Maniac ไม่ใช่ซีรีส์ที่ดูง่าย…
สารภาพเลยว่าเมื่อดูจบแล้ว ยังต้องนั่งนิ่งไปพักนึง ประมวลผลว่าเมื่อกี้ดูอะไรไป ยังคิดอยู่ว่าควรดูรอบสองดีมั้ย
จริงๆ ความยากของ Maniac มันตั้งแต่ตอนแรกๆ แล้วละ ดูตอนแรกจบเราก็ตั้งคำถามว่าควรดูต่อไปดีมั้ย สรุปคือดูต่อเพราะอยากรู้ว่ามันจะเป็นยังไง มันจะบ้าสมชื่อเรื่องมั้ย
ซึ่งทุกอย่างมันก็บ้า มึน งง ผสมปนเปจนไม่แน่ใจว่าเกิดอะไรขึ้น
รีวิวนี้ขอถือโอกาสรวบรวมความคิดที่กระจัดกระจายจากซีรีส์นี้ เผื่อจะทำให้เราเข้าใจมันมากขึ้น ผิดพลาดประการใดทักมาได้ฮะ
Maniac เปิดตัวด้วย 2 ตัวละครหลักอย่าง โอเวน (โจนาห์ ฮิลล์) หนุ่มตกงานที่เป็นโรคจิตเภท กับ แอนนี่ (เอ็มม่า สโตน) หญิงสาวติดยา ทั้งคู่จับพลัดจับผลูได้เข้าร่วมทดสอบยาตัวใหม่ของสถาบัน Neberdine ซึ่งเป็นยา 3 ตัวที่เค้าเคลมว่าจะสามารถรักษาโรคทางจิตได้ทุกประเภท! มนุษย์จะได้พบกับความสุขที่ยากจะหาใดเปรียบ! แหม่ โฆษณาซะดิบดี การทดลองนี้เนี่ยผู้ทดลองจะต้องกินยาแล้วหลับ จากนั้นพวกเขาก็จะฝัน ความ weird คือฝันแต่ละอย่างมันช่างมึนงง ซับซ้อน ผิดที่ผิดทาง และไม่รู้ว่าอะไรจริงอะไรปลอม ระหว่างการทดลองก็มีปัญหาเกิดขึ้นหลากหลาย เช่น ตัวเอกทั้ง 2 ดันเจอกันในฝันทั้งๆ ที่ไม่ควรเจอกัน หรือ ปัญหาห้องทดลองอย่างคอมพิวเตอร์ที่ถูกโปรแกมให้มีความรู้สึกเหมือนมนุษย์ แล้วดันกลายเป็นโรคซึมเศร้าซะงั้น (เวรกรรม) ซึ่งอาจเป็นอันตรายกับผู้เข้าร่วมการทดลองถึงชีวิต!
ซีรีส์เปิดตัวมาด้วยการปูพื้นหลังของสองตัวละครหลัก โดยตอนแรกนี่จะพลีให้โอเวนเต็มๆ ตอนเลย เราก็จะได้รู้ว่าเขาตกงาน และมีปัญหากับครอบครัวอยู่ นอกจากนั้นโอเวนก็มีอาการป่วยเป็นโรคจิตเภท คือมักจะเห็นภาพหลอนและได้ยินเสียงหลอนๆ ในหัว จนคนดูเองก็ไม่แน่ใจว่าสิ่งที่เห็นผ่านการเล่าเรื่องของโอเวนนี่เรื่องจริงหรือมโน เสียงในหัวของโอเวนได้นำพาเขาให้มาทำการทดลองนี้โดยหลอกหลอนโอเวนว่ามันคือ “ภารกิจ” ที่เขาต้องทำ (ฟังดูยิ่งใหญ่)
ส่วนตอนที่ 2 ก็จะเอ่ยถึงแอนนี่ที่ติดยาลักษณะรูปตัว A จึงหาทางเข้าร่วมการทดลองยาตัวนี้เพื่อที่จะได้กินยาฟรีๆ (อืม คิดได้เนอะ) โดยตอนแรกเธอก็ไม่ได้รับคัดเลือกหรอกเพราะผลทดลองเกี่ยวกับกลไกป้องกันตัวของเธอไม่ดีพอ แต่สุดท้ายเธอก็หาทางขู่เข็ญเจ้าหน้าที่พนักงานจนเธอได้รับสิทธิ์เข้าร่วมจนได้ ใครที่เริ่มดูอาจจะรู้สึกว่า 2 ตอนนี้ไม่ค่อยมีอะไรน่าตื่นเต้นเท่าไร เพราะยังไม่มีการทดลองเกิดขึ้น
ทุกอย่างมันเริ่มขึ้นตอน 3 นี่แหละ
เมื่อผู้เข้าร่วมทดลองได้เริ่มกินยา ยาแต่ละตัวก็จะค่อยๆ มีปฏิกิริยากับร่างกายพวกเขา ยาสามตัวนี้มีลักษณะต่างกันไปคือ ยา A เป็นยาที่จะขุดคุ้ยหาว่าความทรงจำที่เจ็บปวดในอดีตของผู้ทานคืออะไร ยา B จะเป็นยาที่ค้นหาว่ากลไกป้องกันตัวของเราจากสิ่งที่เราไม่กล้าเผชิญหน้าความจริงคืออะไร เมื่อนำกำแพงนั้นออกไปแล้ว ต่อไปก็จะเป็นยา C ที่จะทำให้เราค้นพบสิ่งที่ถูกปิดกั้นมานาน เผชิญหน้ามันและแก้ไขมันซะ เพื่อรักษาแผลใจทั้งหมด โดยยาตัวนี้จะเป็นยาที่คอมพิวเตอร์ผลิตขึ้นมาสำหรับแต่ละคนโดยเฉพาะ จากการเรียนรู้ข้อมูลของพวกเขาผ่านยา A และยา B
ถึงตรงนี้ การที่แอนนี่ติดยา A นั่นไม่ใช่เพราะเสพแล้วฟินแต่อย่างใด แอนนี่เสพยา A เพื่อจะได้กลับไปหาความทรงจำเลวร้ายอีกครั้ง ดื่มด่ำไปกับมัน เธอเสพติดความเจ็บปวดนี้ไปแล้ว (คงเหมือนกับคนอกหักชอบฟังเพลงอกหักละมั้ง) ความทรงจำที่เจ็บปวดของเธอคือการที่เธอโทษตัวเองว่าเป็นต้นเหตุให้น้องสาวของเธอตาย การได้เสพยา A นำพาเธอกลับไปหาน้องสาวของเธออีกครั้ง แม้ว่าจะเป็นในสถานการณ์ที่ไม่น่าอภิรมย์ก็ตาม แต่อย่างน้อยเธอก็ได้เจอคนที่เธอรักอีกครั้งหนึ่ง
การทดลองดำเนินไปเรื่อยๆ ภาพฝันแปลกประหลาดของแอนนี่และโอเว่นทยอยไล่เลียงปรากฏขึ้นมา ความฝันแต่ละฉากมีความหลุดโลกในตัวของมัน บางอันย้อนยุค บางอันดูลึกลับหรูหรา บางอันแฟนตาซีราวกับหลุดมาจากเดอะลอร์ดออฟเดอร์ริงส์ บางอันโหดดิบ ดูไปดูมาเหมือนแต่ละความฝันไม่ได้มีความเกี่ยวเนื่องกันเลย ดูกระจัดกระจายมั่วซั่ว และคนดูอาจจะรู้สึกเหมือนได้รับข้อมูลมากเกินไป เรียบเรียงไม่ทัน
แต่แท้จริงแต่ละความฝันนั้นสะท้อนปมลึกๆ ในใจของแอนนี่และโอเวนอยู่ ยาทดลองได้พาพวกเขาไปเผชิญกับเศษเสี้ยวแห่งความจริงในแต่ละมุม ผ่านสถานการณ์เชิงเปรียบเทียบต่างๆ ซึ่งแน่นอนว่าดูเข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้างแหละ แต่อย่างน้อยแต่ละความฝันก็จะมีอย่างน้อยจุดหนึ่งที่เชื่อมต่อกับความจริงที่เคยเกิดขึ้นในชีวิตจริงของพวกเขา
ฟังดูซับซ้อนและเยอะ แต่แท้จริงแล้วความแฟนซีทั้งหลายแหล่นั้นมันแค่ตัวสารที่พยายามจะส่งมอบ key message เพียงอย่างเดียว นั่นก็คือ “จงสร้างความสัมพันธ์”
ใช่ ง่ายๆ แค่นั้นแหละ!
ถ้าใครพอจะสังเกต โลกความจริงใน Maniac นั้นแท้จริงก็มีความผิดเพี้ยน เราจะพบเห็นความล้ำแปลกๆ ของบริการต่างๆ เช่น การรับจ้างเป็นเพื่อน (Friend-Proxies) บริการรับจ้างเป็นสามีและพ่อเลี้ยง (Daddy’s Home) บริการหลบหลีกความสัมพันธ์ (A-Void) และ บริการรับฟังโฆษณา (Ad Buddy) ซึ่งเราจะได้ตังค์ด้วยการเปิดโอกาสให้คนมาเดินตามเราแล้วพูดขายของกับเรารัวๆ (เอ้อ ก็ยังมีได้นะ) การที่มีบริการเหล่านี้เกิดขึ้นมันสะท้อนให้เห็นว่าโลกใบนี้ขาดการปฏิสัมพันธ์ที่แท้จริงระหว่างมนุษย์สู่มนุษย์
มันแสดงให้เห็นถึงปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน
หรือแท้จริงแล้ว สิ่งนี้จะเป็นภาพสะท้อนสังคมจริงๆ ของเรากันนะ? การที่เทคโนโลยีล้ำหน้ามากขึ้น ส่งผลให้ทุกความสัมพันธ์ดูง่ายดายและรวดเร็วไปหมด จนชวนให้ตั้งคำถามว่าแท้จริงแล้วเรามีความสัมพันธ์จริงๆ ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งกับผู้คนเพียงกี่คนกันแน่? ใน Maniac ความสัมพันธ์พวกนี้ซื้อขายได้ ตัดขาดหรือสร้างใหม่ขึ้นได้อย่างง่ายดาย เพียงแต่มันไม่ใช่ความสัมพันธ์ที่แท้จริง
…เป็นเพียงเปลือกนอกที่หลอกเราว่าเรามีสังคม เรามีคนรอบข้าง
เราไม่ “เหงา”
อันที่จริงแล้ว อาการป่วยของโอเวนและแอนนี่ก็มีรากฐานมาจากความเหงานั่นเอง โอเวนเป็นโรคจิตเภท เขากลัวที่จะมีความสัมพันธ์กับผู้คนเพราะกลัวว่าความสัมพันธ์นั้นจะเป็นของปลอม (เหมือนที่เคยโดนสาวหลอกมาในอดีต จนทำให้กลายเป็นแผลใจ) ด้วยเหตุนี้เขาเลยมักมี “เพื่อนในจินตนาการ” มาทดแทน ส่วนแอนนี่นั้นเศร้าโศกจากการสูญเสียทั้งแม่และน้องสาว ทั้งคู่ไม่มีใครคอยให้คำปรึกษาหรือความช่วยเหลือ และการที่ทั้งคู่พยายามจัดการกับปัญหาตัวเองนั้นก็ยิ่งทำให้พวกเขาซึมเศร้าหนักเข้าไปอีก
เหมือนจะเป็นโชคที่คอมพิวเตอร์ซึ่งดูแลการทดลองอย่าง GRTA เกิดปัญหา ทำให้แอนนี่และโอเวนไปเจอกันในความฝันของการทดลอง (ทั้งที่ไม่ควรเกิดขึ้น) การที่ทั้งคู่ได้ฝ่าฟันปัญหาและสถานการณ์ต่างๆ ไปด้วยกันได้เสริมสร้างความสัมพันธ์อันแข็งแกร่งขึ้นมา ซึ่งสิ่งนี้แหละคือสิ่งที่คนทั้งคู่ต้องการในชีวิตจริง
ดูเหมือนว่า “ความเหงา” จะเป็นศัตรูตัวฉกาจ เพราะไม่ว่าใครในเรื่องก็เผชิญกับปัญหานี้ทั้งนั้น ไม่เว้นแม้แต่คอมพิวเตอร์ปัญญาประดิษฐ์อย่าง GRTA ที่ถูกโปรแกรมให้มีความรู้สึก ฉะนั้นนางจึงรู้สึกโศกเศร้ากับการจากไปคนที่นางรัก (เอา เอาเข้าไป) ทางด้านผู้อยู่เบื้องหลังการทดลองอย่างด็อกเตอร์ทั้ง 2 ก็มีปัญหาพอกัน ไม่ใช่ว่าเป็นคนควบคุมการทดลองแล้วจะเพอร์เฟ็กต์อะนะ โดย ดร.แมนเทิลเรย์ มีปัญหาความสัมพันธ์กับแม่ตัวเอง ส่วน ดร. ฟูจิตะ (สาวแว่นผมบ็อบที่เรารักในความเก๋ของเธอมาก) ก็ดูเหมือนจะมีเรื่องเครียดและเก็บกดจนต้องสูบบุหรี่อยู่เรื่อยๆ
ดังนั้น จริงๆ แล้วฉากแฟนตาซีและความฝันบ้าบอทั้งหลายมันจึงเป็นเพียงส่วนประกอบของเนื้อเรื่อง ทำให้ซีรีส์ดูมีรสชาติมากขึ้น แต่เมสเสจที่แท้จริงของซีรีส์ก็คือการจะบอกคนดูว่า “ออกไปข้างนอก แล้วไปสร้างสัมพันธ์กับผู้คนเถอะ ชีวิตจะง่ายขึ้น !”
ชีวิตของโอเวนจะง่ายกว่านี้ หากเขามีคนมารับขึ้นรถหนีสถานการณ์ไปด้วยกันเมื่อเขาถูกครอบครัวรังเกียจ
ชีวิตของแอนนี่จะง่ายกว่านี้ หากเธอมีคนคอยช่วยปลอบโยนยามเศร้าใจเมื่อคนที่ตนรักจากไป
แม้ว่า Maniac จะถูกประดับตกแต่งไปด้วยเทคโนโลยีสุดล้ำ ฉากไซไฟอลังการ หรือทางออกสุดแสนจะวิเศษอย่างยา 3 เม็ด…
แต่ในความจริง…มันไม่มียาหรือเครื่องมืออะไรที่จะสามารถทดแทนความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ได้หรอก
สรุปแล้ว แม้ว่าหัวใจหลักของ Maniac จะเป็นเรื่องความสัมพันธ์ที่ฟังดูง่ายๆ แต่ก็ยังขอยืนยันว่านี่ไม่ใช่ซีรีส์ที่ดูง่าย เพราะมีรายละเอียดยุบยิบเยอะแยะเต็มไปหมด ดูๆ ไปก็อาจจะหลงทางได้ว่าเอ๊ะ สรุปพล็อตมันเป็นยังไงนะ? ก็ต้องค่อยๆ เสพกันไป หากใครอยากจะไปแกะปริศนาต่อว่าฉากนี้ในฝันนี้มันแปลว่าอะไรก็ลองดู แนะนำให้ดูสำหรับใครที่สนใจพล็อตเชิงวิทยาศาสตร์และจิตวิทยา เพราะนี่น่าจะเป็น genre หลักๆ ของซีรีส์เลย
Leave a Reply