The Farewell หนังดราม่าปนคอมเมดี้สัญชาติอเมริกันที่เล่าเรื่องของชาวจีน เห็นปกหนังครั้งแรกก็อดไม่ได้ที่จะนึกว่าต้องเป็นหนังเศร้าแน่นอน แต่เมื่อเปิดดูตัวอย่างแล้วก็ผิดคาด เพราะหนังใส่อารมณ์ขันและแง่มุมน่ารักๆ เอาไว้เยอะ เมื่อไปดูจริงๆ ก็เข้าใจได้เลยว่าหนังไม่จำเป็นต้องฟูมฟาย เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวที่ซาบซึ้งได้
The Farewell เล่าถึงครอบครัวชาวจีนที่อพยพไปอยู่อเมริกา นางเอกคือบิลลี่ (Awkwafina) หญิงสาวที่มีความคิดความอ่านเป็นแบบตะวันตกเพราะเติบโตที่อเมริกามาตั้งแต่เด็กๆ ชนิดที่ว่าขนาดพูดคุยกับพ่อแม่ก็พูดภาษาอังกฤษ อยู่มาวันหนึ่ง ครอบครัวนี้ก็ได้รับข่าวร้ายว่าอาม่า (Shuzhen Zhao) พวกเขากำลังเผชิญมะเร็วปอดระยะสุดท้าย และจะมีชีวิตอยู่ได้อีกอย่างมากก็ 3 เดือนเท่านั้น
ครอบครัวของบิลลี่ รวมถึงญาติๆ จึงเดินทางกลับจีน เพื่อไปเจออาม่าอีกครั้ง แต่พวกเขาได้ตกลงกันว่า ห้ามปริปากบอกอาม่าเรื่องอาการป่วยของท่านอย่างเด็ดขาด ให้ท่านเข้าใจว่าตัวท่านยังสบายดีอยู่ ทั้งนี้ก็เพื่อปกป้องอาม่าไม่ให้รู้สึกเสียใจ ซึ่งอาจทำให้อาการทรุดลง สิ่งนี้ขัดแย้งกับความคิดของบิลลี่ ที่อยากจะบอกความจริงกับอาม่า ท่านจะได้เตรียมตัวและบอกลาได้ทันท่วงที
หนังเรื่องนี้สร้างมาจากเรื่องจริงของผู้กำกับ Lulu Wang ที่อาม่าของเธอเองก็ประสบกับโรคร้าย และครอบครัวก็ปิดบังท่านเอาไว้ โดยตอนต้นของหนัง (รวมถึงในโปสเตอร์) จะเกริ่นขึ้นมาว่า Based on an Actual Lie ซึ่งเป็นอะไรที่เก๋ดี เป็นการเล่นกับความขัดแย้งของรูปคำได้อย่างลงตัว เพราะปกติแล้วเราจะคุ้นเคยกับ Based on a True Story อะไรเทือกนี้มากกว่า แต่อันนี้คือคำลวงที่เคยเกิดขึ้นจริง
หนังดำเนินเรื่องไปแบบเรียบง่ายไม่หวือหวา แต่มีรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำให้ชวนติดตามตลอดเวลา อาจจะมีบางช่วงที่ดร็อปๆ ลงไปบ้าง ทำให้ใครที่ไม่ชินกับหนังแนวนี้ง่วงๆ หาวๆ ได้ แต่โดยภาพรวมแล้ว The Farewell เล่าเรื่องได้อย่างเพลิดเพลิน และมองโลกในแง่ดี แม้หนังจะพูดเรื่องความตาย แต่ก็ไม่ได้ติดฟิลเตอร์หม่นหมองเศร้าโศก กลับดูเป็นท้องฟ้าสดใสซะมากกว่า จะเห็นได้จากงานรื่นเริงรวมญาติต่างๆ บรรยากาศครึกครื้นในครอบครัว รวมถึงสภาพร่างกายที่ยังดูแข็งแรงสำหรับคนวัยอาม่า ที่บางทีก็ทำให้ไม่อยากเชื่อว่าอาม่าเนี่ยนะป่วยใกล้เสียแล้ว ยังดูสดใสร่าเริงอยู่เลย (ส่วนหนึ่งคงเพราะไม่รู้อาการป่วยของตัวเองด้วย)
ประเด็นเรื่อง White Lie หรือ คำโกหกสีขาวนั้น เป็นอะไรที่น่านำมาขบคิด และเป็นตัวแทนความแตกต่างของวัฒนธรรมตะวันออก-ตก ที่หนังหยิบมาเล่าได้ดี ในฝั่งของคนจีน (รวมถึงเอเชีย) นั้น หนังเล่าว่าเราทุกคนล้วนมีชีวิตแบบพึ่งพาอาศัยกัน มีสายสัมพันธ์แบบครอบครัวที่เชื่อมโยงแต่ละคนเอาไว้ ดังนั้น การตัดสินใจทำอะไรสักอย่าง ก็จะส่งผลกระทบกับทุกๆ คนที่เกี่ยวข้อง ด้วยเหตุนี้ ครอบครัวของบิลลี่จึงตัดสินใจปิดบังอาม่าเรื่องอาการป่วย เพราะหวังดีไม่อยากให้อาม่ากังวลใจ อยากยื้อช่วงเวลาที่อาม่าจะได้อยู่กับลูกๆ หลานๆ โดยปราศจากความกลัวเอาไว้ ตรงกันข้ามกับบิลลี่ ที่คิดว่าทำไมต้องโกหกด้วย อาม่าสมควรจะรู้ความจริงไม่ใช่หรือ ท่านจะได้เตรียมตัวทัน ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่อยากทำ หรือ การบอกลาแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งหนังก็นำเสนอว่านี่คือมุมมองแบบตะวันตกที่นิยมการพูดตรงๆ มากกว่า
ถามว่าฝั่งไหนถูก อันนี้เราว่าตอบยาก เพราะต่างวัฒนธรรมก็ต่างความคิด อย่างไรก็ตาม สองมุมมองนี้ล้วนก่อกำเนิดมาจากความรู้สึกเดียวกัน นั่นก็คือความรักที่มีต่ออาม่า แสดงให้เห็นว่าแต่ละคน แต่ละวัฒนธรรมเค้าก็มีวิธีแสดงความรักต่างกันออกไป คงไม่สามารถไปตัดสินได้ว่าแบบไหนผิด แบบไหนถูก
หนังยังสอดแทรกรายละเอียดน่าสนใจไว้อีกมาก อย่างช่วงแรกๆ ที่ครอบครัวบิลลี่ปล่อยมุกเรื่องการตาย ก็สะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างการบอกแบบตรงประเด็น กับการพูดอ้อมๆ เพื่อรักษาน้ำใจ ตอนที่หลายชายอีกคนพาแฟนชาวญี่ปุ่นมานั่งร่วมโต๊ะ ก็จะเห็นได้ถึงความกระอักกระอ่วนของสาวญี่ปุ่นที่ต้องทำตัวกลมกลืนไปกับครอบครัวชาวจีน หรือจะเป็นตอนที่บิลลี่สั่งพ่อให้เลิกสูบบุหรี่ ลุงของเธอก็ดุว่าเป็นลูกสาวมาสั่งพ่อได้ยังไง แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมแบบมีระดับชั้นของเอเชีย
ในฝั่งของตัวละคร Awkwafina ซึ่งรับบทบิลลี่นั้นเล่นได้สมจริงมาก เราได้เห็นความรู้สึกหลากหลายภายใต้ใบหน้าของเธอ ทั้งความอึดอัดอยากบอกความจริง ทั้งความเศร้าที่กำลังจะต้องจากอาม่าไป บางทีสีหน้าดูเรียบนิ่งแต่แววตาและท่าทางแสดงออกมาเลยว่ากำลังโศกเศร้า แต่เมื่อตัดฉากไปตอนที่ต้องร่าเริง เธอก็จะกลายเป็นคนทะเล้นที่ชวนให้คนดูหลงรักและเอาใจช่วย ยิ่งเมื่อเข้าคู่กับ Shuzhen Zhao ผู้รับบทอาม่าด้วยแล้ว ยิ่งส่งให้บทดูลื่นไหลเป็นธรรมชาติ Shuzhen Zhao เป็นอาม่าที่น่ารัก เอาใจใส่ลูกหลาน ไม่แปลกใจที่ทุกๆ คนรักและหวงแหน ไม่อยากพรากความสุขจากอาม่าไป
โดยรวมแล้ว The Farewell เป็นหนังความยาวกำลังดี ที่ดูแล้วจะรู้สึกอยากอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากับครอบครัว และอยากจะรักษาความสุขของการเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเอาไว้ เป็นหนังที่ไม่เศร้า แต่ซึ้งและอิ่มใจมากกว่า ยิ่งถ้าได้ดูกับครอบครัว ก็น่าจะยิ่งอินขึ้นเลย
Leave a Reply