รีวิวงาน iCreator Conference 2023: ก้าวไปสู่โลกคอนเทนต์ยุคใหม่

เป็นอีกครั้งที่ได้ไปเยือนงาน iCreator Conference 2023 Presented by SUPALAI งานรวมเหล่าครีเอเตอร์ที่จัดขึ้นทุกปี มาอัปเดตเทรนด์และพบเจอแรงบันดาลใจใหม่ ๆ กัน รอบนี้จัดขึ้นในวันพุธที่ 1 พฤศจิกายน 2023 ที่ผ่านมา

สำหรับปีนี้ เรามีโอกาสได้ไปฟัง Session ช่วงบ่าย (ช่วงเช้าไปไม่ไหวจริง ๆ งานจัดตั้งบางนาแน่ะ T^T) เลยจะขอมาสรุปสิ่งที่น่าสนใจในบล็อกนี้เช่นเคยค่ะ

The Secret of 8 Minute History: แกะสูตรการเล่าเรื่องยากให้แมสใน 8 นาที
โดย ดร. วิทย์ สิทธิเวคิน (8 Minute History)

เล่าเรื่องยาก ๆ ภายใน 8 นาที ด้วยเวลาอันสั้นแค่นี้ ดร. วิทย์และทีมงานทำกันได้ยังไง? ดร. วิทย์ เกริ่นก่อนเลยว่าจริง ๆ รายการ 8 Minute History เกิดขึ้นในช่วงที่คนไม่ค่อยสนใจประวัติศาสตร์ด้วยซ้ำ หลายคนตั้งคำถามว่าเราจะเรียนประวัติศาสตร์ไปทำไม ประวัติศาสตร์กลายเป็นความรู้ที่ฟุ่มเฟือย

แต่สุดท้ายก็อย่างที่เราเห็นกันคือรายการ Podcast นี้โด่งดังเป็นพลุแตก มีผู้ฟังชื่นชอบมากมาย ใน Session นี้ ดร. วิทย์ เลยมาเล่าให้ฟังว่ามีเคล็ดลับยังไงบ้าง

อย่างแรกเลย ระยะเวลา (Timing) สำคัญมาก

โดย ดร. วิทย์ เล่าให้ฟังว่า ต้นกำเนิดของเลข 8 นาทีนี้ มาจากการที่ ดร. วิทย์เล่าประวัติศาสตร์เรื่องหนึ่งให้ทีมงานฟังเป็นระยะเวลา 20 นาที ผลปรากฏว่า พอฟัง ๆ ไปแล้ว เรื่องราวมันสนุกแค่ 10 นาทีแรกเท่านั้นอะเฮีย ที่เหลือจำชื่อคนไม่ได้ ฟังไม่ทัน ย่อยไม่หมด

ทุกคนเลยตกลงว่า เอาวะ งั้นรายการยาวแค่ 10 นาทีละกัน

แต่เดี๋ยว ๆ แล้วทำไมจาก 10 นาทีกลายเป็น 8 นาทีได้? อีก 2 นาทีฟังไปฟังมามันไม่สนุกเหรอ

เปล่า… กราฟิกบอกว่าเลข 10 พอวางบนโลโก้มันไม่สวย ตัดเหลือ 8 ดีมั้ยสวยกว่า (ฮา)

แต่โดยสรุปคือ ด้วยระยะเวลาที่สั้นเพียง 8 นาทีนั้น มันดึงดูดให้คนอยากเสพ เพราะรู้สึกว่าไม่ต้องลงทุนลงแรงอะไรกับมันเยอะ แค่ 8 นาทีก็รู้เรื่องนี้แล้ว และถึงสุดท้ายเรื่องนี้จะไร้สาระ มันก็เป็นเพียงแค่ 8 นาทีเท่านั้นที่เสียไป

แน่นอนว่าพอรายการมันยาวแค่ 8 นาที เนื้อหาก็จะต้องเข้าใจง่าย กระชับ ดร. วิทย์ต้องทำการบ้านหนัก เข้าใจเนื้อหาอย่างทะลุปรุโปร่ง เลือกใช้ภาษาและจั่วหัวให้น่าสนใจ เพราะถ้าคนถ่ายทอดไม่รู้เรื่อง คนฟังก็คงไม่มีทางรู้เรื่องหรอก

วิธีนึงที่ ดร. วิทย์ ใช้เพื่อให้เนื้อหา relate กับคนฟังมากขึ้น คือการหยิบภาพยนตร์มาเชื่อมโยงด้วย ตัวอย่างเช่น Oppenheimer, Napoleon, The Current War เพราะสื่อในรูปแบบหนังนั้นเข้าถึงคนได้เยอะอยู่แล้ว การนำหนังมาต่อยอดเลยช่วยให้เนื้อหาจากตัว Podcast จับต้องได้มากขึ้น

โดยวิธีการเล่าเรื่องให้สนุก น่าติดตามนั้น ดร. วิทย์ บอกว่า มันไม่จำเป็นต้องเล่าแบบ 1 2 3 4 ตามลำดับเกิดแก่เจ็บตายหรอก เราอาจจะเล่าแบบ 3 2 1 4 ก็ได้ถ้าเห็นว่า 3 มันกระชากวิญญาณได้ดี ชวนให้คนติดหนึบอยากฟังต่อ เคล็ดลับนี้เราจะเห็นได้จากหนังหลายเรื่องที่ชอบดึงฉากไคลแม็กซ์มาไว้ตอนต้นให้คนดูเกาหัวเล่น ๆ ว่าอะไรคือเรื่องราวก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุการณ์สุดพีคนี้

อย่างที่สองที่สำคัญคือ Community

การทำคอนเทนต์บน social media นั้น คือการสื่อสาร 2 ทาง

มันไม่ใช่ว่าเราทำคอนเทนต์เสร็จแล้วจบ แยกย้ายกันไปนอน แต่คนเสพคอนเทนต์สามารถตอบโต้กับเราได้ว่าเขาชอบ/ไม่ชอบสิ่งที่เราเสนอมั้ย เขามีความคิดเห็นยังไง

ซึ่งข้อดีของ community แบบนี้ คือการที่ผู้สร้างคอนเทนต์ได้รับรู้ฟีดแบ็กจริง ๆ ว่าคนเสพชอบมั้ย ต้องปรับตรงไหน ต้องพัฒนายังไง แถมบางที ยังได้ไอเดียหัวข้อคอนเทนต์จากผู้เสพด้วย

โดย ดร. วิทย์ และทีมงานก็ได้นำข้อเสนอแนะเหล่านี้มาต่อยอดเป็นคอนเทนต์ และไม่ลืมที่จะดึงไฮไลต์ออกมากระตุ้นคนดู

เช่น ตอนสงครามไฟฟ้า ก็ดึงตัวละครหลักอย่าง Edison กับ Tesla มาประจันหน้ากันเลย เท่านั้นยังไม่พอ ในเนื้อหายังมีการเซอร์ไพรส์ว่าในเรื่องราวนี้ ยังมีตัวละครลับอย่างนายธนาคาร J.P. Morgan อีกด้วย

เคล็ดลับข้อนึงในการคิดคอนเทนต์ที่ ดร. วิทย์แชร์คือ ถ้าสิ่งไหนเป็นคำถามที่ผุดขึ้นในใจเรา หรือเป็นคำถามที่คนสงสัยกัน สิ่งนั้นคือโอกาสในการทำคอนเทนต์แล้ว

ถึงอย่างนั้น ก็ไม่ใช่ทุกคอนเทนต์หรอกที่จะประสบความสำเร็จ เพราะบางทีสิ่งที่เราคิดว่าดี สมควรทำ ต้องทำ พอโพสจริง กระแสตอบรับอาจจะไม่ได้ดีอย่างหวัง

ซึ่ง ดร. วิทย์ บอกว่าไม่ต้องตกใจไป มันเป็นเรื่องธรรมดา ตราบใดที่เราทำคอนเทนต์ที่มีคุณค่า ให้ความรู้ ก็ถือเป็นเรื่องที่ดีแล้ว

The Art of Long Form Storytelling: ถอดสูตรศิลปะการเล่าเรื่องให้พิชิตใจกลุ่มเป้าหมาย
โดยคุณบูม ธริศร ธรณวิกรัย (BoomTharis)

Session นี้คุณบูมเข้าเรื่องเลย ว่าถึงแม้ยุคสมัยนี้คนจะสมาธิสั้น และดูเหมือน Short-Form Content จะมาแรง ทว่าทำไมหลายคนถึงยังชอบดูหนัง และดูคลิปยาว ๆ ได้ล่ะ? แสดงว่าคอนเทนต์ยาว ๆ ก็ยังเวิร์กน่ะสิ!

คำตอบคือใช่ สำหรับใครที่ถนัดการทำคอนเทนต์ยาว ๆ คุณยังโชคดีอยู่ เพราะคอนเทนต์ไม่ว่าจะสั้นหรือยาว หากมีศักยภาพในการทำให้คนเสพจนจบได้ นั่นแปลว่าคอนเทนต์เหล่านั้นสามารถดึง attention ของคนเสพได้นั่นเอง

ทีนี้ ก็ต้องมาตอบคำถามกันแล้วละว่า long form ดึง attention ของคนด้วยวิธีไหนได้บ้าง

  • อย่างแรกเลย คุณบูมแชร์ว่า เราควรเลือกเรื่องที่จะเล่าก่อน เพราะบางเรื่องก็ไม่เหมาะ long form เราก็ไม่ควรไปฝืนยืดคอนเทนต์ให้มันน้ำเยอะ ว่าอีกแบบคือเราควรมีเรื่องเล่าที่มากพอ หากอยากทำคอนเทนต์ยาว ๆ
  • หา audience ของตัวเองให้เจอ เรากำลังทำให้ใครดู เพราะคนบางกลุ่มอยากฟังสั้น บางกลุ่มอยากฟังยาว
  • ตรึง attention ตอนแรกด้วยการบอกใบ้คนดู แต่ไม่สปอยล์ ผ่านภาพปก ชื่อคลิป หรือ 30 วิแรก กฎเหล็กคือห้ามสปอยล์ เพราะสิ่งนี้ควรเก็บเป็นรางวัลให้คนที่ดูจนจบ (หรืออย่างน้อยก็ยอม scroll ไปดูตอนท้าย)
  • เรียบเรียงให้อยากดูต่อ ด้วยการกระจายความน่าสนใจไว้หลาย ๆ ที่ โดยคุณบูมวางความคิดเห็นตัวเองไว้สุดท้าย เพราะรู้ว่าเป็นไคลแมกซ์ที่คนรอดู
  • สำหรับคอนเทนต์ที่เป็นวิดีโอ ควรสมบูรณ์ทั้งภาพและเสียง หากบางคลิปมีแต่พิธีกรพูด คนดูอาจจะ lost ย่อยข้อมูลไม่ทัน ในขณะที่ถ้าบางคลิปมีแต่ภาพ ไม่มีคำพูด มันก็ดูล่องลอย อาจจะต้องใส่ voiceover นำทางคนดูหน่อย
  • ทำเนื้อหาให้สนุก ให้คนอยากติดตามตอนต่อ ๆ ไป เหมือนผู้กำกับที่ทำหนังดี คนก็จะอยากติดตามเรื่องอื่น ๆ

Brand as a creator: สร้างคอนเทนต์แบรนด์อย่างไรให้โดนใจลูกค้า
โดยคุณกล้อง อาริยะ คำภิโล (Jones’ Salad) และคุณคิง (เนื้อแท้)

Session นี้นำ 2 แบรนด์ร้านอาหารที่ทำคอนเทนต์ได้ปังไม่แพ้ content creator มาประชันกัน

เริ่มจากฝั่ง Jones’ Salad ซึ่งเรามักจะคุ้นเคยกับคอนเทนต์การ์ตูนลุงโจนส์หน้าตาเมายาที่มาพร้อมเกร็ดความรู้สุขภาพย่อยง่าย ซึ่งการใช้คาแรคเตอร์ก็ถือเป็นเคล็ดลับความสำเร็จข้อหนึ่งของแบรนด์เลย เพราะทำให้เข้าถึงได้ง่าย และเอื้อให้สามารถเล่นคอนเทนต์ได้ยืดหยุ่นขึ้น (งานก็จะไปหนักนักวาดหน่อย ฮา)

ซึ่งความสำเร็จของคอนเทนต์ Jones’ Salad คือการที่โด่งดังถึงขั้นมีแบรนด์อื่น ๆ มาจ้างทำคอนเทนต์ด้วย เอากับเขาสิขายสลัดอยู่ดี ๆ เพิ่มงานเฉยเลยพี่ แต่นี่ก็ถือเป็นการต่อยอดแบรนด์ได้ดี เพิ่มช่องทางรายได้ ตราบใดที่แบรนด์ยึดจุดยืนเรื่องการให้ความรู้ และไม่โฆษณาเจ้าอื่นมากเกินไป

อีกสิ่งที่ Jones’ Salad ทำได้ดีคือคอนเทนต์ให้ความรู้ที่ตามกระแสหน่อย ๆ ซึ่งคุณกล้องบอกว่าถ้าให้ดี คอนเทนต์ตามกระแสควรเร็วและคม คือนอกจากจะทันกระแสแล้วต้องมีคุณภาพด้วย

ทว่าบางทีการจะควบทั้ง 2 ปัจจัยอาจทำได้ยาก ยิ่งถ้าเป็นกระแสมาไวไปไวที่ไม่ทันได้รู้ล่วงหน้า บางทีแค่ทำให้ทันยังยากเลย ด้วยเหตุนี้บางครั้งเพจจึงต้องเล่นท่าไว เช่น ทำ artwork ง่าย ๆ หรือทำ text post แทน

แต่ถ้าโชคดี มีกระแสที่รู้ล่วงหน้าก่อน ก็เป็นการดีที่เราจะเตรียมคอนเทนต์ไว้ เช่น รู้ว่าทุกเดือนตุลาคม Apple ต้องปล่อย iPhone รุ่นใหม่ ก็วางแผนไว้ล่วงหน้าได้เลย หรือบางกระแสที่ประเมินแล้วว่า ไม่ต้องรีบมาก เพราะน่าจะอยู่ไปอีกสักพัก เช่น กระแสซีรีส์ Netflix ก็เป็นการดีที่จะค่อย ๆ craft content ให้มีคุณภาพ ไม่ต้องรีบมาก

และแน่นอนว่าเมื่อเล่นคอนเทนต์ตามกระแส ก็อาจจะเจอดราม่าบ้าง Jones’ Salad ก็หนีไม่พ้นเหมือนกัน เพราะเคยเล่นคอนเทนต์ที่อิงกับประเด็นการเมือง โดยคุณกล้องเล่าว่าถ้าคอนเทนต์มีความคลุมเครือ ตีความได้ 2 แบบ จะไม่ค่อยดราม่าเท่าไร แต่ถ้าอันไหนมีความเจาะจง คิดเป็นอื่นไม่ได้ ก็จะเสี่ยงสูง

โดยสรุปแล้ว Jones’ Salad ถือเป็นแบรนด์ร้านอาหารที่ฉีกออกมาจากกฎเดิม ๆ ของการทำคอนเทนต์มาก เพราะโดยปกติร้านอาหารก็จะมักลงคอนเทนต์ยั่วให้อยากกิน หรือคอนเทนต์โปรโมชั่น แต่ Jones’ Salad ไม่ถนัดทำอะไรแบบนั้น ถนัดให้ความรู้มากกว่า จึงโยกคอนเทนต์สายยั่วให้เป็นหน้าที่ของอินฟลูฯ และลูกค้าแทน

มาต่อที่ฝั่งร้านเนื้อแท้ ซึ่งมักจะเกาะกระแสข่าวได้ไวราวกับเป็นสำนักข่าวซะเอง โดยคุณคิงบอกว่าสูตรของแบรนด์คือ สินค้า + กระแส + คอนเทนต์

การจะได้วัตถุดิบมาเล่นกับสินค้า ก็ต้องขยันไถฟีด social กันหน่อย เพื่อให้ทันต่อกระแสน่าสนใจ

ความล้ำอีกขั้นของเนื้อแท้ คือไม่ใช่แค่เล่นคอนเทนต์ตามกระแสแล้วจบ แต่บางทีก็นำกระแสนั้นมาทำเป็นโปรโมชั่นด้วย เช่น วันเปิดตัว iPhone 15 ก็ทำโปรโมชั่นว่าหากนำ  iPhone 15 มาโชว์หน้าร้าน ก็รับส่วนลดไปเลย 15% เออเอากับเขาสิ และมีลูกค้าตามมาอุดหนุนโปรโมชั่นด้วยนะ

เห็นเล่นตามกระแสเยอะแบบนี้ แต่เนื้อแท้ก็ยังไม่เคยโดนกระแสตีกลับ เพราะคุณคิงเล่าว่าได้วางคาแรคเตอร์ชัดเจนว่าอะไรเล่นได้ เล่นไม่ได้ มีการวางกรอบว่าคาแรคเตอร์ของแบรนด์อยู่ตรงไหน ต้องเข้าใจกลุ่มเป้าหมาย เข้าใจแบรนด์ตัวเอง เข้าใจคอนเทนต์ว่าต้องการสื่ออะไร

โดยช่วงแรก ๆ คอนเทนต์ก็ยังต้องผ่านการ approve จากพี่โต (เจ้าของร้าน) ก่อน แต่ต่อมาก็ไม่ต้องผ่านแล้ว ความเชื่อใจของเจ้าของบริษัทจึงเป็นอีกสิ่งสำคัญที่จะช่วยปลดล็อกศักยภาพในการทำคอนเทนต์ให้อิสระยิ่งขึ้น

คุณคิงยังแนะนำอีกว่า ถ้าเกิดเหตุการณ์อะไร ช่วงแรก ๆ อย่าเพิ่งลงคอนเทนต์ รอให้คนรับรู้ข้อมูลก่อน ช่วงนี้จะเป็นช่วงที่เราวิเคราะห์ข้อมูลว่าจะเล่นไม่เล่น ฝืนไม่ฝืน ถ้าเล่นได้ก็เตรียมตัวเลย

โดยความถี่ของเพจปกติก็จะลงวันละคอนเทนต์ แต่ถ้ามี 2-3 กระแสในวันเดียว ก็จะลงคอนเทนต์เพิ่มตามกันไป

More Than Travel: เที่ยวอย่างไรให้ได้คอนเทนต์
โดยคุณเบนซ์ ถาวร ภัสสรศิริกุล (The Gaijin Trips) และคุณว่านไฉ อคิร วงษ์เซ็ง (อาสาพาไปหลง)

ท่ามกลางคอนเทนต์ท่องเที่ยวที่มีมากมาย เราควรจะทำอะไรให้มันแตกต่างจากคนอื่น? 

ทางฝั่งคุณเบนซ์บอกว่า เขาเน้นเล่าเรื่องของตัวเองมากกว่าวิวทิวทัศน์หรือจุดถ่ายรูป เล่าว่าได้เจอใคร รู้สึกยังไง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็จะมีความพิเศษไม่เหมือนใคร เป็นประสบการณ์เฉพาะตัว

นอกจากนั้น การวิเคราห์ตัวเองก็สำคัญเช่นกัน เราควรรู้ว่าตัวเราชอบอะไร ชอบไปไหน ชอบเดินทางยังไง แล้วคนแบบไหนจะมาดูเรา? หากเราสโคปลงมาชัด ก็จะยิ่งทำให้คอนเทนต์มีจุดเด่นมากขึ้น

ทางฝั่งคุณว่านไฉ ก็แนะนำว่าอาจไม่จำเป็นต้องไปดู reference เจ้าอื่นมากนักเพราะอาจจะเขวไปจากสไตล์ที่ตัวเองชอบได้ โดยแนะนำว่าอาจจะหยิบสิ่งที่ตัวเองชอบมาใส่ในคอนเทนต์ เช่น วิธีการพากษ์ วิธีการถ่ายทำ เพื่อที่จะได้สะท้อนความเป็นตัวเองที่สุด

นอกจากนี้คุณว่านไฉก็เตือนว่า ถ้าใจไม่แข็งพอ อาจจะเผลอเปลี่ยนตัวเองตามคอมเม้นท์คนดู ให้ตั้งแกนเอาไว้ ว่าเราจะเล่าแบบนี้และจะไม่เปลี่ยนไปตามกระแส

นอกจากคนดู อีก 3 แกนที่ครีเอเตอร์ต้องบาลานซ์ให้ดีก็คือตัวเอง ลูกค้า และแพลตฟอร์ม

ถ้าเอาใจลูกค้ามากไป มีแต่ขายของ คนดูก็จะรำคาญ แต่ถ้าเราเอาใจคนดูมากไป เราก็อาจจะเสียตัวตนของตัวเอง ถ้าเอาใจตัวเองมากไป ก็อาจจะละทิ้งโอกาสในบางแพลตฟอร์มไป

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือแพลตฟอร์มที่กระแสเปลี่ยนจาก long form เป็น short form นั้นกระทบการทำงานมั้ย เพราะคลิปพี่ ๆ ก็ยาวกันทั้งนั้น ซึ่งพี่ ๆ ก็ยอมรับว่าตอนแรกเครียด แต่สุดท้ายก็ปรับตัวตามได้ เช่น ถ้าจะลงคอนเทนต์สั้น ๆ ก็ตัดจากตัวยาวมาทำสกู๊ปสั้น ๆ นี่แหละ

และสำหรับใครที่คิดว่าการเป็น travel blogger นั้นเป็นอาชีพที่สบาย ได้เที่ยวแถมยังได้เงินด้วย ทั้งคุณเบนซ์และคุณว่านไฉก็รีบเตือนเลย ว่านี่ไม่ใช่อาชีพที่ง่าย เพราะการออกไปเที่ยวไปถ่ายทำต้องใช้ต้นทุน บางคนทำไปลูกค้าไม่เข้าสักทีก็ต้องเลิกทำ ฉะนั้นแนะนำให้ทำงานประจำไปก่อน แล้วทำ travel blogging เป็นอาชีพเสริม มั่นคงเมื่อไรค่อยกระโดดออกมาทำเต็มตัวก็ยังไม่สาย

สำคัญคือ ต้องมั่นใจว่าหลงใหลการทำคอนเทนต์เที่ยวจริง ๆ ไม่ได้ทำเพราะอยากได้เงิน

อีกสิ่งที่คุณเบนซ์และคุณว่านไฉฝากไว้คือจรรยาบรรณของ travel blogger เพราะในฐานะที่เป็นกระบอกเสียงให้คนดู ก็ควรเป็นตัวอย่างที่ดีด้วย เช่น รักษาความสะอาดสถานที่เที่ยว ทำตามกฎ อะไรที่ไม่ดีอย่าไปสนับสนุน และไม่ควรสร้างบรรทัดฐานผิด ๆ ว่ามารีวิวแล้วควรได้ของฟรี อย่างน้อยถึงเขาให้ฟรีเราก็ควรอุดหนุนอะไรเขาบ้าง

Shoppertainment Trends 2024: จับเทรนด์ เล่นกระแส เปลี่ยนแบรนด์ให้ปังด้วยคอนเทนต์ Affiliate
โดยคุณแอ๊ม ศรัณย์ (การตลาดการเตลิด) และคุณพลอย อนัญญา (Anunya Pa Learn)

Session นี้จะเป็นการเล่าถึงการทำ Affiliate ซึ่งถ้าใครไม่คุ้นเคยกับคำนี้ อธิบายง่าย ๆ ว่าหลักการจะคล้าย ๆ ตัวแทนขายแบบไม่ต้องสต๊อกสินค้า เพียงแต่ปรับบริบทมาเป็นออนไลน์ แบรนด์สามารถฝากให้เหล่า content creator ทำคอนเทนต์เพื่อโปรโมตสินค้าของแบรนด์ หากมีคนคลิกซื้อจากลิ้งก์ของ content creator คนไหน คนนั้นก็จะได้รับค่าคอมไป อารมณ์คล้าย ๆ นายหน้านั่นละ

ซึ่งในปัจจุบัน ก็มีแพลตฟอร์มที่รองรับการทำ Affiliate เจ้าหลัก ๆ อย่าง TikTok, Shopee, Lazada ให้ลองเล่นกัน ซึ่งล้วนแล้วแต่สะดวกสบาย แล้วแต่ความถนัดของแต่ละคนเลย

ข้อดีของ affiliate สำหรับครีเอเตอร์คือ เป็นอีกช่องทางการหารายได้ที่ไม่ต้องลงแรงมาก แค่ทำคอนเทนต์ช่วยโปรโมต ไม่จำเป็นต้องมีผู้ติดตามเยอะก็ไปสมัครได้ ใช้เวลาไม่นาน ส่วนข้อดีสำหรับแบรนด์ก็คือ มีคนช่วยโปรโมตจำนวนมากโดยที่ไม่ต้องลงทุนเยอะ

แล้วแบรนด์ที่อยากทำ affiliate ต้องมีอะไรบ้าง

  • ต้องมีจุดเด่น เช่น แพ็กเกจจิ้งสวย มีคุณสมบัติแปลกใหม่ เพราะไม่อย่างนั้นก็คงยากในการให้ครีเอเตอร์ไปทำคอนเทนต์
  • ให้ % ค่าคอมที่ดึงดูด แน่นอนว่าใครก็อยากได้ส่วนแบ่งเยอะ ๆ อยู่แล้ว
  • ทำ branding ดี เพราะครีเอเตอร์อยากเลือกสินค้าที่ขายง่าย ขายแล้วตัวเองก็ดูดีไปด้วย
  • มียอดขายไม่น้อยเกินไป ถ้าน้อยเกินคนก็ไม่อยากช่วยขายเพราะไม่รู้ว่าคุณภาพเป็นยังไง เชื่อถือได้แค่ไหน
  • เตรียมสต็อกของให้พร้อม ไม่ใช่ว่าคน aff. มาแล้วของหมด ครีเอเตอร์เจอแบบนี้ก็เซ็งเหมือนกัน

แล้วฝั่งครีเอเตอร์ล่ะ ต้องเตรียมตัวยังไงบ้าง

  • เลือก affiliate program ที่เหมาะสมกับตัวเอง ใครเป็นสายทำคลิปก็ไป TikTok ใครขอแค่แปะลิ้งก์ก็ไป Shopee, Lazada
  • หาสินค้าที่เหมาะสมกับเรา เช่น ราคา ค่าคอม ความยากง่าย ความพร้อมเรื่องสต็อกสินค้า เพราะสินค้าที่เรา aff. ก็สามารถสะท้อนตัวตนของเราได้เช่นกัน นอกจากนั้น สินค้าที่คน aff. เยอะก็น่าทำ เพราะการที่คนจะซื้อ เค้าไม่ได้เห็นครั้งเดียว ต้องเห็นหลาย ๆ ครั้งก่อน คอนเทนต์เราอาจจะฟลุกได้ลูกค้า สามารถ piggybag ไปกับคนอื่นได้ ส่วนของที่เราไม่ชอบ ก็ aff. ได้เช่นกัน เพราะคนอื่นอาจจะชอบ
  • ออกแบบคอนเทนต์ให้เหมาะสม จริงใจ บางอันไม่ต้องเล่นใหญ่ก็ได้ เน้นความเรียล
  • ติดตามผลและปรับปรุงแก้ไข เพื่อพัฒนาคอนเทนต์ต่อไป

สรุป

ปีนี้ก็เป็นอีกปีที่งาน iCreator คึกคัก คนเยอะตลอดทั้งงาน แอร์ยังคงเย็นเจี๊ยบเหมือนอยู่ขั้วโลก สปีกเกอร์มีหัวข้อน่าสนใจเยอะจนเลือกเข้าห้องไม่ถูกกันเลยทีเดียว โชคดีที่มีให้ดูย้อนหลัง

สำหรับใครที่ปีนี้พลาดไป เจอกันปีหน้านะคะ สามารถติดตามความเคลื่อนไหวของงานได้ที่ https://www.rainmaker.in.th/ 

Leave a comment

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

Blog at WordPress.com.

Up ↑