รีวิว Velvet Buzzsaw (2019): เมื่องานศิลปะลุกขึ้นมาฆ่าคน

นี่คืออีกหนึ่งหนังจาก Netflix เปิดตัวด้วยคอนเซ็ปต์เก๋ๆ อย่างแนวศิลปะเปื้อนเลือด เมื่อความอาร์ตเผชิญเข้ากับความสยอง เมื่องานศิลปะลุกขึ้นมาฆ่าคน แค่เห็นตัวอย่างหนังก็รู้สึกเลยว่าเออน่าดู แต่ของจริงที่ยาวเกือบ 2 ชั่วโมงจะสนุกเหมือนที่ตัวอย่างหนังนำเสนอรึเปล่า?

Velvet Buzzsaw มีฉากหลังเป็นวงการศิลปะในลอส แองเจลิส ที่ซึ่งมีแต่ศิลปินและผู้ค้างานศิลปะเดิ้นๆ เดินไปเดินมาเต็มไปหมด เราจะได้เจอกับตัวละครหลักๆ อย่าง มอร์ฟ นักวิจารณ์งานศิลปะที่สามารถชี้เป็นชี้ตายมูลค่าของชิ้นงานนั้นๆ ด้วยบทรีวิวของเขา, โจเซฟิน่า เพื่อนกึ่งกิ๊กของมอร์ฟ ผู้ช่วยดูแลแกลเลอรี่ เป็นคนพบเจอเซ็ตชิ้นงานศิลปะเจ้าปัญหา, โรโดร่า เจ้าของแกลเลอรี่ข้างต้น เป็นผู้หญิงที่ดูเฮี้ยบและเขี้ยวสุดๆ และเกรทเช่น ผู้ดูแลและซื้อขายชิ้นงานของพิพิธภัณฑ์อีกแห่งหนึ่ง

คนกลุ่มนี้รวมถึงหลายๆ เศรษฐีกระเป๋าหนักนักสะสมทั่วโลกต่างก็คลั่งไคล้หลงใหลเซ็ตผลงานที่โจเซฟิน่าค้นพบ ซึ่งเป็นงานของเวทริล ดีสส์ ศิลปินที่เพิ่งล่วงลับ ผลงานศิลปะของเขามีกลิ่นอายความหลอน แต่กลับสามารถจับใจทุกๆ คนที่พบเจอมัน อาร์ตตัวพ่อตัวแม่ในวงการค้าขายศิลปะต่างก็อยากจะสร้างกำไรและหาผลประโยชน์จากมัน แข่งขันเชือดเฉือนกันอย่างไม่ยอมใคร แต่เรื่องลึกลับก็เกิดขึ้นเมื่อจู่ๆ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับงานศิลปะของดีสส์กลับต้องมีอันเป็นไปทีละคนๆ ซึ่งแต่ละคนก็ตายสยองต่างกันไป

velvet-buzzsaw-2019-1
มอร์ฟและโจเซฟิน่า กับความสัมพันธ์กึ่งเพื่อนกึ่งกิ๊ก

แม้หนังจะโปรโมตด้วยความสยอง แต่เอาเข้าจริงกลับมีฉากน่ากลัวๆ ไม่เยอะ เราว่าน้อยกว่า 50% ของหนังเลยละ และส่วนใหญ่ความตื่นเต้นก็จะมาตอนท้ายเรื่องมากกว่า ในขณะที่ต้นเรื่องเราจะถูกปูบรรยากาศแวดวงศิลปะไปซะเยอะ บทสนทนาฟังเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง คงเพราะตัว context ของหนังเป็นวงการที่เราไม่ได้คุ้นเคย จึงมีศัพท์และรูปประโยคไม่คุ้นหูอยู่บ้าง ทำให้บางช่วงของหนังก็จะชวนง่วงหน่อยเพราะไม่มีความน่าตื่นเต้นเป็นพิเศษ ที่น่าเจ็บใจคือฉากไฮไลต์และฉากสยองส่วนใหญ่อยู่ในตัวอย่างหนังหมดแล้ว ทำให้ไม่มีอะไรใหม่ๆ ในหนังจริง กลายเป็นว่าเวอร์ชั่นยาวเป็นเวอร์ชั่นที่น่าเบื่อซะอย่างนั้น

Velvet_Buzzsaw_003.0

Velvet-Buzzsaw-trailer-Netflix-horror-stars-Toni-Collette-1682388
น่าจะเป็นฉากสยองที่ประทับใจสุดแล้ว
velvet-buzzsaw-netflix-spoilers-ending-explained-_1_
ฉากนี้อีกฉาก ยอมใจในความอาร์ต

ถึงอย่างนั้น Velvet Buzzsaw ก็ยังพอมีจุดดีอยู่บ้างละ ที่แน่ๆ คือเราชอบไอเดียฉากการตายที่ดูไม่ซ้ำใครดี มีความโดดเด่นและเล่นกับความเป็นศิลปะได้อย่างลงตัว คอสตูมตัวละครและฉากต่างๆ ก็ดูเดิ้นสมเป็นวงการศิลปะ ทางฝั่งนักแสดงเราแอบชอบเจค จิลเลนฮาล ในบทของมอร์ฟ ชายหนุ่มไบเซ็กชวลที่ดูไม่แมน 100% แต่ก็ไม่ได้สาวแตก ดูเป็นบุคลิกที่ค่อนข้างโดดเด่นดี

hoboman-velvet-buzzsaw-netflix
นักวิจารณ์ VS งานศิลปะ

นอกจากนี้ก็ยังมีนักแสดงสมทบอื่นๆ ที่ทำให้เนื้อเรื่องมีสีสันมากขึ้น นักแสดงเสริมคนหนึ่งที่เติมบทบาทเข้ามาได้ดีคือโคโค่ สาวแว่นที่ดูเหมือนจะเรียบๆ ในตอนแรก แต่ตอนหลังๆ มีความฮาตรงที่เธอกลายเป็นคนซวย เป็นผู้พบศพคนแรกทุกที ตัวละครนี้รับบทโดย นาตาเลีย ไดเออร์ หรือ แนนซี่ จาก Stranger Things นั่นเอง ก็ว่าอยู่ว่าทำไมคุ้นๆ

เอาเข้าจริง เราว่าความสยองในเรื่องเหมือนจะเป็นเพียงกิมมิคประกอบเท่านั้น และวงการงานศิลปะก็เป็นเหมือนอีกกรณีศึกษาหนึ่งที่หนังหยิบมาถ่ายทอดประเด็นหลักของเรื่อง ซึ่งก็คือเรื่องอำนาจของเงินที่สามารถทำให้คนตกเป็นทาสของมัน ยอมทำทุกอย่างเพื่อมันได้

อย่างในเรื่องนี้ ผลงานของดีสส์เปรียบเสมือนสมบัติล้ำค่าที่ทุกคนวิ่งเข้าหา ผู้ขายก็อยากดันราคาให้สูงๆ เพราะเห็นความต้องการในตลาด ผู้ซื้อก็แย่งชิงกันเป็นเจ้าของเพราะหลงใหลในองค์ประกอบของชิ้นงาน บางทีผู้ค้าก็ถึงขั้นต้องเล่นกลโกง เช่น แอบลักขโมยไปขายต่อเอง หรือ กักตุนชิ้นงานไว้ ให้ปริมาณชิ้นงานในตลาดมีน้อย จะได้ดันราคา เป็นต้น ซึ่งแต่ละคนที่หาผลประโยชน์จากงานของดีสส์ก็จะได้รับผลกรรมต่างกันไป เพราะดีสส์ก็บอกก่อนตายแล้วว่าเขาอยากให้ทำลายผลงานทุกชิ้นของเขา การที่เอามันมาขายต่อ สร้างกำไรไปเรื่อยๆ มันผิดกับเจตนารมณ์ของเขา นั่นแหละคือที่มาของอำนาจมืดในหนัง

เราจะเห็นได้ว่ามีบางคนในหนังที่เสพชิ้นงานของดีสส์เช่นกัน แต่พวกเขามองงานในรูปแบบศิลปะ และชื่นชมในเนื้อแท้ของมัน ไม่ได้มองมันเป็นเครื่องหมายดอลล่าร์ เป็นสัญลักษณ์ของการฉวยโอกาสหาความรวยเข้าตัว คนกลุ่มนี้จึงไม่ได้รับผลกระทบจากอำนาจมืดของดีสส์ สิ่งนี้ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่าในแวดวงของงานศิลปะ (รวมถึงในหลายๆ แวดวง) ย่อมมีกลุ่มคน 2 แบบ ทั้งคนที่คิดหาผลประโยชน์เข้าตัว และ คนที่เห็นคุณค่าของสิ่งนั้นจริงๆ ไม่มีเงินมาเกี่ยวข้อง

ถามว่า ในโลกแห่งทุนนิยมนี้ ยังมีคนแบบหลังอีกหรือ? แล้วคนแบบหลังนี่เขาใช้อะไรเป็นตัวผลักดัน ถ้าไม่ใช่เงิน?

เราว่า พวกเขาถูกขับเคลื่อนด้วย passion หรือความหลงใหลสิ่งใดสิ่งหนึ่งจริงๆ หลงใหลที่เนื้อแท้ ไม่ใช่ที่เงิน พวกเขาทำอะไรสักอย่างเพราะอยากทำ เพราะรักในสิ่งนั้น เพราะอยากแสดงตัวตนความคิดของตัวเอง จะได้เงินหรือไม่ได้นั้นไม่ใช่ประเด็นสำคัญ

คนกลุ่มนี้อาจถูกมองเป็นคนโลกสวย ในปัจจุบันที่อะไรๆ ก็ถูกสะท้อนออกมาในรูปแบบของมูลค่าเงินกันหมด แต่อย่างน้อยคนกลุ่มนี้ก็ได้ทำในสิ่งที่รัก มีความสุขกับสิ่งที่ทำ และไม่ต้องตกเป็นทาสของเงินจนต้องลงมือเล่นโกงหลายๆ อย่าง ทำลายหลายๆ ความสัมพันธ์รอบด้าน และสุดท้ายอาจจะต้องพบเจอกับความพินาศซึ่งตัวเองเป็นคนก่อ

Velvet Buzzsaw โดยรวมคงไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นหนังที่สนุก เพราะส่วนที่สนุกที่สุดอยู่ในตัวอย่างหนังหมดแล้ว ไม่ต้องคาดหวังว่าหนังเต็มจะมีอะไรที่พีคกว่านี้ เพราะมันไม่มี T.T ถ้าใครคาดหวังฉากโหดๆ สยองๆ แบบขั้นสุด อาจจะต้องผิดหวังเพราะมันไม่ได้มีเยอะขนาดนั้น ถึงอย่างนั้นหนังเรื่องนี้ก็ได้ฉายแง่มุมเรื่องราวความเป็นไปในวงการอาร์ตที่มีการแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นไม่แพ้วงการอื่นๆ ซึ่งก็เป็นอะไรที่เปิดหูเปิดตาดี นอกจากนี้หนังยังแฝงข้อคิดและปรัชญาบางอย่างที่อาจจะเข้าใจยากไปบ้าง แกะคำพูดยากไปหน่อย แต่ก็พอจะจับทางได้คร่าวๆ ว่าหนังต้องการจะสื่ออะไร ใครเป็นสายอาร์ต สายปรัชญาก็ลองไปดูกันได้จ้า

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

Blog at WordPress.com.

Up ↑

%d bloggers like this: