รีวิว Kiki’s Delivery Service (1989): เมื่อแม่มดน้อยโบยบินออกสู่โลกกว้าง

หลังจากเมื่อวานดู Totoro ไป วันนี้ก็ขอต่อกับหนังจิบลิอีกสักเรื่อง โดย Kiki’s Delivery Service นี่ก็เป็นอีกเรื่องที่เล็งๆ ไว้นานแล้ว ด้วยพล็อตแนวแม่มดที่กระตุ้นต่อมวัยเยาว์ของเราเหลือเกิน (ตอนเด็กๆ เราเครซี่แม่มดมาก)

มีสปอยล์

Kiki’s Delivery Service เล่าเรื่องของกิกิ (Minami Takayama) เด็กหญิงแม่มดวัย 13 ปี ตามขนบธรรมเนียมดั้งเดิม เมื่อแม่มดอายุ 13 ปี เธอจะต้องออกจากบ้านไปผจญโลกกว้างเป็นเวลา 1 ปี ทำนองว่าไปเป็นแม่มดฝึกหัด ค้นหาตัวเองด้วยการประจำอยู่ในต่างเมือง กิกิตื่นเต้นมาก เธอเลือกคืนเดือนเพ็ญเพื่อออกโบยบินบนไม้กวาด มุ่งหน้าไปยังเมืองติดชายทะเลที่เธอใฝ่ฝัน พร้อมกับจิจิ (Rei Sakuma) แมวดำเพื่อนรักของเธอ

แต่แล้วแค่วันแรกๆ เธอก็ถูกตักเตือนจากเจ้าหน้าที่ตำรวจข้อหาบินไม่ระมัดระวัง ทำให้เกิดความวุ่นวายในเมือง นอกจากนี้แล้วดูเหมือนคนในเมืองก็ไม่ค่อยต้อนรับเธอเท่าไร โชคดีว่าเธอได้ไปช่วยเหลือโอโซโน่ (Keiko Toda) หญิงท้องแก่เจ้าของร้านเบเกอรี่ เธอหยิบยื่นที่พักให้กิกิแลกกับความช่วยเหลือในร้านเล็กๆ น้อยๆ ส่วนกิกินั้นก็เกิดไอเดียธุรกิจว่าอยากจะใช้ทักษะการขี่ไม้กวาดให้เป็นประโยชน์ ด้วยการรับส่งของซะเลย ซึ่งภารกิจนี้ได้ทำให้เธอพบเจอกับมิตรภาพใหม่ๆ รวมถึงความผิดหวังบางอย่าง ที่ทำให้เธอเติบโตขึ้น

01.jpg

หนังมีความยาวประมาณ 1 ชั่วโมง 45 นาที เส้นเรื่องดูได้เพลินๆ มีหย่อนจุดพีคเข้ามาบ้างเล็กน้อยพอให้ลุ้นกับวีรกรรมของกิกิ ที่ชอบคือระหว่างทางเราจะรู้สึกผูกพันกับกิกิเรื่อยๆ และลุ้นคอยเอาใจช่วยเหลือเธอตลอด นานๆ ทีจะเจอตัวละครเด็กที่ไม่น่ารำคาญ 555 สำหรับกิกินั้น เป็นเด็กหญิงที่เราว่าน่าเป็นต้นแบบมาก เธอมองโลกในแง่ดี ขยันขันแข็ง มุ่งมั่นที่จะทำสิ่งต่างๆ ให้สำเร็จ อีกทั้งยังจิตใจดีช่วยเหลือคนอย่างไม่อิดออด แอบรู้สึกเลยว่าเธอดูโตกว่าเด็กอายุ 13 มากๆ

แต่ถึงอย่างนั้น หนังก็ช่วยให้กิกิได้เติบโตขึ้นอีก ด้วยการหย่อนอุปสรรคและเรื่องราวขัดแย้งต่างๆ เข้ามา ตั้งแต่ซีนแรกๆ ที่เธอต้องเผชิญกับความจริงว่าเมืองที่น่าอยู่นั้นอาจจะไม่ได้น่าอยู่ 100% เพราะมีคนมากมายหลากหลายประเภท และบางประเภทก็ไม่ค่อยน่าอภิรมย์เท่าไร

ต่อจากนั้น เธอก็ต้องรู้สึกมีปมด้อย ตรงที่ว่าเธอต้องสวมเดรสสีเข้มแบบแม่มดตลอดเวลา ไม่มีเสื้อผ้าสวยๆ ใส่เหมือนเด็กคนอื่นๆ แถมยังถูกเด็กๆ รุ่นเดียวกันล้อเลียนอีกด้วย ซึ่งมันก็ทำให้เธอสูญเสียความมั่นใจไประดับนึง

นอกจากนี้ งานบินส่งของที่เธอรู้สึกสนุกกับมัน ก็เริ่มไม่สนุกเท่าไร เมื่อเธอได้ไปส่งพายให้ลูกค้าคนหนึ่ง แต่ลูกค้าคนนั้นกลับไม่ได้มีท่าทีดีใจ ทั้งๆ ที่กิกิอุตส่าห์บินฝ่าฝนมา เหตุการณ์นี้สะเทือนใจแม้กระทั่งกับเราเองซึ่งเป็นคนดู เพราะเราได้เห็นว่าพายชิ้นนั้นถูกปรุงด้วยความรักจากผู้เป็นยาย แต่หลานซึ่งได้รับพายกลับมองว่าน่ารำคาญ ไม่อยากได้

การที่กิกิได้เจอกับทอมโบ (Kappei Yamaguchi) เด็กชายที่แวบแรกเธอไม่ถูกชะตา ก็ทำให้เธอเริ่มรู้จักกับมิตรภาพกับเพื่อนวัยเดียวกัน เธอเริ่มเปิดใจให้ทอมโบ แต่เมื่อทอมโบไปหาเพื่อนของเขาที่มองเธอเป็นตัวประหลาด กิกิก็รู้สึกเหมือนตัวเองได้กลายเป็นคนนอก ไม่สามารถกลมกลืนไปกับสังคมได้

03.jpg

นอกจากนี้ กิกิยังเจออีกหนึ่งอุปสรรคใหญ่ นั่นคือหลังจากเธอป่วยเป็นไข้ เธอก็สูญเสียพลังแม่มดไป ไม่สามารถขึ้นขี่ไม้กวาดได้ รวมถึงไม่สามารถพูดคุยกับจิจิ แมวของเธอได้ ในจุดนี้หนังไม่ได้เฉลยแบบชัดเจนว่าเกิดอะไรขึ้น แต่จากมุมมองของเรา เราเดาว่าอาการป่วยก็เป็นส่วนหนึ่ง อีกส่วนน่าจะเป็นการอุปมาอุปไมยถึงการเสียความมั่นใจในตัวเอง หลังเผชิญเรื่องราวต่างๆ มามากมาย ทำให้กิกิเริ่มหมดกำลังใจจะเป็นแม่มด หมดกำลังใจจะขี่ไม้กวาดส่งของ ความสามารถพิเศษของเธอจึงเสื่อมถอยลงมา

ซึ่งเราจะเห็นได้ในฉากท้ายๆ ว่า ความสามารถในการขี่ไม้กวาดของกิกิกลับมาอีกครั้ง เมื่อต้องช่วยเหลือทอมโบให้รอดพ้นจากอันตราย ในวินาทีนั้น เธอมีความเชื่อมั่นว่าจะต้องทำได้ และมีความปรารถนาแรงกล้าที่จะช่วยเพื่อน พลังจึงกลับมาอีกครั้งหนึ่ง แต่อีกหนึ่งความสามารถที่ไม่กลับมาคือสกิลการสื่อสารกับจิจิ ซึ่งหนังก็ไม่ได้เฉลยอีกนั่นแหละว่าเพราะอะไร

05.png

จากที่เราไปหาอ่านมา ก็ได้คำตอบมาประมาณว่า จริงๆ การที่กิกิคุยกับจิจิได้ ไม่ใช่เพราะเวทมนตร์ แต่เป็นเพราะทั้งคู่ถูกเลี้ยงดูด้วยการมาตั้งแต่เด็ก จิจิจึงเปรียบเสมือนตัวตนอีกด้านของกิกิก็ว่าได้ แต่เมื่อกิกิโตขึ้น เธอเริ่มเรียนรู้ที่จะยืนได้ด้วยตัวเอง เธอจึงไม่จำเป็นต้องเชื่อมโยงกับจิจิอีกต่อไป ทั้งกิกิและจิจิต่างมีชีวิตของตัวเอง กิกิก็ทำหน้าที่ของตัวเองไป ส่วนจิจิก็ไปสร้างครอบครัว ถึงอย่างนั้นทั้งคู่ก็ยังเป็นเพื่อนกันอยู่ เพียงแต่แค่แยกไปตามทางของตัวเอง

ดังนั้น เมื่อมองโดยภาพรวมแล้ว นอกจากเรื่องนี้จะเป็นแนวแฟนตาซี แต่ก็มีความ coming-of-age ด้วยเหมือนกัน เราจะค่อยๆ เห็นกิกิเติบโตขึ้น พบเจอสิ่งต่างๆ ในโลกนี้มากขึ้น มีความสัมพันธ์กับผู้คนมากขึ้น นี่จึงเหมือนการตามดูชีวิตของเด็กคนหนึ่งในช่วงเปลี่ยนผ่านวัย

โดยรวมแล้ว Kiki’s Delivery Service เป็นหนังที่ดูได้อย่างเพลินๆ ดูได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ยิ่งผู้ใหญ่เมื่อได้ดูแล้วก็จะยิ่งเข้าใจประเด็นมุมมองเรื่องการเปลี่ยนผ่านในช่วงวัยเยาว์ ซึ่งเรื่องนี้สามารถผสมมันเข้าไปได้อย่างกลมกล่อมกับพล็อตแม่มดเด็กน้อยเลยละ

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

Blog at WordPress.com.

Up ↑

%d bloggers like this: