จะเกิดอะไรขึ้นถ้าผู้ใหญ่หายไปจากโลกนี้?
เหล่าวัยรุ่นผู้คึกคะนองคงจะดีใจไม่น้อยที่ไม่ต้องมีใครสั่งให้พวกเขาทำนู่นนี่
…จริงหรือ?
The Society เป็นหนึ่งในซีรีส์ที่แค่เห็นพล็อตเรื่องครั้งแรกเราก็ตั้งตารอคอยแล้ว แต่กว่าจะได้ดูจริงๆ ก็ดองมาหลายเดือนอยู่ จนสุดท้ายก็เคลียร์ซีรีส์ค้างๆ เรื่องอื่นเพื่อมาดูเรื่องนี้ได้สักที
The Society เล่าเรื่องราวในเมือง West Ham รัฐคอนเนตทิคัต เมื่อเด็กไฮสคูลกลุ่มหนึ่งเดินทางไปทัศนศึกษากัน แต่ระหว่างทางก็เกิดเหตุทำให้ไม่สามารถไปต่อได้ จึงต้องกลับเมือง แต่เมื่อกลับไป พวกเขาไม่เจอผู้ใหญ่คนไหนหลงเหลืออยู่เลย เหลือแต่เพียงพวกเขาเท่านั้น แล้วทีนี้ พวกเขาจะดำเนินชีวิตต่อไปอย่างไร? พวกผู้ใหญ่หายไปไหนกัน? แถมพอพวกเขาจะออกจากเมือง ก็ค้นพบว่าเมืองถูกปิดล้อมด้วยป่าไปหมด
สภาพแวดล้อมเปลี่ยน ก็ต้องปรับตัว
เห็นพล็อตเรื่องกับตัวอย่างหนังก็รู้สึกว่าน่าติดตาม ฟีลของหนังจะออกแนวลึกลับๆ มีปริศนา ค่อนไปทางดิสโทเปียหน่อยๆ และมีความ Young Adult ซึ่งเป็นแนวที่เราชอบ ตอนแรกเราจึงคาดหวังไว้ว่าซีรีส์น่าจะดำเนินเรื่องอย่างกระชับฉับไว เปลี่ยนฉากรวดเร็วว่องไวเหมือน Riverdale แต่ปรากฏว่า The Society ดำเนินเรื่องช้ากว่าที่คิด จะออกแนวเรียบๆ เรื่อยๆ นิ่งๆ มากกว่า บางซีนอาจจะดูน่าเบื่อไปบ้าง แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังน่าติดตามเรื่อยๆ ไม่ได้ถึงขั้นน่าเบื่อจนคิดจะเลิกดู คงเพราะยังมีปริศนาเรื่องคนหายค้ำคออยู่ ปมในเรื่องก็เริ่มเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ และตัวแสดงแต่ละคนก็สวยๆ หล่อๆ ทั้งนั้น
ใครที่คาดหวังว่า The Society จะจัดเต็มความลึกลับ ค้นหาปริศนา อาจจะต้องคิดใหม่ก่อนดู เพราะซีรีส์ไม่ได้เน้นจุดนั้นเท่าไร มีพูดถึงการไขปริศนานิดๆ หน่อยๆ แต่ก็ไม่ได้คืบหน้าอะไรมากมาย ส่วนใหญ่ซีรีส์จะเน้นไปที่การปรับตัวกับสภาพแวดล้อมใหม่เสียมากกว่า ตรงกับชื่อหนังที่แปลว่าสังคมนั่นแหละ เราว่า The Society แค่อยากเล่นกับคำถามที่ว่า ถ้าเด็กวัยรุ่นต้องปกครองเมืองกันเอง สังคมจะเป็นยังไง ถ้าไม่มีผู้ใหญ่คอยดูแล วัยรุ่นจะจัดการภาระต่างๆ กันยังไง นี่ละคือประเด็นหลัก แต่การจะเล่นประเด็นนี้ได้ต้องกำจัดผู้ใหญ่ออกไป ซีรีส์เลยนำความลึกลับเรื่องการหายตัวไปมาซัพพอร์ตจุดนี้ เรียกได้ว่าความลึกลับนั้นเปรียบเสมือนพล็อตรองซะมากกว่า
ณ ตอนนี้ที่สภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป เด็กๆ ก็ค่อยๆ ปรับตัวตาม เริ่มเติบโตขึ้นจากเด็กที่คิดแต่จะเล่นสนุกอย่างเดียว คนที่มีความเป็นผู้นำก็ก้าวออกมาจัดการตบๆ ให้ทุกคนอยู่ในระเบียบ มีการจัดสรรแบ่งเวรยามในการทำงานต่างๆ เช่น เฝ้าระวังภัย ทำอาหาร ทำความสะอาด ฯลฯ เพื่อให้เมืองและประชาชนอยู่รอด กฏระเบียบถูกนำมาใช้เพื่อควบคุมไม่ให้แต่ละคนทำตามสัญชาตญาณดิบของตัวเอง นั่นก็คือเหมาทุกอย่างไปหมดคนเดียวเพื่อให้ตัวเองอยู่รอด
โลกจริง…ที่เล็กลง
เมื่อเรารู้แล้วว่าสารที่ The Society ต้องการจะบอกคืออะไร เราก็เริ่มให้ความสนใจมันมากขึ้น และก็จริงอย่างที่เราคาด เพราะมันชัดเจนมาก ถือว่าซีรีส์เล่นประเด็นนี้ได้เข้มข้นดี ดูๆ ไปแล้วก็เหมือนการจำลองโลกจริงของเราให้เล็กลง จากโลกใบใหญ่หรือประเทศประเทศนึงก็กลายเป็นเมืองเล็กๆ เมืองนึง ที่มีประชาชนเป็นวัยรุ่นกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่ง เราจะได้เห็นการอยู่ร่วมกันของกลุ่มคนที่มีความคิดหลากหลาย การปรองดอง การเสียสละ การยินยอม การต่อสู้ การปกครอง การใช้ความรุนแรง เห็นอะไรหลายๆ อย่างที่มันเกิดขึ้นจริง แต่เป็นในสเกลที่เล็กลงแทน
เผลอๆ ใน The Society จะยิ่งมีความกดดันกว่าโลกจริงของเรา เพราะอยู่ในเมืองที่ทรัพยากรจำกัดมากๆ อาหารก็มีอยู่แค่นั้น บ้านพักที่อยู่อาศัยก็มีจำกัด พอเมืองโดนปิดล้อม คนที่อยู่นอกเมืองก็กลับบ้านไม่ได้ ต้องระเห็จมาอาศัยอยู่ในบ้านคนในเมืองแทน คนรวยที่เคยมีกินมีใช้อย่างล้นเหลือ ก็ต้องมาจำใจแชร์ทรัพยากรกับคนจน ทุกคนถูกกำหนดให้ใช้ทรัพยากรเท่าๆ กัน อย่างเท่าเทียมกัน เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้ง และช่วยให้ทรัพยากรยั่งยืนต่อไป อย่างน้อยก็อีกชั่วขณะหนึ่ง
ความขัดแย้งด้านผลประโยชน์
แต่ทุกคนพอใจจริงๆ หรือ? แน่นอนว่าในสังคมที่ทุกคนเท่าเทียมกันแบบนี้ กลุ่มที่เสียประโยชน์คงหนีไม่พ้นกลุ่ม Elite ชั้นสูงที่มีทรัพย์สินมากมายกว่าคนอื่น มีบ้าน มีรถ มีอาหาร พวกเขาย่อมไม่อยากแชร์ของพวกนี้กับคนอื่นๆ แน่ ตัวอย่างเช่น แฮร์รี่ (Alex Fitzalan) หนุ่มฮอตบ้านรวย ที่สุดท้ายก็ต้องมาแชร์บ้านกับคนอื่นๆ ตรงนี้รู้สึกได้เลยว่าแฮร์รี่นอยด์มาก เพราะการที่บ้านตัวเองมีคนแปลกหน้ามานอนด้วยนี่ไม่ใช่สถานการณ์ที่น่าอภิรมย์จริงๆ นั่นละ
ถึงอย่างนั้น ถามว่ามีทางเลือกอื่นอีกไหม? ในสถานการณ์แบบนี้ การอยู่อย่างจำกัดจำเขี่ยเพื่อให้รอดไปวันๆ ก็ดูเหมือนจะเป็นทางเลือกที่เซฟที่สุดแล้วสำหรับส่วนรวมและระยะยาว ซึ่งตรงนี้ แอลลี่ ( Kathryn Newton ) นางเอกผู้ซึ่งขึ้นมาปกครองเมืองแทนพี่สาว ก็ทำหน้าที่ได้ดีแม้ว่าเธอจะไม่ได้อยากรับผิดชอบเลยก็ตาม แอลลี่เติบโตขึ้นมากจากตำแหน่งใหญ่โตนี้ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องปวดหัวกับเรื่องจุกจิกมากมายเช่นกัน เพราะมีคนที่ไม่พอใจกับนโยบายของเธออยู่ไม่น้อย
ยิ่งซีรีส์ดำเนินไปเรื่อยๆ ประเด็นการเมืองการปกครองก็ยิ่งเข้มข้นขึ้น มีทั้งการตั้งศาลขึ้นมาเพื่อตัดสินลงโทษคนผิด การจัดเลือกตั้ง การปฏิวัติโดยเหล่าทหาร (เอ๊ะคุ้นๆ) ซึ่งแต่ละประเด็นก็ดุเด็ดกันทั้งนั้น เราชอบการปะทะกันของสาย Socialism กับ Capitalism แอลลี่ที่เป็นฝ่ายสังคมนิยมนั้นก็เน้นการอยู่รอดแบบภาพรวม คือทุกคนจะต้องเท่าเทียมกัน ไม่ทิ้งกัน แต่นางก็จะมาแนวเผด็จการคอมมิวนิสต์ ทุกอย่างต้องเป็นไปตามที่ฉันบอก แต่เพราะงี้แหละเมืองถึงได้เป็นระเบียบ แม้จะมีคนไม่พอใจแต่ทุกคนก็รอดมาจนป่านนี้ ขณะเดียวกัน ตัวแทนแห่งทุนนิยมอย่างแฮร์รี่ก็มีข้อเสนออันหอมหวานให้ประชาชน ว่าอะไรที่เป็นของคุณ คุณก็ควรจะได้ไปสิ จะมาแบ่งกับคนอื่นทำไม แน่นอนว่าหลายคนถูกหลอกล่อด้วยข้อเสนอนี้ แต่ถ้าลองคิดจริงๆ ในสถานการณ์แบบนี้การจะเล่นทุนนิยมน่าจะทำให้สังคมโดยรวมเผชิญความลำบากไปกันใหญ่ เพราะมันจะต้องมีคนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังแน่ๆ
ความสัมพันธ์ของวัยรุ่น
เอาเข้าจริงเรื่องนี้ไม่ค่อยเน้นเรื่องรักๆ ใคร่ๆ เท่าไร มีแตะแค่เพียงเบาบางเท่านั้น อย่างตอนแรกก็จะมีคู่ของแฮร์รี่กับเคลลี่ (Kristine Froseth) ที่เปรียบเสมือนเจ้าชายเจ้าหญิง แต่สุดท้ายก็แตกหักกันเพราะความคิดไม่ตรงกัน ต่อมาก็จะมีเรื่องราวของวิล (Jacques Colimon) ที่แอบชอบเคลลี่มานาน แต่เมื่อสมหวังเขากลับรู้สึกว่าจริงๆ แล้วเขาชอบแอลลี่ เพื่อนสนิทของตัวเองต่างหาก อันนี้ก็จะงงๆ นิดนึงว่าทำไมเปลี่ยนเร็วขนาดนั้น
นอกจากนั้นก็มีความสัมพันธ์แบบจำเลยรักของแคมป์เบล (Toby Wallace) และแอลล์ (Olivia DeJonge) ที่สะท้อนให้เห็นความชื่นชอบในการข่มขู่ใช้ความรุนแรง ดูแล้วกดดัน อีกมุมหนึ่งก็จะมีคู่ของเฮเลน่า (Natasha Liu Bordizzo) และลุค (Alex MacNicoll) ที่ไปได้ดีจนถึงขั้นแต่งงานกัน ไปจนถึงคู่ของแซม (Sean Berdy) และกริซซ์ (Jack Mulhern) คู่ชายรักชายที่น่ารักไม่แพ้กัน แต่ความสัมพันธ์ก็ต้องสะดุดเมื่อแซมตกลงไปแล้วว่าจะรับเป็นพ่อให้เด็กในท้องของเบคก้า (Gideon Adlon) เพื่อนสนิทเพียงหนึ่งเดียวของเขา ดราม่ากันไป ณ จุดนี้
จะเห็นว่าเพราะตัวละครในเรื่องนี้ค่อนข้างเยอะ ความสัมพันธ์ของแต่ละคู่เลยถูกแตะอย่างผิวเผิน ไม่ใช่ปมหลักของซีรีส์เท่าไร มีเสริมมาเพื่อสร้างอรรถรสนิดๆ หน่อยๆ เฉยๆ ดังนั้นใครหวังจะเห็นปมความสัมพันธ์แบบแซ่บๆ ยุ่งเหยิงๆ อาจจะไม่ถูกใจเท่าไร
สรุปแล้ว…
The Society เป็นซีรีส์วัยรุ่นที่เล่นกับประเด็นการเมืองได้น่าสนใจดี สอดแทรกกลิ่นอายดิสโทเปีย แม้ว่าเนื้อเรื่องจะมีบางจุดที่หลุดๆ โหว่ๆ ไปบ้าง แต่โดยรวมถ้าดูเอาสนุกก็ถือว่าโอเคอยู่ การดำเนินเรื่องอาจจะไม่ได้ตื่นเต้นฉับไว ค่อนไปทางเรื่อยๆ เอื่อยๆ แต่ก็ไม่น่าเบื่อขนาดนั้น ด้วยความที่เนื้อเรื่องมันมีสถานการณ์ให้ติดตามตลอดเวลา เลยยังพอลุ้นไปได้ อาจจะมีเบื่อบ้างตอนตัวละครพูดคุยเรื่อยเปื่อยกัน แต่ก็ไม่เยอะเท่าไร ยังพอไถๆ ไปได้ แต่ซีนไหนที่บีบคั้นหัวใจนี่ก็ทำได้ดีสุดๆ ทำเอาลุ้นตามแบบติดจอเลย เรื่องนี้เหมาะสำหรับใครที่อยากรู้ว่าเด็กๆ จะใช้ชีวิตในเมืองที่ไร้ผู้ใหญ่อย่างไร แต่ถ้าใครตามหาการค้นหาคำตอบกับปริศนานี้ อาจจะไม่เหมาะเท่าไร เพราะแทบจะไม่โฟกัสเลย
ซีซั่นหนึ่งจบแล้ว ไงต่อ?
ตอนจบซีซั่นหนึ่งก็ยังไม่เฉลยปริศนาว่าคนในเมืองหายไปได้ยังไง แล้วฉากสุดท้ายที่แสนจะชวนขนลุกนั้นแปลว่าอะไร สรุปคือปริศนาก็ยังคงเหมือนเดิม ไม่ได้คืบหน้าอะไรเท่าไรเลย คงต้องรอลุ้นให้เฉลยในซีซั่น 2 ละ ทางฝั่งประเด็นร้อนการเมืองนั้นก็น่าติดตามมากๆ เพราะมีผู้นำคนใหม่ขึ้นมาปกครอง ซึ่งดูเหมือนจะไม่เอาอ่าวเท่าไร มีแววทำบ้านเมืองล่มจม ก็ต้องลุ้นให้แอลลี่หลุดออกมาช่วยกู้สถานการณ์ได้ไวๆ ละ
The Society ซีซั่น 2 จะออกฉายในปี 2020 มารอติดตามกันเถอะ
Leave a Reply