ถ้าพูดถึงหนังกฎหมาย หลายคนอาจจะตั้งแง่ไปแล้วว่าต้องหนักหน่วง ดูไม่รู้เรื่อง น่าเบื่อ ชวนหลับคาโซฟา
แต่สิ่งนี้ไม่ใช่กับ On The Basis of Sex หนังสร้างจากชีวิตจริงของรูธ เบเดอร์ กินส์เบิร์ก (Felicity Jones) ทนายความสาวแกร่งที่ชนะคดีมามากมาย และมีส่วนช่วยผลักดันให้กฎหมายของสหรัฐฯ มีความเท่าเทียมทางเพศมากขึ้น โดยตำแหน่งสุดท้ายของเธอก่อนจะเสียชีวิตในปี 2020 คือหนึ่งในองค์คณะผู้พิพากษาประจำศาลสูงของสหรัฐ
เพราะกับ On The Basis of Sex หนังไม่ได้ยัดเยียดข้อความกฎหมายมาให้เราทื่อ ๆ แต่ผูกเรื่องให้น่าติดตาม ใส่ Humor เข้ามาเล็กน้อย และมีการดำเนินเรื่องที่ชวนลุ้นแม้เราจะรู้ผลลัพธ์กันอยู่แล้ว

On The Basis of Sex เล่าย้อนไปถึงช่วงยุคปี 1950 ที่รูธได้เข้าเรียนกฎหมายที่มหา’ลัยฮาร์วาร์ดได้ ซึ่งเธอก็เป็นผู้หญิงเพียงไม่กี่คนท่ามกลางดงชายล้วน เธอต้องเผชิญกับการทรีตอย่างไม่เป็นธรรมเพียงเพราะเธอเป็นผู้หญิง ไหนจะถูกเมินในห้องเรียนบ้างละ ไหนจะที่มหา’ลัยไม่มีห้องน้ำหญิงบ้างละ ราวกับว่าสังคมมองว่าผู้หญิงไม่มีที่ยืนในแวดวงกฎหมายงั้นละ
รูธจบมาด้วยคะแนนอันดับหนึ่ง แต่ถึงอย่างนั้นเธอก็ถูกปฏิเสธการรับเข้าทำงานเป็นทนายความจากสำนักงานกฎหมายถึง 12 แห่งเพียงเพราะเธอเป็นผู้หญิง ลงเอยด้วยการมาเป็นอาจารย์วิชากฎหมายที่ทำได้เพียงแค่ยกเคสเก่า ๆ มาสอนนักเรียน ซึ่งแน่นอนว่าชวนอัดอั้นตัดใจมากสำหรับสาวไฟแรงอย่างรูธที่อยากจะออกไปว่าความเอง ไปลงมือเปลี่ยนแปลงสังคม ไม่ใช่แค่อยู่แต่ในห้องเรียน

แต่แล้ววันหนึ่งชีวิตของรูธก็เปลี่ยนไป เมื่อมาร์ติน (Armie Hammer) สามีที่เป็นทนายของเธอ ได้นำคดีหนึ่งมายื่นให้เธอลองตรวจสอบดู เป็นคดีของชายผู้หนึ่งซึ่งเลี้ยงดูแม่ผู้แก่ชรา เขาไม่ได้รับการลดหย่อนภาษีจากค่าเลี้ยงดูเหมือนผู้หญิงเพียงเพราะเขาเป็นผู้ชาย ซึ่งพอรูธเห็นเคสนี้ก็ตาลุกวาวทันที เพราะนี่มัน sex discrimination กับผู้ชายชัด ๆ! เธอและสามีจึงตัดสินใจรับทำคดีนี้ เพราะมองว่ามันจะเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการล้างระบบความไม่เท่าเทียมทางเพศได้
หนังมีความยาวประมาณ 2 ชั่วโมง ซึ่งตอนแรกก็หวาด ๆ ว่า ฉันจะหลับมั้ย ซึ่งเอาเข้าจริงปรากฎว่า หนังสนุกมากกว่าที่คาดไว้สุด ๆ ด้วยการดำเนินเรื่องที่ไม่ยืดยาดน่าเบื่อ แต่กระชับฉับไวชวนให้ลุ้นติดตามเรื่อย ๆ บวกกับบทสนทนาที่เฉียบคมของตัวละคร ซึ่งก็ต้องยอมรับแหละว่าอ่านซับเกือบทั้งเรื่องเพื่อกันหลุด 555 ก็นะ เพราะเป็นหนังกฎหมาย เลยต้องมีศัพท์แสงทางกฎหมายแทรกมาเรื่อย ๆ ถ้าใครไม่คุ้นชินก็อาจจะงงได้เหมือนกัน

ระหว่างดู หนังก็เหมือนชวนเราคิดไปด้วย กับเคสต่าง ๆ ที่หนังหยิบยกขึ้นมาให้เป็นประเด็กถกเถียงกัน ซึ่งก็จะพบว่าบางกฎหมายนี่โคตรเหมารวมและโลกแคบมาก เช่น กฎหมายภาษีที่อนุญาตให้แค่ผู้หญิงที่ดูแลคนแก่ สามารถนำค่าใช้จ่ายมาลดหย่อนภาษีได้ เพียงเพราะกฎหมายมองว่ามันเป็นธรรมชาติของผู้หญิงที่ต้องอยู่บ้านเลี้ยงดูคน ไม่ใช่ผู้ชาย ดังนั้นผู้ชายที่มี role เดียวกันนั้นไม่มีสิทธิ์ หรือกฎหมายที่ให้ฝ่ายชายมีสิทธิ์เป็นผู้ดูแลมรดกเพราะผู้ชายเก่งเลขกว่าผู้หญิง คือแบบชวนอิหยังวะมาก
จินตนาการออกเลยว่าในยุคสมัยนั้น การเรียกร้องหรือล้มล้างอะไรแบบนี้ จะต้องเป็นเรื่องยากหินมากแน่ ๆ แต่รูธก็ยังคงยืนหยัดว่าจะทำ เพราะถ้าไม่เริ่มทำ แล้วเมื่อไรมันจะเกิดขึ้น? อย่างน้อยการเริ่มทำ ก็อาจจะเป็นก้าวแรกของการเปลี่ยนแปลงก็ได้ หนังเรื่องนี้นอกจากจะเป็นชีวประวัติเพียงอย่างเดียวแล้ว ยังสร้างแรงบันดาลใจและเพิ่มความฮึกเหิมให้คนดูด้วย
ถึงแม้ว่าเราจะรู้ตอนจบอยู่แล้ว (เพราะสร้างจากเรื่องจริง) แต่หนังก็ยังชวนให้เราคอยติดตามเอาใจช่วยรูธและทีมอยู่ตลอด อยากรู้ว่าจะใช้คำพูดแบบไหน การโต้เถียงแบบไหนถึงจะสามารถชนะใจศาลได้ ซึ่งช่วงไคลแมกซ์ตอนสุดท้ายในศาล กับคำพูด 4 นาทีสุดท้ายของรูธ เป็นอะไรที่ชวนขนลุกและกินใจมาก ๆ แถมในตอนท้ายของหนัง คุณรูธตัวจริงยังให้เกียรติมาร่วมแจมในหนังด้วยลุคมาดมั่นอีกด้วย

โดยสรุปแล้ว On The Basis of Sex เป็นหนังกฎหมายชีวประวัติที่ไม่ได้น่าเบื่ออย่างที่คิด มีความสนุกและน่าติดตาม ชวนให้ทึ่งไปกับวีรกรรมของรูธที่กล้าท้าทายและเปลี่ยนแปลงกฎหมาย ซึ่งในสมัยนั้นคงเป็นเรื่องที่ดูเป็นไปไม่ได้สุด ๆ แต่เธอก็แสดงให้เห็นแล้วว่ามันเป็นไปได้ และมันก็ส่งผลดียาวนานต่อรุ่นลูกรุ่นหลานเลย
Leave a Reply