รีวิว Lost in Translation (2003): ไปญี่ปุ่นยังไงให้เหงา

“Let’s never come here again because it would never be as much fun.” – Charlotte

ปกติแล้วเวลาพูดถึงญี่ปุ่น โดยเฉพาะโตเกียว หลายคนก็คงจะนึกภาพมหานครอันเต็มไปด้วยผู้คน สีสัน กิจกรรม ของกินอร่อยๆ

คงไม่ค่อยมีใครรู้สึกว่าโตเกียวไม่น่าไป หรือรู้สึกว่าไปโตเกียวแล้วเหงา ก็ในเมื่อมันมีอะไรให้ทำให้เที่ยวให้กินเยอะมากมายขนาดนี้ จะไปเบื่อได้ยังไง

แต่มันน่าพิศวงตรงที่ Lost in Translation สามารถบันดาลให้โตเกียวกลายเป็นเมืองคนเหงาไปซะได้

Lost in Translation เล่าถึงเรื่องราวของชายหญิงต่างวัยที่ไปเยือนโตเกียวในช่วงเวลาเดียวกัน ฝ่ายชายคือบ๊อบ แฮร์ริส (Bill Murrey) นักแสดงหนังที่บินมาโตเกียวเพื่อถ่ายโฆษณาวิสกี้ยี่ห้อ suntory ตัวเขาเองนั้นมีครอบครัวแล้ว แต่งงานมาแล้ว 25 ปี และตอนนี้ก็กำลังรู้สึกสับสนในชีวิต หรือที่เรียกว่าภาวะ Midlife Crisis

11

ฝ่ายหญิงคือชาร์ล็อต (Scarlett Johansson) หญิงสาวที่เพิ่งเรียนจบปรัชญามาใหม่ๆ ยังไม่รู้ว่าชีวิตจะทำอะไรดี เมื่อจอห์น (Giovanni Ribisi) สามีของเธอต้องเดินทางมาญี่ปุ่นเพื่อถ่ายภาพนักร้อง เธอจึงติดสอยห้อยตามมาด้วย ก็ไม่รู้ว่าคิดถูกเปล่าเพราะวันๆ จอห์นก็ต้องออกไปทำงาน ไม่ได้มีเวลาให้กับเธอเลย

13

คนต่างชาติสองคนต้องพบเจอวัฒนธรรมแปลกประหลาดในเมืองที่พวกเขาไม่คุ้นเคย ต้องเผชิญกับการสื่อสารที่ไม่สามารถโต้ตอบกันได้อย่างลื่นไหล และเมื่อคนเหงาสองคนบังเอิญมาเจอกันในบาร์โรงแรม (ความจริงคือเจอกันก่อนในลิฟต์แล้ว แต่ชาร์ล็อตไม่รู้ตัว) พวกเขาก็เริ่มทำความรู้จักกัน ด้วยความที่ถูกทิ้งให้โดดเดี่ยวท่ามกลางมหานครอันวุ่นวาย ที่ซึ่งพวกเขาไม่รู้ภาษาเหมือนกัน พวกเขาก็ยิ่งจูนติดกันง่ายยิ่งขึ้น ทำให้ความเหงาที่เคยมีอยู่เริ่มคลายลงไป กลายเป็นความผูกพันเล็กๆ ที่ก่อกำเนิดขึ้นในชั่วระยะเวลาสั้นๆ ที่ถึงแม้จะรู้ว่าหากถลำลึกลงไป เมื่อตื่นจากความฝัน จะต้องเจ็บปวด แต่พวกเขาก็ขอลิ้มรสการเป็นอิสระ อย่างน้อยก็ชั่วขณะหนึ่งก่อนกลับไปเผชิญความจริง

09

หนังเรื่องนี้กำกับโดย Sofia Coppola ลูกสาวของผู้กำกับ The Godfather อ่านเจอมาว่าหนังเรื่องนี้โซเฟียสร้างเพื่อสะท้อนความรู้สึกน้อยอกน้อยใจสามีของเธอเอง ซึ่งส่งผลให้พวกเขาหย่าร้างกัน แล้วต่อมาสามีของเธอ Spike Jonze ก็สร้างหนังเรื่อง Her มาเพื่อขอโทษเธอ โอ้โห จะอินดี้กันไปไหน สนทนากันด้วยการสร้างหนัง ไม่ใช่ทุกคนที่ทำได้นะ

กลับมาที่ตัวหนัง เรื่องนี้เป็นหนังที่สะท้อนให้เห็นความเหงาได้ชัดเจนมาก อารมณ์เดียวกับหนังของหว่อง กาไว โดยเฉพาะช่วงแรกๆ ของหนังที่ตัวละครต่างฝ่ายต่างอยู่คนเดียว ยังไม่ได้มาเจอกัน เรายิ่งรู้สึกได้ถึงความเปล่าเปลี่ยวและความย้อนแย้งของภาวะจิตใจที่ขัดกับโลกภายนอกอย่างสิ้นเชิง เพราะทั้งๆ ที่มหานครโตเกียวนั้นช่างดูมีสีสันและวุ่นวาย แต่ทั้งบ๊อบและชาร์ล็อตต่างก็รู้สึกว้าเหว่เหมือนอยู่คนเดียว

“I just feel so alone, even when I’m surrounded by other people.” – Charlotte

05

มีเหตุผลหลายประการที่ทำให้เกิดความต่อไม่ติดเช่นนี้ อย่างแรกคือภาษาและวัฒนธรรมที่พวกเขาเข้าไม่ถึง โดยเฉพาะภาษานี่แหละที่หนังเน้นย้ำให้เห็นชัดเจน ซึ่งก็เป็นจุดที่หนังนำมาใช้ปล่อยมุกแบบหน้านิ่งด้วย ตัวอย่างก็เช่นทีมงานที่บอกให้บ๊อบแอ็กท่านู่นนี่นั่นเป็นภาษาญี่ปุ่น ล่ามก็ต้องมาแปลให้บ๊อบรู้อีกทีว่าทีมงานต้องการอะไร ซึ่งมันเป็นอะไรที่โคตรจะไม่ราบรื่น ไม่รู้ว่าแปลถูกแปลผิดมากน้อยแค่ไหน ทำให้การทำงานตะกุกตะกัก ดูๆ ไปแล้วก็อึดอัดแทนบ๊อบ ที่คงรู้สึกเหมือนเป็นคนนอก อารมณ์คงคล้ายๆ เด็กต่างชาติเพียงหนึ่งเดียวที่อยู่ในกลุ่มเด็กไทย เด็กไทยก็จะคุยกันเป็นภาษาไทย ปล่อยให้เด็กต่างชาตินั่งงง ตรงนี้เป็นจุดที่แสดงให้เห็นความ Lost in Translation ได้แบบตรงตัวที่สุด

(อ่านเจอมาว่าในฉากนั้น คอปโปลาแปลบทพูดเป็นภาษาญี่ปุ่น แล้วไม่บอกบิลล์ เมอร์เรย์ว่าความหมายคืออะไร เพราะอยากให้รีแอ็กชั่นของบิลล์ออกมางงสมจริง 555)

นอกจากนี้ ไม่ใช่แค่การหลงภาษากับวัฒนธรรมเท่านั้น แต่ตัวละครยังหลงในชีวิตของตัวเองด้วย หลงในที่นี้ไม่ใช่การหลงระเริงนะ แต่เป็นการหลงทาง ชนิดที่ว่าอยู่ในจุดที่เป็นทางแยก ไม่รู้ว่าจะไปทางไหนต่อดี ทางบ๊อบนั้นก็รู้สึกว่าการคุยกับภรรยาไม่ใช่เรื่องน่าสบายใจอีกต่อไป เขารู้สึกว่าตัวเองห่างเหินกับครอบครัวมาก การงานก็เริ่มเป็นขาลง ส่วนชาร์ล็อตนั้นก็ยังโนไอเดียว่าจะทำอะไรต่อไปดี ทั้งคู่อยู่ในจุดที่กำลังสับสนในชีวิต เมื่อมาเจอกันก็ระบายให้กันและกันฟัง ต่างฝ่ายต่างเยียวยากันไป

“You’ll figure that out. The more you know who you are, and what you want, the less you let things upset you.” – Bob

03

12

ดังนั้น พาร์ทที่สองของหนังก็จะเริ่มคลายความเหงาลงบ้าง เพราะตัวละครทั้งคู่เริ่มใกล้ชิดกัน เริ่มไม่เหงาแล้วว่างั้น ตรงนี้เราว่าก็เป็นเรื่องดีของตัวละคร แต่มันก็ทำให้เสน่ห์ความเหงาของหนังลดลง เพราะมันเริ่มคล้ายๆ หนังรักทั่วไปละ แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้หวานหยดย้อยอะไร เป็นแนวผู้ใหญ่สองคนคุยทำความเข้าใจชีวิตอีกฝ่ายหนึ่งมากกว่า และที่สำคัญคือไม่มีสัมพันธ์ใดๆ เกินเลยกันมากไปกว่ากันกอดกันหอมกันเท่านั้น

10

พระเอกอย่าง Bill Murrey ที่แสดงเป็นบ๊อบ แฮร์ริสนั้นเล่นได้ดีมาก ชอบสีหน้าท่าทางของเฮียที่แสดงให้เห็นถึงความเบื่อหน่ายเอือมระอาได้ชัดเจนดี บทพูดหลายๆ ตอนก็กัดจิกทั้งชีวิตตัวเองและสังคมรอบด้าน ส่วน Scarlett Johansson นี่คือสวยแบบเป็นธรรมชาติมากๆ เรื่องนี้เธอแทบไม่ต้องแต่งหน้าแต่งตัวอะไรมากมายเลย ชอบตอนที่เธอออกไปเดินสำรวจโตเกียว ภาพเธอที่อยู่ท่ามกลางทิวทัศน์ญี่ปุ๊นญี่ปุ่นนั้นดูขัดแย้งแบบสวยงามไปอีกแบบดี

04

07

ถามว่า Lost in Translation เป็นหนังรักใช่ไหม? ส่วนหนึ่งก็คงถือว่าใช่ เพราะการที่ชายหญิงแต่งงานแล้วคู่หนึ่งมาเจอกัน รู้สึกดีๆ ต่อกัน และมีความสัมพันธ์ที่เกือบจะพัฒนาไปเป็นคนรักกันนั้น ก็ถือได้ว่าใกล้เคียงคอนเซ็ปต์หนังรัก (ต้องห้าม) อยู่ แต่โดยรวมแล้วเรากลับรู้สึกว่าความสัมพันธ์นี้มันกว้างกว่า มันไม่ได้จำกัดแค่การเป็นคนรัก แต่เรามองว่ามันใกล้เคียงกับคำว่าเพื่อนคลายเหงา หรือเพื่อนที่สามารถเข้าใจเราได้ มากกว่านะ คือไม่จำเป็นต้องสานต่อ ไม่ต้องพัฒนาให้ไกลกว่านี้ แต่แค่ปรากฏตัวในยามที่รู้สึกหลงทางในชีวิต นั่นแหละคือรูปแบบความสัมพันธ์ของชาร์ล็อตและบ๊อบ

แม้ว่าลึกๆ แล้วเราก็อยากให้ทั้งคู่ติดต่อหากันต่อไป หลังจากแยกย้ายกันไปแล้วก็ตาม

08

การดำเนินเรื่องของหนังนั้นค่อนข้างเรียบเรื่อยค่อนไปทางเนือยๆ ไม่ได้มีจุดพีคหรือจุดตื่นเต้นอะไร ฉะนั้น ถ้าดูตอนง่วงๆ ก็อาจจะหลับได้ โชคดีที่เราดูตอนเพิ่งตื่นนอนพอดี สติเลยเต็มเปี่ยม 555 เลยสามารถซึมซับไปกับหนังได้โดยไม่ง่วง และรู้สึกว่ามันเพลินดี ใครที่กำลังตามหาหนังรักแหวกแนว เน้นที่อารมณ์เหงาๆ ว้าเหว่ และตอนจบที่ทิ้งให้คนดูไปคิดกันต่อเอง Lost in Translation ก็น่าจะตอบโจทย์นะ

06

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

Blog at WordPress.com.

Up ↑

%d bloggers like this: