ทำไมคนนั้นกินเยอะมาก แต่ก็ยังผอม
ทำไมออกกำลังกายแล้วแต่น้ำหนักไม่ลดเลย
เราว่านี่น่าจะเป็นคำถามโลกแตกที่หลายๆ คนหาคำตอบไม่ได้ และไม่เข้าใจว่าทำไมถึงเป็นแบบนั้น ในเมื่อกินอาหารประเภทเดียวกัน กิโลแคลอรี่ที่ได้รับก็ต้องเท่ากัน เผลอๆ อีกฝ่ายแทบไม่ได้ออกกำลังกายด้วยซ้ำ แต่เค้าก็ไม่อ้วนขึ้นเลย (หรืออาจจะผอมลงด้วยซ้ำ!)
ที่เรายังติดกับข้อสงสัยอยู่นี่ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเรากำลังถูกภาพลวงตาอย่าง “กิโลแคลอรี่” บังตาอยู่ เราคิดว่า ถ้าอยากจะลดน้ำหนัก ก็แค่ทำตามสมการ “แคลอรี่เข้า < แคลอรี่ออก” เท่านี้ก็น่าจะพอแล้วรึเปล่า? มันฟังดูเมกเซ้นส์ดีนี่?
นั่นคือความเชื่อที่หนังสือ “สแกนกิน” หรือ “The Diet Myth” โดย Tim Spector ศาสตราจารย์ด้านระบาดวิทยาพันธุศาสตร์ที่ Kings’ College London แปลโดย หมอผิง พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล จะมาท้าทาย พร้อมหักล้างความเชื่อเดิมๆ ที่เราเคยยึดถือมาตั้งแต่สมัยเด็กๆ เกี่ยวกับสุขภาพและโภชนาการ
โดยพื้นฐานของหนังสือเล่มนี้นั้นง่ายมาก ทุกๆ หัวข้อและคำสรุปนั้นมีพื้นเพมาจากความจริงที่ว่า “จุลินทรีย์” คือสิ่งที่ควบคุมว่าร่างกายเราจะมีปฏิกิริยาต่ออาหารอย่างไร
จุลินทรีย์คือส่วนสำคัญต่อสุขภาพของเรา
ว่าแต่ว่าจุลินทรีย์นี่คืออะไร? มันก็คือสิ่งที่หลายคนมองว่าเป็นแบคทีเรีย เป็นเชื้อโรค เป็นอะไรก็ตามที่เล็กเกินกว่าที่ตาจะเห็น หลายคนนึกว่ามันคงไม่น่ามีบทบาทอะไรสำคัญกับร่างกายเราใช่มั้ยล่ะ เผลอๆ อาจจะนึกว่ามันเป็นผู้บุกรุกด้วยซ้ำ แต่ความจริงแล้วคือจุลินทรีย์ในร่างกายเรามันโคตรมีบทบาท มากกว่าที่เราคิดมากๆๆ
ร่างกายเรามีจุลินทรีย์กว่า 100 ล้านล้านตัวอาศัยอยู่ แค่ที่อยู่ในลำไส้ก็คิดเป็นน้ำหนักเกือบ 2 กิโลกรัมแล้ว หลายคนมักมองว่าจุลินทรีย์เป็นตัวร้ายต่อสุขภาพ เห็นได้จากเชื้อโรคดังๆ อย่างซาลโมเนลลา หรืออี.โคไล แต่ความจริงแล้วจุลินทรีย์ที่เป็นพิษน่ะมีน้อยมาก ส่วนใหญ่จะดีต่อร่างกายเราทั้งนั้น นอกจากจะช่วยย่อยอาหารแล้ว ยังช่วยควบคุมแคลอรีที่ร่างกายดูดซึม ช่วยสร้างเอนไซม์และวิตามินที่จำเป็น และช่วยรักษาระบบภูมิคุ้มกันร่างกายให้แข็งแรง
ปัญหาของคนยุคนี้คือ เรามีสายพันธุ์จุลินทรีย์ในลำไส้น้อยลงมาก น้อยลงมากเมื่อเทียบกับบรรพบุรุษของเรา สาเหตุที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะอาหารการกินของเรามีความหลากหลายน้อยลง และมีการผ่านกระบวนการแปรรูปมากขึ้น โดยรวมแล้วทำให้อาหารที่เรากินนั้น “มีประโยชน์น้อยลง” เมื่อเทียบกับสมัยบรรพบุรุษ ความเปลี่ยนแปลงด้านอาหารการกินส่งผลให้จุลินทรีย์ในลำไส้เราเปลี่ยนเช่นกัน และการเปลี่ยนนี้ก็อาจเป็นสาเหตุให้คนยุคใหม่เป็นโรคภัยต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นโรคอ้วน เบาหวาน มะเร็ง หรือโรคหัวใจ
หลายคนอาจจะคิดว่า สาเหตุที่คนคนหนึ่งอ้วนขึ้น ก็เพราะเขาบริโภคแคลอรี่มากกว่าที่เขาผลาญออกไป นั่นก็อาจเป็นส่วนหนึ่งแต่ไม่ใช่ทั้งหมด หลายคนรู้ว่า “ยีน” คือตัวแปรอย่างหนึ่งในเรื่องนี้ แต่สิ่งสำคัญที่หลายคนไม่รู้ก็คือชนิดของชุมชีพจุลินทรีย์ในลำไส้เรามีผลอย่างมากต่อการตอบสนองต่อพลังงานที่ได้รับ
หนังสือเล่มนี้ย้ำเตือนเสมอว่า ให้เราดูแลชุมชีพจุลินทรีย์ในร่างกาย เหมือนดูแลสวนในบ้าน ที่ต้องให้หน้าดินแข็งแรง ปราศจากวัชพืช และอุดมไปด้วยพืชพรรณหลากชนิด
ยิ่งมีจุลินทรีย์หลากหลายสายพันธุ์ที่ดีต่อร่างกายเท่าไร เราก็มีสุขภาพดีขึ้นเท่านั้น หัวใจหลักที่หนังสือเล่มนี้เน้นย้ำคือ “ความหลากหลาย” จงกินอาหารมีประโยชน์ที่หลากหลาย อย่าจำกัดชนิดอาหาร กินอาหารที่มีประโยชน์เยอะๆ และหลีกเลี่ยงน้ำตาลกับไขมันไม่ดี เพราะมันจะเป็นตัวทำลายจุลินทรีย์ดีๆ ในร่างกายเรา แต่ถ้ากินนานๆ ทีพอสนองความอยาก อะ อันนี้ไม่ห้าม เพราะการกินของไม่มีประโยชน์นานๆ ทีก็เป็นการกระตุ้นภูมิคุ้มกันร่างกายเช่นกัน และถ้าเรามีชุมชนจุลินทรีย์ที่แข็งแรง การกินอาหารแย่ๆ เพียงมื้อสองมื้อจะไม่สามารถทำอันตรายเราได้เลย
ความรู้เรื่องจุลินทรีย์นี่ถือเป็นสิ่งที่เราไม่เคยรู้มาก่อน เป็นเรื่องใหม่มากๆ เราเองก็ไม่เคยนึกว่าจุลินทรีย์จะมีบทบาทสำคัญในการสร้างปฏิกิริยาต่ออาหารการกิน นึกแค่ว่าสิ่งที่สำคัญคือยีน กิโลแคลอรี่ และสารอาหารเท่านั้น
นอกจากนี้ เรายังต้องตระหนักเสมอว่า กิโลแคลอรี่จากอาหารแต่ละชนิดนั้น จริงๆ แล้ว “ไม่เท่ากัน”
ฟาสต์ฟู้ด 1,200 กิโลแคลอรี่ กับ สลัดผัก 1,200 กิโลแคลอรี่ ส่งผลต่อร่างกายไม่เหมือนกันแม้ว่าตัวเลขจะเหมือนกัน แน่นอนว่าข้อพิสูจน์นี้ได้รับการยืนยันจากการทดลองในสิ่งมีชีวิตมาแล้ว กิโลแคลอรี่นั้นเรียกได้ว่าพาใครหลายๆ คนหลงทางมาแล้ว เพราะเพียงแค่คิดว่า ฉันก็แค่กินแคลอรี่ให้น้อยลง แล้วฉันก็จะผอมลง เมื่อคิดแบบนี้โดยไม่สนว่าแหล่งพลังงานคืออะไร ก็ย่อมไขว้เขวไปหาอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพได้ ว่าง่ายๆ ก็คือ คนอยากผอมบางคนอาจจะสามารถกินชานมไข่มุกแก้วเดียวเป็นอาหารอย่างเดียวของวันได้ โดยที่น้ำหนักยังลดลง เพราะปริมาณแคลอรี่ที่ได้รับนั้นไม่มากพอ แต่แน่นอนว่าสิ่งที่ตามมาคือสุขภาพที่ย่ำแย่ลง เพราะได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ
The Diet Myth เล่มนี้จะช่วยไขข้อสงสัยต่างๆ ว่าด้วยเรื่องของความสำคัญของจุลินทรีย์ โภชนาการ อาหารการกิน ซึ่งจะมาอธิบายให้เรารู้กันว่าหลายๆ ความเชื่อที่สังคมยัดเยียดให้เราเข้าใจนั้นไม่ได้เมกเซ้นส์ในแง่ของวิทยาศาสตร์เลย และถ้าเราเข้าใจจุลินทรีย์ในร่างกายตัวเอง หรือก็คือปฏิกิริยาของจุลินทรีย์ในร่างกายตัวเองต่ออาหารประเภทต่างๆ เราก็จะสามารถควบคุมอาหารการกินให้เป็นไปในผลลัพธ์ที่เราต้องการ สร้างสมดุลให้ร่างกายเราได้
Leave a Reply