รีวิว Trotsky (2017): ฟื้นตำนานนักปฏิวัติรัสเซียผู้ไขว่คว้าความเท่าเทียม

ออกตัวก่อนเลยว่าปกติคงไม่นึกครึ้มหาซีรีส์อิงประวัติศาสตร์ของชาติใดก็ตามมาดูเท่าไร เพราะเราเองก็ไม่ได้มีความรู้ความอินกับประวัติศาสตร์ แต่สำหรับ Trotsky ที่เล่าถึงชีวิตอันฮึกเหิมของเลออน ทรอตสกี (Leon Trotsky) นี่คือบังเอิญจริงๆ เพราะเรากำลังจะไปเที่ยวรัสเซีย เลยนึกอยากหาซีรีส์รัสเซียดูสักหน่อย เออ ง่ายๆ แบบนี้แหละ เห็นว่าเรื่องนี้มีเค้าโครงมาจากประวัติศาสตร์ในช่วงยุคโซเวียต เลยจัดสักหน่อยเพราะลึกๆ เราเองก็อยากรู้เรื่องนี้มากขึ้นเหมือนกัน

ตอนแรกเราก็ไม่ได้คาดหวังอะไร คิดว่าอาจจะดูไปได้แค่สักพักก็เบื่อแล้วเลิก แต่ปรากฏว่าแค่ตอนแรกก็ทำเราติดซะแล้ว แม้ว่าจะไม่ได้มีพื้นฐานความรู้เรื่องนี้ แต่ด้วยการดำเนินเรื่องที่สนุกเข้มข้น บวกกับฝีมือการแสดงของนักแสดงที่ดีมากๆ ก็ทำให้เราดูซีรีส์เรื่องนี้จนจบครบทุก 8 ตอนจนได้

ต้องบอกก่อนเลยว่าซีรีส์สัญชาติรัสเซียที่ลงใน Netflix เรื่องนี้นั้นไม่ได้เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์เป๊ะๆ 100% แต่ต้องเรียกว่าหยิบยกเอาเรื่องราวที่มีการอ้างอิงในประวัติศาสตร์มาประกอบการเล่าเรื่องมากกว่า เพราะเมื่อเราลองไปหาอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับซีรีส์ ก็เจอว่าหลายๆ จุดไม่ได้ตรงกับที่ประวัติศาสตร์บันทึกไว้ ซึ่ง ณ จุดนี้ทาง Konstantin Ernst ซึ่งเป็นผู้สร้างก็ได้ออกมายืนยันแล้วว่าซีรีส์เรื่องนี้ไม่ได้ตั้งใจจะทำเป็นชีวประวัติบอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นเป๊ะๆ แต่ต้องการให้มันเป็นละครที่อ้างอิงข้อมูลจริงมากกว่า

นั่นจึงทำให้ Trotsky สามารถขยายขอบเขตจินตนาการออกไปได้ ไกลกว่าที่ประวัติศาสตร์บันทึกไว้

06

ถามว่า แล้วแบบนี้เราจะเข้าใจประวัติศาสตร์ของทรอตสกีและการปฏิวัติรัสเซียได้อย่างถ่องแท้ไหม ถ้ามันมีความบิดเบี้ยวแบบนี้? ก็ต้องบอกว่าคงเข้าใจแค่ส่วนหนึ่งแหละ เพราะด้วยความยาวของซีรีส์แค่ 8 ตอนนั้นไม่สามารถเล่าเรื่องและรายละเอียดทุกอย่างได้ แถมยังมีการเพิ่มฉากนู่นฉากนี่เข้ามาอีก หากใครสนใจศึกษาจริงๆ แนะนำว่าดูซีรีส์แค่พอเอาเรื่องหรือพอเอาสนุก แล้วไปหาอ่านประวัติศาสตร์จริงๆ ดีกว่า

05

สำหรับ Trotsky นั้นจะเล่าเรื่องราวของสองช่วงหลักๆ คือปัจจุบัน (1940) และในอดีตตั้งแต่ช่วง 1898 ไปจนถึงช่วงประมาณ 1922 ในปัจจุบันที่ว่านั้นคือช่วงที่ทรอตสกีลี้ภัยไปอยู่เม็กซิโก และได้เจอกับแฟรงก์ แจ็กสัน (Maksim Matveyev) นักข่าวชาวแคนาเดียนที่ทรอตสกีเชิญมาสัมภาษณ์เขาเพื่อทำบันทึกชีวประวัติ ทรอตสกีได้เล่าเรื่องราวย้อนหลังให้แฟรงก์ฟัง

08

10

ซีรีส์จะพาเราย้อนกลับไปดูเรื่องราวในอดีตนั้นๆ ตั้งแต่สมัยที่ทรอตสกียังอยู่ในสถานกักกันตัวโอเดสซาโทษฐานสมรู้ร่วมแนวคิดปฏิวัติ, ถูกเนรเทศมาอยู่แถบไซบีเรียพร้อมเปลี่ยนชื่อตัวเองเป็นเลออน ทรอตสกี (ชื่อที่ได้รับแรงบันดาลใจจากชื่อผู้คุมขัง) ไปจนถึงตอนที่เริ่มเข้ามามีบทบาทในพรรคบอลเชวิกที่นำโดยวลาดีมีร์ เลนิน (Yevgeny Stychkin) ซึ่งมีส่วนสำคัญในการปฏิวัติรัสเซียปี 1917 ที่พรรคบอลเชวิกได้ทำการยึดอำนาจจากรัฐบาลเฉพาะกาลที่ปกครองเมืองหลังจากที่ช่วงเวลาของราชวงศ์โรมานอฟสิ้นสุดไป เนื่องจากสภาพความเป็นอยู่ของประชาชน โดยเฉพาะชนชั้นแรงงานนั้นไม่ได้ดีขึ้นเลย ต้องตกเป็นรองพวกนายทุนทั้งหลาย พรรคบอลเชวิกจึงตั้งมาเพื่อจุดประสงค์ลบล้างขั้นพีระมิดแห่งความไม่เท่าเทียมนี้ และใครที่ต่อต้านก็จะต้องเจอบทลงโทษ

03

07

หากอ่านในประวัติศาสตร์ จะรู้สึกว่าบุคคลที่ได้รับแสงสปอร์ตไลต์นั้นจะเป็นเลนิน เพราะเป็นถึงหัวหน้าพรรค แต่ในซีรีส์เรื่องนี้เลนินเป็นเพียงตัวประกอบเท่านั้น โดยแสงสปอร์ตไลต์จะฉายส่องไปทางทรอตสกีแทน ในฐานะของนักปฏิวัติสายบู๊ที่ทำให้การปฏิวัติสำเร็จ ซีรีส์แสดงให้เห็นความสัมพันธ์กึ่งเพื่อนกึ่งคู่กัดของเลนินและทรอตสกี แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าทั้งคู่มีความสัมพันธ์ที่สนิทสนมกันมากๆ นอกจากนี้ก็ยังมีโจเซฟ สตาลิน (Orkhan Abulov) สมัยที่ยังไม่ได้ขึ้นครองตำแหน่งหัวหน้าพรรค ที่โผล่มาแบบด้อมๆ มองๆ ไม่ได้โดดเด่นเท่าไรนัก เพราะซีรีส์เทน้ำหนักให้ทรอตสกีเยอะกว่ามากๆ (แหงละ) แต่ถึงอย่างนั้นสตาลินก็ทิ้งบอมบ์ไว้ให้ทรอตสกีวัยแก่จิตตกอยู่เรื่อยๆ

การดำเนินเรื่องของซีรีส์นั้นจะตัดไปตัดมา ไม่ได้เรียงแบบหนึ่งสองสาม ครั้งเมื่อย้อนอดีตแล้วก็ไม่ได้เรียงลำดับเหตุการณ์ด้วยนะ ยังเล่าสลับไปสลับมาอีกเช่นกัน ดังนั้นถ้าไม่ได้โฟกัสมากๆ หรือมีความรู้ที่แม่นอยู่แล้ว ก็อาจจะหลุดได้เหมือนกัน เพราะแบบนี้เราเลยกันเหนียวด้วยการจด timeline ของแต่ละตอนไว้ เพื่อที่จะได้ปะติดปะต่อได้ง่ายหน่อยว่าเรื่องราวมันเป็นยังไง ถึงอย่างนั้นด้วยความที่ซีรีส์ไม่ได้เจาะรายละเอียดลึกมาก บางส่วนที่อยากรู้เพิ่มเติมก็ต้องไปหาอ่านเอา

11

ทางด้านนักแสดง โดยเฉพาะตัวละครหลักอย่างเลออน ทรอตสกี (Konstantin Khabensky) และนาตาเลีย (Olga Sutulova) ภรรยาของเขา ปรากฏในสองยุคสองสมัย ดังนั้นรูปลักษณ์ก็ต้องเปลี่ยนไปด้วย ตรงนี้ชื่นชมทีมเมคอัพมากว่าสามารถรังสรรค์ให้คนทั้งคู่ดูสมวัยทั้งในสองช่วงเวลาจริงๆ

09

ทางด้านคาแรคเตอร์และการแสดงนั้นเราชื่นชอบ Khabensky ที่เล่นเป็นทรอตสกีเป็นพิเศษ พระเอกของเรื่องนี่นะ เขาสามารถแสดงให้เรารู้สึกเห็นใจตัวละครได้อะ ทั้งๆ ที่การกระทำหลายอย่างของตัวละครก็ไม่น่าให้อภัยเท่าไร แต่ไม่รู้ทำไมเราเกลียดทรอตสกีไม่ลงเลย เรารู้สึกว่าเขาต้องเสียสละหลายอย่างมาก โดยเฉพาะครอบครัวและคนใกล้ชิดของตัวเอง แลกกับอุดมการณ์ทางการเมืองของเขาที่อยากจะให้ทุกคนเท่าเทียมกัน คือความจริงมันอาจไม่ตรงกับในซีรีส์ไง คนอาจจะไม่ชอบเขา หรือเกลียดเขาก็ได้ แต่ในซีรีส์เนี่ยเรารู้สึกสงสารเค้ามากเลย นี่สินะคือฤทธิ์เดชของศิลปะการแสดง

01

02

โดยรวมแล้ว Trotsky ถือเป็นซีรีส์อ้างอิงประวัติศาสตร์เรื่องหนึ่งใน Netflix ที่ดูสนุกใช้ได้เลยละแม้ว่าจะไม่ได้มีความรู้เรื่องนี้แน่น ตัวซีรีส์ทำออกมาค่อนข้างเน้นความบันเทิงนะในความรู้สึกเรา ดูแล้วไม่เครียดไม่ได้คิดมาก แค่ต้องโฟกัสกับ Timeline ที่มันวกไปวนมาสักหน่อย ถ้าสามารถปะติดปะต่อกันได้ ก็จะสามารถเข้าใจเรื่องราวของทรอตสกี และช่วงเวลาการปฏิวัติรัสเซียไปส่วนหนึ่งแล้วละ

Leave a comment

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

Blog at WordPress.com.

Up ↑