ถ้าใครกำลังมีปัญหาว่า ไอเดียไม่ค่อยแล่น ถึงจะมีไอเดียแต่ก็ไม่ใช่ไอเดียที่เจ๋งที่สุด ไหนจะการนำไป Implement สร้างขึ้นมาจริง ๆ อีก ทำยังไงถึงจะทำได้อย่างรวดเร็วและมีคุณภาพ?
หลายคนน่าจะเคยเผชิญภาวะห้องประชุมที่ทุกคนต่างตะโกนไอเดียออกมา มีโพสต์อิตแปะมากมาย แต่สุดท้ายไอเดียเหล่านั้นแทบใช้การไม่ได้เลย
และหลายคนเองก็น่าจะเคยเจอสภาวะปิ๊งไอเดียในเวลาที่ไม่คาดฝัน เช่น เข้าห้องน้ำ กินข้าว หรือเดินเล่น
อะไรคือปัจจัยที่ทำให้เราคิดไอเดียได้ดี? หลัก ๆ แล้วประกอบไปด้วย 3 ส่วนผสม คือ 1) มีเวลาให้คิดไอเดียคนเดียว แต่ก็มีเดดไลน์มาจ่อด้วยเหมือนกัน 2) การที่แต่ละคนได้โฟกัสงานตัวเอง และ 3) มีเวลาสำหรับการสร้าง Prototype
อาจจะยังไม่เห็นภาพกัน เลยจะมาขอสรุปหนังสือ SPRINT: How to Solve Big Problems and Test New Ideas in Just Five Days ซึ่งเขียนโดย Jake Knapp พร้อมด้วย John Zeratsky และ Braden Kowitz จาก Google Ventures จะมาไขความลับที่จะช่วยให้เราสร้างสิ่งใหม่ ๆ ได้เร็วขึ้นและดีขึ้นกว่าเดิม
สรุปคร่าว ๆ ก่อนว่า SPRINT มีขั้นตอนอะไรบ้าง

Source: SPRINT
วันจันทร์: ร่างปัญหาออกมา แล้วเลือกว่าจุดไหนสำคัญที่สุดที่ควรโฟกัส
วันอังคาร: แต่ละคนแยกกันไปร่างไอเดียแก้ปัญหาของตัวเองเพื่อนำมาแข่งกัน
วันพุธ: ตัดสินว่าจะใช้ไอเดียไหนแก้ปัญหา และเปลี่ยนไอเดียนั้นให้กลายเป็นสมมติฐาน
วันพฤหัสฯ: สร้างตัวอย่าง (Prototype) ที่เหมือนจริงขึ้นมา
วันศุกร์: ทดลองกับผู้คนจริง ๆ
ตัวอย่างจาก Savioke บริษัทสร้างหุ่นยนต์สำหรับให้บริการในโรงแรม
วันจันทร์: ปัญหาคือ “กลัวว่าผู้คนจะรู้สึกอึดอัดกับหุ่นยนต์” โดยสุดท้ายพวกเขาโฟกัสไปที่การส่งสิ่งของ (Delivery) ให้แขกผู้มาเยือน
วันอังคาร: ทุกคนในทีมแยกย้ายกันไปร่างไอเดียแก้ปัญหา
วันพุธ: ทุกคนนำไอเดียมาเสนอกัน ใช้การโหวตและการพูดคุยแบบมีโครงสร้างเพื่อตัดสินว่าจะใช้ไอเดียไหนดี ไอเดียนึงที่นำมาใช้คือการให้หุ่นยนต์ส่งเสียง และสามารถเต้นเมื่อตัวมันดีใจ
วันพฤหัสฯ: สร้างตัวอย่างที่เหมือนจริง โดยไม่ต้องทำให้หุ่นยนต์จัดการตัวเองได้อย่างสมบูรณ์ขนาดนั้น แค่ให้มันทำในภารกิจเดียว (ส่งของ) ให้ได้ก็พอ
วันศุกร์: ทดลองใช้กับแขกโรงแรมจริง ๆ เลย โดยทีมร่วมมือกับทีมรีเสิร์ชจาก Google Ventures ให้มาช่วยสัมภาษณ์แขก เมื่อแขกกดโทรหาฟร้อนท์เพื่อขอแปรงสีฟัน หุ่นยนต์ก็จะถูกส่งมา มันส่งเสียงเล็ก ๆ น้อย ๆ ตามการกดยืนยันรับของของแขก เมื่อแขกให้คะแนนความพึงพอใจสูง หุ่นยนต์ก็จะเต้นอย่างมีความสุข
ผลลัพธ์ก็คือแขกทุกคนรู้สึกตื่นเต้นและมองว่าหุ่นยนต์มันเจ๋งมาก นี่เป็นการทดสอบ Prototype ที่เร็วมาก ๆ เพราะทำภายใน 1 สัปดาห์เท่านั้น ไม่ต้องพูดคุยโต้เถียงกันยาวนาน ปัญหาเริ่มวันจันทร์ โซลูชั่นเสร็จและพร้อมเสนอวันศุกร์
เตรียมพร้อม
ความท้าทาย
ในบทนี้ได้เล่าถึงเคส Blue Bottle Coffee ที่กำลังจะทำหน้าเว็บออนไลน์ พวกเขาอยากให้ประสบการณ์ของลูกค้านั้นราบรื่น และทำให้ลูกค้าประทับใจเหมือนได้มาร้านจริง ๆ
พวกเขาได้ทำ Sprint 5 วัน จบด้วยการทดลอง 3 ไอเดีย ม็อกอัปเว็บไซต์ทั้ง 3 แบบขึ้นมาไว ๆ และลองถามฟีดแบ็กจากลูกค้า
พวกเขาค้นพบว่า ตัวเลือกที่พวกเขาชอบกันนั้น ลูกค้าไม่ได้ชอบเลย แต่กลับชอบอะไรที่พวกเขาคาดไม่ถึง เช่น ชอบอ่านตัวหนังสือในเว็บที่จำลองบทสนทนาระหว่างลูกค้ากับบาริสต้า
ในการทำสปรินท์นั้น ยิ่งปัญหาใหญ่เท่าไรยิ่งดี ไม่มีคำว่าปัญหาใหญ่เกินไป เพราะยิ่งใหญ่ยิ่งสำคัญเท่าไร ทุกคนจะยิ่งโฟกัส สปรินท์จะช่วยให้เราได้ลองเทสต์ไอเดียที่เรากำลังจะทุ่มเทพลังงานให้มัน ว่าคุ้มค่าจริงหรือไม่ ก่อนที่เราจะลงแรงไปกับมันจริง ๆ
นอกจากโปรเจ็กต์ระยะยาวแล้ว สปรินท์ยังช่วยความท้าทายเหล่านี้อีก
การเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่: เจอปัญหาใหญ่ที่วิธีแก้นั้นต้องใช้ทั้งเงินและเวลามาก
เวลาไม่พอ: สปรินท์จะช่วยเร่งการทำงานของทุกคนให้เร็วขึ้น
คิดอะไรไม่ออก: ใช้สปรินท์เป็นตัวช่วยแก้ปัญหา และหาไอเดียใหม่ ๆ ได้
ในภาพรวมแล้ว สปรินท์จะช่วยเราแก้ปัญหาแบบผิว ๆ ก่อน ให้พอจะตอบคำถามที่เราอยากรู้ได้ เมื่อเราได้ทราบคำตอบแล้ว เราก็จะได้สามารถ work out ขั้นตอนต่าง ๆ ย้อนหลังต่อไป
สมาชิกทีม
ยิ่งสมาชิกในทีมสปรินท์มีความหลากหลายเท่าไรก็ยิ่งดีเท่านั้น เพราะจะช่วยให้เกิดไอเดียและมุมมองใหม่ ๆ ไหนจะความรู้เฉพาะด้านอีก
สมาชิกทีมควรมีไม่เกิน 7 คน ถ้ามากกว่านั้นจะเริ่มช้าแล้ว
สมาชิกคนนึงเลยที่ขาดไม่ได้เด็ดขาดคือ “ผู้ตัดสินใจ (Decider)” คือคนที่จะฟันเลยว่าเอาแบบไหนดี ถ้าไม่เอาผู้ตัดสินใจเข้ามา สิ่งที่สปรินท์ทำอาจจะโดนผู้ตัดสินใจตัวจริงพับเก็บไปก็ได้ ควรเรียกผู้ตัดสินใจมาเข้าร่วมตั้งแต่แรกเลย เขาคนนี้อาจจะเป็น CEO, Product Manager, VP, Head of XXX อะไรก็ว่ากันไป
แต่ถ้าผู้ตัดสินใจไม่อยากเข้าร่วมล่ะ? ก็ยังพอมีวิธีโน้มน้าวได้ คือ
1) บอกไปว่าถ้าทำสปรินท์นี้ จะทำให้เห็นผลลัพธ์ได้เร็วขึ้นนะ คนบางคนอาจจะไม่สนใจฟีดแบ็กลูกค้านัก แต่หลาย ๆ คนน่าจะอยากได้ผลลัพธ์ไว ๆ
2) บอกไปว่านี่เป็นการทดลอง วิธีนี้ดีสำหรับใครที่ยังไม่อยากเปลี่ยนวิธีการทำงาน แค่การทดลองครั้งเดียวส่วนใหญ่ยอมกันได้
3) บอกไปว่าแต่ละคนที่ร่วมสปรินท์นี้ต้องยกเลิกประชุมอะไรไปบ้าง เพื่อมาร่วมสปรินท์นี้
4) บอกไปว่าเรามาโฟกัสทำสิ่งที่สำคัญจริง ๆ กันเถอะ แทนที่จะทำสิ่งที่ให้ผลลัพธ์เฉย ๆ ไปเรื่อย ๆ
ในกรณีที่ผู้ตัดสินใจไม่สามารถมาร่วมสปรินท์เต็มได้ อาจจะโผล่มาแค่ช่วงสำคัญ ๆ เช่น ช่วงขุดปัญหาในวันจันทร์ หรือช่วงตัดสินใจในวันพุธ อีกวิธีคือผู้ตัดสินใจอาจจะให้อำนาจใครสักคนไปฟันธงแทนเค้าก็ได้
แต่ถ้าผู้ตัดสินใจไม่คิดจะเข้าร่วมสปรินท์เลย ก็อาจเป็นไปได้ว่าเขาคิดว่าปัญหามันยังไม่สำคัญเท่าไร อันนี้ก็ต้องค่อย ๆ คุยปรับความเข้าใจกัน หรือถ้าคิดจะสปรินท์แบบไม่ถามไถ่ผู้ตัดสินใจ ก็ต้องระวังไว้ เพราะส่วนใหญ่จะมาตกม้าตายตอนท้ายเนื่องจากผู้ตัดสินใจไม่โอเคกับวิธีแก้ปัญหา
นอกจากผู้ตัดสินใจที่ต้องมีในสปรินท์แล้ว อีกตำแหน่งหนึ่งที่สำคัญคือผู้ดำเนินสปรินท์ หรือ Facilitator คือผู้ที่คอยกำกับสปรินท์ให้เป็นไปในทิศทางที่ต้องการ รู้ว่าตอนไหนควรขัดจังหวะ ทำตัวเป็นกลางและไม่เข้าข้างใคร (Facilitator จึงควรเป็นคนละคนกับ Decider) รวมถึงสรุปประเด็นสำคัญ ๆ และ Make Sure ว่าสปรินท์เสร็จได้ทันการ
สมาชิกคนอื่น ๆ ที่สปรินท์ต้องการ ก็เช่น ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน ผู้ดูแลการตลาด ผู้ที่ต้องคุยกับลูกค้า ผู้ที่อยู่ฝั่งเทคฯ หรือขนส่ง และผู้ที่เชี่ยวชาญด้านดีไซน์
นอกจากนี้ยังอาจชวน “ตัวปัญหา (Troublemaker)” มาด้วยก็ได้ ตัวปัญหาไม่ใช่คนงี่เง่า แต่เป็นคนที่มีมุมมองไอเดียที่แตกต่างไปจากคนอื่น ๆ ทั่วไป เราอาจจะรู้สึกอึดอัดที่ต้องทำงานกับเขาที่ไม่เห็นด้วยกับเราในหลาย ๆ อย่าง แต่บางทีนั่นอาจจะเป็นการเปิดรับไอเดียใหม่ ๆ ที่อาจจะเจ๋งก็ได้
เวลาและพื้นที่
โดยปกติแล้ว วันนึงของการทำงานเรามักจะเป็นแบบนี้ เต็มไปด้วยประชุม ๆๆ เช็กอีเมล ๆๆ รู้ตัวอีกทีก็จบวันแล้ว อ้าว ไม่มีงานไหนเป็นชิ้นเป็นอันเลย
แต่สำหรับวันนึงของการสปรินท์นั้นจะต่างออกไป เพราะการจะสปรินท์ให้ได้เป็นเรื่องเป็นราวนั้นต้องใช้ก้อนเวลาขนาดใหญ่แบบที่ไม่มีอะไรมาขัดจังหวะ เพื่อที่จะให้สมองของเรา Flow ไปได้เรื่อย ๆ

Source: SPRINT
สังเกตว่าสปรินท์เริ่ม 10 โมงและเลิก 5 โมง ที่เริ่ม 10 โมงก็เพื่อให้เวลากับทุกคนไปเตรียมตัวให้พร้อมก่อน อาจจะจัดการงานอื่นนอกสปรินท์ก่อนไรงี้ ส่วนที่เลิก 5 โมงก็เพราะทุกคนยังไม่เหนื่อยเกินไป จะได้ยังมีพลังเหลือไว้สำหรับวันต่อ ๆ ไปของสปรินท์
และแน่นอนว่าระหว่างวันจะต้องมีการพักเบรก เพื่อให้สมองได้ผ่อนคลาย พร้อมที่จะไปลุยต่อ
ก่อนที่จะเริ่มสปรินท์ จึงควรบล็อกตารางปฏิทินไว้เลยไม่ให้ใครมายุ่มย่าม ทางทีมผู้เขียนเจอว่าสปรินท์ระยะ 5 วันนั้นได้ผลที่สุด ถ้าน้อยกว่านี้ก็จะสั้นเกินไป กดดันเกินไป ไม่มีเวลาสร้าง Prototype แต่ถ้ายาวเกิน 5 วัน พอเจอวันหยุดเสาร์อาทิตย์เข้าไป ก็เหมือนโดนขัดจังหวะแล้ว คนก็จะเริ่มเนือย ๆ ผลัดวันประกันพรุ่งกัน
ทุกคนในทีมสปรินท์ควรจะต้องอยู่ในห้องเดียวกัน (หรือที่เดียวกัน) ในทุก ๆ วัน ในสปรินท์นั้นทุกคนจะต้องโฟกัส 100% ดังนั้นจึงเป็นการดีที่ควรละเว้นการใช้เครื่องมืออิเล็กโทรนิกส์ต่าง ๆ เช่น แล็ปท็อป มือถือ หรือไอแพด อย่างน้อยก็ในห้องนั้น แต่ถ้าใครต้องการจะใช้จริง ๆ ก็แวบออกไปใช้ข้างนอกได้ เพื่อไม่ให้คนในทีมถูกรบกวน
เอ แล้วถ้าไม่มีคอมฯ ไม่มีมือถือ ไม่มีไอแพด จะจดไอเดียหรือสรุปงานได้ยังไงล่ะ? ถึงเวลาย้อนกลับไปแบบ Old School คือใช้ไวต์บอร์ด (Whiteboard) ยิ่งใหญ่เท่าไรยิ่งดี มีสองอันได้ก็ยิ่งดี จะมีพวกโพสอิท โปสเตอร์ กระดาษต่าง ๆ แปะไว้ทั่วห้องก็ได้ เพราะยิ่งไอเดียต่าง ๆ ถูกมองเห็นได้อย่างง่าย ๆ เท่าไร คนเราก็จะมีความ Creative มากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ยังอาจใช้ Time Timers ในการช่วยบ่งบอกว่าเหลือเวลาเท่าไรอีกด้วย ถ้าใครถือสิ่งนี้ไว้ใสมือก็จะดู Fancy มาก

Source: https://www.nenko.com/time-timer-medium/
จึงเป็นการดีที่ก่อนเริ่มสปรินท์นั้น เราจะไปสรรหาอุปกรณ์ช่วยชีวิตเหล่านี้มาเตรียมไว้ให้พร้อม ดีกว่าขาดแล้วต้องออกไปซื้อกลางคัน เสียเวลาไปอีก
วันจันทร์
ตอนเช้า: เริ่มต้นจากตอนจบ เห็นตรงกันถึงเป้าหมายระยะยาว
ตอนบ่าย: ขอให้ผู้เชี่ยวชาญในบริษัทมาแชร์ว่ารู้อะไรบ้าง
สุดท้าย: เลือกปัญหาที่จัดการได้ภายใน 1 อาทิตย์
เช้าวันจันทร์ #1: เริ่มจากตอนจบ
นึกภาพเลยว่า เราอยากให้ภาพหลังจบโปรเจ็กต์นี้เป็นยังไง? อะไรคือผลลัพธ์ที่เราคาดหวัง? คำถามอะไรที่เราจะได้รับคำตอบ? ในอีก 6 เดือนหรือ 1 ปีข้างหน้านี้ โปรเจ็กต์นี้ได้ช่วยพัฒนาบริษัทให้ดีขึ้นยังไงบ้าง?
เพื่อจะเริ่มบทสนทนานี้ ให้ตั้งก่อนเลยว่า เป้าหมายระยะยาวคืออะไร?
“ทำไมเราถึงทำโปรเจ็กต์นี้? เราต้องการอะไรในอีก 6 เดือน 1 ปี หรือ 5 ปีข้างหน้า?”
ตัวอย่างเช่น Blue Bottle ตั้งเป้าไว้ว่า “ต้องนำกาแฟที่ยอดเยี่ยมไปเสิร์ฟลูกค้าออนไลน์ให้ได้”
ส่วน Savioke ตั้งเป้าไว้ว่า “หุ่นยนต์จะต้องสร้างประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้าที่มาพักในโรงแรม”
เมื่อได้เป้าหมายระยะยาวแล้ว ก็ทำการเขียนไว้ด้านบนสุดของไวต์บอร์ดเลย
มองในภาพดีกันไปแล้ว ต่อไปเราต้องมองโลกแบบแง่ร้ายกันบ้าง ลองตั้งคำถามดูว่า ในหนึ่งปีข้างหน้า เมื่อเรามองย้อนกลับมายังโปรเจ็กต์นี้ที่จบไปแล้ว จบแบบพังพินาศด้วย อะไรคือสาเหตุที่ทำให้มันพัง? เป้าหมายของเรามันไปพลาดตรงไหน?
ตัวอย่างเช่น แม้ Savioke จะตั้งเป้าหมายบนสมมติฐานว่าหุ่นยนต์ของพวกเขาจะต้องสร้างประสบการณ์ดี ๆ ให้ลูกค้า แต่พวกเขาก็นึกถึงเหรียญอีกด้านเช่นกัน ว่าถ้าเกิดหุ่นยนต์ทำให้คนรู้สึกอึดอัดหรือสับสนล่ะ? นั่นจึงเป็นที่มาของคำถามที่ต้องตอบ คือ 1) หุ่นยนต์จะสามารถส่งมอบของได้อย่างราบรื่นหรือไม่? 2) ลูกค้าจะรู้สึกอึดอัดกับหุ่นยนต์หรือไม่? และ 3) ลูกค้าจะกลับมาพักที่โรงแรมเพียงเพื่อจะเจอหุ่นยนต์หรือไม่?
คำถามเหล่านี้จะเหมือน Checklist ที่เราต้องหาคำตอบภายในสปรินท์ให้ได้
โอเค พอได้คำถามแล้ว ก็เขียนลงบนไวต์บอร์ดกระดานที่สอง (ถ้ามี) และนี่ก็คือตัวอย่างการจุดประเด็นสนทนาให้สมาชิกทีมเริ่มคิดเกี่ยวกับสมมติฐานและคำถามกัน
- เราต้องการจะตอบคำถามอะไรในสปรินท์นี้?
- ต้องเกิดอะไรขึ้นบ้าง เป้าหมายระยะยาวของเราจึงจะสำเร็จ?
- ลองจินตนาการว่าในอนาคตโปรเจ็กต์เราพัง อะไรคือสาเหตุ?
จุดสำคัญของแบบฝึกหัดนี้คือการเปลี่ยนสมมติฐานและอุปสรรคให้เป็นคำถามแทน ตัวอย่างเช่น Blue Bottle Coffee สันนิษฐานว่าพวกเขาจะสามารถหาวิธีสื่อสารถึงความเชี่ยวชาญของพวกเขาผ่านเว็บไซต์ได้ แต่ก่อนที่จะเริ่มสปรินท์ พวกเขาก็ไม่แน่ใจว่าควรทำไง สิ่งที่พวกเขาจะใส่ลงใน Q&A ก็จะเป็นแบบนี้
- Q: ต้องเกิดอะไรขึ้นบ้าง ถึงจะสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ได้?
- A: พวกเขาต้องเชื่อมั่นในความเชี่ยวชาญของเรา
- Q: แล้วเราจะเปลี่ยนมันเป็นคำถามได้ยังไง?
- A: ลูกค้าจะเชื่อมั่นในความเชี่ยวชาญของเรารึเปล่า?
เมื่อเราเปลี่ยนปัญหาให้เป็นคำถาม มันก็จะง่ายขึ้นต่อการวัดผลติดตาม และง่ายขึ้นที่จะตอบคำถามเหล่านั้นผ่านการสเก็ตช์ สร้าง Prototype หรือการทดลองกับลูกค้า เปลี่ยนจากความไม่แน่นอน (ซึ่งน่าหวาดหวั่น) ให้กลายเป็นความอยากรู้อยากเห็น (ซึ่งน่าตื่นเต้น)
การเริ่มต้นที่ตอนจบแบบนี้ เป็นเหมือนการหันหน้าเผชิญกับความกลัวตรง ๆ แม้ว่าตอนแรกปัญหาต่าง ๆ จะฟังดูน่าอึดอัด แต่เมื่อเราเริ่มจัดวางลิสต์คำถามที่ต้องตอบให้ชัดเจน เราก็จะรู้แล้วว่าต้องเดินหน้าไปทางไหน
เช้าวันจันทร์ #2: แผนที่
ขั้นต่อมาคือการสร้างแผนที่คร่าว ๆ ที่แสดงให้เห็นถึงการเดินทางของลูกค้า (Customer’s Journey) ซึ่งแผนที่นี้ไม่จำเป็นต้องละเอียดซับซ้อนเลย
หลัก ๆ แล้วแผนที่ควรวางลูกค้าเป็นจุดศูนย์กลาง เล่าเรื่องของลูกค้าตั้งแต่ต้นจนจบเป็นหลัก แต่อาจจะมีตัวละครอื่น ๆ เสริมมาด้วยก็ได้ โดยแผนที่นั้นควรเล่าเพียงขั้นตอนหลัก ๆ ไม่ต้องยิบย่อยเกินไป
ตัวอย่างแผนที่
Flatiron: ต้องการหา Solution ที่จะจับคู่คนไข้มะเร็งกับการทำ Clinical Trials เพื่อช่วยให้คนไข้ได้รับการรักษาที่ทันสมัยที่สุด และได้รับการเก็บข้อมูลอย่างละเอียด
Savioke: ต้องการให้หุ่นยนต์ส่งของให้แขกได้อย่างราบรื่น

Source: SPRINT

Source: SPRINT
และนี่คือลิสต์ขั้นตอนของการสร้างแผนที่
- ลิสต์ตัวละคร: คนเหล่านี้คือบุคคลสำคัญที่ข้องเกี่ยวกับกระบวนการในแผนที่ แน่นอนว่าต้องมีลูกค้า แต่นอกจากนั้นก็อาจจะมีคนอื่น ๆ เช่น ทีมขาย รัฐบาล (หรือแม้กระทั่งหุ่นยนต์)
- เขียนตอนจบทางด้านขวามือ: โดยปกติแล้วเรามักจินตนาการภาพตอนจบได้ง่ายกว่าขั้นตอนที่อยู่ตรงกลาง
- ใช้คำศัพท์สั้น ๆ และลูกศร: ไม่ต้องวาดสวยงามมาก เน้นคำกระชับ และลูกศรหรือกล่องที่พออธิบายเรื่องราวได้
- ทำให้เรียบง่ายเข้าไว้: ควรมีขั้นตอนเพียงแค่ 5-15 ขั้นตอนก็พอ ถ้ามากกว่านั้นอาจจะซับซ้อนเกินไป
- ขอความช่วยเหลือ: ระหว่างวาด ก็ลองถามสมาชิกทีมไปด้วยว่า “แบบนี้ถูกมั้ย”
ดราฟต์แรกของแผนที่น่าจะเสร็จภายใน 30-60 นาที ซึ่งระหว่างวันอาจจะมีการปรับเปลี่ยนแก้ไขได้
บ่ายวันจันทร์ #1: ถามผู้เชี่ยวชาญ
นี่คือขั้นตอนของการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญด้านใดด้านหนึ่ง จะเป็นคนในสปรินท์หรือนอกสปรินท์ก็ได้ ขั้นตอนนี้จะเริ่มในช่วงบ่าย โดยเฉลี่ยแล้วจะกินเวลาประมาณครึ่งชั่วโมงต่อคน ขณะที่สัมภาษณ์ สมาชิกในทีมก็จะจดโน้ตไปด้วย ซึ่งผู้เชี่ยวชาญที่ว่านี้ไม่ใช่แค่ CEO หรือผู้ตัดสินใจนะ แต่จะเป็นใครก็ได้ที่ข้องเกี่ยวกับภาคส่วนต่าง ๆ เช่น ทีมขาย นักพัฒนา นักดีไซน์ ฯลฯ
โดยส่วนใหญ่แล้ว ในสปรินท์ควรจะสัมภาษณ์ผู้ที่เชี่ยวชาญในส่วนต่อไปนี้
กลยุทธ์: เป็นไปได้ว่าอาจจะเป็นผู้ตัดสินใจที่สามารถตอบได้ คำถามที่ควรถามก็เช่น “อะไรคือสิ่งที่จะทำให้โปรเจ็กต์นี้สำเร็จ?” “อะไรคือข้อได้เปรียบหรือโอกาสที่เด่นที่สุดของเรา?” “อะไรคือความเสี่ยงที่น่ากลัวที่สุด?”
เสียงจากลูกค้า: เราต้องการคนที่เล่าในมุมมองของลูกค้าได้ เช่น ทีมขาย ทีมวิจัยลูกค้า ทีม Support
การทำงานของแต่ละอย่าง: ควรมีคนที่สามารถเล่าได้ว่าแต่ละส่วนทำงานยังไง เช่น นักพัฒนา ดีไซเนอร์ นักการตลาด ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง
สิ่งที่เคยทำมา: คนที่เคยพยายามไขปัญหานี้มาก่อนแล้ว เป็นไปได้ว่าอาจจะมีไอเดียอะไรดี ๆ ที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ อาจจะนำมาต่อยอดในสปรินท์ได้
ขั้นตอนการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ
- แนะนำสปรินท์ (สำหรับผู้เชี่ยวชาญที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของสปรินท์)
- ทบทวนไวต์บอร์ด ใช้เวลาประมาณ 2 นาที ทวนดูเป้าหมายระยะยาว คำถาม และแผนที่
- ให้ผู้เชี่ยวชาญเล่าทุกอย่างที่รู้เกี่ยวกับความท้าทายนี้
- สมาชิกสปรินท์ยิงคำถาม เช่น ให้ผู้เชี่ยวชาญเติมในส่วนที่ยังขาดหาย ให้บอกว่าตรงไหนเราเข้าใจผิด มองเห็นโอกาสตรงไหนบ้าง
- แก้ไขไวต์บอร์ด หากมีข้อมูลที่เปลี่ยนแปลงหรือความเข้าใจผิดเกิดขึ้น
จดโน้ตด้วยวิธี How Might We
ถ้าให้จดโน้ตสรุปทั่ว ๆ ไป ก็จะเป็นการยากในการรีวิวทำความเข้าใจทั้งหมด วิธีจดโน้ตแบบ How Might We จะช่วยให้เราเห็นประเด็นที่ต้องโฟกัสได้ชัดมากขึ้น และง่ายต่อการจัดความสำคัญด้วย ไอเดียหลัก ๆ ของมันคือ การลิสต์ปัญหาต่าง ๆ ออกมาเป็นในรูปแบบประโยคที่ว่า “เราจะสามารถ…ได้ยังไง”

Source: SPRINT

Source: SPRINT
ขั้นตอนจะเป็นตามนี้
- เขียน HMW บนมุมซ้ายบนของโพสต์อิต
- รอแป๊บ
- ถ้าได้ยินอะไรน่าสนใจ เปลี่ยนมันเป็นคำถาม
- เขียนคำถามลงในโพสต์อิต
- ดึงโพสต์อิตออกแล้ววางไว้ข้าง ๆ
- เมื่อจบการสัมภาษณ์ทั้งหมด ก็แปะทุกโพสต์อิตบนผนัง
- จับกลุ่มเนื้อหาที่คล้ายคลึงกัน เพื่อให้เห็นธีมที่แยกกันออกไป
- ให้ทุกคนโหวตไอเดียที่ตนชอบด้วยการแปะสติกเกอร์ แต่ละคนจะมีสติกเกอร์โหวต 2 อัน แต่ผู้ตัดสินใจจะพิเศษหน่อยคือมี 4 อัน
- จับไอเดียที่ได้ผลโหวตมากที่สุด ไปแปะบนแผนที่ ณ จุดที่ไอเดียจะช่วยเสริมช่องโหว่ได้

Source: SPRINT

Source: SPRINT
ข้อดีของการใช้ How Might We คือการที่เราเปลี่ยนจากปัญหา มาเป็นโอกาส ตั้งคำถามว่า เราจะทำสิ่งนี้ ๆ ได้ยังไง เป็นการช่วยกระตุ้นให้ทุกคนจินตนาการถึง Solution ซึ่งอาจจะมีหลายอย่าง
บ่ายวันจันทร์ #2: เลือกจุดที่จะโฟกัส
เมื่อได้แผนที่แล้ว สิ่งต่อไปที่ต้องทำก็คือ ผู้ตัดสินจะต้องเลือกว่าจะโฟกัสไปที่ตัวละครไหน และขั้นตอนไหน
หากผู้ตัดสินยังตัดสินใจไม่ขาด สามารถใช้วิธีช่วยคือให้สมาชิกทีมเสนอความคิดเห็นของตัวเองประกอบไปด้วย
เมื่อเลือกจุดที่จะโฟกัสได้แล้ว จุดนั้นก็ควรที่จะไปตอบคำถามใดคำถามหนึ่งของสปรินท์ที่เมื่อเช้าเราได้ตั้งกันไว้ มันเป็นการยากที่จะตอบทุกคำถามในสปรินท์เดียว ดังนั้นแค่คำถามเดียวก็ได้
คำแนะนำพิเศษสำหรับผู้ดำเนินสปรินท์
- ขออนุญาตทุกคนว่าวันนี้เราจะเป็นผู้ดำเนินสปรินท์ให้ราบรื่น ตรงเวลา
- คอยจดสิ่งสำคัญลงบนไวต์บอร์ต
- ถามว่า “ทำไม” ในสิ่งที่หลายคนอาจจะรู้อยู่แล้ว เพื่อให้มั่นใจว่าเข้าใจตรงกัน
- ดูแลสมาชิกให้กระตือรือร้นเสมอ
- พักบ่อย ๆ ประมาณ 10 นาที ในทุก ๆ 60-90 นาที
- กินข้าวเที่ยงตอนบ่ายโมง จะได้หลีกหนีความวุ่นวายตอนเที่ยง และเป็นการแบ่งครึ่งวันพอดี (3 ชั่วโมงเช้า 3 ชั่วโมงเย็น)
- เตรียมขนมขบเคี้ยวที่ดีต่อสุขภาพให้กินเรื่อย ๆ หลีกเลี่ยงอาหารเที่ยงหนัก ๆ เพราะจะทำให้ช่วงบ่ายเนือย
- ตัดสินใจไว ๆ แล้วไปต่อ อย่าโต้เถียงอะไรนานเกินควร เรียกผู้ตัดสินใจให้ช่วยตัดสินใจในแต่ละเรื่อง
วันอังคาร
ตอนเช้า: หาแรงบันดาลใจจากสิ่งที่มีอยู่แล้ว
ตอนบ่าย: ร่างไอเดียแก้ปัญหา
เช้าวันอังคาร: หาแรงบันดาลใจ
การหาแรงบันดาลใจนั้น จะทำกันในเช้าวันอังคารเลยก็ได้ หรือถ้ากลัวไม่ทัน จะให้เป็นการบ้านของวันจันทร์ไปก็ได้เช่นกัน
ไอเดียของขั้นตอนนี้ คือการเปิดรับสิ่งต่าง ๆ ที่มีอยู่รอบตัว ไอเดียผลิตภัณฑ์หรือทางออกดี ๆ ที่มีมาอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว รวมถึงไอเดียที่เคยคิดกันมาแต่ทำไม่เสร็จสักที
ไอเดียที่ว่านี้ ไม่จำเป็นต้องอยู่ในแวดวงของบริษัทเราอย่างเดียว ถ้าให้ดี ลองหาไอเดียจากอุตสาหกรรมอื่น ๆ มาด้วย
ขั้นตอนที่หนังสือแนะนำสำหรับการหาแรงบันดาลใจและเสนอมันออกมา คือ Lightning Demos ซึ่งแต่ละคนจะต้องเสนอไอเดียที่ตัวเองไปหามา ภายในเวลา 3 นาที ว่ามันเจ๋งยังไง ระหว่างที่แต่ละคนนำเสนอ ผู้ดำเนินสปรินท์ก็จะคอยจดสาระสำคัญบนไวต์บอร์ตด้วย

Source: SPRINT
หลังจากนั้น ก็จะถึงเวลาแบ่งหน้าที่กันว่าใครจะไปโฟกัสการแก้ปัญหาตรงจุดไหนบ้าง ถ้ามีแค่ปัญหาเดียวโดด ๆ ทุกคนอาจจะรุมกันไปที่จุดนั้นเลยก็ได้ แต่ถ้าปัญหามีหลายส่วนที่ต้องทำ เช่น หน้าเว็บไซต์มีทั้งหน้าหลัก หน้าซื้อของ หน้าเมนู ฯลฯ ก็อาจจะต้องแบ่งหน้าที่กันไป
บ่ายวันอังคาร: ร่างไอเดียแก้ปัญหา
ขั้นตอนนี้แต่ละคนจะร่างไอเดียแก้ปัญหาของตัวเอง ถ้าใครกลัวเพราะว่าตัวเองวาดรูปไม่เก่ง ไม่สวย ก็ไม่ต้องกังวลเพราะขั้นตอนนี้ไม่ได้เน้นความสวย แต่เน้นความ functional คืออ่านรู้เรื่อง เข้าใจง่ายเป็นพอ
การที่ต้องวาดร่างไอเดียออกมาเนี่ยก็เพื่อให้ไอเดียที่มันลอย ๆ ฟุ้ง ๆ จับต้องไม่ได้อยู่ในหัว กลายเป็นไอเดียที่ทุกคนเห็นภาพตาม สามารถตัดสินและให้ความเห็นได้อย่างง่าย ๆ
ที่สำคัญคือขั้นตอนนี้ ต้อง “ต่าง-คน-ต่าง-ทำ” งานวิจัยและประสบการณ์จากผู้เขียนเจอว่า จำนวนไอเดียที่ได้จากการนั่งคิดคนเดียวเงียบ ๆ นั้นจะมีเยอะกว่าการตะโกน Brainstorm ออกมา เพราะการนั่งคิดคนเดียวจะช่วยให้เรามีเวลารวบรวมไอเดีย รีเสิร์ชข้อมูล ฟุ้ง ๆ ไปได้ดีกว่า
ขั้นตอนการวาดแบบร่าง
- จดโน้ต 20 นาที: จดข้อมูลสำคัญ ๆ ออกมา เช่น เป้าหมายระยะยาว คำถาม HMW หรือประเด็นจาก Lightning Demo ฯลฯ จุดนี้เป็นเหมือนขั้นตอนทบทวนประเด็นสำคัญ ๆ ของสปรินท์นี้
- โยนไอเดีย 20 นาที: ร่างไอเดียลงบนกระดาษ หลาย ๆ ไอเดียก็ได้ ฟุ้ง ๆ ไปเลย
- ต่อยอดไอเดีย 8 นาที: ขั้นตอนนี้เรียกว่า Crazy 8s ซึ่งไอ้คำว่า Crazy นี่ไม่ได้หมายถึงให้คิดไอเดียบ้า ๆ นะ หมายถึงระยะเวลาที่สั้นมาก ๆ (8 นาที) ซึ่งเราจะต้องหยิบไอเดียที่เราชอบที่สุดจากขั้นตอน 2 มาสเก็ตช์ต่อยอด 8 รูปแบบ เป็นขั้นตอนที่ Push ให้เรากล้าคิดต่างออกไป คิดนอกกรอบ
- วาดแบบร่างเต็ม 30 นาที: ขั้นตอนนี้ต้องใช้รายละเอียดมากน้อย มันคือการเลือก Solution อย่างเดียวมาขยายความให้ทุกคนเห็น กระดาษแผ่นนี้แหละที่จะโชว์หราต่อหน้าทุกคน ดังนั้นต้องวาดแบบร่างออกมาให้ละเอียดที่สุด เข้าใจง่ายที่สุด

Source: SPRINT

Source: SPRINT

Source: SPRINT
สิ่งจำเป็นสำหรับแบบร่างสุดท้าย
- วาดออกมาให้เข้าใจง่ายที่สุด แบบที่ไม่ต้องใช้ effort เยอะมากในการตีความ
- อย่าใส่ชื่อลงไป จะได้ง่ายต่อการวิจารณ์และตัดสิน
- ไม่ต้องวาดสวยก็ได้
- ใช้การเขียนเข้าช่วยในส่วนที่ต้องมีตัวหนังสือ อย่าเขียนแค่ xxxx หรือ “ตรงนี้มีตัวหนังสือ”
- ใส่ชื่อให้ไอเดียของตัวเอง เอาแบบเตะตา ๆ ทุกคนจะได้หันมามอง
สิ่งที่ต้องทำนอกเหนือจากขั้นตอนสปรินท์: หาลูกค้าสำหรับวันศุกร์
ขั้นตอนนี้ไม่ได้อยู่ในสปรินท์หลัก แต่สำคัญไม่แพ้กัน ลองคิดดูว่าทีมพยายามทำ Solution มาแทบตายแต่ไม่มีลูกค้ามาให้ Test งี้ พังยับเยินเลย ดังนั้นขั้นตอนนี้ควรทำควบคู่ไปกับสปรินท์หลัก โดยจะต้องมีคนเสียสละทำหน้าที่นี้ เป็นคนที่ไม่ใช่ผู้ดำเนินสปรินท์ เพราะผู้ดำเนินสปรินท์นั้นเหนื่อยมากพอแล้ว
สิ่งที่ต้องคำนึงถึงเวลาหาลูกค้ามาเข้าการทดลอง
- อย่าให้เค้ารู้ว่าเราทดลองเรื่องอะไร หรือว่าเรากำลังต้องการหาลูกค้าประเภทไหน เพราะอาจจะเผลอดึงดูด Imposter ที่อยากได้ค่าตอบแทนได้
- ร่างคำถาม Survey สกรีนลูกค้า อย่าถามอะไรที่เป็นคำตอบอยู่ในตัว เช่น ถ้าอยากหาคนชอบอ่านบล็อกอาหาร อย่าถามว่า “คุณอ่านบล็อกอาการกี่ครั้งต่อสัปดาห์” ให้ถามเป็น “คุณอ่านบล็อกใดต่อไปนี้ 1. รถยนต์ 2. อาหาร 3. กีฬา ฯลฯ”
- ถ้าต้องการคนวงใน หรือคนที่มีความเชี่ยวชาญ ก็อาจจะไม่ต้องใช้วิธีหว่าน Survey แต่ลองใช้ Connection ในแวดวงก็ได้
วันพุธ
ตอนเช้า: วิจารณ์แต่ละไอเดียที่มี และตัดสินว่าอันไหนตอบโจทย์เป้าหมายที่สุด
ตอนบ่าย: สร้าง Storyboard จากส่วนที่ชอบที่สุด เพื่อเป็นแบบแผน Step-by-Step ในการสร้าง Prototype
เช้าวันพุธ: ตัดสินใจ
วิธีการตัดสินใจของสปรินท์ จะไม่ใช่การดีเบตแบบวนในอ่าง แต่จะเป็นการนำแต่ละ Solution ขึ้นมาวิจารณ์ให้เสร็จเรียบร้อย แล้วค่อยตัดสินใจ จบ

Source: SPRINT
วิธีการตัดสินใจแบบ The Sticky Decision
1.แปะทุกแบบร่างที่ทำการในบ่ายวันอังคารบนผนัง ราวกับโชว์งานนิทรรศการ

Source: SPRINT
2. สมาชิกทุกคนแปะสติกเกอร์ในส่วนของแบบร่างที่ชอบ สติกเกอร์มีได้ไม่จำกัด ฉะนั้นแปะได้เต็มที่ ถ้ามีตรงไหนสงสัยก็แปะโพสต์อิตไว้ใต้แบบร่างนั้น ๆ

Source: SPRINT
3. วิจารณ์ไอเดียแต่ละอัน อันละประมาณ 3 นาที โดยมีผู้ดำเนินสปรินท์เป็นคนคอยชี้ส่วนที่น่าสนใจ มีผู้คอยจดส่วนน่าสนใจลงบนโพสต์อิตแล้วแปะไว้ข้างบนแบบร่าง มีสมาชิกในทีมแต่ละคนถามคำถามและวิจารณ์ จนในที่สุดตอนท้ายเจ้าของไอเดียค่อยแสดงตัวเพื่อบอกว่ามีส่วนไหนที่ทุกคนไม่ทันสังเกต

Source: SPRINT

Source: SPRINT
4. สมาชิกแต่ละคนแปะสติกเกอร์ 1 อัน บนส่วนของไอเดียที่ชอบที่สุด (Straw Poll Votes)

Source: SPRINT
5. ให้ผู้ตัดสินใจแปะสติกเกอร์โหวต แต่ละคนจะมี 3 สติกเกอร์ (Supervotes)

Source: SPRINT

Source: SPRINT
ขอเน้นย้ำว่า ในส่วนสุดท้ายนั้นผู้ตัดสินใจควรเป็นผู้ตัดสินใจจริง ๆ ไม่ใช่อะลุ่มอล่วยบอกให้ทีมเป็นคนตัดสินใจ เพราะเคยมีเคสที่ทำแบบนี้แล้วสุดท้ายผู้ตัดสินใจก็เปลี่ยนแผนทีหลัง ไม่เอาไอเดียที่ทุกคนทำสำเร็จจากในสปรินท์ กลายเป็นเสียเวลาสปรินท์ไปซะอย่างนั้น
เมื่อผู้ตัดสินใจโหวตเรียบร้อยแล้ว ไอเดียส่วนไหนที่มีสติกเกอร์ผู้ตัดสินใจแปะไว้ จะเป็นไอเดียที่ถูกนำไปต่อยอดใน Prototype ส่วนไอเดียอื่น ๆ ก็เก็บเข้ากรุไปก่อน
แล้วถ้าเกิดดันมีไอเดียที่ชนะมากกว่า 1 อันล่ะ?
เป็นไปได้ว่าพอผู้ตัดสินใจโหวตแล้ว ดันเจอว่ามีไอเดียที่คะแนนเท่ากันมากกว่าหนึ่ง ทีนี้จะทำไงดี? มีสองทางให้เลือก
- ถ้าไอเดียทุกอย่างเข้ากันได้ดี สามารถประกอบเป็นหนึ่ง Prototype ได้ ก็รวมมันไปเลย
- แต่ถ้าไอเดียดันขัดแย้งกัน ไม่สามารถประกอบเป็นหนึ่ง Prototype ได้ ก็ง่ายมาก… ทำมันทั้งหมดเลย แล้วให้มันประชันกันเอง
ในกรณีหลัง ตอนที่ทำเทสต์วันศุกร์ อาจจะต้องมีการสร้างแบรนด์เก๊ขึ้นมาเพื่อไม่ให้ลูกค้างงว่าเอ๊าทำไมแบรนด์เดียวกันแต่ทำสองวิธี
การสร้างแบรนด์เก๊ขึ้นมานั้นเป็นเรื่องสนุกแหละ แต่ก็อาจจะกินเวลา หนังสือเลยแนะนำให้ใช้วิธี Note-and-Vote ซึ่งช่วยให้ตัดสินใจได้เร็วภายใน 10 นาที จะเอาไปตัดสินใจว่ากินข้าวเที่ยงที่ไหนด้วยก็ไม่ว่ากัน
- แต่ละคนถือกระดาษกับปากกา
- ทุกคนเขียนไอเดียตัวเอง ใช้เวลา 3 นาที
- 2 นาทีต่อมา ให้คัดเลือกไอเดียเหลือแค่ 2-3 ไอเดีย
- แต่ละคนเขียนไอเดียที่คัดมาแล้วบนไวต์บอร์ด
- ทุกคนใช้เวลา 2 นาทีดูตัวเลือกและตัดสินใจว่าชอบไอเดียไหนสุด
- แต่ละคนโหวตตัวเลือกที่ชอบ แปะสติกเกอร์จุดตามตัวเลือกที่โหวต
- ผู้ตัดสินใจเป็นคนฟันว่าจะเอาไอเดียไหน จะไม่อิงตามกระแสคนในกลุ่มก็ได้
บ่ายวันพุธ: สร้างสตอรี่บอร์ด (Storyboard)
ก่อนที่เราจะไปสร้าง Prototype กันนั้น เพื่อไม่ให้ตัวเราเหนื่อยยากจนเกินไป ควรมี Storyboard กันก่อน
Storyboard ให้เปรียบง่าย ๆ ก็เหมือนการ์ตูนช่อง เราจะต้องทำการวาดสเต็ปของการทดลอง Prototype ตั้งแต่ต้นจนจบ ตั้งแต่จุดที่ลูกค้าเจอเรา
เราเริ่มต้นการสร้าง Storyboard ด้วยการแต่งตั้งให้คนคนหนึ่งเป็น “คนวาด” ซึ่งจริง ๆ ไม่ต้องวาดสวยก็ได้ แค่เป็นคนที่พร้อมจะวาด Storyboard ลงบนกระดาน
ขั้นตอนการสร้าง Storyboard
- วาดช่องสี่เหลี่ยมหลาย ๆ ช่อง ประมาณ 15 ช่อง
- ในช่องแรก เลือกว่าจะใช้ฉากไหนเป็นฉากเปิด ฉากนี้จะเป็นจุดแรกที่ลูกค้าจะมีโอกาสลองใช้ Prototype ของเรา เช่น ลูกค้าอ่านบทความบนเว็บแล้วเจอเรา ลูกค้าเดินผ่าน Shelf สินค้าแล้วเจอเรา ลูกค้าเห็นอีเมลที่เราส่งไป เป็นต้น
- วาด Storyboard ที่เหลือ โดยพยายามนำไอเดียที่มีอยู่แล้วมาประกอบในเรื่องราว อย่าคิดไอเดียใหม่ใส่เข้าไป

Source: SPRINT
จุดสำคัญที่ควรทำ เพื่อให้มั่นใจว่า Storyboard จะเสร็จภายใน 5 โมง
- ใช้ไอเดียจากสิ่งที่มีอยู่แล้ว อย่าคิดขึ้นมาใหม่
- ทุกคนไม่ต้องเข้ามาช่วยรุมเขียน
- ใส่รายละเอียดแค่พอดี ให้คนอ่านไม่งง
- ให้ผู้ตัดสินเป็นคนฟันในจุดที่ต้องมีการตัดสินใจ
- ลองกล้าเสี่ยงหน่อยถ้าเป็นไอเดียที่อาจส่งผลดีเยอะ ๆ เพราะสปรินท์นี่แหละคือที่ที่มีไว้เพื่อเสี่ยง
- พยายามให้ Prototype สามารถทดสอบเสร็จได้ภายใน 15 นาที
วิธีคุมไม่ให้แบตฯ เสื่อมระหว่างวัน
ยิ่งตัดสินใจเยอะเท่าไร เราก็อาจจะยิ่งรู้สึกล้าเท่านั้น งานของผู้ดำเนินสปรินท์คือ อย่าให้ทุกคนม่องเท่งก่อน 5 โมง ต้องพยายามทำให้ทุกอย่างเคลื่อนไปโดยเร็วที่สุด อะไรที่ยืดเยื้อก็โยนให้ผู้ตัดสินเป็นคนตัดสินใจ อะไรที่เป็นรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็โยนไปทำวันพฤหัสฯ แทน อะไรที่เป็นไอเดียใหม่ ๆ ระหว่างทางก็เก็บเข้ากรุไปก่อน ให้ใช้ไอเดียที่วาดแบบร่างมาเรียบร้อยแล้ว ไม่งั้นมันจะกินเวลาและพลังสมองเกินไป
วันพฤหัสฯ
เช้าและบ่าย: สร้าง Prototype ด้วยแนวคิดแบบ Fake It
วันพฤหัสฯ: แนวคิดแบบ “เนียนไปก่อน” (Fake It)
ลองนึกภาพหนังเรื่องนึงมีฉากสวยมาก หลายครั้งที่เรามารู้ทีหลังว่าฉากเหล่านั้นคือเซ็ตขึ้นมาในสตูดิโอ เผลอ ๆ เป็นแค่ฉากหน้าเท่านั้น
นี่แหละคือสิ่งที่เราจะทำกันใน Prototype เวอร์ชั่นทดสอบ คือเราไม่ต้องทำจริงทั้งหมด แค่ต้องทำ “ฉากหน้าเสมือนจริง” มากพอที่ลูกค้าจะเชื่อว่ามันเป็นของจริง
นั่นเพราะการสร้างของจริงที่เพอร์เฟ็กต์ 100% อาจจะใช้เวลานานมากกกก กว่าจะได้นำไปทดสอบ ซ้ำร้ายหากผลลัพธ์ออกมาไม่ดีดังคาด ก็เสียเวลาเปล่าอีก เพราะฉะนั้นในการทดสอบ เราจะใช้แค่เวอร์ชั่น Mock-Up เสมือนจริง ที่สามารถสร้างเสร็จได้ภายใน 1 วัน

Source: SPRINT
อีกเหตุผลหนึ่งที่เราต้องรีบตัดจบให้ไว ทำเสร็จให้ไว เทสต์ให้ไว นั่นเพราะยิ่งเวลาผ่านไปเท่าไร เราจะยิ่งผูกพันกับผลงานเรามากเท่านั้น (แม้ว่าสุดท้ายมันอาจจะห่วยก็ตาม) ช่วงแรก ๆ เราจะยังเปิดรับความคิดเห็น ยอมปรับแก้ตามที่ลูกค้าเสนอ แต่ยิ่งนานวันเข้า เราจะยิ่งยึดติดกับผลงานตัวเอง และจะไม่อยากปรับแก้ตามที่คนอื่นเรียกร้องเท่าไร
Prototype Mindset : ต้องคิดแบบไหนเพื่อสร้าง Prototype?
- เราจะสร้าง Prototype อะไรก็ได้ทั้งนั้น ทุกอย่างเป็นไปได้ ไม่ว่าจะซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ สินค้าบริการ เอกสาร สถานที่ ฯลฯ
- เราต้องสามารถโยน Prototype ทิ้งได้ เพราะไม่แน่ว่าผลงานเราอาจจะไม่เวิร์กก็ได้
- Prototype มีมากพอให้เราเรียนรู้ แต่อย่ามากไป ให้โฟกัสที่การตอบโจทย์ของเราเน้น ๆ ไม่ต้องทำแบบ Fully-Functioned
- Prototype ควรดูเหมือนจริง ให้ลูกค้าเห็นแล้วเชื่อจริง ๆ แสดงปฏิกิริยากับมันจริง ๆ
ข้อ 4 นี่สำคัญ เพราะเราต้องการความ “เรียล” จากรีแอ็กชั่นของลูกค้า เราอยากที่จะเห็นความรู้สึกและปฏิกิริยาจริง ๆ เราจะได้สิ่งนี้ก็ต่อเมื่อสามารถทำให้ลูกค้าเชื่อได้ว่านี่คือของจริง
เพราะถ้าลูกค้ารู้ว่านี่เป็นแค่ Prototype มุมมองจะเปลี่ยนละ แทนที่จะรีแอ็ก พวกเขาจะใช้วิธีฟีดแบ็กแทน ซึ่งมันทำให้เราไม่เห็นจริง ๆ ว่าถ้าเป็นลูกค้าเจอแบบนี้ พวกเขาจะรู้สึกยังไง
โดยสรุปแล้ว เราต้องหาจุดสมดุล หรือที่ในหนังสือเรียก Goldilocks Quality คือไม่มากไป ไม่น้อยไป กำลังดี ถ้าน้อยไปก็จะดูไม่จริง ถ้ามากไปก็จะเสียเวลา

Source: SPRINT
วันพฤหัสฯ: สร้าง Prototype
เนื่องจากว่าแต่ละบริษัทไม่เหมือนกัน สินค้าบริการที่ขายก็ไม่เหมือนกัน ดังน้ันคงไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว แต่จากประสบการณ์ ทางผู้เขียนก็ได้แชร์ 4 แนวทางการสร้าง Prototype มาฝากกัน
1.เลือกเครื่องมือให้ถูก
ความจริงก็คือเราอาจจะไม่ต้องใช้โปรแกรมหรือเครื่องมืออะไรที่เอาไว้ทำ Product จริง ๆ เลยก็ได้ เพราะมันจะช้าและซับซ้อนไป ทางผู้เขียนแนะนำว่าการใช้ Keynote เป็นอะไรที่นิยมมาก ๆ เพราะทำได้เร็วและสามารถออกมาหน้าตาเหมือนแอปฯ จริง ๆ แต่ถ้าให้แยกต่างประเภท Prototype เครื่องมือก็จะเป็นแบบนี้
กลุ่มที่อยู่บนหน้าจอ (เว็บ แอปฯ ซอฟต์แวร์ ฯลฯ) – ใช้ Keynote, PowerPoint หรือพวกเครื่องมือสร้างเว็บอย่าง Squarespace
กลุ่มที่อยู่บนกระดาษ (รายงาน ใบปลิว แผ่นพับ ฯลฯ) – ใช้ Keynote, PowerPoint หรืออะไรแบบ Microsoft Word
กลุ่มที่เป็นการบริการ (ดูแลลูกค้า ดูแลผู้ป่วย ฯลฯ) – เขียนสคริปต์และให้สมาชิกสปรินท์เป็นนักแสดง
กลุ่มที่ต้องใช้สถานที่จริง (ร้านค้า ออฟฟิศ ล็อบบี้ ฯลฯ) – ดัดแปลงพื้นที่ที่มีอยู่แล้ว
กลุ่มที่เป็นสิ่งของ (สินค้าจริง ๆ เครื่องจักร ฯลฯ) – ดัดแปลงสิ่งที่มีอยู่แล้ว, ใช้ 3D Printing, ใช้ Keynote/PowerPoint สร้าง Marketing Materials เช่น แผ่นพับ รูปภาพ Render
2. แจกจ่ายหน้าที่
นอกจากผู้ตัดสินใจและผู้ดำเนินสปรินท์แล้ว ในเฟส Prototype จะมีการแบ่งหน้าที่ออกตามนี้
คนทำ (Makers) – อย่างน้อย 2 คนขึ้นไป แก๊งนี้จะเป็นคนสร้าง Prototype ขึ้นมากับมือ
คนประกอบร่าง (Sticher) – 1 คน รับผิดชอบการทำให้ Prototype เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ไม่หลุดธีม
คนเขียน (Writer) – 1 คน รับผิดชอบการใช้ Wording ต่าง ๆ ใน Prototype
คนหาของ (Asset Collector) – 1 คน คอยหา Materials ต่าง ๆ ที่ต้องใช้เพื่อสร้าง Prototype เช่น รูปภาพ วิดีโอ
คนสัมภาษณ์ (Interviewer) – 1 คน เป็นคนสัมภาษณ์ลูกค้าในวันศุกร์ จะเป็นการดีกว่าที่คนคนนี้จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับ Prototype มากนัก เพราะเดี๋ยวจะผูกพันกับมันเกินไป อาจจะลำเอียงได้
เมื่อแจกจ่ายหน้าที่แล้ว ต่อมาก็ต้องแบ่งพาร์ตสตอรี่บอร์ดกัน ดูว่าแต่ละส่วนต้องการรายละเอียดแบบไหนบ้าง ก็แบ่งกันไปทำ
3. มัดรวมเข้าด้วยกัน
หน้าที่นี้คนประกอบร่างจะมามีส่วนอย่างมาก เขาเป็นคนที่จะเมกชัวร์ว่าทุก ๆ อย่างนั้นไม่มีอะไรหลุด ข้อมูลไม่มีตรงไหนพลาด ฟ้อนท์และสีต้องเหมือนกัน ต้องทำให้เหมือน Product จริงมากที่สุด
4. ลองซ้อม
ส่วนใหญ่มักจะเริ่มกันตอนบ่าย 3 เพราะจะได้มีเวลาปรับแก้จุดผิดพลาด ขั้นตอนนี้คนประกอบร่างจะเป็นผู้เล่าภาพรวมทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนจบ ซึ่งระหว่างนี้ก็ควรตรวจสอบกับสตอรี่บอร์ดและคำถามของสปรินท์ด้วยว่า มันยังไปในทิศทางเดียวกันอยู่มั้ย
อีกอย่างที่สำคัญคือ คนสัมภาษณ์และผู้ตัดสินใจก็ควรอยู่ในขั้นตอนนี้ด้วย เพราะคนสัมภาษณ์ควรรู้กระบวนการของ Prototype ก่อนไปสัมภาษณ์ลูกค้า ส่วนผู้ตัดสินใจก็จะได้ช่วยดูว่ามันตรงตามที่คาดหวังไว้มั้ย
วันศุกร์
เช้าและบ่าย: สัมภาษณ์ลูกค้า ดูว่าพวกเขาแสดงปฏิกิริยากับ Prototype ยังไง
วันศุกร์: สัมภาษณ์คนน้อย ๆ
การสัมภาษณ์ลูกค้านั้น ทางหนังสือแนะนำว่าให้เลือกมา 5 คน
แวบแรกอาจจะรู้สึกว่า เฮ้ย จำนวนมันน้อยไปมั้ย ในวิชาสถิติก็บอกไว้ว่าจำนวน sample size ที่น้อยไปนั่นอาจจะทำให้ข้อมูลที่ได้มาไม่น่าเชื่อถือ
แต่สำหรับการสัมภาษณ์ครั้งนี้มีมุมที่ต่างออกไป นั่นเพราะ 5 คนนี้เราได้ทำการคัดเลือกเน้น ๆ มาแล้วว่าตรงตามโปรไฟล์ของลูกค้าจริง ๆ
นอกจากนี้ ยังเคยมีงานวิจัยบอกว่า การสัมภาษณ์คนมากกว่า 5 คนขึ้นไป ก็แทบจะไม่ได้รู้อะไรใหม่ ๆ เพิ่มเท่าไร เสียแรงเปล่า สิ่งนี้ตรงกับประสบการณ์สปรินท์ของผู้เขียน พวกเขาสังเกตเห็นว่าเพียงได้รู้ปฏิกิริยาที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันของ 3 ใน 5 หรือ 2 ใน 5 แค่นี้ก็เพียงพอที่จะคอนเฟิร์มได้แล้วว่าลูกค้ารู้สึกยังไง
การสัมภาษณ์นั้นมีข้อดีตรงที่เราจะได้รู้เหตุผลว่าทำไมบางอย่างเวิร์ก บางอย่างไม่เวิร์ก ถ้าเรามีแค่สถิติอย่างเดียวเราจะไม่รู้เลย แต่ถ้าเราได้ทำการสัมภาษณ์ ถ้าเราอยากรู้เหตุผลเราก็แค่ถามลูกค้าออกไป
วันศุกร์: ขั้นตอนการสัมภาษณ์
ในวันศุกร์นั้น การสัมภาษณ์จะแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกคือห้องที่มีลูกค้ากับผู้สัมภาษณ์ กลุ่มที่สองคือสมาชิกสปรินท์ที่เหลือที่จะคอยมอนิเตอร์เรื่องราวในห้องแรก
5 ขั้นตอนการสัมภาษณ์
1.แสดงท่าทางต้อนรับ
เราจะต้องทำให้ลูกค้ารู้สึกผ่อนคลาย และสบายใจที่จะพูดความจริง ตอนเริ่มต้นผู้สัมภาษณ์อาจจะชวนคุยเล็ก ๆ น้อย ๆ ถามไถ่พอเป็นพิธี ที่สำคัญคือต้องยิ้มเยอะ ๆ ด้วย
เมื่อลูกค้านั่งที่เรียบร้อยแล้ว ผู้สัมภาษณ์อาจจะกล่าวอะไรประมาณนี้
“ขอบคุณที่มาวันนี้นะครับ/ค่ะ ตอนนี้เรากำลังพยายามพัฒนาผลิตภัณฑ์ของเราอย่างเต็มที่ และข้อคิดเห็นของคุณจะมีประโยชน์มาก ๆ”
“การสัมภาษณ์วันนี้จะไปแบบสบาย ๆ นะครับ/ค่ะ ผม/ดิฉันจะถามคำถามเยอะหน่อย แต่ไม่ได้เพื่อทดสอบคุณนะครับ/ค่ะ จริง ๆ คือผม/ดิฉันกำลังจะทดสอบผลิตภัณฑ์นี้ ถ้าคุณติดขัดตรงไหนมันไม่ใช่ความผิดของคุณ จริง ๆ แล้วมันจะช่วยให้เราค้นพบว่าอะไรยังเป็นปัญหาที่เราต้องแก้”
“ผม/ดิฉันจะเริ่มถามคำถามทั่วไปก่อน แล้วเดี๋ยวจะโชว์สิ่งที่เรากำลังสร้างให้คุณดู คุณมีคำถามอะไรอยากถามก่อนเริ่มต้นไหมครับ/ค่ะ”
นอกจากนี้ผู้สัมภาษณ์ควรถามด้วยว่าลูกค้าโอเคมั้ยที่จะให้เราอัดหรือถ่ายวิดีโอ และควรให้ลูกค้าเซ็นต์ยินยอมเรื่องการเปิดเผยข้อมูลด้วย
2. ถามคำถามทั่วไป
ก่อนจะดี๊ด๊าแสดง Prototype ให้ลูกค้าดู ก็ควรถามคำถามเบสิก ๆ เพื่อปูพื้นฐานก่อน เราจะได้รู้ว่าลูกค้ามีไลฟ์สไตล์แบบไหน ชอบ/ไม่ชอบอะไร ตัวอย่างของการสัมภาษณ์จาก FitStar บริษัทที่ทำแพลตฟอร์มเกี่ยวกับการออกกำลัง มีซีรีส์คำถามเริ่มต้นดังนี้
“คุณทำงานอะไร”
“คุณทำงานมานานแค่ไหนแล้ว”
“คุณทำอะไรในเวลาว่าง”
“คุณดูแลตัวเองยังไง? เพื่อให้รูปร่างยังดี เพื่อให้ยัง Active”
“คุณเคยใช้แอปฯ หรือเว็บไซต์ไหนเพื่อช่วยเรื่องสุขภาพบ้าง ถ้าเคย เคยใช้อันไหน”
“คุณอยากให้พวกเขามีฟังก์ชั่นอะไร อะไรที่คุณชอบหรือไม่ชอบเกี่ยวกับพวกเขาบ้าง คุณได้จ่ายเงินไหม ทำไม”
3. แนะนำ Prototype
เริ่มต้นด้วยประโยคว่า “คุณสนใจดู Prototype ของเราไหม” เพราะการขออนุญาตทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าเขากำลังจะทำบางอย่างให้เรา
แล้วก็ควรพูดด้วยว่ “บางอย่างอาจจะไม่เวิร์ก 100% ถ้าคุณเผลอไปเจออะไรที่ยังไม่เวิร์ก เดี๋ยวผม/ดิฉันจะแจ้งให้ทราบ”
ซึ่งถ้าเราสร้าง Prototype ที่เนียนกริบ ลูกค้าก็คงเล่นได้เรื่อย ๆ ไม่สะดุดอะไร แต่การพูดแบบนี้ก่อนจะช่วยกระตุ้นให้ลูกค้าสามารถบอกฟีดแบ็กตรง ๆ ได้ การบอกลูกค้าไปก่อนว่านี่เป็นเพียง Prototype ยังช่วยให้สถานการณ์ง่ายขึ้นถ้าลูกค้าติดขัดจริง ๆ
อีกประโยคที่น่าพูดคือ “มันไม่มีคำตอบถูกหรือผิด คือผม/ดิฉันไม่ได้เป็นคนออกแบบสิ่งนี้ ไม่ว่าคุณจะพูดอะไร คุณจะไม่ทำร้ายจิตใจหรือทำให้ผม/ดิฉันดีใจ ฟีดแบ็กที่ตรงไปตรงมานี่ละที่มีประโยชน์ที่สุด”
การที่บอกไปว่า “เราไม่ได้ออกแบบสิ่งนี้” (แม้ว่าเราจะมีส่วนออกแบบด้วย) จะช่วยให้ลูกค้ากล้าพูดตรง ๆ มากขึ้น เพราะถ้าลูกค้าคิดว่าเรามีส่วนด้วย เค้าอาจจะเกรงใจ ไม่กล้าพูดทำร้ายจิตใจ
นอกจากนี้ ควรบอกให้ลูกค้าคิดดัง ๆ “ระหว่างนี้ ช่วยพูดสิ่งที่คิดออกมาหน่อยนะครับ/ค่ะ ช่วยบอกว่าคุณกำลังจะทำอะไร แล้วคุณคิดว่าจะทำมันอย่างไร ถ้างงหรือไม่เข้าใจตรงไหนช่วยบอกหน่อย ถ้าคุณเจอสิ่งไหนที่ชอบ บอกผม/ดิฉันด้วย”
การคิดดัง ๆ นั้นเปรียบเสมือนเราได้เข้าไปนั่งอ่านใจลูกค้า มันจะมีประโยนช์ต่อการพัฒนา Prototype มาก ๆ
4. ภารกิจและตัวสะกิด
ในชีวิตจริง ผลิตภัณฑ์ของเราจะออกไปสู่โลกกว้างโดยที่ไม่มีใครไปแนะนำลูกค้าว่าใช้ยังไง ลูกค้าต้องหาวิธีเอง การถามลูกค้าในขั้นตอนสัมภาษณ์ครั้งนี้จะเป็นการเทสต์ว่าถ้าผลิตภัณฑ์ออกสู่โลกจริงแล้ว ลูกค้าจะมีปฏิกิริยายังไง
ภารกิจที่เราให้ลูกค้าทำนั้นควรจะเป็นเหมือนเบาะแสเวลาเล่นเกมซ่อนสมบัติ อย่าบอกเค้าไปตรง ๆ ตามขั้นตอนว่าต้องทำอะไร แต่ให้ตั้งคำถามเป็นโจทย์ เช่น
“สมมติว่าคุณเจอแอปฯ นี้ใน App Store คุณจะใช้อะไรเป็นตัวตัดสินใจบ้างว่าจะโหลดแอปฯ ดีไหม”
การสะกิดเล็ก ๆ น้อย ๆ แบบนี้ช่วยปูทางให้ลูกค้าเริ่มไหล ๆ ไปตามขั้นตอนเอง ถ้าไปนำทางลูกค้าตรง ๆ เช่น “โหลดแอปฯ จากนั้นก็สมัครสมาชิก โอเคแล้วตอนนี้กรอกชื่อ” เราคงจะไม่ได้รู้อะไรใหม่ ๆ แล้วก็คงน่าเบื่อมาก
ระหว่างที่ลูกค้าทำภารกิจ ให้คอยถามคำถามพวกนี้ เพื่อให้ลูกค้าคิดดัง ๆ
“สิ่งนี้คืออะไร? มีไว้สำหรับอะไร?”
“คุณคิดอย่างไรกับสิ่งนี้?”
“คุณคาดหวังให้สิ่งนี้ทำอะไร?”
“คุณคิดอะไรตอนที่เห็นสิ่งนี้?”
“คุณกำลังหาอะไร?”
“คุณจะทำอะไรต่อ? ทำไมล่ะ?”
5. สรุปไว ๆ
อาจจะเป็นการยากที่จะสรุปว่าจุดไหนที่เด่นที่สุด ด้อยที่สุด หรือน่าจดจำที่สุด ขั้นตอนสุดท้ายนี้จะช่วย Wrap Up ทุก ๆ อย่างเข้าด้วยกัน เช่น
“ผลิตภัณฑ์นี้เป็นยังไงเมื่อเทียบกับสิ่งที่คุณใช้อยู่”
“คุณชอบ/ไม่ชอบอะไรเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์นี้บ้าง”
“คุณจะอธิบายผลิตภัณฑ์นี้ให้กับเพื่อน ๆ คุณยังไง”
“ถ้าคุณมีพรสามข้อ อยากปรับปรุงอะไรเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์นี้บ้าง”
ถ้าทดสอบ 2 Prototypes พร้อม ๆ กัน ให้เราสรุปคร่าว ๆ ทีละอัน แล้วถามแบบนี้
“ช่วยเปรียบเทียบทั้งสองผลิตภัณฑ์นี้หน่อย อะไรคือจุดดีจุดด้อยบ้าง”
“ถ้าให้สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ขึ้นมา คุณจะเลือกหยิบจับส่วนไหนของแต่ละชิ้นมาประกอบกันใหม่บ้าง”
“อันไหนเวิร์กกว่าสำหรับคุณ เพราะอะไร”
จุดสำคัญคือ ระหว่างการสัมภาษณ์ ผู้สัมภาษณ์ควรทำตัวเป็นกลาง อย่าตอบสนองลูกค้าด้วยคำประมาณว่า “เยี่ยมเลย ทำได้ดี” ทำแค่พยักหน้า หรือตอบรับแบบ “อืม อืม” ก็พอแล้ว
ผู้สัมภาษณ์สามารถเขียนสคริปต์คำถามก่อนล่วงหน้าได้ เพื่อให้ชัวร์ว่าคำถามจะเหมือนกันกับลูกค้าทุก ๆ คน
เคล็ดลับของการสัมภาษณ์
1.เป็นเจ้าบ้านที่ดี
ลองนึกภาพว่าเราเป็นลูกค้า ต้องเข้ามาในสถานที่ไม่คุ้นเคย ถูกจับจ้องด้วยคนแปลกหน้า มันก็คงรู้สึกอึดอัด ๆ ในคราแรกเหมือนกัน หน้าที่ของผู้สัมภาษณ์คือต้องต้อนรับให้ลูกค้ารู้สึกสบายใจ
2.ถามคำถามเปิดปลาด (Open-Ended)
อย่าถามอะไรที่มีเพียงคำตอบว่า “ใช่” หรือ “ไม่” และอย่าถามอะไรที่มีคำตอบหลายอย่าง (Multiple Choices) ให้ถามคำถามเปิดปลายที่ไม่มีคำตอบชัดเจน
ลองเปรียบเทียบระหว่าง 2 สถานการณ์นี้
ผู้สัมภาษณ์: “โอเค คุณได้เห็นหน้าเว็บเราแล้ว คุณพร้อมที่จะสมัครสมาชิกเลยมั้ย หรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม”
ลูกค้า: อืม ฉันคิดว่าฉันน่าจะอยากได้ข้อมูลเพิ่ม… โอ้ นั่นไง FAQ เดี๋ยวขอเช็กก่อน”
ผู้สัมภาษณ์: “โอเค คุณได้เห็นหน้าเว็บเราแล้ว คุณกำลังคิดอะไรอยู่”
ลูกค้า: “ไม่รู้สิ คือ ฉันไม่คิดว่ามันเหมาะกับบริษัทฉัน”
ผู้สัมภาษณ์: “ทำไมล่ะ”
ลูกค้า: (ตอบด้วยเหตุผลที่น่าทึ่ง)
สถานการณ์แรก เราแทบจะจูงมือลูกค้าเลย พอลูกค้าเห็นว่ามี 2 คำตอบระหว่าง “สมัครสมาชิก” กับ “หาข้อมูลเพิ่ม” ลูกค้าก็เลือกที่จะหาข้อมูลเพิ่ม กลับกัน ในสถานการณ์ที่สอง เราไม่ได้ใบ้อะไร ทำให้ลูกค้าบอกตรง ๆ ว่าคิดอย่างไร
จำง่าย ๆ เลยว่า อย่าถามอะไรที่มีคำตอบหลายอย่าง หรือคำตอบที่มีเพียงใช่และไม่ (“ใช่ไหม” “จริงไหม” “ถูกไหม”)
ควรถามอะไรที่เป็นปลายเปิด (“ใคร” “อะไร” “ที่ไหน” “เมื่อไร” “ทำไม” “อย่างไร”)
3. ถามคำถามแบบท่อน ๆ
นี่คือการเริ่มถาม แต่ค่อย ๆ เงียบไปก่อนจะถามจบ ตัวอย่างเช่น
ลูกค้า: “อืมมมม”
ผู้สัมภาษณ์: “เอ่อ….แล้ว…คือ….” (เงียบไป)
ลูกค้า: “อืม ฉันแค่ตกใจที่เห็นว่าราคามันสูงจัง”
เทคนิคนี้พอแปลเป็นไทยแล้วอาจจะงง ๆ นิดนึง แต่ภาษาอังกฤษของประโยคข้างต้นคือ “So, what…is…” ใจความของมันคือการเกริ่น ๆ แต่ไม่บอกทาง คือเราอาจจะอยากโพล่งปากออกไปว่า “กำลังดูราคาอยู่ใช่ไหม” ซึ่งมันเป็นการสรุปไปเอง การถามคำถามแบบท่อน ๆ นั้นจะช่วยกระตุ้นให้ลูกค้าพูดมากขึ้น ก่อนที่เราจะโพล่งปากอะไรไป”
4. อยากรู้อยากเห็น
ควรอยากรู้อยากเห็นในทุก ๆ ดีเทลของปฏิกิริยาลูกค้า ถามคำถามเยอะ ๆ อย่าเผลอรีบสรุปไปเอง ใช้ท่าทางที่บ่งบอกว่าเราสนอกสนใจและกระตือรือร้น อย่านั่งกอดอก
วันศุกร์: เรียนรู้
ในขณะที่ผู้สัมภาษณ์ทำการสัมภาษณ์ลูกค้า อีกห้องหนึ่งสมาชิกทีมสปรินท์ก็จะต้องคอยสังเกตการณ์และจนโน้ตสิ่งสำคัญ ๆ ไว้ โดยมีขั้นตอนสำคัญดังนี้
1.จดโน้ตแบบเป็นกลุ่ม
ก่อนอื่นเลย ให้วาดตารางบนกระดานแบบรูปด้านล่าง คือแยกตามชื่อของลูกค้า และส่วนต่าง ๆ ที่ทำการทดลอง อาจจะเป็นแต่ละ Prototype แต่ละส่วนของ Prototype หรือจะเป็นแต่ละคำถามสปรินท์ก็ได้

Source: SPRINT
จากนั้นก็แจกจ่ายโพสต์อิตกับปากกาให้ทุกคนในทีม เมื่อได้ยินหรือเห็นอะไรที่คิดว่าสำคัญและน่าสนใจ ก็เขียนใส่โพสต์อิตไป ถ้าให้ดีคือแบ่งสีปากกาตามประเภทของฟีดแบ็ก เช่น ฟีดแบ็กดี ฟีดแบ็กแย่ หรือฟีดแบ็กเฉย ๆ แต่ถ้าแบ่งแยกสีไม่ได้ ก็เขียนเครื่องหมาย + หรือ – ไปแทนก็ได้

Source: SPRINT
เมื่อจบแต่ละการสัมภาษณ์ ก็แปะโน้ตลงบนกระดานตามประเภทของมัน
2. หาสิ่งที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ
เมื่อจบทุกการสัมภาษณ์ ก็ให้ทุก ๆ คนเข้ามามุงดูที่กระดาน แล้วแต่ละคนก็จดบนกระดาษของตัวเองว่าเจออะไรที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ บ้าง เช่น ลูกค้า 4 ใน 5 บอกว่าชอบสิ่งนี้ หรือลูกค้า 2 ใน 5 คนมีปฏิกิริยากับสิ่งนี้รุนแรงมาก ๆ ขั้นตอนนี้ใช้เวลาประมาณ 5 นาที
เมื่อจดเสร็จแล้ว ก็ให้ทุกคนแชร์ว่าเจอ Pattern แบบไหนบ้าง จด Pattern เหล่านั้นไว้อีกกระดานหนึ่ง แล้วแปะป้ายไว้ว่าอันไหนเป็นแง่ดี แง่ร้าย หรือเฉย ๆ
3. ย้อนกลับไปยังคำถามสปรินท์และเป้าหมายระยะยาว
สิ่งนี้จะช่วยให้เราตัดสินใจได้ว่า Pattern ไหนสำคัญที่สุด ทำให้รู้ว่าควรจัดการอะไรต่อไป อาจจะคุยกันสั้น ๆ ในทีม แล้วให้ผู้ตัดสินเป็นคนฟันว่าขั้นต่อไปจะเอายังไง
4. ขึ้นชื่อว่าสปรินท์ ยังไงก็ไม่มีวันแพ้
เพราะไม่ว่าผลลัพธ์จะเป็นยังไง เราได้นำ Prototype ไปให้ลูกค้าลองใช้จริง ๆ แล้ว ซึ่งเราก็จะได้เรียนรู้อย่างรวดเร็วใน 5 วันว่าเราทำได้ดีตรงไหน และมีตรงไหนที่ควรแก้บ้าง ไม่ว่าผลลัพธ์จะดีหรือร้าย มันคือการเรียนรู้เพื่อพัฒนาขึ้นทั้งนั้น
5. ได้สัมผัสคนจริง ๆ
พอเราได้สัมผัสกับลูกค้า ได้ยินว่าเขารู้สึกยังไง คิดอะไร มันก็ทำให้เราเข้าใจยิ่งขึ้นว่าผลิตภัณฑ์ของเราจะมีผลกับชีวิตพวกเขายังไงบ้าง ยิ่งทำสปรินท์บ่อย ๆ เท่าไร เราก็จะยิ่งเข้าใกล้ลูกค้ามากขึ้น เข้าใจเค้ามากขึ้น และสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์เค้าได้มากที่สุด นี่แหละคือความหมายของการทำงานแบบสปรินท์ คือการที่เราใช้เวลาอย่างมีประสิทธิภาพในการสร้างสิ่งที่ส่งผลกระทบกับคนจริง ๆ
ส่งท้าย
ได้มีการใช้สปรินท์ในหลาย ๆ แห่ง หลาย ๆ องค์กรทั่วโลก รวมไปถึงห้องเรียนในโรงเรียนและมหาวิทยาลับ สปรินท์เป็นอะไรที่เราสามารถทำได้ทุกที่ เพียงแค่มีคำถามอันยิ่งใหญ่ที่เราอยากจะตอบ หรือปัญหาที่เราอยากจะแก้ไข ก็เริ่มทำสปรินท์ได้แล้ว
ถ้าให้สรุป Key Points หลัก ๆ ที่จะช่วยให้การทำงานของเรามีประสิทธิภาพมากขึ้น ก็จะเป็น…
- แทนที่จะรีบกระโดดไปที่คำตอบเลย ค่อย ๆ ใช้เวลาหาก่อนว่าปัญหาคืออะไร ตรงไหนที่เราอยากจะโฟกัส
- แทนที่จะตะโกนบอกไอเดียกัน ให้แต่ละคนไปหาคำตอบของตัวเอง
- แทนที่จะโต้เถียงกันด้วยเรื่องที่จับต้องไม่ได้ หรือประชุมไปแบบไม่รู้จบ ให้ใช้การโหวตและแต่งตั้งผู้ตัดสินแทน
- แทนที่จะเก็บรายละเอียดทุกเม็ดก่อนทำการทดสอบ ให้สร้าง “ฉากหน้า” ขึ้นมา ด้วย Prototype Mindset
- แทนที่จะคิดไปเอง ให้ทดสอบกับลูกค้าจริง ดูว่าพวกเขาแสดงปฏิกิริยายังไง
สรุป
เป็นอีกเล่มที่ทำให้เราเข้าใจจริง ๆ ว่า Sprint คืออะไร ก่อนหน้านี้เราใช้คำว่าสปรินท์โดยคิดว่ามันน่าจะคล้าย ๆ กับการประชุมทั่วไปแหละมั้ง แค่เรียกให้เท่ขึ้นมาเฉย ๆ แต่ความจริงแล้วไม่เหมือนกันเลย สปรินท์นี่คือสปรินท์สมชื่อจริง ๆ ทุกอย่างต้องเสร็จภายใน 5 วัน เรียกได้ว่าแข่งกับเวลาเหมือนต้องวิ่งด้วยความเร็วสูง
อ้อ เพิ่มเติมนิดนึง ในหนังสือเล่มนี้จริง ๆ ชื่อเต็มมันคือ Design Sprint ซึ่งจากขั้นตอนต่าง ๆ เราก็พอจะเห็นละว่ามันเน้นเรื่องการดีไซน์ Solution เพื่อแก้ปัญหาหรือตอบโจทย์ ที่ตอนสุดท้ายวันศุกร์จะได้รับการ Test ว่าเวิร์กมั้ย ถ้ามันเวิร์กและทุกอย่างไปได้ดี ก็อาจจะนำเข้าไปในลูปการทำงานเพื่อทยอยสร้างของจริงออกมา
โดยรวมหนังสืออ่านเข้าใจง่ายมาก มี Case study เยอะ ภาษาเล่าแบบเป็นกันเองติดจะกวน ๆ เราชอบที่หนังสือมีความ Actionable คือทำได้ตามสเต็ป 1 2 3 เลย ท้ายเล่มมี Checklist ให้ด้วยว่าอย่าลืมขั้นตอนไหน ต้องเตรียมอุปกรณ์อะไรบ้าง ซึ่งเราว่ามีประโยชน์มาก ๆ