ใคร ๆ ก็อยากมีคนชอบมากกว่าคนเกลียด อยากมีเพื่อนพ้องมากกว่าศัตรู เพราะมนุษย์เราเป็นสัตว์สังคมที่ต้องพึ่งพาอาศัยกัน
ด้วยเหตุนี้ พวกเราจึงพยายามอย่างมากในการผูกมิตรกับใครสักคน แต่ในหลาย ๆ ครั้งสถานการณ์ก็ช่างยากและไม่เป็นใจ บางคนอาจจะเป็นคนขี้อาย บางคนไม่สบายใจกับการพูดคุยกับคนแปลกหน้า และบางคนอาจจะรู้สึกว่าอีกฝ่ายไม่ได้อยากคุยกับเราเลย
หนังสือ The Like Switch: An Ex-FBI Agent’s Guide to Influencing, Attracting, and Winning People Over เล่มนี้เขียนโดยคุณ Jack Schafer และผู้เขียนร่วม คุณ Marvin Karlins
คุณแจ็คเป็นอดีตเจ้าหน้าที่ FBI ที่เก่งกาจด้านการวิเคราะห์พฤติกรรม งานของเขาคือการ “ทำให้อีกฝ่ายชอบ” เพื่อที่อีกฝ่ายจะได้มอบข้อมูลสำคัญ ๆ แก่เขา เมื่อคุณแจ็คเกษียณออกมาจาก FBI ก็ได้เรียนต่อในระดับปริญญาเอกด้านจิตวิทยา ก่อนจะผันตัวเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย
ในหนังสือเล่มนี้คุณแจ็คได้แชร์เทคนิคมากมายที่จะช่วยให้เราชนะใจผู้อื่น ทำให้ผู้อื่นชอบและเชื่อใจเรา กลายเป็นมิตรภาพที่จะคงอยู่ไปนาน ซึ่งเทคนิคเหล่านี้ใช้ได้กับทุกบริบท ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเพื่อนใหม่ การเข้าสังคมใหม่ การพูดคุยในออฟฟิศ การจีบคนที่ชอบ การขายของ หรือ การขอรับบริการที่ดีขึ้น
ในบล็อกนี้ขอสรุปเนื้อหาสำคัญ ๆ ของหนังสือมาฝากกัน หากมีผิดพลาดตรงไหน สามารถทักมาแจ้งได้เลยนะ
1. สูตรสร้างมิตรภาพ
สูตรสร้างมิตรภาพต่อไปนี้ถือเป็นรากฐานของความสัมพันธ์ทั้งปวง มันประกอบไปด้วย
มิตรภาพ = ความใกล้ชิด + ความถี่ + ระยะเวลา + ความเข้มข้น
ความใกล้ชิด
ยิ่งเราอยู่ใกล้ใครมากเท่าไร คนคนนั้นก็จะมีอิทธิพลโน้มน้าวเรามากเท่านั้น ตัวอย่างก็อย่างพ่อแม่ที่อยู่กับลูกบ่อยกว่า ลูกย่อมเชื่อฟังมากกว่าพ่อแม่ที่ไม่ค่อยอยู่กับลูก ซึ่งลูกอาจจะไปสนิทกับเพื่อนแทน ความใกล้ชิดจะเกิดขึ้นเมื่อคนอยู่ในสถานที่เดียวกัน สังเกตสิว่าเวลาเราเจอใครบ่อย ๆ ในที่เดิม ๆ เช่น ในออฟฟิศ ก็มักจะรู้สึกคุ้นหน้าไปเอง แม้ว่าจะไม่เคยพูดคุยกันเลยด้วยซ้ำ สิ่งสำคัญที่จะทำให้ความใกล้ชิดได้ผลคือต้องส่งสัญญาณเป็นมิตร ต้องไม่มีบรรยากาศคุกคาม เพราะถ้าอีกฝ่ายรู้สึกว่าอีกคนนึงเป็นอันตราย ก็จะพยายามไม่อยู่ใกล้
ความถี่
นี่คือจำนวนครั้งที่เรามีปฏิสัมพันธ์กับอีกฝ่าย เช่น สบตากันบ่อยครั้ง ไปกินข้าวด้วยกันบ่อย ๆ หรือพูดคุยด้วยกันบ่อย ๆ ยิ่งถี่ก็จะยิ่งคุ้นชิน แต่ความถี่อาจจะผกผันกับปัจจัยต่อไปนั่นก็คือ
ระยะเวลา
นี่คือระยะเวลาที่เราใช้กับอีกฝ่ายในกิจกรรม ๆ หนึ่ง ซึ่งยิ่งนานเท่าไรก็ยิ่งกระชับมิตรได้ดีขึ้น แต่ที่บอกว่ามันผกผันกับความถี่ก็เป็นเพราะโดยส่วนใหญ่ความสัมพันธ์ของเราจะเป็นแบบนั้น ยกตัวอย่าง เพื่อนที่เราไม่ได้เจอบ่อย ๆ เราก็มักจะใช้เวลาพูดคุยกินข้าวด้วยนานกว่าเพื่อนที่เจอกันทุกวันซึ่งคงไม่เม้าท์มอยนานขนาดนั้น แต่ความผกผักนี้จะไม่เกิดขึ้นสำหรับคู่รักข้าวใหม่ปลามัน ที่มักจะอยากอยู่ด้วยกันตลอดเวลา
ความเข้มข้น
สิ่งนี้คือการที่เราใช้คำพูดหรือส่งภาษากายที่ทำให้อีกฝ่ายพอใจ หรือสงสัยใคร่รู้ อันนี้แอบอธิบายยากเหมือนกัน แต่สำหรับเราเราคิดว่ามันคือบรรยากาศของการปฏิสัมพันธ์กันซึ่งทำให้มิตรภาพกระชับแน่นขึ้นไปอีก อาจจะเป็นช่วงเวลาที่คู่แต่งงานได้ไปออกเดตกันบ้าง หรือ เพื่อนร่วมงานที่ได้นั่งจับเข่าคุยกันเรื่องชีวิตส่วนตัวบ้าง ความสัมพันธ์เนี่ยอาจจะมีทุกอย่างยกเว้นความเข้มข้นก็ได้ ซึ่งนั่นก็คือความสัมพันธ์ที่จืดชืดไปแล้ว ความเข้มข้นจึงอาจจะเปรียบเหมือนสีสันให้ความสัมพันธ์
ปัจจัย 4 อย่างนี้ เราสามารถลองปรับและลองประเมินดู เพื่อวิเคราะห์ว่าความสัมพันธ์ของเรากับคนอื่น ๆ นั้นเป็นอย่างไร หากอยากพัฒนาความสัมพันธ์ให้แน่นขึ้น ก็ลองดูว่าจะเพิ่มตัวแปรไหนได้บ้าง เช่น อาจจะคุยกันบ่อยขึ้น ไปเที่ยวด้วยกันบ่อยขึ้น ขณะเดียวกัน หากไม่อยากยุ่งกับใคร ก็ค่อย ๆ ลดทอนตัวแปรพวกนี้ออกไป เช่น คุยน้อยลง ไม่ไปไหนด้วยกัน
ถามว่า หากใช้สูตรนี้แล้วอีกฝ่ายจะรู้หรือไม่ว่าเรากำลังพยายามตีสนิท คำตอบคือ หากเราทำตัวเนียน ๆ ก็จะเป็นเรื่องยาก เพราะสมองตีความพฤติกรรมเหล่านี้ว่าเป็นธรรมชาติของมนุษย์ในการผูกมิตร เป็นเรื่องยากที่อีกฝ่ายจะรู้ตัวว่ามีอะไรผิดปกติ เพราะท่าทางเหล่านั้นถือว่าเป็นปกตินั่นเอง ถ้าเราส่งสัญญาณเป็นศัตรูนี่สิ จะถือว่าไม่ปกติแล้ว
เวลาไหนที่ควรส่งสัญญาณเป็นอริ?
โลกเราไม่ได้มีแค่คนดีที่เราอยากผูกมิตรด้วย แต่บางทีเราก็เจอคนเวร ๆ น่ารำคาญหรือคนที่พยายามฉกฉวยผลประโยชน์บางอย่าง ซึ่งตอนนี้แหละ สัญญาณอริจะช่วยเราได้มาก การที่เราทำหน้าบึ้ง เดินแบบมีจุดมุ่งหมาย ทำตัวสบาย ๆ ไม่หวั่นไหวต่ออะไร จะทำให้เราไม่ดูเป็นเหยื่อที่น่าแกล้ง เวลาเดินในที่ที่ไม่คุ้นเคย ก็จะไม่มีใครมายุ่งวุ่นวายด้วย
2.1 สัญญาณเป็นมิตร
หากเราต้องการจะผูกมิตรกับใคร ก็ควรจะส่งสัญญาณที่ถูกต้อง ท่าทางเหล่านี้ถือเป็นใบเบิกทางที่ดีที่เราควรฝึกไว้ให้เป็นธรรมชาติ เพราะอย่าลืมว่าสิ่งเหล่านี้หากทำแบบฝืน ๆ ก็จะดูไม่จริง และอีกฝ่ายอาจตีความผิด ๆ ได้
นอกจากรู้ไว้เพื่อฝึกฝนใช้เองแล้ว เรายังสามารถเอาไว้ใช้ตีความคนอื่นได้ด้วยเช่นกันว่าเขารู้สึกสบายใจและอยากเป็นมิตรกับเราไหม รวมถึงไว้ใช้วิเคราะห์ความสัมพันธ์ของคนอื่น ๆ ด้วย
- ยักคิ้ว การยักคิ้วนั้นควรเป็นไปอย่างรวดเร็ว ไม่ใช่ค้างไว้นานเกินเหตุ ในกรณีผู้ชายอาจจะบุ้ยคางใส่กันก็ได้
- เอียงคอ เป็นท่าทางที่เผยให้เห็นเส้นเลือดใหญ่ตรงคอที่นำเลือดไปหล่อเลี้ยงสมอง ซึ่งถ้าถูกจู่โจมก็อันตรายถึงขั้นชีวิต การทำท่านี้บ่งบอกได้ว่าเรารู้สึกสบายใจปลอดภัย ไม่รู้สึกคุกคาม
- ยิ้ม การยิ้มแบบจริงใจคือการยิ้มที่ไปทั้งหน้า แบบแก้มยกขึ้น ตาหรี่ลง ไม่ใช่แค่ปากขยับอย่างเดียว เราสามารถฝึกการยิ้มได้เรื่อยๆ เพื่อให้ดูจริงใจมากขึ้น
สามท่าทางนี้ถือเป็นหัวใจหลักของสัญญาณผูกมิตร แต่นอกเหนือจากนี้ก็มีสัญญาณอื่น ๆ อีกที่เราสามารถทำได้
- สบตา แบบแวบเดียว ไม่ใช่จ้องตานานเกินไป ถ้าเป็นแบบนั้นจะเป็นการคุกคาม ถ้าอยากยืดเวลาก็ให้ค่อย ๆ หันหน้าหนี อีกฝ่ายจะได้ไม่รู้ว่าเรายังจ้องอยู่
- สัมผัส แตะตัวเบา ๆ ในบริบทที่ถูกต้อง เช่น เวลาช่วยเหลือคนอื่น แต่ต้องคอยสังเกตปฏิกิริยาอีกฝ่ายเหมือนกันนะว่ามีท่าทางต่อต้านไหม เพราะบางคนอาจจะไม่ชอบให้คนอื่นแตะตัว
- เลียนแบบพฤติกรรมคนอื่น หรือการสะท้อนภาพ (Ixopraxism) เพราะคนที่ชอบพอกันมักจะทำท่าทางสอดคล้องกัน เราอาจจะรู้สึกว่าเดี๋ยวคนต้องจับไต๋ได้แน่เลย แต่ความจริงแล้วเรื่องเหล่านี้เป็นไปโดยธรรมชาติ คนส่วนใหญ่ไม่ทันสังเกต
- เอนตัวเข้าหา เป็นสัญญาณที่บอกว่าเรารู้สึกชอบคนคนนั้น ถ้าไม่ชอบก็จะถอยหนี
- กระซิบกระซาบ บ่งบอกถึงความใกล้ชิดสนิทสนม
- จิ้มอาหารจากจานคนอื่น อันนี้ก็บ่งบอกความสนิทสนมเช่นกัน เพราะเป็นใครก็คงไม่โอเคถ้าเป็นคนแปลกหน้ามาจิ้มอาหารในจาน
- ออกท่าออกทาง พูดคุยอย่างออกรสพร้อมมีมือไม้ประกอบ เป็นสัญญาณที่ต้องการดึงความสนใจอีกฝ่าย
- พยักหน้า แบบพอเหมาะพอดี จะช่วยให้อีกฝ่ายแสดงความคิดเห็นได้เต็มที่ และดูเหมือนเราใส่ใจเขา แต่ต้องระวังอย่าพยักหน้าเร็ว ๆ หรือบ่อยไปเพราะอาจจะดูเป็นการรบกวน นอกจากพยักหน้าก็อาจจะใช้คำพูดเสริม เช่น “เข้าใจละ” “อืม” “อ่าฮะ” บ่งบอกว่าเราตั้งใจฟังเขาด้วย
- ใส่ใจคู่สนทนา ไม่ให้อย่างอื่นมามีอำนาจเหนือ หากมีโทรศัพท์เข้าก็ไม่ควรรับ ถ้าเราสามารถตัดสายได้ก็ตัดไป อีกฝ่ายจะได้รู้สึกว่าเขาสำคัญจริง ๆ
- วงสนทนาที่ปลายเท้าเปิดไปด้านข้าง เป็นสัญญาณบอกว่าต้อนรับบุคคลอื่นให้เข้ามาร่วมวงด้วย
2.2 สัญญาณเป็นอริ
นอกจากสัญญาณเป็นมิตรแล้ว หากเราไม่อยากยุ่งกับใครก็สามารถส่งสัญญาณอริได้ นอกเหนือจากนั้น เราก็ควรรู้ไว้เพื่อหลีกเลี่ยงการทำสิ่งเหล่านี้หากต้องการผูกมิตรกับคนอื่น และอีกอย่างก็เพื่อดูท่าทีคนอื่นว่าเขาโอเคกับเราไหม
- จ้องตานาน ๆ อีกฝ่ายจะมองว่าก้าวร้าว ไม่เป็นมิตร ส่งผลให้เกิดการป้องกันตัว
- กวาดสายตาขึ้นลงใส่อีกฝ่าย เหมือนแม่ผัวในละครมองลูกสะใภ้ที่ชังหน้ากัน หากไม่รู้จักกันก็จะดูเสียมารยาท เหมือนถูกประเมิน แต่ถ้าสนิทกันก็ไม่เป็นไร
- กลอกตา/มองบน เป็นการส่งสัญญาณว่าอีกฝ่ายโง่เง่าไร้สาระ ลองสังเกตในที่ประชุมดูได้นะว่ามีใครทำแบบนี้บ้าง
- หรี่ตา ในหนังสือบอกว่าอาจทำให้ความสัมพันธ์เย็นชา แต่โดยส่วนตัวเรารู้สึกกดดันเหมือนกำลังโดนจับผิด
- ขมวดคิ้ว/หน้าเครียด/จมูกย่น ไม่ต้องอธิบายมาก เจอใครทำหน้าแบบนี้คงไม่อยากยุ่งด้วยเท่าไรอะนะ
- ยืนถ่างขา ยกมือเท้าเอว กำหมัด เป็นสัญญาณของคนที่พร้อมสู้ ท่าทางแบบนี้ทำให้คนทำดูตัวใหญ่ขึ้น ทำเพื่อข่มขู่อีกฝ่าย
- ท่าทางดูถูก ซึ่งต้องระวังเพราะแต่ละวัฒนธรรมอาจจะแตกต่างกันไป
- รุกล้ำอาณาเขตพื้นที่ส่วนตัว ไม่ว่าใครก็มีเส้นแบ่งขอบเขตตัวเองกันทั้งนั้น อยู่ที่ว่าจะแคบหรือกว้าง
- วงสนทนาที่ปลายเท้าหันเข้าหากัน เป็นสัญญาณบอกว่าพวกเขาต้องการคุยกันอย่างเป็นส่วนตัว ไม่ต้อนรับคนอื่น
เมื่อเรารู้สัญญาณเหล่านี้ เราอาจจะเริ่มอยากลองทำแบบ “ตั้งใจ” ดูบ้าง ซึ่งบางคนอาจจะเกิดอาการที่เรียกว่า Spotlight Effect หรือความรู้สึกว่าเหมือนโดนจับจ้องเวลาทำอะไรลับ ๆ ล่อ ๆ ฟีลแบบคนโกหกที่คิดว่าคนอื่นต้องจับได้แน่ เลยทำตัวแปลกประหลาดกลายเป็นมีพิรุธซะงั้น ดังนั้นเราจึงต้องก้าวผ่าน Spotlight Effect ไปให้ได้ ด้วยการรู้เท่าทันว่ามันจะเกิดขึ้นเมื่อไร อาจทำได้ด้วยการลองสังเกตคนรอบข้าง สังเกตตัวเอง และหมั่นฝึกฝนบ่อย ๆ ให้ชำนาญ
3. สานต่อมิตรภาพ
เมื่อลองส่งสัญญาณเป็นมิตรให้คนอื่นไปแล้วเขาเองก็ส่งกลับมาเช่นกัน ทีนี้เราก็จะเข้าไปสานต่อความสัมพันธ์ได้ ตรงนี้แหละคือหัวใจหลักของการเริ่มต้นมิตรภาพที่ดี หรือแม้กระทั่งแค่เพื่อให้คนอื่นชอบเราในระยะเวลาสั้น ๆ ก็ได้
กฏทองหลักของการทำให้คนอื่นชอบเราก็คือ เราต้องทำให้เขาชอบตัวเอง รู้สึกดีกับตัวเองก่อน พูดง่ายแต่ทำยาก เพราะปกติแล้วเรามักมีอีโก้ว่าฉันจะไม่ยอมให้คนอื่นหรอก ฉันเองก็มีดีของฉัน แต่การโฟกัสแค่ตัวเองไม่ได้ทำให้ความสัมพันธ์ดีขึ้นเลย และอีกฝ่ายก็อาจจะรู้สึกไม่ดีกับเราด้วย
มีหลายเทคนิคด้วยกันที่จะช่วยให้คนอื่นรู้สึกดีกับตัวเอง และลงเอยด้วยการชอบเรา ซึ่งเราสามารถใช้เทคนิคเหล่านี้ผสม ๆ ร่วมกันได้ เช่น
3.1 ใช้คำพูดบ่งบอกความเข้าใจ
เทคนิคนี้ปรากฏในหนังสือเทคนิคการต่อรองอย่าง Never Split The Difference เช่นกันในชื่อ “แปะป้าย (Labelling)” แต่สำหรับ The Like Switch เราจะนำมาใช้เพื่อผูกมิตรโดยเฉพาะ เราสามารถเริ่มต้นด้วยการสังเกตสีหน้าท่าทางหรือสิ่งที่เขาพูด แล้วประเมินว่าเขากำลังรู้สึกยังไง
คำเริ่มต้นสุดคลาสสิกของเทคนิคนี้คือ “ดูท่าทางคุณจะ…”
“ดูท่าทางคุณเหนื่อยน่าดูเลยวันนี้”
“ดูท่าทางคุณเจอเรื่องดี ๆ มานะ”
“ดูท่าทางผู้หญิงคนนั้นคงทำให้คุณรำคาญมากเลย”
ซึ่งหากสิ่งที่เราประเมินออกไปนั้นตรงกับสิ่งที่อีกฝ่ายรู้สึกพอดี ก็ยิ่งทำให้เขารู้สึกว่าเราเข้าใจเขา และให้ความสนใจกับเขาจริง ๆ ไม่ต้องกลัวว่าเขาจะจับไต๋เราได้ เพราะปกติสมองมนุษย์มักจะคิดว่าเรานั้นมีความน่าสนใจที่สุดอยู่แล้ว การกระทำนี้จึงไม่ได้ขัดกับสัญชาตญาณการรับรู้แต่อย่างใด
นอกจากนี้ การใช้คำพูดบ่งบอกความเข้าใจ ก็ยังดีกว่าการบอกว่า “ฉันเข้าใจคุณนะ” โดยส่วนใหญ่อีกฝ่ายก็จะตอบกลับมาว่า “ไม่ คุณไม่เข้าใจฉันหรอก คุณไม่เคยเจอแบบฉันนี่” ซึ่งก็เป็นไปตามคาด เพราะประโยคแค่บอกว่าเข้าใจนะนั้นคลุมเครือไม่ได้ระบุชัดเจน ก็เหมือนเราไม่ได้ใส่ใจเขาขนาดนั้นอะ
3.2 ชมเชย
ใคร ๆ ก็ชอบให้คนอื่นชม แต่ถึงกระนั้นก็มีเส้นบาง ๆ คั่นระหว่าง “ชม” กับ “ยอ” อยู่ การยกยอนั้นจะถูกอ้างอิงในทางลบมากกว่า เหมือนเราชมพล่อย ๆ ทั้งที่มันไม่เป็นความจริง อีกฝ่ายก็จะรู้ว่ากำลังโดนประจบอยู่ เขาก็จะรู้สึกไม่ดีและเริ่มระวังละว่าเรากำลังต้องการอะไร ดังนั้นถ้าจะชมใคร ก็จงชมจากใจจริง และอิงกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงด้วย
นอกจากการที่เราชมแล้ว เรายังสามารถเปิดช่องทางให้อีกฝ่ายชมตัวเองได้ด้วย ซึ่งก็ยิ่งทำให้เขารู้สึกดี สมมติว่าเราเจอเพื่อนร่วมงานที่โหมงานหนักมาก ๆ เราก็อาจจะเกริ่นไปว่า “โปรเจ็กต์นี้ต้องทุ่มเทน่าดูเลยสิเนี่ย” นี่แหละคือช่องให้อีกฝ่ายชมตัวเอง เขาอาจจะตอบกลับมาว่า “เออใช่ ต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำ ไม่ได้นอนเลย แต่มันก็ออกมาดีนะ”
อีกวิธีการชมที่ได้ผลดีคือชมผ่านปากคนอื่น กลยุทธ์นี้จะต้องมีบุคคลที่สามที่สนิทคุ้นเคยกับคนสองคนมาเป็นตัวช่วยส่งสารให้ คนได้รับคำชมก็จะยิ่งเชื่อและรู้สึกดีกับเราที่เป็นคนชม ตัวอย่างเช่น เรารู้จักกับเด็กใหม่ที่กำลังจะเข้ามาทำงานที่เดียวกัน เราก็ไปคุยกับเพื่อนว่า “คนนี้ทำงานเก่งนะ คุยก็ง่าย” พอเพื่อนเจอเด็กใหม่คนนี้ ก็ไปบอกว่า “ได้ยินจาก xx มาว่าเธอเป็นคนทำงานเก่ง คุยง่าย” เด็กใหม่ก็จะรู้สึกดีกับเราที่แม้ลับหลังเขาเราก็ไปบอกกับเพื่อนว่าเขาเป็นคนทำงานเก่ง
3.3 ขอความช่วยเหลือ
ฟังครั้งแรกอาจจะดูขัด ๆ ปกติแล้วเราต้องชอบคนที่ช่วยเหลือเราสิ เราจะชอบคนอื่นที่ขอให้เราช่วยได้เหรอ? ความจริงคือสามารถเป็นไปได้ เพราะการที่เราให้อีกฝ่ายช่วยอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ จะทำให้อีกฝ่ายรู้สึกดีกับตัวเองว่าได้เป็นคนมอบให้ แต่เทคนิคนี้ก็ต้องระวังอย่าใช้บ่อยเกินไป คงไม่มีใครชอบคนที่ขอให้ทำนู่นทำนี่ให้บ่อย ๆ หรอก
ระวังอคติเบื้องต้น
เคยมั้ยที่เรารู้สึกไม่ดีกับใคร เพียงเพราะเราได้ยินมาว่าคนนี้นิสัยไม่ดี หรือเคยมั้ยที่เรารู้สึกอยากซื้ออะไรมาก ๆ เพียงเพราะไปอ่านรีวิวมาว่าสินค้านี้ใช้แล้วดีจริง
ความรู้สึกของเราที่มีต่อใครสักคน หรืออะไรสักอย่าง ส่วนใหญ่นั้นแทบจะมาจากอคติเบื้องต้นทั้งนั้น นั่นหมายถึงต้นตอความรู้สึกน่ะมาจากการที่เราได้ยินความเห็นจากที่อื่นมา แล้วเราก็ยึดความเห็นนั้นเป็นที่ตั้ง กลายเป็นอคติ เป็นตัวกรองให้ทุกอย่างตรงตามอคติของเรา สมมติเราได้ยินมาว่าคนนี้หยิ่ง เราก็จะมองเขาว่าไม่น่าคบหา ไม่น่าผูกมิตรด้วย แม้ว่าเขาจะเข้ามาพูดคุยยิ้มแย้ม เราก็อาจจะยังตั้งแง่ ไม่เชื่อใจ 100% ในขณะที่ถ้าเราได้ยินมาว่าคนนี้เป็นมิตร คุยง่าย แต่พอเจอจริง ๆ แล้วเขาหน้าบึ้งตึง เราก็อาจจะยังแก้ต่างให้เขาว่าวันนี้เขาคงอารมณ์ไม่ดีมั้ง
อคติเบื้องต้นมีอิทธิพลสูงมาก เพราะมันทำให้เราไม่ยอมมองความจริงที่เกิดขึ้น เรามองทุกอย่างผ่านฟิลเตอร์ที่เราสร้างขึ้นมา สิ่งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งอุปสรรคในการผูกมิตร เพราะเราจะอ่านสัญญาณจากอีกฝ่ายได้ยากขึ้น รวมถึงปฏิบัติกับอีกฝ่ายได้ไม่ตรงตามที่ควรจะเป็นด้วย เช่น แทนที่เราจะได้ลองผูกมิตรกับคนที่คนอื่นบอกว่าไม่น่าเข้าใกล้ เราก็อาจจะกลายเป็นคนที่ส่งสัญญาณเป็นอริให้เขาเสียเอง ทั้งที่เขายังไม่ทันพิสูจน์ตัวเองด้วยซ้ำว่าเขาเป็นคนไม่น่าคบจริง ๆ
การก้าวข้ามอคติเบื้องต้นนั้นเราต้องคอยพิจารณาว่าสิ่งที่เรารู้สึกนั้น เราได้มันมาจากไหน มันมาจากปากคนอื่นหรือเปล่า หรือเป็นสิ่งที่เราเผชิญมาเอง? พึงระวังอคติที่เกิดจากคำพูดคนอื่นให้ดี
4. กฏแห่งการดึงดูด
นี่คืออีกหนึ่งเครื่องมือผูกมิตรที่จะช่วยให้ความสัมพันธ์ใกล้ชิดสนิทสนมกันมากขึ้น กฏเหล่านี้จะอธิบายถึงปัจจัยที่จะทำให้คนสองคนนึกสนใจกันและกันมากขึ้น ทั้งหมดนี้เราไม่จำเป็นต้องทำทั้งหมด เพราะบางอย่างอาจจะไม่เหมาะกับบุคลิกของเรา บางข้ออาจจะเหมาะใช้ผูกความสัมพันธ์ระยะสั้นหรือยาวเท่านั้น จึงควรเลือกใช้ให้เหมาะกับตัวเอง
กฏเรื่องความคล้ายคลึง (จุดร่วม)
เหมือนวลีที่ว่า “นกพันธุ์เดียวกันย่อมรวมฝูงกัน” มนุษย์เราก็เหมือนกัน พวกเราจะถูกดึงดูดให้ชอบคนที่มีอะไรคล้าย ๆ เรา เพราะเราไม่ต้องการเจอความขัดแย้ง ดังนั้นหากอยากผูกมิตรกับใคร ให้ลองหาจุดร่วมที่เรากับเขามีเหมือนกันดู เช่น อาจสังเกตจากเสื้อที่ใส่ว่าเป็นลายอะไร หากเป็นลายโลโก้ทีมกีฬาก็พอเดาได้ว่าน่าจะสนใจกีฬาอยู่บ้าง หรือ สังเกตดูว่าอีกฝ่ายกำลังทำอะไร เช่น อ่านหนังสือ ก็ตีความได้ว่าเป็นคนชอบหนังสือ ทีนี้ก็อยู่ที่เราแล้วละ ว่าจะเข้าไปพูดคุยอย่างไร
เราอาจจะเริ่มด้วยการใช้ประโยคบอกความเข้าใจ สำหรับบริบทนี้ได้ เช่น “ดูเหมือนว่าคุณจะชอบหนังสือนิยายลึกลับสืบสวน”
ยิ่งถ้าชอบอะไรเหมือน ๆ กันแล้ว ก็ยิ่งคุยกันง่าย เพราะถือว่ามีประสบการณ์ร่วมกัน นอกจากเรื่องที่สนใจเหมือนกันแล้ว อาจจะเล่นกับประสบการณ์ร่วมที่เกิดชั่วครั้งชั่วคราวก็ได้ เช่น เคยอยู่โรงเรียนเดียวกัน เคยอยู่เมืองเดียวกัน ฯลฯ
นอกจากนั้น เรายังสามารถอิงประสบการณ์คนอื่นได้เช่นกัน สมมติว่าอีกฝ่ายทำอาชีพที่ตรงกับคนรู้จักของเรา เราก็อาจจะบอกได้ว่า “อ้าว เป็นหมอเหรอ น้องชายฉันก็เป็นหมอเหมือนกัน” อะไรแบบนี้
กฏของผลพลอยได้
อันนี้แอบอิงกับโชคนิดนึง แต่ถ้าเรารู้ทัน เราก็จะสามารถกำหนดมันได้ ในหลาย ๆ ครั้ง เมื่อคนเรารู้สึกดี ก็มักจะเชื่อมโยงความรู้สึกดี ๆ นั้นกับคนที่อยู่ใกล้ตัว เช่น หลังออกกำลังกาย ร่างกายจะหลั่งสารเอนดอร์ฟินซึ่งทำให้มีความสุข สบายใจ ฉะนั้นหากมีคนที่อยู่ใกล้ ๆ ตอนนั้น ก็ย่อมจะถูกเหมารวมไปด้วยว่าคนคนนี้ทำให้รู้สึกดี ทั้งที่จริง ๆ แค่อยู่ถูกที่ถูกเวลาเท่านั้นเอง
เมื่อรู้แบบนี้ เวลาอยากผูกมิตรกับใคร ก็ให้ลองพาตัวเองไปอยู่ในที่ที่เขามีความสุข ไปโผล่ให้เขาพบเห็นหน้าบ่อย ๆ เพื่อสร้างความคุ้นชิน
นอกจากช่วงเวลาแห่งความสุขที่ได้แชร์ร่วมกันแล้ว น่าแปลกที่ว่าหากคนเราประสบพบเจอทุกข์ร่วมกัน ก็จะยิ่งทำให้สนิทกันมากขึ้นเหมือนกัน นั่นเพราะเวลาที่ต้องทำอะไรลุ้น ๆ คนเราจะยิ่งใกล้ชิดกัน กลมเกลียวกันเพื่อให้ผ่านอุปสรรคนั้นไป หากอยากผูกมิตรกับใครแบบเข้มข้น หรือปลุกมิตรภาพให้กลับมามีชีวิตชีวา ลองชวนกันไปทำอะไรระทึก ๆ กันสิ เช่น ดูหนังผี (เหมาะกับคู่เดตใหม่ ๆ) เล่นรถไฟเหาะ เล่นกีฬาหวาดเสียว เป็นต้น
กฏของความอยากรู้
ยิ่งทำตัวลึกลับให้อีกฝ่ายอยากรู้เท่าไร ก็จะยิ่งช่วยเพิ่มความเข้มข้นให้กับความสัมพันธ์ และยืดอายุความสัมพันธ์ให้ยาวนานยิ่งขึ้น เพราะมนุษย์นั้นมักจะตอบสนองต่อสิ่งเร้ารอบตัวเพื่อตอบข้อสงสัยของตัวเอง เพื่อให้มั่นใจว่าตัวเองจะอยู่รอดหากมีอะไรเกิดขึ้น
กลยุทธ์นี้อาจจะต้องมีเล่ห์เหลี่ยมกันหน่อย คือต้องค่อย ๆ ล่อให้อีกฝ่ายอยากรู้เกี่ยวกับตัวเรา อย่าเพิ่งไปเปิดเผยหมด
กฏแห่งการตอบแทน
เมื่อใครทำอะไรให้เรา เราก็มักอยากจะตอบแทนเขาให้สมน้ำสมเนื้อ หรือมากกว่านั้น หากอยากผูกมิตรกับใคร ก็ทำสิ่งดี ๆ ให้เขา อย่างง่ายที่สุดเลยคือการยิ้ม เพราะเมื่อเราได้รับยิ้มจากใคร เราก็มักจะอยากยิ้มตอบ ทำให้รู้สึกดี ๆ ต่อกันมากขึ้น
กฏการเปิดเผยตัวเอง
ยิ่งเราเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับตัวเองมากเท่าไร อีกฝ่ายก็มักจะมีความรู้สึกว่าควรเปิดเผยตัวเองให้เท่ากัน คนเรามักจะสนิทกับคนที่ยอมเล่าเรื่องของตัวเองแบบลึก ๆ ยิ่งถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับความรู้สึกแล้ว ก็จะยิ่งรู้สึกใกล้ชิด แต่ถึงอย่างนั้นก็ต้องค่อย ๆ ทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ควรเปิดเผยทุกอย่างเกี่ยวกับตัวเองตั้งแต่ครั้งแรก ๆ ที่คุยกัน เพราะอีกฝ่ายอาจมองว่าเป็นคนปากสว่าง ไม่น่าไว้ใจ แนะนำว่าให้ค่อย ๆ เปิดตามระยะเวลาที่รู้จักกันดีกว่า เปรียบได้กับการ “โปรยเศษขนมปัง” แบบแฮนเซลและเกรเทล ที่สำคัญคืออีกฝ่ายจะต้องตั้งใจฟังพอกัน เพราะถ้าไม่ฟังกันก็เท่ากับไม่ให้ความเคารพ ความสัมพันธ์ก็ไม่ยืดยาว
กฏอารมณ์ขัน
ใครก็ชอบคนมีอารมณ์ขัน การสอดแทรกมุกตลกได้อย่างถูกจังหวะจะช่วยให้บรรยากาศผ่อนคลาย ไม่เครียด คนฟังก็จะรู้สึกมีความสุข และพลอยทำให้เขาชอบผู้พูดไปด้วย หากใครกำลังจีบกัน หยอดมุกตลกนิดหน่อย แล้วลองดูว่าอีกฝ่ายหัวเราะมากแค่ไหน ยิ่งหัวเราะเยอะก็อาจแปลได้ว่าเริ่มชอบมากขึ้น
กฏความคุ้นเคย
ปัจจัยหนึ่งในสูตรมิตรภาพก็คือความใกล้ชิด ยิ่งอยู่ใกล้กันมากเท่าไรก็ยิ่งมีแนวโน้มสนิทกัน ไม่น่าแปลกใจเลยที่เรามักจะสนิทกับคนนั่งข้าง ๆ ในห้องเรียน หรือในออฟฟิศ ผู้ร่วมห้องที่อยู่ห้องข้างกันก็มักจะสนิทกันมากกว่าผู้ร่วมห้องที่อยู่คนละชั้นกัน ในแง่ดี ความห่างไกลไม่ทำให้รักกันมากขึ้นเสมอไป มีแต่จะยิ่งจืดจางกัน
กฏการรวมกลุ่ม
คนนอกกลุ่มมักจะมองกลุ่มกลุ่มหนึ่งเป็นภาพรวม ฉะนั้น หากเราอยากดูดี ก็ควรพาตัวเองไปอยู่ในกลุ่มที่ดูดี เราก็จะถูกมองว่าดูดีตามไปด้วย หากอยากประสบความสำเร็จ ก็ไปคลุกคลีกับกลุ่มคนที่ประสบความสำเร็จ แต่ถึงอย่างนั้น กฏการรวมกลุ่มอาจส่งผลอีกแบบเช่นกัน เพราะหากเปลี่ยนจากการมองรวม ๆ เป็นการเปรียบเทียบระหว่างคน คนที่ดูดีก็ควรไปอยู่ในกลุ่มคนที่ดูธรรมดา เพื่อที่จะได้โดดเด่นยิ่งขึ้น เป็นต้น
กฏความนับถือตัวเอง
คนประเภทนี้จะผูกมิตรกับคนอื่นได้ง่าย พวกเขาเป็นคนมั่นใจในตัวเอง ไม่อึดอัดเวลาตกเป็นเป้าสนใจ สามารถเล่าเรื่องตัวเองได้สบาย ๆ และมองว่าการปฏิเสธนั้นเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ได้ลดทอนคุณค่าในตัวเองแต่อย่างใด หากเป็นคนไม่นับถือตัวเอง ก็จะไม่กล้าเปิดเผยเรื่องตัวเองมากนักเพราะกลัวถูกตำหนิ ซึ่งแม้เจ้าตัวอยากให้ผู้อื่นยอมรับ แต่ตัวเองกลับไม่ยอมรับตัวเอง ก็เป็นเรื่องยากที่คนอื่นจะยอมรับ
คนที่ภูมิใจในตัวเองกับคนยโสนั้นมีเส้นบาง ๆ คั่นอยู่ คนยโสจะเป็นพวกที่คิดว่าตัวเองเหนือกว่าคนอื่น และไม่สุงสิงกับใครเท่าไร จึงถูกมองว่าแตกต่าง คนก็จะไม่ค่อยอยากเข้าใกล้นัก
กฏความหาง่าย/หายาก
อะไรที่ยากจะได้มา สิ่งนั้นจะยิ่งท้าทายและมีคุณค่ามากขึ้น หากเป็นสิ่งของ เราก็มักอยากได้อะไรที่เกินเอื้อม แต่พอได้มาแล้วไม่นานก็เบื่อ ส่วนความสัมพันธ์นั้นก็คล้าย ๆ กัน ถ้าเรียกหาง่ายเกินไปก็อาจจะถูกมองว่าของตาย ให้เล่นตัวซะบ้าง สิ่งนี้ก็ตรงกับที่พ่อแม่มักจะสอนลูกสาวเสมอ ๆ แต่กับความสัมพันธ์ประเภทอื่น ๆ ก็ใช้ได้เช่นกัน แต่ในภาพรวมแล้วควรเป็นการเล่นตัวที่ยังส่งสัญญาณให้อีกฝ่ายรู้ว่าเรายังสนใจนะ ไม่ใช่การเล่นตัวที่เหมือนหนีหายวับไปเลย ไม่งั้นอีกฝ่ายอาจจะคิดว่าเราไม่สนใจแล้ว และยอมแพ้ไป
กฏการตั้งแง่
สิ่งนี้อธิบายได้ถึงความสัมพันธ์ที่ตอนแรกไม่ถูกชะตากัน แต่ไป ๆ มา ๆ ดันชอบกัน และสนิทกันยิ่งกว่าคนที่ตอนแรกรู้สึกโอเคต่อกันซะอีก เป็นไปได้ว่าเส้นทางความสัมพันธ์ที่ขรุขระ ไม่ราบเรียบนั้นทำให้ความสัมพันธ์ยิ่งผูกแน่นขึ้น
กฏบุคลิกภาพ
บุคลิกที่ส่วนใหญ่ใช้กับคือการเป็น Extrovert (คนเปิดตัว) หรือ Introvert (คนปิดตัว) หากเป็นคนเปิดตัวก็จะคุยผูกมิตรได้ง่ายกับคนอื่นกว่า เพราะพวกเขาสบายใจที่จะพบเจอผู้คน ได้พลังงานจากการเข้าสังคม ในขณะที่พวกเก็บตัวนั้นจะชอบปลีกวิเวก ได้พลังงานจากการอยู่กับตัวเอง ไม่ชอบงานสังคมที่มีคนแปลกหน้าเยอะ ๆ แต่ถ้าเป็นคนคุ้นเคยก็จะยังพอรับได้อยู่ เป็นการดีที่เราจะรู้ว่าอีกฝ่ายเป็นคนประเภทไหน เราจะได้วางตัวถูก และคาดหวังได้ถูก หากเป็นคนต่างประเภทกัน ช่วงแรก ๆ อาจจะยากในการจูนให้เข้ากันบ้าง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับการปรับตัวเข้าหากันและกัน
วิธีที่จะช่วยให้เราดูได้เร็ว ๆ ว่าใครเก็บตัว ไม่เก็บตัว ลองพูดประโยคแบบค้าง ๆ ไว้ หากอีกฝ่ายต่อประโยคจนจบให้ ก็อาจแปลได้ว่าเขาเป็นคนเปิดตัว วิธีนี้ยังใช้วัดได้ด้วยว่าเราผูกมิตรกับคนเก็บตัวได้มากขนาดไหน ถ้าผูกมิตรสำเร็จ คนเก็บตัวก็จะต่อประโยคให้ เพราะพวกเขาไม่รู้สึกอึดอัดเวลาอยู่กับเรา
กฏการเสนอสนอง (ให้คำชมเชย)
ถ้ามีโอกาสเมื่อไรก็อย่าลืมชมคนอื่น เพราะมันช่วยสร้างไมตรีจิตรได้ดี ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกดีกับตัวเอง แล้วเขาก็จะชอบเราไปด้วย ทั้งนี้ทั้งนั้นคำชมควรจริงใจ ตรงกับความเป็นจริง ถ้าสักแต่ว่าชม หรือ ชมแบบเฟก ๆ อีกฝ่ายก็จะรู้ว่าเราโกหก ไม่น่าไว้วางใจแทน
5. พูดภาษามิตรภาพ
นอกจากการใช้ท่าทางที่เป็นมิตรแล้ว สิ่งที่จะทำให้ความสัมพันธ์ดำเนินหน้าต่อไปได้ก็คือการพูดคุย หัวใจหลักของการพูดที่จะทำให้คนอื่นชอบคือ ยิ่งเปิดทางให้อีกฝ่ายพูดเยอะเท่าไร ยิ่งเราฟังเขาเล่ามากเท่าไร ยิ่งแสดงความเห็นใจและตอบรับในเชิงบวกเท่าไร อีกฝ่ายก็มีแนวโน้มว่าจะรู้สึกดีกับตัวเองมากเท่านั้น ซึ่งก็จะส่งผลให้เขาชอบเราไปด้วย
หลีกเลี่ยงคำพูดที่จะทำให้เกิดภาวะแบบนี้
ถ้าฉันถูก คุณก็ผิด: ถ้าเราบอกว่าตัวเองถูก ก็เหมือนเหมาว่าอีกฝ่ายผิดไปโดยปริยาย ใครจะชอบให้คนอื่นบอกว่าตัวเองผิดละ เมื่ออีกฝ่ายได้รับคำพูดเช่นนี้ ก็จะหาทางต่อต้าน ไม่รับฟัง ปกป้องอัตตาของตัวเอง
แบ่งเขาแบ่งเรา: การใช้คำแทนตัวว่า “ฉัน” หรือ “เธอ” เป็นการแบ่งฝักฝ่ายให้เหมือนอยู่ตรงข้ามกัน ไม่ใช่ทีมเดียวกัน ทำให้ต้องมีฝ่ายแพ้-ชนะเกิดขึ้น ส่งผลให้เกิดบรรยากาศชิงดีชิงเด่น
ความรับรู้ไม่ลงรอย: ภาวะนี้เกิดขึ้นเมื่อเผชิญความเชื่อที่ขัดแย้งกัน เช่น ถ้าอีกฝ่ายพูดถูก แปลว่าอีกฝ่ายฉลาด เราที่เป็นฝ่ายผิดก็ดูโง่ ฝ่ายที่รู้สึกอึดอัดอาจเลือกที่จะไม่รับฟังหรือต่อต้าน
อัตตา: เป็นสิ่งที่น่ากลัวมาก คนเรามักจะคิดว่าตัวเองสำคัญที่สุด ไม่อยากให้ใครมาข่มง่ายๆ การยึดถือในตัวเองมากๆ ทำให้ไม่ยอมอีกฝ่าย อาจส่งผลให้ไอเดียดีๆ ไม่เกิดขึ้น
ทางแก้: แม้จะรู้ว่าตัวเองถูกแน่ๆ แต่อย่าบอกไปตรงๆ ให้ใช้วิธี “ขอคำแนะนำ” จากอีกฝ่ายแทน เช่น แทนที่จะบอกเจ้านายว่า “ฉันเจอวิธีที่ถูกแล้ว คุณทำผิดมานาน” ก็เปลี่ยนเป็น “ฉันค้นพบวิธีหนึ่งที่อาจจะช่วยให้บริษัทได้กำไรมากขึ้น อยากขอคำแนะนำจากท่านค่ะ” ใช้คำว่า “เรา” หรือจุดร่วมเดียวกัน เช่น “บริษัทของเรา” “ทีมของเรา” ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่า มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และถ้าเกิดผลดี เขาก็จะได้รับความดีความชอบไปด้วย
4 หลักการฟังอย่างตื่นตัว (Active Listening)
ยิ่งเราฟังอีกฝ่ายพูดอย่างตั้งใจมากเท่าไร เราก็จะยิ่งสังเกตอะไรหลายๆ อย่างได้มากขึ้น และสามารถเลือกใช้คำพูดที่ถูกต้องเพื่อสร้างสัมพันธ์ได้ แน่นอนว่าการฟังอย่างตื่นตัวนั้นไม่เหมือนกับการฟังลอยๆ เข้าหูซ้ายทะลุหูขวา แต่เป็นการฟังแบบที่ตั้งใจจริงๆ มีหลักการทั้งหมด 4 อย่างด้วยกัน ตัวย่อคือ LOVE (Listen, Observe, Vocalize, Emphathize)
กฏข้อที่ 1: Listen – ตั้งใจฟังอีกฝ่ายให้ดี
ทุกอย่างเริ่มต้นจากการฟังอย่างตั้งใจ วิธีที่จะช่วยให้จดจ่อได้ดีที่สุด รวมถึงสื่อผ่านภาษากายให้อีกฝ่ายรู้ว่าเราตั้งใจฟังเขาจริงๆ คือการมองตาผู้พูด อาจจะไม่ต้องมองตลอดเวลา แบบนั้นอาจจะอึดอัดไป แต่ให้คอยมองเรื่อยๆ ประมาณ 2/3 หรือ 3/4 ของระยะเวลาที่เขาพูด ที่สำคัญคืออย่าพูดแทรก คนส่วนใหญ่จะชอบคนที่ปล่อยให้ตัวเองพูดคุยได้ตามสบาย
สิ่งที่จะช่วยให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าเราตั้งใจฟังเขาคือการใช้คำพูดบอกความเข้าใจ ใครๆ ก็ชอบให้คนอื่นใส่ใจตัวเอง ใครๆ ก็ชอบเล่าเรื่องตัวเองกันทั้งนั้น ยิ่งเราตั้งใจฟังเขาเล่าเรื่อง เขาก็จะยิ่งชอบเรา
กฏข้อที่ 2: Observe – ตั้งใจสังเกตอีกฝ่าย
ท่าทางต่างๆ ที่อีกฝ่ายแสดงออกมานั้นหากเราสังเกตให้ดีๆ ก็แทบจะเหมือนการเข้าไปนั่งอ่านใจเขาเลย เราจะได้รู้ว่าเขาพอใจกับสิ่งที่เราพูดหรือไม่ หรือเราเผลอพูดอะไรไม่ดีไปรึเปล่า บางทีเราอาจจะเผลอเหยียบ “กับระเบิดถ้อยคำ” โดยไม่รู้ตัว นี่คือคำพูดที่เราไม่คิดว่าจะทำให้อีกฝ่ายรู้สึกไม่ดี และหลายๆ ครั้งอีกฝ่ายก็อาจจะไม่ได้บอกเราตรงๆ แต่อาจจะแสดงผ่านท่าทางทีเผลอแทน หน้าที่ของเราคือต้องคอยสังเกต และถ้ามีสัญญาณผิดปกติเมื่อไร ก็ต้องรีบใช้คำพูดแก้ไข บอกความเข้าใจ ให้อีกฝ่ายระบายออกมา
ตัวอย่างภาษากายที่บ่งบอกความรู้สึกคน
ห่อปาก: บ่งบอกความรู้สึกขัดแย้ง ไม่เห็นด้วย หากเห็นใครทำท่าทางนี้ ให้รีบใช้คำพูดบอกความเข้าใจ และพยายามโน้มน้าวอีกฝ่ายให้ได้ก่อนที่เขาจะเอ่ยปากออกมาว่าไม่เห็นด้วย เพราะถ้าพูดเมื่อไร ก็ยากที่จะเปลี่ยใจ เพราะคนเรามักจะยึดมั่นในสิ่งที่ตัวเองพูดไปแล้ว
กัดริมฝีปาก: บ่งบอกว่าอยากพูดอะไรสักอย่าง แต่ยังลังเล
เม้มปาก: บ่งบอกว่าคิดจะพูดอะไรสักอย่าง แต่ก็ไม่อยากพูดออกมา
แตะปาก: บ่งบอกว่ารู้สึกอึดอัดกับหัวข้อที่คุยอยู่
กฏข้อที่ 3: Vocalize – เลือกใช้น้ำเสียงให้ถูก สื่อสารให้ถูก
นอกจากเนื้อความที่สื่อไปแล้ว น้ำเสียงก็มีส่วนช่วยในการสื่อสารเหมือนกัน ในหลายๆ ครั้งเรามักจะไม่แน่ใจว่าสิ่งที่สื่อสารผ่านอีเมลหรือแชตนั้นหมายความอย่างไรกันแน่ อีกฝ่ายล้อเล่นหรือพูดจริง นั่นก็เพราะไม่มีน้ำเสียงมาช่วยสื่อตรงนี้ (จึงต้องเกิดการใช้ emoticon ขึ้นมา)
นอกเหนือไปจากการพูดเพื่อผูกมิตรโดยเฉพาะแล้ว บางทีเราอาจจะเจอสถานการณ์ที่ไม่ใช่การผูกมิตร แต่ก็ยังต้องใช้คำพูดที่ดีเพื่อโน้มน้าวอีกฝ่าย หรือให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าเราเป็นมิตรด้วย
กลยุทธ์ที่ 1: เมื่อเราเป็นฝ่ายถูก อีกฝ่ายเป็นฝ่ายผิด ควรเปิดทางให้เขารักษาหน้าด้วยการคล้อยตามเราโดยอับอาย/เสียหน้าน้อยที่สุด
อย่างที่บอกข้างต้น เราไม่ควรไปบอกตรงๆ ว่าอีกฝ่ายผิด เพราะจะยิ่งทำให้อีกฝ่ายรู้สึกแย่ ไม่ชอบขี้หน้าเรา เพราะเราทำให้เขารู้สึกเสียหน้า ทางที่ดีคือใช้วิธีขอคำแนะนำ หรือให้ทางเลือกที่อีกฝ่ายเลือกเองได้ เหมือนในกรณีของผู้เขียนที่ต้องไล่คนเมาลงจากเครื่องบิน แทนที่จะไล่ไปตรงๆ เขาให้ทางเลือกว่าจะลงไปเองแล้วไปร้องเรียนที่สนามบิน เพื่อบินฟรี หรือจะให้จับใส่กุญแจมือแล้วเข้าคุก แน่นอนว่าคนเมาเลือกข้อแรก ผู้เขียนทำให้คนเมารู้สึกว่าตัวเองมีสิทธิ์เลือกเอง ทั้งที่จริงๆ แล้วตัวเลือกถูกจำกัดมาแล้วต่างหาก
กลยุทธ์ที่ 2: ยกเทียบคนดัง
ใครๆ ก็อยากให้เปรียบตัวเองเหมือนคนดังที่สูงส่งกว่าทั้งนั้น หากสบโอกาส ลองใช้เทคนิคนี้ดู เช่น กรณีผู้เขียนไปเจอนักเขียนคนหนึ่ง เขาเอ่ยชมว่าสไตล์การเขียนของเธอคล้ายเจน ออสเตน นักเขียนคนนั้นดีใจมาก และเล่าเกี่ยวกับชีวิตของเธอให้ฟัง เห็นได้ชัดว่าเธอชอบที่ผู้เขียนชมเธอแบบนั้น จึงยอมเล่าเรื่องของตัวเองได้อย่างไม่ติดขัด
กลยุทธ์ที่ 3: หากอยากได้ข้อมูลจากอีกฝ่ายโดยที่ไม่ให้อีกฝ่ายรู้ตัว ให้ใช้วิธีเลียบเคียง
อย่าถามตรงๆ เพราะเป็นไปได้ว่าคำตอบนั้นเป็นความลับที่เขาไม่ควรบอกเรา เราต้องมีเทคนิคนิดหน่อย
เทคนิคแรก: เลียบเคียงด้วยการสันนิษฐานบอกความเข้าใจ
เราได้กลับมาใช้คำพูดสื่อความเข้าใจอีกครั้ง ตัวอย่างเช่น ลูกค้าบอกพนักงานขายว่าอยากได้เครื่องซักอบผ้าเครื่องใหม่ พนักงานขายก็ตอบไปว่า “เครื่องเก่าที่ใช้อยู่ทำงานไม่ดีแล้วหรือครับ” นี่เป็นการโยนหินถามทางโดยอิงจากสิ่งที่อีกฝ่ายบอก ทำให้อีกฝ่ายบอกข้อมูลมากขึ้น หากตรงตามที่พนักงานขายเข้าใจ ก็จะได้พาไปดูสินค้าได้ถูก แต่ถ้าไม่ใช่ แล้วลูกค้าบอกว่า “เปล่า ผมจะย้ายไปอยู่อพาร์ตเมนต์เล็กๆ” พนักงานขายก็รู้แล้วว่าต้องพาไปยังเครื่องที่มีขนาดกะทัดรัด
เทคนิคที่สอง: เลียบเคียงด้วยการเสนอเงื่อนไขบอกความเข้าใจ
เทคนิคนี้มีความคล้ายกับอันก่อน แต่จะเติมเงื่อนไขเข้ามา ตัวอย่างเช่น พนักงานได้รับคำตอบจากลูกค้าที่กำลังเล็งๆ รถยนต์ว่า “ผมอยากได้รถคันใหม่ แต่ไม่แน่ใจว่าจะซื้อไหวหรือเปล่า” พนักงานก็อาจจะบอกว่า “ถ้าราคาพอเหมาะ คุณก็คงจะซื้อใช่มั้ยครับ” ซึ่งถ้าลูกค้าตอบว่า “แน่นอน” พนักงานก็จะได้พาไปยังรถยนต์ที่อยู่ในงบของลูกค้า
อีกกลยุทธ์นึงที่ประยุกต์ใช้ได้กับสองเทคนิคข้างต้นคือการหย่อนคำพูดให้อีกฝ่ายรู้สึกอยากแก้ บางทีอาจจะเป็นเพียงข้อสันนิษฐานของเรา แต่ถ้ามันไม่ตรงกับความจริง อีกฝ่ายก็จะคันปากอยากพูด และอาจจะโพล่งความลับออกมาได้ ตัวอย่างเช่นผู้เขียนที่ต้องการต่อราคาจี้เพชร แต่เขาไม่รู้ว่าราคาที่ทางร้านบอกผ่านนั้นคือเท่าไร และร้านจ่ายคอมมิชชั่นให้พนักงานเท่าไร ตอนที่ซื้อเขาจึงสันนิษฐานตัวเลขเหล่านี้ขึ้นมาสูงๆ แต่เพราะมันไม่เป็นความจริง พนักงานจึงรีบแก้ให้ สุดท้ายก็ลงเอยด้วยการที่ผู้เขียนได้ซื้อจี้เพชรในราคาที่ต่ำกว่าราคาเดิมถึง 30%
เทคนิคที่ 3: ชวนคุยถึงบุคคลที่สาม
ลองคิดดูว่าถ้าฝ่ายหญิงถามฝ่ายชายว่า “คุณจะนอกใจฉันไหม” ยังไงฝ่ายชายก็ต้องตอบว่า “ไม่มีทาง”
แต่สมมติว่า ถ้าฝ่ายหญิงยกตัวอย่างว่า “เพื่อนของฉันถูกแฟนนอกใจ คุณคิดว่าไง” หากโชคดีฝ่ายชายอาจจะบอกว่า “การนอกใจมันผิดมากเลยนะ ผมไม่มีทางทำแบบนั้นแน่ๆ” แต่ถ้าโชคร้าย ฝ่ายชายอาจจะพูดความจริงที่อยู่ในใจว่า “นอกใจเหรอ ใครๆ เขาก็ทำกัน” หากเป็นแบบนี้ ฝ่ายชายได้แสดงความคิดเห็นที่แท้จริงผ่านสถานการณ์ของบุคคลที่สาม ซึ่งพอจะบอกได้คร่าวๆ ว่าเขาเองก็อาจจะนอกใจฝ่ายหญิงได้เช่นกัน
กฏข้อที่ 4: Emphathize – แสดงความเห็นอกเห็นใจ
ใครๆ ก็ชอบคนที่เอาใจเขามาใส่ใจเรา เวลาเจอใครเหนื่อยๆ ก็อาจจะเข้าไปชวนคุยได้ว่า “ดูท่าทางวันนี้คุณยุ่งน่าดูเลย” หรือแอบชมแบบนี้ก็ได้ว่า “โห งานยุ่งขนาดนี้ เป็นฉันฉันรับไม่ไหวแน่ๆ”
กลยุทธ์นี้ใช้ได้กับลูกที่มีเรื่องปิดบัง ไม่คุยกับพ่อแม่เช่นกัน แทนที่พ่อแม่จะถามตรงๆ ก็ใช้ประโยคแสดงความเข้าใจแทนว่า “ลูกดูมีเรื่องไม่สบายใจ แต่คงยังไม่อยากพูดตอนนี้ ไว้สบายใจเมื่อไรก็มาบอกนะ จะได้คุยกัน”
หลุมพรางการสนทนาที่ต้องหลีกเลี่ยง
- อย่าพูดเรื่องที่ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกแย่
- อย่าพูดถึงแต่ปัญหาของตัวเอง หรือคุยแต่เรื่องตัวเอง
- อย่าคุยแต่เรื่องไร้สาระ
- อย่าแสดงอารมณ์มากหรือน้อยเกินไป
6. สร้างความสนิทสนม
บทนี้จะกล่าวถึงลักษณะท่าทางต่างๆ ที่บอกให้รู้ว่าอีกฝ่ายรู้สึกสนิทสนมกับเรามากขึ้น นอกจากนี้เรายังใช้ประเมินความสัมพันธ์ของคนอื่นๆ ได้ด้วย
ลักษณะท่าทางที่บ่งบอกว่าคนคนนั้นรู้สึกสนิทสนม ก็อย่างเช่น
- ระดับการสัมผัส ยิ่งโอบไหล่โอบเอวก็ยิ่งสนิทมากเท่านั้น ถ้าเพิ่งสนิทกันอาจจะแค่แตะแขนแตะไหล่เบาๆ
- เสริมสวยเสริมหล่อให้อีกฝ่าย
- เลียนแบบพฤติกรรมอีกฝ่าย
- สบตาพร้อมปัดผม
- เอนตัวเข้าหากัน
- ส่งท่าทางเปิดรับ เช่น ขานรับบทสนทนา ไม่กอดอก เอนตัวเข้าหา
- ขยับตัวเปลี่ยนท่าให้เข้าหากันมากขึ้น
- ไม่มีสิ่งกีดขวางกั้นระหว่างทั้งคู่ (รวมถึงการกอดอกด้วย)
7. ถนอมรักษาความสัมพันธ์ระยะยาว
ถ้าอยากผูกสัมพันธ์กับใครยาว ๆ ความห่วงใยที่มีต่อกันนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก ความห่วงใยหรือ CARE นั้นประกอบไปด้วย 4 หลัก ซึ่งก็แตกมาจากตัวอักษรภาษาอังกฤษเลย
C = Compassion / Concern (สงสาร/ใส่ใจ)
A = Active Listening (ตั้งใจฟัง)
R = Reinforcement (ส่งเสริม)
E = Empathy (เห็นใจ)
C = Compassion / Concern (สงสาร/ใส่ใจ)
การแสดงให้อีกฝ่ายเห็นว่าเราใส่ใจเขาจริง ๆ ไม่ใช่แค่แกล้งทำไปอย่างนั้น จะมีแนวโน้มทำให้อีกฝ่ายรู้สึกดี และอยากตอบแทนเราด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในช่วงเวลายากลำบาก เช่น ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งป่วย การเข้าไปช่วยดูแล อยู่เคียงข้างนั้นก็แสดงให้เห็นแล้วว่าเราพร้อมช่วยเหลือในยามทุกข์ยาก จริง ๆ ไม่ต้องรอจนถึงขั้นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งป่วยหรอก เราสามารถแสดงความใส่ใจได้ในสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น ช่วยทำนู่นนี่ให้ เอ่ยปากชม ช่วยปลอบ ช่วยเสริมความมั่นใจ เป็นต้น
A = Active Listening (ตั้งใจฟัง)
การตั้งใจฟังจะช่วยให้เราเข้าใจอีกฝ่ายขึ้นได้เยอะมาก จะรู้ว่าเขาชอบ ไม่ชอบอะไร รู้ว่าเขาต้องการอะไร ต้องเลี่ยงหัวข้อไหน ซึ่งยิ่งรู้สิ่งเหล่านี้ เราก็จะยิ่งสามารถนำมันมาผูกสัมพันธ์ระยะยาวได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งยิ่งคบกันนาน ๆ ก็จะยิ่งได้เปรียบ เพราะรู้จักอีกฝ่ายมากกว่าคนที่เพิ่งรู้จักกันเมื่อไม่นานมานี้ ถึงอย่างนั้นสิ่งที่ต้องระวังก็คือบางทีเวลาทะเลาะกัน พอเรารู้ว่าอีกฝ่ายไม่ชอบอะไร ตรงไหนที่จี้ใจดำ เราก็มักจะถูกกระตุ้นให้ดึงจุดนั้นมาเล่นงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เพราะจะยิ่งทำให้ความสัมพันธ์แย่ลงไปอีก
กลยุทธ์ตั้งใจฟังให้ได้ผลยิ่งขึ้น
- ฟังอีกฝ่ายพูดให้จบก่อนแล้วค่อยพูด
- หาสถานที่เหมาะ ๆ กับการพูดคุย ยิ่งเป็นเรื่องสำคัญ ยิ่งต้องเป็นที่ที่ส่วนตัว ไม่พลุกพล่าน
- ระหว่างฟังอีกฝ่าย อย่ามัวแต่คิดว่าตัวเองจะพูดอะไร
- กระตุ้นด้วยการพยักหน้าหรือพูดสะกิด ให้อีกฝ่ายเปิดมากขึ้น
- สังเกตภาษากาย
- พร้อมจะชมอีกฝ่ายเมื่อเขาพูดสิ่งที่ดี
- หากอีกฝ่ายพูดอะไรไม่ถูกใจ หรือเราไม่เห็นด้วย อย่าเพิ่งแย้งทันที ให้ลองคิดก่อนว่ามีส่วนจริงไหม หรือมีส่วนไหนที่พอเห็นพ้องกันได้บ้าง
- หากอีกฝ่ายผิดจริง ควรหาช่องให้เขายอมรับผิดโดยไม่เสียหน้า
- ขอเวลานอก ถ้าบทสนทนาเริ่มไปได้ไม่ดี
R = Reinforcement (ส่งเสริม)
นี่คือการพูดชมหรือติอีกฝ่าย สิ่งที่ต้องระวังมาก ๆ มีดังนี้
1) ชมหรือติอีกฝ่ายอย่างไม่สมควร
ตัวอย่างก็เช่น บางคนเป็นพวกชอบคิดติดลบ ไม่เคยชม มีแต่จะติ บางคนเป็นพวกฝักใง่ความสมบูรณ์แบบ ถ้างานไม่ถึงมาตรฐานอันสูงส่งของตัวเองก็จะไม่ชมเลย หรือบางคนเป็นพวกซาดิสม์ คือชมก็ชม แต่พออีกฝ่ายทำผิดครั้งหนึ่ง คำติที่ได้รับกลับมหาศาลเทียบไม่เท่าเวลาชม คือทำผิดครั้งนึงแทบจะลบประวัติความดีงามไปหมดเลย หากใครมีพฤติกรรมเหล่านี้ก็ควรจะต้องพัฒนาตัวเองใหม่ เพราะคงไม่มีใครชอบอยู่กับคนที่เอาแต่จะจับผิด ว่าร้ายกันหรอก
2) ไม่ให้ความใส่ใจด้านบวกกับอีกฝ่ายมากพอ
หลายคนพอรู้จักกันไปนาน ๆ ก็เริ่มชินชาต่อกัน ไม่เหมือนช่วงแรก ๆ ที่ชอบกัน ชมกันตลอดเวลา ทำนู่นทำนี่ให้กัน พอคบกันไปนาน ๆ พฤติกรรมเหล่านั้นเริ่มจางหาย ซึ่งยิ่งทำให้ความสัมพันธ์จืดจาง จริง ๆ ก็ควรจะนำพฤติกรรมเหล่านั้นกลับมาใช้เช่นกัน ตัวอย่างก็เช่น
- เอ่ยชมอย่างจริงใจเมื่ออีก่ายทำอะไรดี ๆ
- อย่าลืมวันสำคัญของอีกฝ่าย เช่น วันเกิด วันครบรอบ วันพิเศษต่าง ๆ
- เปิดช่องให้อีกฝ่ายมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ
- เมื่อสบโอกาส ก็หนุนให้อีกฝ่ายเป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป
3) ให้สิ่งที่ไม่ตรงใจอีกฝ่าย
หลายครั้งที่การให้ของขวัญไม่ได้ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกแฮปปี้ เพราะของที่ได้นั้นไม่ตรงกับความต้องการจริง ๆ ปัญหานี้ต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ต้นตอ เราต้องถามตัวเองว่าเราใส่ใจอีกฝ่ายมากพอรึยัง มากพอจะมองเห็นคำบอกใบ้ต่าง ๆ ว่าอีกฝ่ายอยากได้อะไรบ้างไหม จริงๆ วิธีที่ดีที่สุดคือการถามตรง ๆ ว่าอยากได้อะไร แต่มันก็จะไม่เซอร์ไพรส์ อีกวิธีนึงที่พอช่วยได้คือให้อีกฝ่ายลิสต์มาว่าอยากได้อะไรบ้าง แล้วเราก็เลือกซื้ออย่างหนึ่งให้เป็นของขวัญ วิธีนี้ทำให้พอลุ้นได้บ้าง แม้ว่าจะไม่ได้เซอร์ไพรส์แบบ 100% ก็ตาม
E = Empathy (เห็นใจ)
ความเห็นใจก็คือการเข้าอกเข้าใจ และใส่ใจกับความรู้สึกของอีกฝ่าย ในกรณีนี้คำพูดบอกความเข้าใจจะเข้ามามีบทบาทเยอะมาก พวก “คุณคงรู้สึกแย่มากสินะ” “ดูเหมือนว่าคุณมีเรื่องกังวลใจ แต่ยังไม่อยากพูดอะไร” สามารถถูกหยิบมาใช้ได้เมื่อเห็นว่าอีกฝ่ายดูหมองหม่น
เจอคนโกรธ รับมือยังไงดี?
พออีกฝ่ายโกรธ เป็นไปได้มากว่าเราจะโกรธตาม ซึ่งก็ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น ทางที่ดีคือเราต้องเป็นฝ่ายคุมสติ ใจเย็น ค่อย ๆ หาทางกล่อมให้อีกฝ่ายค่อยๆ คลายโกรธลง แม้จะดูเป็นเรื่องยากแต่มันก็มีวิธีอยู่
1) อย่าต่อปากต่อคำ เพราะอีกฝ่ายไม่ได้คิดด้วยเหตุผล
เวลาคนเราโกรธ มันจะกระตุ้นปฏิกิริยาสู้หรือหนี คนคนนั้นจะไม่สามารถคิดด้วยเหตุผลได้แล้ว ไม่ว่าจะพูดอะไรเขาก็ไม่ฟัง ต้องใช้เวลาประมาณ 20 นาทีร่างกายถึงจะกลับสภาวะตามเดิม บางคนจึงใช้กลยุทธ์หนีออกไปห่าง ๆ ก่อนแล้วค่อยกลับมาคุยกัน
แต่ถ้าเลี่ยงไม่ได้ต้องปะทะจริง ๆ ก็ต้องเลือกใช้คำพูดให้ถูก กลยุทธ์แรกคืออย่าชี้แจงเหตุผล ปล่อยให้เจ้าตัวระบายอารมณ์ให้เต็มที่ไปเลย จากนั้นค่อยเสนอทางแก้ไขปัญหา หรืออีกทางหนึ่งก็คือชี้แจงถึงปัญหาที่เกิดขึ้น (ปัญหาที่นำมาสู่เรื่องที่ทำให้อีกฝ่ายโกรธ) ก็อาจจะช่วยให้โลกที่ดูไร้ระเบียบของคนโกรธ ดูเรียบร้อยขึ้นมาบ้าง เช่น ชี้แจงว่าที่งานยังไม่เสร็จ เพราะทีมนู้นยังไม่ส่งข้อมูลมาให้ เป็นต้น
2) ใช้คำพูดบอกความเข้าใจ ปล่อยให้ระบาย และกล่าวรับรองให้มั่นใจ
ถ้าหากชี้แจงปัญหาแล้วอีกฝ่ายยังไม่ถูกโน้มน้าว คิดว่าเป็นแค่ข้ออ้าง ก็อาจจะลองใช้ 3 กลยุทธ์นี้ควบคู่กันไป อาจจะใช้คำพูดบอกความเข้าใจประมาณว่า คุณอารมณ์เสียเพราะรายงานไม่ทันส่งให้ลูกค้า ปล่อยให้อีกฝ่ายระบายออกมา แล้วค่อยเสริมความมั่นใจว่า เดี๋ยวจะไปเอาข้อมูลจากทีมนู้นให้เลย เสร็จทันเจอลูกค้าแน่นอน
ทำไมความสัมพันธ์ถึงยังเสื่อมได้ ทั้งที่พยายามรักษา?
มีปัจจัยมากมายที่สามารถเข้ามากระทบความสัมพันธ์ได้ แม้ว่าจะพยายามรักษาเต็มที่แล้ว ตัวอย่างก็เช่น
- ความสนใจของต่างฝ่ายต่างเปลี่ยนไป
- ลูก ๆ ย้ายออกจากบ้าน พ่อแม่เลยแยกย้ายบ้าง
- อยากเป็นอิสระมากขึ้น
- อยากเปลี่ยนแปลงชีวิต
- นิสัยเปลี่ยนไป
- มีบุคคลที่สามแทรกแซง
- เริ่มเบื่อหน่าย
- จู่ ๆ ก็เข้ากันไม่ได้
ปัญหาเหล่านี้ หากต่างฝ่ายยังอยากดำรงความสัมพันธ์ไว้ ก็ย่อมสามารถจับเข่าคุยเพื่อหาทางแก้ได้ แต่โดยส่วนใหญ่คนเรามักจะยอมแพ้ ไม่อยากสานต่อแล้วเพราะปัญหาดังกล่าวมันเกินทน ก็คงถึงเวลาต้องแยกย้ายกันไป
8. ความสัมพันธ์ในโลกดิจิทัล
อยู่ในยุคนี้ พวกการสื่อสารผ่านออนไลน์นั้นเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว จริงอยู่ที่ว่ามันลดทอนลักษณะสำคัญที่ช่วยให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เช่น พวกอวัจนภาษาทั้งหลาย แต่การมาของโลกออนไลน์ก็เปิดโอกาสให้คนสร้างมิตรภาพได้ง่ายขึ้นเช่นกัน
เหตุผลที่ว่ามันง่ายขึ้นก็เพราะ ในโลกออนไลน์นั้นเอื้อให้ทำในหลาย ๆ อย่างที่อาจจะกระอักกระอ่วนในชีวิตจริง เช่น คนเก็บตัวก็จะกล้าสื่อสารมากขึ้นในโลกออนไลน์ เพราะมีเวลาคิดไตร่ตรองก่อนพิมพ์ ผู้คนตามหากลุ่มคนที่ชอบเรื่องเดียวกันได้ง่ายขึ้น เพียงแค่เข้าเว็บหรือชุมชนดังกล่าว ผู้คนไม่ต้องใส่ชื่อนามสกุลจริง ทำให้ไม่รู้ว่าเป็นใคร
แต่ก็เพราะความง่ายนี่แหละ บางทีก็เป็นหลุมพราง เพราะอาจมีมิจฉาชีพที่ใช้ความได้เปรียบนี้ หลอกว่าตัวเองเป็นคนนู้นคนนี้แล้วลวงให้อีกฝ่ายทำอะไรไม่ดี อย่างในหนังสือก็มีกรณีที่มิจฉาชีพปลอมตัวเป็นผู้หญิงแล้วหลอกให้ผู้ชายขนยาเสพติดให้
หนึ่งในวิธีที่จะช่วยพิสูจน์ได้ว่าอีกฝ่ายเป็นตัวปลอมหรือจริงก็คือนัดให้มาเจอกันโดยตรง หรือวิดีโอคอลล์แบบคุยเห็นหน้า เพราะถ้าไม่มีอะไรต้องปิดบังจริงก็ไม่มีเหตุให้ต้องปิดบังหน้าตา แต่ถ้าอีกฝ่ายเริ่มบ่ายเบี่ยง หาข้ออ้าง ก็เริ่มสังหรณ์ไว้เลยว่าอีกฝ่ายมีพิรุธ
วิธีตรวจจับการโกหกของอีกฝ่ายนั้นสามารถทำได้ทั้งออนไลน์แล้วออฟไลน์ (แต่ออฟไลน์จะง่ายกว่า ตัวอย่างเช่น
- ลองถามตรงๆ ว่า “ใช่หรือไม่” หากอีกฝ่ายไม่ตอบคำถามทันที แล้วเริ่มต้นประโยคว่า “เอ่อ…” นั่นหมายความคำตอบของอีกฝ่ายน่าจะเป็นอะไรที่ไม่อยากตอบเท่าไร
- หากถามคำถามแล้วอีกฝ่ายพยายามเฉไฉหรือพูดวกวน ก็เป็นไปได้ว่าเขากำลังปิดบังอะไรบางอย่าง เพราะถ้าไม่มีอะไรจริงๆ ก็ตอบง่ายๆ ซะก็สิ้นเรื่อง
- ถามว่า “ทำไมฉันต้องเชื่อเธอ” อันนี้อาจจะฟังดูก้าวร้าวหรือกวนตีนไปบ้าง แต่ถ้าอีกฝ่ายพูดความจริง เขาก็จะตอบแค่ว่า “ก็ฉันพูดความจริง ไม่เชื่อก็ไม่เป็นไร” แต่ถ้าอีกฝ่ายโกหก อาจจะลุกลี้ลุกลนแล้วตอบมั่วไปเรื่อย เช่น ก็ฉันไม่ได้ทำนี่ ก็ฉันไม่ใช่ขโมย ฯลฯ
- ตั้งสมมติฐานเทียบเคียง อย่าคิดว่าอีกฝ่ายจะเป็นแบบนี้แน่นอน แต่ให้ลองคิดอีกมุมไว้ด้วย ถ้าเขาไม่ใช่ล่ะ? ลองตั้งสมมติฐานทั้งสองคู่กัน แล้วค่อย ๆ เก็บหลักฐานระหว่างดำเนินความสัมพันธ์
สรุปส่งท้าย
สุดท้ายแล้วกลยุทธ์พวกนี้ ก็ต้องลองนำไปฝึกใช้จริง ถึงจะเชี่ยวชาญและสามารถทำได้อย่างเป็นธรรมชาติ หรือไม่ก็ลองสังเกตตัวเองและคนอื่น ๆ ย้อนหลังดูก็ได้ว่าเราเผลอออกท่าทางแบบใดไปบ้าง บางทีก็จะเจอเหมือนกันว่าพวกเราส่งสัญญาณเป็นมิตรหรืออริให้กันโดยไม่รู้ตัว เราคิดว่าพอรู้กลยุทธ์เหล่านี้ ก็จะทำให้การสังเกตหรือสร้างความสัมพันธ์เป็นเรื่องที่สนุกและสะดวกขึ้น เหมาะสำหรับคนที่ไม่รู้จะเข้าหาคนอื่นยังไง หรือวางตัวในสังคมไม่ถูก อะไรแบบนี้
โดยรวมแล้ว The Like Switch เป็นหนังสือที่เปรียบเสมือน How-To การมีความสัมพันธ์ที่ดี โดยเริ่มตั้งแต่เห็นหน้ากันครั้งแรก ยันสานสัมพันธ์กันระยะยาวเลย ในหนังสือมี Case Study บอกเล่าให้เข้าใจการใช้ทริกต่าง ๆ ในเชิงปฏิบัติมากขึ้น มีภาพประกอบการออกท่าออกทาง มีแบบฝึกหัดให้ลองทำ เราว่าเป็นหนังสือที่ดีสำหรับใครที่สนใจแนวจิตวิทยาเชิงพฤติกรรม
ไม่ใช่แค่เอาไว้ใช้เอง แต่เอาไว้สังเกตคนอื่นก็สนุกดีเหมือนกันนะ