รีวิว Okja (2017): ภารกิจช่วยหมูยักษ์เพื่อนรักของเด็กหญิงตัวเล็กๆ

จริงๆ เราได้ยินชื่อ Okja ตั้งแต่ปล่อยแรกๆ ใน Netflix แล้ว แต่ก็ไม่ได้สนใจมากเพราะเข้าใจไปเองว่าเป็นหนังเชิงรักสัตว์รักธรรมชาติกึ่งสารคดี (ไม่รู้ไปเอาความคิดนี้มาจากไหน) แต่พอวันนี้ที่ได้ดูจริงๆ แล้ว มันไม่ใช่แบบที่เราเข้าใจเลย กลับกันคือหนังจากผู้กำกับ Bong Joon Ho เรื่องนี้สนุกมาก และเสียดสีสังคมได้อย่างเจ็บแสบ

มีสปอยล์

Okja เริ่มต้นด้วยโครงการของบริษัทมิรานโด ที่ซึ่งลูซี่ (Tilda Swinton) เป็น CEO ในปัจจุบัน เธอเห็นว่าผู้บริโภคต่อต้านอาหารที่ถูกดัดแปลงพันธุกรรม (GMO) จึงคิดค้นโปรเจ็กต์ที่จะสร้างภาพลวงตาผู้บริโภคขึ้นมา โดยอ้างว่าบริษัทตอนนี้มีหมูพันธุ์ใหม่ซึ่งเป็นหมูยักษ์ บริษัทได้ส่งหมูยักษ์ 26 ตัวไปให้คนเลี้ยงหมูทั่วโลก เพื่อให้พวกเขาเลี้ยงดูหมูยักษ์เป็นเวลา 10 ปี

ภาพตัดมาที่ 10 ปีต่อมา ในชนบทประเทศเกาหลีใต้ เราได้รู้จักกับมีจา (Seo-hyun Ahn) เด็กหญิงที่อาศัยอยู่กับปู่ของเธอท่ามกลางธรรมชาติ พวกเขาได้เลี้ยงดูโอคจา หมูยักษ์ที่บริษัทมิรานโดให้มานั่นละ มีจากับโอคจาอยู่ด้วยกันมาตั้งแต่มีจาอายุเพียง 4 ขวบ ถือเป็นเพื่อนสนิทคนสำคัญเลย แต่แล้วมีจาก็ต้องเจอเรื่องช็อก เมื่อจู่ๆ ตัวแทนจากบริษัทมิรานดา สาขาเกาหลีใต้ก็มาขอตัวโอคจาคืนตามกำหนดการ มีจาเข้าใจมาตลอดว่าปู่ของเธอซื้อโอคจามาจากบริษัทมิรานดาแล้ว ก็ไม่พอใจอย่างมาก เธอจึงตัดสินใจคว้าเงินเก็บแล้วออกเดินทางไปกรุงโซล เพื่อตามโอคจากลับมา ก่อนที่โอคจาจะถูกส่งตัวไปนิวยอร์ก เพื่อเข้าการประกวดหมูยักษ์ที่จัดโดยบริษัทมิรานดา เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดูดีให้บริษัท

01.jpg

หนังมีความยาวประมาณ 2 ชั่วโมง รวม End Credit นิดหน่อย ซึ่ง 2 ชั่วโมงนี้ดูเพลินมากถึงมากที่สุด ไม่มีช่วงไหนที่รู้สึกว่าน่าเบื่อเลยอะสำหรับเรา ตอนแรกเราคิดว่าหนังจะดูยาก ตามสไตล์หนังรางวัล แต่ปรากฏว่าหนังเสพง่ายมาก แม้ว่าประเด็นที่เล่นจะละเอียดละอ่อนและซีเรียส แต่หนังก็ผสมมันลงไปในเส้นเรื่องได้อย่างกลมกลืน ทำให้ระหว่างดูเราก็เอาใจช่วยให้มีจาสามารถทำภารกิจสำเร็จ นอกเหนือไปกว่านั้น หนังก็ทำให้เราทึ่งกับตัวมีจาในหลายๆ ตอน ทำให้เห็นว่าเด็กจากชนบทไม่ได้ปวกเปียกนะ เอาเข้าจริงมีจามีไหวพริบดีมาก เอาตัวรอดเก่ง และกล้าได้กล้าเสี่ยงสุดๆ ฉากที่เราชอบคือฉากปีนรถบรรทุกลอดอุโมงค์ ตรงนั้นคือร้องโหวววเลย

ในฝั่งของซีจีตัวโอคจานั้นทำได้เนียนมาก เหมือนมีตัวตนอยู่จริงๆ ส่วนฉากที่เราชอบคือชนบทบ้านเกิดของมีจา ที่ดูเขียวขจีรอบทิศรอบทาง เป็นธรรมชาติอย่างแท้จริง ไม่แปลกใจว่าทำไมโอคจาถึงได้ตัวใหญ่กว่าเพื่อนๆ คงเพราะถูกเลี้ยงดูตามธรรมชาติ ได้วิ่งเล่นในที่กว้าง สูดอากาศบริสุทธิ์

04.jpg

ประเด็นใหญ่ที่ไม่แตะไม่ได้คืออุตสาหกรรมการผลิตอาหาร ที่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าแม้ในหนังจะเป็นหมูยักษ์ที่ไม่ได้มีอยู่จริงในปัจจุบัน แต่สถานการณ์นั้นใกล้เคียงมากๆ ในเรื่องนี้เราจะได้เห็นความโหดร้ายทารุณของสัตว์ที่ต้องเผชิญชะตากรรมในห้องทดลองและโรงเชือด ที่พอดูแล้วอาจทำให้หลายคนไม่อยากกินเนื้อสัตว์อีกเลย หนังหยิบประเด็นนี้ขึ้นฉายให้เห็นกันชัดๆ จริงๆ และมันก็อดเจ็บใจไม่ได้เลยว่านี่เป็นภาพสะท้อนจากความจริง มีสัตว์อีกหลายชีวิตที่ต้องเผชิญความโหดร้ายแบบนี้จริงๆ ทั้งๆ ที่สัตว์แต่ละตัวก็มีความรู้สึก สุขได้ทุกข์ได้ แต่ก็ต้องมาเจออะไรแบบนี้ คิดแล้วหดหู่มาก

นอกจากเรื่องสภาวะไม่น่าอภิรมย์ของอุตสาหกรรมปศุสัตว์ ยังมีประเด็นเรื่องของลัทธิทุนนิยมและผลประโยชน์ทางธุรกิจด้วย แม้ว่าผู้บริโภคจะต่อต้าน GMO แต่ผู้บริโภคก็ยังโหยหาอาหารอร่อยๆ ราคาถูกอยู่ ความต้องการนี้บีบบังคับให้บริษัทจำต้องหาวิธีมาสนองอุปสงค์ดังกล่าว อย่างลูซี่ที่สร้างแคมเปญหลอกตาคนว่าหมูยักษ์เหล่านี้มาจากธรรมชาติ แท้จริงแล้วหมูยักษ์ก็มาจากห้องทดลองนั่นแหละ แต่ถ้าผู้บริโภครู้ ก็อาจจะส่งผลร้ายต่อยอดขายของบริษัท ลูซี่จึงต้องเล่นละครฉากใหญ่ยาวนานถึง 10 ปี ให้ผู้คนเข้าใจไปเองว่านี่ไม่ใช่ผลพวงจากการทดลอง แต่เป็นสัตว์ที่ถูกเลี้ยงตามธรรมชาติ

06.jpeg

นี่คือกลยุทธ์ของลูซี่ ที่ใช้กลลวงหลอกตาผู้บริโภคให้เชื่อว่าภาพลักษณ์บริษัทดูดี ไม่ได้บู๊จัดเหมือนแนนซี่ (Tilda Swinton) แฝดพี่ของเธอซึ่งเป็นอดีตซีอีโอ รายนั้นทำอะไรก็ทำตรงๆ ไม่มีการบังหน้าใดๆ ทั้งสิ้น ลูซี่ต้องการสร้างเรื่องราวที่น่าคล้อยตาม ส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึกของผู้บริโภค เพื่อเพิ่มมูลค่าให้สินค้าของตน ในขณะที่แนนซี่นั้นมองตามกลไกเศรษฐกิจ เธอเห็นว่าถ้าสินค้าที่อร่อยนั้นมีราคาถูกพอ แม้จะมีเรื่องราวแย่ๆ แต่คนก็จะแห่กันไปซื้ออยู่ดี

ในภาพใหญ่นั้นเราจะได้เห็นคำหลอกลวงปะปนไปทั่วเส้นเรื่อง ส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่ทำเพื่อนำเสนอด้านดีๆ โดยกลบด้านแย่ๆ เอาไว้ อย่างตอนต้นเรื่องก็ปู่ของมีจานั่นละที่โกหกมาตลอดว่าโอคจาเป็นของพวกเขา เพราะไม่อยากให้หลานสาวรู้สึกเสียใจว่าจะต้องสูญเสียโอคจาไปสักวัน ในฝั่งธุรกิจของลูซี่เองก็คือการสร้างแคมเปญหลอกคนว่าหมูยักษ์นั้นมาจากธรรมชาติ

นอกเหนือจากนี้ ระหว่างทางของหนัง เรายังได้รู้จักกับขบวนการปลดปล่อยสัตว์จากการกดขี่ หรือ ALF ที่มาช่วยมีจาปลดปล่อยโอคจา แต่ถึงกระนั้นขบวนการก็ไม่ได้หยุดแค่นั้น พวกเขาอยากทำลายแคมเปญนี้ให้สิ้นซาก แต่ก็ต้องแลกกับการส่งโอคจาไปให้บริษัทมิรานดาก่อน ทั้งนี้ก็เพื่อคอยอัดวิดีโอสอดแนมความเน่าเฟะเบื้องหลัง ไว้นำมาประกาศให้โลกรู้ทีหลัง ด้วยเพราะเป็นการตัดสินใจที่ยากพอสมควร หัวหน้าทีมจึงขอความยินยอมจากมีจา แน่นอนว่ามีจาไม่ยอมหรอก แต่สมาชิกชาวเกาหลีเพียงหนึ่งเดียวดันโกหกทีมว่ามีจาตกลง ก็เพื่อให้ภารกิจมุ่งต่อไปได้

05.jpeg

ในตอนสุดท้าย แม้ว่าหนังจะจบค่อนไปทางแฮปปี้ ว่ามีจาสามารถพาโอคจากลับมาได้ แต่หนังก็ทิ้งตะกอนแห่งความไม่สบายอารมณ์ไว้ ตรงที่ว่ามีเพียงโอคจาตัวเดียวเท่านั้นที่ได้รับความช่วยเหลือ ยังมีหมูยักษ์อีกหลายร้อยตัว (รวมถึงสัตว์อื่นๆ) ที่ยังต้องเผชิญชะตากรรมอันโหดร้าย กลายเป็นอาหารของพวกมนุษย์ที่ไม่รู้จักพอ สะท้อนมาถึงความจริงที่ว่าการจะปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมนี้ใหม่ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย โดยเฉพาะเมื่อมีเรื่องของเงินทองและปากท้องของคนเข้ามาเกี่ยวข้อง

Okja จึงกลายเป็นหนังที่นอกจากความสนุกในเส้นเรื่องฝั่งการผจญภัยแล้ว ก็ยังสามารถทำให้ดูแล้วน้ำตาซึม และตะลึงในความมาไกลของหนัง จากช่วงต้นๆ ที่ซีนเป็นธรรมชาติ มีจาและโอคจาใช้ชีวิตอย่างรื่นรมย์ หนังพาตัวละครทั้งคู่ไปพบเจอเหตุการณ์ระทึกและโหดร้ายต่างๆ มากมาย ชนิดที่ว่ามีจาในตอนแรกก็คงไม่คิดเหมือนกันว่าตัวเองจะไปได้สุดขนาดนั้น แสดงให้เห็นเลยว่า แม้จะต่างสายพันธุ์ แต่ก็สามารถเกิดมิตรภาพที่แข็งแกร่งได้จริงๆ

ป.ล. ลืมพูดถึงบทบาทอีกอันไป นั่นคือนักสัตววิทยานามว่าจอห์นนี่ ที่เล่นโดย Jake Gyllenhaal เป็นบทที่รั่วมากให้ตายสิ

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

Blog at WordPress.com.

Up ↑

%d bloggers like this: