ใครที่ดู Netflix น่าจะคงเคยผ่านตากันมาบ้างกับตัวอย่างซีรีส์ไต้หวันเรื่อง On Children ที่ว่าด้วยการกดดันเด็กเรื่องการเรียน จากตัวอย่างเราจะรู้สึกได้ถึงความดราม่าผสมความล้ำดาร์กๆ แบบซีรีส์อังกฤษเรื่อง Black Mirror เพียงแค่นี้ก็ชวนให้อยากรู้แล้วว่าซีรีส์เรื่องนี้จะเป็นยังไง จะกระแทกใจและตลกร้ายแบบ Black Mirror หรือไม่ ที่น่าสนใจคือตัวซีรีส์โฟกัสประเด็นชัดเจนว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการกดดันเด็ก ซึ่งเป็นประเด็นที่เล่นทีไรก็เสียดใจทุกที เพราะมันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในโลกเราจริงๆ
ว่าแล้วก็ลองกดเข้าไปดู และได้สรุปเนื้อหาออกมาตามนี้
แนะนำว่าใครที่อยากดูเรื่องนี้เป็นทุนเดิม ให้ไปดูก่อนมาอ่านนะ เพราะเราสปอยล์ไว้เต็มๆ
แต่ถ้าใครขี้เกียจดู ด้วยเห็นว่าตอนนึงยาวตั้ง 90 กว่านาที (นี่มันหนังสั้นชัดๆ) ก็เลื่อนลงไปอ่านได้เลย
ตอนที่ 1: Mother’s Remote
เด็กหนุ่มตัวเอกของเรื่อง โกงใบแสดงผลการศึกษาของตัวเอง เมื่อแม่เจ้าระเบียบจับได้ จึงจัดการสั่งสอนลูกชายตัวเองด้วยการใช้รีโมตคอนโทรลซึ่งมีอานุภาพสามารถย้อนเวลาของลูกได้ตามที่คนเป็นแม่ต้องการ ช่วงแรกๆ แม่ย้อนวันซ้ำแค่ไม่กี่รอบเพื่อให้ลูกชายยอมรับสารภาพผิดออกมาว่าโกงคะแนนจริง แต่หลังจากนั้นแม่เริ่มหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ ด้วยการย้อนวันซ้ำเป็นสิบรอบ เพื่อให้ลูกได้ไปเรียนในคลาสเดิมๆ จะได้เก่งขึ้น
ความสนุกคือเราได้เห็นความสัมพันธ์ของแม่ลูกที่เปราะบางเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ยิ่งดิ่งลงเหวไปเรื่อยๆ เมื่อคนเป็นแม่คิดแต่จะให้ลูกเรียนหนักๆ อย่างเดียว ไม่ได้สนใจชีวิตด้านอื่นๆ หรือความชอบส่วนตัวของลูกเลย เนื้อเรื่องเริ่มสนุกเมื่อลูกชายคิดจะนอกลู่นอกทาง เช่น ออกไปเที่ยวกับสาว สุดท้ายแล้วลูกชายก็ทนอยู่ในกรอบของแม่ไม่ไหว จึงตัดสินใจฆ่าตัวตาย…
แต่!! มันไม่ได้จบแค่นั้น เพราะแม่ก็ดึงชีวิตเขากลับมาด้วยการย้อนเวลาผ่านรีโมตคอนโทรล สรุปก็คือไม่ตายสักรอบ แต่การกระทำนี้ก็น่าจะทำให้แม่เริ่มหันมาเข้าใจลูกมากขึ้น เห็นได้จากว่าตัวหนังพาเราไปเจอลูกชายตอนที่เขาโตเป็นหนุ่มแล้ว มีการมีงาน มีแฟน ดูเหมือนชีวิตจะรุ่งเรืองแล้ว นั่นหมายความว่าแม่ลูกคู่นี้คงตกลงอะไรกันได้สักอย่าง ถึงอย่างนั้น เราก็ค้นพบว่าแม้เขาจะโตเป็นหนุ่มแล้ว เขาก็ยังอยู่ในกฎบังคับบัญชาของแม่กลายๆ แม่ก็ยังเจ้ากี้เจ้าการกับเขาอยู่ เห็นได้จากการพยายามจับคู่ให้ลูก เป็นต้น ตอนจบเราไม่แน่ใจว่าสุดท้ายแล้วตัวเอกตายหรือเปล่า เพราะภาพยนตร์บอกไม่ชัดเจน สามารถคิดได้หลายแบบเหมือนกัน อาจจะตายแล้วจิตใต้สำนึกย้อนอดีตกลับไปหาความทรงจำในวัยเด็ก หรือ อาจจะกดย้อนเวลาทันก่อนรถจะชนตัวเอง ทำให้กลับไปเป็นเด็กอีกครั้งหนึ่ง
แต่ไม่ว่าบทสรุปของหนังจะเป็นแบบไหน เราว่ามันก็เจ็บปวดอยู่ดี ถึงแม้ว่าจะมี 2 ข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับตอนจบ แต่ทั้งสองก็หมายความอย่างเดียวกัน นั่นคือตัวเอกไม่ได้มีความสุขกับชีวิตที่เป็นอยู่เลย มันหดหู่นะที่รู้สึกแบบนี้ตอนโตเป็นผู้ใหญ่ มีการมีงานมั่นคงแล้ว มันเหมือนกับว่าทั้งชีวิตที่ผ่านมาไม่ใช่ของตัวเองเลย และถ้าให้เลือกทางเดินเองก็อาจไม่ใช่แบบนี้ด้วย การที่มนุษย์คนหนึ่งรู้สึกกับชีวิตตัวเองแบบนี้ เราว่ามันน่าเศร้ามาก
หนังต้องการจะสื่อให้เห็นว่า หากพ่อแม่กดดันลูกเรื่องการเรียน (หรือเรื่องใดๆ ในชีวิต) มากเกินไป ก็ไม่ได้เป็นการส่งผลดีเลย ตรงกันข้าม ลูกกลับจะยิ่งรู้สึกต่อต้าน กดดัน ซึมเศร้า และอาจถึงขั้นฆ่าตัวตายได้ เราว่าพ่อแม่ประเภทนี้มีให้เห็นกันทั่วไป พวกที่อยากให้ลูกสอบได้คะแนนสูงๆ เข้าโรงเรียนดีๆ จับลูกเรียนพิเศษทุกวัน พวกเขานึกว่าตัวเองกำลังมอบสิ่งดีๆ ให้ลูก แต่หารู้ไม่ว่าอะไรที่มันมากเกินไปก็ไม่ดีน่ะ เด็กควรจะมีชีวิตเป็นของตัวเอง ได้ตัดสินใจเอง ได้เล่นกับเพื่อนๆ เมื่อมีโอกาสบ้าง อย่างในหนัง เราจะเห็นเลยว่าตอนเป็นเด็ก ตัวเอกแทบจะไม่มีอำนาจในการตัดสินใจชีวิตของตัวเองเลย ความกดดันอันหนักหน่วงนี้ส่งผลให้เขาฆ่าตัวตายในที่สุด
โชคยังดีที่ในหนังมีรีโมตย้อนเวลา แต่ในชีวิตจริงโลกเราไม่มีอะไรแบบนี้ ตายแล้วตายเลย พ่อแม่ก็ต้องมาเสียใจทีหลังอีก มันคุ้มกันมั้ย?
สิ่งที่หนังต้องการจะสื่อสารออกมานั้นดีมากเลยนะ พล็อตก็มีความน่าสนใจตรงที่มีการเบลนด์เทคโนโลยีเข้ามาเล่นด้วย (แม้จะไม่ได้เยอะจ๋าๆ แบบ Black Mirror) แต่จุดที่เราไม่ประทับใจเท่าไรคือความยืดเยื้อของหนังที่ยาวถึง 1 ชั่วโมงครึ่ง แล้วเป็น 1 ชั่วโมงครึ่งที่ใส่น้ำเข้ามาซะเยอะ มีฉากที่รู้สึกว่าไม่จำเป็นหลายฉาก บางฉากก็แช่ไว้นาน รู้ว่าตั้งใจขยี้ แต่ฉากที่แช่ค้างไว้นั้นเราก็ไม่ได้รู้สึกว่าชวนขยี้แต่อย่างใด ถ้าตัดเหลือแต่เนื้อ เราว่าความยาวน่าจะเหลือประมาณ 40 นาทีถึง 1 ชั่วโมง พอๆ กับตอนหนึ่งของ Black Mirror นั่นแหละ แล้วตัวหนังจะกระชับฉับไว สนุกขึ้นเยอะ นี่ยอมรับเลยว่าช่วงแรกๆ แอบเบื่อเหมือนกันกับเนื้อเรื่องที่ดำเนินช้าเหลือเกิน
ตอนที่ 2: Child of the Cat
สำหรับตอนนี้ เปลี่ยนแนวจากเทคโนโลยีมาเป็นความจิตล้วนๆ กันบ้าง ตัวเอกคือเด็กหนุ่มที่โดนครอบครัวกดดันเรื่องคะแนนสอบ (อีกแล้ว) พ่อแม่มีปัญหากัน มีการใช้ความรุนแรงในบ้าน โชคชะตานำพาให้เขาเจอกล่องที่เต็มไปด้วยแมว จึงเก็บมาเลี้ยง
ต่อมาเขาก็เจอเด็กสาวคนหนึ่งที่อ้างว่าตัวเองมีเวอร์ชั่นโลกคู่ขนาน กล่าวคือ อะไรก็ตามที่เธอทำในโลกขนานจะเปรียบเสมือนเป็นอีกตัวตนหนึ่งของเธอ และผลกระทบก็จะตามมาในโลกจริงด้วย เช่น ฆ่าคนในโลกขนาน คนคนนั้นก็จะตายจริงในโลกจริง ซึ่งเอาจริงๆ ไอ้โลกคู่ขนานนี่เราว่ามันก็คืออาการทางจิตนั่นแหละ ประมาณว่าคนคนนี้มีเรื่องกดดัน ทำให้ต้องเก็บซ่อนตัวตนอีกตัวตนหนึ่งไว้ การได้ปลดปล่อยตัวตนอีกตนออกมาก็ราวกับว่าได้เข้าไปสู่โลกอีกใบหนึ่ง เด็กหนุ่มเองเมื่อรู้เช่นนี้จึงลองบ้าง เพราะตัวเองก็เก็บกดเรื่องครอบครัว เรื่องคะแนนสอบเหมือนกัน โดยเด็กหนุ่มเลือกที่จะปลดปล่อยด้วยการฆ่าแมวที่เขาเก็บมาเลี้ยง เชื่อว่าการกระทำแบบนี้จะช่วยมอบพลังให้เขาสามารถทำสอบได้ดี
ตอนนี้เรารู้สึกว่าน่าเบื่อน้อยกว่าตอนที่แล้วนิดนึง ย้ำว่านิดนึง เพราะการดำเนินเนื้อเรื่องก็ยังคงมาแบบเนิบๆ แต่ยังดีที่มีฉากน่าตื่นเต้นน่าลุ้นหยอดเข้ามาเยอะกว่าตอนแรก สำหรับเนื้อหา ดูๆ แล้วไม่ชัดเจนเท่าไร คือตัวหนังไม่ได้เฉลยว่าสรุปแล้วนี่คืออาการทางจิตใช่มั้ย โลกคู่ขนานคืออะไร ฉากที่ตัวเอกได้คะแนนท็อปนั่นคือเรื่องจริงหรือจ้อจี้ ฯลฯ
ประเด็นที่เห็นได้ชัดคือ ความกดดันและความคาดหวังที่มีมากเกินไปของพ่อแม่และครอบครัวต้องทำให้เด็กคนหนึ่งเครียดจนเก็บกด เขาต้องพยายามพิสูจน์ให้เห็นว่าเขาเองก็เจ๋งไม่แพ้คนอื่นๆ ในตระกูล ในขณะที่พ่อแม่ของเขาก็พยายามยัดเยียดให้เขาเป็นคนที่เก่งที่สุด ทั้งๆ ที่ก็เห็นกันอยู่ว่าโดยธรรมชาติแล้วเขามีปัญหาด้านการเรียนรู้ เห็นได้จากหลายๆ ฉากที่เน้นย้ำว่าตัวเอกไม่สามารถแก้โจทย์ง่ายๆ ได้ แม้ว่าจะฝึกทำหลายครั้งแล้ว พ่อแม่ก็ยังคงไม่ยอมรับว่าลูกตัวเองมีอาการนี้ แต่คิดไปเองว่านั่นคงเป็นข้ออ้าง
สุดท้ายแล้วสิ่งที่เด็กคนหนึ่งต้องการ ก็ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าการได้รับความรักจากพ่อแม่ การได้รับการยอมรับในสิ่งที่เขาเป็น ไม่ใช่พยายามยัดเยียดให้เขาเป็นในสิ่งที่ตนอยากให้เป็น เหมือนที่ตัวเอกระเบิดอารมณ์ในช่วงสุดท้ายต่อหน้าแม่ เป็นฉากที่ถึงอารมณ์และสะใจมาก
ตอนที่ 3: The Last Day of Molly
ดูมาสามตอน นี่เป็นตอนที่ดีที่สุด บีบคั้นอารมณ์ที่สุด และเรียกน้ำตาที่สุด
เนื้อเรื่องเปิดตัวด้วยเหตุการณ์ฆ่าตัวตายของมอลลี่ เด็กสาวที่ดูภายนอกเป็นเด็กเรียนดี เรียบร้อย เชื่อฟังพ่อแม่ ดูไม่น่ามีปัญหาอะไร การตายครั้งนี้ทำให้แม่ของมอลลี่ไปไม่เป็น และพยายามค้นหาสาเหตุว่าทำไมมอลลี่ถึงฆ่าตัวตาย ทำไมเธอไม่รู้เลยว่าลูกเก็บซ่อนอะไรไว้ แม่ของมอลลี่ไปขอร้องให้ลูกชายของเพื่อน ที่กำลังทำทดลองวิทยาศาสตร์ว่าด้วยการค้นหาและรื้อฟื้นความทรงจำในอดีตของมนุษย์ เพียงแค่มีข้อมูลว่าปกติแล้วคนคนนี้มีพฤติกรรมยังไง แม่มอลลี่ขอให้เขาช่วยปลุกความทรงจำของมอลลี่ให้เธอรับรู้หน่อยว่ามีสาเหตุอะไรที่ทำให้มอลลี่ฆ่าตัวตาย
เนื้อเรื่องค่อยๆ เผยให้เห็นความกดดันในครอบครัวที่มอลลี่และน้องสาวต้องเผชิญ แม่ที่กดดันให้ลูกทำคะแนนสอบได้ดี ตั้งใจเรียนให้หนัก กักกันไม่ให้มีงานอดิเรก ยิ่งดูก็ยิ่งรู้สึกไม่ดีต่อผู้เป็นแม่ที่ไม่เคยคิดจะชมเชยหรือมอบช่วงเวลาดีๆ ให้กับลูกเลย นึกถึงแต่ภาพลักษณ์ตัวเอง นึกถึงแต่ว่าคนนอกจะมองยังไง พอไม่ได้ดั่งใจก็จะชอบอ้างว่าฉันอุตส่าห์ทิ้งการเรียนปริญญาเอก เพื่อมาเลี้ยงพวกเธอ เพื่อมามีครอบครัว แล้วดูสิ่งที่ฉันได้รับสิ? ประโยคนี้เราว่าเป็นอะไรที่โคตรเห็นแก่ตัว เป็นตอนที่แม่แสดงความเห็นแก่ตัวออกมาได้อย่างชัดเจนมาก นึกถึงแต่ตัวเอง ไม่นึกถึงใจคนรอบข้าง (เรื่องนี้บทพ่อดี คอยห้ามปรามแม่ไม่ให้บ้าใส่ลูก) ที่น่าตกใจมากคือพอแม่ได้รับรู้เรื่องราวของมอลลี่ทีละนิด แทนที่จะฉุกคิดว่าเป็นเพราะตัวเอง ลูกถึงได้ฆ่าตัวตาย แต่กลับโบ้ยคนอื่น โบ้ยปัจจัยอื่นไปทั่ว โดยที่ไม่ได้สำเหนียกตัวเองเลยสักนิด ต้องให้ความทรงจำของมอลลี่ที่มีต่อตัวแม่เองมาตอกย้ำใส่หน้านั่นแหละ แม่ถึงจะตาสว่าง รู้ได้สักทีว่าแท้จริงแล้วตัวเองนั่นแหละที่ฆ่าลูกทางอ้อม เรียกได้ว่าเป็นการเผชิญคำตอบที่เจ็บปวดมากๆ
ตอนนี้เป็นตอนที่ขยี้ความเจ็บปวดของคนเป็นลูกได้ดีมาก ไม่ว่าจะเป็นการที่มอลลี่เลือกกรีดข้อมือตัวเองทุกครั้งที่ทำคะแนนสอบได้แย่ เพื่อที่จะได้รู้สึกว่าบทลงโทษของแม่นั้นเจ็บปวดน้อยกว่า หรือการที่มอลลี่เขียนนิยายระบายความเจ็บปวดที่เธอเผชิญจนได้รับรางวัล แล้วเผยว่าต้องขอบคุณความเจ็บปวดเหล่านั้นที่ทำให้เธอมีแรงบันดาลใจในการเขียน โดยหวังว่าสิ่งที่เธอเขียนจะช่วยเป็นแสงสว่างให้คนที่พบเจอชะตากรรมเดียวกันกับเธอได้ โอ้โห คุณลองคิดดูว่าถ้าคุณเป็นแม่ แล้วได้รู้ว่าการที่ลูกสามารถเขียนนิยายเกี่ยวกับความเจ็บปวดได้ดีจนถึงขั้นได้รางวัลนั้นเป็นเพราะคุณ เป็นเพราะคุณที่ทำให้เขาต้องเผชิญกับสภาวะเลวร้าย เป็นเพราะคุณที่ทำให้เขาสามารถบรรยายความเจ็บปวดออกมาได้อย่างถึงแก่น คุณจะรู้สึกจุกแค่ไหน? ณ ตอนนั้นที่แม่มอลลี่ได้รับรู้เรื่องราวนี้ เราแทบจะได้ยินเธอกรีดร้องออกมาเลยว่า “นี่ฉันเป็นแม่ประสาอะไร!”
แม้กระทั่งตอนสุดท้าย หนังก็ยังไม่หยุดขยี้ความเจ็บปวด โดยก่อนที่มอลลี่จะกระโดดตึก เธอก็คิดว่าไม่มีใครรักเธอเลย แม้กระทั่งพ่อแม่ มันเป็นอะไรที่โคตรหดหู่ โคตรเศร้า ทุกๆ การกระทำมันช่างตอกย้ำให้เห็นถึงบาดแผลที่แม่สร้างไว้กับลูก และเมื่อแม่ได้รับรู้ว่าตัวเองทำอะไรไว้ มันยิ่งขยี้ปมนี้ให้หนักขึ้นไปอีกจนคนดูอย่างเราสะเทือนใจตามๆ กันไป
แม้จะเป็นอีกหนึ่งตอนที่มีเทคโนโลยีความล้ำหน้าเข้ามาช่วยเสริมพล็อต แต่เรากลับรู้สึกว่าเนื้อเรื่องในตอนนี้ดำเนินไปได้อย่างลื่นไหลมาก ไม่เหมือนตอน Mother’s Remote ที่เรามีความรู้สึกว่าเทคโนโลยีรีโมตย้อนเวลามันช่าง out of place เหมือนอยู่ดีๆ ก็หลุดเข้ามา แต่สำหรับตอนนี้ เครื่องรื้อฟื้นความทรงจำดูมีที่มาที่ไปมากกว่า คงเพราะเนื้อเรื่องบอกว่าเป็นเทคโนโลยีที่กำลังอยู่ในช่วงพัฒนาด้วย เลยทำให้เรื่องดูสมจริงกว่า
นอกจากนี้ แม้ความยาวของตอนนี้จะพอๆ กับตอนก่อนๆ แต่ไม่มีช่วงไหนที่ทำให้เบื่อเลย ไม่เหมือนสองตอนแรกที่มีหลายช่วงชวนให้หาว ทุกๆ ฉากของตอนนี้ชวนให้สังเกต ชวนให้ลุ้นว่าตัวละครจะพูดอะไร จะทำอะไร และจะเกิดอะไรขึ้นในฉากต่อไป ไม่มีฉากยืดเยื้อเกินควร ไม่มีบทสนทนามึนๆ งงๆ ทุกสิ่งทุกอย่างมีความหมาย และจะค่อยๆ กัดกินหัวใจของคนดูไปทีละนิด
The Last Day of Molly จะเป็นตอนที่ดีที่สุดของซีรีส์เรื่องนี้รึเปล่า อันนี้เราก็ยังไม่รู้จนกว่าจะได้ดูอีก 2 ตอนที่กำลังจะฉายในอนาคต แต่ ณ ตอนนี้สามารถสรุปได้เลยว่าเรื่องราวของมอลลี่เป็นอะไรที่ขยี้ที่สุดแล้ว ทั้งในเชิงพล็อตเรื่องและการถ่ายทอด รวมถึง message ที่อยากจะบอกพ่อแม่ทุกคนว่า อย่าแลกความสุขเล็กๆ น้อยๆ ของลูกไปกับความสำเร็จจอมปลอมที่ไม่ได้การันตีอนาคต อย่าสร้างแรงกดดันให้ลูกมากเกินไป เพราะสุดท้ายแล้ว ลูกก็เป็นแค่คนคนหนึ่งที่นอกจากเรียนแล้ว ก็ต้องมีเพื่อน มีสังคม มีกิจกรรมที่ตัวเองชอบ จะไปบังคับให้เขาเรียนอย่างเดียวมันไม่ได้เว้ย จะบ้าเหรอ ไม่ใช่หุ่นยนต์ ลูกเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่หากสุดท้าย เขารู้สึกว่าเขาหันไปทางไหนก็ไม่มีใครเข้าใจเขา ไม่มีความช่วยเหลือเลย เขาก็อาจจะเลือกจบชีวิตแบบมอลลี่ก็เป็นได้
ตอนที่ 4: Peacock
ตอนนี้มีความกดดันน้อยกว่าตอนอื่นๆ ที่ผ่านมา พ่อแม่ไม่ได้เคี่ยวเข็ญคะแนนสอบลูกขนาดนั้น ไม่ได้มีการลงโทษ ทำร้าย ดุด่ารุนแรงจนถึงขั้นจิตตก แต่คนเป็นแม่ก็ยังไปวาดฝันให้ลูกเข้าโรงเรียนดีๆ มหา’ลัยดังๆ แทน เนื้อเรื่องมีตัวเองเป็นเด็กสาวคนหนึ่งที่ไม่ได้มาจากครอบครัวฐานะร่ำรวย แต่ได้เข้าไปเรียนในโรงเรียนเอกชนชั้นนำ โรงเรียนนี้เคี่ยวเข็ญเด็กให้คร่ำเคร่งเรียนหนังสือ เรียนๆๆ อย่างเดียวโดยไม่ให้โฟกัสอย่างอื่น จะเห็นได้จากฉากแรกที่เล่นใหญ่ด้วยการที่นักเรียนทุกคนต้องถูกตรวจกระเป๋าว่าเอาของอื่นๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวกับการเรียนมาหรือไม่ ของในที่นี้ก็อย่างเช่นของเล่น หนังสือนิยาย ฯลฯ นอกจากนี้โรงเรียนยังไม่อนุญาตให้เด็กเล่นกีฬาช่วงพัก แถมการเรียนการสอนยังเน้นการท่องจำไปเพื่อสอบ ไม่สนับสนุนให้เด็กถามคำถามอีก
ทางด้านสังคมของโรงเรียน เพื่อนๆ ร่วมชั้นของนางเอกก็มีแต่ลูกคุณหนูที่มาจากตระกูลร่ำรวย เพราะฉะนั้นนางเอกจึงรู้สึกเหมือนเป็นคนนอก รู้สึกว่าไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของที่นี่ (แม้ว่าเด็กคนอื่นๆ จะดีกับเธอก็ตาม) มีอยู่วันหนึ่งเธอได้ไปสร้างมิตรภาพก็เด็กสาวไฮโซคนหนึ่ง เด็กสาวคนนั้นชวนเธอไปทานร้านอาหารแพงๆ เธอเองก็อยากไปแต่ไม่มีเงินมากพอ และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการทำสัญญาระหว่างนางเอกกับ “นกยูง” ที่ถูกเลี้ยงไว้ในโรงเรียน
ความพิลึกมันอยู่ตรงนี้แหละ คือไอ้นกยูงตัวนี้น่ะพูดได้ สื่อสารกับคนได้ด้วยน้ำเสียงที่ฟังดูโรคจิตเป็นบ้า ความพิเศษยิ่งกว่านั้นคือนกยูงสามารถให้พรวิเศษได้ แต่ต้องแลกกับบางสิ่งบางอย่างที่เรามี นางเอกเผลอไปทำสัญญากับนกยูง เพื่อให้ได้เงินจำนวนหนึ่งไปกินข้าวหรูๆ กับเพื่อนได้อย่างสบาย แต่ก็ต้องแลกกับประสิทธิภาพในการจำแนกสีด้วยตาของเธอ ผลกระทบนี้ทำให้เธอสูญเสียทักษะด้านศิลปะของเธอไปทีละนิด จนสุดท้ายก็ถูกตัดสิทธิ์ออกจากการแข่งขันด้านดีไซน์ที่อุตส่าห์ได้ไปไกลถึงต่างประเทศ
เรื่องมันไม่ได้จบแค่นั้น เพราะตัวละครยังคงแวะเวียนมาทำสัญญากับนกยูงเรื่อยๆ ไม่ใช่แค่นางเอกคนเดียว ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนนางเอกที่อยากได้คะแนนสูงๆ แต่แลกกับความสามารถในการพูด, เจ้าของโรงเรียนที่อยากให้โรงเรียนมีชื่อเสียง แต่แลกกับสมรรถภาพในการยืน, น้องชายนางเอกที่อยากเข้าเรียนโรงเรียนสำหรับนักกีฬา แต่ต้องแลกกับการที่พ่อแม่ตกงาน, นางเอกที่ต้องการให้พ่อแม่มีโชค แต่ต้องแลกกับการที่ตัวเธอค่อยๆ กลายเป็นนกยูง ฯลฯ
ประเด็นที่ตอนนี้ต้องการจะสื่อนั้นเน้นไปทางพ่อแม่ที่วางแผนอยากให้ลูกเข้าเรียนโรงเรียนดีๆ มหา’ลัยดังๆ มีอนาคตที่สดใส ไม่อยากให้เข้าโรงเรียนรัฐบาลหรือโรงเรียนคนปกติทั่วไป จริงๆ มันก็ไม่ผิดที่พ่อแม่จะอยากให้ลูกได้ดิบได้ดี แต่จากตัวอย่างในซีรีส์ เราจะเห็นว่าพ่อแม่ (โดยเฉพาะแม่) คิดเองเออเองอยู่คนเดียว บงการอยู่คนเดียวโดยไม่ถามอะไรลูกเลย ตัวนางเอกก็ไม่ได้อยากจะเรียนที่นี่เพราะรู้สึกว่าเข้ากับคนอื่นไม่ได้ ส่วนน้องชายก็ไม่ได้อยากไปเรียนโรงเรียนที่แม่เล็งไว้ เพราะไปเรียนด้านกีฬาในโรงเรียนอีกแห่งมากกว่า ที่สำคัญคือคนเป็นแม่ไม่ได้คำนึงถึงค่าใช้จ่ายที่จะตามมาแม้แต่นิด มัวแต่คิดเรื่องผลลัพธ์อย่างเดียว ไม่ได้ดูเลยว่าฐานะครอบครัวมันไม่เอื้อต่อการทำสิ่งต่างๆ ตัวอย่างเช่น การจะให้นางเอกเข้าร่วมแข่งขันด้านดีไซน์นั้นจำเป็นต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม แต่แม่ก็ยังให้นางเอกเข้าร่วมแม้ว่าจะไม่มีตังค์จ่าย หรือการที่แม่อยากให้น้องชายไปเรียนต่อในโรงเรียนดีๆ โรงเรียนหนึ่ง ทำให้พวกเขาต้องหาที่อยู่ใหม่ที่ใกล้กับโรงเรียน ซึ่งค่าใช้จ่ายในสำหรับที่อยู่ใหม่นั้นก็สูงเกินไปที่พวกเขาจะจ่ายไหว แต่คนเป็นแม่ก็ยังเลือกตัวเลือกนี้
อีกประเด็นที่หนังต้องการจะสื่อก็คือว่า “ไม่มีอะไรได้มาฟรีๆ” เห็นได้จากข้อตกลงของตัวละครกับนกยูง ไม่ว่าจะอยากได้อะไรก็จะต้องมีของมาแลกเปลี่ยนทั้งนั้น แล้วของแต่ละอย่างที่ต้องแลกก็มีคุณค่าไม่ใช่น้อย บางอย่างถึงขั้นเปลี่ยนชีวิตไปเลย ดังนั้น เรามองว่าเหตุการณ์นี้ก็เหมือนการตัดสินใจครั้งสำคัญๆ ในชีวิตเรา เพราะบางทีถ้าเราเลือกทางผิด เราก็อาจจะต้องสูญเสียอะไรหลายๆ อย่างที่สำคัญกับเรา ส่วนทางเลือกที่ถูกนั้นบางทีก็ไม่ได้ครอบครองกันได้ง่ายๆ
ความดุร้ายของพ่อแม่ในตอนนี้ถือว่าเบาสุดแล้วหากเทียบกับ 3 ตอนที่ผ่านมา แต่ประเด็นที่ต้องการจะสื่อก็ยังน่าสนใจเช่นเดิม เส้นเรื่องถือว่าดำเนินไปได้ดี ไม่ยืดเยื้อ ไม่มีจุดน่าเบื่อ แต่ก็ยังสู้ตอนที่ 3 ไม่ได้ คงเพราะไม่ค่อยมีฉากคั้นอารมณ์ด้วยแหละ แต่จะเน้นให้เราสงสัยแทนว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป ตอนนี้ไม่ได้มีเทคโนโลยีล้ำยุค แต่เปลี่ยนเป็นความแฟนตาซีด้วยนกยูงพ่อมดแทน ซึ่งก็เปลี่ยนบรรยากาศไปอีกแบบ ตอนจบแอบความซึ้งนิดนึง และมีความหดหู่ซ่อนอยู่ในภาพฉากที่ดูสดใส ซึ่งเป็นอะไรที่กินใจดีเหมือนกัน
ตอนที่ 5: ADHD is Necessary
ตอนนี้มีกลิ่นอาย dystopia สูงสุดจากทั้งหมด 5 ตอน อาจจะเพราะฉากสถานที่ที่ดูคลีนๆ ล้ำๆ ไม่เหมือนตอนอื่นๆ ที่ฉากยังคงเหมือนอยู่ในโลกยุคปัจจุบัน ส่วนคุณแม่ในเรื่องนี้ก็ไม่ได้ดุแบบเถื่อนๆ แต่จะออกแนวร้ายลึกซะมากกว่า
สำหรับตอนนี้จะเล่าถึงโลกสมมติ หรือโลกอนาคตที่การโคลนนิ่งมนุษย์นั้นเป็นไปได้ ตัวอ่อนของมนุษย์จะถูกสร้างขึ้น ผู้หญิงที่เป็นผู้รับตั้งครรภ์จะมีสถานะเป็นแม่ ซึ่งมีหน้าที่คือดูแลให้ลูกของตนทำคะแนนสอบได้ดีเหนือเกณฑ์ที่รัฐบาลตั้งไว้ หากแม่คนไหนสามารถเลี้ยงลูกให้สอบได้คะแนนดีๆ ได้ ก็จะได้รับการชมเชย ได้ยศประดับ ได้บ้านอยู่ในเมืองหรูหรา ในขณะเดียวกัน หากลูกไม่สามารถทำคะแนนสอบได้ดีถึงเกณฑ์ๆ หนึ่ง ก็จะต้องถูกส่งไปอยู่นอกเมือง บรรยากาศโกโรโกโส หลุดออกจากความเป็น dystopia ในทันใด หนักกว่านั้นคือหากลูกทำคะแนนสอบได้ต่ำมาก ก็จะต้องถูกกำจัดทิ้งเนื่องจากรัฐบาลเห็นว่าเป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากร
ตัวเอกของเรื่องนี้คือเด็กสาวผู้เป็นลูกของคุณแม่ดีเด่น พี่ชายของเธอที่เสียไปแล้วนั้นเคยได้คะแนนสูงมาก จึงทำให้แม่ของเธอได้รับหน้าไปด้วย แต่โชคร้ายที่เธอเกิดมาหัวไม่ดีเอาซะเลย ติวเท่าไรคะแนนก็ไม่กระเตื้อง แถมยังดูเหมือนจะลดลงด้วย แน่นอนว่าผู้ปกครองในซีรีส์เรื่องนี้จากที่กล่าวๆ มาไม่เคยมีคนไหนได้เรื่องสักคน คุณแม่ในเรื่องนี้ก็เช่นกัน นางไม่อยากให้ลูกได้คะแนนแย่เพราะไม่อยากออกไปอยู่นอกเมือง จึงคิดหากลอุบายให้ลูกสาวแกล้งเป็นโรค ADHD เพื่อที่จะได้ถูกละเว้นจากการตัดสินเรื่องคะแนน ซึ่งการเล่นละครเป็นคนบ้านี้ไม่ใช่อะไรที่เด็กสาวอยากทำเลย เธอพยายามโน้มน้าวแม่ว่าเธอจะตั้งใจเรียนมากขึ้น แต่ก็ดูเหมือนจะไม่เป็นผลเท่าไรนัก เพราะคะแนนก็ยังร่อยหรอเหมือนเดิม
ความพีคของเรื่องนี้คือตอนที่เฉลยปมว่าไอ้การที่เด็กเป็นโรค ADHD เนี่ย ไม่ได้หมายความว่าพอวินิจฉัยแล้วจะได้รับยานะ เปล่าเลย เด็กจะถูกส่งตัวไปกำจัดต่างหาก! เพราะถือว่าเด็กมียีนส์ด้อย เกิดมาผิดปกติ ไม่สมควรที่จะใช้ชีวิตร่วมกับสังคมปกติทั่วไป ในกรณีนี้ ฝ่ายแม่จะไม่ผิดอะไรเพราะถือว่าลูกเกิดมาพลาดเอง แม่ก็แค่ได้รับตัวอ่อนใหม่มาเลี้ยง ได้ลูกคนใหม่ไปเลี้ยง ง่ายๆ แบบนั้น ในทางกลับกัน หากเด็กทำคะแนนสอบได้แย่แล้วต้องถูกกำจัด แม่คนนั้นจะถือว่ามีความผิด กลายเป็นแม่ไม่ได้เรื่อง ถูกตราหน้าว่าห่วยไปตลอดกาล
ตอนจบของเรื่องนี้ก็ชวนให้จุกเช่นกัน ลงเอยด้วยการที่ว่าเด็กสาวตัวเอกถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคประสาทหลอน (เราเดาว่าคงเพราะความเครียดหลายๆ อย่าง) จึงถูกตราหน้าว่าเป็นความผิดพลาดของยีนส์ไปเลย แทนที่แม่จะออกมาช่วยปกป้อง กลับปล่อยให้ลูกสาวโดนฆ่าตาย ส่วนตัวเองก็ได้ลูกใหม่มาเลี้ยงดู ปิดท้ายด้วยประโยคที่แสดงให้เห็นว่า เธอรักตัวเองมากกว่ารักลูก
ราวกับจะพูดแทนพ่อแม่จากทุกๆ ตอนในซีรีส์นี้ยังไงยังงั้น
สำหรับตอนล่าสุดนี้มีประเด็นที่น่าสนใจคือความสามารถในห้องเรียนกับนอกห้องเรียน มีอยู่ช่วงหนึ่งของหนังที่เด็กสาวจะได้เข้าไปอยู่ในพื้นที่ของเด็กที่เคยเกือบถูกกำจัด ตอนนี้เด็กกลุ่มนี้ตั้งแคมป์เล็กๆ ใช้ชีวิตร่วมกันในป่า ต่างคนต่างเชี่ยวชาญต่างกันไป บางคนเก่งวาดภาพ บางคนเก่งทำอาหาร บางคนเก่งตัดฟืน (ฉากนี้จะเจอนักแสดงจากตอนอื่นๆ ด้วย) เมื่อเด็กสาวค้นพบโลกอีกใบนี้ เธอจึงได้รู้ว่าแท้จริงแล้วเธอไม่เก่งอะไรเลย เรียนก็ไม่เก่ง ความสามารถก็ไม่มี แทนที่เธอจะได้รับโอกาสให้เสาะหาสิ่งที่เธอชอบ เธอกลับถูกบังคับให้เรียนแต่ตำรา เรียนเพื่อสอบอย่างเดียว
หากพ่อแม่เปิดใจให้เด็กค้นหาตัวตนที่แท้จริงของตัวเองสักนิด บางทีเด็กอาจจะสามารถส่องประกายมากกว่าที่เป็นอยู่ก็ได้
เพราะมนุษย์บางคนก็ไม่ได้เกิดมาเพื่อประสบความสำเร็จในห้องเรียน
ADHD is Necessary เป็นอีกตอนที่สะท้อนให้เห็นด้านมืดของผู้ปกครอง กล้าที่จะเปิดเผยความต้องการลึกๆ ของผู้เป็นพ่อแม่ว่าจริงๆ แล้วก็อยากมีลูกไว้เชิดหน้าชูตา อยากมีลูกเป็นที่พึ่ง ซึ่งจริงๆ แล้วก็ไม่ได้ผิด 100% เพราะไหนๆ ผู้เป็นพ่อแม่ก็เป็นคนเลี้ยงดูมา แต่ถึงอย่างนั้นก็ต้องอย่าลืมว่าลูกก็เป็นคน มีชีวิตจิตใจ มีตัวตนที่อยากแสดงออก จะไปบังคับชี้นกเป็นนกชี้ไม้เป็นไม้ตลอดเวลามันก็ไม่ใช่ พ่อแม่ก็จะต้องเว้นช่องว่างให้ลูกได้ค้นหาตัวเองบ้างว่าแท้จริงแล้วชอบอะไร ไม่ชอบอะไร
จบแล้วกับซีรีส์ On Children หากใครอ่านถึงตรงนี้ ยินดีด้วย คุณคงไม่ต้องไปดูหนังแล้ว (ฮา) แต่ถ้าใครอยากไปดู เราก็ไม่ห้าม เพราะถึงจะรู้พล็อตแล้ว ก็เข้าไปเสพมุมกล้องสวยๆ ฉากอาร์ตๆ กันได้ เราชอบที่ On Children มีจุดแข็งในตัวที่ชัดเจนว่าต้องการจะสื่ออะไร ชอบที่สามารถนำสารนี้มาเล่าได้เป็นเรื่องราวที่แตกต่างกันไปใน 5 เรื่อง กล้าที่จะตีแผ่ความดำมืดของระบบพ่อแม่ลูกกับการคาดหวังให้ลูกเป็นเลิศด้านการเรียน และกล้าที่จะบอกกันตรงๆ ว่าผลเสียของมันคืออะไร เรื่องนี้อาจจะไม่เทียบเท่า Black Mirror เพราะความเข้มข้นและความล้ำอย่างห่างชั้นนัก แต่ถ้าเป็นเรื่อง message ที่กระแทกใจคนดูจนจุกก็ถือว่าทำได้ดีไม่แพ้กันเลย
ป.ล.1 ถ้าพ่อ แม่ ลูก มานั่งดูซีรีส์เรื่องนี้ด้วยกัน ก็น่าจะเป็น family moment ที่น่าสนใจไม่หยอก
ป.ล. 2 ถ้าให้เรียงลำดับความน่าดู ตอนที่ 3 ยังคงอันดับหนึ่งเหมือนเดิม รองลงมาคือตอนที่ 4&5 ที่สูสีๆ กัน คือมีความสนุกที่คุ้มค่ากับเวลา ส่วนตอนที่ 1&2 ดูแล้วไม่คุ้มเวลาเท่าไร เป็นน้ำซะเยอะ
ป.ล. 3 จากทั้งหมด 5 ตอนจะเห็นว่าคนมีปัญหามักจะเป็นแม่มากกว่าพ่อ ไม่รู้ว่าสิ่งนี้สะท้อนความเป็นจริงที่ว่าแม่มักจะคาดหวังในตัวลูกมากกว่าพ่อที่จะเป็นฝ่ายชิวๆ มากกว่า รึเปล่านะ
Leave a Reply