รีวิว Aquaman (2018): จากเด็กเพี้ยนที่คุยกับปลาได้ กลายเป็นราชาที่ครองมหาสมุทร

เป็นอีกหนังซูเปอร์ฮีโร่ DC ฟอร์มใหญ่ที่เรารอคอย แค่เห็นตัวอย่างก็รู้สึกแล้วว่ามันต้องดีแน่ๆ ยิ่งได้ยินกระแสด้านบวกจากหลายๆ คนรอบตัวก็ยิ่งต้องดูละ แล้วก็ไม่ผิดหวังจริงๆ เพราะหนังจัดเต็มมากกับ 2 ชั่วโมงกว่าๆ ที่ไม่มียืดเยื้อให้หยุดพักเลย

Aquaman เล่าเรื่องของอาเธอร์ (เจสัน โมโมอา) ชายหนุ่มลูกครึ่งมนุษย์และชาวแอตแลนติส แม่ผู้เป็นอดีตราชินีแห่งแอตแลนติสอย่างแอตแลนนา (นิโคล คิดแมน) ต้องจากเขาไปตั้งแต่เด็กเพื่อปกป้องเขาและพ่อ อยู่มาวันหนึ่งอาเธอร์ก็มีเหตุให้ต้องเจอกับเมร่า (แอมเบอร์ เฮิร์ด) ที่มาขอความช่วยเหลือให้เขาหยุดยั้งออร์ม (แพทริค วิลสัน) ราชาองค์ปัจจุบันของแอตแลนติส ไม่ให้รวมกองทัพชาวสมุทรเพื่อก่อสงครามกับโลกมนุษย์ ด้วยการโค่นบัลลังก์และขึ้นเป็นราชาแทน ตอนแรกอาเธอร์ก็ไม่ค่อยอยากเท่าไรเพราะเค้าก็เคืองๆ ชาวแอตแลนติสที่แยกแม่ไปจากเขา แต่ในที่สุดแน่นอนว่าอาเธอร์ผู้รักความยุติธรรมนั้นก็ไม่ยอมอยู่เฉยให้ออร์มบุกทำลายโลกมนุษย์ได้ง่ายๆ เขาออกผจญภัยและต่อสู้เพื่อพิสูจน์ตัวเอง รวมถึงตามหาตรีศูล อาวุธในตำนานของอดีตราชาแอตแลนที่ทรงพลังมากๆ ที่หากใครครอบครองก็จะได้กลายเป็นจ้าวสมุทรอย่างแท้จริง

หนังเปิดเรื่องมาอย่างน่าสนใจและมีความกุ๊กกิ๊กด้วยการให้พระเอกเล่าย้อนไปถึงความรักระหว่างพ่อกับแม่ซึ่งบังเอิญมาเจอกันตรงชายฝั่งทะเล ทั้งคู่รักกันและให้กำเนิดอาเธอร์ แต่ฉากอบอุ่นเหล่านั้นก็อยู่ได้ไม่นานเมื่อเหล่าทหารบุกบ้านพวกเขาเพื่อมาพาตัวราชินีแอตแลนนา ผู้เป็นแม่กลับไป ฉากบู๊ฉากแรกได้บังเกิดขึ้น จนในที่สุดก็ลงเอยด้วยผลสรุทที่ว่าราชินีแอตแลนนาต้องแยกจากครอบครัวของเธอไป เพราะถ้าอยู่ต่อไปก็อาจมีอันตรายแบบนี้เกิดขึ้นอีก และนี่ก็คือปมแรกของหนังที่จะเป็นอีกหนึ่งหัวใจหลักของเรื่อง

Aquaman ดำเนินเรื่องต่อไปได้อย่างลื่นไหล สนุกสนาน ชวนลุ้นกับฉากแอ็กชั่นทุกๆ ฉากซึ่งจัดมาแบบแทบจะไม่หยุดหย่อน และในหลายๆ ครั้งก็เดาไม่ออกว่าฉากแอ็กชั่นกำลังจะมา เล่นเอาใจหายใจวาบแทนตัวละคร แบบแฮปปี้อยู่ดีๆ ก็ต้องลุกขึ้นมาเตะต่อยแล้ว ฉากแอ็กชั่นจะเน้นการต่อสู้แบบประชิดตัว ซึ่งก็ยิ่งทำให้ลุ้นตามไปอีก ตัวซีจีนั้นไม่ได้เน้นการสู้แต่ไปเสริมพวกฉากต่างๆ ให้สวยอลังการซะมากกว่า ซีจีเหล่านี้ช่วยให้หนังดูล้ำและดูเป็นอีกมิติเข้าไปอีก ฉากแอ็กชั่นบางฉากที่รวดเร็วว่องไวพร้อมด้วยซีจีอาจจะทำให้คนดูมึนๆ ตามไม่ทันไปบ้าง แต่โดยรวมแล้วก็ไม่ปวดหัวนะ ดูเพลิน

นอกจากความบู๊ที่จัดมาเต็มไม่ว่าจะเป็นตัวละครหญิงหรือชาย หนังยังมีฉากสะเทือนอารมณ์ค่อนข้างชัดเจน ไม่ใช่แบบเศร้านะ แต่จะเป็นแบบซึ้ง แบบมีความสุขมากกว่า เนื่องด้วยมีประเด็นครอบครัวและความสัมพันธ์ด้วยแหละ เลยทำให้หนังยังมีอารมณ์อ่อนไหว ใครเซนซิทีฟหน่อยอาจจะมีน้ำตาไหล (เราก็เกือบละแต่กลั้นไว้ได้) คือพอมีเรื่องพ่อแม่ลูก หรือความรักแบบรักจริงๆ ที่รอคอยกันมาเนิ่นนานกว่าจะได้เจอกันนี่ ถ้าทำได้ดีก็มักจะสะเทือนอารมณ์ได้ตลอดเลย

นอกจากฉากบู๊ ฉากซึ้ง อีกอย่างที่รู้สึกได้คือฉากฮา ไม่นึกว่าหนังจะมีสอดแทรกมุมตลกๆ ไว้เยอะขนาดนี้ มีบางฉากหลุดขำออกมาแล้ว เราว่าด้วยคาแรคเตอร์พระเอกที่เป็นคนสบายๆ ห่ามๆ ด้วยละ การกระทำหรือคำพูดของพระเอกในหลายๆ ฉากจึงมีความกวนตีน ความมนุษย์เดินดินทั่วไป ไม่ได้เป็นผู้วิเศษหรือซูเปอร์ฮีโร่ที่ยิ่งใหญ่มาจากไหน

ทางฝั่งนักแสดง เราชอบหลักๆ 3 คนก็คือเจสัน โมโมอา ลุคพี่แกคือเหมาะกับการเป็นอควาแมนมากๆ คือรู้สึกเหมือนเกิดมาเพื่อบทนี้จริงๆ ส่วนนักแสดง 2 สาวอย่างแอมเบอร์ เฮิร์ด กับนิโคล คิดแมน ก็โคตรจะปัง สวยทั้งคู่ ป้านิโคลนี่ไม่แก่เลย ดูสวยสง่าสมบทราชินีมาก ส่วนแอมเบอร์ก็โดดเด่นมาก ผมสีแดงเพลิงคือความดีงามของลุคนี้ ชอบคาแรคเตอร์ของผู้หญิงเรื่องนี้ที่ลุยๆ บู๊ๆ ไม่แพ้ผู้ชายเลย ดูแกร่งมาก และดูไม่เป็นภาระ

โดยรวมแล้ว Aquaman เป็นหนังฟอร์มใหญ่อีกเรื่องที่ควรค่าแก่การไปดูในโรงมาก เพราะเอ็ฟเฟ็กต์ซีจีและซาวด์ประกอบพอขึ้นจอใหญ่แล้วมันอลังการจริงๆ นั่นแหละ เราคิดว่าหนังน่าจะเข้าถึงคนดูได้ทุกกลุ่มเพราะหนังมีหลายรสหลายอารมณ์ ไม่ได้มีแค่แฟนตาซีกับบู๊อย่างเดียว แต่ถ้าใครไม่ถนัดสายแอ็กชั่นสายแฟนตาซีก็อาจจะมึนๆ นิดนึง แต่เราว่าการดำเนินเรื่องเค้าสนุก ดูได้เพลินๆ ไม่เบื่อเลย

ป.ล. ฉากแพะงงคือแรร์ไอเท็มความฮา ลองหาดู

One thought on “รีวิว Aquaman (2018): จากเด็กเพี้ยนที่คุยกับปลาได้ กลายเป็นราชาที่ครองมหาสมุทร

Add yours

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

Blog at WordPress.com.

Up ↑

%d bloggers like this: