รีวิว Wonder (2012): พิสดารอย่างมหัศจรรย์

หากเราเกิดมาด้วยรูปลักษณ์ที่ไม่เหมือนคนทั่วไป เราจะทำยังไง

จะรู้สึกยังไง เมื่อคนอื่นมองเราด้วยสายตาที่เหมือนเราเป็นตัวประหลาด หวาดหวั่นไปกับความผิดปกติของเรา

ไม่กล้าที่จะเข้ามาทำความรู้จักกับเรา กีดกันเราเพียงชายตามอง

แค่คิดก็รู้สึกหดหู่แล้วใช่มั้ยล่ะ

แต่นั่นไม่ใช่ความรู้สึกเมื่อเราอ่าน Wonder – วรรณกรรมที่เล่าถึงเด็กชายคนหนึ่งผู้เป็นโรคพิการทางใบหน้า ส่งผลให้ใบหน้าของเขามีรูปลักษณ์ต่างออกไปจากคนธรรมดา วรรณกรรมเยาวชนเรื่องนี้ได้สร้างเป็นหนังในชื่อเดียวกันด้วย แต่เรายังไม่ได้ดูเลยขอพูดถึงแค่หนังสือละกันนะ

Wonder เขียนโดย R.J. Palacio เล่าถึงออกัส หรือ อ็อกกี้ เด็กผู้ชายที่เป็นโรคชนิดหนึ่งซึ่งส่งผลให้รูปหน้าของเขาบิดเบี้ยวไปจากปกติ สมัยเด็กๆ เค้าได้รับการผ่าตัดและต้องเข้าโรงพยาบาลบ่อยครั้งเพื่อรักษาตัว ไม่ว่าใครที่เห็นหน้าเขาต่างก็มองเขาด้วยแววตาแปลกประหลาดและหวาดกลัว ด้วยเหตุนี้พ่อแม่ของเขาจึงให้เขาอยู่ที่บ้านมาตลอด แต่วันหนึ่งก็ถึงจุดเปลี่ยน เมื่อพ่อแม่ตัดสินใจว่าเขาควรจะเริ่มไปเรียนที่โรงเรียนเหมือนเด็กทั่วไปสักที ชีวิตของอ็อกกี้จะเป็นยังไงเมื่อเขาต้องพบเจอเด็กรุ่นราวคราวเดียวกันที่ไม่คุ้นชินกับใบหน้าของเขา และจะสามารถดำรงชีวิตเหมือนเด็กทั่วไปได้มั้ย?

การดำเนินเรื่องของ Wonder ค่อนข้างเป็นไปอย่างเรียบง่าย ไม่หวือหวา เหมือนชีวิตเด็กประถมธรรมดาๆ ทั่วไป เพียงแต่ผ่านมุมมองของเด็กที่ไม่ธรรมดา มันเลยทำให้มีความน่าสนใจว่าจะเกิดอะไรขึ้น สามารถอ่านได้เพลินๆ เลย ภาษาที่ใช้บรรยายก็เข้าใจง่าย อ่านไม่ยาก สำบัดสำนวนเรียบง่ายแต่กินใจไปหลายประโยค

ความจริงเราไม่ค่อยอยากใช้คำว่า “ผิดปกติ” “แปลก” หรือ “ผิดธรรมชาติ” เท่าไร เพราะมันฟังดู judging ชะมัด ทั้งที่จริงๆ เราไม่ได้มีเจตนาแบบนั้น เพียงแค่อยากอธิบายในภาษาที่เข้าใจได้ง่ายๆ ว่ามันมีความแตกต่างเกิดขึ้น ซึ่งเอาเข้าจริงสังคมก็มองว่าแตกต่างนั่นแหละ อย่าว่าแต่ใบหน้าของอ็อกกี้เลย เราว่าในสังคมนี้มีความ “แปลกประหลาด” เกิดขึ้นทุกมุม ไม่ว่าจะเป็นความพิการ การรักร่วมเพศ เชื้อชาติที่ต่างกัน สีผิวต่างกัน ความคิดความอ่านที่แตกต่างกัน หากคนเหล่านี้เป็นส่วนน้อยที่ไปอยู่ในกลุ่มคนส่วนมาก พวกเขาก็ถูกมองว่าแปลกประหลาดแล้ว นับประสาอะไรกับอ็อกกี้ที่มีใบหน้าไม่เหมือนคนทั่วไป ซึ่งโอกาสที่จะเป็นโรคนี้มีเพียงเสี้ยวหนึ่งเท่านั้น

“It’s hard enough being the new kid even when you have a normal face. Imagine having his face?” – Summer

การไม่เหมือนคนทั่วไป แน่นอนว่ามันมาพร้อมความกดดัน แม้นี่จะเป็นนิยายแนว Feel Good แต่ก็เป็นฟีลกู๊ดที่แฝงไปด้วยความจริงหลายๆ อย่าง อ็อกกี้ต้องเผชิญกับการรังแกจากเพื่อนร่วมชั้นวัยประถม ซึ่งเป็นวัยที่ชอบแบ่งพรรคแบ่งพวก ชอบรวมกลุ่มกันแกล้งเพื่อนอยู่แล้ว อ็อกกี้เลยยิ่งโดนเป็นพิเศษจากรูปลักษณ์ของเขา เพื่อนๆ ส่วนใหญ่ไม่ค่อยให้ความช่วยเหลือเขาเท่าไร จะมีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่ไม่สนใจหน้าตาของเขา และสมัครใจที่จะมาเป็นเพื่อนของเขาจริงๆ

เจอแบบนี้หลายคนคงจะถอดใจ รู้สึกเจ็บปวดกับชีวิต ซึ่งเอาเข้าจริงอ็อกกี้ก็รู้สึกแบบนั้น เขาน้อยใจและเจ็บปวดกับตัวเองบ่อยครั้งเมื่อเจอเรื่องราวที่หนักหนาสาหัสเกิน เขาตั้งคำถามว่าทำไมต้องเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น เขาทำผิดอะไร เขาไม่ได้อยากเกิดมาหน้าตาแบบนี้สักหน่อย ทำไมทุกคนต้องทำร้ายเขาด้วย?

ฟังแบบนี้อาจจะรู้สึกว่าพร่ำเพรื่อ แต่สิ่งที่ทำให้ความรู้สึกเหล่านี้ของอ็อกกี้นั้นเจ็บปวดมากกว่าปกติก็คือการที่จริงๆ แล้วอ็อกกี้เป็นเด็กมองโลกในแง่ดีมาก เป็นคนสดใส เล่าเรื่องในมุมมองตลกขบขันมากกว่าจะซึมเศร้า และกล้าที่จะจิกกัดตัวเองอย่างสนุกสนานในบางครั้งเพื่อเรียกเสียงหัวเราะจากคนอื่น เขาเป็นแฟนตัวยงของสตาร์ วอรส์ และชอบที่จะเล่นเกมทำกิจกรรมเหมือนเด็กทั่วไป เราจะรู้สึกเหมือนว่าอ็อกกี้ไม่ได้แคร์เรื่องความผิดปกติของตัวเอง และไม่แคร์เลยว่าคนอื่นจะรู้สึกกับเขายังไง

รีวิว Wonder: พิสดารอย่างมหัศจรรย์

เพราะฉะนั้น การที่อ็อกกี้เผยความอ่อนแอออกมาครั้งนึง มันเลยบาดลึกมากกว่าปกติ ด้วยพื้นฐานอ็อกกี้ไม่ใช่คนฟูมฟาย แต่การที่จะระบายความอัดอั้นออกมาได้แต่ละทีนั้นแสดงว่าสถานการณ์มันเหลืออดแล้วจริงๆ และมันแสดงให้เห็นว่าภายใต้รอยยิ้มนั้นเก็บงำความกดดันเอาไว้มหาศาล

ถึงอย่างนั้น อ็อกกี้โชคดีที่ยังมีผู้คนที่รักและเป็นห่วงเขา เราชอบประโยคหนึ่งที่บอกว่า “การเกิดก็เหมือนการเสี่ยงดวงล็อตเตอรี่ ไม่รู้ว่าจะดีหรือแย่ แต่สุดท้าย จักรวาลจะมอบความสมดุลให้ทุกคน จักรวาลดูแลนกของมันทุกตัว” อ็อกกี้มีครอบครัวที่อบอุ่นพร้อมให้การสนับสนุนอย่างสุดกำลัง เขามีเพื่อนอย่างซัมเมอร์ และแจ็ค วิลส์ ที่อยู่เคียงข้างเขาแม้ว่าจะมีบางช่วงที่ทะเลาะกัน แต่ก็กลับมาปรับความเข้าใจกันได้ แม้จะไม่ได้มีรูปลักษณ์ที่ดึงดูดคนให้อยากเข้ามาใกล้ชิด แต่ทัศนคติและอุปนิสัยของอ็อกกี้กลับเป็นเสน่ห์ชั้นดีที่ทำให้หลายๆ คนชอบที่จะได้อยู่กับเขา

แม้ว่าจะมีไม่กี่คนที่คอยอยู่เคียงข้างเขา แต่เขาเหล่านั้นคือคนที่จริงใจและรักอ็อกกี้จากใจจริงๆ

พวกเขาก้าวผ่านเส้นแบ่งที่เรียกว่า “รูปลักษณ์” และยินยอมพร้อมใจเข้าไปสัมผัสกับตัวตนและจิตใจของอ็อกกี้

รีวิว Wonder: พิสดารอย่างมหัศจรรย์

นอกจากมุมมองของอ็อกกี้ที่นำเสนอออกมาได้อย่างตรงไปตรงมาและสดใสแล้ว หนังสือยังบอกเล่ามุมมองของตัวละครอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเวีย พี่สาวของอ็อกกี้, แจ็ค วิลส์ และ ซัมเมอร์ เพื่อนสนิทของอ็อกกี้, จัสติน แฟนของเวีย และ มิแรนด้า อดีตเพื่อนของเวีย

การที่ตัวละครอื่นมีโอกาสได้เล่าเรื่องราวของตัวเอง ช่วยเปิดโลกทัศน์ต่อสถานการณ์ในหนังสือมากขึ้น เพราะมันทำให้เราได้รู้ว่าความจริงในอีกด้านหนึ่งเป็นยังไง หากเราอ่านแค่มุมมองของอ็อกกี้ หรือของเวีย เราก็จะเข้าใจว่าสถานการณ์เป็นแบบหนึ่ง เป็นแบบที่คนเล่าเข้าใจ แต่พอเราได้ไปอ่านมุมมองของคนอื่นในสถานการณ์เดียวกัน ก็จะเข้าใจความจริงขึ้นมาทันที (เห็นได้ชัดในกรณีทะเลาะกันของอ็อกกี้กับแจ็ค วิลส์) นอกจากนี้ เรายังได้เห็นผลกระทบที่อ็อกกี้ส่งต่อให้ตัวละครอื่นๆ เช่น เวีย พี่สาวของอ็อกกี้นั้นมีมุมมองที่เป็นผู้ใหญ่กว่าวัย เพราะเธอเห็นสิ่งที่น้องชายเธอต้องพบเจอตั้งแต่วัยเด็ก จึงรู้สึกว่าปัญหาของเธอนั้นจิ๊บจ๊อยไปเลย

นอกจากนี้ อีกจุดที่เราชอบคือชั้นเรียนของ Mr.Brown ที่รวบรวมคำคมข้อคิดต่างๆ เอาไว้ เป็นข้อคิดที่คอยย้ำเตือนให้นักเรียนของเขาให้เป็นคนดี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และมีเมตตาต่อผู้อื่น ซึ่งเรารู้สึกว่ามันเป็นอะไรที่โคตรดีเลยที่ครูสอนสิ่งเหล่านี้ให้เด็กตั้งแต่ยังเยาว์วัย ตอนสุดท้ายเรายังได้เห็นข้อคิดที่เหล่าเด็กๆ รวบรวมไว้ ทำให้ได้เห็นมุมมองการใช้ชีวิตของหลายๆ คน ซึ่งเป็นฉากจบที่ประทับใจดี

รีวิว Wonder: พิสดารอย่างมหัศจรรย์

Wonder จึงไม่ใช่แค่การบอกเล่าชีวิตของเด็กพิการคนหนึ่ง ไม่ใช่การบอกว่าเขาทุกข์แค่ไหน แต่เป็นการสื่อให้เห็นว่าแม้เราจะมีสิ่งที่เราคิดว่าเป็นจุดด้อยบางอย่างในชีวิตที่อาจแก้ไขไม่ได้ เราก็ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน แม้คนอื่นจะไม่ยอมรับเรา แต่ก็ยังมีอีกหลายๆ คนที่พร้อมอยู่เคียงข้างเรา เห็นว่าเรามหัศจรรย์แค่ไหนในความพิลึกกึกกือที่คนอื่นอาจรับไม่ได้

ในขณะเดียวกัน การตัดสินคนจากภายนอกและกระทำราวกับว่าเขาเป็นตัวประหลาดก็เป็นพฤติกรรมที่นอกจากจะทำร้ายผู้อื่นแล้ว ยังปิดกั้นโอกาสการทำความรู้จักเพื่อนใหม่ของตัวเองอีกด้วย

สุดท้ายแล้ว การกระทำของเรา มักจะส่งผลกระทบต่อผู้อื่นเสมอ ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม

ก็เหมือนที่ Mr. Tushman ครูใหญ่ได้กล่าวไว้ตอนท้าย ว่า

รีวิว Wonder: พิสดารอย่างมหัศจรรย์

มันคงจะดีกว่าหากคนเราปฏิบัติต่อกันอย่างมีเมตตา ส่งพลังบวกให้กันและกัน ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือโลกที่สงบสุข อย่างน้อยก็คงจะสงบสุขกว่าตอนนี้…

One thought on “รีวิว Wonder (2012): พิสดารอย่างมหัศจรรย์

Add yours

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

Blog at WordPress.com.

Up ↑

%d bloggers like this: