อาจจะไม่ใช่การปะทะรุนแรง เพราะปัจจุบันยังคงเห็นหลักฐานว่ายังมีเศษเสี้ยวนีแอนเดอร์ทัลและเดนิโซแวนหลงเหลืออยู่
  • ทุกวันนี้ก็ยังทยอยเจอฟอสซิลของมนุษย์ยุคโบราณที่สูญพันธุ์ไปแล้วอยู่เรื่อย ๆ
ตัวอย่างมนุษย์แต่ละประเภท
Source: Britannica

คำแรก ๆ ที่มนุษย์พูดคืออะไร

  • ภาษาเขียนที่เก่าแก่ที่สุดนั้นมีอายุ 6,000 ปี แต่นั่นไม่ได้หมายความนี่คือจุดเริ่มต้นของการมีภาษา มันอาจจะเกิดขึ้นก่อนหน้านั้นก็ได้
  • ภาษาของมนุษย์นั้นมีความแตกต่างจากสัตว์ เพราะมีความซับซ้อน อธิบายรายละเอียดต่าง ๆ ได้มากกว่า
  • คาดว่าก่อนจะเกิดภาษาแบบปัจจุบัน มนุษย์ค่อย ๆ พัฒนาภาษามาเรื่อย ๆ โดยภาษาก่อนหน้านี้ก็จะไม่ใช่เวอร์ชั่นสมบูรณ์ จะขอเรียกว่า ภาษาดั้งเดิม (protolanguage)
  • ความเป็นไปได้อย่างหนึ่งคือภาษาดั้งเดิมประกอบไปด้วยคำศัพท์ต่าง ๆ แต่อาจจะยังไม่ถูกนำมาเรียบเรียงเป็นประโยค
  • อีกข้อสันนิษฐานนึงบอกว่า ภาษาจริง ๆ แล้วอาจจะเริ่มจากการออกเสียง เหมือนที่พวกปลาวาฬหรือนกชอบทำกัน แต่กรณีของสัตว์นั้นจะเป็นการสื่อสารง่าย ๆ จำพวกหาคู่หรือประกาศเขตแดน นักภาษาศาสตร์มองว่าสิ่งนี้อาจจะเคยเกิดกับมนุษย์เหมือนกัน แล้วจากนั้นก็ค่อยพัฒนาเป็นคำที่มีความหมายมากขึ้น ทฤษฎีนี้สามารถอธิบายถึงที่มาของดนตรีได้ด้วย
  • อีกหนึ่งความเป็นไปได้คือ ภาษาเริ่มมาจากการออกท่าทาง ซึ่งก็ตรงกับที่ลิงทำกัน แต่ก็ยังหาจุดพลิกผันไม่เจอว่าแล้วทำไมถึงเปลี่ยนมาเป็นการพูดแทนล่ะ
  • คาดว่าการพูดนั้นเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 500,000 ปีก่อน โดยเชื่อว่าญาติของเราอย่างนีแอนเดอธัลนั้นก็มีโครงสร้างร่างกายที่เอื้อต่อการพูดเหมือนเรา ๆ นี่แหละ
  • สรุปแล้ว ก็ยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัด เพราะคำพูดนั้นไม่ได้มีหลักฐานเป็นฟอสซิลชัดเจนเหมือนร่างกายอะนะ

ทำไมเราถึงต้องมีเพื่อน

  • มิตรภาพเป็นเรื่องแปลกประหลาด ทำไมเราถึงจะต้องทุ่มเทแรงกายแรงใจสานสัมพันธ์กับคนแปลกหน้าที่ไม่ใช่ญาติโกโหติกาด้วยล่ะ
  • ไม่ใช่แค่มนุษย์หรอกที่มีเพื่อน แต่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่น ๆ ก็มีเหมือนกัน เช่น ลิง ช้าง ม้า ปลาวาฬ อูฐ ปลาโลมา
  • สิ่งที่เราและสัตว์เหล่านี้มีเหมือนกันคือสังคมที่ใหญ่และมีลำดับชั้นซับซ้อน การมีเพื่อนนั้นก็เสมือนมีแบ็กอัปที่คอยช่วยเหลือเรา คำพูดที่ว่ามนุษย์เป็นสัตว์สังคมนั้นจึงไม่ใช่แค่คำสวยหรู
  • ในเชิงชีวภาพ เราก็ถูกกระตุ้นให้มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนเรื่อย ๆ เพราะเมื่อเราอยู่ในโหมดเมกเฟรนด์ ร่างกายจะหลั่งสารอ็อกซิท็อกซิน กับสารเอ็นโดรฟินออกมา ทำให้รู้สึกดี
  • หลาย ๆ สปีชีส์รักษาความสัมพันธ์ด้วยการดูแลอีกฝ่าย เช่น ลิงบาบูนใช้เวลาเป็นชั่วโมงทุก ๆ วันในการทำความสะอาดเพื่อน
  • แต่การดูแลอีกฝ่ายอย่างนี้ใช้เวลา ทำให้ไม่สามารถเพิ่มเพื่อนได้อย่างรวดเร็ว ที่มนุษย์สามารถเพิ่มวงเพื่อนได้เยอะนั้นเพราะเราใช้สิ่งที่มีประสิทธิภาพกว่านั้นในการเชื่อมสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นเสียงหัวเราะ การร้องเพลง การเล่าเรื่องตลก หรือการซุบซิบนินทา
  • ในเชิงทฤษฎี social brain hypothesis มนุษย์คนนึงจะมีเพื่อนมากที่สุดอยู่ที่ 250 คน ซึ่งใน 250 คนนั้น เราจะสนิทอยู่ไม่กี่คน ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนที่มีอะไรคล้าย ๆ กับเรา
  • มิตรภาพนั้นเป็นสายสัมพันธ์ที่ต้องคอยรักษาเรื่อย ๆ หากไม่ได้พบเจอกันนาน ๆ ก็อาจจืดจางได้ ไม่เหมือนกับสายสัมพันธ์ครอบครัวที่ค่อนข้างคงที่

ขุยสะดือมาจากไหน

  • เกออร์ก สไตน์เฮาเซอร์ (Georg Steinhauser) นักเคมีที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งเวียนนา เป็นคนแรกที่เริ่มศึกษาเรื่องขุยสะดือ
  • ตอนอายุ 20 ต้น ๆ เขาสังเกตว่าตัวเองมีก้อนปุกปุยในสะดือ เลยลองหางานวิจัยอ่าน แต่ก็เจอเพียงชิ้นเดียว
  • ต่อมาเขาจึงทำการทดลองด้วยขุยสะดือของตัวเอง ค่อย ๆ สะสมขุยสะดือของตัวเองเป็นเวลา 3 ปี บันทึกสีและน้ำหนัก รวมถึงส่งไปวิเคราะห์ทางเคมี งานวิจัยของเขาได้รับการตีพิมพ์ในวารสารด้านวิทยาศาสตร์ด้วย
  • เขาค้นพบว่าส่วนประกอบทางเคมีของขุยสะดือ คือ ไนโตรเจนและซัลเฟอร์ ซึ่งอาจจะมาจากผิวหนังที่ตายแล้ว ฝุ่น ไขมัน โปรตีน และเหงื่อ
  • นอกจากนี้ เขายังค้นพบว่า ขุยสะดือจะมีสีและส่วนประกอบที่ตรงกับเสื้อผ้าที่เขาใส่ เช่น วันไหนใส่เสื้อยืดจากฝ้าย ขุยสะดือก็จะมีเซลลูโลส ซึ่งเป็นโปรตีนในฝ้าย
  • เขายังสรุปต่อว่า การมีขนหน้าท้องเยอะนั้นสอดคล้องกับขุยสะดือที่เยอะตามไปด้วย พอโกนขนหน้าท้องออก ขุยสะดือก็น้อยลงจนกว่าขนหน้าท้องจะกลับมา
  • เกออร์กสรุปได้ว่า ขนหน้าท้องมีลักษณะเหมือนสะเก็ดที่ครูดเส้นใยจากเสื้อผ้า และเป็นเหมือนตะขอที่ลากเส้นใยเหล่านั้นไปที่สะดือ
  • เห็นงานวิจัยดูไร้สาระอย่างนี้ แต่ขอบอกว่าสามารถช่วยคนมาได้แล้ว โดยเคสที่เกิดขึ้นคือมีผู้หญิงคนนึงเกิดภาวะสะดืออักเสบ พอหมอตรวจก็เจอวัตถุกลม ๆ สีเข้ม ๆ ซึ่งตอนแรกก็คิดว่าเป็นเนื้องอก แต่แท้จริงแล้วเป็นก้อนสำลี เพียงแค่ดึงออกเธอก็หายเป็นปลิดทิ้ง

ส่วนที่ 4: อารยธรรม

เราเริ่มใช้ชีวิตในเมืองตั้งแต่เมื่อไร

  • ก่อน 5,500 ปีก่อน ไม่มีใครใช้ชีวิตในเมืองเลย แม้จะมีหมู่บ้านอยู่บ้าง แต่ก็ไม่เคยมีที่ไหนพัฒนาได้ขนาดใหญ่เท่าเมือง
  • เมื่ออิงจากมุมมองดั้งเดิม เมืองแรกที่เกิดขึ้นอยู่ในบริเวณเมโสโปเตเมีย ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำไทกริส (Tigris) และแม่น้ำยูเฟรทีส (Euphrates)
  • เมืองลูกพี่ได้แก่เมืองอูรุก (Uruk) ซึ่งเป็นที่อยู่ของชาวซูเมเรียน (Sumerian) โดยในปี 3500 BC เมืองนี้เติบโตจนกินขนาดพื้นที่ 2.5 ตารางกิโลเมตร และเป็นที่อยู่อาศัยของประชากร 50,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนไม่รู้จักกัน
  • เมืองอูรุกสมัยนั้นมีตึกสูงใหญ่โต ซึ่งไม่ใช่ตึกในเชิงศาสนสถานด้วย การมีอยู่ของตึกเหล่านี้จึงสันนิษฐานได้ว่าตอนนั้นน่าจะมีรัฐบาลและระบบการเงินแล้ว นอกจากนี้ยังมีการจัดโซนเมืองอย่างชัดเจน
  • ถึงอย่างนั้น ความเจริญอย่างหนึ่งที่ยังขาดไปของเมืองอูรุก ก็คือระบบการขนส่ง
  • การมีอยู่ของเมืองอูรุกนั้นเป็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากชาวนาที่มาตั้งถิ่นฐานใกล้ ๆ พืชผลที่ตัวเองปลูก เมื่อขายได้ดีก็ย้ายไปทำอาชีพอื่นบ้าง เช่น งานโลหะ เมื่อมีการแตกแยกแขนงงาน จึงมีการจัดโซนเมืองให้เข้ากับแต่ละงานมากขึ้น
  • ถึงอย่างนั้น เมื่อไม่กี่สิบปีมานี้ก็มีการเจอหลักฐานว่าจริง ๆ แล้วมี 2 พื้นที่แถบเหนือที่เคยมีเมืองเก่าแก่กว่าเมืองอูรุกอีก
  • ที่แรกคือ Tell Hamoukar อยู่ฝั่งตะวันออกของประเทศซีเรีย ก่อนหน้านี้ถูกมองมาตลอดว่าเป็นผลพวงจากการขยายตัวของเมืองอูรุก แต่การค้นพบล่าสุดเจอว่าพื้นที่แห่งนี้มีความเป็นเมืองมาก่อนที่เมืองอูรุกจะขยับขยายซะอีก
  • ตั้งแต่ 3700 BC ตัว Hamoukar นั้นมีพื้นที่ประมาณ 12 เฮกตาร์ซึ่งถูกห้อมล้อมด้วยกำแพง ข้างในกำแพงนั้นหลงเหลือเศษซากตึกที่คาดว่าน่าจะเป็นโรงอาหาร นอกจากนี้นักโบราณคดียังเจอตราประทับหลากหลายแบบ ซึ่งสิ่งนี้ก็บ่งบอกได้ว่าตอนนั้นที่นั่นมีระบบการเงินแล้ว
  • ดูเหมือนว่า Hamoukar จะไม่ได้รับอิทธิพลอะไรจากฝั่งอูรุกเลยจนกระทั่ง 3200 BC จึงเข้าใจได้ว่าคนใน Hamoukar ก็ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองแยกจากอูรุกชัดเจน เผลอ ๆ ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีเมืองอูรุกอยู่จนกระทั่งเมืองอูรุกขยับขยาย
  • เท่านั้นยังไม่พอ ยังพบเจอว่าอาจมีเมืองที่เก่าแก่ยิ่งกว่านั้นอีก นั่นก็คือ Tell Brak อยู่ในซีเรียเช่นกัน นักโบราณคดีเจอหลักฐานที่เก่าแก่ระดับ 6,000 ปีก่อน ว่าเมืองนี้น่าจะมีระบบการเงินและการจัดการมาก่อนอูรุกซะอีก
  • ถึงอย่างนั้น การศึกษาก็ยังไม่จบสิ้น เราอาจจะเจออะไรมากกว่านี้ แต่ปัญหาคือพื้นที่แถบนั้นเข้าถึงยากเนื่องจากภาวะสงคราม
ภาพจำลองเมือง Uruk
Source: ResearchGate

ทำไมเราถึงให้ค่ากับธนบัตร

  • ค่าของธนบัตร หรือ เหรียญในมือเรา ๆ นั้น แท้จริงแล้วเป็นแค่ความเชื่อว่ามันมีค่า
  • เงินถือกำเนิดมาจากการแลกเปลี่ยนเมื่อ 8000 BC ในเมโสโปเตเมีย ในตอนแรกนั้นทุกคนก็แลกสิ่งที่ตัวเองมีเหลือ เพื่อรับในสิ่งที่ตัวเองต้องการ แต่ระบบนี้ก็ยากเพราะนั่นหมายความว่าอุปสงค์และอุปทานของทั้งสองฝ่ายจะต้องแมตช์กันสุด ๆ เช่น เรามีแกะเหลือ แล้วเราอยากได้วัว อีกฝ่ายจะต้องมีวัวเหลือ และต้องการแกะพอดี จะทะลึ่งเอาแพะมาแลกไม่ได้นะ
  • ทางแก้คือ แทนที่จะแลกกันตรง ๆ ก็แลกตัวกลางมาก่อน ตัวกลางก็คือพวกของที่มีค่าสำหรับหลาย ๆ คน เช่น ธัญพืช เกลือ โลหะ เรียกได้ว่าสิ่งเหล่านี้ถือเป็น “เงิน” ในช่วงนั้นเลย
  • ขั้นต่อมาคือการสร้างมาตรฐานให้เงิน คนกลุ่มแรกที่ทำสิ่งนี้สำเร็จคือชาวจีนที่สร้างเหรียญเงินเมื่อ 1000 BC
  • ในศตวรรษที่ 13 พ่อค้าชาวจีนริเริ่มการฝากเหรียญกับพ่อค้ารายอื่น โดยจะได้กระดาษที่เรียกว่า “ตั๋วสัญญาใช้เงิน” กลับมาเป็นใบเสร็จที่ยืนยันถึงจำนวนเหรียญที่ตนฝากไว้ ต่อมา ทางการจีนก็เริ่มผลิตตั๋วเองบ้าง เป็นที่มาของธนบัตรในจีน
  • ต่อมาในศตวรรษที่ 17 ฝั่งอังกฤษก็ริเริ่มกับเค้าบ้าง ช่างทองทำการเก็บทองไว้ในตู้นิรภัยของตัวเอง พวกเขาทำใบเสร็จยืนยันจำนวนและความบริสุทธิ์ของทอง เป็นตัวให้สัญญาว่าจะจ่ายคืนด้วยสิ่งที่ฝากไว้ในตู้นิรภัย ตัวใบเสร็จนี้ทำหน้าที่เสมือนเงินที่สามารถเอาไปซื้อของหรือล้างหนี้ได้
  • ในช่วงปลาย ๆ ศตวรรษที่ 17 ก็ได้มีการก่อตั้งธนาคารแห่งประเทศอังกฤษเพื่อให้รัฐบาลกู้ยืมเงิน เริ่มมีการพิมพ์เงินออกมามากเกินจนเงินเฟ้ออาละวาด เพื่อแก้ปัญหานี้ ในปี 1816 รัฐบาลของสหราชอาณาจักรจึงเป็นเจ้าแรกที่ผูกปริมาณเงินเข้ากับปริมาณทองคำที่ตนถืออยู่
  • มาตรฐานทองคำคงอยู่จนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 1 จากนั้นก็เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (The Great Depression) ส่งผลให้ธนาคารล้มระนาว ผู้คนก็ตื่นตระหนกแห่กักตุนทองจนระบบพัง ในปี 1931 สหราชอาณาจักรจึงโละทิ้งมาตรฐานทองคำอย่างเป็นทางการ ตามมาด้วยสหรัฐฯ ในปี 1933
  • พอไม่มีทองมาค้ำประกันแล้ว ธนบัตรก็เป็นเพียงคำมั่นสัญญาจากรัฐบาลว่ากระดาษแผ่นนี้มีค่านะ เกิดเป็นระบบความเชื่อใจว่ารัฐจะไม่กลับลำกันทีหลัง
  • แต่ในปัจจุบันก็มีคนตั้งข้อสงสัยกับระบบนี้ หนึ่งในนั้นก็คือผู้ใช้นามแฝงซาโตชิ นาคาโมโตะ ผู้สร้างบิตคอยน์ สกุลเงินดิจิทัลที่มุ่งหวังจะมาแก้ปัญหาเงินในระบบดั้งเดิมนั่นเอง

เราเริ่มฝังคนตายตั้งแต่เมื่อไร

  • สัตว์ส่วนใหญ่นั้นมองว่าศพก็คือสิ่งไร้ชีวิต จะมีก็เพียงแต่สัตว์บางชนิดที่มีปฏิกิริยากับความตาย เช่น ช้างดูสนใจกระดูกของช้างที่ตายแล้ว โลมาก็ชอบใช้เวลาอยู่กับศพ ลิงชิมแปนซีก็ดูจะแสดงอาการเสียใจและเศร้าโศกเวลาเห็นศพเพื่อน ๆ
  • อาจเป็นไปได้ว่าพฤติกรรมของลิงชิมแปนซีเป็นแบบอย่างให้มนุษย์ยุคแรก ๆ เลียนแบบตาม
  • การค้นพบหลักฐานที่โบราณที่สุดเกิดขึ้นในปี 1975 ที่เอธิโอเปีย เมื่อนักบรรพชีวินวิทยาเจอชิ้นส่วนโครงกระดูก 13 โครงของมนุษย์ยุคโบราณเมื่อ 3.2 ล้านปีก่อน โดยแยกเป็นผู้ใหญ่ 9 โครง เด็ก 2 โครง และทารกอีก 2 โครง ทั้งหมดอยู่ใกล้กันและดูเหมือนจะถูกวางไว้ในเวลาเดียวกัน ไม่มีร่องรอยว่าเจ้าของโครงกระดูกเจอภัยพิบัติอะไร เหมือนร่างแค่ถูกนำมาวางไว้ตรงนั้นเฉย ๆ
  • อีกหลักฐานที่ชัดเจนมาจากประมาณ 5 แสนปีก่อน เป็นบ่อกระดูกมนุษย์ยุคโบราณในสเปนที่พบเจอช่วงปี 1980
  • อีกหนึ่งการค้นพบเมื่อไม่นานมานี้คือที่แอฟริกาใต้ ได้พบเจอกระดูกมนุษย์ยุคโบราณในถ้ำ แต่ยังไม่แน่ชัดว่ามีอายุมานานเท่าไรแล้ว
  • ดูเหมือนการทำพิธีวางศพไว้ในสถานที่ใดที่หนึ่งจะเริ่มมีมาประมาณ 500,000 ปีก่อน หลักฐานที่เจอมักจะอยู่ตามจุดที่ค่อนข้างเฉพาะเจาะจง แบบที่คิดเป็นอื่นไม่ได้
  • จากการวางศพไว้ในที่ใดที่หนึ่งเริ่มพัฒนามาเป็นการฝังศพ โดยหลักฐานใหม่สุดที่พบเจอนั้นอยู่ที่ถ้ำ 2 แห่งในอิสราเอล มีโครงกระดูกของมนุษย์โบราณเมื่อ 100,000 ปีก่อนปรากฏอยู่ในหลุมที่สร้างโดยมนุษย์ และเหมือนจะมีสิ่งของประกอบพิธีอื่น ๆ อยู่ในหลุมด้วย
  • ถึงอย่างนั้น การฝังศพดูจะไม่เป็นที่นิยมมากนักจนกระทั่งเมื่อ 14,000 ปีก่อน ที่เริ่มมีสุสานเกิดขึ้น ซึ่งก็เป็นช่วงประจวบเหมาะที่มนุษย์เริ่มลงหลักปักฐาน ปลูกพืชและนับถือศาสนากัน

เราเริ่มทำอาหารกันตั้งแต่เมื่อไร

  • การทำอาหารครั้งแรกนั้นเกิดขึ้นที่ไหนและเมื่อไร ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่
  • เนื่องจากการทำอาหารต้องใช้ไฟ การย้อนไปดูจุดกำเนิดของการใช้ไฟจึงเป็นประโยชน์ ถึงอย่างนั้นก็ต้องหาวิธีแยกระหว่างไฟที่ตั้งใจจุดขึ้นเอง กับไฟที่เกิดตามธรรมชาติ เช่น จากฟ้าแลบ นักโบราณคดีจึงค้นหาหลักฐานการใช้ไฟในถ้ำ
  • พบเจอร่องรอยของเถ้าถ่านในถ้ำแถบแอฟริกาใต้ จึงคาดว่ามนุษย์ยุคโบราณเริ่มใช้ไฟเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ล้านปีก่อน แต่เศษซากของเตาไฟแบบชัดเจนนั้นมีอายุเพียง 400,000 ปี
  • เตาไฟนั้นถูกพบเจอในจุดที่นีแอนเดอธัลเคยอาศัยอยู่ จึงค่อนข้างมั่นใจได้ว่านีแอนเดอธัลสามารถจุดไฟเองได้
  • หลักฐานที่ใหม่ที่สุด ที่บ่งชี้ว่าสปีชีส์ของเราทำอาหารได้เมื่อไรนั้น มีอายุเพียง 20,000 ปี มีการสร้างหม้อครั้งแรกในประเทศจีน ผิวเคลือบด้านนอกมีร่องรอยของเขม่า จึงคาดเดาว่าถูกใช้เพื่อทำอาหาร
  • ประมาณ 1.9 ล้านปีก่อน ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในร่างกายมนุษย์ เมื่อเทียบกับบรรพบุรุษแล้ว โฮโม อีเร็กตัสมีฟันที่เล็กกว่า ร่างที่เล็กกว่า และมีสมองที่ใหญ่กว่ามาก
  • นักวานรวิทยานามว่า Richard Wrangham สันนิษฐานว่า การเปลี่ยนแปลงนี้มาจากการกินอาหารที่ถูกปรุงแล้ว เขาเชื่อว่าการทำอาหารมีส่วนทำให้เชื้อสายของเรานั้นแตกยอดออกมาจากบรรพบุรุษที่เป็นลิง
  • ถึงอย่างนั้น ทฤษฎีก็ยังมีข้อบกพร่อง สมองที่ใหญ่ขึ้นของมนุษย์นั้นอาจจะมาจากการกินเนื้อสัตว์ดิบที่มากขึ้นก็ได้

เราเริ่มเลี้ยงสัตว์ตั้งแต่เมื่อไร

  • เราเริ่มมีปฏิสัมพันธ์กับสัตว์ก็เมื่อประมาณ 15,000-30,000 ปีก่อน โดยสัตว์ชนิดแรกที่เข้ามาในวงโคจรของมนุษย์ก็คือหมา
  • จุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์มนุษย์-หมา เป็นยังไงก็ยังไม่แน่ชัด ข้อสันนิษฐานแรกคือมันเกิดขึ้นตามธรรมชาติ เนื่องจากหมาป่ามักจะกินเศษซากสัตว์ที่พวกมนุษย์ทิ้งไว้ บางตัวเลยอาจเริ่มตามติดมนุษย์ เกิดเป็นความสัมพันธ์ที่ให้ประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย เพราะหมาป่าก็ช่วยล่าได้ด้วย เป็นไปได้ว่ามนุษย์กลุ่มต่อ ๆ มาอาจจะเริ่มจับหมาป่าที่เป็นมิตรกับมนุษย์มาผสมพันธุ์กัน เพื่อผลิตหมาป่าว่านอนสอนง่าย
  • อีกความเป็นไปได้คือมนุษย์ตั้งใจเลี้ยงลูกหมาป่าและจับมาขยายพันธุ์ แต่ดูไปดูมาก็เป็นไปได้ยากเพราะหมาป่าต้องกินเนื้อ 5 กิโลกรัมต่อวัน ซึ่งก็ดูเป็นการลงทุนที่สิ้นเปลืองไปหน่อย
  • มนุษย์เริ่มเลี้ยงสัตว์อย่างจริงจังขึ้นก็เมื่อ 11,500 ปีก่อน เมื่อมนุษย์เริ่มลงหลักปักฐานในหมู่บ้าน สัตว์กลุ่มแรก ๆ ที่เลี้ยงคือหมู แกะ แพะ และวัว
  • จุดเริ่มต้นของแมวเลี้ยงก็คือช่วงเวลานี้เช่นกัน แมวป่าซึ่งเป็นบรรพบุรุษของพวกมันอาจจะถูกดึงดูดด้วยหนูที่มาจากหมู่บ้านของมนุษย์ มนุษย์เห็นอย่างนั้นก็เลยจับมาเลี้ยงไล่หนูซะเลย
  • แถบพระจันทร์เสี้ยวอันอุดมสมบูรณ์ (Fertile Crescent) คือพื้นที่แรกที่เริ่มเลี้ยงสัตว์ ตั้งอยู่แถบภูมิภาคในตะวันออกกลาง
  • สัตว์อีกชนิดที่แพร่หลายได้อย่างน่าทึ่งคือไก่ ซึ่งมีบรรพบุรุษเป็นไก่ป่า น่าสนใจตรงที่ว่าไก่ป่าเป็นนกที่อยู่ติดที่ ไม่อพยพไปไหน บินก็ไม่เก่ง ที่พวกมันไปอยู่ในหลายที่ทั่วโลกได้นั้นก็เป็นเพราะมนุษย์หอบหิ้วมันไป เหตุการณ์นี้น่าจะเกิดขึ้นอย่างน้อย 3,000 ปีก่อน
พิกัดของ Fertile Crescent
Source: ThoughtCo.

เราเริ่มนับถือศาสนาตั้งแต่เมื่อไร

  • ก่อนจะตอบคำถามนี้ อาจจะต้องหาคำตอบก่อนว่า “แล้วทำไมเราถึงมีศาสนา”
  • หลายคนอาจจะตอบอย่างง่ายดายว่า “ก็พระเจ้ามีอยู่จริงนี่” ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ก็ยืนยันว่าสมองของมนุษย์นั้นมีแนวโน้มจะหาเหตุผลเชิงศาสนามาซัพพอร์ตความคิด
  • ประมาณ 10,000 ปีก่อน มนุษย์เริ่มหาแหล่งลงหลักปักฐาน จนกระทั่งประมาณ 8,300 ปีก่อน มนุษย์ก็เริ่มทำการเกษตร เลี้ยงสัตว์ ปั้นหม้อ สร้างหมู่บ้าน และคาดว่าน่าจะมีศาสนาของตัวเองแล้ว
  • เมื่อก่อนนั้น มนุษย์จะอยู่กันเป็นกลุ่มเล็ก ๆ จนเวลาผ่านไป สังคมมนุษย์เริ่มใหญ่ขึ้น รายล้อมไปด้วยผู้คนแปลกหน้า การจะให้คนแปลกหน้าเชื่อใจกัน และร่วมมือทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยกัน จำเป็นต้องมีตัวเชื่อม ซึ่งศาสนาก็เป็นสิ่งนั้น
  • ศาสนาเป็นกาวเชื่อมให้ทุกคนสร้างสิ่งต่าง ๆ ที่ใหญ่โตมโหฬาร เช่น ศาสนสถาน อนุเสาวรีย์ อาคาร ตัวอย่างเช่น Göbekli Tepe โบราณสถานในตุรกีซึ่งเก่าแก่โบราณที่สุดในโลกรวมถึงอาจเป็นจุดเริ่มต้นในการเริ่มทำเกษตรกรรมเพื่อให้มั่นใจว่าจะมีอาหารหล่อเลี้ยงคนที่มาร่วมพิธีทางศาสนา
Göbekli Tepe
Source: BBC

เราเริ่มเมาหัวทิ่มกันตั้งแต่เมื่อไร

  • ไม่ได้มีเพียงมนุษย์เท่านั้นที่หลงใหลเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สัตว์ต่าง ๆ ก็เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นแมลงวันผลไม้ นก ช้าง หรือลิง
  • จุดเริ่มต้นของพฤติกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 130 ล้านปีก่อนตอนที่ผลไม้เพิ่งถือกำเนิด ได้เกิดการวิวัฒนาการของยีสต์นามว่า Saccharomyces ซึ่งเจ้าตัวนี้เนี่ยแทนที่มันจะย่อยน้ำตาลผลไม้เอาไปใช้จนหมด มันงัดท่าใหม่คือย่อยแค่บางส่วนแล้วเปลี่ยนเป็นเอทานอล (Ethanol) แทน แม้ว่าวิธีนี้จะทำให้มันได้พลังงานน้อยลง แต่ก็สำเร็จในแง่การวางยาสัตว์อื่น ๆ ที่จะมาฉกฉวยผลไม้ไป
  • ตามกฏของการคัดเลือกโดยธรรมชาติ สิ่งมีชีวิตที่ชื่นชอบผลไม้ที่หมักจากเอทานอลก็กลายเป็นผู้ชนะ เป็นจุดเริ่มต้นของความหลงใหลในแอลกอฮอล์
  • ไม่กี่ล้านปีต่อมา มนุษย์ก็ใช้ประโยชน์จากยีสต์นี้ในการถนอมอาหารผ่านการหมัก แถมเมื่อก่อนนี้สภาพแวดล้อมไม่ค่อยสะอาด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นถือว่าสะอาดกว่าน้ำเปล่าด้วยซ้ำ
  • จุดเริ่มต้นของการหมักเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น อาจจะมาจากความผิดพลาดโดยบังเอิญ เมื่อยีสต์ Saccharomyces เข้าไปปะปนกับข้าวสาลีและข้าวบาร์เล่ย์ นักมานุษยวิทยาบางคนถึงขั้นคาดเดาว่าที่มนุษย์ปลูกธัญพืชนั้นก็มีจุดประสงค์เพื่อหมักมากกว่าจะทำเป็นอาหารด้วยซ้ำ
  • ต่อมา องุ่นก็ถูกนำมามาหมักกลายเป็นไวน์บ้าง
  • หลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นถูกพบเจอในหม้อที่มีอายุ 9,000 ปีในประเทศจีน
  • ส่วนหลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดของไวน์นั้นมีอายุ 7,000 ปี ถูกพบเจอที่โบราณสถานในอิหร่าน และในอีก 1,500 ปีต่อมาก็พบหลักฐานทางเคมีที่เก่าแก่ที่สุดของเบียร์ ทางด้านค็อกเทลก็ถูกค้นพบหลักฐานที่มีอายุ 3,000 ปีก่อน
  • อีกเรื่องน่าสนใจคือช็อกโกแลตนั้นก็เกิดมาจากความบังเอิญระหว่างที่ชาวเมโสอเมริกันกำลังหมักเครื่องดื่มที่ชื่อว่าชิชา ซึ่งมีส่วนผสมของเมล็ดคาเคาหมักด้วย

ทำไมเราถึงต้องการสิ่งของมากมาย

  • มนุษย์เริ่มเป็นเจ้าของสิ่งต่าง ๆ โดยหลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดคือเครื่องมือทำจากหินที่สร้างขึ้นเมื่อประมาณ 3.3 ล้านปีก่อน
  • เมื่อเครื่องมือมีความซับซ้อนมากขึ้น มนุษย์ก็เริ่มเป็นเจ้าข้าวเจ้าของมากขึ้น เริ่มเห็นได้ชัดจากเมื่อ 300,000 ปีก่อนที่เริ่มมีการสร้างหอกและลูกธนูในแอฟริกา
  • อีกหนึ่งสิ่งที่มนุษย์เริ่มครอบครองคือไฟ มนุษย์ยุคแรก ๆ มีการแบกถ่านไปไหนมาไหนด้วย โดยหลักฐานการใช้ไฟเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 800,000 ปีก่อน
  • มีหลักฐานบ่งบอกมาว่ามนุษย์เริ่มใช้เสื้อผ้าเมื่อประมาณ 70,000 ปีก่อน
  • ต่อมา ข้าวของเริ่มไม่ใช่แค่มีไว้สำหรับการมีชีวิตรอด แต่มีเพื่อสถานะทางสังคมด้วย มีการค้นพบเครื่องประดับอายุ 100,000 ปีในอิสราเอลและอัลจีเรีย
  • ถึงอย่างนั้น สมัยที่ยังไม่ลงหลักปักฐาน มนุษย์ก็แบกของไปได้ไม่มากนัก จนกระทั่งมีการสร้างกระเป๋าขึ้นมา ซึ่งหลักฐานกระเป๋าที่เก่าแก่ที่สุดที่พบเจอนั้นมีอายุ 4,000 ปี (แต่คาดว่าแท้จริงแล้วกระเป๋าอาจจะมีมาก่อน)
  • พอมนุษย์เริ่มตั้งถิ่นที่อยู่อาศัย ข้าวของก็มีแต่จะเพิ่มมากขึ้น ไหนจะสังคมที่ใหญ่ขึ้น ทำให้ต้องมีสิ่งของแสดงฐานะตามชั้นลำดับของคน
  • ความเสี่ยงของการลงหลักปักฐานคือ อาจพบเจอภัยธรรมชาติมากขึ้นเพราะไม่ได้เคลื่อนไหวไปไหน เพื่อป้องกันภัยนี้มนุษย์จึงเริ่มสะสมสิ่งของไว้เพื่อป้องกันตัวเอง นอกจากนี้ยังคอยเชื่อมสัมพันธ์กับผู้อื่นด้วยการมอบสิ่งของให้แก่กัน นำไปสู่การคิดค้นเงินตรา
  • โดยสรุปแล้ว เหตุผลหลักที่เราต้องสะสมสิ่งของมากมาย ก็เพื่อให้ตัวเราเองมีชีวิตรอด รู้สึกปลอดภัย และเพื่อแสดงฐานะทางสังคมนั่นเอง

เราเริ่มใส่เสื้อผ้าตั้งแต่เมื่อไร

  • สิ่งที่มนุษย์ต่างจากลิงจำพวกอื่น ๆ คือมนุษย์ไม่มีขนตามร่างกาย ซึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องดี เพราะมนุษย์วิวัฒนาการในแอฟริกาเป็นที่แรก ซึ่งอากาศก็อย่างที่รู้กันว่าถ้ามีขนนั้นคงไม่สบายตัวแน่นอน
  • เมื่อมนุษย์ไม่มีขน การเดินทางไปยังอากาศหนาวจึงเป็นเรื่องท้าทาย ดังนั้นเสื้อผ้าจึงถือกำเนิดขึ้น เป็นสิ่งป้องกันความหนาวที่สามารถพาไปไหนมาไหนด้วยได้ ไม่เหมือนไฟหรือที่กำบัง
  • เนื่องจากเสื้อผ้าสมัยก่อนนั้นทำจากวัสดุที่ย่อยสลายได้ เราจึงไม่เจอหลักฐานเก่า ๆ เท่าไร เก่าสุดที่เจอนั้นอายุเพียงไม่กี่พันปี ถึงอย่างนั้นก็เชื่อว่ามนุษย์ใส่เสื้อผ้ามานานกว่านั้น
  • ภาพวาดในถ้ำที่ฝรั่งเศสที่มีอายุ 15,000 ปีนั้นโชว์ให้เห็นภาพคนใส่เสื้อผ้า ส่วนเข็มเย็บผ้าที่เก่าที่สุดนั้นมีอายุประมาณ 40,000 ปี
  • ส่วนคำถามที่ว่าแล้วบรรพบุรุษเราเริ่มมีร่างกายที่เกลี้ยงเกลาตั้งแต่เมื่อไรนั้น แม้ไม่มีหลักฐานชัดเจน ก็อาจคาดเดาได้จากสายพันธุ์ของเหา ซึ่งโดยปกตินั้นสัตว์ที่มีขนก็จะมีเหาสปีชีส์นึงคอยรบกวน แต่มนุษย์นั้นต้องพบเจอเหา 3 ประเภทด้วยกัน นั่นคือ เหาบนศีรษะ เหาตรงขนอวัยวะเพศ และเหาเสื้อผ้า
  • คาดเดาว่าสมัยที่เรายังมีขนตามร่างกาย เราก็ต้องพบเจอเหาเหมือนเพื่อนสัตว์โลก ซึ่งเหาชนิดนี้คือชนิดเดียวกับที่เกาะหัวเรานั่นแหละ แต่เมื่อเราเริ่มไม่มีขนตามร่างกาย เหาชนิดนี้ก็มีที่สิงสถิตน้อยลง ถึงอย่างนั้นก็มีเหาชนิดใหม่โผล่มา เป็นชนิดที่เกาะตรงขนอวัยวะเพศ ซึ่งอาจจะลามไปเกาะตามขนหน้า คิ้ว รักแร้ ขนหน้าอก และบนหัวได้ด้วยเช่นกัน
  • ความน่าเซอร์ไพรส์คือ เหาชนิดนี้เป็นคนละชนิดกับที่เกาะบนหัวเรา เหาชนิดนี้ได้รับการสืบทอดมาจากกอลิลล่า ซึ่งจากการตรวจพันธุกรรมพบว่ามันเริ่มกลายพันธุ์มาเกาะมนุษย์ตั้งแต่เมื่อ 3.3 ล้านปีก่อน จึงคาดเดาได้ว่าบรรพบุรุษเราเริ่ม “สลัดขน” ตั้งแต่ตอนนั้น ซึ่งถือว่าเป็นเวลาที่ยาวนานนนก่อนโฮโม เซเปียนส์ จะถือกำเนิดอีก
  • ส่วนเหาเสื้อผ้านั้น แม้จะคล้ายกับเหาบนหัวแต่ก็แตกต่างมากพอที่จะวิเคราะห์พันธุกรรมเพื่อหาต้นตอได้ โดยพบเจอว่าบรรพบุรุษของทั้งคู่นั้นอาจอยู่มานานกว่า 170,000 ปี จึงคาดเดาได้ว่ามนุษย์ยุคโบราณเริ่มใส่เสื้อผ้ากันตั้งแต่ก่อนจะเดินทางออกนอกแอฟริกาซะอีก
  • ในฝั่งของรองเท้านั้น คู่ที่เก่าที่สุดที่พบเจอนั้นมีอายุประมาณ 5,500 ปี พบเจอในถ้ำที่อาร์มีเนีย โดยสร้างขึ้นจากหนังวัว
  • คาดว่ารองเท้าถูกสร้างขึ้นมานานก่อนหน้านั้น โดยพบเจอหลักฐานในประเทศจีน เป็นกระดูกนิ้วเท้าที่มีอายุ 40,000 ปี ที่มีลักษณะของคนใส่รองเท้าซึ่งแตกต่างจากของคนที่ไม่ใส่รองเท้าในอดีต

ดนตรีแรกเริ่มนั้นมีเสียงยังไง

  • เป็นเรื่องยากมากที่จะหาจุดเริ่มต้น เพราะคาดว่าเสียงดนตรีแรก ๆ ที่มนุษย์บรรเลงนั้นเป็นการขับร้อง ซึ่งก็ไม่แปลกที่จะหาหลักฐานไม่เจอ
  • เครื่องดนตรีที่เก่าแก่ที่สุดคือฟลุตที่ทำจากกระดูกซึ่งพบเจอในถ้ำแถบยุโรป มีอายุประมาณ 15,000-40,000 ปี
  • หากมองไปยังสัตว์ร่วมโลก ก็พบว่าเสียงดนตรีคือเอกลักษณ์ของมนุษย์อย่างหนึ่ง เพราะถึงแม้จะมีสัตว์อย่างนกที่สามารถร้องเพลงได้ แต่เพลงของมันก็มีจุดประสงค์ที่จำกัด คือแค่เพื่อหาคู่กับประกาศดินแดนเท่านั้น ไม่เหมือนเสียงดนตรีของมนุษย์ที่ตอบจุดประสงค์หลากหลาย
  • อีกส่วนของดนตรีที่น่าสนใจคือจังหวะ ซึ่งเป็นอะไรที่สากลมาก ๆ และพบเจอว่าแม้กระทั่งสัตว์บางชนิด เช่น ลิง นกแก้ว ช้าง หรือ แมวน้ำ ก็สามารถขยับร่างกายตอบรับต่อจังหวะได้
  • ในฝั่งของมนุษย์ เป็นไปได้ว่าเสียงดนตรีอาจจะเริ่มมาจากการสร้างจังหวะก่อน โดยแรกเริ่มอาจจะเป็นจังหวะจากการสร้างเครื่องไม้เครื่องมือ ล่าสัตว์ หรือเตรียมอาหาร ถึงจุด ๆ หนึ่งมันอาจจะพัฒนากลายเป็นจังหวะที่ชัดเจน และกระตุ้นให้ผู้คนประสานงานร่วมกันได้ดีขึ้น

ใครสร้างกระดาษชำระ

  • ในช่วงปี 1850 มีนวัตกรรมด้านความสะอาดผุดขึ้นมามากมาย ทั้งเครื่องล้างจาน เครื่องซักผ้า รวมถึงกระดาษชำระด้วย
  • ผู้ที่สร้างกระดาษชำระเชิงพาณิชย์คนแรกคือ Joseph C. Gayetty โดยสร้างแบรนด์ขึ้นมาว่า Gayetty’s Medicated Paper
  • แม้กระดาษชำระจะเป็นสิ่งจำเป็นในปัจจุบัน แต่ในยุคสมัยนั้นมันเป็นอะไรที่ประหลาดมาก ทำไมจะต้องจ่ายเงินซื้อกระดาษชำระในเมื่อใช้กระดาษจากหนังสือพิมพ์ นิตยสาร แค็ตตาล็อกก็ได้
  • Gayetty ยังให้ข้อมูลต่อว่า หมึกในสิ่งพิมพ์นั้นเป็นอันตราย อาจทำให้เกิดริดสีดวงทวาร และเคลมว่ากระดาษชำระของเขานั้นสามารถรักษาริดสีดวงทวารได้ เท่านั้นแหละวงการแพทย์ก็จู่โจมเขาอย่างหนัก ถึงอย่างนั้น บริษัทอื่น ๆ ก็เลียนแบบนวัตกรรมนี้และแห่ผลิตกันออกมา
  • แต่จริง ๆ นั้น มีคนเริ่มใช้กระดาษชำระก่อน Gayetty อีก นั่นก็คือพี่จีน (อีกแล้ว) ที่ได้คิดค้นกระดาษชำระมาก่อนหน้า Gayetty เป็นร้อยปีแล้ว โดยจักรพรรดิหงอู่ถึงกับเคยสั่งกระดาษชำระแบบนุ่มพิเศษ หอมพิเศษ จำนวน 15,000 แผ่น
  • แปรงสีฟันเองก็ถือกำเนิดจากพี่จีนเช่นกัน ในศตวรรษที่ 15 ช่วงราชวงศ์หมิง นักเดินทางชาวยุโรปไปเยือนจีนแล้วนำแปรงสีฟันกลับมา จากนั้นแปรงสีฟันก็กระจายไปทั่วโลก
  • ส่วนยาสีฟันนั้นยิ่งมาก่อนกาลใหญ่ ชาวอียิปต์ โรมัน และกรีก สรรหาสิ่งต่าง ๆ มาทำความสะอาดฟัน ไม่ว่าจะเป็น ขี้เถ้า เปลือกไข่ หินภูเขาไฟ ผงถ่าน เปลือกไม้ เกลือ เศษกระดูก เปลือกหอย (หาทำกันจริง ๆ) ส่วนจีนนั้นก็สร้างยาสีฟันรสมิ้นต์มาตั้งแต่ก่อนจะมีแปรงสีฟันซะอีก
  • แต่กระดาษชำระของจีนไม่สามารถโกอินเตอร์ได้ขนาดนั้น คนอังกฤษยังคงเสพติดการใช้ผ้าและใบไม้ ต่อมาเมื่อสิ่งพิมพ์มีมากขึ้นตามกาลเวลา คนก็หันมาใช้กระดาษใบปลิวหรือหนังสือแทน
Gayetty’s Medicated Paper
Source: sapiens.cat

ส่วนที่ 5: ความรู้

เราเริ่มเขียนตั้งแต่เมื่อไร

  • ภาษาเขียนนั้นเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 35,000 ปีที่แล้วเอง ในขณะที่ภาษาพูดนั้นอยู่มาอย่างน้อย 100,000 ปีแล้ว
  • หลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดถูกพบเจอบนภาพวาดบนผนังถ้ำในยุโรป มีสัญลักษณ์หลายรูปแบบปะปนไปกับรูปวาดของสัตว์ โดยสิ่งเหล่านี้ถูกพบเจอในถ้ำ 146 แห่งในฝรั่งเศส ที่น่าจะมีอายุมากว่า 10,000 ปีแล้ว รวมถึงแหล่งอื่น ๆ ทั่วโลกเช่นกัน
  • ไม่มีใครรู้ว่ามันมีความหมายว่าอะไร แต่นักวิจัยก็มองว่ามันมีกลิ่นอายของความเป็นภาษาเขียนอยู่ สัญลักษณ์บางประเภทมักโผล่มาแบบคู่กัน ซึ่งถือเป็นลักษณะทั่วไปของการเขียนในยุคแรก ๆ เรียกว่า synecdoche
  • นอกจากสัญลักษณ์บนถ้ำแล้ว ก็ยังมีการเขียนในรูปแบบรูปภาพ ซึ่งก็ถือกำเนิดในช่วง Neolithic ที่มีวัฒนธรรมเกิดขึ้นมากมาย 
  • ภาษาเขียนที่ “สมบูรณ์” ที่สุดในยุคอดีต ที่ซึ่งสามารถสะท้อนภาษาพูดได้เช่นกัน ได้เกิดขึ้นในเมืองแถบซูเมอเรียนเมื่อ 5,300 ปีก่อน ช่วงแรก ๆ ก็ยังเป็นภาษาเชิงรูปภาพอยู่ แต่เมื่อประมาณ 4,600 ปีก่อนก็เริ่มมีการใช้สระมาช่วยสื่อภาษา
  • รูปแบบการเขียนอีก 2 ประเภทก็ถือกำเนิดในช่วงเวลานี้ นั่นก็คือ Hieroglyphics หรืออักษรอียิปต์โบราณ และ Indus Script โดยอักษรอียิปต์โบราณนั้นมีรูปแบบเป็นตัวหนังสือคำ (logographic) นั่นก็คือหนึ่งสัญลักษณ์เท่ากับหนึ่งคำ
Hieroglyphics หรืออักษรอียิปต์โบราณ
Source: British Museum

เราเริ่มค้นพบ “การไม่มีอะไร” ตั้งแต่เมื่อไร

  • การนับเลขนั้นเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 5,000 ปีก่อน ทว่าคอนเซ็ปต์ของ “การไม่มีอะไร” หรือ “ศูนย์” นั้นเพิ่งมีมาเพียงประมาณ 2,500 ปีเอง
  • ศูนย์ในที่นี้มี 2 แบบ คือศูนย์ที่เป็นสัญลักษณ์แทนความไม่มีอะไร กับศูนย์ในเชิงคณิตศาสตร์ที่มีคุณสมบัติทางด้านการคำนวณ
  • สัญลักษณ์ 0 เกิดขึ้นก่อน โดยถูกนำมาใช้ครั้งแรกในบาบิโลเนีย (Babylonia) ตั้งแต่ 1800 BC เป็นต้นมา เพื่อนำมานับฤดูและจำนวนปี และประมาณ 700 ปีต่อมา ชาวมายัน (Mayan) ก็เริ่มมาใช้เช่นกัน
  • ศูนย์ถูกนำมาใช้เป็นเลขในการคำนวณครั้งแรกโดยนักดาราศาสตร์ชาวอินเดียนามว่า Brahmagupta ในช่วงปี AD 628 นอกจากนี้เขายังคิดต่อด้วยว่า ถ้าเราลบเลขด้วยเลขที่มากกว่า จะเกิดอะไรขึ้น? นี่เป็นที่มาของเลขติดลบ
  • การค้นพบเลขติดลบนั้น ทำให้เกิดคอนเซปต์ของตัวเลขที่ไม่มีวันสิ้นสุด ทั้งฝั่งลบและฝั่งบวก สิ่งที่คั่นกลางระหว่างเลข 2 ประเภทนี้ก็คือ “การไม่มีอะไร” ซึ่งในที่สุดคอนเซปต์นี้ก็ควบรวมกับสัญลักษณ์ 0
  • เลข 0 ใช้เวลาสักพักกว่าจะแพร่กระจายไปถึงคนยุโรป ในปี 1202 นักคณิตศาสตร์อิตาเลียนอย่าง Fibonacci เพิ่งนำวิธีการคำนวณแบบใหม่นี้มาเผยแพร่ ซึ่งก็ได้รับการตอบรับอย่างดีจากร้านค้าและธนาคาร แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีหน่วยงานที่ต่อต้านอยู่ เพราะมองว่าการที่เราสามารถเติม 0 ไว้หลังเลขแล้วทำให้เลขมีค่ายิ่งขึ้นนั้นมีความเสี่ยงต่อการถูกฉ้อโกง เลข 0 เพิ่งได้รับการยอมรับในช่วงทศวรรษที่ 16 นี้เอง

เราเริ่มวัดสิ่งต่าง ๆ ตั้งแต่เมื่อไร

  • สมัยก่อนนั้นการวัดสิ่งต่าง ๆ มักจะอ้างอิงกับสิ่งใกล้ตัว เช่น ความยาวของอวัยวะมนุษย์ (เช่น นิ้ว ศอก) การใช้เมล็ดคาร็อบวัดน้ำหนักของเพชรพลอย แต่ปัญหาก็คือสิ่งอ้างอิงเหล่านี้ไม่เสถียรเอาซะเลย
  • มาตรฐานการวัดแบบใหม่เกิดขึ้นในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส ที่ซึ่งเหล่าผู้นำต้องการโค่นล้างระบบเก่า ๆ ออก รวมถึงมาตรฐานการวัดอันไม่เสถียรนั้นด้วย
  • ตัวมาตรฐานการวัดแบบใหม่นี้ แรกเริ่มมีเพียง 2 หน่วย นั่นก็คือกิโลกรัม กับ เมตร ซึ่งช่วงแรก ๆ ก็มีการอ้างอิงกับสิ่งที่ไม่เสถียรนัก
  • จนกระทั่งในปี 1960 ระบบหน่วยวัดระหว่างประเทศได้ถือกำเนิดขึ้น เพื่อให้การวัด ชั่ง ตวงของแต่ละประเทศนั้นมีมาตรฐานเดียวกัน โดยมี 6 หน่วยฐานได้แก่ กิโลกรัม วินาที เคลวิน แอมแปร์ โมลส์ และแคนเดล่า เราสามารถนำหน่วยฐานเหล่านี้ไปผสมกัน กลายเป็นหน่วยอนุพัทธ์อื่น ๆ อีกมากมาย เช่น จูลส์ เฮิร์ตซ์ วัตต์ เป็นต้น

ใครเริ่มคิดค้นการดูเวลา

  • การนับเวลาเกิดขึ้นครั้งแรกโดยชาวอียิปต์เมื่อ 4,000 ปีก่อน โดยชาวอียิปต์ต้องการจะหั่นเวลาในหนึ่งวันเป็นยูนิตย่อย ๆ มีการพบเจอนาฬิกาแดดที่น่าจะเอาใช้แทร็กเวลาการทำงานของคนงานในช่วงกลางวัน แต่นาฬิกาแดดมีข้อจำกัดคือในช่วงฤดูร้อน แสงแดดจะยาวนานเป็นพิเศษ เพื่อให้แฟร์ ๆ จึงมีนาฬิกาน้ำที่เอาไว้นับเวลาทั้งวันด้วย
  • การคิดค้นต่อมาคือเมื่อประมาณ 300 BC ชาวบาบิโลเนียนหั่นวัน ๆ หนึ่งออกเป็น 3 ส่วน ส่วนละ 60
  • ระบบการนับเวลาแบบปัจจุบันนั้นก่อกำเนิดขึ้นในช่วงปลาย ๆ ของหนึ่งพันปีแรก AD โดยผู้พัฒนาคือชาวเปอร์เซียนนามว่า Al-Biruni เขานำคอนเซปต์ของชาวอียิปต์มาย่อย ๆๆ จนสร้างออกมาเป็น “นาที” และ “วินาที”
ชิ้นส่วนนาฬิกาแดดของอียิปต์
Source: Archaeology

เราเริ่มคุยเรื่องการเมืองตั้งแต่เมื่อไร

  • การเมืองนั้นแท้จริงแล้วก็คือการถกเถียงกันว่าควรจะจัดการสังคมและจัดสรรอำนาจ/ทรัพยากรยังไง สิ่งนี้เกิดขึ้นมาหลายพันปีแล้ว
  • ในยุคก่อนหน้านี้ การเมืองมักเป็นเรื่องของการแย่งอำนาจระหว่างเหล่าขุนศึก แต่พอสังคมเริ่มพัฒนา การเมืองก็กลายเป็นเรื่องของทุกคน ตัวอย่างแรก ๆ ที่เกิดขึ้นก็เช่น การปฏิวัติฝรั่งเศสในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 ซึ่งตอนนั้นฝรั่งเศสแบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง ฝั่งแรกสนับสนุนสถาบันดั้งเดิม (ฝั่งขวา) ส่วนอีกฝั่งต้องการการปฏิวัติ (ฝั่งซ้าย)
  • โดยส่วนใหญ่แล้ว การเมืองคือการต่อสู้ระหว่างคนที่อยากปกป้องสถานะดั้งเดิมของตนไว้ กับคนที่ต้องการโค่นล้าง ตามปกติแล้วเราคงจะคิดว่า การที่คน 2 กลุ่มมีความคิดต่างกัน ก็คงมาจากชุดข้อมูลและประสบการณ์ที่ต่างกัน แต่งานวิจัยล่าสุดค้นเจอว่า ความแตกต่างนี้อาจมาจากยีนส์ของเราก็เป็นได้ ซึ่งก็จะส่งผลต่อพฤติกรรมที่ต่างกัน และวิธีคิดที่ต่างกันด้วยเช่นกัน

การเล่นแร่แปรธาตุแปรเปลี่ยนเป็นวิทยาศาสตร์ตั้งแต่เมื่อไร

  • แรกสุดเลย นักปราชญ์ในยุคกรีกโบราณอย่าง Aristotle นั้นตั้งทฤษฎีไว้ว่าทุกอย่างมีต้นกำเนิดมาจาก 4 ธาตุ ได้แก่ ดิน น้ำ ลม ไฟ
  • ในยุคที่ Alexander the Great สามารถพิชิตอียิปต์และสร้างเมืองหลวงใหม่อย่าง Alexandria ก็มีเหล่าช่างที่ประยุกต์แนวคิดของ Aristotle มาสร้างนู่นนี่ต่อ วิธีนี้แพร่กระจายไปสู่ฝั่งอิสลาม และสุดท้ายก็ไปถึงยุโรป ในรูปแบบของการเล่นแร่แปรธาตุ
  • เหล่านักเล่นแร่แปรธาตุมีจุดมุ่งหมายคือสร้าง philosopher’s stone หรือศิลานักปราชญ์ โดยเชื่อว่าสิ่งนี้จะเป็นยาวิเศษที่สามารถรักษาโรคต่าง ๆ ได้ เปลี่ยนโลหะเป็นทองได้ และทำให้คนมีชีวิตยืนยาวคงกระพันได้ นอกจากนี้พวกเขาก็ใช้วิชาเพื่อเปลี่ยนธาตุต่าง ๆ เป็นยา แก้ว และระเบิดได้เช่นกัน
  • แม้กระทั่งนักวิทยาศาสตร์ชื่อดังอย่าง Isaac Newton ก็เคยศึกษาเรื่องการเล่นแร่แปรธาตุเช่นกัน
  • แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การเล่นแร่แปรธาตุก็ยังไม่นับว่าเป็นวิทยาศาสตร์ ในปี 1661 นักปราชญ์นามว่า Robert Boyle ได้โต้เถียงว่าพวกยูอย่าเพิ่ง assume สิว่าสิ่งต่าง ๆ ตั้งต้นมาจากธาตุ 4 ธาตุเท่านั้น ต้องทำการทดลองเรื่อย ๆ ก่อนสิ
  • เอ้าไม่รอช้า ขุนนางชาวฝรั่งเศสนามว่า Antoine Lavoiser รับคำท้าด้วยการลองไปค้นหาว่าเอ๊ะมันมีธาตุอื่น ๆ อีกมั้ย ในปี 1789 เขาก็ระบุว่าได้พบเจอจำนวนธาตุทั้งหมด 33 ธาตุ
  • ในปี 1869 นักเคมีชาวรัสเซียนามว่า Dmitri Mendeleev ได้คิดค้น “ตารางธาตุ” ขึ้นมา ก่อนหน้านี้เขาพยายามหาคำตอบวัสดุต่าง ๆ สามารถเปลี่ยนแปลงไปในรูปแบบไหนได้บ้าง
  • ในช่วงเวลาของ Mendeleev มนุษย์ได้ค้บพบธาตุเป็นจำนวน 63 ธาตุ สิ่งที่ Mendeleev ทำคือจัดประเภทของมันตามน้ำหนักของอะตอม และได้พบเจอว่าแต่ละกลุ่มนั้นมีรูปแบบเป็นยังไง
  • ตารางไม่ได้ทำแค่นำเสนอข้อมูล แต่ยังทำการคาดเดาธาตุที่ยังไม่ถูกค้นพบด้วย
  • ไม่นานนักนักวิทยาศาสตร์ก็ค้บพบอิเล็คตรอน ซึ่งเป็นสาเหตุเบื้องหลังรูปแบบที่แตกต่างกันของธาตุแต่ละกลุ่ม
ตารางธาตุ
Source: Britannica

ส่วนที่ 6: สิ่งประดิษฐ์

ทำไมถึงใช้เวลานานจังกว่าจะคิดค้นล้อขึ้นมาได้

  • อย่างที่เกริ่นไว้ก่อนหน้านี้ว่าแม้กระทั่งเมืองที่เจริญอย่างอูรุก (Uruk) ยังไม่มีระบบการขนส่งที่ดีเลย จากหลักฐานพบว่าพวกเขาอาจจะใช้รถเลื่อนซึ่งลากไปตามพื้น ไม่ได้มีล้อแต่อย่างใด
  • ในปี 2002 พบเจอหลักฐานการมีอยู่ของวงล้อที่ชัดเจนที่สุด อยู่ที่สโลเวเนีย ซึ่งน่าจะมีอายุประมาณ 5,150 ปี อีกแห่งที่พบเจอคือยูเครน ซึ่งมีล้อและรถเข็นอยู่ในสุสานอายุ 5,000 ปี
  • อีกหนึ่งหลักฐานที่สันนิษฐานว่าต้นกำเนิดวงล้อมาจากยุโรปนั้น ก็คือภาษา ต้นกำเนิดของภาษาในยุโรปนั้นมาจากภาษาที่หายไปแล้วอย่าง Proto-Indo-European ซึ่งมีคำที่สื่อความหมายถึง “ล้อ” อยู่ โดยภาษานี้มีอายุประมาณ 5,500 ปี จึงคาดเดาว่าวงล้อได้ถือกำเนิดขึ้นมาได้สักพักแล้ว
  • ในช่วง 4,500 ปี การใช้วงล้อได้เป็นที่นิยมอย่างรวดเร็ว ทั้งใช้ในสงคราม และใช้ในเครื่องจักรต่าง ๆ

เราเริ่มพูดคุยผ่านคลื่นความถี่ตั้งแต่เมื่อไร

  • ในปี 1895 ชาวอิตาเลียนนามว่า Guglielmo Marconi ได้ประดิษฐ์เครื่องมือที่ช่วยให้สามารถส่งข้อความผ่านอากาศได้ เขานำสิ่งประดิษฐ์ 2 ชนิดมาควบรวมกัน อย่างแรกคือทรานสมิตเตอร์ (transmitter) เป็นตัวกระจายคลื่นสัญญาณและอย่างที่สองคือโคฮีเรอร์ (coherer) หรือตัวรับสัญญาณ
  • ในปี 1896 Marconi ได้ทำการจดสิทธิบัตรให้กับสิ่งประดิษฐ์ของตัวเอง และหนึ่งปีต่อมาเขาก็ก่อตั้ง Wireless Telegraph & Signal Company ซึ่งถือเป็นสถานีวิทยุแห่งแรก ต่อมาในปี 1909 เขาก็ได้รับรางวัลโนเบลส่วนหนึ่งจากการคิดค้นของเขา
  • Marconi ได้รับการสรรเสริญอย่างกว้างขวางว่าเป็นผู้สร้างวิทยุ แต่จริง ๆ แล้วเขาไม่ได้เป็นคนต้นคิดทั้งหมด เขาหยิบยืมไอเดียจากคนอื่น ๆ มาประกอบร่างอีกที นักวิทยาศาสตร์คนหนึ่งที่ควรได้รับการยกย่องเช่นกันคือนักฟิสิกส์ชาวเยอรมันนามว่า Karl Ferdinand Braun ซึ่งเป็นผู้สร้างหลาย ๆ เทคโนโลยีซึ่ง Marconi หยิบยืมมาใช้ (และ Marconi ก็ยอมรับเช่นกันว่ายืมเขามา) โดยคุณ Braun ก็ได้รับรางวัลโนเบลร่วมกับ Marconi แม้ว่าจะไม่ได้ทำงานร่วมกัน
  • คู่แข่งตัวฉกาจอีกหนึ่งคนคือ Nikola Tesla โดยในปี 1893 ก่อน Marconi จะทำการทดลองสำเร็จ คุณ Tesla ก็ได้ไปบรรยายที่ Franklin Institute เกี่ยวกับทฤษฎีการสร้างทรานส์มิตเตอร์และตัวรับแบบไร้สาย แต่ในตอนนั้นเขายังไม่มีอุปกรณ์ คุณ Tesla ก็จัดการสร้างเองจนแล้วเสร็จ พร้อมจดสิทธิบัตรในปี 1897 ซึ่งช้าไปแล้วเพราะ Marconi ได้รางวัลไปก่อนแล้ว
  • คู่แข่งคนอื่น ๆ ส่วนใหญ่ถูกลืมเลือนไปหมด หนึ่งในนั้นคือนักฟิสิกส์ชาวอังกฤษนามว่า Oliver Lodge ซึ่งประสบความสำเร็จในการส่งคลื่นสัญญาณในปี 1894 (ก่อน Marconi) โดยสิ่งประดิษฐ์ของเขาก็คล้ายกับของ Marconi แต่ Marconi ก็ปฏิเสธว่าไม่เคยรับรู้เรื่องนี้มาก่อน
  • Lodge เจียมเนื้อเจียมตัวด้วยการบอกว่างานของเขายังไม่เสร็จสมบูรณ์ มันยังเป็นแค่เด็กอมมืออยู่เลยพี่ และไม่ยอมจดสิทธิบัตรจนกระทั่งปี 1897 ซึ่ง Marconi ก็ชิงจดไปก่อนแล้ว
  • แต่อะไรก็ไม่เท่าการเคลมของพี่รัสเซีย ซึ่งอ้างว่านักฟิสิกส์ชาวรัสเซียนามว่า Aleksandr Popov ต่างหากที่เป็นผู้คิดค้นวิทยุ เพราะเป็นคนแรกที่ทำการส่งสัญญาณแบบไร้สายได้ในปี 1895 ก่อน Marconi จะจดสิทธิบัตร
  • Popov ไม่เคยถือตัวเหนือ Marconi ทั้งยังไม่ได้มองว่าเป็นศัตรู ทั้งสองกลายเป็นเพื่อนกันในปี 1902
  • ในปี 1925 หลังวารสาร Wireless World ตีพิมพ์ความสำเร็จของ Popov ทาง USSR ก็ไม่รอช้า สร้างโฆษณาชวนเชื่อตอกย้ำความสำเร็จของ Popov เท่านั้นยังไม่พอ ยังเคลมว่าทีวีและเครื่องบินเป็นสิ่งประดิษฐ์ของชาวรัสเซียต่างหาก นั่นเพราะตอนนั้นเทคโนโลยีของโซเวียตค่อนข้างล้าหลังฝั่งตะวันตก ไม่ถูกใจเฮียสตาลินที่พยายามปกปิดเรื่องนี้

ใครคือคนแรกที่บินได้

  • ในปี 1848 ที่เมือง Chard ในประเทศอังกฤษ นักประดิษฐ์นามว่า John Stringfellow ได้สร้างโดรนขึ้นมาเป็นครั้งแรก
  • แต่ครั้งแรกที่คนได้ “บิน” จริง ๆ ก็คือปี 1903 ซึ่ง Orville Wright หนึ่งในสองพี่น้องตระกูลไรต์ สามารถขึ้นบินบนเครื่องบิน Kitty Hawk ของเขา เป็นระยะเวลา 12 วินาที ระยะทาง 37 เมตร
  • ความสำเร็จของสองพี่น้องตระกูลไรต์ จริง ๆ ก็มีพื้นฐานมาจากการค้นพบของนักประดิษฐ์ท่านอื่น ๆ เช่นกัน ตัวอย่างเช่น นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษนามว่า George Cayley ซึ่งได้ทำการหาข้อมูลมาก่อนหน้าสองพี่น้องตั้ง 50 ปี แต่ตอนนั้นเทคโนโลยียังไม่ได้เอื้ออำนวยขนาดนั้น
  • คนที่สองคือ Otto Lilienthal ผู้สร้างเครื่องร่อนที่มีปีกคล้าย ๆ นก ทำให้สามารถบินได้ดีขึ้น
  • คนที่สามคือนักดาราศาสตร์ชาวอเมริกันนามว่า Samuel Langley โดยในปี 1896 เขาได้สร้างเครื่องบินไอน้ำขึ้นมาลำหนึ่ง แต่มันเล็กไปเกินกว่าจะให้คนเข้าไปอยู่ในนั้น
  • จริง ๆ หากไม่จำกัดความว่าการบินคือเครื่องบิน ก็มีมนุษย์ที่เคยบินบนบอลลูนมาก่อนหน้านี้ ในปี 1783 
Kitty Hawk
Source: NASA

ทำไมเราถึงใช้คีย์บอร์ดแบบ QWERTY

  • จุดเริ่มต้นคือปี 1866 เมื่อคุณ Christopher Latham Sholes ประดิษฐ์สิ่งหนึ่งที่เขาคิดว่าน่าจะทำให้ร่ำรวยได้ นั่นคือเครื่องจักรที่พิมพ์ลำดับเลขหน้าบนหนังสือได้แบบอัตโนมัติ
  • ในปี 1867 นักประดิษฐ์นามว่า Carlos Glidden ได้มาร่วมจอยน์ทีม และเปลี่ยน direction เป็นการสร้างเครื่องจักรที่ช่วยให้มนุษย์พิมพ์ความรู้สึกนึกคิดได้เร็วเป็น 2 เท่าของการเขียนมือ
  • หนึ่งปีต่อมาพวกเขาก็จดสิทธิบัตรกัน โดยรูปร่างหน้าตาของเครื่องพิมพ์ในตอนแรกนั้นหน้าตาเหมือนเปียโนซะมากกว่า และยังทำงานตะกุกตะกักอยู่บ้าง
  • แต่ถึงอย่างนั้นพวกเขาก็เรียกนักลงทุนได้ โดยคุณ James Densmore หนึ่งในนักลงทุนนั้น แม้ว่าจะไม่ได้ชอบตัวสิ่งประดิษฐ์มากนัก แต่ก็ยังบายไอเดียและสนับสนุนให้พวกเขาทำต่อไป
  • ในปี 1872 ดีไซน์ของสิ่งประดิษฐ์ถูกปรับจากหน้าตาคล้ายเปียโน เป็นปุ่มกลม ๆ เรียงกันเป็นแถว แต่ก็ยังไม่ระบุอยู่ดีว่าปุ่มไหนคือตัวอักษรไหน
  • แต่แล้วไม่นานนัก สิ่งประดิษฐ์ของ Sholes ก็ได้รับการตีพิมพ์ใน Sciencific American โดยในนั้นมีตัวอักษร QWE.TY. ระบุอยู่บนแถวที่สองของแป้นพิมพ์
  • ต่อมา คุณ Densmore ก็ส่งดีไซน์นี้ไปให้บริษัท E. Remington & Sons ช่วยผลิตให้หน่อย (เป็นบริษัทปืนที่ขยายมาทำเครื่องใช้ในบ้าน) แบบแรกที่ผลิตนั้นตัวคีย์บอร์ดเรียงด้วยตัวอักษร QWERTUIOPY ซึ่งคุณ Sholes ก็บอกขอเปลี่ยนเป็น QWERTY
  • ในปี 1874 คีย์บอร์ด QWERTY วางขายเป็นครั้งแรก
  • ณ ตอนนี้ก็ยังหาเหตุผลแท้จริงว่าทำไมต้องเป็น QWERTY ไม่ได้ บ้างก็เดาว่าแป้น QWERTY ช่วยให้พิมพ์ช้าลงด้วยการวางตัวอักษรที่มักจะอยู่คู่กันบ่อย ๆ ให้ห่างออกไป จะได้ชะลอการสะดุดของกระดาษ แต่ก็พบว่าแป้น QWERTY นี่แหละตัวดีเลย วางอักษรสุดแมสใกล้ ๆ กันหลายตัว
  • บ้างก็บอกว่าเพื่อให้นักขายพิมพ์ ‘TYPE WRITER QUOTE’ ซึ่งทุกตัวอักษรอยู่บนแถวแรก ถ้าจะบอกว่าไม่ได้ตั้งใจก็ดูบังเอิญไปหน่อย แต่ข้อสันนิษฐานนี้ก็ไม่มีหลักฐานแน่ชัด
  • เหตุผลที่พอจะดูเป็นไปได้มากที่สุดก็คือ มันถูกประยุกต์แบบงง ๆ มาจากคีย์บอร์ดเปียโนอีกที ซึ่งก็ไม่ได้ตอบคำถามอะไรเท่าไร
  • แม้จะเป็นที่นิยม แต่ก็มีคนค้านว่าคีย์บอร์ด QWERTY ไม่ได้ดีขนาดนั้น มีคนสร้างคีย์บอร์ดทางเลือกออกมาอีกมากมาย แต่สุดท้ายคนส่วนใหญ่ก็ยังติดกับ QWERTY อยู่ดี
ก็ยังงง ๆ ว่ามันใช้ยังไง 555
Source: Lithub

เราทำให้เกิดการคิดเลขแบบอิเล็กโทรนิกส์ได้ยังไง

  • ในอดีตนั้น การคำนวณมาจากการคิดมือโดยมนุษย์ ผลลัพธ์คือมีตารางคณิตศาสตร์มากมายที่เอาไว้ใช้อ้างอิงเวลาอยากจะคำนวณอะไรสักอย่าง
  • นักคณิตศาสตร์นามว่า Charles Babbage พบเจอว่าตารางเหล่านี้ยังคงมีข้อผิดพลาดอยู่ (human error อะเนอะ) จึงเกิดไอเดียว่าอยากสร้างเครื่องจักรที่สามารถคำนวณเลขได้อัตโนมัติ
  • Babbage ออกแบบสิ่งประดิษฐ์ที่เขาเรียกว่า Difference Engine ตามชื่อหลักการทางคณิตศาสตร์ที่เขาอ้างอิงอย่าง Finite Differences
  • ในปี 1837 ระหว่างที่เขากำลังสร้างตัวอย่างของ Difference Engine เขาก็เกิดไอเดียว่าเครื่องนี้มันควรจะคำนวณได้หลายแบบ ไม่ใช่แค่การบวกเท่านั้น แต่ต้องลบ คูณ หารได้ด้วย เขาจึงเกิดไอเดียใหม่ผุดสิ่งประดิษฐ์ใหม่ที่ชื่อว่า Analytical Engine ซึ่งอาจเรียกได้ว่านี่คือคอมพิวเตอร์เครื่องแรกของโลก
  • แต่ช้าก่อน เครื่องนี้เกือบจะสมบูรณ์แบบแล้ว เพียงแต่ Babbage มัวแต่ออกแบบอยู่นั่นละ ไม่สร้างสักทีจนกระทั่งเขาเสียชีวิตในปี 1871 ซึ่งมีการสร้างไปเพียงบางส่วนเท่านั้น
  • ผู้ที่นำไอเดียของ Babbage ไปเสกให้เป็นความจริงคือนักคณิตศาสตร์นามว่า Alan Turing โดยในปี 1936 Turing ที่อายุ 24 ปี ไฟแรงเพิ่งจบโทมาหมาด ๆ ก็ได้เขียนเปเปอร์ซึ่งเป็นรากฐานของคอมพิวเตอร์ยุคใหม่
  • อันที่จริง Turing ไม่ได้หมายมั่นจะสร้างสิ่งประดิษฐ์ตั้งแต่แรก แต่เขาต้องการจะไขปริศนาทางคณิตศาสตร์ของ David Hilbert ในปี 1928 ที่ตั้งคำถามว่าเราสามารถให้คำตอบที่ชัดเจนกับทุก ๆ โจทย์คณิตศาสตร์ได้จริงหรือไม่ ซึ่ง Turing ก็ได้สร้างสิ่งประดิษฐ์ชื่อ Turing Machine ขึ้นมาแก้ปัญหานี้ จะกล่าวได้ว่า Turing Machine คือคอมพิวเตอร์ก็ได้
  • คอมพิวเตอร์ของ Turing ที่เสร็จสมบูรณ์เครื่องแรก ถูกสร้างในปี 1941 ที่เบอร์ลิน แม้รัฐบาลเยอรมันจะไม่ทันได้เห็นประโยชน์ที่อาจจะเอื้อในเชิงการทหาร แต่ฝั่งอังกฤษนั้นไม่พลาด  ได้ดึงตัว Turing ให้มาช่วยถอดรหัสนาซีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

ใครเป็นผู้ค้นพบ X-Ray

  • X-Ray หรือ รังสี X ถูกพบเจอโดยบังเอิญจากนักวิทยาศาสตร์นามว่า Wilhelm Röntgen ในปี 1895 ตอนที่เขากำลังทำการทดลองกับหลอดปล่อยประจุครูกส์ (Crookes tube) ซึ่งเป็นการทดลองเกี่ยวกับรังสีแคโทต (cathode ray) ก็ค้นพบว่ามีการเรืองแสงในระยะที่รังสีแคโทตไม่น่าจะเดินทางไปได้ขนาดนั้น แม้จะนำกระดาษแข็งดำมากั้นแสง ก็ยังมีการเรืองแสงอยู่
  • Röntgen จึงสันนิษฐานว่ามันจะต้องมีรังสีอื่นแผ่ออกมาจากหลอดนั้น โดยเขาตั้งชื่อว่ารังสี X เนื่องจากยังไม่รู้ว่ามันคือรังสีอะไร เขาค้นพบว่านอกจากรังสีนี้จะวิ่งผ่านกระดาษดำแล้ว ยังวิ่งผ่านไม้และมนุษย์ได้ด้วย ยกเว้นส่วนที่เป็นกระดูก เพราะเมื่อ Röntgen นำมือไปกั้นระหว่างหลอดและหน้าจอ เขาก็พบเจอกับเงาขาว ๆ ของกระดูกตัวเอง
  • ในปี 1896 การค้นพบของเขาแพร่หลายไปทั่วยุโรป ซึ่งก็มีภาพ X-Ray มือของภรรยาเขาด้วย ถึงจุดนี้ทุกอย่างเคลื่อนไปไวมาก สื่อต่างพาดหัวและให้ความสนใจ
  • ไม่นานนัก X-Ray ก็ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลาย ต้องขอบคุณ Röntgen ที่ใจกว้างไม่ขายการค้นพบของเขาให้กับบริษัทไหนเป็นพิเศษ เขาอยากให้ประโยชน์จากการค้นพบนี้แพร่หลายไปทั่วโลก
  • ในปี 1901 Röntgen ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ และเสียชีวิตในปี 1923 ด้วยโรคมะเร็ง
ภาพ X-Ray มือของภรรยา Röntgen มีแหวนแต่งงานด้วย
Source: Daily Mail

รวมสิ่งประดิษฐ์ที่เกิดจาก “โชคช่วย”

  • ในหลาย ๆ กรณีนั้น สิ่งประดิษฐ์ชิ้นนึงไม่ได้มาจากความตั้งใจตั้งต้น แต่เป็นผลพลอยได้จากการตั้งใจจะประดิษฐ์อย่างอื่น
  • ตัวอย่างเช่น กระดาษ Post-It ซึ่งความมุ่งมั่นตั้งใจแรกของผู้สร้างอย่าง Spencer Silver จากบริษัท 3M คือการสร้างกาวแบบติดทนทาน แต่ทำไปทำมากาวนี้กลับติดได้แบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ เขาลองให้เพื่อนร่วมงาน Arther Fry เอาไปติดคั่นกระดาษเนื้อเพลง ปรากฏว่ามันตอบโจทย์การใช้งานได้ดี
  • กระดาษ Post-It ถูกปล่อยสู่ตลาดครั้งแรกด้วยชื่อ Press ’n Peel ในปี 1977 ก่อนจะถูกรีแบรนด์เป็น Post-It ในปี 1980 โดยกระดาษโน้ตที่ปล่อยเป็นสีแรกคือสีเหลือง นี่ก็เรื่องบังเอิญเพราะห้องแล็บของ Fry มีแต่กระดาษสีเหลืองให้ทดลองสร้าง
  • อีกหนึ่งการค้นพบที่ใกล้เคียงกันคือ Superglue หรือกาวที่ติดแน่นเป็นพิเศษ ซึ่งถูกสร้างในปี 1942 โดยนักเคมีที่กำลังจะหาพลาสติกใสมาสร้างที่เล็งปืน วันหนึ่งพวกเขาทดลองสารเคมีชนิดหนึ่งชื่อ cyanoacrylates และพบว่ามันติดทุกอย่างโดยไม่ต้องใช้แรงกดทับอะไรมากมาย
  • อีกหนึ่งสารเคมีที่กำเนิดจากความผิดพลาดคือ tetrafluoroethylene ซึ่งตอนแรกนักเคมีนามว่า Roy Plunkett ต้องการจะสร้างสารทำความเย็นตัวใหม่ เขาเริ่มจากการนำก๊าซ tetrafluoroethylene ไปใส่ในแทงก์ แต่ก็ไม่เกิดผลอะไร เขาจึงลองเช็กแทงก์ ปรากฏว่าพบเจอคราบสีขาว ๆ ซึ่งเป็นผลพวงจากการทำปฏิกิริยากันของก๊าซ และถูกเร่งปฏิกิริยาด้วยเหล็กที่เคลือบแทงก์อยู่ ออกมาเป็น polymer 
  • Polytetrafluoroethylene (PTFE) กลายเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ เช่น ถูกนำไปใช้ในการป้องกันไม่ให้สารเคมีหลุดออกมา ถูกนำไปเคลือบกระทะเพราะมันสามารถกันน้ำและน้ำมันได้ ถูกนำไปใช้ป้องกันชุดนักบินอวกาศ ถูกนำไปเคลือบลิ้นหัวใจเพราะระบบภูมิคุ้มกันไม่ต่อต้านมัน
  • อีกหนึ่งสิ่งประดิษฐ์ที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวันปัจจุบันอย่างไมโครเวฟก็มาจากความบังเอิญเหมือนกัน ในปี 1945 วิศวกรนามว่า Percy Spencer กำลังสร้างเรดาร์ และพบว่าช็อกโกแลตที่ใส่ไว้ในกระเป๋าของเขาละลาย เขาจึงคาดเดาว่าต้นเหตุมาจากพลังงานแม่เหล็กไฟฟ้าที่แผ่ออกมาจากเรดาร์ จึงได้ลองทำการทดลองเพิ่มขึ้นด้วยการอุ่นอาหารซะเลย

เราเอาชนะแมลง (อยู่พักนึง) ได้ยังไง

  • Alexander Fleming นักจุลชีววิทยาจากโรงพยาบาล St. Mary’s ในลอนดอน ได้ทำการศึกษาแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคที่มีชื่อว่า staphylococci (เรียกสั้น ๆ ว่า staph)
  • อยู่มาวันหนึ่งหลังจากกลับจากหยุดยาว เขาก็พบเจอว่าตัวอย่างแบคทีเรียที่ทำการศึกษาอยู่นั้นได้มีการหยุดเติบโต เหตุเพราะตัวอย่างของเขาได้รับการปนเปื้อนจากเชื้อราที่พัดปลิวมาจากทางหน้าต่าง
  • Fleming เลยปิ๊งไอเดียลองเพาะพันธุ์ราชนิดนี้ดู ก่อนจะพบว่ามันสามารถรักษาได้หลายโรคที่เกิดจากแบคทีเรีย เขาได้ตั้งชื่อให้มันว่าเพนิซิลลิน (penicillin) อิงตามชื่อของเชื้อราชนิดนี้ในภาษาละติน
  • ในปี 1929 Fleming ก็ตีพิมพ์และนำเสนอการค้นพบของเขา แต่คนก็ยังไม่ค่อยให้ความสนใจนักเพราะวิธีพูดของเขามันน่าเบื่อ เขายังคงทำวิจัยเกี่ยวกับเพนิซิลลินต่อแต่ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก แถมงานวิจัยยังไม่ค่อยราบรื่น
  • โชคดีที่ต่อมาในปี 1938 ทีมจากมหาวิทยาลัย Oxford นำโดย Howard Florey ได้นำการค้นพบของ Fleming มาสานต่อ และสามารถหาวิธีผลิตเพนิซิลลินในปริมาณที่มากได้ ผลสำเร็จเกิดขึ้นในปี 1942
  • แต่ถึงอย่างนั้นเส้นทางของ Florey ก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะตอนแรกเขาหาเงินมาสนับสนุนงานวิจัยไม่ได้เลย โชคหล่นมากเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้น ทางรัฐบาลจึงให้เงินสนับสนุนงานวิจัยของพวกเขา ทำให้สามารถผลิตเพนิซิลลินในปริมาณมากได้
  • แม้คนที่ทำให้เพนิซิลลินเกิดจริง ๆ คือ Florey แต่คนที่ได้เครดิตกลับเป็น Fleming ซะงั้น เพราะ Fleming มีคนช่วยซัพพอร์ตได้ PR ที่ดีกว่า
  • ในปี 1945 Fleming, Florey และมือขวาของ Florey ได้รับรางวัลโนเบลร่วมกัน แต่ถึงอย่างนั้น Fleming ก็ยังเด่นที่สุด แต่ Fleming ก็ไม่ได้มือเติบรับไปคนเดียวซะหมด เวลาเขาคุยกับนักข่าว เขามักจะบอกให้นักข่าวไปคุยกับทาง Florey ด้วย แต่ Florey ก็ไม่อยากออกสื่อซะอย่างนั้น ชื่อเสียงของ Fleming เลยยิ่งทวีคูณมากขึ้น ๆ
  • เพนิซิลลินกลายเป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ในวงการแพทย์ เพราะก่อนหน้านี้ต้องมีคนกว่า 80% ที่ล้มตายจากการติดเชื้อในกระแสเลือดซึ่งเกิดจากแบคทีเรีย staph แต่พอมีเพนิซิลลิน ก็แทบไม่มีการเสียชีวิตอีกเลย

อินเตอร์เน็ตถือกำเนิดมาได้ยังไง

  • จุดแรกเริ่มสุดคือปี 1961 วิศวกรจาก MIT นามว่า Leonard Kleinrock ได้คิดถึงความเป็นไปได้ว่าถ้าข้อมูลสามารถถูกส่งต่อได้ระหว่างเครือข่ายคอมพิวเตอร์หลาย ๆ เครื่องมันจะดีแค่ไหน เพราะในตอนนั้น การส่งข้อมูลทำได้แค่แบบทางตรง เช่น จากโทรศัพท์เครื่องหนึ่งไปอีกเครื่องหนึ่งผ่านสายโทรศัพท์
  • ในปี 1966 งานของ Kleinrock ได้เตะตาทางการทหาร พวกเขาขอให้ Kleinrock ช่วยสร้างเครือข่ายคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่เพื่อเชื่อมต่อระหว่างนักวิจัย โดยใช้ชื่อว่า ARPANET
  • ในปี 1973 นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ 2 คน ได้แก่ Vint Cerf และ Robert Khan ได้พัฒนาเครือข่ายที่ล้ำยิ่งกว่า และในปี 1975 การเชื่อมต่อระหว่างมหาวิทยาลัย Stanford และ University College London ก็สำเร็จผล โดยในปี 1989 อินเตอร์เน็ตก็เริ่มแผ่กระจายไปทั่วโลก
  • ขณะเดียวกัน ทางฝั่งยุโรปก็ไม่น้อยหน้า นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์นามว่า Tim Berners-Lee ได้สร้าง WorldWideWeb ขึ้นมา เพื่อแก้ปัญหาการเปิดดู แชร์ และเชื่อมโยงไปสู่หน้าต่าง ๆ
  • ในปี 1993 เครือข่ายอินเตอร์เน็ตมีข้อมูลไหลผ่านเพียง 1% ของข้อมูลทั้งหมด ส่วนทุกวันนี้น่ะหรือ ตัวเลขแตะ 100% ไปเรียบร้อยแล้ว

เราครองอวกาศได้ยังไง

  • วิศวกรชาวอเมริกันนามว่า Robert Goddard เป็นผู้ริเริ่มคิดค้นเทคโนโลยีสำหรับจรวด เขานำการคิดค้นนี้ไปจดสิทธิบัตรในปี 1914
  • นอกจาก Goddard ก็ยังมีชาวเยอรมันนามว่า Hermann Oberth ที่ทำวิจัยเกี่ยวกับจรวดเช่นกัน งานของเขาเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดสมาคมเพื่อการเดินทางทางในอวกาศในหมู่ชาวเยอรมันที่สนใจด้านนี้
  • ในขณะเดียวกัน ฝั่งสหภาพโซเวียตก็จัดตั้งสมาคมการศึกษาการเดินทางระหว่างดาวเคราะห์ (Society for Studies of Interplanetary Travel) เพื่อคิดค้นหาวิธีสร้างจรวดให้ได้
  • การปล่อยจรวดครั้งแรกเกิดขึ้นในปี 1926 จากฝั่ง Goddard ซึ่งก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าไร เพราะจรวดร่วงตุ้บหลังปล่อยออกไปได้แค่ 2.5 วินาที ที่ระดับความสูง 12 เมตร
  • ฝั่งเยอรมนีนำหน้าในช่วงปี 1933 เมื่อต้นแบบของจรวด V-2 ได้ก่อกำเนิด และประสบความสำเร็จในการทดลองปล่อยจรวดครั้งแรกในปี 1934 นอกจากนี้ยังเป็นสิ่งประดิษฐ์ชิ้นแรกของมนุษย์ที่ออกไปแตะอวกาศ จากการทดลองปล่อยจรวดในปี 1944
  • พอเยอรมนีแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ไม่ได้สานต่อเรื่องจรวด ถึงอย่างนั้นเหล่านักวิทยาศาสตร์ที่เคยทำงานด้านนี้ก็ถูกซื้อตัวไปโดยฝั่งสหรัฐและฝั่งโซเวียต ซึ่งทำการแข่งขันกันอย่างดุเดือด
  • ในปี 1946 กล้องจากจรวด V-2 ที่ปล่อยจาก New Mexico ได้บันทึกภาพจากอวกาศเป็นครั้งแรก
  • และในปี 1957 ฝั่งโซเวียตก็ได้ปล่อยดาวเทียมแรก นามว่า Sputnik 1 ออกสู่อวกาศ และ 4 ปีต่อมาก็ได้ส่ง Yuri Gagarin ออกไปสู่อวกาศเป็นมนุษย์คนแรก
  • ต่อมาในปี 1969 ก็เป็นทีของสหรัฐฯ บ้าง เมื่อนาซ่าสามารถส่งมนุษย์คนแรกนามว่า Neil Armstrong ขึ้นไปบนดวงจันทร์ได้ 
  • เกร็ดน่ารู้ ทั้ง Goddard และ Oberth ต่างได้แรงบันดาลใจมาจากวรรณกรรมไซไฟในยุค 1860s ของ Jules Verne ซึ่งเล่าถึงการเดินทางในอวกาศ ไม่ว่าจะเป็น From Earth to the Moon หรือ Around the Moon
ดาวเทียม Sputnik 1
Source: National Geographic

สรุป

The Origin of (Almost) Everything เป็นหนังสือแนววิทยาศาสตร์ที่มีคอนเซปต์การเล่าเรื่องน่าสนใจ คิดว่าน่าจะเตะตาใครหลาย ๆ คนที่ไม่ได้อยู่ในสายวิทย์ฯ บ้างละ (เราก็คนนึง) หนังสือแบ่งออกเป็นบทสั้น ๆ โฟกัสไปที่จุดกำเนิดของทีละเรื่อง นอกจากจะเฉลยคำตอบแล้ว หลาย ๆ ครั้งยังท้าทายเราด้วยการทิ้งคำถามไว้ให้คิดเองอีก

เราอ่านเล่มนี้เป็นภาษาอังกฤษ และอยากกลับไปบอกตัวเองว่าหาภาษาไทยอ่านเถอะ 555 เนื่องจากด้วยความเป็นหนังสือเฉพาะทางอะเนอะ ศัพท์แสงเทคนิคก็จะมีมากมาย บางบทแอบรู้สึกว่าควรมีความรู้แบ็กกราวน์มาระดับนึงด้วย เลยคิดว่าถ้าไม่ได้เรียนมาด้านนี้โดยตรง อ่านภาษาไทยอาจจะให้ประสบการณ์ที่ลื่นกว่า (พอเป็นภาษาอังกฤษ เราต้องอ่านแต่ละบทเฉลี่ยอย่างน้อย 2 รอบ)

โดยรวม เป็นหนังสือที่ให้ความรู้ใหม่ ๆ เยอะมาก บางเรื่องก็ไม่เคยนึกสงสัยมาก่อน ถ้าใครชอบงานแนว ๆ Sapiens ก็อาจจะชอบ The Origin of (Almost) Everything ด้วยเหมือนกันค่ะ

Leave a comment

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

Blog at WordPress.com.

Up ↑