รีวิว Eighth Grade (2018): เมื่อเด็กขี้อายต้องเข้าสังคม เติบโต และเป็นตัวของตัวเอง

“เกรด 8 เป็นช่วงเวลาที่แย่ที่สุด…”

ไม่รู้ว่าจะมีคนรู้สึกแบบนี้มากน้อยแค่ไหน แต่ถึงจะรู้สึก เราว่าก็คงไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเกรด 8 หรือ ม.2 นั้นน่าจะเป็นหนึ่งในช่วงอายุที่หัวเลี้ยวหัวต่อ เจอความสับสนอลหม่านหลายเรื่อง จะเป็นเด็กก็ไม่ใช่ วัยรุ่นก็ไม่เชิง เหมือนอยู่กึ่งกลางคาบเกี่ยวทั้งคู่อยู่

บางคนอาจจะเป็นเด็กป๊อปปูล่าร์ มีคนนับหน้าถือตาให้เป็นไอดอลของรุ่น ในขณะที่บางคน กลับถูกแอนตี้อยู่เงียบๆ (บางทีก็ไม่เงียบ) ทั้งที่ไม่ได้ทำอะไรผิด แต่พวกเขากลับไม่ถูกต้อนรับโดยสังคมเพื่อนๆ ในโรงเรียน

แน่นอนว่าเราเคยเห็นสิ่งนี้กับตา และเราเองก็เคยประสบความรู้สึกที่ว่า “ไม่เป็นส่วนหนึ่ง” นี้มาแล้ว การดู Eighth Grade จึงเหมือนเป็นการย้อนวัยกลับไปหาตัวเองในช่วงเวลานั้น แม้เราจะไม่ได้ตัวคนเดียวขนาด “เคย์ล่า” นางเอกของเรื่อง แต่เราก็มีเศษเสี้ยวที่คล้ายคลึงกับเคย์ล่าเหมือนกัน

Eighth Grade เล่าเรื่องของ “เคย์ล่า” (Elsie Fisher) เด็กสาวขี้อาย กับชีวิตสัปดาห์สุดท้ายของการเป็นเด็กเกรด 8 ตัวเคย์ล่านั้นเป็น vlog ใน youtube อัดคลิปวิดีโอแนะนำทริกต่างๆ เช่น การเข้าสังคม การมั่นใจในตัวเอง การเติบโต ฯลฯ แต่ในชีวิตจริงเธอกลับทำสิ่งเหล่านั้นไม่ได้สักอย่าง เพราะเธอเองก็เป็น introvert สุดๆ เธอไม่มีเพื่อน ไม่มีใครคบหาสมาคมด้วยแม้ว่าเธอจะไม่ได้ทำอะไรผิดก็ตาม กลับมาบ้านก็มีแต่พ่อเธอ (Josh Hamilton) เท่านั้นที่คอยดูแลเธอ แต่เธอก็ดูเหมือนจะมองข้ามความหวังดีของพ่อตลอด

07.jpg

เคย์ล่ารู้สึกว่า ตัวเธอไม่ได้เจ๋งอย่างที่เธออยากให้เป็นเลย จบเกรด 8 มาแล้วก็ไม่มีอะไรดีขึ้นสักอย่าง เพื่อนก็ไม่มี แฟนก็ไม่ได้ เคย์ล่าอยากเป็นส่วนหนึ่งของสังคม อยากเป็นใครสักคนที่คนอื่นๆ ให้ความสำคัญ ดังนั้น เธอจึงพยายามทำหลายสิ่งหลายอย่างเพื่อก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการไปงานปาร์ตี้ ที่ที่เธอมาค้นพบทีหลังว่าไม่ใช่ที่ของเธอเลย หรือการไปแฮงก์เอ้าท์กับแก๊งเด็กไฮสคูล ซึ่งก็ทำให้เธอรู้ว่าเธอยังโตไม่พอที่จะเข้ากลุ่มกับพวกเขา

08.jpg

ในหลายๆ สถานการณ์ เราสัมผัสได้ถึงความอึดอัดที่ถาโถมเข้ามา อาจจะเพราะบุคลิกนิสัยของเคย์ล่าที่มักจะตื่นเต้นตลอดเวลา ทำตัวป้ำๆ เป๋อๆ ตลอด มันทำให้เราลุ้นแทนเธอมากๆ ว่าเธอจะผ่านสถานการณ์นี้ไปได้ไหม สำหรับคนที่ขี้อายนั้น การเข้าสังคม เจอคนหมู่มาก เป็นอะไรที่ท้าทายมากๆ จะเรียกว่า “เขย่าขวัญ” เลยก็ได้

ตัวหนังถ่ายทอดความรู้สึกนี้ออกมาได้ดี ดิบๆ และไม่ต้องบิ้วด์สถานการณ์ให้เว่อร์มากมาย ถ่ายทอดสถานการณ์แบบที่มันควรจะเป็น แบบที่คนทั่วไปจะเจอ มีการใส่ลูกเล่นซาวด์เสียงให้สถานการณ์ดูน่าตื่นเต้นขึ้นมาหน่อย และสะท้อนความจริงที่ว่า เฮ้ย นี่มันเป็นเหตุการณ์ที่น่าระทึกนะเว้ย ตัวอย่างก็เช่น ตอนที่เคย์ล่าเจอเอเดน (Luke Prael) เด็กหนุ่มที่เธอแอบปลื้มในงานปาร์ตี้เดียวกัน หรือในห้องเรียน มันเป็นโมเม้นต์ที่หนังขับเน้นออกมาได้เจ๋งดี สะท้อนให้เห็นถึงความตื่นเต้นของเด็กสาวแรกแย้มได้ดีมาก

09.png

Eighth Grade ยังเป็นหนังที่สะท้อน “สังคมก้มหน้า” ของยุคนี้ได้เป็นอย่างดี เราจะเห็นได้ว่าเด็กๆ ดูหมกมุ่นกับมือถือมาก ไม่สนใจสิ่งรอบข้าง เคย์ล่าเองก็ได้รับผลกระทบนี้ และเป็นหนักซะด้วย เพราะเธอใช้โซเชียลมีเดียเป็นเกราะกำบังตัวเอง เพื่อพาตัวเองเข้าสู่สังคมที่ในชีวิตจริงเธอไม่กล้าที่จะก้าวขาเข้าไป เธอลื่นฟีดในอินสตาแกรม ทวิตเตอร์ สแนปแชต อย่างเลื่อนลอย เหมือนปล่อยให้ความคิดไหลไปกับสิ่งที่เห็น

01.jpg

เคย์ล่ารู้สึกว่าเธอเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ก็เมื่อเธอไลค์ คอมเม้นท์โพสของเพื่อน รวมถึงอัปโหลดโพสร้อยฟิลเตอร์ของตัวเอง ฉากที่จี๊ดใจมากคือฉากที่เคย์ล่าเล่นมือถือ เสียบหูฟัง ทั้งที่นั่งทานอาหารอยู่กับพ่อ พ่อก็พยายามชวนคุย เคย์ล่าก็ต้องดึงหูฟังออกทุกครั้งแถมยังถามคำตอบคำ ฉากนี้ทำให้เราเจ็บจุกมาก แม้ว่าเราจะไม่ได้หมกมุ่นแบบเคย์ล่า แต่รู้สึกเหนื่อยใจแทนพ่อของเธอ และละเหี่ยใจที่เคย์ล่าไม่ให้ความสำคัญกับคนที่อยู่เคียงข้างเธอเลย มัวแต่เอาเวลาไปเชิดชูเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกัน

มันอาจจะเป็นธรรมชาติของเด็กรุ่นนี้ที่มักจะให้ความสำคัญกับเพื่อน มากกว่าพ่อแม่หรือครอบครัว อาจเพราะเด็กใช้ชีวิตในโรงเรียนมากกว่า ต้องพบเจอเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันมากกว่า ทีนี้ก็จะต้องเจอคนหลากหลายรูปแบบ ทั้งแบบที่สวยกว่าหล่อกว่า เก่งกว่า ต้องพบเจอกับการจับกลุ่มแก๊ง ถ้าไม่อยากหลุดวงโคจรก็ต้องทำตัวให้เข้ากับคนอื่น แน่นอนว่าเด็กส่วนใหญ่ก็ต้องอยากมีสังคม อยากได้รับการยอมรับ ดังนั้น การใส่ใจในธุระของเพื่อนก็พอจะเป็นเรื่องเข้าใจได้ของเด็กยุคนี้

แต่สุดท้ายแล้ว เคย์ล่าก็ได้เรียนรู้ว่าเธอมองข้ามบุคคลสำคัญมาโดยตลอด นั่นก็คือพ่อของเธอ ซึ่งเราอยากจะมอบโล่รางวัลพ่อดีเด่นให้มากๆ เพราะแม้ว่าพ่อจะเลี้ยงดูเคย์ล่ามาคนเดียว ไม่มีแม่ พ่อก็ทำหน้าที่พ่อได้ดีมากๆ ไม่ได้ทิ้งขว้างลูกสาว กลับกัน พ่อพยายามถามไถ่สารทุกข์สุขดิบ เป็นห่วงลูก พยายามเป็นเพื่อนกับลูกตลอด และในตอนท้ายๆ พ่อก็ให้กำลังใจลูกในแบบที่ไม่มีใครสามารถทำได้ด้วย สิ่งนี้ทำให้เคย์ล่าค้นพบคุณค่าในตัวเอง ได้รับรู้ว่ายังมีคนที่รักและมีความสุขกับเธออยู่ และมันก็เป็นเชื้อเพลิงให้เธอก้าวเดินต่อไปได้

05.jpg

โดยรวมแล้ว Eighth Grade แม้หน้าหนังจะดูเหมือนหนังวัยรุ่นทั่วไป แต่นี่เป็นหนัง coming-of-age ที่ชัดเจนมาก แสดงให้เห็นความ struggle ของเด็กคนหนึ่งที่พยายามแก้ไขปัญหาของตัวเอง มันเรียลมากๆ จนเราเชื่อว่าน่าจะโดนใจและตรงกับชีวิตของใครหลายคน ไม่ว่าจะเป็นคนที่หลงทาง หรือคนที่ถูกทิ้งให้โดดเดี่ยว ผู้ใหญ่อย่างเราดูแล้วจะนึกย้อนกลับไปสมัยเรียนมัธยมต้น อยากรู้เหมือนกันว่าถ้าได้ดูหนังเรื่องนี้ตอนอายุเท่านั้น จะรู้สึกแบบไหนกัน

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

Blog at WordPress.com.

Up ↑

%d bloggers like this: