รีวิว Barbie (2023): หีบห่อสีหวานที่บรรจุความจริงอันแสนขม

พอพูดถึงบาร์บี้ เชื่อว่าหลายคนก็คงนึกถึงตุ๊กตาผู้หญิงหน้าตาสะสวย เพอร์เฟ็กต์ตามแบบพิมพ์นิยม มาพร้อมสีชมพูแสนหวานแหวว เสื้อผ้าฟูฟ่อง และบ้านตุ๊กตาแสนน่ารัก

บาร์บี้ในเวอร์ชั่นภาพยนตร์จึงไม่น่าจะมีอะไรมากไปกว่าเรื่องราวผจญภัยสนุกสนานของผู้หญิงคนหนึ่ง

แต่สิ่งที่เจอก็คือ ภาพยนตร์เรื่อง Barbie ที่กำกับโดย Greta Gerwig เรื่องนี้ กลับมีความลึกซึ้งยิ่งกว่าหนังตลกเบาสมอง เพราะหนังมีแง่มุมหลากหลายจนอยากจะเขียนรีวิวเป็นโพสเพื่อตกตะกอนสักหน่อย

เรื่องย่อ

ตัวหนังเล่าถึงสถานที่หนึ่งชื่อ “Barbieland” ดินแดนของเหล่าตุ๊กตาในจักรวาลบาร์บี้ ซึ่งไม่ได้มีแค่บาร์บี้เท่านั้น แต่ยังมีเคน เพื่อนของเคน รวมถึงบาร์บี้ในชื่ออื่น ๆ ด้วย โดยดินแดนแห่งนี้ก็อย่างที่เราคาดกัน คือมีความชมพูหวานแหวว เหมือนดินแดนตุ๊กตา การใช้ชีวิตที่นี่เต็มไปด้วยความเฮฮาสนุกสนานเสมือนทุกวันเป็นปาร์ตี้ปีใหม่

นางเอกคือ “บาร์บี้” (Margot Robbie) ที่เป็นบาร์บี้ตามแบบพิมพ์นิยม ผมบลอนด์ ตาโต หุ่นดี ชีวิตแต่ละวันดำเนินไปอย่างราบรื่น มีเพื่อนรายล้อม มีผู้ชายคอยเซอร์วิส แต่อยู่มาวันหนึ่งก็เกิดมีความคิดผิดแผกที่ใคร่รู้เกี่ยวกับความตาย (ซึ่งเป็นเรื่องน่าตกใจมากในดินแดนอันแสนเพอร์เฟ็กต์นี้) ไหนจะชีวิตที่เริ่มสะดุด เริ่มมีเซลลูไลท์ เริ่มมี “เท้าแบน” ที่ไม่สามารถสวมส้นสูงได้ ทุกสิ่งเหล่านี้ทำให้บาร์บี้เริ่มพารานอยด์ว่านี่มันเกิดอะไรขึ้นกับชั้นนนน ซึ่งทางแก้ก็คือเธอต้องไปพบกับ “เจ้าของ” ของเธอในโลกแห่งความจริง ดูว่าเกิดปัญหาอะไรขึ้นกับเจ้าของ ถ้าเคลียร์ไม่ได้ก็จงมีเซลลูไลท์ต่อไปนะจ๊ะ

นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางไปพบปะความจริงอันโหดร้าย โดยมี “เคน” (Ryan Gosling) ตามติดบาร์บี้ไปด้วย ซึ่งการเดินทางครั้งนี้ก็ได้นำมาซึ่งการเบิกเนตรครั้งยิ่งใหญ่ของทั้งคู่

ภาพรวมของหนัง

ถ้าใครคาดหวังงานภาพสวย ๆ หวานแหวว สีชมพู เหมือนอยู่ในโลกตุ๊กตา ขอบอกว่า Barbie จะไม่ทำให้ผิดหวังแน่นอน เพราะทุกฉากทุกซีนที่อยู่ใน Barbieland (หรือแม้กระทั่งออกนอก Barbieland ก่อนถึงโลกมนุษย์) นั้นมีความแฟนตาซีเหนือจริง ทำให้อยากหลุดเข้าไปอยู่ในนั้นบ้างเลย ทางด้านเสื้อผ้าหน้าผม ก็คือตรงตามคาแรคเตอร์เลยทั้งบาร์บี้และเคน เชื่อว่าสาว ๆ น่าจะอยากลองใส่ชุดต่าง ๆ ของบาร์บี้มั่งละ

เส้นเรื่องของหนัง จะเริ่มปูจากความแฟนตาซีก่อน ช่วงแรก ๆ เลยจะยังไม่ได้มีความหนักของเนื้อหาเท่าไร ดูเพลิน ๆ เสพโปรดักชั่นไป แต่พอเรื่องเริ่มดำเนินไปถึงช่วงกลาง ๆ – ปลาย ๆ ก็จะเริ่มมีประเด็นต่าง ๆ เข้ามามากขึ้น ชนิดที่ว่าถ้าเด็กไปดูอาจจะตามไม่ทันและไม่รู้เรื่อง แต่ถ้าเป็นผู้ใหญ่ที่ผ่านโลกมาระดับนึงน่าจะเข้าถึงประเด็นเหล่านี้ได้ดี

แต่ถึงจะมีประเด็นที่หนัก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศสภาพ ความเท่าเทียม ความไร้ที่ติ ตัวหนังก็ไม่ได้สื่อออกมาในโทนเครียด เพราะด้วยหน้าหนังที่มีความคอเมดี้ โทนหนังก็จะมีความจิกกัด ตลกร้าย และเมื่อถูกฉาบด้วยความเป็นบาร์บี้ ประเด็นหนัก ๆ เหล่านี้เลยเสพง่ายขึ้น

ไม่ว่าเพศไหนก็ล้วนต้องการอำนาจ

สังคมใน Barbieland นั้นผู้หญิงเป็นใหญ่ ผู้หญิงล้วนมีบทบาทสำคัญ ๆ เช่น เป็นประธาธิบดี หมอ นักเขียน ฯลฯ ในขณะที่ผู้ชายนั้นไม่ได้มีบทบาทอะไรไปมากกว่าไม้ประดับคอยซัพพอร์ตผู้หญิง ขนาดพระเอกอย่างเคน ยังนิยามอาชีพของตัวเองว่า “ชายหาด” เลย (ก็คือไม่ได้ทำงานอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน แค่ยืนเก๊กหล่ออยู่ที่ชายหาด)

เรียกง่าย ๆ ก็คือ ใน Barbieland นั้นทุกอย่างกลับตาลปัตรแบบ extreme จากความเป็นจริง ดังนั้นเมื่อบาร์บี้และเคนได้มาเยือนชีวิตจริง จึงต้องช็อกมากเมื่อรู้ว่าทุกอย่างไม่เหมือนที่ Barbieland เลย

นอกจากจะช็อกแล้ว ความจริงข้อนี้ยังทำให้เคนได้เบิกเนตร เมื่อเห็นว่าบนโลกมนุษย์นั้นมีความเป็นปิตาธิปไตย เคนจึงนำแนวคิดนี้กลับไปปฏิวัติใน Barbieland ทวงคืนอำนาจจากผู้หญิง แล้วสถาปนาดินแดนใหม่เป็น Kendom

ซึ่งเมื่อสถานะอำนาจสั่นคลอนแบบนี้ บาร์บี้ก็ไม่ยอมอยู่เฉย รวบรวมกำลังเพื่อนหญิงมาทวงคืนอำนาจจนได้

แวบแรกอาจจะรู้สึกว่านี่มันหนังเฟมินิสต์ ดูเชิดชูผู้หญิงเหลือเกิน ฝ่ายชายทำอะไรก็ดูตลกโบ๊ะบ๊ะปัญญาอ่อนไปซะหมด นี่รวมถึงเหล่าผู้ชายในชีวิตจริงที่ถูกหนังกัดแซะซะสะเทือนชายแท้กันเป็นแถว

แต่พอดูดี ๆ เรากลับคิดว่า หนังกำลังแซะขั้วอำนาจทั้งสองฝั่งอยู่ ทั้งผู้ชายและผู้หญิงเลย

สถานการณ์อำนาจสั่นคลอนที่เกิดขึ้นใน Barbieland เอาเข้าจริงมันก็แอบสะท้อนโลกความเป็นจริงที่อำนาจของผู้ชายเริ่มสั่นคลอน จากการที่ผู้หญิงเริ่มมีความเก่งกาจ มีปากมีเสียงมากขึ้น เพียงแต่ใน Barbieland นั้นมีความสลับเพศกัน และสุดท้าย เหล่าผู้หญิงใน Barbieland ก็ทนเห็นผู้ชายตีคู่ขึ้นมาไม่ได้ ยึดอำนาจกลับอยู่ดี

มาสู่ข้อสรุปที่ว่า ไม่ว่าจะเป็นเพศไหน ถ้าได้ครองอำนาจแล้ว ก็คงไม่อยากปล่อยมือ

หรือแปลให้ตรงอีกก็คือ แม้จะเป็นผู้หญิงที่โหยหาความเท่าเทียม แต่เมื่อตัวเองมีอำนาจ ก็ไม่อยากเสียอำนาจนั้นไป

ส่วนตัวเลยคิดว่า หนังไม่ได้เชิดชูผู้หญิงอะไรขนาดนั้น ไม่ได้เข้าข้างเฟมินิสต์ แต่กำลังกัดจิกสัญชาตญาณของมนุษย์ที่ไม่อยากให้ Status Quo สั่นสะเทือนต่างหาก

ตระหนักถึงคุณค่าในตัวเอง แม้ทุกอย่างจะไม่เพอร์เฟ็กต์

ประเด็นนึงที่หนังหยิบมาจิกกัดคือ Beauty Standard ซึ่งก็สะท้อนผ่านตัวนางเอกอย่างบาร์บี้นี่แหละ เธอเป็นบาร์บี้รุ่นพิมพ์นิยม จึงเป็นรูปแบบความงามต้นตำรับที่เป็นที่ใฝ่ฝันของสาว ๆ

ตัวบาร์บี้นางเองก็รู้ดีว่านางช่างเพอร์เฟ็กต์ ชีวิตโรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่อยู่มาวันหนึ่งก็ต้องพบเจอจุดด่างพร้อยในชีวิต เช่น สิ่งของต่าง ๆ ในบ้านไม่ทำงานได้ดีแบบเคย รวมถึงเรื่องร่างกายที่เริ่มมีเซลลูไลท์ เท้าแบนจนใส่ส้นสูงไม่ได้ ทำให้บาร์บี้เริ่มหวั่นวิตกว่านี่มันไม่ปกติแล้วววว

เราคิดว่ามันน่าสนใจดีที่นำพาตุ๊กตาแสนเพอร์เฟ็กต์นี้มาเจอโลกแห่งความเป็นจริง เพราะเมื่อบาร์บี้มาที่โลกมนุษย์ ก็ได้พบเจอว่าความเป็นจริงช่างต่างจากในบาร์บี้แลนด์ ดูเหมือนว่าเด็ก ๆ ที่เคยมีเธอเป็นของเล่นนั้น จะไม่ได้เชิดชูเธออย่างที่เธอคาดฝันไว้เลย ต่างก็กล่าวหาว่าเธอด้อยค่าผู้หญิงให้เป็นเพียงวัตถุทางเพศ ล้างสมองผู้หญิงให้มี Beauty Standard ที่ไม่มีวันเป็นจริง เมื่อบาร์บี้ได้รับรู้ความเป็นจริงอันโหดร้ายข้อนี้ เธอก็เกิด Existential Crisis เริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับการมีอยู่ของตัวเอง ยิ่งด้วยความที่เธอเป็นบาร์บี้ที่ไม่ได้ทำอาชีพอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ดีแค่สวยไปวัน ๆ เธอก็ยิ่งด้อยค่าตัวเองว่าหรือจริง ๆ แล้วตัวเธอมันไม่มีดีอะไรเลย

นอกจากบาร์บี้แล้ว ตัวละคร “เคน” เองก็มีปมนี้เช่นกัน เพราะเคนนั้นถือเป็นเพียง “ตัวเสริม” ในโลกของบาร์บี้ มีความหมายในสายตาคนก็ต่อเมื่อห้อยท้ายมากับบาร์บี้เท่านั้น หากเคนอยู่คนเดียว ก็จะถูกมองว่าหมอนี่ก็แค่เคน ไม่ได้มีความพิเศษอะไร ซึ่งนั่นก็ทำให้เคนรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่ามากถ้าบาร์บี้ไม่เหลียวแล

ส่วนตัวเรา เราคิดว่าประเด็นนี้ค่อนข้างทัชใจเหมือนกันนะ ตอนจบหนังปลอบใจว่าทุกคนล้วนมีคุณค่าในตัวเอง และ encourage ให้ทุกคนหาให้เจอว่านิยามชีวิตของตัวเองเป็นอะไร โดยที่ไม่ต้องไปผูกกับใครหรือสิ่งใด

จงเป็นตัวเอง ในแบบที่เป็น “ตัวเอง” ที่สุด และมองความไม่เพอร์เฟ็กต์ต่าง ๆ ให้เป็นธรรมชาติ ไม่ต้องไปยึดติดกับมันมากเกินไป

สรุป

แม้จะดูเป็นหนังเด็ก แต่เราคิดว่าการจะดูเรื่องนี้ให้สนุก ต้องเป็นผู้ใหญ่มากกว่า

และไม่ว่าคุณจะชอบหรือไม่ชอบบาร์บี้ เราคิดว่าหนังเรื่องนี้ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนก็ดูได้หมด

เราชอบนะ พอออกมาจากโรงก็รู้สึกอิ่มเอมใจดี เราคิดว่าคนที่จะดูหนังเรื่องนี้ได้อิน อาจจะต้องผ่านชีวิตมาระดับหนึ่ง พบเจอเรื่องราวที่ทำให้สงสัยกังขาตัวเองมาบ้างแล้ว และถ้าใครรู้สึกไม่มั่นใจในตัวเอง หนังเรื่องนี้ก็น่าจะช่วยเสริมกำลังใจได้ระดับหนึ่งเหมือนกัน 🙂

Leave a comment

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

Blog at WordPress.com.

Up ↑