รีวิว Joker (2019): เสียงหัวเราะที่ไม่ได้หมายถึงความสุข

ถ้าถามว่าช่วงนี้หนังเรื่องไหนเป็น Talk of The Town ที่สุด ก็คงหนีไม่พ้น Joker ที่ไม่ว่าเราจะไปที่ไหน ทั้งในและนอกโซเชียลมีเดีย ก็เจอแต่คนพูดถึงกัน ยิ่งก่อให้เกิดความสงสัย อยากดูขึ้นมาตะหงิดๆ

ตอนแรกก็คิดว่าจะไม่ได้ดูในโรงเสียแล้วเพราะดูไม่ทันสัปดาห์แรกที่ฉาย แต่โชคดีที่มีโอกาสดูอย่างน้อยในสัปดาห์ที่สอง

สิ่งที่เราได้รู้มาจากรีวิวเจ้าอื่นๆ ก็คือ หนังเรื่องนี้มีความข้องเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า ระหว่างดูอาจทำให้เกิดอาการหดหู่ จิตตก อะไรประมาณนี้ ซึ่งเราก็เตรียมใจไว้ระดับหนึ่ง ว่าน่าจะเป็นหนังดราม่าพอสมควร ถึงตรงนี้ใครยังคิดว่า Joker ต้องเป็นหนังแอ็กชั่นแน่ๆ คิดผิดนะฮะ และอย่าคาดหวังว่ามันจะแอ็กชั่นกระจุยกระจาย เพราะนี่ไม่ใช่หนังซูเปอร์ฮีโร่ แต่เป็นหนังที่เล่าถึงชีวิตของคนธรรมดาๆ ที่ต้องเจอแรงกดดันมากมาย ทำให้เขาต้องกลายเป็นอาชญากรผู้เลื่องชื่อในที่สุด

01.jpg

Joker เล่าย้อนกลับไปในปี 1981 ในเมืองก็อตแธมที่สภาพตอนนั้นดูไม่จืด ทั้งสกปรกซกมก เต็มไปด้วยอาชญากรรม ผู้คนก็แบ่งชนชั้นชัดเจนเป็นคนรวยกับคนจน หนังโฟกัสไปที่เรื่องราวของอาร์เธอร์ เฟล็ก (Joaquin Phoenix) ชายหนุ่มฐานะยากจนที่ทำงานเป็นตัวตลก อาศัยอยู่กับแม่ในห้องพักเก่าๆ เพียงสองคน เขามีความใฝ่ฝันอยากจะเป็นนักแสดงตลกโชว์เดี่ยวมาแต่ไหนแต่ไร ถึงอย่างนั้น ก็ดูเหมือนโชคชะตาจะเล่นตลกใส่เขาเสียเอง เพราะตัวอาร์เธอร์ก็มีโรคประจำตัว เวลาเขารู้สึกเศร้า กดดัน หรือเครียด ก็จะเผลอหลุดหัวเราะออกมา สิ่งนี้ทำให้หลายๆ คนรอบตัวเขาค่อนข้างหัวเสียกับความไม่รู้จักกาลเทศะ ตัวอาร์เธอร์เองก็มักจะถูกคนอื่นรังแกกลั่นแกล้ง เจอเหล่าอันธพาลหาเรื่องไล่ซ้อม เพื่อนร่วมงานก็ไม่จริงใจ หัวหน้างานก็ไม่สนใจไยดี สภาพแวดล้อมรอบตัวล้วนกดดันให้เขารู้สึกซึมเศร้า กดดัน และโกรธแค้น

“The worst part of having a mental illness is people expect you to behave as if you don’t.” – Arthur Fleck

บทหนัง Joker นั้นได้รับแรงบันดาลใจมาจากการ์ตูน Batman: The Killing Joke ในปี 1988 ที่เล่าถึงต้นกำเนิดของตัวละครโจ๊กเกอร์เหมือนกัน แต่ Todd Phillips และ Scott Silver ผู้กำกับและผู้เขียนบทร่วม ก็ไม่ได้อ้างอิง 100% จากการ์ตูน ไม่ได้ลงรายละเอียดเป๊ะๆ เพียงแต่เป็นต้นกำเนิดไอเดียหนังเท่านั้น และไม่ได้อ้างอิงตัวละครโจ๊กเกอร์จากการ์ตูนเล่มไหนเป็นพิเศษด้วย แต่พวกเขาเลือกส่วนที่ชอบเกี่ยวกับตัวละครแต่ละส่วนมาปะติดปะต่อกัน บอกเล่าถึงเรื่องราวของคนที่กำลังจะกลายเป็นโจ๊กเกอร์ มากกว่าจะเล่าถึงตัวโจ๊กเกอร์จริงๆ

11.jpg

หนังมีความยาวประมาณ 2 ชั่วโมง ซึ่งเป็นสองชั่วโมงที่เข้มข้นทั้งการดำเนินเรื่อง และเนื้อเรื่อง สิ่งหนึ่งที่เรารู้สึกชัดเจนคือซาวด์ประกอบที่จัดมาเต็มตลอด ตอกย้ำบรรยากาศกดดันตื่นเต้นให้มากยิ่งขึ้น คือในความรู้สึกเรา ถ้าซาวด์มาเอื่อยๆ หรือหนังไม่เน้นใส่ซาวด์เลย อาจจะมีง่วงอยู่เหมือนกันในบางจุด แต่เรื่องนี้ตัวเสียงเพลงประกอบมีความ dramatic พอสมควร มีกลิ่นอายหนังซูเปอร์ฮีโร่อยู่บ้าง เลยทำให้สถานการณ์ในเนื้อเรื่องดูอัปเลเวลขึ้นจากหนังดราม่าธรรมดา

ตัวละครอาร์เธอร์ ที่นำแสดงโดยวาคีน ฟินิกซ์นั้น เป็นการสวมบทบาทที่มีพลังดีมากๆ เรารู้สึกว่าวาคีนจัดเต็มจริงๆ (ตั้งแต่ลดน้ำหนักถึง 25 กิโลฯ เพื่อรับบทแล้ว) ชอบโดยเฉพาะการที่ต้องหัวเราะด้วยใบหน้าบิดเบี้ยว แววตาเศร้า อาการขัดขืนการหัวเราะไปในตัว ไหนจะเสียงหัวเราะที่ฝืดเคือง ไม่มีเศษเสี้ยวความสุข บางทีก็เจือความแดกดัน ดูเป็นภาวะที่ผิดปกติจริงๆ ไม่ใช่แสร้งทำ โดยวาคีนบอกว่าเขาได้ไปศึกษาด้วยการดูวิดีโอคนที่ป่วยด้วยโรคนี้จริงๆ

08.jpg

ถามว่าดูแล้วหดหู่ไหม? มันก็หดหู่นะ แต่สำหรับเราไม่ถึงขั้นจิตตก ส่วนใหญ่จะเป็นความรู้สึกเห็นใจ สงสาร รู้สึกว่ามันไม่แฟร์สำหรับอาร์เธอร์เลยที่ต้องมาเจออะไรแบบนี้ มากกว่า เพราะเอาเข้าจริง อาร์เธอร์ก็รู้ว่าตัวเองป่วย และเขาก็ไปรับคำปรึกษาจากสถานสังคมสงเคราะห์ เขามีความพยายามที่จะแก้ไขอาการป่วยของตัวเอง ไม่ได้นิ่งนอนใจ การงานของเขาก็เป็นไปแบบสุจริต ตัวเขาก็มีความฝันที่ยิ่งใหญ่ แต่ด้วยความที่อยู่ในเมืองซึ่งแสนจะป่าเถื่อนเลือดคลั่ง การเป็นคนชนชั้นรากหญ้าก็ดูเหมือนจะไม่มีอะไรเอื้อให้ชีวิตดีขึ้น

“I hope my death makes more cents than my life.” – Arthur Fleck

ที่เจ็บสุดคือการที่เราได้เห็นว่าผู้คนทำร้ายกันเอง ไล่ตั้งแต่พื้นฐานสุดอย่างการทำร้ายทางร่างกายที่ไร้เหตุผลมากๆ อารมณ์แบบนึกจะซ้อมคนก็ซ้อม เห็นคนไม่มีทางสู้ก็ซ้อม เห็นคนทำตัวประหลาดๆ ก็ซ้อม แม้กระทั่งคนที่มีการศึกษา ใส่สูทผูกไทค์เรียบร้อย ก็ยังแสดงท่าทางที่ดูไร้การศึกษา นอกเหนือไปจากการทำร้ายทางร่างกาย ก็ยังมีการทำร้ายทางจิตใจ โดยเฉพาะการล้อเลียน ดูถูก โกหก หรือกดให้คนอื่นกลายเป็นตัวตลกในสังคมที่คนหัวเราะเยาะใส่ โดยไม่นึกถึงความรู้สึกของคนที่โดนว่าจะเป็นยังไง จะย่ำแย่แค่ไหน คือกะเอาสนุกสะใจอย่างเดียว มันทำให้เรารู้สึกโกรธแทนอาร์เธอร์ที่ต้องเจออะไรแบบนั้น และทำให้เข้าใจเลยว่าทำไมเขาถึงอยากจะเอาคืน อยากจะไล่กราดยิงทุกคนที่เคยรังแกเขา

05.jpg

โอเค ถึงแม้เราจะสะใจกับการล้างแค้นของอาร์เธอร์ กับพฤติกรรมรุนแรงที่หนังนำเสนอ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราสนับสนุนความรุนแรง คือโดยอุดมคติแล้วโลกนี้ก็ไม่ควรมีความรุนแรงแหละ ทุกคนน่าจะแก้ไขปัญหากันได้อย่างไร้คราบเลือด แต่เผอิญว่าโลกนี้ไม่ได้สวยหรู โดยเฉพาะในเมืองอย่างก็อตแธมที่เต็มไปด้วยผู้คนที่พร้อมจะเหยียบซ้ำตลอดเวลา เราก็พอจะเข้าใจว่าทำไมอาร์เธอร์ถึงได้กลายเป็นโจ๊กเกอร์ที่ฆ่าคนได้อย่างเลือดเย็น เหนี่ยวไกปืนโดยที่ยังยิ้ม นั่นคงเพราะเขาโดนทำร้ายจนด้านชา ไม่มีอะไรจะเสียอีกแล้ว จะไปแคร์คนอื่นทำไม ในเมื่อคนอื่นก็ไม่เห็นค่าของเขา?

ตัวหนังค่อยๆ บิ้วต์ความกดดันมาเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงท้ายที่สุด ทุกอย่างก็ระเบิดออกมาอย่างบ้าคลั่งแต่ก็สวยงามแปลกๆ ถือเป็นอีกฉากจบหนึ่งที่น่าจะประทับใจไปอีกนาน

10.png

โดยรวมแล้ว คิดว่า Joker น่าจะติดทำเนียบหนึ่งในหนังที่ดีที่สุดของปี 2019 อีกเรื่อง แนะนำสำหรับคนที่ชอบดูหนังแนว psychological thriller หรือ drama ที่หนักหน่วง เตรียมพร้อมรับความกดดันไปกับตัวละคร แล้วจะรู้สึกว่า สำหรับบางคน ชีวิตอาจจะโรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่สำหรับหลายๆ คน มันมีแต่ขวากหนามเต็มไปหมด ที่อนิจจา…แม้ว่าเขาจะพยายามเอาขวานฟันต่อสู้กับหนามแหลมเท่าไร แต่หนามก็ยิ่งทิ่มแทงเขามากเท่านั้น ไม่มีอะไรดีขึ้นเลย

 

2 thoughts on “รีวิว Joker (2019): เสียงหัวเราะที่ไม่ได้หมายถึงความสุข

Add yours

  1. เป็นหนังที่ไม่กล้าดูเพราะกลัวจะกระตุ้นตัวเอง

    Like

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

Blog at WordPress.com.

Up ↑

%d bloggers like this: