รีวิว The Current War (2019): สงครามกระแสไฟฟ้า เผยโฉมหน้าอีกด้านของเอดิสัน

*มีสปอยล์เนื้อหา

เชื่อว่าหลายๆ คนน่าจะคุ้นเคยกับชื่อของโทมัส อัลวา เอดิสัน ในฐานะนักประดิษฐ์ผู้คิดค้นหลอดไฟ ถือเป็นบุคคลสำคัญที่เราเคยร่ำเรียนมาตั้งแต่เด็กๆ

แต่เอาจริง นอกจากเกร็ดความรู้นี้แล้วเราก็แทบไม่รู้อย่างอื่นเกี่ยวกับเอดิสันเลย ตอนที่จะดู The Current War ก็แอบเกร็งๆ ว่าจะดูรู้เรื่องไหม ไม่ทันได้ทำการบ้านล่วงหน้ามาด้วย แอบเสียดายนิดนึงแต่ก็นั่นแหละ ทำไม่ทันจริงๆ ไปตายเอาดาบหน้าละกัน

The Current War มีส่วนอ้างอิงกับประวัติศาสตร์จริง (แปลว่า บางส่วนก็อาจจะต่อเติมขึ้นมา) เล่าเรื่องย้อนไปถึงปี 1880 ซึ่งเป็นยุคสมัยปฏิวัติอุตสาหกรรม ตอนนั้นบ้านเมืองยังไม่มีไฟฟ้าใช้กันจนกระทั่งเอดิสัน (Benedict Cumberbatch) คิดค้นระบบกระแสไฟฟ้าแบบทางตรง (Direct Circuit, DC) ได้ โอโหทีนี้ก็มหัศจรรย์พันล้าน ทว่าหนทางของเอดิสันก็ไม่ได้ราบรื่นนัก เพราะเขาต้องปะมวยกับจอร์จ เวสติ้งเฮ้าส์ (Michael Shannon) วิศวกรและนักธุรกิจผู้ที่นำไฟฟ้าไปต่อยอดเป็นกระแสไฟฟ้าแบบสลับ (Alternating Current, AC) ซึ่งระบบนี้มีข้อดีกว่า DC ตรงที่ถูกกว่า และจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ไกลกว่า ทางฝั่งเวสติ้งเฮ้าส์ยังได้นักประดิษฐ์ผู้อัจฉริยะอย่างนิโคลา เทสลา มาช่วยเสริมทีม งานนี้ทั้งคู่ก็ต้องมาประชันกันว่าใครจะได้เป็นผู้มอบกระแสไฟฟ้าให้กับโลกใบใหม่นี้

02

หากความรู้ไม่แน่น อาจมีงง

บอกได้เพราะเป็นมาแล้ว ฮา หนังเล่าเรื่องค่อนข้างเร็ว ตัดสลับหลายเหตุการณ์ ทำให้คนที่ไม่รู้เรื่องราวในอดีตมีงงๆ บ้างว่าเอ๊ะมันทำอะไรกัน เกิดอะไรขึ้น คือในภาพรวมก็รู้เรื่องแหละแต่พวกพล็อตปลีกย่อยหรือเหตุการณ์นิดๆ หน่อยๆ บางทีก็ตามไม่ทัน ฉะนั้น ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ เราก็คงไปหาอ่านประวัติศาสตร์มาก่อน น่าจะทำให้อินมากขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ไม่ใช่ว่าคนไม่เคยรู้เรื่อง จะดูไม่ได้นะ ก็ดูได้แหละ พอเห็นภาพคร่าวๆ ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง เผื่อจะไปหาอ่านต่อ ก็น่าจะทำให้เข้าใจลึกซึ้งขึ้น สำหรับใครที่รู้เรื่องอยู่แล้ว ก็น่าจะสบาย ไปดูได้เพลินๆ

นอกจากเรื่องประวัติศาสตร์ หากใครไม่มีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะไฟฟ้า ก็อาจจะเหวอกับศัพท์เทคนิคต่างๆ ที่หนังก็ชอบโปรยมาจัง เออแต่ก็เข้าใจแหละว่าตัวละครเค้าเชี่ยวชาญด้านนี้อะนะ ไอ้เรานี่พอไปดู สมองนั่งไทม์แมชชีนย้อนนึกไปถึงวิชาฟิสิกส์สมัยมัธยมเลย นานมากแล้วแต่ยังพอจำ AC/DC ได้รางๆ ถึงอย่างนั้นพวกทฤษฎีก็ไม่ได้แม่นเหมือนสมัยเด็กๆ ทำเอาอยากหยิบสมุดโน้ตวิชาฟิสิกส์สมัยมัธยมกลับมาอ่านทวนอีกรอบเลย

06

นักแสดงแถวหน้ามาเต็ม แต่เอดิสันเด่นอยู่คนเดียว

ไม่ว่าจะเป็น Benedict Cumberbatch, Michael Shannon, Nicholas Hoult, Tom Holland, Katherine Waterston โห แต่ละคนตัวเบ้งๆ ทั้งนั้น ฝีมือลายมือการแสดงของแต่ละคนก็ทำออกมาได้ดี โดยเฉพาะคัมเบอร์แบชที่ออร่าออกอีกครั้งกับบทบาทเอดิสันผู้มีความทะเยอทะยานและอีโก้หนักมาก นักแสดงคนอื่นๆ ก็โดดเด่นลดหลั่นกันไป ดูเหมือนหนังค่อนข้างให้น้ำหนักกับเอดิสันพอสมควร เรียกว่าเป็นพระเอกเลยก็ว่าได้

01

คนอื่นๆ ที่บทควรจะเด่นก็จอร์จ เวสติ้งเฮ้าส์ ทั้งๆ ที่เป็นผู้ชนะในเกมนี้ แต่หลายคนไม่คุ้นชื่อเขาเท่าเอดิสัน ในหนังเขาก็ไม่ได้โดดเด่นมากมาย อาจจะเพราะบุคลิกสุขุมลุ่มลึก ดูเป็นผู้ใหญ่ ไม่หุนหันเหมือนเอดิสัน

05

ส่วนนิโคลา เทสลา (Nicholas Hoult) ในประวัติศาสตร์นั้นบ่งบอกว่าเขาเป็นนักประดิษฐ์ที่อัจฉริยะมาก แต่ก็อีกนั่นแหละ ผู้คนลืมเลือน กลายเป็นฮีโร่ที่ถูกลืม ถ้าพูดคำว่า “เทสลา” หลายคนน่าจะนึกออกแค่บริษัทรถของอีลอน มัสก์ เท่านั้น ในหนังเรื่องนี้เขาก็ไม่ได้รับบทที่โดดเด่นอยู่ดี ดูเป็นตัวประกอบมากๆ ทั้งที่เราก็เห็นแหละว่าเขาโคตรตั้งใจและทุ่มเทมาก (สงสารตอนโดนเอดิสันโขกสับชะมัด)

DSC02416.ARW

อีกคนนึงที่มาเป็นม้ามืดคือซามูเอล อินซัลล์ (Tom Holland) เลขาของเอดิสัน หนุ่มน้อยที่มองเอดิสันเป็นไอดอล นอกจากจะสนับสนุนแล้วก็ยังคอยเตือนสติเอดิสันไม่ให้ทำอะไรวู่วาม เป็นเพื่อนคู่คิดมิตรคู่จิ้น เอ๊ย คู่แท้ที่ดี ฉากแอร์ไทม์อาจจะไม่เยอะมาก แต่น้องทอมก็ใส่อารมณ์ได้ดี โดยเฉพาะตอนปะฉะดะแบบขึ้นเสียงกับคัมเบอร์แบช อันนั้นคือเข้มข้นมาก สรุปคือนักแสดงเล่นได้สุดจริงๆ ทุกคน

03

เอดิสันไม่ใช่ฮีโร่ผ้าขาว

หนังเรื่องนี้ทำให้เราเห็นอีกมุมหนึ่งของนักประดิษฐ์ผู้เลื่องชื่อ ไม่ว่าจะเป็นการไฮไลต์สิ่งประดิษฐ์อื่นๆ ของเขานอกจากหลอดไฟ (อาทิเช่น เครื่องฉายภาพ ที่ทำให้เรามีหนังดูกัน) หรือด้านมืดของเขา ที่แสดงออกมาเพื่อเอาชนะฝ่ายตรงข้าม เอดิสันในหนังจะมีความอีโก้ ความทะนงตัว ความนึกว่าตัวเองเจ๋งสุด คนอื่นอย่ามาขัด อย่างเวสติ้งเฮ้าส์นี่ก็เจอเอดิสันขุดเรื่องอันตรายของกระแสไฟฟ้า AC มาเล่นงาน เอาสัตว์มาทำการทดลองช็อตให้ตาย นักข่าวเอาไปเขียนข่าวกันมันส์ ดิสเครดิตกันสุดๆ ที่ตลกร้ายอีกอันคือพอสร้างภาพลักษณ์ชั่วร้ายแบบนี้ให้กับ AC ได้ เอดิสันก็เอาไปผูกกับเก้าอี้ไฟฟ้าที่ใช้ประหารนักโทษซะเลย โดยใช้ระบบไฟฟ้า AC หรือก็คือของเวสติ้งเฮ้าส์นั่นแหละ มีชื่อเวสติ้งเฮ้าส์แปะไว้เป็นโลโก้เก้าอี้ประหาร คือเอ่อ เราเป็นเวสติ้งเฮ้าส์ก็จุกใช่ย่อย

ช่วงต้นเรื่องกับท้ายเรื่องสนุกดี ช่วงกลางเรื่องแอบหาว 

ช่วงต้นเรื่อง สำหรับเราแล้วมันมีข้อดีอย่างหนึ่งในตัวมันเองคือคนดูอย่างเรายังสนใจอยู่ ยังโฟกัสกับหนังเต็ม 100 ไม่ล่อกแล่ก หนังก็เปิดเรื่องออกมาได้น่าติดตามดี มีมุกตลกเล็กๆ น้อยๆ (อย่างมุกรหัสมอร์ส ที่โผล่มาแค่ช่วงต้นเรื่อง แล้วก็หายไปเลย) แต่พอผ่านไปสักพักไม่รู้ทำไม เรากลับรู้สึกว่าหนังมีความเฉื่อยลงและเล่าเรื่องสะเปะสะปะมากขึ้น ทำเอาช่วงนี้แอบหาวไปหลายยก จนกระทั่งมาถึงตอนท้ายๆ เรื่องที่ทั้งสองฝั่งใกล้จะเปิดศึกใหญ่นั่นละ ค่อยตื่นเต้นขึ้นมาบ้าง ตอนสุดท้ายก็จบสวยดี ปิดท้ายด้วยความพูดเก๋ๆ เพิ่มกำลังใจการใช้ชีวิตจากนิโคลา เทสลา แต่อะไรคือการที่ต่อท้ายสิ่งนั้นด้วยการเปิดหน้าประวัติศาสตร์ว่าเทสลาติดหนี้มหาศาลและตายอย่างโดดเดี่ยวในอพาร์ตเม้นต์ฟะ ขัดแย้งกันมาก 555

สรุปแล้ว…

The Current War น่าจะเหมาะสำหรับคนที่มีพื้นฐานความรู้ระดับนึง อารมณ์แบบรู้ทฤษฎีแล้วไปเห็นภาพจริง มันก็จะยิ่งทำให้อินขึ้น ส่วนใครที่ไปแบบแบลงก์ๆ เหมือนเราก็ทำใจไว้หน่อยละกันว่าอาจจะงงบ้าง ง่วงบ้าง ตามไม่ทัน ถูกทิ้งให้อยู่กลางบึงไปบ้าง แต่โดยรวมก็ดูได้เพลินๆ และทำให้ได้รู้อะไรใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น ต่อจากนี้ถ้าจะไปหาอ่านเพิ่มก็ได้อยู่นะ

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

Blog at WordPress.com.

Up ↑

%d bloggers like this: