สรุปหนังสือ The Happiness Manual: พฤติกรรมความสุข

ความสุขคืออะไร?

คำถามสุดจะ abstract ที่หลายคนคงมีคำตอบไม่เหมือนกัน

แต่ที่แน่ ๆ คือ ทุกคนล้วนต้องการ “ความสุข”

แล้วอะไรล่ะเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความสุขได้บ้าง? ถ้าเรารู้คงจะดีไม่น้อยเพราะจะทำให้เราเข้าใจกลไกของความสุขมากขึ้น โดยหนังสือเล่มนี้จาก อ.ณัฐวุฒิ เผ่าทวี ที่เราได้อ่านเป็นเล่มที่ 4 นั้น จะมาเล่าให้ฟัง

เมื่อมนุษย์ตัดสินใจได้อย่างไม่มีเหตุผล

หนึ่งในข้อสันนิษฐานของนักเศรษฐศาสตร์ดั้งเดิมคือ “มนุษย์สามารถคาดการณ์อนาคตได้ และจะเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตัวเอง เพราะสิ่งนั้นจะถูกรองรับด้วยเหตุผลหมดแล้ว”

ซึ่งเอาเข้าจริงแล้ว มันเป็นการ simplify ชีวิตจริงมาก เพราะถ้าเป็นงั้นจริง เราคงแทบไม่มานั่งเสียดายการตัดสินใจในอดีต หรือเสียใจที่เคยเลือกเส้นทางนี้ นั่นเป็นเพราะตอนเราตัดสินใจ เราใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล

ตัวอย่างง่าย ๆ เลย สมมติว่าเรามี 2 ที่ทำงานให้เลือก ที่แรกให้เงินเดือน 100,000 บาท ที่ที่สองให้เงินเดือน 75,000 บาท ทุกอย่างเหมือนกันหมดต่างกันแค่เงินเดือน เชื่อว่าใคร ๆ ก็ต้องเลือกที่แรกทั้งนั้น เพราะเงินเดือนเยอะกว่า

แต่สมมติว่ามีอีกชุดตัวเลือกหนึ่ง ที่แรกให้เงินเดือน 100,000 บาท แต่เราได้เงินเดือนน้อยที่สุดในบริษัท ในขณะที่ที่สองนั้นเราได้เงินเดือน 75,000 บาท แต่เราได้เงินเดือนสูงสุดในบริษัท โดยในทั้งสองเคสนั้นมีแค่เรากับเจ้านายที่รู้ ถ้าเป็นแบบนี้ เรายังจะเลือกบริษัทแรกอยู่มั้ย?

น่าสนใจว่าหลายคนที่เคยเรียกบริษัทแรกในเคสแรก กลับเลือกบริษัทที่สองในเคสที่สองแทน ทำไมเป็นอย่างนั้น? ทั้ง ๆ ที่เศรษฐศาสตร์ระบุว่าความสุขของเราไม่ควรไปอิงกับเงินเดือนคนอื่น ๆ เลย ทำไมเราถึงยอมเลือกที่ที่เงินเดือนน้อยกว่า? ช่างไม่มีเหตุผลเลย

ใช่แล้ว เพราะเราตัดสินใจกันได้อย่างไม่มีเหตุผลนี่ละ กลายเป็นว่าแทนที่เราจะดูแค่ตัวเงิน เรากลับคำนึงถึงการเปรียบเทียบด้วย เมื่อเรารู้ว่าคนอื่นได้เงินเยอะกว่าเรา เราก็ย่อมรู้สึกว่าด้อยกว่า

และเพราะแบบนี้แหละ เศรษฐศาสตร์แบบเดิม ๆ จึงเริ่มถูกทฤษฎีใหม่ ๆ เข้ามาท้าทาย

Prospect Theory

นี่คือหนึ่งในทฤษฎีที่เข้ามาท้าทาย คิดค้นโดยนักเศรษฐศาสตร์ 2 ท่านคือ Amos Tversky และ Daniel Kahneman เจ้าของหนังสือ Thinking, Fast and Slow ที่เลื่องชื่อ โดยทฤษฎีนี้เข้ามาโจมตีทฤษฎีเศรษฐศาสตร์กระแสหลักอย่าง Expected Utility

Expected Utility บ่งบอกว่าพฤติกรรมการเสี่ยงของเรานั้นจะไม่มีทางเปลี่ยน ใครเสี่ยงต่ำก็จะเสี่ยงต่ำอยู่วันยังค่ำ เสี่ยงสูงก็จะเสี่ยงสูงไปตลอด และการตัดสินใจเลือกอะไรสักอย่าง จะมาจากการคิดคำนวณมูลค่าของสิ่งนั้น ๆ

สูตรคำนวณก็คือ มูลค่าที่จะได้/เสีย x โอกาสที่จะได้รับ/เสีย

เช่น ซื้อลอตเตอรี่ราคา 200 บาท ลอตเตอรี่ใบนี้มีโอกาสได้รางวัล 20,000 บาทอยู่ 0.5%

เมื่อคำนวณออกมา ก็คือ 20,000 x 0.5% = 100 บาท

ตามทฤษฎีของ Expected Utility นั้น เราจะไม่ซื้อ เพราะมูลค่าที่คาดหวังว่าจะได้ (100 บาท) ต่ำกว่าราคา 200 บาทที่ต้องจ่ายไป

ในทางตรงกันข้าม Prospect Theory บอกว่า คนเราไม่ได้ใช้ Expected Utility ในการตัดสินใจสักหน่อย!

ตัวอย่างเลย สมมติว่าต้องเลือกระหว่าง 2 อย่างนี้ 1) โอกาสได้รับเงิน 25,000 ที่ 50% และไม่ได้รับเงินเลยอีก 50% 2) รับเงินไปชัวร์ ๆ 10,000 บาท

หลายคนคงเหลือข้อ 2) เพราะได้เงินแน่นอน ไม่ต้องเสี่ยง ซึ่งถ้าว่ากันตาม Expected Utility นั้น ข้อ 1) ให้มูลค่าคาดหวังมากกว่าซะอีก (25,000 x 50% = 12,500 บาท)

อีกตัวอย่างหนึ่ง อันนี้กลับกัน สมมติว่าต้องเลือกระหว่าง 1) โอกาสเสียเงิน 25,000 ที่ 50% และไม่เสียเงินเลยอีก 50% 2) เสียเงินชัวร์ ๆ 10,000 บาท

มาทีนี้หลายคนคงเลือกข้อ 1) เพราะมีโอกาสที่จะไม่ต้องเสียเงินเลย ทั้งที่จริง ๆ ถ้าอิงตาม Expected Utility นั้น ข้อ 2) เสียเงินน้อยกว่าอีก (12,500 บาท VS 10,000 บาท)

เห็นได้ชัดว่าเราไม่ได้ตัดสินใจด้วย Expected Utility เลย แต่การตัดสินใจของเรานั้นขึ้นอยู่กับว่าเรากำลังจะได้หรือเสีย ในกรณีของการได้อะไรชัวร์ ๆ เรามักจะไม่กล้ารับความเสี่ยง (Risk-Averse) แต่กรณีการเสียอะไรชัวร์ ๆ จะทำให้เรากล้าเสี่ยงมากขึ้น (Risk-Loving) ซึ่งการสับเปลี่ยนระดับความเสี่ยงไปมาแบบนี้ มันขัดกับ Expected Utility ชัด ๆ

งานวิจัยชิ้นนี้เสมือนเป็นการเบิกเนตร ว่าอะไรที่เราคิดว่าใช่แน่ ๆ รู้อยู่แล้ว อาจจะไม่จริงเสมอไปก็ได้

เช่นเดียวกับสิ่งที่เราคิดว่าน่าจะกระทบกับความสุขเราเช่นกัน

คิดเร็ว VS คิดช้า

จะขอสรุปสั้น ๆ สำหรับประเด็นนี้ ถ้าใครอยากอ่านละเอียด ๆ ตามไปที่ Thinking, Fast and Slow

ผลงานวิจัยของ Amos Tversky และ Daniel Kahneman สรุปออกมาได้ว่า ระบบความคิดของเราแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ ระบบ 1 ซึ่งคิดเร็ว ตัดสินไว ใช้สัญชาตญาณเป็นหลัก กับระบบ 2 ซึ่งคิดช้า เน้นการไตร่ตรอง วิเคราะห์

ปกติในชีวิตประจำวันเรานั้น ส่วนใหญ่ก็ใช้ระบบ 1 แหละ เพราะมันเร็วและง่าย ส่วนระบบ 2 จะถูกเรียกใช้ก็ต่อเมื่อเราต้องคิดวิเคราะห์อะไรหนัก ๆ หรือเมื่อเห็นว่าคำตอบจากระบบ 1 นั้นมันแหม่ง ๆ พิกล

แต่โดยปกติแล้ว ระบบ 2 จะขี้เกียจมาก ถ้าสิ่งที่ระบบ 1 เอามาให้นั้นฟังดูสมเหตุสมผล ระบบ 2 ก็จะกลับไปหลับ ไม่ทำงานจับผิดใด ๆ

และในชีวิตประจำวันของเรา ก็ใช้ระบบ 1 กันเยอะมาก เพราะในวิถีชีวิตที่เร่งรีบ เรามักไม่มีเวลามานั่งคิดไตร่ตรองอะไรมากมายหรอก

ข้อดีของการคิดเร็ว

การคิดเร็วนั้นเป็นสิ่งที่ช่วยให้บรรพบุรุษเราอยู่รอด เพราะในสมัยก่อนนั้น หากเจอสัตว์ป่าท่าทางอันตราย หรืออะไรไม่ชอบมาพากล ระบบ 1 ก็จะกู่ร้องให้เราหนีก่อน ซึ่งถ้าใช้ระบบ 2 คิดวิเคราะห์นู่นนี่นั่นว่าเอ๊ะ นั่นใช่ศัตรูจริงมั้ย หรือจะเป็นอย่างอื่น ฯลฯ ก็คงหนีไม่ทัน

แม้ในปัจจุบันเราจะไม่ต้องเจออันตรายอะไรแบบนั้นแล้ว แต่ระบบ 1 ก็ได้มีวิวัฒนาการมาเรื่อย ๆ ทำให้เราสามารถเรียนรู้ได้จากประสบการณ์ที่เคยพบเจอมา สามารถตอบโต้หรือทำอะไรที่คุ้นชินได้โดยไม่ต้องคิดให้วุ่นวาย (Adaptive Unconscious) เช่น เวลาเราจะรับลูกบอล เราก็แค่พุ่งตัวไปรับ ไม่ต้องคิดคำนวณด้านฟิสิกส์ใด ๆ

นอกจากนี้ ระบบ 1 ยังเอื้อให้เราตัดสินใจได้จากการสังเกตอะไรบางอย่างแค่ไม่กี่นาที หรือเพียงแค่เห็นข้อมูลบางส่วน (Thin-Slicing) โดยอ้างอิงจากประสบการณ์ส่วนตัวของตัวเอง งานวิจัยเจอว่าหากเคยมีประสบการณ์มาแล้ว ไม่ว่าจะใช้เวลาไม่กี่วิ หรือหลายนาที ผลลัพธ์การตัดสินใจก็จะออกมาเหมือนกัน

ข้อเสียของการคิดเร็ว

ใช่ว่าการคิดเร็วจะมีแต่ข้อดี บางทีการคิดเร็วก็ทำให้เราเผลอมองข้ามสถิติความเป็นไปได้ที่แท้จริง ซึ่งมันก็ส่งผลกระทบกับความรู้สึกเราเหมือนกันนะ เพราะบางทีสถิติความเป็นไปได้จริง ๆ ในการเกิดเรื่องร้าย ๆ นั้นน้อยมาก แต่การคิดเร็วของเราทำให้เราคิดว่ามันต้องมีโอกาสเกิดขึ้นเยอะแน่ ๆ สถิติความเป็นไปได้พื้นฐานนั้นเรียกว่า Base Rate หาอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่

Representative Bias ทำให้เราคิดว่าการที่คนคนหนึ่งเป็นแบบนี้ แสดงว่าเขาต้องเป็นสิ่งนี้แน่ ๆ เช่น ลินดาเป็นผู้หญิงวัย 30 ที่สนใจปัญหาเกี่ยวกับความไม่เป็นธรรม ลินดามีโอกาสเป็นข้อไหนมากกว่ากัน ระหว่าง 1) พนักงานแบงก์ 2) พนักงานแบงก์ และสมาชิกกลุ่มเรียกร้องสิทธิสตรี

หลายคนคงเลือกข้อ 2 เพราะแหมชีออกตัวแรงซะขนาดนี้ แต่เอาเข้าจริงความเป็นไปได้ของข้อ 2) นี้น้อยกว่านะ เพราะการที่จะเป็นทั้งพนักงานแบงก์ และสมาชิกกลุ่มฯ นั้นน่าจะเป็นไปได้ยาก ถ้าเป็นแค่พนักงานแบงก์ ยังจะมีโอกาสซะกว่า ในกรณีนี้เราโดนพฤติกรรมของลินดาหลอก และสมองเราก็คิดเร็วจึงโยงกับข้อ 2) ไป

ตัดสินไว = ใช้อารมณ์เป็นหลัก

ปรากฏการณ์ “สองคนในร่างเดียว” เป็นตัวอธิบายว่าทำไมบางครั้งเรามีการทะเลาะกันในใจเกิดขึ้น ว่าจะเสพสุขตอนนี้ หรือยับยั้งชั่งใจไว้เพื่อความสุขในอนาคต

ตัวอย่างเช่น ดูซีรีส์อีกตอน = ความสุขตอนนี้ หรือ เลิกดูแล้วไปอ่านหนังสือสอบ = ความสุขในอนาคต

หรือ กินขนมหวาน = ความสุขตอนนี้ และ กินผัก = ความสุขในอนาคต

สมองของเรามีการแบ่งสัดส่วน ทั้งส่วนที่คิดเร็วและคิดช้า ตัวที่คิดเร็วนั้นมักจะโดนอารมณ์ครอบงำ ให้ตัดสินใจเลือกเสวยสุข ณ เดี๋ยวนั้น การใช้อารมณ์ตัดสินนั้นง่ายกว่ามาก ง่ายกว่าการใช้เหตุผลที่ต้องคิดเยอะและใช้แรงมากกว่า

ด้วยเหตุนี้ หลาย ๆ การตัดสินใจของเราจึงเป็นอารมณ์ซะส่วนใหญ่ และนั่นก็ทำให้อนาคตของเราไม่แฮปปี้เท่าที่ควร

อ่านเรื่องการตัดสินใจด้วยอารมณืเพิ่มเติมได้ที่ สรุปหนังสือ The Emotional Man: มนุษย์อารมณ์

Utilities = ความสุข?

จริง ๆ แล้วเศรษฐศาสตร์ไม่ใช่ทฤษฎีที่ข้องเกี่ยวกับเงินหรือเศรษฐกิจอย่างเดียวนะ

ความจริงแล้ว คำนิยามของเศรษฐศาสตร์คือ ทำยังไงให้ resources ที่มีอยู่อย่างจำกัดเนี่ย สร้างผลให้มากที่สุด หรือสร้างอรรถประโยชน์ (Utility) ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เมื่อมองกันในแง่นี้ เศรษฐศาสตร์สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับหลาย ๆ แขนงได้เลย เรื่องความสุขก็เช่นกัน

เมื่อก่อนนี้ สมัยยังเป็นเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก ช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 คุณ Jeremy Bentham นักปรัชญาและนักปฏิรูปในลอนดอน ได้สร้าง “สมการความสุข (Felicific Calculus)” ขึ้นมา ว่าความสุขของประชาชนนั้นเป็นผลคำนวณจากการบวกรวมกันของมิติต่าง ๆ ของความสุข เช่น รู้สึกสุขมากน้อยแค่ไหน รู้สึกสุขนานแค่ไหน รู้สึกสุขกี่คน ฯลฯ ในภาพรวมแล้ว อรรถประโยชน์หรือ Utility ก็คือความสุขนั่นเอง

ทว่านักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ ๆ ก็ออกมาท้าทายแนวคิดนี้ เช่น John Harsanyi นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบลปี 1994 บอกว่าเราไม่ควรนำค่าความสุขไปอธิบายคำว่า Utility เพราะความสุขของคนเรานั้นเชื่อถือไม่ได้ สุขมากของอีกคน อาจจะไม่เท่ากับสุขมากของอีกคนก็ได้ มันเป็นนามธรรมมาก ๆ นี่คือปัญหาการเปรียบเทียบกันระหว่างบุคคล (Interpersonal Comparability Problem)

Paul Samuelson นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน นำแนวคิดนี้ไปต่อยอด สร้างออกมาเป็นทฤษฎีความชอบของคน (Revealed Preference) ไอเดียก็คือ การคำนวณ Utility จากตัวเลือกที่แต่ละคนเลือก โดยสมมติฐานนั้นตั้งอยู่บนความคิดที่ว่า เราทุกคนใช้เหตุผลในการตัดสินใจ ดังนั้นสิ่งที่เราเลือก ต้องเป็นสิ่งที่สร้าง Utility ให้เรามากที่สุด

แต่ทฤษฎีนี้ก็ยังไม่ใช่ที่สุด เพราะยังถูกท้าทายโดย Amos Tversky และ Daniel Kahneman ที่บอกว่า คนเราไม่ได้ตัดสินใจด้วยเหตุผลสักหน่อย ส่วนใหญ่แล้วโดนอารมณ์ครอบงำทั้งนั้นแหละ อย่างที่เราได้บอกไว้ข้างต้น

“ความสุข” วัดกันได้ยังไงบ้าง?

ในบทนี้จะเล่าถึงงานวิจัยต่าง ๆ ที่เคยทำการวัดความสุขกันมา ซึ่งพอพูดถึงความสุขนั้น หลายคนคิดว่ามันฟังดูนามธรรมมาก ๆ ดูไม่น่าจะวัดได้

เวลาที่คนเราบอกว่ามีความสุข ก็มักจะมีความสุขจริง ๆ ซึ่งงานวิจัยระบุไว้ว่า ผู้ที่บอกว่าตนมีความสุขนั้น จะ 1) มีความดันโลหิตอยู่ที่ระดับกลาง ๆ 2) จำความทรงจำในอดีตได้มากกว่า 3) คนอื่นจะเห็นว่าพวกเค้ามีความสุขจริง ๆ ไม่ได้แกล้งทำ 4) ความสุขมีปฏิกิริยาโดยตรงกับสมอง และ 5) จะสามารถยิ้มอย่างจริงใจได้นาน (Duchenne Smile) ซึ่งเป็นยิ้มที่ทั้งกล้ามเนื้อแก้มใกล้ปากกับกล้ามเนื้อแก้มใต้ตาทำงานพร้อมกัน (ประมาณว่าปากก็ยิ้มตาก็ยิ้ม ไม่ใช่ปากยิ้มแต่ตาแข็ง)

ความสุขทำให้คนอายุยืนยาวขึ้น มีงานวิจัยหนึ่งของ Richard Davidson, David Snowdon และ Wallace Friesen ทำการวิเคราะห์ไดอารี่ของผู้หญิงที่กำลังจะเป็นแม่ชีจำนวน 180 คน โดยดูว่ามีสักกี่คำที่แสดงให้เห็นถึงความสุข (เช่น “สุขใจ” “ยินดี”) แล้วแบ่งแม่ชีเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มแฮปปี้ กับกลุ่มที่ไม่ค่อยจะแฮปปี้ พอทั้ง 180 คนบวชเป็นแม่ชีแล้ว ทุกคนก็ใช้ชีวิตเหมือนกันหมด แต่สิ่งที่ต่างกันคือการมีอายุยืน งานวิจัยค้นพบว่า % การมีอายุยืนกว่า 85 ปีในกลุ่มแม่ชีแฮปปี้นั้นสูงกว่ามาก

คำว่า “ความสุข (Happiness)” ฟังดูกำกวมในมุมมองของ Ed Diener ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา เขาจึงหาวิธีวัดใหม่เป็นการวัด Life Satisfaction หรือความพึงพอใจในชีวิตตั้งแต่เกิด (ความสุขระยะยาว) ซึ่งการจะประเมินสิ่งนี้นั้นจะต้องคิดอย่างเป็นระบบมากกว่าการประเมินความสุขโดยทั่วไปที่ใช้อารมณ์เป็นหลัก โดยการประเมิน Life Satisfaction นั้นจะมีปัจจัยที่ต้องประเมินก็อย่างเช่น สภาพแวดล้อมในชีวิต ความพึงพอใจในชีวิต ความมีพร้อมตามที่ต้องการ ฯลฯ หรืออีกงานวิจัยนึงก็นำคุณภาพชีวิตของแต่ละรัฐในสหรัฐฯ มาตีกราฟคู่ไปกับอัตราการพึงพอใจของชีวิต

Daniel Kahneman เคยทำงานวิจัยเกี่ยวกับความสุขระยะสั้นในชีวิตประจำวัน โดยหาความสุขสุทธิ (ความรู้สึกดี – ความรู้สึกไม่ดี) เพื่อหาว่ากิจกรรมไหนในแต่ละวันสร้างความสุขได้มากที่สุด

นอกจากความสุขระยะสั้นที่เป็นอารมณ์ กับความสุขระยะยาวที่เป็นการรับรู้ชีวิตภาพรวม ยังมีความสุขอีกแบบที่นิยามโดยเพลโต นักปรัชญากรีกโบราณ ซึ่งกล่าวไว้ว่า ชีวิตที่มีความสุขคือชีวิตที่มีคุณธรรม มีความหมาย สำหรับแนวคิดนี้นั้นยังค่อนข้างยากที่จะประเมิน เพราะคำว่า “มีความหมาย” นั้นวัดยาก

The Big Five กับความสุข

มีงานวิจัยค้นพบว่า ความสุขนั้นมาจากพันธุกรรมถึง 50%

ในขณะเดียวกัน ก็มีการค้นพบว่า ลักษณะบุคลิกนิสัยของแต่ละคนตามฉบับ The Big Five นั้นก็ส่งผลความพึงพอใจในชีวิตอย่างมีนัย ซึ่งประมาณ 40-60% ของ The Big Five ก็มาจากพันธุกรรม

นั่นหมายความว่า ถ้าใครดวงดี ก็จะได้รับพันธุกรรมความสุขนี้ไปเยอะ เปรียบได้เหมือนล็อตเตอรี่ความสุข แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ต้องหมดหวังไปสำหรับใครที่ไม่ถูกล็อตเตอรี่ เพราะยังมีอีกครึ่งหนึ่งของ The Big Five ที่มาจากสภาพแวดล้อมภายนอก สังคม และการเลี้ยงดู

เล่าคร่าว ๆ The Big Five คือลักษณะนิสัย 5 ประเภทใหญ่ ๆ ประกอบไปด้วย

Extraversion: แบ่งแยกระหว่างคน Introvert กับ Extrovert

Agreeableness: ความตกลงกันได้ ยิ่งใครได้คะแนนสูง ๆ มักจะคบหาสมาคมกับคนอื่นได้ง่าย

Conscientiousness: ความพิถีพิถัน ยิ่งสูงก็ยิ่งเป็นคนละเอียด

Neuroticism: ความไม่เสถียรทางอารมณ์ ยิ่งสูงก็อาจจะยิ่งเจอสภาวะไม่ดีต่าง ๆ เช่นเครียด โกรธ

Openness to Experience: ความเปิดรับประสบการณ์ ยิ่งสูงก็ยิ่งอยากลองนู่นลองนี่

โดยลักษณะนิสัยของคนที่มีความพึงพอใจชีวิตสูงเป็นพิเศษ คือ คนที่ชอบเข้าสังคม (Extraversion สูง) เป็นคนรอบคอบ (Conscientiousness สูง) เป็นคนเห็นด้วยกับคนอื่นง่าย (Agreeableness สูง) และคนที่เครียดยาก (Neuroticism ต่ำ) ส่วน Openness to Experience ไม่ได้ส่งผลมากนัก

เงินซื้อความสุขได้มั้ย?

งานวิจัยแรกที่นำเสนอคืองานของริชาร์ด อีสเตอร์ลิน ที่ทำการเปรียบเทียบคนรวยกับคนจนในช่วงเวลาเดียวกัน เขาพบว่าโดยเฉลี่ยแล้วคนรวยมีความสุขมากกว่าอย่างชัดเจน โอเคอันนี้ไม่แปลกใจเท่าไร

แต่ที่น่าสนใจคือ แม้รายได้เฉลี่ยต่อคนของชาวอเมริกันเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ค่าเฉลี่ยความสุขกลับไม่เพิ่มขึ้น

จึงสรุปได้ว่า “คนรวยมีความสุขมากกว่า แต่ถ้าทุกคนรวยขึ้น ค่าเฉลี่ยความสุขไม่ได้เพิ่มขึ้นด้วย” ซึ่งเป็นที่มาของแนวคิด Easterlin Paradox

นั่นเป็นเพราะคนเราให้น้ำหนักกับรายได้เชิงเปรียบเทียบ (Relative Income) มากกว่าจำนวนรายได้จริง ๆ (Absolute Income) ประมาณว่า แม้เราจะมีเงินเยอะ แต่ถ้าเพื่อน ๆ มีเงินเยอะกว่าเรา เราก็จะเซ็ง แต่สมมติเราเงินน้อยลงมาหน่อย และได้รู้ว่าเพื่อน ๆ เราเงินน้อยกว่า เราก็จะแฮปปี้กว่า

ด้วยเหตุนี้ การที่ทุกคนพยายามหาความสุขด้วยการหาเงินนั้นจึงเป็น Zero-Sum Game เพราะมันต้องมีทั้งคนรวยคนจน คนรวยย่อมมีความสุขกว่า คนจนย่อมทุกข์กว่า พอนำความสุขคนรวยมาลบกับความทุกข์ของคนจนนั้น ความสุขสุทธิก็แทบจะเป็น 0

งานวิจัยชิ้นที่ 2 ที่จะนำเสนอคือ งานของแองกัส ดีตัน และดาเนียล คาห์เนมัน ที่เปรียบเทียบรายได้กับอารมณ์ในแต่ละวัน พวกเขาเจอว่าในกรณีของคนอเมริกันที่มีรายได้เกิน 75,000 ดอลล่าร์สหรัฐต่อปีขึ้นไปนั้น การมีรายได้เพิ่มไม่ได้ช่วยให้อารมณ์ดีขึ้นในแต่ละวันเลย

อีกงานวิจัยของคาห์เนมันและเพื่อนร่วมงาน เจอว่าส่วนใหญ่แล้วคนรวยมักจะใช้เวลาไปกับการทำงาน การเดินทาง หรือว่าง่าย ๆ ว่ากิจกรรมที่ไม่ได้ช่วยให้อารมณ์ดี ในขณะที่คนที่มีรายได้น้อยลงมาหน่อยนั้นมีเวลาในการทำกิจกรรมที่เสริมอารมณ์ดีมากกว่า เช่น ดูทีวี อ่านหนังสือ นอนเล่น

แล้วทำไมคนยังเชื่อว่าการมีเงินมากขึ้นจะช่วยให้มีความสุขมากขึ้น ? นั่นเพราะเรามีจุดโฟกัสลวงตา หรือ Focusing Illution ที่ไปโฟกัสถึงผลพลอยได้ของเงิน แต่ไม่ได้คำนึงว่าการจะได้เงินมานั้นต้องผ่านอะไรมาบ้าง

แต่ก็ไม่ใช่ว่าเงินจะไร้ประโยชน์ในแง่ของความสุขซะทีเดียว เพราะงานวิจัยจาก Elizabeth Dunn, Lara Aknin และ Michael Norton ค้นพบว่าเมื่อคนใช้เงินโบนัสหรือเงินถูกรางวัลล็อตเตอรี่ไปกับการทำบุญหรือซื้อของขวัญให้ผู้อื่น ก็จะมีความสุขกว่าซื้อของให้ตัวเอง อีกวิธีคือใช้เงินซื้อประสบการณ์ เช่น ไปเที่ยว ไปดูหนัง ไปกินข้าวกับครอบครัวและเพื่อน ซึ่งจะให้ความสุขระยะยาวมากกว่าการซื้อสิ่งของ เพราะประสบการณ์ที่ดีจะตรึงอยู่ในใจเรา เมื่อหวนย้อนนึกถึงเราก็จะมีความสุข

ใครสนใจเรื่องการใช้เงินให้มีความสุข อ่านได้เพิ่มเติมที เงินเท่าเดิม จะใช้อย่างไรให้มีความสุขมากขึ้น? I สรุปเคล็ดลับจากหนังสือ Happy Money

สิ่งที่ส่งผลต่อระดับความสุข

นอกจากเงินที่ไม่ค่อยจะส่งผลต่อระดับความสุขแล้ว ปัจจัยอื่น ๆ ที่สามารถส่งผลต่อระดับความสุขได้ โดยอ้างอิงจากงานวิจัยหลาย ๆ ชิ้น ก็คือ

เพศ

  • ผู้หญิงมีค่าเฉลี่ยความพึงพอใจในชีวิตมากกว่าผู้ชาย แต่ก็มีค่าเฉลี่ยความเครียดและความกังวลสูงกว่า
  • ที่พอใจก็เพราะสิทธิเสรีภาพของผู้หญิงสมัยนี้ดีกว่าในอดีตเยอะ แต่ที่ยังมีความเครียดก็เพราะยังเจอกับความคาดหวังว่าจะต้องทำงานไปด้วย และเป็นแม่ไปด้วย

อายุ

  • ความสัมพันธ์ระหว่างความสุขกับอายุ แสดงได้เป็นกราฟ U
  • หมายความว่า เราจะสุขสุด ๆ ช่วงวัยรุ่น ก่อนความสุขจะลดต่ำสุดในช่วงกลางคน และไปสูงสุดอีกครั้งช่วงแก่
  • ที่ช่วงแก่มีความสุขก็เพราะผ่านอะไรมาเยอะแล้ว ไม่ค่อยคาดหวังอะไรเท่าไร อีกทั้งเพื่อน ๆ ร่วมรุ่นก็ทยอยจากกันไป ถ้ายังมีชีวิตอยู่ก็จะรู้สึกว่าตัวเองโชคดี

การมีงานทำ

  • คนที่มีงานทำ มีความพึงพอใจในชีวิตมากกว่าคนที่ไม่มีงานทำ แม้ว่าทั้งคู่จะมีทุกอย่างเหมือน ๆ กัน เช่น รายได้ คุณภาพชีวิต
  • นั่นเพราะคนที่ไม่มีงานทำ จะรู้สึกแย่กับตัวเอง เชื่อมั่นในตัวเองลดลง (Self-Esteem ตก) อีกทั้งยังกังวลถึงรายได้ในอนาคตด้วย
  • แต่ถ้าคนอื่น ๆ ก็ตกงานเหมือนกัน ความไม่พอใจก็จะลดน้อยลง เห็นได้ชัดว่าความสุขเรานั้นก็ขึ้นกับการเปรียบเทียบอยู่ดี
  • คนที่มีกิจการเป็นของตัวเอง พึงพอในใจชีวิตมากกว่ามนุษย์เงินเดือน เพราะมีอิสระ เป็นเจ้านายตัวเอง แม้ว่ารายได้จะมีความมั่นคงน้อยกว่า
  • คนที่ทำงานพาร์ตไทม์ มีความพอใจพอ ๆ กับคนที่ทำงานเต็มเวลา นั่นเพราะคนทำงานพาร์ตไทม์ก็ยังต้องมีภาระอื่น ๆ อยู่ เช่น ทำงานบ้าน

ความสัมพันธ์ทางครอบครัวและสังคม

  • คนที่แต่งงานมักจะมีค่าเฉลี่ยความพึงพอใจสูงกว่าคนสถานะอื่น ๆ
  • คนที่ได้เจอเพื่อนสนิทบ่อย ๆ มักจะมีค่าเฉลี่ยความพึงพอใจสูงกว่าคนที่นาน ๆ เจอเพื่อนสนิท
  • พ่อแม่ที่มีลูกนั้น ความพอใจจะพีคสุดคือก่อนมีลูกแป๊บนึง และช่วงเพิ่งมีลูก แต่พอลูกสัก 2-3 ขวบความพอใจก็จะเริ่มดิ่ง ก่อนจะกลับมาตอนอายุ 5 ขวบ และตอนที่ลูกโตพอจะเลี้ยงพ่อแม่ได้

การศึกษา

  • การศึกษานั้นไม่ได้ส่งผลต่อความพึงพอใจเท่าไร หากคนสองคนที่มีระดับการศึกษาต่างกันนั้น มีอย่างอื่นเหมือน ๆ กัน เช่น ชีวิตความเป็นอยู่ รายได้ สังคม
  • นั่นเพราะส่วนใหญ่แล้วเราพยายามเรียนสูง ๆ ก็เพื่อเปิดโอกาสให้ชีวิตได้รับสิ่งดี ๆ แต่ถ้าเรามีสิ่งดี ๆ เหล่านั้นอยู่แล้ว การศึกษาก็ไม่มีผล
  • ถ้าเราเรียนสูงแล้วคนอื่นเรียนต่ำกว่า เราจะแฮปปี้กว่า แต่ถ้าทุกคนเรียนจบมาระดับเท่า ๆ กัน การศึกษาก็จะไม่ได้ส่งผลต่อความพึงพอใจ

การปรับตัวของความสุข

บางเหตุการณ์นั้น เราสามารถทำใจให้ชินไปกับมัน ทำให้ความสุขของเรากลับมาเป็นดังเดิมได้ แต่บางเหตุการณ์นั้นเจอเท่าไรก็ยังไม่ชินสักที และยิ่งบั่นทอนความสุขของเราไปเรื่อย ๆ

งานวิจัยต่าง ๆ ได้ทดลองติดตามความพึงพอใจของคนในหลาย ๆ สถานการณ์ พบสิ่งที่น่าสนใจดังนี้

  • ผู้ที่เพิ่งสูญเสียคนรักไป ใช้เวลาเพียง 1-2 ปีเท่านั้นกว่าความสุขจะกลับมายังจุดเดิม
  • ผู้ที่ตกงาน ใช้เวลาอย่างน้อย 4 ปีกว่าความสุขจะกลับมายังจุดเดิม โชคร้ายคือไม่มีทางกลับมาจุดเดิมได้เลย
  • ผู้ที่แต่งงาน มีความสุขสุดในปีที่แต่งงาน จากนั้นความสุขก็จะทยอยลดลงเรื่อย ๆ

ทำไมการสูญเสียคนรัก ที่ฟังดูเป็นเรื่องยิ่งใหญ่สาหัสมาก ถึงใช้เวลาไม่นานในการฟื้นฟูสภาพจิตใจ? ในขณะที่การตกงานหรือแต่งงานนั้นส่งผลกระทบต่อจิตใจยาวนาน ทั้ง ๆ ที่มันดูกระจิ๊ดริดกว่าการเสียคนที่รักมาก?

นักจิตวิทยาได้คิดทฤษฎีขึ้นมาอธิบาย ทฤษฎีแรกคือ Set Point อธิบายว่าคนเรามี Personality Traits ที่ติดตัวมาแต่กำเนิด (จำ The Big Five ข้างบนได้มั้ย) ซึ่งสิ่งเหล่านี้แหละจะกำหนดเลเวลความสุขพื้นฐานของเรา ดังนั้นไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ด้วยความที่เราเป็นคนแบบนี้ ความสุขมันก็จะกลับมายังจุดพื้นฐานที่มันควรจะเป็นของแต่ละคน

ถึงอย่างนั้น ทฤษฎีนี้ก็ไม่ได้อธิบายถึงความเร็ว-ช้าในการกลับตัวของความสุข จึงมีอีกทฤษฎีนึงจาก Dan Gilbert และ Tim Wilson คือ AREA ซึ่งย่อมาจาก

  • Attend: การให้ความสนใจกับเหตุการณ์ เราจะตั้งคำถามว่า เหตุการณ์นี้สำคัญกับเราแค่ไหน? เราสามารถอธิบายเหตุการณ์นี้ได้มากน้อยแค่ไหน? หากสถานการณ์สำคัญกับเรา แต่เราไม่สามารถอธิบายที่มาของมันได้ง่าย ๆ เราจะสนใจมันเป็นพิเศษ สนใจมากกว่าเหตุการณ์ที่ไม่ได้สำคัญกับเรา หรือ เหตุการณ์ที่เราเข้าใจที่มาของมันได้ง่าย ๆ ตัวอย่างเช่น คำชมจากใครไม่รู้มักจะดึงดูดเราได้มากกว่าคำชมจากคนในครอบครัวหรือเพื่อนที่รักเราอยู่แล้ว
  • React: ปฏิกิริยาที่มีต่อเหตุการณ์ ยิ่งเราไม่สามารถอธิบายเหตุการณ์นั้น ๆ ที่มีความสำคัญกับเราได้มากเท่าไร ก็จะยิ่งส่งผลต่อระดับความสุขมากเท่านั้น
  • Explain: คำอธิบายต่อเหตุการณ์ ยิ่งเป็นเหตุการณ์ใหม่ ๆ หรืออะไรที่ไม่เคยเจอมาก่อน การหาเหตุผลก็จะยากกว่าเหตุการณ์ที่พบเจอได้ทั่วไป
  • Adapt: การปรับตัวหลังเหตุการณ์เกิดขึ้น จุดนี้คือจุดที่ความสุขย้อนกลับมาสู่ระดับเดิม ไม่ว่าก่อนหน้านี้จะสูงกว่าหรือต่ำกว่าก็ตาม

สรุปก็คือ เหตุการณ์อะไรที่เราสามารถหาเหตุผลมาอธิบายมันได้ ความสุขของเราก็มีแนวโน้มจะกลับมาจุดเดิมได้เร็วขึ้น ส่วนเหตุการณ์อะไรที่เรายังหาเหตุผลมาอธิบายมันไม่ได้สักที ความสุขก็มีแนวโน้มจะกลับมาที่เดิมช้าลง

อีกทฤษฎีนึงจาก Daniel Kahneman บอกว่า สิ่งที่ส่งผลกับระดับความสุขของเรามากที่สุด คือสิ่งที่เราใช้เวลาคิดไปกับมันมากที่สุด

ทฤษฎีอธิบายได้ว่าทำไมคนเราถึงฟื้นตัวจากการสูญเสียคนรักได้ค่อนข้างเร็ว นั่นเพราะเรามักจะได้รับการ support จากคนอื่น ๆ รอบตัวที่พร้อมจะช่วยเหลือเรา ทำให้เราก้าวผ่านความเจ็บปวดนี้ไปได้เร็วขึ้น เมื่อบวกกับทฤษฎี AREA แล้วนั้น หากเราสามารถเข้าใจเหตุผลของความตายได้ว่า มันเป็นเรื่องธรรมชาติ หรือ เขาป่วยมานานแล้ว เขาไปดีแล้ว เราก็จะยิ่งมูฟออนได้ไวขึ้น

แต่ในฝั่งของคนตกงาน พวกเขาจะตั้งคำถามอยู่เรื่อย ๆ ว่าเมื่อไรจะได้งาน เรายังไม่ดีพอตรงไหน ถ้ายังไม่ได้งานแล้วจะเอาอะไรกิน วน ๆ ซ้ำไปอย่างนี้ ระดับความสุขของคนกลุ่มนี้จึงกลับมาได้ยาก

สรุปก็คือ ยิ่งเราไปคิดถึงมันมากเท่าไร มันก็จะยิ่งส่งผลกับระดับความสุขเรามากเท่านั้น

ความสุขในที่ทำงาน

งานวิจัยบ่งบอกว่า ความพึงพอใจในที่ทำงานนั้นสำคัญยิ่งกว่าเงินเดือนที่เราได้รับอีก และจะเป็นตัวกำหนดว่าเราจะอยู่หรือจะลาออก

และคนที่แฮปปี้กับที่ทำงาน ก็จะผลิตผลงานได้มากขึ้นด้วย เพราะเมื่อคนเรามีความสุข ก็จะพยายามมากยิ่งขึ้น ทำให้โอกาสสร้างผลงานดี ๆ ก็มีมากขึ้นตามไปด้วย

งานวิจัยหลาย ๆ ชิ้นบ่งบอกว่า ผู้หญิงมักจะมีความพึงพอใจในที่ทำงานสูงกว่าผู้ชาย แม้ว่าจะได้เงินน้อยกว่าก็ตาม นั่นเพราะส่วนใหญ่ผู้หญิงมีความคาดหวังต่อที่ทำงานน้อยกว่า

แล้วอะไรส่งผลต่อความพึงพอใจในที่ทำงานบ้าง? งานวิจัยหลาย ๆ ชิ้นบ่งชี้ว่ามันคือ “ความหมายของการทำงาน” นั่นก็คือเมื่อเรามีโอกาสได้ลงมือทำผลงานที่เราภาคภูมิใจจริง ๆ รวมถึงการได้รับการชื่นชม การยอมรับ และเครดิตจากงานของตัวเอง

งานวิจัยนึงให้นักศึกษาประกอบชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์ IKEA ซึ่งเมื่อประกอบเสร็จแล้วก็จะถูกนำมาวางเคียงคู่กับเฟอร์นิเจอร์ซึ่งประกอบด้วยพนักงาน IKEA ทีนี้นักศึกษาได้รับคำถามว่าจะยอมจ่ายเงินให้เฟอร์นิเจอร์แต่ละชิ้นเท่าไร ปรากฏว่านักศึกษายอมจ่ายเงินซื้อเฟอร์นิเจอร์ที่ประกอบด้วยตัวเองแพงกว่าที่ประกอบด้วยทีมงาน ทั้งที่งานของตัวเองเนี้ยบและสวยน้อยกว่า

ส่วนอีกงานวิจัยนึง แบ่งนักศึกษาออกเป็นสองกลุ่ม ทั้งสองกลุ่มต้องต่อเลโก้แลกกับเงิน และเลโก้ตัวต่อ ๆ ไปที่ต่อก็จะได้รับเงินเป็นจำนวนน้อยลง ๆ สิ่งที่แตกต่างกันมีเพียงกลุ่มที่ 2 นั้นจะเห็นว่าเลโก้ที่ตัวเองต่อเสร็จแล้วถูกแยกชิ้นส่วน เพื่อให้พวกเขานำชิ้นส่วนที่ถูกแยกไปต่อเป็นตัวต่อไป ส่วนกลุ่มแรกนั้นเมื่อต่อเสร็จแล้ว เลโก้จะถูกตั้งวางโชว์เอาไว้ ยิ่งต่อก็ยิ่งจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ งานวิจัยค้นพบว่า กลุ่มที่มีเลโก้ตั้งโชว์ไว้ ไม่โดนทำลายไปต่อหน้าต่อตา อีกทั้งเห็นผลงานตัวเองเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ จะต่อเลโก้ได้มากกว่า จึงทำให้ได้เงินมากกว่า

ดังนั้นใครที่กำลังหางานใหม่ นอกจากเรื่องเงินแล้ว ก็ยังต้องดูด้วยว่าที่ทำงานให้คุณค่าและความสำคัญกับงานที่เราทำด้วยนะ

นโยบายความสุขจากเด็ก-ผู้ใหญ่

การที่รัฐจะสามารถออกแบบนโยบายเพื่อเพิ่มความสุขให้ประชากรได้นั้น ควรเริ่มจากการทำวิจัยสำรวจ เก็บข้อมูลก่อนว่าอะไรคือปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดความสุข จากนั้นค่อยนำข้อมูลนั้นมาไกด์เป็นแนวทางออกแบบนโยบาย

จากงานวิจัยในหนังสือนั้นได้ค้นพบว่า ตัวแปรที่สำคัญที่สุดต่อความพึงพอใจในชีวิตเมื่อเราเป็นผู้ใหญ่นั้น อันดับหนึ่งเลยคือสุขภาพจิต รองลงมาคือการมีคู่ครอง/ครอบครัว สุขภาพกาย รายได้ การมีงาน การศึกษา ฯลฯ

กลายเป็นว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสุขนั้น หลัก ๆ แล้วเป็นปัจจัยที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ (สุขภาพจิต, การมีคู่ครอง) จึงเป็นเรื่องดีหากจะมีนโยบายที่เกี่ยวกับการบำบัดสุขภาพจิต ซึ่งเผลอ ๆ อาจจะใช้งบน้อยกว่าการโปรยเงินอีก

แต่อันที่จริงแล้ว วิธีที่ดีกว่าการรักษาก็คือการป้องกัน โดยเฉพาะการป้องกันตั้งแต่ยังเป็นเด็กอยู่ งานวิจัยเจอว่าปัจจัยในวัยเด็กที่มีผลต่อความพึงพอใจในชีวิตตอนเป็นผู้ใหญ่นั้น อันดับหนึ่งก็คือสุขภาพจิตในวัยเด็ก ไม่ใช่ผลการเรียนหรือการมีความประพฤติที่ดี

โดยปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตในวัยเด็กมากที่สุด คือสุขภาพจิตของแม่ ซึ่งเมื่อรู้แบบนี้แล้ว นโยบายก็คือจะดูแลโฟกัสไปที่คนเป็นแม่โดยเฉพาะ ให้คนเป็นแม่มีความสุข ลูกจะได้มีความสุขด้วย

สรุป

เป็นหนังสืออีกหนึ่งเล่มที่สามารถนำงานวิจัยทางเศรษฐศาสตร์มาอธิบายปัจจัยของความสุขได้ดี ทำให้เราเห็นภาพชัดยิ่งขึ้นว่าของนอกกายอย่างเงินทอง ชื่อเสียง สมบัติ ไม่ได้เป็นปัจจัยหลักที่สร้างความพึงพอใจให้ชีวิต เพราะคนรวยหลายคนก็ยังต้องเผชิญกับบสุขภาพจิตที่ย่ำแย่ หรือภาวะเครียดที่ไม่มีเวลาไปพักผ่อนหย่อนใจ ในขณะที่คนทั่วไปซึ่งไม่ได้ร่ำรวยล้นฟ้า สามารถมีความสุขได้มากกว่า เพียงแค่มีเวลาสังสรรค์กับเพื่อนและครอบครัว มีเวลาพักผ่อน มีงานที่น่าภูมิใจ

หนังสือเล่มนี้เล่าเรื่องแบบสบาย ๆ ตามสไตล์หนังสือเล่มอื่น ๆ ของ อ. ณัฐวุฒิ ที่เน้นย่อยงานวิจัยออกมาแบบอ่านง่าย ๆ ซึ่งก็มีผลการวิจัยหลายอันน่าสนใจทั้งนั้น ถ้าใครสนใจก็ลองหามาอ่านกันได้นะ

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

Blog at WordPress.com.

Up ↑

%d bloggers like this: