Girls Don’t Cry เป็นหนึ่งสารคดีที่เราเล็งไว้ตั้งแต่ตอนเข้าโรงใหม่ๆ แล้วแต่ก็ไม่มีโอกาสได้ไปดู จนกระทั่งมาอยู่บน Netflix เลยได้โอกาส ความจริงแล้วเราไม่ได้ติดตาม BNK48 และไม่ได้ชอบเป็นพิเศษ ถึงอย่างนั้นก็รับรู้อยู่ตลอดเวลาว่าวงนี้กระแสเค้าดังจริงอะไรจริง แอบรู้สึกว่าตั้งแต่หมดยุคกามิกาเซ่ไป ก็มีวงนี้แหละมั้งที่ชูความเป็นวัยรุ่นให้วงการเพลงไทยอีกครั้ง และครั้งนี้ก็ดูเหมือนจะแผ่ขยายเป็นวงกว้างกว่าด้วย
ด้วยความที่ Girls Don’t Cry ถูกโปรโมตออกมาในรูปแบบสารคดีที่ออกแนวเปิดใจ มีความดาร์กๆ หม่นๆ และกำกับโดยคุณเต๋อ นวพล เรายิ่งรู้สึกว่าน่าสนใจ เพราะเราเองก็อยากรู้เรื่องราวหลังผ้าม่านตามประสาคนธรรมดาที่ไม่ได้อยู่ท่ามกลางแสงสปอร์ตไลต์ อารมณ์คล้ายๆ กับการไปแอบได้ยินข่าววงในนั่นแหละ
Girls Don’t Cry เป็นสารคดีที่จับสมาชิก BNK48 รุ่น 1 ทั้ง 26 คนมานั่งเปิดใจ เล่ากันตั้งแต่วันที่มาออดิชั่น จนกระทั่งเข้ามาอยู่ในวงการอย่างเต็มตัว ทำเพลงอย่างเต็มตัว อ่านเจอมาว่าสารคดีเรื่องนี้ทางค่าย BNK48 Office เขาจับมือกับ Salmon House มาละ คือวางแผนว่าอยากจะทำอยู่แล้วว่างั้น ซึ่งก็เป็นอะไรที่บู๊ดีนะเพราะหนังสารคดีมันต้องเจาะประเด็นเบื้องหลังค่อนข้างเยอะ และอาจจะมีการบ่นบริษัทในเชิงดาร์กๆ บ้าง ก็ถือว่าทางค่ายเปิดใจพอสมควรที่ปล่อยให้เด็กๆ ในค่ายเล่าอย่างหมดเปลือก
และใช่ สมาชิกทุกคนจัดเต็มกับการเล่าเรื่องและระบายความในใจมาก นั่นอาจจะเป็นเพราะในเวลาอื่นๆ พวกเธอไม่ได้มีโอกาสได้เปิดใจแบบนี้ เบื้องหน้าเราจะเห็นพวกเธอร้องเต้น ใส่ชุดสวยๆ ยิ้มสดใส ทำท่าทางแบ๊วๆ ซึ่งดูเผินๆ แล้วเหมือนไม่ยากอะไร ดูเป็น “อาชีพ” ที่เด็กสาวหลายๆ คนใฝ่ฝัน แต่ความจริงแล้วสิ่งที่เราเห็นเป็นเพียงยอดของภูเขาน้ำแข็งใต้ทะเลเท่านั้นแหละ เพราะเบื้องหลังคือความกดดัน การแข่งขันอย่างหนักหน่วง และการฝืนความเป็นตัวของตัวเอง
เราจะได้เห็นความขัดแย้งหลายๆ จุดในวง เช่น สมาชิกที่เป็นเพื่อนพี่น้องกัน แต่ขณะเดียวกันก็ต้องแข่งกันเอง / สมาชิกต้องสร้างภาพลักษณ์ให้ดูใสๆ แบ๊วๆ ซึ่งขัดกับบุคลิกนิสัยตัวจริง / ระบบการคัดเลือกขึ้นเป็นสมาชิกที่ได้ขึ้นแสดง (หรือที่มีศัพท์เฉพาะว่า “เซ็มบัตสึ”) ที่หลายๆ คนก็มองว่ามันไม่แฟร์ ในเมื่อคนที่เก่ง คนที่พยายามกลับไม่ได้รับคัดเลือก แต่คนที่ได้รับคัดเลือกกลับกลายเป็นคนที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ดูๆ ไปแล้วก็ขัดกับคอนเซ็ปต์ของวงที่เน้นเรื่องความพยายาม / วงที่พยายามโปรโมตว่าเป็น BNK48 แต่สุดท้ายแฟนคลับก็แตกด้อมออกไปโอชิรายคนอยู่ดี
ถามว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องแปลกใหม่ไหม? เอาเข้าจริงเราว่ามันก็ไม่แปลก เพียงแต่ว่าพอมันมาอยู่ในบริบทของวงการนักร้องบ้านเรา มันเป็นความสดใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน แม้ก่อนหน้านี้จะมีศิลปินวัยรุ่นที่จับตัวเป็นกลุ่มแก๊ง เป็นโปรเจ็กต์อยู่หลายครั้ง แต่ก็ไม่เคยเห็นว่าครั้งไหนจะมีความจริงจังแบบ BNK48 มาก่อน อาจจะเป็นเพราะการนำโมเดล AKB48 ของญี่ปุ่นมาใช้ด้วย เราจึงได้เห็นระบบแปลกๆ เช่น การมีกลุ่มที่ได้แสดงนำ (เซ็มบัตสึ) กับกลุ่มที่ไม่ได้แสดง (อันเดอร์) / การสับเปลี่ยนสมาชิกไปเรื่อยๆ เปลี่ยนเซ็นเตอร์ไปเรื่อยๆ ตามแต่ละซิงเกิ้ลเพลงที่ปล่อย / การห้ามไม่ให้สมาชิกมีแฟนอย่างจริงจัง ฯลฯ
ฟังดูแล้วเป็นระบบที่เข้มงวดสมกับที่มาจากญี่ปุ่นจริงๆ ถือว่าเป็นอะไรที่แปลกใหม่สำหรับคนไทยซึ่งส่วนใหญ่จะมีวิถีชีวิตสบายๆ มากกว่า แต่ถามว่าเรื่องของการแข่งขัน การสู้กันเพื่อให้ได้รับเลือก เป็นเรื่องแปลกใหม่ไหม? ก็ไม่ใช่ เพราะในชีวิตคนเรามันต้องเจอกับอะไรแบบนี้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นตอนสอบเข้ามหา’ลัย ตอนเรียนหนังสือ ตอนทำงาน ฯลฯ มันเป็นช่วงหนึ่งของชีวิตที่ต้องเจอ ดังนั้น วง BNK48 ก็ดูราวกับว่าจำลองชีวิตจริงมาใช้กับระบบในวง เพียงแต่มันมีความเข้มข้นสูงมาก มีความ “เร่งให้โต” ค่อนข้างเยอะ และยิ่งเป็นสเกลใหญ่ระดับประเทศด้วยแล้ว แน่นอนว่าความกดดันมีมากกว่า
แม้จะเจอสถานการณ์เดียวกัน แต่เราก็จะได้เห็นมุมมองที่ต่างกันไปของสมาชิกแต่ละคน บางคนแสดงให้เห็นถึงความทุ่มเท ชนิดที่ว่าถวายหัว หากไม่ประสบความสำเร็จก็คงไม่เหลืออะไร ในขณะที่บางคนไม่ซีเรียสกับมัน มองเป็นประสบการณ์ใหม่ที่อยากทำให้เต็มที่ และสนุกกับมันไปให้สุดมากกว่า จริงๆ ก็คือมันไม่มีใครผิดใครถูกหรอก ขึ้นอยู่กับมุมมองและประสบการณ์ชีวิตของแต่ละคนมากกว่า อีกจุดหนึ่งที่เราชอบก็คือมีหนังมีการตัดมุมมองของคนที่ความนิยมอยู่ระดับสูงๆ กับคนที่ความนิยมไม่มาก มาเรียงสลับกันได้อย่างตรงไปตรงมาดี ทำให้เห็นว่าเพียงแค่ในวง BNK48 ที่ดูเผินๆ เหมือนจะมีความเป็นหนึ่งเดียวกัน ก็ยังมีการแบ่งชนชั้นวรรณะกันขนาดนี้ นับประสาอะไรกับสังคมชีวิตจริงของเรากันล่ะ
หนังเล่าเรื่องได้น่าติดตามนะ อย่างน้อยก็สำหรับเราที่ไม่ชอบดูหนังสารคดี และไม่เคยติดตาม BNK48 แต่หนังความยาว 110 นาทีนี้กลับเอาเราอยู่ตลอดทุกช่วง โลเกชั่นสัมภาษณ์สมาชิกของหนังนั้นเป็นเพียงห้องเล็กๆ แคบๆ ที่ยิ่งเสริมสร้างความรู้สึกกดดัน เคล้าไปกับเรื่องราวที่สมาชิกเล่าได้เป็นอย่างดี ตัดผสมกับฟุตเทจต่างๆ ที่เผยให้เห็นชีวิตการเป็นอยู่ของสมาชิก เรารู้สึกว่าเราอยากจะฟังสมาชิกแต่ละคนเล่าเรื่อง ร่วมลุ้นไปกับสมาชิกบางคนที่เส้นทางดูมีขวากหนามมากกว่าคนอื่น บันเทิงกับสมาชิกบางคนที่เล่าเรื่องด้วยมุมมองตลกร้าย จากที่ไม่เคลียร์นักกับระบบของ BNK48 มาดูเรื่องนี้ก็ทำให้เราเข้าใจ ได้รู้จักสมาชิกบางคนมากขึ้นจากที่เคยได้ยินแค่ชื่อเสียงเรียงนาม แม้ว่าจะไม่ได้เจาะลึกเป็นรายคนมากนัก (เพราะคงทำไม่ไหวหรอก มีตั้งกี่คน) แต่ถ้ามองในแง่ภาพรวม ก็ถือว่าหนังสื่อความเป็น BNK48 ให้คนที่ไม่รู้เรื่อง BNK48 ได้ดี
และถึงแม้ว่าในหนังจะฉายให้เห็นความรู้สึกอันหม่นมัวของสมาชิกแต่ละคน และความโหดร้ายของระบบ (หรือจริงๆ ก็คือความโหดร้ายของโลก) แต่หนังก็ไม่ลืมสอดแทรกกำลังใจที่สมาชิกถ่ายทอดออกมา ถึงแต่ละคนจะมีมุมมองแตกต่างกันออกไปบ้าง แต่สิ่งที่ทุกคนมีเหมือนกันคือความพยายาม ความตั้งใจที่คว้าโอกาสตรงหน้าแล้วทำให้ดีที่สุด เท่าที่คนคนหนึ่งจะสามารถทำได้ ตรงจุดนี้เราว่าเป็นกำลังใจที่ดีมากสำหรับใครๆ ที่กำลังรู้สึกหดหู่กับชีวิตตัวเองอยู่
เพราะการมีชีวิตอยู่ก็คือโอกาสอย่างหนึ่ง การได้ทำอะไรก็ตามที่เราทำอยู่ นั่นก็เป็นอีกโอกาสหนึ่ง หรือจริงๆ แล้วโอกาสมันมีอยู่รอบตัวเราแหละ เพียงแต่ว่าเราเห็นมันหรือเปล่า เราได้ทุ่มเทกับมันเต็มที่หรือยัง
ไม่มีใครบอกเราได้หรอกว่าเราได้พยายามมากพอแล้วหรือยัง นอกจากตัวเราเอง
Leave a Reply