สรุปหนังสือ Factfulness: จริงๆ แล้วโลกดีกว่าที่เราคิด

หากถามคนทั่วไปว่า คิดว่าสภาพความเป็นอยู่ของโลกเราตอนนี้เป็นยังไง หลายคนน่าจะนึกภาพออกเป็นช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยที่เพิ่มขึ้น เด็กที่ได้รับการศึกษาไม่เพียงพอ หรือผู้คนในบางภาคส่วนของโลกที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้

แต่รู้ไหมว่าสิ่งที่เราเข้าใจอาจจะไม่เป็นความจริง

รู้ไหมว่า ใน 20 ปีที่ผ่านมา สัดส่วนประชากรที่อาศัยอยู่ในภาวะยากจนแบบสุดขั้วนั้น ลดลงไปเกือบครึ่งหนึ่ง

รู้ไหมว่า มีเด็ก 1 ขวบกว่า 80% ทั่วโลกแล้วที่ได้รับการฉีดวัคซีน

รู้ไหมว่า กว่า 80% ของประชากรทั่วโลกมีการเข้าถึงไฟฟ้าแล้ว

ฟังดูน่าเหลือเชื่อ ดูเป็นเรื่องดีกว่าที่เราเคยได้ยิน และ Factfulness จะพิสูจน์ว่า นี่คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นจริงๆ ไม่ใช่ข่าวลวงที่พร้อมจะสร้างดราม่าให้เรามองว่าโลกกำลังแย่ลง

ในบทนำของหนังสือ คุณรอสลิงเท้าความว่าเขาเป็นคนชอบดูละครสัตว์ และเขาก็ใฝ่ฝันอยากจะเป็นนักแสดงละครสัตว์ แต่พ่อแม่เขาอยากให้เขาเป็นหมอมากกว่า เขาก็เลยต้องมาทางสายนี้ ถึงอย่างนั้น เขาก็ยังคลั่งไคล้ทริคต่างๆ ของละครสัตว์ อันนึงที่เขาชอบคือการกลืนดาบ ซึ่งต่อมาเขาก็ได้เรียนรู้ว่าร่างกายมนุษย์มันทำได้จริงๆ นะหากเงยหน้าแล้วให้กระดูกคางยื่นไปข้างหน้า แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะทำได้กับทุกอย่าง เพราะลำคอของเราแท้จริงแล้วแบนราบ จึงกลืนได้แค่อะไรที่แบนๆ เท่านั้น เช่น ดาบ เมื่อคุณรอสลิงได้ลอง ปรากฏว่าเขาทำได้จริงๆ ช่วยจุดประกายเขาว่า อะไรที่เราคิดว่าเป็นไปไม่ได้น่ะ แท้จริงอาจเป็นไปได้ก็ได้

อะ มาที่เนื้อหาเกี่ยวกับหนังสือบ้าง คุณรอสลิงมอบโจทย์คำถามเกี่ยวกับโลกใบนี้ให้คนอ่านได้ลองทายคำตอบกัน เป็นเรื่องเกี่ยวกับสังคม ประชาชน ความเป็นอยู่ของโลก ซึ่งแน่นอนว่านอกจากข้อโลกร้อนแล้ว เราตอบเกือบผิดหมด 555 โดยส่วนใหญ่เราเลือกคำตอบที่บอกว่าสถานการณ์ของโลกดูแย่ แต่จริงๆ แล้วคุณรอสลิงเฉยว่า สถานการณ์โลกมันดีขึ้นนะ แต่ส่วนใหญ่คนเข้าใจผิด ตอบผิดกันเกือบหมด แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังพอมีคนตอบถูกอยู่บ้าง (ส่วนใหญ่มาจากสวีเดนและนอร์เวย์)

คุณรอสลิงเลยพยายามหาคำตอบว่า ทำไมคนส่วนใหญ่ถึงตอบผิด ตอนแรกเขานึกว่าเป็นเพราะความรู้ที่ไม่เพียงพอ ไม่อัปเดต ปรากฏว่าไม่ใช่แฮะ เพราะขนาดคนใหญ่คนโตที่มีอำนาจการตัดสินใจด้านกฏหมายหรือนโยบายของประเทศยังตอบไม่ถูกเลย ทั้งที่พวกเขาควรจะเป็นกลุ่มคนที่มีข้อมูลล้นที่สุดแล้ว คุณรอสลิงค้นพบว่าที่คนเรามองข้ามความจริงแล้วหันไปหาเรื่องเว่อร์ๆ ดราม่านั่นก็มาจากสมองของเรานี่แหละ ที่ยังดึกดำบรรพ์ พึ่งพาเรื่องเล่าเรื่องซุบซิบอยู่ ซึ่งนั่นก็ไม่ได้ผิดแต่อย่างใด สัญชาตญาณเหล่านี้ทำให้เรารอดชีวิตมาได้ แต่ถ้ามันมากเกินไป มันก็ทำให้เรามองโลกผิดไป หนังสือเล่มนี้จะมาแชร์ทริควิธีการมองโลกตามความเป็นจริง ไม่ถูกภาพลวงตาครอบงำ

factfulness-poster-web-images-20180215-v3_Dramatic-instincts-765x1024.jpg

Source: Gapminder

#1: The Gap Instinct: โลกเราไม่ได้มีแค่ขาวกับดำ

เป็นเรื่องปกติของมนุษย์ที่มักจะแบ่งทุกๆ เรื่องออกเป็นสองกลุ่มสองด้าน เพราะมันง่ายต่อการเข้าใจ ดังนั้นคนส่วนใหญ่จึงมักจะชอบแบ่งแยกว่า “นี่คือคนรวย” และ “นั่นคือคนจน” ตรงกลางก็คือช่องว่าง คือความห่างระหว่างคนสองกลุ่มนี้

จริงๆ แล้ว โลกเราไม่ได้แบ่งกันง่ายๆ ขนาดนั้น ในบทนี้คุณรอสลิงได้นำเสนอเครื่องมือที่ชื่อว่า The Four-Level Framework ซึ่งเขาได้นำมาอธิบายความแตกต่างของคุณภาพชีวิตทั้งหมด 4 แบบ

เลเวล 1 คือคนที่มีรายได้ประมาณ $1 (~30 บาท) ต่อวัน
เลเวล 2 คือคนที่มีรายได้ประมาณ $4 (~120 บาท) ต่อวัน
เลเวล 3 คือคนที่มีรายได้ประมาณ $16 (~480 บาท) ต่อวัน
เลเวล 4 คือคนที่มีรายได้ประมาณ $32 (~960 บาท) ต่อวัน

4 level.jpeg

Source: Gapminder

จากข้อมูลเชิงสถิติ หนังสือก็ได้แสดงให้เห็นว่าคนส่วนใหญ่อยู่ที่เลเวล 2-3 แล้วในปัจจุบัน จากที่แต่ก่อนเมื่อประมาณ 200 ปีที่แล้ว 85% ของประชากรโลกอยู่ที่เลเวล 1 นั่นหมายความว่า โลกได้พัฒนาจากเดิมขึ้นมาก กลายเป็นสถานที่ที่สามารถเอื้ออำนวยการใช้ชีวิตแบบพอเพียงได้ ไม่ได้ขาดแคลนเกินไป

มีสามวิธีที่จะจับผิดว่าข้อมูลที่เราเห็นอยู่นั้นกำลังจะกระตุ้นให้เราสร้างช่องว่างระหว่างสองสิ่งหรือไม่ นั่นคือ

1) ข้อมูลนั้นใช้ค่าเฉลี่ยมานำเสนอ ซึ่งค่าเฉลี่ยเป็นอะไรที่ดูง่ายแต่ก็ชวนให้เข้าใจผิดได้ง่ายเช่นกัน เพราะมันคือข้อมูลเดี่ยวๆ หลายข้อมูลมามัดรวมกัน ค่าเฉลี่ยไม่ได้ฟันธงเสมอไปว่าผู้ชายทุกคนเก่งเลขกว่าผู้หญิง หรือคนอเมริกันทุกคนมีรายได้มากกว่าคนเม็กซิกัน

2) ข้อมูลนั้นนำเสนอด้าน extreme เช่น จนสุดรวยสุด ดีสุดแย่สุด ทำให้ดูเหมือนว่าช่องว่างใหญ่มาก แต่จริงๆ แล้วยังมีคนส่วนใหญ่ที่อยู่ตรงกลางระหว่างช่องว่างนั้นที่เราจินตนาการขึ้นมา พวกสื่อมวลชนมักจะชอบนำเสนอข่าวในลักษณะนี้ เพราะทำให้รู้สึกว่ามีความดรามาติก มีความขัดแย้งให้คนติดตาม

3) เรามองจากมุมสูง คนที่อยู่บนตึกสูงนั้นมักจะเห็นว่าตึกอื่นๆ ที่เตี้ยกว่าตึกตัวเองนั้นสูงเท่ากันหมด และทั้งหมดนั้นอะเตี้ยกว่าของเรา ก็เหมือนคนรวยเลเวล 4 ที่มองเห็นคนเลเวล 1-3 ว่าจนเหมือนกันหมด ทั้งที่จริงๆ แล้ว คนเลเวล 1-3 มีความแตกต่างกันในรายละเอียดหลายด้าน

ฉะนั้น เราควรระลึกเสมอว่าโลกเราไม่ได้แบ่งออกเป็นสุดขั้วสองฝั่ง มันมีลำดับขั้นบันไดของมัน มันมีรายละเอียดปลีกย่อย มันมี “ตรงกลาง” ที่เรามักจะมองว่าเป็นแค่พื้นที่โล่งๆ แต่จริงๆ ตรงนั้นแหละคือจุดที่ “คนส่วนใหญ่” อยู่กัน เพียงแต่ไม่ค่อยมีใครอยากพูดถึง เพราะมันเป็นจุดที่ธรรมดาสามัญชน ไม่น่าขยี้เป็นเรื่องราวน่าสนใจต่อได้

#2: The Negativity Instinct: เรื่องร้ายๆ ถูกเล่าบ่อยกว่า

ถ้าถามคนส่วนใหญ่ว่า “คิดว่าตอนนี้โลกดีขึ้นหรือแย่ลง” ส่วนใหญ่พวกเขาจะมีแนวโน้มที่จะตอบว่า “แย่ลง”

พวกเขาอาจจะบอกว่า ก็ดูสิมีการก่อการร้ายเต็มไปหมด ดูสิมีฝุ่นเต็มเมือง ไหนจะประเทศอื่นๆ ที่ยังอัตคัตขัดสนนั่นอีก

ก็ไม่ปฏิเสธว่าสิ่งเหล่านั้นยังมีอยู่ในปัจจุบัน แต่คนส่วนใหญ่มักใช้ “ความรู้สึก” มาเป็นตัวตัดสิน ไม่ได้ดูที่ข้อมูลสถิติซึ่งเป็น “ความจริง”

ในบทนี้ คุณรอสลิงได้โชว์หลักฐานให้เห็นว่าสิ่งร้ายๆ บนโลกนี้มีเทรนด์ที่ลดลง เช่น โรคร้าย การฆ่ากัน ทาสในขณะเดียวกันสิ่งดีๆ มีเทรนด์เป็นขาขึ้น เช่น จำนวนเด็กหญิงที่ได้รับการศึกษา การเข้าถึงอินเตอร์เน็ต น้ำ และไฟฟ้า เป็นต้น ถามว่าแล้วทำไมคนส่วนใหญ่ยังรู้สึกว่าโลกแย่ลงอยู่ นั่นก็เพราะว่าพวกเรามีสัญชาตญาณที่มีแนวโน้มหันไปหาเรื่องร้ายๆ มากกว่าเรื่องดีๆ

อย่าลืมว่าข่าวส่วนใหญ่ที่มักถูกนำเสนอมักเป็นข่าวร้าย อย่างบ้านเราก็ข่าวอาชญากรรมที่มักขึ้นหน้าหนึ่ง นั่นเพราะมันเรียกความสนใจจากคนอ่านได้มากกว่า และยิ่งสื่อสมัยนี้รวดเร็วครอบคลุมกว่าเมื่อก่อน แป๊บๆ ก็รู้ข่าวแล้ว ไม่ใช่แค่ข่าวในประเทศเราด้วย ข่าวจากอีกซีกหนึ่งของโลกเราก็รู้พร้อมๆ กับคนที่นู่น ยิ่งเราได้รับรู้อะไรแบบนี้เยอะ มันก็ไม่แปลกที่เราจะคิดว่าโลกแย่ลง

วิธีที่จะควบคุมเราไม่ให้ไหลไปกับสัญชาตญาณการมองโลกในแง่ร้ายได้นั้น คือ

1) การมองสองด้าน ทุกๆ สิ่งนั้นมีด้านร้ายและด้านดีเสมอ เราเห็นพัฒนาการของมัน ขณะเดียวกันก็เห็นจุดอ่อนที่ควรจะแก้ไข เพราะถ้าหากมองแต่ด้านร้ายอย่างเดียว นอกจากจะเสียสุขภาพจิตแล้ว ยังเสียความหวังที่จะพัฒนามันให้ดีขึ้นด้วย และนั่นคือสิ่งที่อันตรายมาก

2) เวลาเห็นข่าวร้าย ก็ให้นึกเสมอว่าส่วนใหญ่เขาก็นำเสนอข่าวร้ายกันมากกว่าข่าวดี ถ้าข่าวดีพอๆ กันเกิดขึ้นจริงๆ เราจะได้รับรายงานไหม? การทบทวนอย่างนี้เสมอๆ ก็จะทำให้เราเริ่มมองทะลุมากขึ้นว่าเรื่องร้ายๆ มักถูกนำมาไฮไลต์มากกว่า

3) เราไม่ควรที่จะไปบิดเบือนประวัติศาสตร์ อะไรแย่ก็ยอมรับว่าแย่ ไม่ต้องไปเพ้นท์สีชมพูพาสเทลให้มัน เพราะการยอมรับว่ามีจุดบกพร่องในประวัติศาสตร์ จะช่วยให้เรารู้ว่าควรจะแก้ไขมันอย่างไรไม่ให้ซ้ำรอยอีก ไม่ใช่มองอดีตเป็นสีชมพูแล้วทึกทักเอาว่าปัจจุบันช่างหม่นหมองเหลือเกิน ทั้งที่จริงๆ แล้วมันดีขึ้นกว่าเดิม

#3: The Straight Line Instinct: อัตราการเติบโตไม่ได้คงที่ตลอดไป

หลายๆ คนน่าจะมีภาพในหัวว่า จำนวนประชากรของโลกต้องเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคตประชากรจะต้องล้นโลก อยู่อย่างอัตคัตแออัดแน่นอน ก็ดูจากสถิติที่ผ่านมาสิ ประชากรพุ่งขึ้นตั้งหลายเท่าตัว จาก 1 พันล้านคนในปี 1800 กลายมาเป็น 7.6 พันล้านคนในปี 2017 เมื่อเราดูกราฟย้อนหลังจะเห็นความชันของเส้นได้ชัดเจน

IMG_0577.jpg

Source: Factfulness

และเราก็มีแนวโน้มว่าเส้นนั้นจะมีความชันเท่าเดิมตลอดไป นั่นก็คือพุ่งต่อไปเรื่อยๆ ไม่มีหยุดนั่นละ

อันที่จริงแล้ว เรากำลังถูกภาพลวงตาของความเป็น “เส้นตรง” หลอกเราอยู่ เราคิดเป็นตุเป็นตะไปว่าเส้นตรงนี้จะดำเนินต่อไปเรื่อยๆ แต่อันที่จริงแล้วเราลืมไปรึเปล่า ว่าอัตราการเพิ่มขึ้นนั้นไม่ได้คงที่เสมอไป

ลองดูตัวอย่าง เช่น เด็กแรกเกิดอาจจะมีความสูง 50 เซนติเมตร หกเดือนต่อมาความสูงของเขาเป็น 65 เซนติเมตร เป็นการเปลี่ยนแปลงที่น่าประทับใจมาก ตั้ง 15 เซนติเมตรแน่ะ! ลองคิดดูเล่นๆ สิว่าถ้าเด็กคนนี้ยังโตต่อไปด้วยอัตราการเติบโตเท่านี้ จะเป็นอย่างไร? ตอนอายุ 3 ขวบ เขาจะมีความสูงถึง 130 เซนติเมตร กลายเป็นเด็กโข่งไปโดยปริยาย ไม่ต้องคิดต่อเลยว่าตอนอายุ 20 จะสูงเท่าไร

ใช่… หลายๆ การเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ได้เติบโตหรือลดลงในอัตราที่เท่าเดิมตลอดเวลา ย่อมมีจุดนึงที่การเปลี่ยนแปลงนั้นช้าลง ทำให้กราฟมีความชันน้อยลง ไม่ได้คงที่เหมือนที่เราจินตนาการไว้

ในกรณีของประชากรโลก ในสมัยก่อนนั้นโลกเรายังไม่ได้อยู่ดีกินดีเท่าวันนี้ ไม่ได้มีสุขอนามัยที่ดี ยารักษาโลกก็ยังไม่พร้อม ดังนั้นจึงมีอัตราการเสียชีวิตของเด็กก่อนอายุ 5 ขวบสูงมาก พ่อแม่เลยต้องเร่งปั๊มลูกให้เยอะๆ กันลูกตายจะได้มีเหลือรอดบ้าง แต่พอโลกเราพัฒนาขึ้น อัตราการเสียชีวิตของเด็กก็น้อยลง พ่อแม่ก็ไม่จำเป็นต้องมีลูกเยอะๆ สิ่งนี้บวกกับการที่ผู้หญิงได้รับการศึกษามากขึ้น จึงทำให้เด็กเกิดน้อยลง

มีความสัมพันธ์เพียงไม่กี่อย่างที่ทำให้เกิด “เส้นตรง” ได้ เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างความมั่งคั่งกับสุขภาพ ที่เห็นได้ชัดว่าเคลื่อนไปในทางเดียวกัน (แม้จะไม่รู้ว่าสิ่งใดส่งผลกระทบต่อสิ่งใดก่อนก็ตาม) แต่หลายๆ ความสัมพันธ์นั้นมักจะเป็นเส้นโค้ง ซึ่งก็มีหลายประเภท เช่น S-Bend (พุ่งสูงเป็นพิเศษเมื่ออยู่ตรงกลาง) Slide (ลดระดับลงเยอะเป็นพิเศษเมื่ออยู่ตรงกลาง) Hump (พุ่งขึ้นเป็นยอดเมื่ออยู่ตรงกลาง และตกลงเมื่ออยู่สูงสุด) Doubling Line (ขึ้นช้าๆ ในช่วงแรก ก่อนจะไต่สูงอย่างรวดเร็วในช่วงท้าย คล้ายๆ exponential line)

IMG_0578

S-Bend
Source: Factfulness

IMG_0579

Slide
Source: Factfulness

IMG_0580

Hump
Source: Factfulness

IMG_0581

Doubling Line
Source: Factfulness

วิธีที่จะควบคุมเราไม่ให้ไหลไปกับสัญชาตญาณการมองเป็นเส้นตรงได้นั้น คือ

1) อย่าคิดตุตะไปเองว่าเทรนด์จะเป็นเส้นตรง เพราะเทรนด์ส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นเส้นตรง อาจจะเป็น S-Bend, Slide, Hump, Doubling Lines ก็ได้ทั้งนั้น จำเรื่องอัตราการเติบโตของเด็กไว้ให้ดีๆ

#4: The Fear Instinct: เรามักจะกลัวเกินเหตุ

เคยไหมที่เกิดเหตุฉุกเฉินอะไรสักอย่าง แล้วเราทำอะไรไม่ถูก ตาพร่ามัว มือสั่น พูดไม่รู้เรื่อง

ในหลายๆ ครั้ง เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน สัญชาตญาณความกลัวของเราจะถูกกระตุ้นขึ้นมา ยิ่งถ้าใครมีความกลัวมากมายหลายอย่างอยู่เป็นทุนเดิม ก็ยิ่งถูกจินตนาการพาเตลิดไปไกลได้ง่ายมากๆ เหตุผงเหตุผลหายวับไปกับสายลม

ความกลัวของเรายิ่งถูกใส่ไฟด้วยข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่ประดังประเดเข้ามา แต่แน่นอนละว่าเราเสพไม่หมดหรอก ฉะนั้น เหล่าผู้สื่อข่าวหรือผู้ให้ข้อมูลก็มักจะตั้งหัวเรื่องหรือเลือกนำเสนอข่าวที่คิดว่าจะเข้าตาคนมากที่สุด จะเป็นอะไรไปไม่ได้เลยนอกจากพวกข่าววิกฤติทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นไฟไหม้ อุบัติเหตุ แผ่นดินไหว การก่อการร้าย ฯลฯ นั่นเพราะคนส่วนใหญ่กลัวเรื่องพวกนี้ อย่างที่คุยกันบทก่อนนั่นละ เรื่องดีๆ มันน่าเบื่อเกินไป คนไม่สนใจจะอ่าน

The-dramatic-attention-filter-700x511.png

Source: Gapminder

สัญชาตญาณความกลัวนั้นเป็นอะไรที่ฝังในตัวมนุษย์มาตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ สิ่งนี้มีประโยชน์มากสมัยนั้นเพราะทำให้เราเอาชีวิตรอดได้ แม้ว่าชีวิตเราจะดีขึ้นมากแล้วในปัจจุบันแต่สัญชาตญาณนี้ก็ยังไม่หายไป สำหรับกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย (เลเวล 1-2) ความกลัวก็ยังช่วยให้พวกเขาระวังตัวจากอันตรายอยู่ แต่สำหรับกลุ่มคนที่มีรายได้ค่อนข้างสูง (เลเวล 3-4) ที่มี facility พร้อมเพรียง ความกลัวหลายๆ อย่างกลับกลายเป็นสิ่งที่ขัดขวางการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น การกลัวที่แคบ

ถึงอย่างนั้น ความกลัวในโลกสมัยใหม่ก็ไม่ใช่อะไรที่แย่เสมอไป เพราะความกลัวในสิ่งเดียวกันทำให้ผู้คนพร้อมใจร่วมมือกันเพื่อต่อสู้กับความกลัวนั้น เช่น สมัยช่วงปี 1930 การขึ้นเครื่องบินเป็นอะไรที่น่ากลัวมากเพราะเกิดอุบัติเหตุบ่อย กลุ่มผู้เกี่ยวข้องทางการบินจึงมารวมพลกันในปี 1944 เพื่อตกลงกันว่าต่อจากนี้ถ้ามีอุบัติเหตุเกิดขึ้นกับไฟลท์บินเชิงพาณิชย์ จะต้องมีรายงานถึงสาเหตุ เพื่อที่พวกเขาจะได้ช่วยกันป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำ ซึ่งการเรียนรู้จากความผิดพลาดและการพัฒนาระบบให้ดีขึ้นก็ช่วยให้มีคนตายน้อยลงจากเครื่องบินตกมาก

ความกลัวต่อเรื่องที่อันตรายจริงๆ นั้นเป็นเรื่องดี แต่ถ้าเกิดความกลัวมากเกินไป กลัวแบบขาดเหตุผล ขาดหลักฐานสนับสนุน ก็ย่อมอันตรายเหมือนกัน พ่อแม่ที่หวาดกลัวสารเคมีอาจจะไม่กล้าให้ลูกฉีดยาป้องกันโรคหัด โดยลืมไปหาว่าหากลูกติดโรคก็มีโอกาสสูงที่จะเสียชีวิต หรือที่เราเจอบ่อยๆ คือคนที่ไม่กินผักผลไม้เพราะกลัวสารปนเปื้อน (อันนี้ไม่รู้ว่ากลัวจริงหรือแค่หาข้ออ้างไม่กินผักกันแน่) มีหลายครั้งที่คนเรามักจะกลัวในสิ่งที่เราไม่รู้จริง แค่กลัวเพราะเห็นข่าว ได้ยินคนเล่ากันมา หรือแม้กระทั่งกลัวในสิ่งที่มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก เช่น เครื่องบินตก การก่อการร้าย ระเบิดนิวเคลียร์ ซึ่งดูจะเป็นเรื่องใหญ่ แต่ถ้าเทียบจำนวนคนตายแล้ว ยังสู้พวกดื่มแล้วขับหรืออุบัติเหตุบนท้องถนนไม่ได้เลย

การรู้ทันความกลัวจึงเป็นเรื่องที่ดี โดยทำตามขั้นตอนนี้

1) ก่อนอื่นเลย อย่าลืมว่าเรื่องร้ายๆ มักถูกนำมาเล่าเป็นข่าว จึงทำให้ดูเหมือนมีเรื่องน่ากลัวๆ ตลอดเวลา ตัวเราเองก็มีตัวกรองพิเศษที่จะคัดแต่เรื่องราวดราม่าๆ มาเข้าหูเข้าตาเท่านั้น

2) จริงๆ แล้วความน่ากลัวนั้นมันเกี่ยวกับเรารึเปล่า? ให้ลองคำนวนความเสี่ยงดู ด้วยการพิจารณาว่ามันมีอันตรายแค่ไหน และมีโอกาสเกิดกับเราแค่ไหน?

3) ที่สำคัญคือ เวลาเกิดความกลัว เรามักจะตาพร่ามัวมองโลกผิดเพี้ยนไป อย่าเพิ่งตัดสินใจทำอะไรวู่วามทั้งนั้น ตั้งสติให้ดี หายใจเข้าลึกๆ จนกว่าจะหายตระหนก

#5: The Size Instinct: เรามักจะตัดสินทุกอย่างด้วยตัวเลขเพียงตัวเลขเดียว

สมมติถ้าเราบอกว่า Attendance Rate งานสัมมนานี้อยู่ที่ 40%

นั่นแปลว่าคนที่ลงทะเบียนมาทั้งหมด 100 คน มีเพียง 40 คนเท่านั้นที่มาร่วมงาน

เห็นแค่นี้ หลายคนอาจจะบอกว่า โห น้อยอะ มาไม่ถึงครึ่งที่ลงทะเบียน งานไม่ดึงดูดละสิท่า

แต่เดี๋ยวก่อน ถ้าเรานำตัวเลขในอดีตมาให้ดู เราอาจจะเห็นว่า จากงานสัมมนาแรก เรตอยู่ที่ 10% งานสัมมนาต่อมาอยู่ที่ 15% และงานต่อมา อยู่ที่ 25%

การที่งานสัมมนานี้ มีคนมา 40% นั่นหมายความว่ามีพัฒนาการเกิดขึ้น ถ้าเราไม่เอาตัวเลขเก่าๆ มาเทียบดูเลย เราก็จะไม่ได้เห็นปรากฏการณ์นี้ และพานคิดไปว่า โห งานสัมมนาบกพร่องแน่เลย มีคนมาไม่ถึงครึ่งสักที

คนเรามักจะเผลอตีความทุกอย่างจากตัวเลขเพียงตัวเลขเดียว เช่น บางคนเห็นเลข 10 ก็รู้สึกว่าเยอะ ในขณะที่บางคนอาจจะรู้สึกว่าน้อย การทำแบบนี้ นอกจากจะเป็นการสร้างภาพลวงตาแล้ว ยังทำให้เราเข้าใจรายละเอียดไม่ครบถ้วนอีกด้วย

การจะเอาชนะสัญชาตญาณการเชื่อในขนาดเพียงขนาดเดียวได้ ลองทำตามนี้

1) เราจะต้องหาตัวเปรียบเทียบ เช่น ตัวอย่างข้างต้นนั่นละ คือเราจะต้องหาตัวเลขที่สื่อความหมายเดียวกันมาเทียบกัน อาจจะเป็นตัวเลขในต่างช่วงระยะเวลา หรือ ตัวเลขจากต่างที่ก็ได้ เมื่อหาตัวเปรียบเทียบได้ จะทำให้เราเห็นภาพรวมมากยิ่งขึ้น ว่าตัวเลขปัจจุบันนี้มันผ่านการเปลี่ยนแปลงอะไรมา แท้จริงมันเล็กหรือมันใหญ่

2) ตามหาตัวเลขที่สร้างสัดส่วนก้อนใหญ่ หรือที่เรียกว่ากฏ 80/20 คือในหลายๆ เคสเนี่ย ของ 20% contribute ให้ผลตั้ง 80% ดังนั้น ถ้าเรารู้แล้วว่า 20% นั้นคืออะไร เราก็ไปโฟกัสกับมันซะ เพื่อจะได้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิผลยิ่งกว่า เรียกง่ายๆ ว่า ทำน้อยแต่ได้มาก

3) การหาอัตราส่วน นั่นก็คือการเอาตัวเลขที่เรามี หารกับอีกตัวเลขนึง เพื่อที่จะได้เปรียบเทียบได้ง่ายขึ้นอีก เรียกได้ว่าเป็นการต่อยอดจากการเปรียบเทียบแค่ตัวเลขเฉยๆ ตัวอย่างก็แบบ Attendance Rate ข้างต้น หรือในหนังสือก็เช่น การนำจำนวนเด็กแรกเกิดที่ตาย หารด้วยจำนวนเด็กเกิดทั้งหมด ก็จะได้อัตราส่วนเด็กตายต่อเด็กเกิด เอามาเทียบกันระหว่างอดีตกับปัจจุบัน ก็จะเจอว่า Death Rate ตกลงไปเยอะมาก สิ่งนี้จะยิ่งทำให้เห็นภาพความเป็นจริงชัดขึ้น เพราะอย่าลืมว่าแม้ตัวเศษจะเปลี่ยนแปลง แต่ตัวส่วนก็เปลี่ยนตาม การดูแค่ตัวเศษอย่างเดียว ก็ยังถือว่าเป็นการมองไม่รอบด้านอยู่ดี

#6: The Generalization Instinct: เรามักจะเหมารวมสิ่งที่คล้ายๆ กันว่าเหมือนกันหมด

เรามักจะจัดประเภทของทุกสิ่งอย่างในชีวิต รวมถึงมนุษย์เช่นกัน หลายคนน่าจะคุ้นเคยกับคำศัพท์ Stereotyping หรือการเหมารวมว่าคนกลุ่มนี้เป็นแบบนี้ทั้งหมด เช่น เป็นผู้ชายต้องแข็งแรง เป็นคนไทยต้องยิ้มเก่ง ฯลฯ ซึ่งนี่แหละคือสัญชาตญาณการเหมารวมของเรา ไม่ได้บอกว่ามันผิดอะไร แต่ถ้ามากเกินไป มันก็เป็นเหมือนกันปิดใจไม่รับรู้ความแตกต่างอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นในคนกลุ่มนั้น เช่น คนในแถบแอฟริกาไม่ได้อดอยากตายอยากขนาดนั้น บางแห่งเค้ามีวัคซีนฉีดกันครบพร้อมแล้ว เป็นต้น ซึ่งการที่บางทีเราเผลอมองข้ามอะไรไปเนี่ย มันอาจจะกลายเป็นข้อผิดพลาดเชิงธุรกิจก็ได้

ตัวอย่างเช่น ธุรกิจในโลกพัฒนาแล้ว ก็จะคิดแต่ว่า ฉันจะขายแค่ในประเทศรวยๆ เท่านั้นแหละ พวกประเทศจนๆ มันไม่มีปัญญาซื้อหรอก แต่หารู้ไม่ว่าประเทศในกลุ่มเลเวล 2-3 นี่แหละมีอุปสงค์เพียงพอ มีตลาดรองรับ หากสามารถบุกตลาดนี้ได้ กลุ่มประเทศเลเวล 2-3 ที่ต้องใช้ชีวิตแบบพึ่งพาสิ่งของที่จำเป็น ก็อาจจะติดแบรนด์ได้ไม่ยาก ไม่เหมือนกับคนในประเทศรวยๆ ที่มีตัวเลือกมากมาย

นอกจากเชิงธุรกิจแล้ว คุณรอสลิงยังได้เล่าว่ามีนักเรียนคนหนึ่งของเขาเผลอคิดเหมารวมแล้วเกือบบาดเจ็บสาหัส ตอนนั้นเขาพาไปนักเรียนไปทัศนศึกษาที่อินเดีย ในภาคส่วนที่ยังเป็นเลเวล 2 อยู่ นักเรียนคนนี้หวังจะหยุดลิฟต์ด้วยการเอาขาไปขวางประตูที่กำลังจะปิด เพราะนึกว่าลิฟต์มันจะมีเซ็นเซอร์เหมือนที่สวีเดน ปรากฏว่าประตูลิฟต์มันไม่ปิดเว้ยแถมลิฟต์ยังเคลื่อนตัวขึ้น ถ้าคุณรอสลิงกับเจ้าถิ่นไม่ไปช่วยกันดันประตูให้เปิดออก ขาของเธอก็คงขาดไปแล้ว แสดงให้เห็นว่าการคิดแบบเหมารวมโดยอ้างอิงกับความธรรมดาของบ้านเราอาจจะเป็นอันตรายได้ถ้าเราไปเยือนที่อื่นๆ

ถ้าอย่างนั้น เราจะหลีกหนีจากสัญชาตญาณการเหมารวมได้ยังไง?

1) หาการจำแนกประเภทที่ดีกว่า ตัวอย่างก็เช่นการแยกสภาวะความเป็นอยู่ของโลกเราเป็น 4 เลเวล มันทำให้เห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นชนชาติไหน ก็อาจเจอสภาวะ 1-4 แบบไหนก็ได้ทั้งนั้น การที่เราเห็นหม้อต้มอาหารสภาพโกโรโกโสจากชุมชนเลเวล 2 ในประเทศจีน ไม่ได้หมายความว่าทั้งประเทศจีนต้องใช้หม้อต้มนี้กันหมด ประเทศหนึ่งสามารถเจอความหลากหลายได้ ในขณะเดียวกันก็อาจจะมีบางส่วนที่คล้ายคลึงกับประเทศอื่นๆ ในฐานะเดียวกัน

2) ระวังการเหมารวมระหว่างกลุ่ม อย่าคิดว่าสิ่งที่ได้ผลกับคนกลุ่มนี้ จะได้ผลกับคนกลุ่มหนึ่ง ตัวอย่างในหนังสือเช่น การให้ทหารที่สลบนอนคว่ำเพื่อป้องกันไม่ให้หลอดอาหารอุดตันจากมวลอาเจียน ไม่สามารถใช้กับเด็กทารก เพราะหากให้เด็กทารกนอนคว่ำ พวกเขายังแข็งแรงไม่พอที่จะเอี้ยวตัวอาเจียน อาจทำให้มวลอาหารอุดตันหลอดอาหารได้ ในขณะที่ทหารนั้นหากสลบแล้วจะไม่สามารถเอี้ยวตัวอะไรได้ การนอนคว่ำจึงได้ผล

3) การเหมารวมโดยอิงจาก “ส่วนมาก” ก็ไม่ปลอดภัยเช่นกัน เพราะ “ส่วนมาก” นี้อาจจะหมายถึง 90% หรือ 51% ก็ได้ทั้งนั้น ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่างกันมาก ทางที่ดีควรหาตัวเลขชัดๆ มาเลยดีกว่า

4) การเหมารวมโดยอิงจากภาพเหตุการณ์ที่ชัดเจน ก็ทำให้เรามองโลกไขว้เขวเหมือนกัน เช่น ผลเสียของสารเคมีบางชนิดอาจจะน่ากลัวติดตามาก จนคนคนหนึ่งเหมารวมว่าสารเคมีทุกชนิดนั้นไม่ดี

5) สุดท้ายแล้ว อย่าเหมารวมว่าคนที่ทำอะไรไม่เหมือนเรานั้นโง่หรือประหลาด บางทีเราเองอาจจะประหลาดเองก็ได้ ให้มองว่าคนอื่นอาจจะฉลาดกว่าเรารึเปล่า? ทำไมวิธีนั้นถึงฉลาดกว่า? บางทีเราอาจจะได้เรียนรู้อะไรมากขึ้น

#7: The Destiny Instinct: เรามักจะคิดว่า ก็มันเป็นแบบนี้อะ เปลี่ยนไม่ได้หรอก

มีชายคนหนึ่งเดินมาบอกคุณรอสลิงว่า ไม่มีทางที่แอฟริกาจะพัฒนาได้หรอก ผมเคยอยู่ที่ไนจีเรียมาก่อน วัฒนธรรมของพวกเขาไม่มีวันส่งเสริมสังคมที่ก้าวหน้าหรอก ไม่มีวันเลย

นี่แหละคือสิ่งที่เรียกว่าสัญชาตญาณแห่งพรหมลิขิต หรือ Destiny Instinct ซึ่งจะทำให้เราคิดว่า อะไรที่มันเป็นแบบนี้ ก็เพราะมันเป็นแบบนี้แหละ ไม่มีทางเปลี่ยนมันได้หรอก สิ่งนี้ยิ่งทำให้ความคิดเรื่อง Gap Instinct หรือ Generalization Instinct ยิ่งเป็นความจริงขึ้นไปอีก มนุษย์ไม่ปฏิเสธสัญชาตญาณนี้เพราะมันทำให้กลุ่มก้อนของตัวเองแข็งแกร่งขึ้น ด้วยการมองว่ากลุ่มอื่นๆ ด้อยกว่า แต่อันที่จริงแล้ว วัฒนธรรมมันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาแหละ วัฒนธรรมที่ไม่เปลี่ยนแปลงคือวัฒนธรรมที่ตายแล้ว

ตัวอย่าง หลายคนอาจจะคิดว่าสวีเดนเป็นประเทศที่เปิดกว้างเรื่องเซ็กส์ ทุกคนสามารถพูดถึงมันได้อย่างเสรี แต่คุณรอสลิงเล่าว่าก่อนหน้านี้ก็ไม่ได้เป็นแบบนี้ เพราะรุ่นคุณปู่ของเขาปิดกั้นเรื่องเซ็กส์ และต่อต้านการใช้การคุมกำเนิด รวมถึงการทำแท้งมาก การทำแท้งยังเป็นเรื่องผิดกฏหมายอยู่ แต่ปัจจุบันนี้สามารถทำได้อย่างถูกกฏหมายแล้ว

นอกจากนี้ สิ่งที่เราคิดว่าเป็นค่านิยมของแต่ละประเทศ จริงๆ แล้วก็ไม่ใช่ เราอาจจะคิดว่า ค่านิยมผู้ชายเป็นช้างเท้าหน้านั้นเป็นค่านิยมคนเอเชีย แต่จริงๆ แล้ว สิ่งเหล่านี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในเอเชีย แต่เคยเกิดขึ้นเมื่อหลายสิบปีก่อนในแถบยุโรป ดังนั้นเราไม่สามารถสรุปได้ว่าค่านิยมไหนเป็นของประเทศอะไร ของภูมิภาคอะไร ในเมื่อทุกๆ อย่างสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอด หรือสามารถแชร์ร่วมกันระหว่างภูมิภาคได้

เพื่อที่จะป้องกันไม่ให้เผลอเกิด Destiny Instinct สามารถทำตามวิธีเหล่านี้ได้

1) อย่าลืมว่าการเปลี่ยนแปลงนิดๆ หน่อยๆ สามารถรวมกันกลายเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้ การเติบโตเพียง 1% ต่อปีนั้นดูเหมือนจะน้อย แต่มันสามารถกลายเป็นการเติบโตแบบคูณสองได้ภายใน 70 ปี

2) หาความรู้ใหม่ๆ อยู่เสมอ เพราะความรู้เดิมๆ นั้นล้าสมัยเร็วมาก

3) คุยกับคนหลายๆ ประเภท หลายๆ ช่วงอายุ จะได้เห็นมุมมองที่แตกต่าง เช่น เมื่อคุยกับคุณปู่คุณย่า ก็จะได้รู้ว่า โลกมันเปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก

4) มองหาความเปลี่ยนแปลงด้านวัฒนธรรมจากหลายๆ แหล่ง เราจะได้เปลี่ยนความคิดที่ว่าวัฒนธรรมบางประเภทไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้

#8: The Single Perspective Instinct: เรามักจะมองแค่มุมเดียว

คนส่วนใหญ่มักจะตัดสินใจว่าเขารู้ทุกอย่างแล้ว จากข้อมูลเพียงแค่ด้านเดียวเท่านั้น คนที่เชื่อในตลาดเสรีก็จะบอกว่าปัญหาทุกอย่างเกิดมาจากการที่รัฐบาลเข้ามายุ่มย่ามนั่นไง ฉะนั้น เราต้องเปิดตลาดให้กว้าง กำจัดภาษีออกไปให้หมดซะ ในขณะที่คนที่เชื่อในความเท่าเทียมกันก็จะบอกว่าปัญหาทุกอย่างเกิดมาจากการที่คนไม่เท่าเทียมกัน ฉะนั้นต้องแก้ปัญหาด้วยการจัดสรรทรัพยากรซะใหม่

การคิดแค่มุมเดียวแบบนี้นั้นง่ายกว่ากันเยอะ เพราะมันทำให้เรื่องจบได้ง่าย ไม่เสียเวลา พร้อมกับความภูมิใจว่าเราแก้ปัญหาได้แล้ว แต่การมองแบบนี้นั้นทำให้เราตาบอดไม่เห็นมุมอื่นๆ ที่เรามองว่าไม่ฟิตกับมุมมองของเรา ทำให้ไม่สามารถมองเห็นภาพรวมได้อย่างแท้จริง ดังนั้นสิ่งที่เราควรทำคือแทนที่จะพยายามหาพรรคพวก หาคำยืนยันว่าสิ่งที่เราคิดนั้นเป็นจริง ให้พยายามหาข้อบกพร่องในสิ่งที่เราคิด ลองไปคุยกับคนอื่นๆ ที่เขาเห็นต่างกับเราบ้าง

มีเหตุผลสองประการที่ทำให้คนมองแค่ด้านเดียว อย่างแรกคือความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน แน่นอนว่าผู้เชี่ยวชาญนั้นให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับเรา แต่มันก็แค่ด้านที่เขาชำนาญ ตัวเขาเองก็ไม่ได้รู้ทุกอย่างบนโลกนี้ แค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น ดังนั้นเราไม่สามารถตัดสินทุกอย่างได้จากการได้ยินจากผู้เชี่ยวชาญเพียงด้านเดียว ในขณะเดียวกัน คุณรอสลิงยังเผยอีกว่ากลุ่มผู้เชี่ยวชาญหรือนักเคลื่อนไหวในแต่ละด้านบางทีก็ไม่ได้รู้ทุกอย่างในด้านที่ตัวเองพลีชีพให้ นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิสตรีหลายคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตอนนี้จำนวนปีโดยเฉลี่ยที่ผู้หญิงอายุ 30 ปีได้รับการศึกษานั้นน้อยกว่าผู้ชายอายุเท่ากันเพียงแค่ 1 ปีเท่านั้น นักเคลื่อนไหวด้านสัตว์ป่าไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจำนวนสัตว์ใกล้สูญพันธุ์หลายสายพันธุ์นั้นมีจำนวนเพิ่มขึ้น ไม่ใช่ลดลง แสดงให้เห็นว่าพวกนักเคลื่อนไหวมักจะมองปัญหาให้ใหญ่กว่าที่ควร และมองไม่เห็นการพัฒนาที่เกิดขึ้น บางทีหากพวกเขามองเห็นและถ่ายทอดออกไปให้โลกรู้ ความชื่นใจและภูมิใจนี้อาจเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดผลบวกที่มากขึ้นก็เป็นได้

กรอบของการเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านใดด้านหนึ่งยังถือเป็น comfort zone ที่ทำให้พวกเขาไม่กล้าหาข้อมูลในมุมมองอื่นๆ ประเด็นนี้คุณรอสลิงนำเสนออกมาได้อย่างน่าสนใจ เขาเล่าว่าเขาเจอกลุ่มนรีแพทย์ซึ่งทำงานเก็บข้อมูลเรื่องกิจกรรมทางเพศ พอคุณรอสลิงบอกว่าอยากให้พวกเขาเติมคำถามเกี่ยวกับรายได้ไปด้วย เพราะอยากเห็นความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มรายได้และการเป็นโรค STD พวกเขากลับบอกว่าไม่ได้ เงินมันเป็นเรื่องละเอียดอ่อนเกินไป… ไม่กี่ปีต่อมา คุณรอสลิงได้พบเจอกับทีมที่ทำการสำรวจเกี่ยวกับรายได้ของผู้คนทั่วโลก คุณรอสลิงอยากให้พวกเขาใส่คำถามเกี่ยวกับกิจกรรมทางเพศเข้าไป เพื่อที่จะหาความสัมพันธ์ระหว่างรายได้กับความถี่ในการมีเพศสัมพันธ์ แน่นอนว่าทีมที่นี่บอกว่าไม่มีทางเด็ดขาด

อีกประการนึงคือความสนใจเฉพาะด้าน แน่นอนว่าการมีแนวคิดใหญ่ๆ อะไรสักอย่างร่วมกันนั้นจะก่อให้เกิดกลุ่มก้อนสามัคคี ตัวอย่างเช่น แนวคิดด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจ แต่เราก็ต้องระวังเช่นกันเพราะมันง่ายมากที่จะเผลอมองโลกแค่ด้านเดียว คนบางคนอาจจะคิดว่า แค่ทำทุกอย่างให้เป็นประชาธิปไตยสิ ประเทศจะได้ก้าวหน้าขึ้น แต่หารู้ไม่ว่าประเทศที่เศรษฐกิจโตเร็วสุดในช่วงปี 2012-2016 นั้นแทบไม่มีประเทศไหนมีความเป็นประชาธิปไตยสูงๆ เลย

มุมมองในการมองข้อมูลก็เช่นกัน หลายคนอาจจะคิดว่า ตัวเลขสามารถบอกได้ทุกอย่าง แต่จริงๆ แล้ว ตัวเลขมันก็แค่ส่วนหนึ่ง เราควรจะสังเกตสถานการณ์รอบตัวด้วย เหมือนในกรณีของนายกประเทศโมซัมบิกที่มั่นใจว่าประเทศของเขาพัฒนาขึ้น เขาดู GDP ด้วยส่วนหนึ่ง แต่สิ่งที่เขาให้เครดิตมากๆ คือการเดินขบวนในเดือนพฤษภาคมของทุกๆ ปี ที่ที่เขาจะได้เห็นความเป็นอยู่ของประชาชนผ่านการแต่งตัวและการนำเสนอของพวกเขา นอกจากนี้เขาก็ยังสังเกตด้วยว่าทัศนียภาพรอบด้านนั้นเป็นอย่างไร มีการก่อสร้างขึ้นหรือไม่ หรือเป็นพื้นที่รกร้าง ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นจริงๆ ว่าคนในประเทศนั้นมีอันจะกินจริงๆ หรือต้องหาเช้ากินค่ำ

สรุปรวมๆ การป้องกันไม่ให้เกิดการมองโลกด้านเดียว คือ

1) ทดสอบไอเดียของเรา อย่าหาแต่พรรคพวกที่จะเข้าข้างเรา แต่ลองหาคนที่มีมุมมองต่างจากเรา ให้เขาช่วยชี้ว่าสิ่งที่เรามองนั้นมีตรงไหนบกพร่อง

2) อย่าทำเป็นเก่งในด้านที่เราไม่ถนัด ขณะเดียวกันก็อย่าคิดว่าสิ่งที่เรารู้นั้นตอบคำถามได้ทุกเรื่อง ให้ถ่อมตัวว่าเรายังไม่รู้ในอีกหลายๆ เรื่อง เช่นเดียวกันกับคนอื่น พวกเขาก็อาจจะไม่ได้รู้ทุกเรื่องเสมอไป

3) เครื่องมือเดียวไม่สามารถแก้ทุกปัญหาได้ หากเราเป็นคนชอบใช้ค้อน ลองหาคนที่ชอบใช้ไขควง ประแจ หรือเทปวัดความยาว มาเสริมมุมมองของเราดู

4) ตัวเลขบอกไม่ได้ทุกอย่าง ให้มองข้อมูลในเชิงคุณภาพด้วย

5) อย่าคิดว่าทุกอย่างเป็นเรื่องง่ายๆ เพราะทุกอย่างนั้นมีความเชื่อมโยงเข้าถึงกัน ระบบมีความซับซ้อน จึงไม่สามารถแก้ปัญหาด้วยวิธีเดิมๆ ควรจะแก้ปัญหาแบบ case-by-case ไป

#9 The Blame Instinct: เรามักจะหาแพะรับบาปเมื่อเกิดอะไรแย่ๆ ขึ้น

บ่อยครั้งที่เวลาเราเจอเรื่องที่ขัดใจ สมองเราก็จะคิดทันทีว่าใครควรจะรับผิดชอบ แล้วเราก็จะโกรธคนคนนั้นทั้งที่สมองยังไม่ไตร่ตรองด้วยซ้ำ ทั้งที่หลายครั้งนั้นต้องโทษระบบภาพรวม แต่การโบ้ยความผิดให้คนอื่น กลุ่มอื่น หรือองค์กรอื่นๆ นั้นมันง่ายกว่า เช่นเดียวกันกับเวลาเกิดเรื่องดีๆ ขึ้น เราก็มักจะโอนความดีความชอบให้ใครสักคนหนึ่ง หรือองค์กรใดองค์กรหนึ่ง ทั้งที่จริงๆ แล้ว ทุกๆ อย่างที่เกิดขึ้น ไม่ได้มาจากความผิดหรือความเจ๋งของเพียงปัจจัยเดียว แต่มันเกิดจากการที่ทั้งระบบทำงานร่วมกันต่างหาก

สิ่งที่มักจะโดนโบ้ยความผิดใส่เสมอคือธุรกิจ สื่อข่าว ชาวต่างชาติ สำหรับธุรกิจนั้น เวลาเกิดเรื่องไม่ชอบมาพากล เราก็มักจะชายตามองธุรกิจด้วยสายตาประณาม เพราะขึ้นชื่อว่าธุรกิจย่อมเห็นแก่กำไร แต่มันเป็นเช่นนั้นจริงหรือ? มีอะไรที่เรายังไม่รู้รึเปล่า? ในเคสนี้คุณรอสลิงเล่าให้ฟังว่าเขาเจอธุรกิจเภสัชที่ขายยาราคาต่ำมากจนน่าสงสัย ต่ำกว่าต้นทุนซะอีก มันน่าแปลกใจมาก จนสุดท้ายเมื่อคุยกันถึงได้รู้ว่าธุรกิจนี้ใช้เทคโนโลยีผลิตยาสูงมากเมื่อเทียบบริษัทอื่นๆ ทำให้ผลิตยาได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว พวกเขาต้องจ่ายเงินค่าวัตถุดิบภายใน 30 วัน แต่พวกเขาสามารถขายยาให้ UNICEF ได้ภายใน 4-5 วันแรก ยังเหลือเวลาอีกประมาณ 26 วันที่พวกเขาจะนำเงินที่ได้มาไปหาดอกผลต่อ นี่เป็นวิธีที่เหนือชั้นมากๆ

ในกรณีของสื่อข่าว ก็ไม่ใช่ว่าพวกเขาจะอยากใส่สีตีไข่ให้ข่าวขายได้ นั่นอาจจะเป็นส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนหนึ่งคือนักข่าวเองก็อาจจะมีมุมมองต่อโลกที่ไม่ชัดเจนด้วย ข่าวที่พวกเขาผลิตจึงมีความเอนเอียงไปทางฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ทำให้ผู้รับสารเข้าใจผิดได้ ในกรณีชาวต่างชาติก็เหมือนกัน เหล่าประเทศพัฒนาแล้วมักจะโบ้ยความผิดเรื่องมลพิษให้ประเทศกำลังพัฒนาอย่างจีนหรืออินเดีย ทั้งที่จริงๆ แล้วตลอด 50 ปีที่ผ่านมา ประเทศพัฒนาแล้วผลิต CO2 มากกว่าจีนถึงสองเท่า และมากกว่าอินเดียถึง 8 เท่า

มาถึงเรื่องดีๆ บ้าง เราก็มักจะมอบความดีความชอบให้ผู้นำทรงอำนาจ แต่บางทีมันอาจจะไม่ได้มาจากผู้นำโดยตรงก็ได้ อาจจะมาจากองค์กรอื่นๆ หรือมาจากเทคโนโลยี ว่าง่ายๆ ก็คือทุกสิ่งทุกอย่างที่ผสมรวมเข้าด้วยกัน ส่งผลให้เกิดเรื่องดีๆ นั้นขึ้นมา

ดังนั้น หากเราต้องการก้าวผ่าน Blame Instinct เราจะต้อง

1) หยุดหาผู้ร้าย เพราะเมื่อเราโฟกัสไปที่ใครหรือปัจจัยใดปัจจัยหนึ่ง เราจะไม่ยอมมองหาคำอธิบายอื่นๆ เลย และนั่นจะเป็นอุปสรรคต่อกันป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทางที่ดี แทนที่จะหาผู้ร้าย เราไปโฟกัสที่สาเหตุ ที่ระบบโดยรวมดีกว่าว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง

2) เช่นเดียวกันกับเวลาเกิดเรื่องดีๆ อย่าไปโฟกัสที่ฮีโร่เพียงคนเดียว แต่ให้มองไปที่ระบบภาพรวมด้วย

#10 The Urgency Instinct: เรามักจะคิดว่าต้องเดี๋ยวนี้เท่านั้น ไม่งั้นก็ไม่ทันแล้ว

บ่อยมากที่พวกเรามักจะเจอข้อความทำนองว่า “ถ้าไม่ทำวันนี้ แล้วจะทำวันไหน” “ปัญหารอไม่ได้” “เซลส์วันนี้วันสุดท้าย” ฯลฯ ซึ่งพอเราเจออะไรแบบนี้ ก็อดไม่ได้ที่จะเกิดแรงฮึกเหิมบางอย่างให้วิ่งพุ่งเข้าใส่โดยไม่ไตร่ตรองให้ดีก่อน นี่คือผลจากสัญชาตญาณ Urgency Instinct ซึ่งเป็นสัญชาตญาณที่จะถูกกระตุ้นให้เรากระทำทันที ใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล

อันที่จริง สัญชาตญาณนี้ ถือว่ามีประโยชน์มากในสมัยดึกดำบรรพ์ หากมนุษย์ไม่มีสัญชาตญาณนี้ก็คงไม่สามารถเอาตัวรอดจากสัตว์ป่าได้ ว่ากันก็คือพวกเราในปัจจุบันก็คือทายาทของมนุษย์กลุ่มที่มีสัญชาตญาณนี้นั่นแหละ และมันก็ยังคงอยู่ในปัจจุบัน ที่ซึ่งข้อมูลและสถานการณ์ต่างๆ มีความซับซ้อนมากขึ้น ต้องใช้การคิดไตร่ตรองมากขึ้น

พวกนักการตลาดหรือนักเคลื่อนไหวมักจะใช้ข้อความกระตุ้นสัญชาตญาณนี้ เพื่อให้พวกเรารู้สึกว่าปัญหาที่อยู่ไกลออกไปนั้นใกล้ตัวยิ่งขึ้น เพราะโดยปกติแล้ว คนเรามักจะไม่ค่อยสนใจความเสี่ยงที่อยู่ไกลๆ หรอก เช่น เงินเกษียณ หรือ สุขภาพ จะสนอะไรที่อยู่ใกล้ๆ มากกว่า ทางเดียวที่จะกระตุ้นให้คนรู้สึกว่าต้องพิจารณาความเสี่ยงที่อยู่ไกลออกไป ก็คือการใช้ข้อความกระตุ้นว่ามันมีผลเสียร้ายแรงถึงขนาดนี้ถ้าไม่ลงมือทำวันนี้ ก็ว่ากันไป ทุกวันนี้เราเจออะไรแบบนี้กันเยอะมาก จนรู้สึกไปว่า ไอ้ความเสี่ยงที่แสนจะไกลตัวนั้นใกล้นิดเดียว ทำให้เราเผลอละเลยอันตรายจริงๆ ที่อยู่ใกล้ตัวไป

คุณรอสลิงเล่าว่า เขาเคยถูกอัล กอร์ นักวิทยาศาสตร์และนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมชื่อดัง ขอให้ช่วยนำสถิติที่บ่งบอกว่าสถานการณ์ร้ายแรงที่สุดที่โลกจะเจอคืออะไร หากเราไม่หยุดภาวะโลกร้อน คุณรอสลิงปฏิเสธคำขอนี้ เพราะเขาไม่ชอบการสร้างความกลัวล้วนๆ โดยปราศจากข้อมูลอื่นๆ เช่น best-case scenario (เหตุการณ์ที่ดีที่สุดที่อาจเกิดขึ้นได้) หรือ หนทางแก้ไขปัญหา เพราะการที่เรามุ่งเน้นไปที่ประเด็นอะไรบางอย่างมากเกินไป ทำให้เราตาบอดต่อข้อมูลที่แท้จริง

“ข้อมูลที่แท้จริง” ถือเป็นสิ่งจำเป็นมาก เวลาที่เราเผชิญกับสถานการณ์คับขันที่เร่งเร้าเอาคำตอบ ขอให้เราตั้งสติดีๆ แล้วพยายามมองหาข้อมูลมาประกอบการตัดสินใจให้ได้มากที่สุด อย่าตัดสินใจโดยใช้อารมณ์อย่างเดียว เพราะการตัดสินใจที่ไม่ทันได้ไตร่ตรองอาจจะทำให้เกิดผลลัพธ์ด้านลบได้

แม้บทนี้จะเตือนให้เราอย่าหวั่นกับภาวะฉุกเฉินต่างๆ มากเกินไป แต่คุณรอสลิงก็บอกว่ามีความเสี่ยงระดับโลก 5 อย่างที่ทุกคนควรให้ความสำคัญ นั่นก็คือโรคร้าย ระบบการเงินล้มเหลว สงครามโลก ภาวะอากาศเปลี่ยนแปลง และความยากไร้ขั้นสุด นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงที่เราไม่อาจคาดการณ์ได้อีก ที่บอกแบบนี้ไม่ใช่จะให้กลัวหรืออะไร แต่ให้เราตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา เพื่อที่เราจะได้รับมือกับมันได้ เพราะความเสี่ยงพวกนี้ หากเกิดขึ้นมาจริงๆ พัฒนาการด้านอื่นๆ จะไม่เกิดขึ้นเลย

สรุปแล้ว เราจะสามารถควบคุม Urgency Instinct ได้ด้วยการ

1) ใจเย็นๆ อย่าเพิ่งรีบร้อน เวลาเจอเหตุการณ์คับขัน ให้ตั้งสติก่อน ขอเวลาและข้อมูลเพิ่ม มีไม่บ่อยหรอกที่สถานการณ์จะคับขันขนาดที่ว่าไม่ใช่ตอนนี้ก็ไม่มีเวลาอีกแล้ว

2) ขอข้อมูลให้มากที่สุด ถ้ามันสำคัญจริงๆ มันก็ควรจะวัดผลได้ จงตามหาข้อมูลที่แม่นยำ ขณะเดียวกันก็มีความเกี่ยวข้องกับประเด็นนั้นจริงๆ

3) ระวังการพยากรณ์ เพราะอนาคตไม่แน่ไม่นอน อะไรๆ ก็เปลี่ยนได้ แทนที่จะดูแค่ best-case หรือ worst-case ขอให้ดูทุกๆ case ที่อาจเกิดขึ้น ทุกๆ ความเป็นไปได้

4) ระวังอย่าทำอะไรผลีผลาม ตระหนักก่อนว่าผลกระทบจะเป็นอย่างไร เราจะสามารถทดสอบไอเดียนี้ก่อนได้ไหม การทำอะไรเป็นขั้นเป็นตอนนั้นดีกว่าการบุ่มบ่ามไปเลย

factfulness-poster-web-images-20180215-v3_Rules-of-thumb-764x1024.jpg

Source: Gapminder

การใช้ Factfulness ในเชิงปฏิบัติ

สำหรับบทสุดท้ายนี้ ก็จะเป็นการสรุปคร่าวๆ ว่า เราสามารถประยุกต์ใช้การมองโลกแบบ Factfulness ได้อย่างไร โดยแยกกันไปตามแต่ละสถานการณ์

ด้านการศึกษา เด็กๆ ควรจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับสภาวะของโลกทั้งใบ ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ที่ไหนก็ตาม พวกเขาควรได้รับรู้ข้อมูลที่อัปเดตที่สุด มีมูลแห่งความเป็นจริงที่สุด ควรเข้าใจสัญชาตญาณของตนที่สิ่งภายนอกกำลังปลุกเร้า และที่สำคัญควรที่จะสอนให้รู้จักถ่อมตน รวมถึงมีความสงสัยใคร่รู้ตลอดเวลา เพราะโลกสมัยนี้เปลี่ยนไปเร็วมาก ทุกคนควรพร้อมที่จะเรียนรู้อะไรใหม่ๆ เสมอ

ด้านธุรกิจ ผู้ประกอบการควรเข้าใจสภาวะตลาดของแต่ละภูมิภาค เพื่อให้เห็นโอกาสในที่ที่ไม่เคยมอง เช่น เอเชีย แอฟริกา ที่มีโอกาสเติบโตสูงกว่าประเทศพัฒนาแล้วแถบยุโรป หรืออเมริกา การเป็นคนผิวขาวไม่ใช่เรื่องที่ต้องโอ้อวดกันอีกต่อไป เพราะคนสัญชาติอื่นๆ ก็พิสูจน์แล้วว่าพวกเขาเก่งได้ไม่แพ้กัน ดูตัวอย่างเช่นคุณ Sundar Pichai ซีอีโอของกูเกิล และคุณ Satya Nadella ซีอีโอของไมโครซอฟต์ ก็เป็นคนอินเดียกันทั้งคู่

ด้านผู้สื่อข่าว นักเคลื่อนไหว และนักการเมือง พวกเขาส่วนใหญ่ค่อนข้างติดอยู่กับมุมมองด้านเดียว จริงๆ พวกเขาก็ควรจะหาแหล่งข้อมูลอื่นๆ มาประกอบ เพื่อให้เห็นภาพกว้างๆ ด้วย แต่เอาเข้าจริง สุดท้ายแล้วงานของพวกเขาก็คือการพยายามแย่งความสนใจของหมู่มวลชนอยู่ดี ดังนั้น ควรเป็นฝั่งเรา ผู้เสพข่าวนี่แหละ ที่ต้องกรองและวิเคราะห์ให้ได้ว่าข่าวสารชิ้นไหนที่มีประโยชน์จริงๆ

ด้านองค์กรหรือท้องถิ่น ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับโลกหมด แต่ไม่รู้อะไรเกี่ยวกับชุมชนหรือองค์กรของตัวเองเลย หนังสืออาจจะเน้นเรื่องมุมมองภาพกว้าง แต่สุดท้าย ภาพเล็กๆ ก็สำคัญเช่นกัน เพราะมันก็คือชุมชนที่เราอาศัยอยู่ ดังนั้น ทุกคนในพื้นที่ต้องช่วยกันตรวจสอบความรู้ของต่างฝ่าย ว่าทุกคนเข้าใจและรู้ตรงกันหรือไม่

สุดท้ายแล้ว การมองโลกบนพื้นฐานแห่งความเป็นจริง อาจจะไม่ใช่อะไรที่ทุกคนสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว ทุกอย่างต้องใช้เวลา แต่คุณรอสลิงเชื่อว่ามันต้องมีความเป็นไปได้ เพราะการมีมุมมองต่อโลกบนพื้นฐานแห่งความเป็นจริงก็เปรียบเสมือนการมี GPS แม่นๆ ไว้นำทางไม่ให้หลงทิศ อีกอย่างคือการมองโลกแบบนี้ทำให้สบายใจกว่าด้วย เพราะมันช่วยลดความเครียด ความสิ้นหวังที่เกิดจากมุมมองที่บิดเบี้ยว เมื่อเรามองเห็นโลกในแบบที่มันเป็นจริงๆ เราจะค้นพบว่า มันไม่ได้แย่ขนาดนั้นเลย มันดีขึ้นมาเรื่อยๆ และเราก็จะมองเห็นว่าเราควรทำอย่างไร ให้มันพัฒนาต่อไป

โดยรวมแล้ว เราชอบหนังสือเล่มนี้ ตอนแรกคิดว่าเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษจะอ่านยาก แต่กลับกลายเป็นว่าภาษาค่อนข้างง่าย สำนวนคำศัพท์ตรงไปตรงมา ไม่ได้เล่นศัพท์เฉพาะทางใดๆ เราชอบตรงที่คุณรอสลิงมักจะนำเหตุการณ์จริงๆ มาเป็นกรณีศึกษา เล่าออกมาเป็นเรื่องสั้น ทำให้เราเห็นสิ่งที่เขาพยายามจะสื่อสารมากขึ้น ระหว่างทาง หนังสือยังสอดแทรกไปด้วยแผนภูมิมากมายที่อธิบายข้อมูลยากๆ ให้เราเข้าใจเพียงแค่กวาดตามอง ถือเป็นหนังสืออีกหนึ่งเล่มที่ช่วยชูใจและให้กำลังใจว่าที่ผ่านมา โลกเราพัฒนาขึ้นมาเยอะ และมันก็สามารถก้าวเดินต่อไปข้างหน้าได้ ถ้าเราพร้อมใจกับมองความเป็นจริงและแก้ปัญหาให้ตรง

3 thoughts on “สรุปหนังสือ Factfulness: จริงๆ แล้วโลกดีกว่าที่เราคิด

Add yours

  1. หนังสือน่าสนใจมากครับ แต่ที่ชอบเป็นพิเศษคือ infographic ประกอบ

    Like

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

Blog at WordPress.com.

Up ↑

%d bloggers like this: