รีวิว The Guernsey Literary and Potato Peel Pie Society (2018): หนังสือเชื่อมเราไว้ด้วยกัน

ไม่ว่าใครก็ล้วนโหยหาความสัมพันธ์ที่ดี และถ้าให้ดีก็อยากให้มีหนังสือสักเล่ม

The Guernsey Literary and Potato Peel Pie Society (ชื่อยาวจัด ต้องก๊อปเพสต์) เป็นเรื่องราวที่น่าจะถูกใจหนอนหนังสือพอสมควร ส่วนตัวเราชอบเรื่องราวที่เล่าถึงอิทธิพลของหนังสือ/วรรณกรรม ไม่ว่าจะเป็น Balzac and the Little Chinese Seamstress หรือ Fahrenheit 451

แต่ในขณะที่สองเล่มหลังเน้นไปที่ประเด็นหนัก ๆ อย่างสังคมและการเมือง The Guernsey Literary and Potato Peel Pie Society จะเน้นไปที่การเชื่อมสัมพันธ์ของผู้คนด้วยหนังสือ และการใช้หนังสือเป็นเสมือนแหล่งหลบภัยจากความจริงอันโหดร้าย

ล่าสุดเราได้มีโอกาสอ่านวรรณกรรมและดูภาพยนตร์เรื่องนี้บน Netflix เลยอยากมารีวิวเก็บความประทับใจไว้สักหน่อยค่ะ

ป.ล. จะขอรีวิวในพาร์ตของภาพยนตร์ก่อน แล้วต่อด้วยพาร์ตของหนังสือนะคะ

เรื่องย่อ

เรื่องราวเริ่มต้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพิ่งจบลง จูเลียต (Lily James) นักเขียนสาวจากลอนดอน ได้รับจดหมายปริศนาจากชายที่ชื่อว่าดอว์ซีย์ (Michiel Huisman) จดหมายฉบับนี้ถูกส่งมาจากเกาะเกิร์นซีย์ ซึ่งตั้งอยู่ ณ ช่องแคบอังกฤษ โดยเนื้อความในจดหมายนั้นดอว์ซีย์เล่าว่าเขามีโอกาสได้อ่านหนังสือของ Charles Lamb และชอบมาก จึงอยากอ่านเพิ่ม แต่บนเกาะนั้นหลังถูกยึดครองโดยทหารเยอรมันก็ไม่มีร้านหนังสือเลย พอเจอว่าบนหนังสือที่เขามีนั้นระบุชื่อจูเลียตพร้อมที่อยู่ เขาจึงลองส่งจดหมายมา เพื่อขอให้เธอช่วยส่งคอนแทคร้านหนังสือที่ลอนดอนให้หน่อย เขาจะสั่งซื้อ

จูเลียตรู้สึกถูกโฉลกกับดอว์ซีย์ จึงซื้อหนังสือส่งให้เป็นของขวัญ หลังจากนั้นทั้งคู่ก็ส่งจดหมายหากันอย่างสม่ำเสมอ จูเลียตได้รับรู้ว่าดอว์ซีย์นั้นเป็นหนึ่งในสมาชิกของ The Guernsey Literary and Potato Peel Pie Society หรือแปลไทยก็คือ “สโมสรวรรณกรรมเกิร์นซีย์และพายเปลือกมันฝรั่ง” ซึ่งนั่นก็ยิ่งทำให้จูเลียตสนใจชีวิตบนเกาะมากขึ้นอีก เธอหมายมั่นปั้นมือว่าจะต้องไปเยือนเกาะเกิร์นซีย์ให้ได้ ขณะเดียวกัน เธอก็หวังว่าจะได้เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับสมาคมนี้เช่นกัน

ภาพรวมของหนัง

หนังมีความยาวประมาณ 2 ชั่วโมง ส่วนตัวคิดว่าไม่มากไม่น้อยไป แม้จะมีบางพาร์ตของหนังที่เอื่อย ๆ หน่อย แต่ไม่ถึงกับน่าเบื่อจนหลับ ส่วนหนึ่งอาจจะเพราะเราอ่านหนังสือมาก่อนแล้วด้วยเลยค่อนข้างเอ็นจอยกับหนังพอสมควรเลย

การเล่าเรื่องของหนังนั้นจะมีการตัดสลับไปยังอดีตสมัยที่เกาะเกิร์นซีย์ยังถูกยึดครองโดยทหารเยอรมัน ทำให้เราค่อย ๆ รู้ถึงอดีตของตัวละครบนเกาะนี้มากขึ้น เรียกได้ว่ารู้ไปพร้อม ๆ กับจูเลียตเลยละ

และแม้ตัวหนังจะมีการพูดถึงสงคราม แต่โทนของหนังกลับไม่ได้หดหู่หรือเครียด ตรงกันข้าม หนังมีความอบอุ่น น่ารัก ขี้เล่น ปลอบประโลม มีเศร้าบ้างแต่ไม่ฟูมฟาย เรียกได้ว่าสามารถดูได้แบบเบาสมอง แต่ไม่ไร้สาระ

โลเคชั่นในหนังนั้นก็ไม่พลาดที่จะแสดงความสวยงามบนเกาะเกิร์นซีย์ ที่ซึ่งมีทั้งธรรมชาติและทิวทัศน์ที่ดูอบอุ่นใกล้ชิด ต่างจากลอนดอนที่ดูแออัดวุ่นวาย ทำเอาอยากไปเที่ยวเลย

หนังสือ = เครื่องมือฮีลใจในวันที่โลกความจริงนั้นขมปร่า

แม้สโมสรวรรณกรรมเกิร์นซีย์และพายเปลือกมันฝรั่งจะถูกก่อตั้งขึ้นจากความบังเอิญที่ถูกทหารเยอรมันจับได้ว่าพวกเขาแอบออกมาสังสรรค์กัน แต่สมาคมนี้ก็กลายเป็นสวรรค์น้อย ๆ ของชาวเกาะเมื่อพวกเขาได้ลองอ่านหนังสือ และได้แชร์ร่วมกับสมาชิกในสมาคม

ในช่วงการยึดครองทางการทหาร ชีวิตความเป็นอยู่บนเกาะเกิร์นซีย์นั้นเรียกได้ว่าลำบากทุกเม็ด อาหารก็ไม่ได้กินแบบดี ๆ ข้าวของถูกยึด อิสรภาพถูกขโมย ไม่มีช่องทางการติดต่อโลกภายนอก ต้องใช้ชีวิตอย่างจำกัดจำเขียด แต่การที่ชาวเกาะได้อ่านหนังสือ ก็เปรียบเสมือนหนทางให้พวกเขาได้เห็นโลกภายนอก ได้หลีกหนีจากความเป็นจริงอันโหดร้ายชั่วครู่ นอกจากนี้ การได้แชร์ความชอบในหนังสือกับกลุ่มคนที่ชอบเหมือนกันในสมาคม ก็ทำให้สายสัมพันธ์ของแต่ละคนแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น ทำให้พวกเขาได้กลับมามีปฏิสัมพันธ์แบบมนุษย์ธรรมดา ๆ อีกครั้งหนึ่ง

บทบาทของหนังสือยังพิเศษขึ้นอีก ตรงที่มันเชื่อมให้คนที่อยู่ห่างไกลหลาย ๆ กิโลเมตรได้มาเจอกัน นั่นก็คือกรณีของจูเลียตนั่นเอง เพียงหนังสือเล่มเดียวของจูเลียตที่จับพลัดจับผลูบังเอิญตกไปอยู่ในมือของดอว์ซีย์ ก็ดลบรรดาลให้ทั้งคู่ได้มาเจอกันและพบความสัมพันธ์สุดพิเศษ

ความโหดร้ายของสงคราม ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเข้าใจ

แน่นอนว่าเมื่อเรื่องราวแตะเกี่ยวกับสงคราม คงให้มีแต่เรื่องแฮปปี้ ๆ ไม่ได้

ทุก ๆ คนล้วนได้รับผลกระทบจากสงคราม อย่างจูเลียตเองก็สูญเสียบ้านจากการถูกระเบิด คนบนเกาะเองก็ได้สูญเสียชีวิตอันปกติสุขและบุคคลอันเป็นที่รักไป ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าเป็นประเด็นอ่อนไหวมาก ชนิดที่ว่ากว่าจูเลียตจะได้รับรู้ ก็ต้องใช้เวลาสร้างความเชื่อใจพอสมควร

ด้วยเหตุนี้ ตอนแรกที่จูเลียตบอกชาวเกาะว่าอยากตีพิมพ์เรื่องราวของพวกเขา ชาวเกาะโดยเฉพาะอมิเลีย (Penelope Wilton) หญิงอาวุโสของสมาคม ถึงขั้นปฏิเสธอย่างแข็งกร้าว นั่นเพราะอมิเลียได้สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไปหลายคนจากสงครามนี้ การเผยแพร่เรื่องนี้ก็คงกึ่ง ๆ เหมือนยิ่งตอกย้ำเรื่องราวแสนเศร้านี้ และถึงจะได้ตีพิมพ์ออกไป ใครเล่าจะเข้าใจความเจ็บปวดนี้ ถ้าไม่ได้พบเจอกับตัวเอง

จูเลียตทำสิ่งที่ถูกต้องคือการถามความยินยอมจากชาวเกาะก่อน ไม่ใช่เอะอะ ๆ เห็นเรื่องน่าสนใจก็หิวแสงและเขียนเลยโดยไม่ถามไถ่พวกเขา ในมุมของคนนอก อาจจะไม่ได้รู้สึกลึกซึ้งอะไร แต่ในมุมของคนเล่าเรื่อง เขาอาจจะมีปมในใจทำให้ไม่พร้อมเล่าก็ได้

ฉันชอบเธอ เพราะเธอดูเข้าใจตัวตนของฉัน

อีกประเด็นที่ไม่เขียนถึงไม่ได้ ก็คงเป็นเรื่องราวความรักระหว่างจูเลียตกับดอว์ซีย์ ที่เริ่มต้นจากหนังสือเล่มเดียวเท่านั้น

จูเลียตกับดอว์ซีย์เขียนจดหมายหากันและกัน นั่นทำให้ทั้งคู่รู้สึกเสมือนสนิทกันแม้จะไม่เคยเจอหน้ากันเลย การมีความสนใจในสิ่งเดียวกัน (หนังสือ) ทำให้ทั้งคู่รู้สึกพิเศษต่อกัน ในภายหลังที่ดอว์ซีย์ถามจูเลียตว่า ตอนเขียนจดหมายถึงกันนั้นเธอจินตนาการเขาเป็นอย่างไร จูเลียตก็ตอบเพียงว่า “มันเป็นความรู้สึก ฉันรู้สึกเหมือนกำลังคุยกับคนที่เข้าใจในตัวตนของฉันจริง ๆ” และเราคิดว่านั่นก็คือเมล็ดพันธุ์ที่ทำให้ต่อมาจูเลียตเริ่มค่อย ๆ หลงรักดอว์ซีย์เมื่อได้เจอหน้ากันจริง ๆ

อย่างไรก็ตาม เราคิดว่าความสัมพันธ์ของดอว์ซีย์กับจูเลียตในหนังออกจะฉุกละหุกไปหน่อย ดูรักกันง่ายไปหน่อย เพราะจูเลียตเองก็มีคู่หมั้นอย่างมาร์ค ทหารหนุ่มชาวอเมริกันแล้ว มันเลยดูค่อนข้างเร็วไปที่จะตกลงปลงใจไปทางดอว์ซีย์เลย ตรงนี้ต่างจากในหนังสือเพราะในหนังสือจะให้เวลาจูเลียตได้อยู่กับดอว์ซีย์มากกว่า และเกริ่นมาแต่แรกว่าความสัมพันธ์ของจูเลียตกับมาร์คนั้นไม่ได้ดีขนาดนั้น

โดยสรุป – เวอร์ชั่นหนัง

เนื่องจากเราเคยอ่านหนังสือมาก่อน เราเลยดูหนังได้อย่างไม่สะดุด คิดว่าถ้าไม่เคยอ่านหนังสืออาจจะมีตามไม่ทันดีเทลบางจุดบ้าง แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้กระทบกับอรรถรสค่ะ เป็นหนังแนวย้อนยุคอีกเรื่องที่ดูได้แบบสบาย ๆ ไม่เครียด ไม่ต้องมีพื้นฐานความรู้ประวัติศาสตร์ มีความอบอุ่นน่ารัก มีดราม่าเล็กน้อยให้ซึ้ง ๆ โดยรวมเป็นหนังที่ดีอีกเรื่องหนึ่งเลย 🙂


มาที่เวอร์ชั่นหนังสือบ้าง

เราจะขอข้ามผ่านเรื่องย่อไปเพราะเรื่องย่อก็เหมือนเวอร์ชั่นหนังเลย

สำหรับหนังสือนั้น เขียนโดยคุณ Mary Ann Shaffer และหลานของเธอ Annie Barrows โดยการเล่าเรื่องของหนังสือก็เก๋ไก๋ใช่เล่น เพราะเล่าผ่านการเขียนจดหมายทั้งเรื่อง! จดหมายทั้งเรื่องจริง ๆ ไม่มีการบรรยายแบบนิยายทั่วไปเลย

ซึ่งการเล่าเรื่องผ่านจดหมายก็ดูสดใหม่ดี และไม่ได้เข้าใจยากอย่างที่คิด จุดที่แหม่ง ๆ นิดนึงคือพี่แกเล่นเขียนจดหมายตอบรับกันแบบวันต่อวัน (บางทีก็ภายในวันเดียว) เลยแอบสงสัยว่าจดหมายมันเดินทางเร็วขนาดนั้นเลยเหรอ เร็วเหมือนส่งอีเมล 555

โทนของหนังสือก็เหมือนหนังเลย คือมีความอบอุ่นน่ารัก มีความตลกขี้เล่น สัมผัสได้ถึงความรักหลากหลายรูปแบบไม่ใช่แค่หนุ่มสาวเท่านั้น เมื่อถึงพาร์ตดราม่าก็สามารถดึงให้เราเข้าใจอารมณ์ของตัวละครได้ ส่วนภาษาการบรรยาย เวอร์ชั่นภาษาอังกฤษอ่านไม่ยากค่ะ จะมีความเป็นภาษาพูดเพราะตัวละครเขียนจดหมายให้กัน

จุดที่แตกต่างจากในหนัง

นี่ก็เป็นอีกเรื่องที่หนังสือเก็บดีเทลได้มากกว่าหนัง ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจเพราะหนังมีเวลาแค่ 2 ชั่วโมง ไม่มีทางเก็บครบทุกรายละเอียดหรอก แต่หนังก็ทำได้ดีในการรวบประเด็น ตัดบางส่วนที่ไม่น่ากระทบเส้นเรื่องหลักออก ทำให้โดยรวมไม่ได้ดูขาด

นอกจากรายละเอียดที่เยอะกว่า เรื่องราวบางจุดก็แตกต่างออกไป ตัวอย่างเช่น จุดแรก ความสัมพันธ์ของจูเลียตกับมาร์ค ในหนังดูเป็นคู่รักที่มั่นคงแฮปปี้กันอยู่แล้ว แต่ในหนังสือ มาร์คเป็นเจ้าของสื่อที่ต้องการจีบจูเลียตไปทำงานด้วย ทั้งคู่ไม่ได้มีความสัมพันธ์ที่ commit แบบในหนัง และเหมือนจูเลียตเองก็ไม่ได้ชอบมาร์คขนาดนั้น จึงสมเหตุสมผลที่จูเลียตจะตกหลุมรักดอว์ซีย์เมื่อได้เจอและรู้จักกันมากขึ้น

จุดที่สอง ในหนังสือ ก่อนที่จูเลียตจะไปเยือนเกาะ เธอได้ส่งจดหมายคุยกับแทบทุกคนในสมาคม (นอกสมาคมก็มี) ทำให้ทุกคนในสมาคมคุ้นเคยกับเธออยู่ก่อนแล้ว ถึงกับมาต้อนรับที่ท่าเรือเลย นอกจากนี้จูเลียตยังแจ้งตั้งแต่ในจดหมายว่าอยากเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับสมาคม และทุกคนก็ไม่ได้มีท่าทีต่อต้าน งานของจูเลียตจึงราบรื่น ติดแค่ตอนที่เธอสมองตันก็แค่นั้น

จุดหลัก ๆ สุดท้าย คือการรู้เรื่องราวของเอลิซาเบ็ธ ผู้ก่อตั้งสมาคมที่ถูกทหารเยอรมันจับกุมตัวไป ในหนังจะรู้ผ่านมาร์คที่ไปแกะรอยมาได้ แต่ในหนังสือ ตัวละครจะได้รับการติดต่อจากหญิงสาวที่เคยอยู่ในค่ายกักกันพร้อมเอลิซาเบ็ธ ในหนังสือจึงมีเรื่องราวตรงนี้ผุดออกมาอีกจุด ซึ่งกระทบกับความสัมพันธ์ของจูเลียตและดอว์ซีย์เล็กน้อยเหมือนกัน

โดยสรุป – เวอร์ชั่นหนังสือ

สรุปรวมคือหนังสือมีจุดที่แตกต่างออกจากหนังอยู่บ้าง ถ้าใครชอบหนัง แนะนำว่าไปหาหนังสือมาอ่านก็จะยิ่งได้อรรถรสครบมากขึ้น แต่ถ้าใครอยากดูแค่หนังอย่างเดียวก็ไม่ได้ติดอะไร เพราะหนังก็ปรับวิธีการเล่าเรื่องให้สมบูรณ์แบบในตัวมันเองแล้ว

ทิ้งท้าย

The Guernsey Literary and Potato Peel Pie Society เป็นอีกหนึ่งเรื่องราวน่ารัก ๆ ฮีลใจ ไม่ว่าจะดูเป็นหนัง หรืออ่านหนังสือ หรือทั้งคู่ เราล้วนแนะนำ จะทำให้รู้สึก appreciate ชีวิตและคนรอบข้างมากขึ้น…รวมถึงหนังสือในตู้ด้วย 🙂

Leave a comment

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

Blog at WordPress.com.

Up ↑