รีวิว Auggie & Me (2014): เพราะทุกๆ เรื่องราวมีอีกด้านที่เรามองไม่เห็น

หลังจากสร้างความประทับใจกับวรรณกรรมเรื่อง Wonder เรื่องราวของอ็อกกี้ เด็กชายที่มีรูปหน้าผิดปกติไปกันแล้ว ผู้เขียนอย่าง R.J. Palacio กลับมาสานต่อเรื่องราวอีกครั้งกับ Auggie & Me: Three Wonder Stories วรรณกรรมที่รวมเรื่องสั้นทั้งหมด 3 เรื่องเข้าด้วยกัน เป็น side-story ให้กับเรื่อง Wonder

3 เรื่องสั้นนั้นคราวนี้ไม่ได้มีอ็อกกี้เป็นจุดศูนย์กลางเหมือนเล่มก่อน แต่จะโฟกัสไปที่ตัวละครรองอย่างจูเลียน (หัวโจกที่ชอบแกล้งอ็อกกี้) คริสโตเฟอร์ (เพื่อนสนิทคนแรกของอ็อกกี้) และ ชาร์ล็อต (เพื่อนผู้หญิงที่ช่วยดูแลอ็อกกี้) เป็นผู้เล่าเรื่องแทน ถ้าใครได้อ่านเล่มแรกมาก่อนก็จะคุ้นเคยกับทั้งสามชื่อนี้ แนะนำให้อ่าน Wonder ก่อนจะมาอ่านเล่มนี้เพื่ออรรถรสที่ดียิ่งขึ้น แต่ถ้าถามว่าจะอ่านแยกกันได้มั้ยก็อ่านได้เช่นกัน เพราะเล่มนี้ก็ปูพื้นตัวละครและเหตุการณ์มาระดับนึงแล้ว

ก่อนอ่าน เรารู้สึกว่าเรื่องของจูเลียนเป็นเรื่องที่ดึงดูดให้อยากอ่านมากที่สุด เพราะหมอนี่ก่อคดีไว้กับอ็อกกี้เยอะมาก เราเลยอยากอ่านมุมมองของเขาว่าเขาคิดอะไร ทำไมเขาถึงทำแบบนั้น เขามีปัญหาอะไร? ในขณะที่ตัวละครอย่างคริสโตเฟอร์นั้นไม่ค่อยถูกพูดถึงนักในภาคแรก หรือจริงๆ ก็คือแทบไม่มีบทเลยแหละ เราเลยไม่ได้คาดหวังอะไรมาก ส่วนชาร์ล็อตนี่ก็บทน้อยเช่นกันในภาคแรก รู้แค่ว่าเธอเป็นคนดี แต่ก็ไม่ได้โดดเด่นมากมาย

แต่พออ่านจบ เรากลับรู้สึกว่าทั้ง 3 เรื่องนั้นมีดีและน่าประทับใจแตกต่างกันไป เป็นไปตามคาดคือเรื่องราวของจูเลียนนั้นมีความเชื่อมโยงกับอ็อกกี้มากที่สุด รองลงมาก็คริสโตเฟอร์ และสุดท้ายคือชาร์ล็อต ที่เรื่องของเธอจะเน้นไปทางชีวิตของเธอซะมากกว่าจะเป็นความเชื่อมโยงกับอ็อกกี้

ว่าแต่ว่าแต่ละตอนในหนังสือนั้นเป็นยังไง? เดี๋ยวขอรีวิวคร่าวๆ ให้ฟัง

The Julian Chapter

ตอนแรกที่หนังสือเปิดตัวมาคือเรื่องเล่าในมุมมองของจูเลียนน่ะเอง ถือว่าเรียงบทขึ้นต้นมาได้ดีเลยเพราะถ้าใครเพิ่งอ่าน Wonder จบก็จะยังอินกับเรื่องนี้อยู่ เปิดบทจูเลียนมาฟีลก็ต่อกันเลย สำหรับเรื่องราวของจูเลียน เจ้าตัวก็จะมาเล่าให้ฟังถึงความรู้สึกที่มีต่ออ็อกกี้ ซึ่งเขาก็ยอมรับว่ามันมาจากความกลัวลึกๆ ที่มีต่อ “สิ่งรูปร่างหน้าตาประหลาด” ซึ่งเป็นปมมาตั้งแต่เด็กๆ แล้ว และความกลัวนี้ก็ส่งผลให้เขาทำไม่ดีกับอ็อกกี้

จะว่าจุดนี้ช่วยเรียกคะแนนความน่าสงสารให้จูเลียนนั้นก็พอได้อยู่ แต่จะมองว่าเป็นการหาข้ออ้างก็ได้เช่นกัน เพราะเอาเข้าจริงคนเราก็เลือกได้นะว่าถ้าไม่ชอบใคร จะอยู่เฉยๆ ชีวิตใครชีวิตมัน หรือจะไประรานเขาก็ได้ อีกจุดหนึ่งที่ทำให้จูเลียนดูน่าสงสารน้อยลงก็คือการที่เขาไม่ยอมรับว่าตัวเองทำไม่ดี ไม่ยอมรับว่าเป็น bully ทั้งๆ ที่พฤติกรรมมันหาเรื่องกันชัดๆ 

รีวิว Auggie & Me: เพราะทุกๆ เรื่องราวมีอีกด้านที่เรามองไม่เห็น

ฉากตอนสุดท้ายที่จูเลียนไปอยู่กับคุณย่าในช่วงพักร้อนนั้น หลังจากที่เขาได้ฟังคุณย่าเล่าเรื่องสมัยเด็กให้ฟัง  ก็ทำให้จูเลียนเริ่มเข้าถึงความเมตตาอารีมากขึ้น และได้เข้าใจว่าคนเรานั้นสิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่รูปร่างหน้าตา แต่อยู่ที่จิตใจต่างหาก ซึ่งก็เป็นบทเรียนให้จูเลียนกลับกลายเป็นคนใหม่ที่ยอมเปิดใจต่ออ็อกกี้ ก็ถือว่าเรื่องราวลงเอยด้วยดี แม้จะมีความรวบรัดและงงๆ อยู่นิดว่าทำไมบทจะกลับตัวกลับใจก็กลับง่ายจังก็ตาม

Pluto

เรื่องต่อมาเป็นมุมมองของคริสโตเฟอร์ โดยชื่อบทพลูโตนั้นเป็นดาวที่อ็อกกี้และคริสโตเฟอร์คลั่งไคล้มาก เปรียบเสมือนสัญลักษณ์แห่งมิตรภาพของทั้งคู่ก็ได้เลยว่างั้น อย่างที่บอกไปแต่แรกเลยว่าคริสโตเฟอร์เป็นเพื่อนสนิทคนแรกของอ็อกกี้ เห็นกันมาตั้งแต่เด็กแต่เล็ก เด็กขนาดไหน? ก็ขนาดที่ว่าคริสเจออ็อกกี้ครั้งแรกตอนคริสเพิ่งอายุได้ 2 วันน่ะ

ในขณะที่จูเลียนเล่าถึงเหตุการณ์ที่เจอกับอ็อกกี้ในช่วงวัยเรียนเป็นหลัก คริสโตเฟอร์ก็จะพาเรากลับไปดูชีวิตของอ็อกกี้ก่อนเข้าเรียนบ้าง เขาได้อยู่กับอ็อกกี้ในหลายช่วงสำคัญของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นตอนเข้าโรงพยาบาล ตอนเจอเดซี่ สุนัขตัวแรกของอ็อกกี้ หรือแม้กระทั่งตอนที่เพื่อนในกลุ่มของอ็อกกี้เริ่มทยอยหายตัวไปไม่มาเล่นกับเขาอีก แต่สุดท้ายแล้วคริสโตเฟอร์ก็ต้องย้ายออกไปอยู่อีกเมืองหนึ่ง ทำให้เขาและอ็อกกี้เริ่มห่างเหินกัน

เมื่อคริสโตเฟอร์ไปอยู่โรงเรียนใหม่ เขาจึงต้องพบเจอความท้าทายและปัญหาใหม่ๆ เช่นกัน รวมถึงความกดดันที่ข้องเกี่ยวกับมิตรภาพระหว่างเขากับอ็อกกี้ด้วย คริสต้องพบเจอกับสายตาประหลาดที่มองมาทางเขากับอ็อกกี้มากขึ้น ต้องสู้กับระยะทางที่ห่างไกลกันทำให้ไม่สามารถติดต่อกันได้ง่ายนักแม้ว่าจะมีเทคโนโลยีก็ตาม แต่ความห่างเหินกันก็ทำให้ใจของคริสเริ่มตีตัวออกห่างไปแล้ว นอกเหนือจากนี้ ในเรื่องเล่านี้ยังได้ค้นลึกไปถึงความสำคัญของเหตุการณ์ฉุกเฉิน ที่เปรียบเสมืองกริ่งเตือนให้เราหันกลับไปเอาใจใส่คนรอบข้างที่เราแคร์มากขึ้น

artboard 1 copy 3

Shingaling

เรื่องสุดท้ายเป็นเรื่องจากมุมมองของชาร์ล็อต ซึ่งแม้ว่าจะไม่ค่อยมีอ็อกกี้เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยนัก แต่ก็เป็นอีกเรื่องราวที่มีความหมายไม่น้อย โดย Shingaling นั้นเป็นชื่อของการแสดงเต้นที่เธอกับเพื่อนอีก 2 คนต้องร่วมกันแสดงในงานใหญ่งานหนึ่งของโรงเรียน คล้ายๆ Pluto คือ Shingaling นั้นเปรียบเสมือนสัญลักษณ์เชิงมิตรภาพระหว่างชาร์ล็อต ซัมเมอร์ และซิเมน่า สามสาวที่ดูเหมือนว่าไม่น่าจะมาโคจรเจอกันได้ หากไม่ใช่เพราะการเต้นนี้

พอเป็นมุมมองของชาร์ล็อต เราก็จะได้สัมผัสสังคมเด็กหญิงในรั้วโรงเรียนมากขึ้น จากก่อนนี้วนๆ อยู่ในวงเด็กชายมาตลอด เราจึงได้รู้ว่ากลุ่มเด็กหญิงนี่เค้าก็มีดราม่าไม่ต่างจากเด็กชายเลย มีแก๊งคนดังคนคูลที่ชาร์ล็อตอยากไปร่วมวงด้วย มีการเมืองเชิงมิตรภาพเล็กๆ น้อยๆ ประมาณว่าเพื่อนเก่าย้ายไปอยู่กับอีกกลุ่มหนึ่งและมีนิสัยที่เปลี่ยนไป เป็นต้น เรื่องพวกนี้เราจะไม่รู้เลยตอนที่เราอ่านเรื่องราวจากมุมมองของเด็กชาย เพราะฝั่งนั้นก็มีดราม่าของตัวเอง

ที่พิเศษสำหรับเรื่องของชาร์ล็อต สำหรับเราคือประเด็นของการไม่ตัดสินคนเพียงผิวเผิน อันจะเห็นได้จากซิเมน่า เพื่อนหญิงที่ได้รับคัดเลือกเข้าทีมเต้นด้วยกัน ซิเมน่ามาจากแก๊งเด็กหญิงป๊อปปูล่าร์ ที่ดูเผินๆ แล้วเธอก็ดูนิสัยไม่ค่อยดีเท่าไร แต่พอได้ทำความรู้จักกันไป ชาร์ล็อตก็ได้เห็นด้านที่แตกต่างไปของซิเมน่า และค้นพบว่าจริงๆ เธอก็ไม่ใช่คนไม่ดี ก็มีมุมที่เป็นเด็กหญิงทั่วๆ ไปเหมือนเธอนั่นแหละ และพอทั้ง 3 คนเริ่มเปิดใจให้กัน แม้จะมาจากต่างกลุ่มเพื่อน ก็สามารถสร้างมิตรภาพที่แน่นแฟ้นร่วมกันได้ แม้จะเป็นระยะเวลาสั้นๆ ก็ตาม

artboard 1 copy

สรุป: เรื่องราวอีกด้านที่มองไม่เห็น

Auggie & Me เป็นอีกหนึ่งวรรณการที่อ่านได้เพลินๆ ไม่เบื่อ แม้ทั้ง 3 เรื่องสั้นจะมีความโดดเด่นและรายละเอียดที่ต่างกันไป แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือการย้ำเตือนให้เราตระหนักว่าในเรื่องราวต่างๆ หรือในคนแต่ละคนนั้นย่อมมีด้านและมุมที่เรามองไม่เห็นเสมอ เราไม่สามารถตัดสินอะไรได้ถูกต้อง 100% จนกว่าเราจะค้นพบแง่มุมนั้นทั้งหมด ซึ่งบางทีเราอาจจะไม่สามารถรู้หมดเลยก็เป็นได้ การที่เรารับรู้ได้เพียงบางส่วน ย่อมส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจของเราแน่นอน

ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่า เราจะตัดสินใจแบบไหน?

Mr. Tushman ครูใหญ่ของเด็กๆ ในเรื่องนี้ให้คำแนะนำไว้ว่าถ้าไม่รู้จะทำตัวยังไงในสถานการณ์ที่คาดไม่ถึง ให้ทำตัว “ใจดี” ไว้ก่อน

Mr. Tushman อาจจะถูก หรืออาจจะผิดก็ได้ อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่แตกต่างกันไป

แต่ที่แน่ๆ คือ หากเลือกที่จะใจดีแบบไม่เกินตัว อย่างน้อยสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือความประทับใจที่ใครสักคนมีต่อเรา ไม่มากก็น้อย

artboard 1

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

Blog at WordPress.com.

Up ↑

%d bloggers like this: