ก่อนที่จะได้ดูหนัง เราคุ้นชื่อ คิมจียอง เกิดปี 82 ในฐานะวรรณกรรมเรื่องหนึ่งที่จุดกระแสเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ รวมถึงได้รับการโจมตีอย่างหนักเช่นกัน เช่น กรณีที่ไอรีน วง Red Velvet อ่านหนังสือเล่มนี้ ก็ทำให้เหล่าแฟนบอยไม่พอใจถึงขั้นแบนเธอเลยทีเดียว
ตัวเราเองนั้นไม่เคยอ่านหนังสือ (เคยเล็งๆ ไว้แต่ก็ไม่ได้อ่านสักที T T) เลยมาดูหนังก่อนละกัน
คิมจียอง เกิดปี 82 เล่าเรื่องของหญิงสาวชื่อโหลอย่างคิมจียอง (Jung Yu Mi) กับชีวิตหลังแต่งงานมีลูก จากผู้หญิงทำงานแกร่งๆ ก็กลายมาเป็นแม่บ้านลุคโทรม อยู่บ้านเลี้ยงลูก โดยมีสามีอย่างจองแดฮยอน (Gong Yoo) เป็นผู้ออกไปทำงานหาเงินคนเดียว นานวันเข้า ชีวิตที่เปลี่ยนไปก็เริ่มสร้างความเปลี่ยนแปลงให้จียอง ซึ่งแสดงออกมาในรูปแบบอาการแปลกๆ ที่บางทีเธอจะพูดจาเหมือนกลายเป็นคนอื่น เช่น ยายของเธอ แม่ของเธอ เป็นต้น
ดูจากพล็อตเรื่องใหญ่ๆ แล้ว อาจจะรู้สึกว่า หนังไม่น่ามีอะไรให้เล่าถึงขนาดกินเวลาไปเกือบ 2 ชั่วโมงได้ ตอนแรกเราก็รู้สึกอย่างนั้น แวบแรกนี่ดูเหมือนหนังดราม่าทั่วไปที่ไม่น่าจะมีอะไรแปลกใหม่ แต่พอได้ดูจริงๆ แล้วก็ต้องเปลี่ยนความคิด เพราะตลอด 2 ชั่วโมงนี่ไม่มีช่วงไหนเลยที่รู้สึกเบื่อ กลับกัน เราอยากติดตามเรื่องราวของจียองไปเรื่อยๆ อยากรู้ว่าเธอจะจัดการชีวิตอย่างไรต่อ แล้วอดีตที่ผ่านมาของเธอเคยเจอกับอะไรมาบ้าง
สิ่งหนึ่งที่เราคิดถูกคือ หนังไม่ได้มีประเด็นอะไรแปลกใหม่ ใช่ มันคืออะไรที่อยู่ในสังคมเราเป็นปกตินั่นละ บางทีก็อยู่จนเคยชินซะด้วย ซึ่งหนังหยิบไอ้ความเคยชินนี่ละมาขยี้ยิ่งขึ้น ให้เราตาสว่างว่าเฮ้ย นี่เป็นเรื่องที่สมควรจะเกิดขึ้นรึเปล่า? มันควรได้รับการแก้ไขไหม? เราจะทนอยู่ในสังคมแบบนี้ไปอีกนานแค่ไหน?
“ความไม่เท่าเทียมทางเพศ” นี่ละคือเมสเสจหลักของหนัง ในยุคที่ปัจจุบันกระแสความเท่าเทียมทางเพศกำลังมาแรง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าความเหลื่อมล้ำก็ยังคงมีอยู่ และคงต้องใช้เวลาสักพักในการปรับเปลี่ยนแบบสมบูรณ์เพราะมันหยั่งรากฝังลึกลงไปแล้ว
หนังแสดงให้เห็นถึงสังคมชายเป็นใหญ่ซึ่งยังคงเด่นชัดในประเทศเกาหลี (และน่าจะรวมถึงประเทศอื่นๆ ด้วย) ที่ที่ครอบครัวยังอยากได้ลูกชายมากกว่าลูกสาว เอาใจหลานชายมากกว่าหลานสาว ผู้ชายได้รับตำแหน่ง หน้าที่การงาน และเงินเดือนที่ดีกว่าผู้หญิง ผู้หญิงถูกมองเป็นไม้ประดับ เป็นผู้ใช้แรงงาน เป็นทาสที่รองรับความไม่น่าอภิรมย์ต่างๆ เพื่อให้สังคมยังดำเนินต่อไป
คิมจียองเปรียบเสมือนตัวแทนของผู้หญิงหลายๆ คน สิ่งที่เธอพบเจออาจจะเรียกได้ว่าเป็น default mode ของการเป็นผู้หญิงในหลายๆ ประเทศเลยก็ว่าได้ ตั้งแต่สมัยเด็กที่พ่อสนใจน้องชายของเธอมากกว่าตัวเธอกับพี่สาว พอโตมาเธอก็ต้องหวาดระแวงจากภัยใกล้ตัวอย่างพวกโรคจิต พอเป็นผู้ใหญ่ก็เจอทางตันในบริษัทที่ทำงานเพียงเพราะเธอเป็นผู้หญิง ยิ่งพอแต่งงานก็เจอแม่ผัวที่ตามตอแย พอมีลูกก็ต้องออกจากงานกลายเป็นแม่บ้านเต็มตัว ครั้นจะเริ่มหางานใหม่ ก็ต้องมากังวลว่าแล้วใครจะดูแลลูกแทนเธอ?
สังคมตราหน้าว่าแม่ที่ทำงานจนไม่ได้อยู่เลี้ยงลูกคือแม่ที่ไม่สมบูรณ์แบบ เด็กจะเติบโตมาแบบมีปัญหา ขณะเดียวกัน เมื่อแม่ออกมาเป็นแม่บ้านเต็มตัว ก็ถูกมองว่าเกาะสามีกิน ชีวิตช่างสุขสบาย… ช่างเป็นโลกที่เรียกร้องหลายสิ่งหลายอย่างจากผู้หญิงเสียจริง
คิมจียองยังโชคดีที่แดฮยอน สามีของเธอยังคอยช่วยเหลือและถามไถ่ ไม่ได้ทุบตีหรือไม่สนอกสนใจเธอ เมื่อเขาพบว่าเธอมีอาการแปลกประหลาดอย่างการพูดจาเป็นคนอื่น เขาจึงแนะนำให้เธอไปหาจิตแพทย์ ตอนแรกเราอาจจะคิดว่าหนังจะโฟกัสเรื่องคำเฉลยของอาการแปลกๆ นี้ แต่สุดท้ายแล้วนั่นไม่ใช่สิ่งที่หนังต้องการจะให้เรารู้ เมื่อดูหนังจนจบเราก็ยังไม่รู้ชัดเจนว่าอาการของจียองคืออาการอะไร เกิดขึ้นได้ยังไง หรือบางที มันอาจจะไม่ได้เป็นอาการ แต่เป็นเครื่องหมายเชิงสัญลักษณ์บางอย่างที่ต้องการจะเปรียบเปรยอะไรสักอย่าง หรือเปล่า?
ที่แน่ๆ คือ หนังตีแผ่เรื่องราวที่ผู้หญิงคนหนึ่งต้องเผชิญได้ดี เล่าแบบเรียบๆ เนิบๆ แต่ทรงพลัง มีคำพูดหลายคำที่สะท้อนให้เห็นมุมมองที่ขัดแย้งกันระหว่างความอนุรักษ์นิยมกับความหัวสมัยใหม่ ขณะเดียวกันหนังก็พยายามจะส่งเมสเสจแห่งความหวังว่าสังคมยุคใหม่กำลังจะเกิดขึ้น และกำลังเดินหน้าอย่างช้าๆ จึงถึงเวลาแล้วที่พวกหัวเก่าจะต้องยอมรับความเปลี่ยนแปลงนี้
อันที่จริง หากมองแบบภาพรวมๆ ไม่ใช่แค่ผู้หญิงอย่างเดียวที่ต้องการการยอมรับ แต่ยังหมายถึงทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ที่ต้องถูกกดขี่ให้เป็นรอง ถูกมองอย่างเหยียดหยาม ถูกปฏิบัติราวกับไม่ใช่มนุษย์ระดับเดียวกัน เราควรจะตั้งคำถามว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ มันยังสมควรเกิดขึ้นจริงๆ เหรอ ควรเปลี่ยนแล้วไหม? ควรเลิกจำกัดอะไรหลายๆ อย่างเพียงเพราะเรื่องเพศแล้วได้ไหม?
คิมจียอง เกิดปี 82 ถือเป็นอีกหนังคุณภาพเยี่ยมที่เราแนะนำให้ไปดู ไม่ว่าจะเป็นเพศไหน และมีสถานะแบบไหนก็ตาม มันจะทำให้เราเห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำนี้ยังชัดเจนยิ่งขึ้น และเมื่อไรที่เรารับรู้ว่าปัญหามันมีอยู่จริง ไม่หลับตาใช้ชีวิตไปตามกระแส เราก็จะสามารถร่วมกันหาทางแก้ไขได้
Leave a Reply