เกริ่นก่อนว่าการมาเยี่ยมชมนิทรรศการถอดรหัสไทย ที่มิวเซียมสยาม เป็นความจับพลัดจับผลูรูปแบบหนึ่ง…
เพราะตอนแรกเรากับเพื่อนตั้งใจว่าจะไปดูอีกนิทรรศการหนึ่ง แต่นิทรรศการนั้นดันปิดซะได้ ตอนนั้นเราก็คอตกแล้ว อุตส่าห์มาตั้งไกล วนหาที่จอดรถอยู่ตั้งนาน แต่แล้วพนักงานก็ถามว่าสนใจดูอีกนิทรรศการนึงที่เป็นนิทรรศการถาวรมั้ย วันนี้เปิดให้เข้าชมฟรี…
…คำว่าฟรีมันดังก้องในหู…
เอาสิ ไหนๆ ก็มาถึงนี่แล้ว เข้าไปดูสักหน่อยแล้วกัน
ตอนแรกไม่ได้คาดหวังอะไร เพราะเราไม่ได้อินกับประวัติศาสตร์ชาติไทย แต่ปรากฎว่าพิพิธภัณฑ์ทำนิทรรศการออกมาได้น่าประทับใจแฮะ ไม่น่าเบื่ออย่างที่กลัว ขนาดเราที่ไม่ชอบประวัติศาสตร์ยังเดินดูด้วยความเพลิน ถ้ามีเวลาทั้งวันก็จะเดินอ่านเดินส่องมันทั้งวันนี่แหละ พอดีวันนี้จำกัดเวลาไว้ 3 ชั่วโมงง่ะ
บล็อกนี้เลยขอมารีวิวภาพรวมของนิทรรศการกัน ขออนุญาตไม่ลงลึกรายละเอียดเนื้อหาเพราะไอ้เราก็ไม่ได้มีแบ็กกราวด์ประวัติศาสตร์แน่นปึ้กขนาดนั้น คงไม่สามารถเขียนเสริมเติมแต่งข้อมูลในส่วนที่เป็น fact เข้าไปได้ ถือซะว่านำประสบการณ์การเดินพิพิธภัณฑ์ไทยในรอบหลายปีมาฝาก และอัพเดตว่าพิพิธภัณฑ์ไทยตอนนี้เค้าล้ำแล้วนะ!
สำหรับนิทรรศการ “ถอดรหัสไทย” ของมิวเซียมสยามนั้น จะตั้งคำถามให้เราขบคิดว่าอะไรคือไทยแท้? แต่ละสิ่งแต่ละอย่างมีความเป็นไทยมากแค่ไหน? นิทรรศการนี้จะมีทั้งหมด 14 ห้อง แบ่งเป็น 2 ชั้น โดยเราจะเริ่มจากชั้น 3 ก่อนแล้วค่อยลงมาชั้น 2
ห้องที่ 1: ไทยรึเปล่า?
ห้องนี้ต้อนรับเราด้วยหุ่นโชว์ขนาดใหญ่ที่จำลองชุดที่นางงามใส่ประกวดในฐานะตัวแทนจากประเทศไทย ชวนให้ตั้งคำถามว่าชุดนี้มีความเป็นไทยรึเปล่า? รอบๆ ห้องจะเป็นทีวีที่รวบรวมความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ที่ถกเถียงกันถึงเรื่องความเป็นไทย ว่าอะไรเหมาะสมไม่เหมาะสม ว่าอะไรดูไทยไม่ดูไทย บางความเห็นก็จะรู้สึกคุ้นหน้าคุ้นตาหน่อยเพราะเราเคยเห็นมันจริงๆ ละ เช่น “คนนี้ดูไม่เป็นไทยเลย ทำไมได้บทนี้” อะไรประมาณนี้ ซึ่งจะว่าไปแล้วหน้าไทยนี่มันเป็นแบบไหนกันนะ เพราะแท้จริงแล้วคนไทยก็เป็นส่วนผสมจากหลายๆ เชื้อชาตินี่หว่า



ห้องที่ 2: ไทยแปลไทย
ห้องนี้มีลักษณะเหมือนห้องเก็บสมบัติ มีทั้งวัตถุที่จัดแสดงให้เห็นชัดๆ กันไปเลย กับวัตถุที่ซ่อนอยู่ในลิ้นชักรอให้เราเข้าไปเปิดและหาคำตอบเพิ่มเติมเกี่ยวกับวัตถุชิ้นนั้นๆ ว่ามีความเป็นมายังไง ผนังแต่ละด้านจะนำเสนอวัตถุในช่วงเวลาต่างๆ ซึ่งก็จะทำให้เราได้เห็นพัฒนาการของความเป็นไทย ผ่านวัตถุเหล่านี้





ห้องที่ 3: ไทยตั้งแต่เกิด
ดูห้อง 2 อยู่พักหนึ่งพนักงานก็เรียกให้ทุกคนไปดูห้อง 3 เพราะกำลังจะจัดแสดงพอดิบพอดี (เค้าจัดเป็นรอบๆ น่ะ) ห้องนี้มีความไฮเทคตรงที่มีการหยิบยืมระบบ hydraulic module มาเล่นด้วย โดยพื้นที่ตรงกลางของห้องนี้จะเป็นกระดานกว้างๆ ซึ่งพอห้องมืดแสงลง กระดานนี้ก็จะถูกประดับประดาไปด้วยแสงสีเสียง รวมถึงวัตถุประกอบการแสดงชิ้นต่างๆ ที่ถูกยกขึ้นมาเหนือกระดานทีละชิ้นๆ ตามเรื่องราวของการแสดง เนื้อหาของห้องนี้จะคล้ายๆ กับห้องที่ 2 นั่นคือการเล่าประวัติของประเทศไทยมาตั้งแต่ยุคก่อนสุโขทัยจนกระทั่งมาถึงปัจจุบัน




ห้องที่ 4: ไทยสถาบัน
เป็นห้องเล็กๆ ที่ไม่ธรรมดา เพราะเป็นห้องที่ให้เราเล่นเกม ด้วยการนำลูกเต๋า 27 ลูก (แต่ไซส์ไม่ลูก) ซึ่งแปะสัญลักษณ์ต่างๆ บนโต๊ะมาจับกลุ่มให้ถูกต้อง โดยกลุ่มที่ว่าก็คือ “ชาติ” “ศาสนา” “พระมหากษัตริย์” ถ้าเรียงถูก ตรงจอโปรเจ็กเตอร์ก็จะฉายภาพสวยๆ เป็นรางวัล แต่ถ้าเรียงผิดก็ไม่ต้องตกใจ ระบบจะมีเสียงเตือนบอกว่าวางผิด เราก็แค่จัดวางลูกเต๋าใหม่ให้ระบบมันร้องว่าถูก แค่นั้นเอง


ห้องที่ 5: ไทยอลังการ
ห้องนี้จะมีความโอ่อ่า เพราะได้จำลองท้องพระโรงของพระราชวัง ตกแต่งได้สวยงามมาก ทีเด็ดของวันนี้คือมีกิจกรรมถอดรหัสกลอักษรไทยด้วย มีโต๊ะเล็กๆ ให้คนไปจับจอง ทดสอบสกิลการแปลภาษากลอนโบราณกัน โดยทีมงานจะนำคู่มือการแปลมาให้เราศึกษา แล้วก็ให้เราลองเขียนแปลบนกระดาษดู เหตุผลที่ต้องมีการแปลงภาษานั้นเป็นเพราะคนสมัยก่อนกลัวว่าชาวต่างชาติจะสามารถแกะภาษาไทยปกติๆ ออกได้ และมันจะไม่ปลอดภัยต่อบ้านเมือง จึงต้องมีโค้ดลับดัดแปลงสารกันสักหน่อย ซึ่งพอพวกเราชาว 2018 แปลออกมาแล้ว…ก็อ่านไม่รู้เรื่องอยู่ดี (//ผ่าง) เพราะเป็นภาษาของสมัยนู้นอะนะ แต่มันสนุกตรงที่เหมือนได้เล่นถอดรหัสนี่แหละ



ห้องที่ 6: ไทยแค่ไหน
ห้องนี้อย่างกับยกแฟชั่นโชว์มา เพราะเต็มไปด้วยหุ่นที่สวมชุดแตกต่างกันไป แต่ที่เหมือนกันคือหุ่นแต่ละตัวจะมีความเป็นไทยไม่มากก็น้อย มีแผนผังตั้งไว้ให้เราดูด้วยว่าหุ่นแต่ละตัวมีเลเวลความเป็นไทยมากน้อยแค่ไหน ซึ่งชุดพระรามก็ครองอันดับหนึ่งไป ส่วนชุดของกะเหรี่ยงก็ได้อันดับล่างสุดเพราะไม่ถือว่าเป็นไทยนั่นเอง ที่เจ๋งคือหุ่น McDonald’s ยกมือไหว้ ไม่ได้อยู่อันดับท้ายสุดนี่ละ! แค่ไหว้ก็อัพแต้มความเป็นไทยขึ้นมาเลย




ห้องที่ 7: ไทย ONLY
ห้องนี้ดูสนุกดี เป็นการนำเสนอข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของชาวไทยนี่แหละ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นอะไรที่เราคุ้นเคยกันอยู่แล้ว เลยอาจจะลืมไปว่านี่คือโคตรเอกลักษณ์ของพวกเราเลย ไม่ว่าจะเป็นถังเครื่องปรุง ขนมปี๊บ มาม่า ถุงโชคดี ที่เก็บเงินของกระเป๋ารถเมล์ ฯลฯ




ห้องที่ 8: ไทย INTER
ห้องนี้เป็นห้องเล็กๆ ที่ดูเผินๆ เหมือนจะไม่มีอะไร แต่ก็ต้องกระจ่างทันทีเมื่อเดินเข้าไปเพ่งเล็งในกล่องที่วางเรียงรายแล้วลองสับสวิตช์ไปมาดู เราจะได้เห็นความแตกต่างระหว่างสิ่งที่คนไทยอยากนำเสนอ VS. สิ่งที่คนต่างชาติเห็น เช่น แตงโมบรรจงสลักมาอย่างสวย VS. แตงโมจกกินข้างทาง เป็นต้น

ห้องที่ 9: ไทยวิทยา
ห้องนี้เป็นห้องที่เราใช้เวลากับนานมากที่สุด ไม่ใช่อะไร ถ่ายรูป 555+ เพราะห้องนี้ไม่ได้มีแค่การจัดแสดงห้องเรียนแบบสี่ยุคสมัย และพร็อพเสริมอย่างหนังสือเรียนเวอร์ชั่นต่างๆ แต่ยังมีชุดนักเรียนให้คนที่อยากกระชากวัยเด็กหยิบมาสวมใส่ถ่ายรูปเซ็ตคอสเพลย์เด็กนักเรียนกันได้






ห้องที่ 10: ไทยชิม
ใครหิวอยู่โปรดระวังห้องนี้ เพราะเต็มไปด้วยของกิน! กิมมิคของห้องนี้คือโต๊ะใหญ่ๆ สองโต๊ะและจานพลาสติกสีขาวที่วางเรียงรายอยู่บนชั้นวางใกล้ๆ กัน เราสามารถหยิบจานแต่ละใบมาวางบนโต๊ะ แล้วระบบก็จะแสกน QR Code ด้านหลังจาน ปรากฏเป็นข้อมูลเกี่ยวกับอาหารแต่ละจานว่ามีที่มาเป็นยังไง มีเกร็ดอะไรน่ารู้บ้าง บอกแล้วว่าพิพิธภัณฑ์นี้เขาไฮเทคจริง





ห้องที่ 11: ไทยดีโคตร
ห้องนี้จะจัดแสดงพัฒนาการของศิลปะชนิดต่างๆ เริ่มจากที่ตั้งอยู่ตรงกลางนั่นเลยก็คือพระปรางค์ ซึ่งเปลี่ยนแปลงมาจากเทวสถานในอินเดียใต้ จนกระทั่งมาสู่ปรางค์วัดอรุณ นอกจากนี้รอบๆ ห้องยังมี flipbook ให้เราลองเปิดพลิกดูพัฒนาการของแต่ละสิ่ง มีทั้งเสื้อคอซอง กระทง มะพร้าวพร้อมดื่ม ตัวอักษรไทย ทศกัณฐ์ เยอะแยกมากมาย


ห้องที่ 12: ไทยเชื่อ
ห้องนี้รวมความขลังทุกอย่างไว้ เป็นห้องที่ตั้งคำถามว่าแล้วสรุปคนไทยนับถือศาสนาอะไรกันแน่? เพราะดูเหมือนสิ่งที่คนไทยเชื่อว่าเป็นศาสนาพุทธนั้นจะครอบโลกล้านแปดเสียเหลือเกิน โดยห้องนี้จะแบ่งเป็นสามส่วน มีตั้งแต่ส่วนที่เป็นวัตถุบูชาทางพุทธศาสนาจริงๆ ส่วนที่เป็นของบูชาทางศาสนาพราหมณ์ ไปจนถึงวัตถุบูชาเกี่ยวกับภูติผีปีศาจ อืม เอาเข้าไป อย่ามาเดินเล่นแถวนี้ตอนกลางคืนเชียว




ห้องที่ 13: ไทยประเพณี
ห้องนี้เป็นห้องที่เต็มไปด้วยกล่องหลากสี โดยจะแยกธีมเป็นประเพณีไทย เทศกาล และมารยาท ในแต่ละกล่องก็จะมีของจุ๊กจิ๊กที่ให้ข้อมูลแตกต่างกันไป มีไอเท็มที่เป็นเอกลักษณ์รวมถึงเกมที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนั้นๆ แนะนำว่าถ้าใครมีเวลาว่างทั้งวัน ให้ลองนั่งเล่นเกมที่อยู่ในกล่องดู (แล้วมาบอกเราด้วยว่าเป็นยังไง ฮ่าๆ)



ห้องที่ 14: ไทยแชะ
นี่คือห้องสุดท้ายแล้ว ส่งท้ายสำหรับใครที่อยากจะมีรูปตัวเองในชุดไทยๆ ประกอบบ้าน สามารถหยิบยืมชุดไทยบนราวแขวนมาสวมใส่แล้วถ่ายรูปกันได้เลย



และแล้วก็จบนิทรรศการแต่เพียงเท่านี้ ถ้าเรามีเวลาทั้งวันก็อยากจะแช่อยู่ในนี้แล้วเสพข้อมูลให้รู้ลึกทุกซอกทุกมุมไปเลย โดยรวมแล้วเราค่อนข้างประทับใจกับรูปแบบการนำเสนอ และอดตัดพ้อกับเพื่อนไม่ได้ว่าทำไมในยุคที่เราเป็นนักเรียนถึงไม่มีนิทรรศการอะไรแบบนี้มาให้ครูพาไปศึกษามั่งนะ เราว่ามันเป็นการเรียนรู้ที่สนุกและเพลินจริงๆ ดีกว่าการท่องตำราในห้องเรียนเยอะ ทำให้ได้เห็นว่าความเป็นไทยนั้นเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยจริงๆ

นิทรรศการ “ถอดรหัสไทย” @ มิวเซียมสยาม
เปิดให้บริการ วันอังคาร – อาทิตย์ (ปิดวันจันทร์)
เวลา 10.00-18.00 น.
ค่าเข้า
นักเรียน นักศึกษา (อายุ 15 ปีขึ้นไป) = 50 บาท
ผู้ใหญ่ = 100 บาท
หลัง 4 โมงและวันหยุดนักขัตฤกษ์ ไม่เสียค่าเข้า
Leave a Reply