รีวิว Searching (2018): กำเนิดมนุษย์พ่อที่สามารถเจาะเข้าเฟซบุ๊กลูกได้

คุณแน่ใจหรือว่ารู้จักลูกตัวเองดีพอ?

แค่ดูตัวอย่างหนังเรื่อง Searching หนังที่มีตัวแสดงนำเป็นชาวเอเชียพูดอังกฤษ เราก็ปักหมุดไว้ทันทีในใจว่าต้องดูให้ได้ เพราะแค่ดูตัวอย่างหนังก็รู้สึกเหนื่อยและลุ้นแล้ว

Searching เข้าโรงพร้อมๆ กับหนังเอเชียพูดฝรั่งอีกเรื่องคือ Crazy Rich Asians ทำให้เราแอบสงสัยเล่นๆ ว่าสัปดาห์นี้มันสัปดาห์อะไรกันหว่า หนังที่คนเอเชียแสดงนำถึงเข้าพร้อมกันเลย ยังไม่นับหนัง Netflix เรื่อง To All The Boys That I’ve Loved Before อีก

กลับมาที่ Searching เป็นหนังแนวทริลเลอร์คนหายที่ชูจุดเด่นด้านการใช้เทคโนโลยีและโซเชียลมีเดีย เข้ากับยุคสมัยสุดๆ หนังได้แนะนำให้เรารู้จักกับครอบครัวคิม ครอบครัวชาวเกาหลีที่อาศัยอยู่ในอเมริกา อันประกอบไปด้วย เดวิด ผู้เป็นพ่อ แพม ผู้เป็นแม่ และมาร์โกต์ ลูกสาว พ่อแม่ลูกดูเหมือนจะมีความสุขดี จนกระทั่งผู้เป็นแม่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง จึงเหลือเพียงพ่อลูกอาศัยอยู่ด้วยกัน ตอนแรกเราจะรู้สึกได้ว่าพ่อลูกคู่นี้เขาก็คุยกันดีนะ แชตหากัน เฟซไทม์หากัน ดูไม่น่าจะมีปัญหาอะไรในความสัมพันธ์

แต่แล้วเรื่องไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นเมื่อจู่ๆ มาร์โกต์ในวัย 16 ปีได้หายตัวไป เดวิดติดต่อเท่าไรก็ไม่ได้ ลองถามเพื่อนร่วมชั้นก็ไม่มีใครรู้คำตอบ ที่พีคยิ่งกว่าคือดูเหมือนว่ามาร์โกต์จะไม่มีเพื่อนสนิทเลย ในที่สุดเดวิดก็ต้องขอความช่วยเหลือจากหน่วยสืบและตำรวจ ยิ่งขุดลึกเข้าไปในปริศนามากเท่าไร เดวิดก็ยิ่งค้นพบความลับของมาร์โกต์มากขึ้นเท่านั้น ซึ่งทำให้เดวิดเริ่มสงสัยว่า แท้จริงแล้ว เขารู้จักลูกสาวตัวเองดีจริงๆ หรือ?

เรื่องนี้บอกได้คำเดียวเลยว่าสนุก สนุกจริงๆ สนุกตั้งแต่ต้นเรื่องยันจบเรื่อง ลุ้นทุกช่วงทุกตอน ทุกสถานการณ์พาเราไปสู่อีกเส้นทางได้เสมอ เนื้อเรื่องดำเนินได้อย่างฉับไว ไม่มีจุดน่าเบื่อ ทุกรายละเอียด ทุกบทสนทนา มีความหมายหมด และสุดท้ายทุกๆ จุดก็จะเชื่อมโยงกัน นำไปสู่บทสรุปที่เหนือความคาดหมายจริงๆ ระหว่างทาง เราจะได้เห็นความพยายามของเดวิดในการตามหามาร์โกต์ ทึ่งไปกับความมุมานะที่จะตามหาคำตอบ รับรู้ได้ถึงความกังวลของคนเป็นพ่อที่ลูกทั้งคนหายตัวไป และระแวงคนรอบตัวที่อาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการหายตัวไปของมาร์โกต์ นับถือเดวิดมากที่กัดไม่ปล่อย เป็นมนุษย์พ่อที่ละเอียดมาก ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้โหดมากราวกับเป็นเด็กวัยรุ่น

นอกจากนี้ เรายังชอบที่หนังมีการเน้นถ่ายเข้าไปที่จอคอมพิวเตอร์ ให้เห็นว่าตัวละครทำอะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นการเสิร์ชหาข้อมูล การคุยเฟซไทม์ การแชต การค้นไฟล์เก่าๆ มันทำให้เรารู้สึกเหมือนเข้าใกล้ตัวละครไปอีกขั้น เราได้ตามติดว่าเดวิดสืบค้นข้อมูลยังไงบ้าง ได้รู้ว่ามาร์โกต์เคยโพสอะไรไว้ในอินเตอร์เน็ตบ้าง ได้เห็นว่าครอบครัวคิมอัดวิดีโอความทรงจำไว้มากมายขนาดไหน (ขยันอัดอะไรกันขนาดน้าน) อีกอย่างคือโมชั่นบนคอมพิวเตอร์มันเป็นอะไรที่เรียล มันเป็นอะไรที่เราทำกันอยู่ทุกวัน จุดนี้เลยยิ่งทำให้เรารู้สึกมีส่วนร่วมกับการกระทำของตัวละครขึ้นไปอีก

อ้อ อีกกิมมิคหน้าจอคอมฯ ที่แอบชอบคือ การไม่ละเลยถึงความเปลี่ยนแปลงของ Operating/Browsing System โดยช่วงแรกๆ ของหนัง ยังใช้ Microsoft/IE กันอยู่ แต่หลังจากนั้นเริ่มเปลี่ยนมาใช้ iOS และ Chrome กันละ

หนังนำเสนอประเด็นน่าสนใจหลายประเด็น เช่น ความอันตรายของอินเตอร์เน็ต ที่แม้จะไม่ใช่ประเด็นใหม่แต่พอเอามาพูดถึงทีไรก็โดนใจคนยุคสมัยนี้ตลอด ถึงเรื่องนี้จะไม่ได้แฉด้านมืดของอินเตอร์เน็ตขนาดนั้น แต่เราก็ได้เห็นว่าหากไม่ระวังตัว โซเชียลมีเดียและอินเตอร์เน็ตโดยรวมก็อาจนำภัยมาให้เราได้เช่นกัน ไม่ต้องดูตัวอย่างที่ไหนไกล ดูจากตอนที่เดวิดพยายามเข้าเฟซบุ๊กมาร์โกต์นั่นแหละ แม้ว่านี่จะไม่ใช่กรณีอันตรายในหนัง แต่ถ้าเป็นในชีวิตจริง ถ้าไม่ใช่คนในครอบครัว มันก็คงน่ากลัวเหมือนกัน

ประเด็นครอบครัวก็เป็นอีกจุดที่หนังโฟกัส เราจะได้ค้นพบความสัมพันธ์ที่แท้จริงของเดวิดและมาร์โกต์ อันเป็นสาเหตุให้เกิดเรื่องราววุ่นวายบางอย่าง เดวิดได้รู้ตัวว่าแม้ตัวเองจะทำหน้าที่พ่อได้ดี แต่อาจจะยังไม่ได้เป็นเพื่อนที่ดีให้กับลูก ด้วยเหตุนี้ เขาจึงไม่ได้รับรู้เรื่องราวความลับหลายๆ อย่างของลูก ซึ่งบางทีมันอาจจะไม่ใช่ความผิดของเขาก็ได้ และอาจจะไม่ใช่ความผิดของใครเลย ในเมื่อทุกๆ คนก็ต้องอยากมีความเป็นส่วนตัว มีความลับที่ไม่อยากบอกคนอื่นบ้างละ แม้เดวิดจะเป็นพ่อที่ดีแค่ไหน แต่มันก็ช่วยไม่ได้อยู่ดีหากมาร์โกต์คิดอยากจะปิดบังอะไรสักอย่างจากเขา

หนังหลอกคนดูไปทีละนิดๆ ก่อนจะหักมุมในตอนจบ ซึ่งอย่างที่บอกไปว่าค่อนข้างพีคเลยทีเดียว และเป็นการพีคที่ค่อนข้างสมเหตุสมผล ไม่เกิดอาการ “ห๊ะ?” ดังนั้น เชียร์มากๆ สำหรับใครที่เป็นคอหนังทริลเลอร์ เน้นสืบสวนสอบสวนลุ้นระทึก น่าจะถูกใจกัน ^^

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

Blog at WordPress.com.

Up ↑

%d bloggers like this: