หลังจากที่เห็นหน้าค่าตามานาน ในที่สุดเราก็ได้อ่านเล่มนี้จนได้ เรากำลังหาหนังสือที่รวบรวมทริคการเขียนเล่มนี้ เจอเล่มนี้โดย Gary Provost เห็นปกสะดุดตาและดูอ่านเข้าใจง่าย เลยลองดูสักหน่อย เอนทรี่นี้เลยจะขอสรุป key points หลัก ๆ ที่ได้ จริง ๆ หนังสือก็ค่อนข้างสรุปรวบรัดอยู่ละ แต่จะขอสรุปให้กระชับขึ้นอีกหน่อยนะ
9 วิธีพัฒนาการเขียน นอกเหนือจากการเขียน
1. พยายามมีแหล่งอ้างอิงอยู่ใกล้ตัว ถ้าเป็นเมื่อก่อนก็ควรมีพจนานุกรม สารานุกรมอยู่ติดบ้านเป็นเสมือนคัมภีร์ แต่ในปัจจุบันเรามีอินเตอร์เน็ต การหาข้อมูลพวกนี้จึงง่ายนิดเดียว หลัก ๆ แล้วคงเป็นการฝึกนิสัยมากกว่า
2. ขยายคลังคำศัพท์ อันที่จริงแล้วศัพท์ที่สำคัญที่สุดคือศัพท์ที่เรารู้อยู่แล้วแหละ ไม่ใช่ศัพท์ใหม่แกะกล่อง มีหลายคำที่เรารู้อยู่ในซอกหลืบสมอง พอจะใช้จริงนั้นยากมากกว่าจะนึกออก ทางแก้คือพยายามดึงออกมาใช้บ่อย ๆ หรือเวลากำลังจะใช้ศัพท์อะไร ให้ลองคิดต่ออีกนิดว่ามีศัพท์ไหนพอจะแทนกันได้มั้ย มีศัพท์ไหนที่ให้ความหมายใกล้เคียงกันมั้ย เป็นการฝึกสมองไปในตัว
3. พัฒนาการสะกดคำ เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่สำหรับนักเขียน เพราะถ้าสะกดผิดทีนี่คนอ่านอาจจะรำคาญ หรืออาจจะมองเราแย่ไปเลย
4. อ่านเยอะ ๆ ตอนอ่านก็คอยเรียนรู้วิธีการใช้คำ การวางโครงเรื่อง การสื่อสารของผู้เขียนด้วย ขณะเดียวกันก็คอยจับผิดด้วยว่าจุดไหนที่สามารถพัฒนาขึ้นได้อีก
5. หาคอร์สเรียน คือแค่อ่านหนังสือก็ช่วยได้แหละ แต่การเข้าไปเรียนกับคนจริง ๆ จะยิ่งช่วยไปอีก เพราะเราจะได้เขียนงานที่มีคนช่วยอ่านจริง ๆ มีคนฟีดแบ็กงานเราจริง ๆ และพอเรารู้แบบนี้ เราก็จะยิ่งตั้งใจเขียนขึ้นไปอีก
6. แอบฟังชาวบ้านคุยกัน อันนี้ไม่ได้หมายความว่าให้ไปฟังแล้วอินแล้วเม้าท์ตาม แต่ให้ฟังว่าเค้าสื่อสารกันยังไง มีเรื่องอะไรน่าสนใจในปัจจุบัน เราอาจจะได้รู้ศัพท์แสลงใหม่ ๆ จากกลุ่มวัยรุ่น หรือประสบการณ์แปลก ๆ จากคนที่นั่งโต๊ะใกล้กันในร้านอาหาร เป็นต้น
7. หาข้อมูล หลายครั้งที่เราไม่รู้จะเขียนอะไรนั้น เป็นเพราะเรายังไม่มีข้อมูลดิบมากพอ การเตรียมข้อมูลไว้ก่อนเขียนจะช่วยให้ตอนเขียนนั้นเป็นไปอย่างราบรื่นขึ้น
8. ลองเขียนในหัว บางทีการฝืนตัวเองไปนั่งหน้าคอมฯ เลย ก็อาจจะทำให้เรานั่งเอ๋อจ้องมองจอว่างเปล่าไปสักระยะ แต่ถ้าระหว่างวันเรามีคิดในหัวว่าเราจะเขียนอะไร จะเรียบเรียงยังไง ก็จะช่วยย่นระยะเวลาได้ พอถึงเวลาต้องเขียนจริง ก็ไหลออกมาจากหัวเลย
9. หาช่วงเวลาและสถานที่ที่เหมาะกับตัวเอง แนะนำเป็นสล็อตเวลาที่ยาวพอสมควร เช่น หนึ่งชั่วโมงขึ้นไป แทนที่จะเป็นแบบสิบนาที ทีละนิดทีละหน่อย เพราะการมีเวลายาว ๆ นั้นเหมาะกับการเขียนแบบไหลลื่น ๆ มากกว่า ส่วนสถานที่นั้น ก็แนะนำเป็นที่ที่เงียบสงบ เสียงรบกวนน้อย ๆ หน่อย ถ้าไม่มีจริง ๆ ก็ต้องใช้ที่อุดหูละ
9 วิธี เอาชนะสภาวะ “ตัน” (Writer’s Block)
*เผื่อใครไม่ได้อยู่ในวงการนี้แล้วงงกับคำศัพท์ คำนี้คืออาการคิดไม่ออกว่าจะเขียนอะไร ขาดไอเดีย ไปต่อไม่ถูก เสมือนหลงทางอยู่กลางทะเลทราย
1. คัดลอกประโยคที่ชอบจากงานคนอื่น ฟังแวบแรกอาจจะดูแปลก ๆ แบบเอ๊ะ ต้องไปก๊อปเค้าหรอ แต่จริง ๆ ก็คือคัดลอกมาชั่วคราว ให้เสมือนว่าเราเขียนเอง พอทำอย่างงี้เราจะเริ่มมองในมุมผู้เขียนละ ว่าทำไมเค้าถึงใช้คำนี้ ถึงหั่นประโยคเป็นแบบนี้
2. จดบันทึก อาจจะเป็นไดอารี่ หรือสิ่งที่น่าสนใจระหว่างวัน สิ่งเหล่านี้จะช่วยหล่อหลอมการเขียนของเรา เราจะได้สกิลการดึงเรื่องราวรอบตัวมาเขียน ซึ่งเรื่องเหล่านั้นอาจจะกลายเป็นวัตถุดิบชั้นดีในการสร้างสรรค์งานเขียนก็ได้
3. บอกเล่าเรื่องราวที่เราเขียนให้คนอื่น ๆ ฟัง เผื่อว่าคนอื่นอาจจะมีไอเดีย หรือมีวัตถุดิบมาช่วยเสริมเราได้
4. ออกกำลังนิด ๆ หน่อย ๆ ยืดเส้นเล็กน้อย ให้ร่างกายกระฉับกระเฉงก่อนเริ่มเขียน อย่าฝืนเขียนทั้ง ๆ ที่ตากำลังจะปิด ถ้าออกกำลังแล้วยังไม่เวิร์กก็ให้ไปนอนซะ
5. ทำแบบฝึกหัดการเขียน เช่น หาคำคล้องจอง อธิบายการทำงานของสิ่งต่าง ๆ ฯลฯ สิ่งนี้เหมือนเป็นการวอร์มอัปฝีมือเขียนของเราไม่ให้ฝืด ตรงนี้ไม่ต้องไปโฟกัสเรื่องความเป๊ะมาก เพราะจุดประสงค์คือการอุ่นเครื่องเฉย ๆ
6. จัดระเบียบให้สิ่งที่เขียน อย่างน้อยให้มีโครงหลวม ๆ ที่พอจะไล่ตามได้ แต่ไม่ต้องล็อกเป๊ะ ๆ เกินไปจนถึงขั้นปิดกั้นจินตนาการระหว่างเขียนของเรา พยายามหาข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งที่เขียนให้ได้เยอะ ๆ ยิ่งเยอะยิ่งดี
7. ลิสต์ใจความสำคัญที่ต้องการจะเขียน เพื่อไม่ให้พลาดในการสื่อสาร อาจจะเป็น 1. 2. 3. คร่าว ๆ ก็ได้
8. มีภาพในหัวให้ชัดว่าคนอ่านงานเราคือใคร เพราะมันจะส่งผลกับภาษาที่เราใช้ด้วย หากใช้ภาษาที่กลุ่มผู้อ่านไม่สามารถเข้าใจได้ แม้จะเขียนงานออกมาดี แต่ก็ไร้ประโยชน์ เพราะคนอ่านไม่เข้าใจ
9. ถามตัวเองว่าทำไมถึงเขียนงานนี้ เมื่อรู้เหตุผลแล้ว เราจะสามารถเลือกใช้ภาษาได้ถูก รู้ว่าจะต้องเขียนอะไรถึงจะตรงตามเป้าหมาย ถ้าถามตัวเองแล้วตอบไม่ได้ ก็อย่าเพิ่งเขียนเลย
5 วิธีเขียนช่วงต้นให้ดึงดูด
1. หาจุดยืนให้หัวข้อตัวเอง อย่าพยายามเขียนหัวข้อแบบครอบคลุม เพราะยิ่งหัวข้อใหญ่เท่าไร ข้อมูลก็จะยิ่งล้น จัดการไม่ถูก ตัวอย่างเช่น หัวข้อที่ใหญ่ไปคือ “The Vietnam War” ส่วนหัวข้อที่มีจุดยืนหน่อยคือ “What We Learned from Vietnam War”
2. เขียนช่วงต้นให้ตื่นเต้น มีพลัง ดึงดูดให้คนอ่านต่อ ช่วงต้นอาจจะหมายถึงประโยคแรก ย่อหน้าแรก หรือ 500 คำแรกของบทความ 3,000 คำ ที่สำคัญคือช่วงต้นควรทำให้ผู้อ่านเห็นว่า “ต้องมีข้อมูลบางอย่างส่งผลกับเราแน่เลย” หรือไม่ก็ “โอ ฉันเข้าใจความรู้สึกนี้นะ” อย่าเริ่มต้นด้วยข้อมูลดิบๆ ที่ไม่มีชีวิตชีวา เพราะอาจทำให้ผู้อ่านเลิกอ่านได้
3. อย่าเขียนอะไรที่ไม่เป็นความจริง ตัวอย่างเช่นพวกหัวข้อบทความ Clickbait ที่ล่อลวงเราด้วยหัวข้อตื่นเต้น แต่พออ่านไปอ่านมาแล้วเนื้อหาไม่ตรงเลยนี่หว่า ตัวอย่างเช่น หัวข้อ “Science has found a cure for cancer” แล้วต่อด้วยเนื้อเรื่องว่า “Of course, nothing is definite yet.” คนอ่านก็คงมิวายรู้สึกว่าโดนหลอก
4. คุมโทนให้ชัดเจน เช่น ถ้าเล่าเรื่องตลกก็ทำโทนให้ตลก ไม่ใช่ว่าตลกย่อหน้าแรก แล้วย่อหน้าต่อมาก็กลายเป็นความเรียงเฉย
5. เริ่มต้นที่เนื้อหาเริ่มต้นจริง ๆ เพราะบางทีเราอาจจะใช้คำเวิ่นเว้อเกินในการเกริ่นนำ ซึ่งไม่ได้ get to the point ขนาดนั้น เราสามารถใช้สิ่งนี้เป็นตัวอุ่นเครื่องได้ แต่พอเขียนจริงๆ ต้องมาสังเกตอีกทีว่าคำไหนเฟ้อ ประโยคไหนตัดออกได้ เพื่อให้จุดเริ่มต้นกระชับที่สุด
9 วิธีประหยัดเวลาและพลังงาน
1. เล่าเรื่องแบบ “พีรามิด” คือให้ประเด็นหลักมาก่อน ตามมาด้วยรายละเอียดสนับสนุนต่อมา อย่าเอาประเด็นหลักไปไว้ท้าย ๆ
2. ใช้ประโยคหัวข้อหลัก โดยสร้างประโยคหนึ่งที่ครอบคลุมประเด็นสำคัญในย่อหน้านั้นขึ้นมา เพื่อที่ว่าเราจะได้คุมโทนเนื้อหาที่จะอยู่ในย่อหน้านั้น ๆ ได้
3. เขียนย่อหน้าสั้น ๆ เพราะจะทำให้เรื่องราวดูมีสีสันและกระชับกว่า ผู้อ่านจะได้พักระหว่างทางด้วย
4. ใช้คำเชื่อมเพื่อโยงระหว่าง 2 เหตุการณ์/สถานที่/ช่วงเวลา ตัวอย่างเช่น เวลาเราเปลี่ยนหัวข้อ อาจจะใช้ Consequently, On The Other Hand
5. อย่าอธิบายรายละเอียดที่ไม่ได้มีความสำคัญ เราไม่จำเป็นต้องเล่าว่าตัวละครเดินทางไปโบสถ์ยังไงถ้าหากว่าระหว่างทางไม่ได้มีเรื่องสำคัญอะไรเกิดขึ้น ก็แค่เขียนว่า “Sam drove to the church.” แค่นั้นพอ
6. ใช้ Bridge Word หรือคำซ้ำกันในแต่ละท่อนของเนื้อหา เพื่อที่ว่าผู้อ่านจะได้เชื่อมโยงถูก เช่น “Let’s pick apples Saturday. My brother Larry and I used to pick apples all the time. He lives in California.” คำว่าแอ๊ปเปิ้ลถูกนำมาใช้ซ้ำ ในทางตรงกันข้าม หากประโยคมีแค่ว่า “Let’s pick apples Saturday. My brother Larry lives in California.” เราก็คงงงว่าจู่ ๆ พูดถึงพี่ชายทำไม
7. อย่าเล่นคำเยอะเกินไป ในแง่นี้สามารถหมายถึงทั้งการใช้คำเวิ่นเว้อ เช่น “little kittens” “Last May during the spring” และหมายถึงการใช้คำยากเกินไปทั้ง ๆ ที่สามารถหาคำง่าย ๆ กว่านี้ได้ การพยายามโอ้อ้วดด้วยการใช้ศัพท์ยาก ๆ นั้นไม่ได้ดูเท่เลย เพราะสุดท้ายถ้าคนอ่านไม่เข้าใจก็ถือว่าไม่ประสบผลสำเร็จ
8. ขโมยไอเดียจากหลาย ๆ แห่งมาประยุกต์ใช้ในงานเขียน เช่น บทสนทนาที่ได้ยินจากในร้าน ประโยคเปรียบเปรยที่เห็นจากหนังสือพิมพ์ ฯลฯ ที่สำคัญคืออย่าขโมยแค่จากแหล่งเดียว เพราะสิ่งนั้นจะเรียกว่าการลอกเลียน แต่ถ้าขโมยจากหลาย ๆ แห่ง เขาเรียกว่า “การรีเสิร์ช”
9. เมื่อเขียนจบแล้ว ก็จบมันเลยอย่ายืดเยื้อ ทางที่จะรู้ได้ว่าประโยคนี้ควรเป็นประโยคจบหรือยัง ให้ลองพิจารณาดูว่าถ้าตัดประโยคนี้ออก คนอ่านจะยังรู้เรื่องมั้ย ถ้ายังรู้เรื่อง ก็ตัดออกไปเลย แต่ถ้าเจอว่าประโยคไหนเป็นประโยคจบแน่ ๆ แล้ว ให้ลองดูว่านี่เป็นประโยคที่ดีแล้วจริง ๆ หรือ เป็นประโยคที่ทิ้งท้ายความรู้สึกที่เราต้องการให้เกิดกับผู้อ่านใช่มั้ย
10 วิธีพัฒนาสไตล์การเขียน
1. คำนึงถึงสไตล์การเขียน แม้หัวข้อหรือคอนเทนต์จะดี แต่ถ้าสไตล์การเขียนไม่น่าดึงดูด น่าเบื่อเหมือนหนังสือเรียน คนก็คงไม่อ่าน สไตล์การเขียนที่มีเอกลักษณ์ สนุก น่าติดตาม จะช่วยชูความน่าสนใจของคอนเทนต์ได้
2. ฟังงานเขียนให้ออก เพราะงานเขียนเปรียบเสมือนดนตรี ที่เราต้องดูว่าทุกอย่างเข้ากันมั้ย ไม่ได้มีเสียงเครื่องดนตรีไหนไม่เข้าพวก จังหวะไม่สะดุด
3. เลียนแบบภาษาพูดในแง่ของการสื่อสารแบบมนุษย์ ยิ่งสิ่งที่เขียนนั้นสื่อความเป็นมนุษย์ได้ราวกับผู้เขียนมาบอกเล่าด้วยปากตัวเอง คนอ่านก็ยิ่งอิน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าให้เอาคำพูดทั้งก้อนไปใส่ในงานเขียนนะ เพราะการพูดของเรานั้นมักจะไม่ได้ละเอียด บางทีก็เต็มไปด้วยคำไม่จำเป็น ให้กลบข้อเสียเหล่านั้นด้วยเอกลักษณ์ของงานเขียนแทน
4. ผสมผสานความสั้น-ยาวของประโยค อย่าใช้ประโยคสั้นหรือยาวซ้ำ ๆ เพราะจะทำให้งานเขียนดูทื่อ การสลับใช้ประโยคสั้นบ้าง ยาวบ้าง จะช่วยให้อ่านได้อย่างลื่นไหลขึ้น มี variety มากขึ้น
5. ผสมผสานโครงสร้างของประโยค ตอนเด็ก ๆ เรามักจะถูกสอนให้เขียนตามลำดับ “ประธาน กิริยา กรรม” แต่การใช้โครงสร้างนี้ซ้ำ ๆ เรื่อย ๆ ทำให้งานเขียนน่าเบื่อได้ ทางที่ดีลองสลับมันดู หรือทำให้ประโยคซับซ้อนขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ประโยคก็ยังต้องคงหัวใจหลักให้ได้ (ไม่ใช่เขียนให้งงขึ้น)
6. พยายามเขียนให้จบประโยค ประโยคที่สมบูรณ์แบบมี “ประธาน กิริยา กรรม” ครบนั้นควรนับเป็น 99% ของประโยคทั้งหมดในงานเขียน นอกเหนือจากนี้เราอาจจะใส่ประโยคไม่สมบูรณ์ลงไปประกอบให้เนื้อหาดูน่าสนใจขึ้นได้
7. แสดงให้เห็น ไม่ใช่แค่บอกเล่า เพราะการเขียนเนื้อหาที่แสดงให้เห็นถึงสิ่งที่เราต้องการจะเล่านั้นช่วยให้เนื้อหาดูมีน้ำหนัก และชวนโน้มน้าวมากขึ้น แทนที่จะเขียนว่า “เธอเป็นคนเก่ง” อาจจะเขียนเป็น “เธอสามารถทำโครงงาน 5 ชิ้นเสร็จได้ภายใน 3 สัปดาห์ ทุกชิ้นล้วนได้รับเสียงตอบรับที่เป็นบวก” แน่นอนว่าอาจจะใช้คำเยอะหน่อย แต่เชื่อเถอะว่าคุ้ม
8. วางคำใกล้เคียงไว้ใกล้ ๆ กัน เช่น Adjective ก็ควรอยู่ใกล้ Noun ส่วน Adverb ก็ควรอยู่ใกล้ Verb เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน ตัวอย่างเช่น แทนที่จะเป็น “The boy rode his horse through the winter woods, strong and proud as could be.” ควรเป็น “The strong, proud boy rode his horse through the winter woods.”
9. ใช้โครงสร้างที่ไปในทางเดียวกัน สำหรับเนื้อหาที่มีความใกล้เคียงกัน เช่น แทนที่จะบอกว่า “Fish gotta swim, and flying is something that birds must do.” อาจเปลี่ยนเป็น “Fish gotta swim, birds gotta fly.” ก็จะง่ายกว่าเยอะ
10. อย่าฝืนสร้างสไตล์ ควรให้มันเกิดขึ้นเองธรรมชาติ อย่าไปพยายามตั้งใจว่าจะเขียนสไตล์เหมือนนักเขียนคนไหน เพราะถ้าหากไม่สำเร็จก็จะยิ่งดูตลก ถ้าสำเร็จก็จะทำให้เราดูไม่สร้างสรรค์เอาซะเลย
12 วิธีเพิ่มพลังให้คำศัพท์
1. ใช้ศัพท์สั้น ๆ เช่น คำว่า Stop นั้นมีพลังมากกว่า Discontinue
2. ใช้ศัพท์ที่สื่อได้หลายความหมาย แทนที่จะใช้หลาย ๆ คำศัพท์ เช่น People we don’t know สามารถเปลี่ยนเป็นคำสั้น ๆ อย่าง Strangers แทน
3. ใช้ศัพท์ที่คุ้นเคย ยิ่งเราใช้ศัพท์ยาก ๆ แบบที่คนอ่านไม่เข้าใจ ศัพท์เหล่านั้นก็ยิ่งดูไร้พลัง พยายามหยิบศัพท์ที่เรานึกออกไว ๆ แต่ต้องไม่ใช่ศัพท์เฉพาะทางนะ
4. ใช้ Active Verbs หรือกริยาที่แสดงอาการ แทนที่จะใช้พวก is, am, are เฉย ๆ เช่น he is at the table เปลี่ยนเป็น he sits at the table
5. ใช้กริยาที่แข็งแกร่ง คำกริยาถือเป็นส่วนที่มีพลังที่สุดในประโยค แต่ถ้าเลือกใช้ผิด ก็อาจจะต้องใช้คำเยอะโดยไม่จำเป็น แทนที่จะเอา Adverb มาขยายความ เป็น Go Quickly ก็สามารถเปลี่ยนเป็น Rush หรือ Run ได้ เห็นภาพชัดในคำเดียว
6. ใช้ประธานที่เจาะจง ก็เหมือนข้อข้างบนแหละ แต่อันนี้คือตัว Noun ที่ควรสื่อความหมายได้ครบ เช่น แทนที่จะใช้คำว่า “Large House” อาจจะเปลี่ยนเป็น “Mansion” แทน
7. พยายามใช้ Active Voice ซะเป็นส่วนใหญ่ มันคือการเรียงประโยค “ประธาน-กริยา-กรรม” เช่น John picked up the bag. ก็จะชัดเจน ตรงประเด็น ดีกว่า “The bag was picked up by John.” แต่บางกรณีเราอาจจะใช้ Passive Voice แทนได้ หากเรามองว่า Bag คือสิ่งที่สำคัญกว่า
8. พยายามบอกเล่าแบบ Positive ซะเป็นส่วนใหญ่ ในที่นี้คือการบอกเล่าตรง ๆ โดยไม่ใช้คำเชิงลบ เช่น ไม่ อย่า ตัวอย่างเช่น ประโยค “The church was silent.” นั้นทำให้ผู้อ่านเข้าใจได้ง่ายกว่า “There was no noise in the church.” แต่บางทีเราอาจจะต้องใช้ประโยคเชิงลบบ้าง ในกรณีที่เราต้องการเน้นเหตุการณ์นั้น ๆ ว่ามันเป็นเชิงลบ เช่น ใช้ “Jennifer is not home yet.” แทนที่จะเป็น “Jennifer is out.”
9. พยายามอธิบายแบบเจาะจง แต่อย่าอธิบายละเอียดยืดเยื้อเกินไป เอาแค่ให้ผู้อ่านเห็นภาพชัดเจน เช่น แทนที่จะเขียนว่า “My son is having difficulty with two subjects.” ก็เปลี่ยนเป็น “My son Adam is flunking math and science.”
10. ใช้สถิติ เพราะจะช่วยให้งานเขียนดูน่าเชื่อถือขึ้น แต่อย่าใช้เยอะเกินไปเพราะอาจทำให้ผู้อ่านรู้สึกอึน ๆ คิดตามไม่ทัน ให้นึกภาพว่าสถิติเป็นพริกไทยที่โรยแค่นิด ๆ หน่อย ๆ ไม่ใช่เนยที่นำมาปาดหน้าขนมปังทั้งหมด
11. ให้ข้อเท็จจริง เพราะการเขียนอะไรขึ้นมาลอย ๆ โดยไม่มีข้อเท็จจริงมาแบ็กอัป อาจทำให้ดูไม่น่าเชื่อถือ ไม่หนักแน่น เราไม่จำเป็นต้องไปสรุปให้ผู้อ่านเชื่อตาม แต่เราใช้วิธีนำข้อมูลจริงมาเสนอเพื่ออธิบายสิ่งที่เราอยากจะเขียน
12. ใส่ศัพท์ที่เราต้องการเน้น (Emphatic Word) ไว้ตอนท้าย เช่น ถ้าอยากเน้นจำนวนเงินที่อีกฝ่ายต้องจ่าย ก็เขียนว่า “By June first please send me a check for $107.12” แต่ถ้าอยากเน้นวันกำหนดจ่าย ก็เปลี่ยนเป็น “Please send me a check for $107.12 by June first.”
11 วิธีทำให้คนชอบสิ่งที่เราเขียน
1. ทำให้งานเขียนเข้าถึงง่าย เข้าใจง่าย ไม่มองข้ามข้อจำกัดเล็กๆ น้อยๆ ของผู้อ่าน ใส่อารมณ์ขันไปบ้าง ว่าง่ายๆ คือเขียนให้เหมือนเราพูดคุยกันแบบมนุษย์ มีการใส่ใจ มีการเล่าประสบการณ์ตัวเอง ทำให้คนอ่านรู้สึกเชื่อมต่อกับเรา
2. พยายามเขียนถึงผู้คน เล่าว่าแต่ละคนคิดยังไง สิ่งนั้นจะส่งผลกับคนยังไง เพราะมนุษย์เรามักจะสนใจในเรื่องของคนอื่น ๆ เสมอ
3. สอดแทรกความคิดเห็นของตัวเองลงไป เพราะถึงแม้เราจะพยายามปกปิดแค่ไหน การเขียนของเราก็จะสะท้อนมันออกมาอยู่ดี การเสนอความเห็นไปตั้งแต่แรกทำให้คนรู้สึกว่าเราจริงใจ แต่ถึงอย่างนั้นก็เป็นการดีที่เราควรจะมองถึงความเห็นที่ต่างออกไปด้วย
4. ทำตามกฏที่ตัวเองสร้างมา ถ้าจะเขียนนิยายที่สะท้อนบนความจริง ก็อย่าทะเล่อทะล่าใส่แม่มดเข้าไปในบทที่เก้า ถ้าจะเขียนเรื่องราวที่จริงจัง ก็ควรจะแนบเหตุผลและหลักฐานต่าง ๆ ไม่ใช่แค่พูดลอย ๆ
5. ใช้ Anecdote หรือการบอกเล่าเรื่องราวสั้น ๆ ในการเริ่มต้น สิ่งนี้จะช่วยให้งานเขียนดูน่าสนใจขึ้น
6. สอดแทรกตัวอย่างเข้าไปในงานเขียน จะช่วยอธิบายสิ่งที่เราพูดกว้าง ๆ ให้ชัดและเจาะจงยิ่งขึ้น
7. ระบุที่มาของข้อมูล เพราะจะช่วยให้งานเขียนดูน่าเชื่อถือขึ้น ไม่ใช่แค่ข้อมูลเชิงข้อเท็จจริงเท่านั้น แต่ยังหมายถึงความคิดเห็นด้วย เช่น แทนที่จะใช้คำว่า “คนส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่า…” เราก็ควรระบุไปเลยว่า “จากโพลโดยสำนัก XXX เมื่อปี 2019 90% ของผู้ให้สัมภาษณ์บอกว่า…”
8. ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ที่คนอ่านสามารถเอาไปทำตามได้ เช่น อ่านจบแล้วอบขนมได้ อ่านจบแล้วเดินทางไปที่นั่นที่นี่ได้
9. ใช้ Quotations หรือคำพูดเด่น ๆ ที่บุคคลสำคัญเคยกล่าวไว้ สิ่งนี้จะช่วยแบ็กอัปความคิดเห็นของเรา แต่ถ้าใช้มากไปก็อาจจะดูยัด ๆ อ่านไม่ลื่น (Quotations ต่างจาก Quotes ตรงที่ Quotes อาจเป็นคำพูดใครก็ได้ ส่วน Quotations จะเน้นที่คนสำคัญ ๆ)
10. ใช้ Quotes ซึ่งก็คือคำพูดจากใครก็ได้ที่เราอาจจะไปสัมภาษณ์มา หรืออ่านเจอในหนังสือโดยบังเอิญ Quotes ถ้าใช้ดี ๆ ก็จะช่วยเล่าสถานการณ์ให้น่าเชื่อถือขึ้น เพราะมันมาจากปากของผู้เกี่ยวข้องเอง ที่สำคัญคืออย่าเขียน Quotes ไปทั้งดุ้น เพราะปกติคนพูดก็จะเอ่อ ๆ อ่า ๆ พูดซ้ำบ้าง พูดติดขัดบ้าง ให้ตัดคำพวกนี้ออกไป แล้วเหลือไว้แค่เนื้อหาสำคัญ ๆ พอ
11. เขียนหัวข้อให้น่าสนใจ หัวข้อที่ดีควรจะทำตัวเป็นไกด์บอกคนอ่านคร่าว ๆ ว่าเนื้อหาจะเกี่ยวกับอะไร ควรเจาะจงเพื่อเรียกคนอ่านที่สนใจในเรื่องนั้นจริง ๆ เช่น แทนที่จะเป็น The Marketing of Italian Cuisine อาจจะเป็น How to Sell a Meatball to Your Mother.
10 วิธีหลีกเลี่ยงความผิดพลาดด้าน Grammar
1. ทำตามกฏของแกรมม่า เพราะยังไงเสียการเขียนแกรมม่าให้ถูกต้องก็เป็นสิ่งที่จะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้กับงานเขียนของเรา
2. อย่าเปลี่ยน Tense ไปมา ให้เลือกใช้อย่างใดอย่างหนึ่งไปเลย
3. เข้าใจ Possessive Case หรือประโยคแสดงความเป็นเจ้าของ ส่วนใหญ่แล้วนั่นก็คือการเติม ‘s ไปข้างหลังประธาน อาจจะมีเคสเฉพาะเช่น ถ้า Noun เป็น Plural อย่าง Actresses ก็เติมแค่ ‘ เป็น Actresses’ พอ หรือถ้า Noun คือ It ก็ให้เติมแค่ s เป็น Its
4. ใช้ Verb กับ Subject ให้ตรงกัน ถ้า Subject เป็น Singular หรือ Plural ตัว Verb ก็ต้องไปตาม เช่น The list of actors ต้องเป็น is posted ไม่ใช่ are posted อีกจุดนึงที่เป็นความรู้ใหม่สำหรับเราคือ ถ้าประโยคถูกคั่นกลาง ให้ถือว่า Subject เป็น Singular เช่น The dog, as well as its fleas, is in the car. (ไม่ได้ใช้ are in the car) ส่วนอีกอันที่มักจะลืมบ่อย ๆ คือพวก everyone, anyone, each, every, no one ถือว่าเป็น Singular
5. แก้ไข Dangling Modifier ซึ่งเป็นกลุ่มคำที่เข้ามาขยายความประโยค มักพบเจอได้ในประโยคแนว passive เช่น In drawing the picture, his wife was used as a model. ควรเปลี่ยนเป็น In drawing the picture, he used his wife as a model. (มีการเติมประธานเข้าไป ไม่ใช่แค่กลุ่มคำลอย ๆ ที่ไม่รู้ว่าใครเป็นคนทำ)
6. อย่าเปลี่ยน Pronoun เช่น ถ้าใช้ a student ก็ไม่ควรต่อด้วย they แต่ควรเป็น he/she
7. อย่าคั่นกลาง Infinitive (ประโยคกิริยาช่องหนึ่ง) ด้วยการใช้ adverb มาคั่นกลางระหว่าง to กับ verb เช่น “She wanted to quickly run the race.” ควรเปลี่ยนเป็น “She wanted to run the race quickly.” แต่บางทีเราอาจจะต้องคั่นบ้างถ้าประโยคสื่อความหมายได้ดีกว่า เช่น “To go grocery shopping frequently will result in increased spending.” ควรเปลี่ยนเป็น “To frequently go grocery shopping will result in increased spend”
8. ระวังข้อผิดพลาดแกรมม่ายอดฮิต เช่น
- Who/Whom: Who เป็น subject ส่วน Whom เป็น object ที่ต่อท้ายหลัง preposition เช่น with, to, for, about เช่น “Who is going to the prom with you, and with whom did she go last year?”
- หลาย ๆ คนชอบใช้ Like เป็นคำเชื่อม (conjunction) เช่น She walks like she’s got a train to catch. แต่นักวิชาการมองว่าควรใช้แค่เป็นคำบุพบท (preposition) เท่านั้น เช่น It looks like a luxury car.
- Lay/Lie: Lay คือการวางบางอย่างลง ส่วน Lie คือการเอนตัวลง ที่ตลกคือ past tense ของ Lie ดันเป็น Lay ซะงั้น
- Was/Were: ใช้ Was เวลาเราพูดเรื่องจริง หรือเรื่องที่อาจเกิดขึ้นจริงได้ เช่น “If he was afraid, I couldn’t tell” ส่วน Were ใช้เวลาพูดเรื่องที่เป็นไปไม่ได้แน่ ๆ เช่น “If I were a boy”
- That/Which: ใช้ That เวลาเราพูดถึง Restrictive Clause ซึ่งจะจำกัดความหมายของ Noun ในประโยค เช่น “I love the book that Alex gave me.” ตรงนี้จำกัดไว้ว่าต้องเป็นหนังสือที่ Alex ให้ ส่วน Which นั้นใช้เวลาเราพูดถึง Nonrestrictive Clause ซึ่งเป็นเพียงข้อมูลเพิ่มเติมต่อจากประโยคเดิมเฉย ๆ เช่น “I love the book, which Alex gave me.” เป็นประโยคที่สันนิษฐานว่าเรารู้แหละว่าพูดถึงหนังสือเล่มไหนกัน แต่ขอเติมข้อมูลเข้าไปหน่อยว่าจาก Alex นะ การใช้ which กรณีนี้มักจะตามหลัง ,
9. เปิดรับความเปลี่ยนแปลงด้านแกรมม่า เพราะเมื่อเวลาผ่านไป ภาษาก็ดิ้นได้ ตัวอย่างเช่น ปกติแล้ว รูปประโยคที่ไม่บ่งบอกว่า Noun คือเพศอะไร ก็มักจะไปลงเอยด้วยเพศชายตลอด แต่กระแสสตรีนิยมที่เพิ่มมากขึ้นก็ได้ทำให้มีการเปลี่ยนรูปประโยค เช่น A doctor should always clean their stethoscope. ไม่ใช่ his stethoscope ซึ่งผิดแกรมม่าเต็มๆ แต่กลับเริ่มได้รับความนิยมแล้ว ไม่แน่ว่าในอนาคตมันอาจจะกลายเป็นเรื่องธรรมดาก็ได้
10. ไม่ใช่ว่าเขียนแกรมม่าดีแล้วงานเขียนจะดี แกรมม่าที่ดีเป็นเพียงอาวุธเสริมเท่านั้น หากเขียนแกรมม่าเป๊ะแต่อ่านไม่รู้เรื่องก็ไม่มีประโยชน์ บางทีเราอาจเจอว่าผู้เขียนใช้แกรมม่าผิดๆ แต่กลับสื่อสารออกมาได้ชัดเจนกว่า เช่น I ain’t got no money. ซึ่งถ้าหากเราจะเขียนแกรมม่าผิดๆ ก็ต้องถามตัวเองก่อน ว่าแกรมม่าผิดๆ นี่จะสื่อสารออกมาได้ดีกว่ามั้ย และ เราจะได้อะไรเป็นสิ่งตอบแทนจากการที่เราใช้แกรมม่าผิดๆ นี่
6 วิธีหลีกเลี่ยงการใช้เครื่องหมายวรรคตอน (Punctuation) แบบผิด ๆ
1. ใช้อย่างพอเพียง เช่น สำหรับเครื่องหมายตกใจ ไม่จำเป็นต้องใส่ !!! ใส่แค่ ! ก็เพียงพอแล้ว
2. รู้ว่าควรใช้คอมม่า (,) เมื่อไร หลายครั้งเราใช้กันแบบเฝือเกินไป จริง ๆ การจะตัดสินใจว่าควรใส่หรือไม่ใส่ เราทำเพียงแค่อ่านประโยคนั้นออกมาแล้วดูว่าถ้าเราไม่หยุดตรงไหนเลย จะเข้าใจมั้ย ถ้าเข้าใจดีก็ไม่ต้องใส่ แต่ถ้าคิดว่าต้องมีหยุดสักหน่อยเพื่อให้ประโยคเคลียร์ขึ้น ก็ใส่เข้าไป
- ตัวอย่างเช่น She was frightened when he kissed her, and fainted. ทำให้เรารู้ว่าคนที่เป็นลมไปคือผู้หญิง ไม่ใช่ผู้ชาย
- นอกจากนี้ ยังใช้คอมม่าสำหรับประโยคที่มี Nonrestrictive Clauses (พวกข้อมูลเสริมต่าง ๆ) เช่น Some dances, like the limbo, require broomsticks or poles. สังเกตว่าถึงเราจะตัด like the limbo ออกไป ประโยคก็ยังสมบูรณ์
- ใช้คอมม่ากับคำขึ้นต้นอย่าง Yes, No, But เช่น Yes, I did take the money.
- ใช้คอมม่ากับประโยคที่มีการต่อด้วย But เช่น She wanted to play, but she didn’t have time.
- ใช้คอมม่าคั่นระหว่างสมาชิกของกลุ่ม เช่น Jane, Jim, and Johnny went to the zoo.
- ใช้คอมม่าคั่นก่อนเข้า direct quotation เช่น She said, “I am hungry.” แต่ถ้าประโยคยาว ให้เปลี่ยนคอมม่าเป็นโคลอน (:) แทน
- ใช้คอมม่าคั่นหลังข้อมูลจำพวกสถานที่ ตำแหน่ง เช่น Mr. and Ms. Johnson of Portland, Oregon, were at the ball.
- ใช้คอมม่าคั่นส่วนของประโยคที่อาจจะทำให้เข้าใจผิดได้ เช่น “When happy, men and women tend to smile.”
3. รู้ว่าควรใช้เซมิโคลอน (;) เมื่อไร เช่น
- ใช้เพื่อคั่นประโยคที่มีความคล้ายคลึงกัน ที่ไม่ได้เชื่อมต่อด้วยคำเชื่อม เช่น He looked at the clock; she looked at the floor.
- ใช้เพื่อคั่นกลุ่มคำที่มีคอมม่า เช่น They bought soda, potato chips, ice cream, and candy; several games and toys; and three books.
4. รู้ว่าควรใช้โคลอน (:) เมื่อไร เช่น
- ใช้เพื่อนำเสนอลิสต์ เช่น Please bring the following items: cups, sugar packets, and coffeepots.
- ใช้เพื่อเกริ่นก่อนเข้าคำพูดของคน เช่น Bernice speaks of a white cross: “We used to lie in our beds at night and watch this sign on top of the life insurance building…”
- ใช้เพื่อเกริ่นก่อนนำเสนอตัวอย่าง เช่น JoDean wants to become a nun for the wrong reasons. For example: She speaks endlessly about how upset her ex-boyfriend will be when she enters the convent; she speaks endlessly…
5. รู้ว่าควรใช้เครื่องหมายตกใจ และเครื่องหมายคำถามเมื่อไร เครื่องหมายตกใจควรใช้แค่ตอนที่ประโยคนั้นแสดงความรู้สึกที่แรงกล้าออกมา ไม่จำเป็นต้องใส่ทุกประโยค เอาแค่บางคำก็พอ เช่น Honestly! I’m not a moron. ส่วนเครื่องหมายคำถาม ก็ควรต่อท้ายคำถามเท่านั้น ไม่ใช่ต่อท้ายคำถามอ้อม ๆ หรือแสดงความสงสัย เช่น แทนที่จะเป็น “I wonder why she isn’t here?” ก็ควรตัดเครื่องหมายคำถามออกไปเลย
6. เครื่องหมายคำพูด ควรใช้แค่เวลาจะนำเสนอคำพูดที่ออกมาจากผู้พูดโดยตรง ไม่ใช่คำพูดที่เราเอามาดัดแปลงอีกที
- ถ้ามีคำพูดอยู่ข้างในคำพูด ให้ใช้ ‘ ‘ แทน เช่น “She said, ‘I’ll be dead in the morning.'”
- สามารถใช้เครื่องหมายคำพูดเน้นคำหรือกลุ่มคำที่เราอยากจะอธิบายมากขึ้น เช่น What is meant by “nuclear meltdown”?
- สามารถใช้เครื่องหมายคำพูดเพื่อเน้นหัวข้อเฉพาะ เพลง หรือบทกลอนได้ เช่น My favorite Beatles song is “Eleanor Rigby.”
12 วิธีทำให้คนอ่านไม่เกลียดเรา
1. หลีกเลี่ยงการใช้ศัพท์เฉพาะที่รู้กันแค่ในบางวงการ เพราะคนที่ไม่ได้อยู่ในวงการจะงง
2. หลีกเลี่ยงความ Cliche หรือความซ้ำซากจำเจ พยายามหาอะไรแปลกใหม่ให้งานเขียน
3. หลีกเลี่ยงการใช้วงเล็บ ลองหาวิธีเรียงประโยคโดยไม่ต้องใช้วงเล็บดู เพราะยิ่งใช้วงเล็บเยอะ จะยิ่งเหมือนการขัดจังหวะการอ่าน
4. หลีกเลี่ยงการใช้ Footnote หากไม่จำเป็นจริง ๆ เพราะมันขัดจังหวะการอ่าน
5. หลีกเลี่ยงการเก็บซ่อนความลับในประโยคทั่วไป สมมติเราเขียนว่า “เขาขับรถไปโบสถ์” คนอ่านก็จะคาดหวังว่า เขาขับรถไปโบสถ์ตามปกติ ไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่ถ้ายังใช้ประโยค “เขาขับรถไปโบสถ์” ในวันที่เกิดอุบัติเหตุ หรืออะไรที่ทำให้หักมุม แบบนี้คนอ่านไม่โอเคแน่เพราะเหมือนถูกหักหลัง
6. อย่ากระโดดข้ามเนื้อหาไปเฉย ๆ หากผู้อ่านควรรู้ข้อมูลสำคัญก่อนขึ้นเนื้อหาใหม่ ก็ควรอธิบายให้ผู้อ่านรับรู้ก่อน
7. หากเขียนถึงประสบการณ์ที่เราเคยเจอจริง ๆ ก็ขอให้อย่าได้อาย ออกตัวให้ชัดไปเลยว่าเราอยู่ในเหตุการณ์นั้น คนอ่านจะได้อินยิ่งขึ้น
8. อย่าแทรกเข้ามา ในที่นี้หมายถึงการแทรกข้อมูลอะไรสักอย่างที่ผู้อ่านไม่ได้ทราบตั้งแต่แรก เช่น อยู่ดี ๆ ก็เขียนถึงประสบการณ์ตัวเองกับคนดัง ทั้งที่ก่อนหน้านี้เขียนถึงแต่เรื่องคนดัง นอกจากนี้ยังหมายถึงการใช้ศัพท์ยากเกินควร การพิมพ์ผิด การใช้คำซ้ำ ก็ทำให้คนอ่านรู้สึกหมดสนุกได้
9. หลีกเลี่ยงการเล่นคำหากไม่จำเป็น เพราะมีหลายคนที่อาจจะไม่ได้อินกับความตลกหรือความขำขันนี้
10. อย่าเล่นคำแบบ Tom Wolfe นักเขียนที่มักใช้ CAPITAL LETTERS, การวางคำประหลาด ๆ, การใช้ตัวหนังสือเล็กสลับใหญ่ไปมา ในกรณีของทอม เขาทำมันสำเร็จและมันได้ผล มีหลายคนทำตามแต่ก็เป็นได้เพียงการเลียนแบบ ทางที่ดี ให้พยายามเขียนตามหลักทั่วไปดีกว่า
11. อย่าสร้างความลึกลับด้วยการไม่บอกข้อมูลสำคัญแก่ผู้อ่าน ด้วยเห็นแก่ว่าอยากให้ผู้อ่านอ่านถึงตอนจบเพื่อหาคำตอบ ในกรณีของเรียงความ ก็อย่ารอจนบรรทัดสุดท้ายกว่าจะบอกว่าความเห็นของเราคืออะไร
12. อย่าโกงด้วยการเขียนหลอกนักอ่าน อะไรที่เป็นข้อเท็จจริงก็ควรแสดงออกว่าเป็นข้อเท็จจริง อะไรที่เป็นข้อคิดเห็นก็ควรบอกให้ชัดเจน
7 วิธี แก้ไขงานตัวเอง
1. ก่อนจะส่งงาน ให้ลองอ่านงานตัวเองแบบออกเสียง จะทำให้เราได้ยินจริง ๆ ว่าภาษาของเราลื่นไหลมั้ย
2. ตัดคำที่ไม่จำเป็นออกไป ทุก ๆ คำที่เราเขียนควรทำหน้าที่ของมัน อะไรที่ล้น ๆ เกิน ๆ ล้วนแต่จะทำให้คนอ่านอ่านได้ช้าลง
3. กลับมาคิดทบทวนสิ่งที่เขียนไป เพราะตอนเขียนนั้นเราอาจจะกำลังอิน ทำให้ไม่ทันสังเกตว่าสิ่งที่เขียนนั้นแท้จริงดีหรือไม่ดี
4. ถามคำถามเหล่านี้ ก่อนเรียกงานเขียนว่าเป็นชิ้นไฟนอล
- เราเขียนช่วงต้น ๆ เรื่องเคลียร์มั้ยว่าเรื่องเกี่ยวกับอะไร
- แต่ละย่อหน้า ทำให้เนื้อเรื่องก้าวหน้าขึ้นใช่มั้ย
- ไอเดียที่สำคัญ ๆ เด่นชัดดีหรือยัง
- ต้องเพิ่มรายละเอียดหรือตัวอย่างมั้ย
- ข้อมูลต่าง ๆ เคลียร์มั้ย
- ประโยคไหนควรเพิ่มข้อมูลซัพพอร์ตมั้ย
- ต้องมีคำอธิบายศัพท์เฉพาะต่าง ๆ มั้ย
- มีคำซ้ำมั้ย
- โทนของเรื่องต่อเนื่องกันมั้ย
- ประโยคไหนยากต่อการคล้อยตามมั้ย
- มีคำไหนที่ความหมายกว้าง ๆ ไปมั้ย
- แกรมม่าผิดตรงไหนรึเปล่า
- ใส่เครื่องหมายต่าง ๆ ถูกรึเปล่า
5. ทำตามกฏเหล่านี้ สำหรับการเขียนชื่อเรื่อง
- ถ้าเป็นเนื้อหาความยาวระดับหนังสือ ให้เขียนชื่อเรื่องแยกไว้อีกหน้านึงพร้อมชื่อผู้เขียน วางให้อยู่กลางหน้ากระดาษ
- ถ้าเป็นเนื้อหาสั้นลงมา ให้หัวข้ออยู่ตรงกลาง ด้านบนของหน้าแรก
- ทุกคำควรนำหน้าด้วยอักษรใหญ่ ยกเว้น Preposition ที่มีตัวสะกดน้อยกว่า 4 ตัว (เช่น of, to) แต่ถ้านำหน้าประโยค ก็ต้องเป็นตัวใหญ่
- ใช้ตัวเอียงและเครื่องหมายคำพูดสำหรับหัวข้อ หรือชื่อ Title ของสิ่งต่าง ๆ
6. เตรียมต้นฉบับให้สวย
- ถ้าต้องปริ๊นท์ออกมาเป็น Hard Copy ใช้กระดาษขาวคุณภาพดีไซส์ 8.5 x 11 นิ้ว
- ใช้หมึกดำเท่านั้น
- ใช้ขอบกระดาษกว้าง ๆ อย่างน้อย 1 นิ้วทุกด้าน
- ช่องว่างระหว่างย่อหน้าอย่างน้อย 0.5 นิ้ว
- ใช้ Double Space
- ใช้ฟ้อนท์ 12 pt. ที่อ่านง่าย
- ตรวจสอบคำผิด อ่านทวน แก้ไขเพิ่มเติม
7. ใช้ common sense ในการตัดสินงานของตัวเอง เราไม่จำเป็นต้องทำตามทริคทุกข้อ สิ่งสำคัญคือ เราสามารถส่งสารผ่านงานเขียนเราได้ คนอ่านเข้าใจ คนอ่านไม่ง่วง งานเขียนก็เหมือนงานศิลปะ ไม่ได้มีกฏเกณฑ์ตายตัว ถ้าทำตามกฏแล้วมันไม่ดีก็อย่าไปทำ
สรุป
ทั้งหมดทั้งมวลนี้เป็นเคล็ดลับการเขียนงานให้ดีขึ้นที่เราคิดว่าสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ไม่ยาก ในชีวิตประจำวันเราก็ต้องเขียนกันอยู่แล้ว อาจจะไม่ได้เป็นชิ้นงานที่ยาว อาจจะเป็นเพียงอีเมลสั้น ๆ แต่ก็สามารถนำเคล็ดลับเหล่านี้ไปลองเล่นดูได้ หนังสือมีความอ่านง่าย มีตัวอย่างให้เห็นชัดขึ้น สำหรับใครที่สนใจอยากพัฒนาการเขียนของตัวเอง ลองหาหนังสือเล่มนี้มาอ่านดูได้เลย
Leave a Reply