8 คำถามที่บล็อกเกอร์หน้าใหม่ควรรู้คำตอบ – ไขข้อสงสัยผ่านคอร์ส How to be A Blogger โดย CookieCoffee

เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2018 เรามีโอกาสได้เข้าร่วมคอร์ส How to be A Blogger ซึ่งจัดโดยคุณคุกกี้ เจ้าของบล็อก cookiecoffee.com บล็อกที่มียอดคลิกอันดับหนึ่งของเมืองไทย! ไม่ธรรมดาเลยจริงๆ สารภาพว่าก่อนวันงานแอบตื่นเต้นอยู่ เพราะบล็อกเกอร์มือฉมังขนาดนี้ต้องมีทริกเด็ดๆ มาแชร์กันแน่นอน

แล้วเราก็ไม่ผิดหวังจริงๆ เพราะได้ไอเดียใหม่ๆ ที่สามารถนำไปปรับใช้กับการทำงานจริงและงานอดิเรกของเราได้ เลยอยากจะสรุปเนื้อหาส่วนหนึ่ง (ย้ำว่าส่วนหนึ่ง! ไม่สปอยล์หมดหรอก อยากรู้หมดต้องไปเรียนเอง อิ_อิ) มาแชร์ให้ใครที่สนใจอยากเป็นบล็อกเกอร์หรือทำงานด้านคอนเท้นต์ได้ลองอ่านกัน รวมถึงแอบเสริมไอเดียที่เราตกผลึกและประสบการณ์ส่วนตัวของเราลงไปด้วย ลองมาไล่ไปดูทีละคำถามกันเลย

คำถามที่ 1: บล็อกเกอร์ เขาทำเงินกันยังไง?

สิ่งนี้เป็นอะไรที่หลายๆ คนกังขากันมาก โดยเฉพาะคนที่อยู่นอกวงการบล็อกเกอร์ คนส่วนใหญ่มักนึกไม่ถึงว่าการขีดๆ เขียนๆ แล้วโพสลงอินเตอร์เน็ตมันจะสร้างรายได้ได้จริงๆ เหรอ ขอบอกว่าเป็นไปได้ละ เพราะบล็อกเกอร์ที่ทำเงินถึงหลักหมื่นหลักแสนต่อเดือนนั้นถือกำเนิดขึ้นแล้ว พร้อมๆ กับความรุ่งเรืองของโลกออนไลน์นั่นละ

นั่นๆ เริ่มตาลุกวาวกันแล้ว เริ่มอยากเขียนบล็อกเป็นงานอดิเรกกันแล้ว ว่าแต่ว่าแหล่งรายได้หลักๆ ของบล็อกเกอร์นั้นมีอะไรบ้าง?

สปอนเซอร์

อันนี้ถือเป็นแหล่งรายได้สำคัญเลยละ สปอนเซอร์คือบริษัทเจ้าของสินค้าบริการที่พักหลังๆ มานี้เริ่มสนใจการใช้ Microinfluencers หรือผู้มีอิทธิพลเฉพาะกลุ่มมาช่วยโปรโมตแบรนด์ตัวเอง ผู้มีอิทธิพลเฉพาะกลุ่มก็คือบล็อกเกอร์เนี่ยแหละ ยิ่งบล็อกเกอร์มีฐานแฟนคลับมากเท่าไร ก็จะยิ่งดึงดูดบริษัทและเอเจนซี่มากขึ้นเท่านั้น สปอนเซอร์เหล่านี้ก็จะมาขอให้บล็อกเกอร์ช่วยสร้างคอนเท้นต์สอดแทรกสินค้าบริการของตนเข้าไป แล้วนำเสนอในสไตล์ของบล็อกเกอร์แต่ละคน บางทีสปอนเซอร์ก็จะออกค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้ ไม่ว่าจะเป็นตัวสินค้า ค่าเดินทาง ค่าบริการ ให้โค้ด referral ฯลฯ ซึ่งก็จะเหมือนว่าบล็อกเกอร์ได้ของฟรีไปใช้เลย  สปอนเซอร์ได้โฆษณาบล็อกเกอร์ได้ค่าตอบแทน วินวินกันไป

ดังนั้น ใครที่อยากเตะตาสปอนเซอร์ แนะนำว่าเวลาเขียนบล็อกน่ะ เขียนเผื่อหางไว้ให้สปอนเซอร์ด้วย คือเราไม่รู้หรอกว่าใครจะมาเป็นสปอนเซอร์เราในอนาคต แต่เราสามารถเดาทางไว้ได้ และเขียนในเชิงที่ว่าเราเป็น “มิตร” กับบริษัทเหล่านั้น เราไม่ได้เขียนด่าเสียๆ หายๆ สปอนเซอร์ก็อาจจะรู้สึกว่า เออ คนนี้มันพวกเดียวกับเรานี่หว่า สนับสนุนเรา หรือไม่ก็ เออ คนนี้มันสนใจด้านนี้นี่หว่า มันรีวิวสินค้านี้ว่ะ งั้นเราไปจ้างบ้าง อะไรแบบนี้

จัดงานสัมมนา คอร์สเรียน

เมื่อบล็อกเกอร์มีผู้ติดตาม มีชื่อเสียงระดับนึงแล้ว บล็อกเกอร์สามารถเพิ่มรายได้ด้วยการจัดสัมมนา หรือ คอร์สเรียน ในหัวข้อที่ตัวเองเชี่ยวชาญได้ เนื่องจากบล็อกเกอร์มีความน่าเชื่อถือระดับนึงแล้ว ก็จะมีคนเข้ามาสมัครเรียนด้วย มีคนอยากเจอตัวจริง อยากเรียนกับคนจริง เพิ่มรายได้ให้บล็อกเกอร์กันไป

หลายคนอาจจะคิดว่า โห ต้องใช้เวลานานเลยสิเนี่ย กว่าจะเปิดคอร์สได้ ขอบอกว่าไม่จริงเลย เรามีเคสของมิตรสหายท่านหนึ่งที่เพิ่งเปิดเพจมาเมื่อไม่นานมานี้ สดๆ ร้อนๆ ไม่ถึง 3 เดือนเลยมั้ง แต่ตอนนี้เปิดคอร์สเรียนแล้ว มีคนลงทะเบียนจ่ายตังค์เรียนด้วยเว้ย เพราะอะไร? เพราะเขาแสดงให้ผู้ติดตามเห็นว่าเขารู้ลึกรู้จริงในสิ่งที่เขาสนใจ คนที่ติดตามก็จะรู้สึกอินไปกับ passion ของเขา อยากให้เขาสอนแบบตัวต่อตัว ไรงี้

ทำสินค้า/บริการขึ้นมาขายเอง

หากเริ่มต้นจากการเป็นบล็อกเกอร์เฉยๆ อันนี้ถือเป็นขั้นสุดยอดเลย น่าเชื่อถือถึงขนาดทำสินค้าบริการขึ้นมาแล้วมีคนซื้อ กลายเป็นธุรกิจใหม่ไปเลย ในขณะเดียวกัน เจ้าของสินค้า/บริการก็สามารถผันตัวเป็นบล็อกเกอร์ได้เหมือนกัน ก็จะสามารถไทด์อินของของตัวเองได้เหมือนกัน แต่ขึ้นอยู่กับวิธีการนำเสนอเนื้อหาด้วยนะ ถ้าฮาร์ดเซลไป คนก็อาจจะหลอนได้

คำถามที่ 2: เขียนบล็อกยังไง ให้ติดหน้าแรก Google?

หน้าแรกของกูเกิ้ลเปรียบเสมือนดินแดนศักดิ์สิทธิ์ที่ถ้าใครได้ครอบครอง คนคนนั้นก็จะได้ทรัพย์มหาศาล ไม่ว่าจะเป็น traffic ที่ไหลเข้าเว็บ หรือสปอนเซอร์ที่มักจะชายตาไปทางหน้าแรกก่อนเพื่อน คงไม่มีใครปฏิเสธหรอกว่าเวลาเสิร์ชกูเกิ้ล ก็มักจะคลิกวนเวียนๆ เข้าเว็บที่อยู่หน้าแรกกันทั้งนั้น นานน้านทีถึงจะโผล่ไปหน้า 2 หน้า 3 นอกเสียจากว่าเราจะอยากรู้ข้อมูลเรื่องนั้นจริงๆ แบบรู้ลึกรู้จริง ซึ่งมันก็นานๆ ทีอะนะ เพราะส่วนใหญ่เราจะเสิร์ชกูเกิ้ลเนื่องจากเราอยากรู้อะไรสักอย่างแบบเร็วๆ หรือกำลังมีปัญหา ซึ่งโดยปกติเว็บที่อยู่หน้าแรกก็จะตอบปัญหาแบบเร็วๆ ของเราได้แล้ว

ทีนี้ คำถามสำคัญคือ คอนเท้นต์ของเราควรมีเนื้อหาแบบไหน ถึงจะมีสิทธิ์ติดหน้าแรกกูเกิ้ลกับเค้าบ้าง?? แน่นอนว่าหลายคนคงนึกถึง SEO ซึ่งจริงๆ ก็มีส่วนละ เพราะ SEO ที่ดีก็เพิ่มโอกาสให้เว็บของเราขึ้นหน้าแรกได้ แต่ SEO ที่ดีนั้นต้องทำยังไงล่ะ? คอร์สวันนี้ไม่ได้ลงลึกรายละเอียด SEO แต่จะเล่าถึงหลักในการสร้างเนื้อหาคอนเท้นต์มากกว่า สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือเนื้อหาต้องมีคุณภาพ เขียนรู้เรื่อง และเป็นประโยชน์ต่อคนจริงๆ กล่าวคือ พอคนเข้ามาอ่านเนื้อหาของเรา เค้าจะต้องรู้สึกว่าปัญหาของเค้าถูกแก้ไข อ่านเสร็จปุ๊บรู้สึกปลอดโปร่งโล่งสบายแล้ว (ทำไมมันเหมือนเข้าห้องน้ำ)

สิ่งที่จะช่วยเราได้คือความละเอียดของเนื้อหา ยิ่งยาว ยิ่งละเอียด ยิ่งเป็นฮาวทู ยิ่งอัพเดตทันสถานการณ์เท่าไร กูเกิ้ลยิ่งชอบ ยิ่งดันให้มาอยู่หน้าแรก เหตุเพราะยิ่งเนื้อหายาว ก็จะยิ่งมี keyword สำคัญๆ ในเนื้อหามากเท่านั้น ก็จะยิ่งง่ายต่อการเสิร์ชเจอขึ้นไปอีก

ตัวอย่างที่น่าสนใจคือบล็อก seat61.com ที่อธิบายเกี่ยวกับการขึ้นรถไฟสายทรานส์ ไซบีเรียได้ละเอียดยิบ เพราะผู้เขียนเล็งเห็นถึงปัญหาที่ว่าชาวต่างชาติขึ้นรถไฟสายนี้ไม่คล่อง เจออุปสรรคเยอะ เลยทำไกด์ฮาวทูออกมาซะเลย ไม่รู้พี่แกรวบรวมลมปรานมาจากไหน เห็นแล้วแทบอยากคลานเข่าไปหมอบแทบเท้า ขนาดเลื่อนดูคร่าวๆ ยังรู้สึกเลยว่าต้องตอบโจทย์คนที่จะไปขึ้นรถไฟสายทรานส์ ไซบีเรียแน่ๆ

ถ้าใครรู้สึกว่า โห ไม่ถนัดเขียนยาวๆ เลย หรือ เนื้อหายาวๆ จะมีคนอ่านเหรอ คนไทยยิ่งอ่านไม่เกิน 7 บรรทัดอยู่ด้วย ตรงนี้มีทริกเล็กน้อย คืออาจจะสามารถแทรกรูปทุกๆ 7 บรรทัดก็ได้ เพื่อทำให้เนื้อหาดูซอฟต์ลง ดูมีสีสันมากขึ้น และในหลายๆ กรณี ถ้ามีรูปเข้ามาช่วยอธิบายด้วย ก็จะทำให้เนื้อหาของเรามีประสิทธิภาพขึ้นเยอะเลย

แล้วที่บอกว่ากูเกิ้ลชอบเนื้อหาอัพเดตล่ะ? งี้เราต้องนั่งตามข่าว 24 ชั่วโมงเลยมั้ย? ไม่ขนาดนั้น เราสามารถใช้ทริกนิดหน่อยได้ เช่น ระบุปี 2017 2018 20XX ไปในหัวข้อ ก็จะตอบโจทย์มาก อีกทริกคือเขียนเนื้อหาที่พอเขียนครั้งนึงก็สามารถกลับมาอัพเดตได้ทุกๆ ปี เช่น เขียนรีวิวไอโฟน (เพราะไอโฟนออกรุ่นใหม่ทุกปี เขียนครั้งเดียวคนอ่านทั้งปีเชียวนะ) เขียนรีวิวเมนูร้านกาแฟ รีวิวโปรโมชั่น เป็นต้น

คำถามที่ 3: หัวข้อแบบไหนที่เตะตาคนจนต้องคลิกเข้ามาอ่าน?

คุณคุกกี้สรุปคำตอบเป็นสองข้อสั้นๆ เลย คือ 1. คอนเท้นต์ต้องใหม่สุด และ 2. คอนเท้นต์ต้องอยู่ในกระแสสังคม

มาดูอันแรกกันก่อน คอนเท้นต์ต้องใหม่ที่สุด

หรือ ต้องเป็นสิ่งที่ยังไม่เกิด แต่เราอยู่วงในเลยรู้ เราสามารถเขียนดักไว้ก่อน  ไม่ต้องไปกลัวว่า เฮ้ย ไม่มีใครเขียนเรื่องนี้เลย ถ้าฉันเขียน จะมีคนอ่านเหรอ เงียบเหงาป่าช้าขนาดนี้ จะบอกว่านี่แหละคือโอกาสขึ้นหน้า 1 ของกูเกิ้ล! รีบคว้าโอกาสนี้ซะ พอเขียนเสร็จเราก็สามารถใช้ Facebook ช่วยเผยแพร่ได้

อย่าเขียนเรื่องที่มีอยู่แล้ว สู้เจ้าเก่าไม่ได้หรอก อะไรที่คนยังไม่พูดถึง คือโอกาสให้เราเขียน

อย่างที่สองคือคอนเท้นต์ต้องอยู่ในกระแสสังคม

เพราะคนทุกวงการจะช่วยแชร์ ใครๆ เห็นก็รู้สึกว่า relate กับตัวเอง มีทริกเพิ่มเติมคือเวลาเราแชร์ ให้ใส่แคปชั่นที่ชวนคลิกไปด้วย เช่น ทำให้คนสงสัย ทำให้คนกลัว การตามกระแสสังคมจะช่วยให้ได้ traffic เยอะ และไม่เสี่ยงต่อการดราม่า แต่ถามว่าถ้าอยากสวนกระแสล่ะ? ก็ฉันเห็นต่างนี่ ทำได้มั้ย? ทำได้เหมือนกัน และถ้าทำได้ดี ก็อาจจะได้อภิมหาโคตร traffic เลยก็ได้ (ดราม่าหรือไม่ดราม่าก็อีกประเด็นนะ) ที่สำคัญคือต้องรู้จริง เขียนเหมือนตัวเองไม่ได้มั่ว อาจจะหาข้อมูลสถิติมาประกอบการเขียนก็ได้ ถ้าใครอยากได้ดราม่า ลองนำเสนอเรื่องที่ไม่มีผิดถูก 100% นั่นละ คนจะคุยกันเยอะ คนจะเถียงกันว่าแบบไหนถูกแบบไหนผิด โนติเด้งรัวๆ กันเลยทีเดียว

คำถามที่ 4: บล็อกจับฉ่าย VS บล็อกเฉพาะกลุ่ม แบบไหนดีกว่ากัน?

คำถามนี้เป็นสิ่งที่เราสงสัยอยู่เหมือนกัน โดยส่วนตัวเราชอบเขียนแบบจับฉ่ายนะ รู้สึกว่ามันไม่กดดัน อยากเขียนอะไรก็เขียน วันนี้นึกอยากเขียนรีวิวหนังก็เขียน อีกวันนึกอยากเขียนสรุปหนังสือก็เขียนไป ไม่มีข้อจำกัดมาแบ่งเขตว่าต้องเขียนแค่เรื่องนี้ๆ เท่านั้น ไหนๆ ก็เป็นพื้นที่ส่วนตัวของเรานี่นะ

แต่สำหรับผู้อ่านบล็อก เค้าจะชอบแบบเฉพาะกลุ่มมากกว่ารึเปล่า? สปอนเซอร์ล่ะ ชอบแบบไหน? ลองมาดูข้อแตกต่างแบบละเอียดๆ กัน

บล็อกจับฉ่าย เขียนทุกเรื่องที่อยากเขียน

  • เนื่องจากเป็นบล็อกที่เขียนเกี่ยวกับทุกสิ่งอย่าง ก็จะไปตรงกับกลุ่มเป้าหมายหลายกลุ่ม สามารถกินรวบไล่ไปตั้งแต่เด็กแว้นจนถึงนักธุรกิจ ดังนั้น ด้วยความที่เข้าถึงคนแบบ mass ในระยะสั้นบล็อกจับฉ่ายจะทำ traffic ได้เยอะ
  • แต่ใช่ว่าได้ traffic เยอะแล้วจะดีเสมอไป เพราะ traffic นั้นอาจจะไม่มีคุณภาพ เช่น มีแต่คนมาดราม่า ทำให้ภาพลักษณ์เจ้าของบล็อกเสียไป ซึ่งก็จะกระทบต่อการตัดสินใจของสปอนเซอร์ เพราะสปอนเซอร์ย่อมอยากได้บล็อกที่ดูน่าเชื่อถือ ดูดี และตรงกับกลุ่มลูกค้าของสปอนเซอร์เอง นอกจากนี้ ด้วยความที่จับฉ่ายเขียนทุกเรื่อง ไม่มีเรื่องไหนเด่นเป็นพิเศษ สปอนเซอร์ก็อาจจะมองว่าไม่เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ของเขาก็เป็นได้

บล็อกเฉพาะกลุ่ม เน้นเขียนไปเลยแค่เรื่องเดียว

  • บล็อกที่เน้นนำเสนอแค่เรื่องเดียว เช่น บล็อกสุขภาพ บล็อกการเงิน บล็อกแม่และเด็ก ย่อมมีความน่าเชื่อถือมากกว่าบล็อกจับฉ่าย เพราะมันแสดงให้เห็นว่าเจ้าของบล็อกเป็นผู้เชี่ยวชาญจริง มีความสามารถด้านนี้จริง และที่สำคัญ ผู้ที่ติดตามบล็อกเหล่านี้คือคนที่ให้ความสนใจในเรื่องนี้จริงๆ (คนเกลียดเด็กอย่างเราจะไปติดตามบล็อกแม่และเด็กให้รำคาญตาเล่นทำไมล่ะ จริงมั้ย) ดังนั้น บล็อกประเภทนี้จะมีโอกาสได้สปอนเซอร์สูงกว่า แปลง่ายๆ คือมีโอกาสทำเงินได้ง่ายกว่านั่นแหละ
  • ข้อเสียของบล็อกประเภทนี้ก็…นั่นแหละ ผู้เขียนจะต้องคลั่งไคล้เชี่ยวชาญในเรื่องใดเรื่องหนึ่งจริงๆ ซึ่งกว่าจะไปถึงจุดนั้น อาจจะต้องค้นหาและฝึกฝนตัวเองกันสักระยะหนึ่ง บางคนอาจจะต้องเริ่มเขียนบล็อกจับฉ่ายก่อน เพื่อดูว่าเนื้อหาแบบไหนปัง เนื้อหาแบบไหนถนัดมือ ถึงค่อยพัฒนาเป็นบล็อกเฉพาะกลุ่มทีหลัง

สรุปสั้นๆ เลยก็คือ บล็อกจับฉ่าย ทำ traffic ได้เยอะ ส่วนบล็อกเฉพาะกลุ่ม มีโอกาสทำเงินได้เยอะ

บล็อกจับฉ่าย เหมาะสำหรับคนที่ยังไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร หรือ คนที่ไม่ซีเรียสเรื่องหาเงิน แค่อยากเขียนเล่นๆ เป็นงานอดิเรก ส่วนบล็อกเฉพาะกลุ่ม เหมาะสำหรับคนที่อยากสร้างรายได้จริงๆ จังๆ สร้างฐานแฟนที่สนใจในเรื่องเดียวกัน และอยากจะแชร์ความรู้ที่ตัวเองมีจริงๆ

คำถามที่ 5: ไม่รู้จะเขียนเกี่ยวกับเรื่องอะไรดี ควรหาไอเดียจากไหน?

เราว่านี่เป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่เลย คืออยากเขียนนะ แต่ไม่รู้จะเขียนอะไร บางทีมีเรื่องอยากเขียนเยอะเกินไปจนเรียบเรียงความสำคัญไม่ถูก แต่หลายๆ ทีก็ไม่มีเรื่องให้เขียนเลย รู้สึกชีวิตแห้งเหือด น่าเบื่อ ไม่มีแรงบันดาลใจ ถ้าเจอสภาวะแบบนี้ เราควรทำไงดี?

อันที่จริงแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวเราสามารถถูกนำมาใช้เป็นวัตถุดิบการเขียนได้หมดเลยนะ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่เจอในชีวิตประจำวัน หรือว่าเจอในงานประจำที่ทำกันอยู่ทุกๆ วัน เจอบ่อยจนรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่โคตรจะธรรมดา ไม่เห็นมีอะไรน่าเขียนเลย แต่ความจริงแล้ว…เราแค่คิดไปเองเพราะเรารู้สึกชินกับมัน หลายๆ สิ่งอยู่ใกล้เรามากเกินไป จนเราไม่เห็นความน่าสนใจของมัน

นักบัญชีอาจจะรู้สึกว่างานที่เจอทุกวันช่างน่าเบื่อ ไม่เห็นมีอะไรน่าเล่า แต่รู้รึเปล่าว่ายังมีคนอีกมากที่สนใจความรู้เรื่องบัญชี? คนที่ทำงานด้านบริการ ไม่ว่าจะเป็นพนักงานโรงแรม คนขับรถแท็กซี่ หรือเจ้าหน้าที่สถานทูติ อาจจะรู้สึกเบื่อหน่ายกับการสู้รบปรบมือกับลูกค้า แต่การที่ได้เจอคนหลากหลายแบบนี้ ก็หมายถึงเรื่องเล่าที่มากมาย รู้มั้ยว่าสามารถนำเรื่องราวเหล่านั้นมาเล่าให้คนอื่นๆ นอกอุตสาหกรรมฟังได้นะ

ไม่ว่าอะไรก็ตามแต่ เราหยิบมานำเสนอในมุมมองของเราได้ทั้งนั้นแหละ เพียงแค่เราหาคอนเซ็ปต์ของตัวเองให้เจอ หาลายเซ็นต์ของตัวเองให้เจอ ที่สำคัญมากๆ เลยคืออย่าก๊อปงานของคนอื่นมาทั้งดุ้น เพราะสุดท้ายแล้วคนอ่านเค้าก็จะไปตามอ่านจากแหล่งดั้งเดิมอะแหละ แล้วเค้าก็จะจำเราในฐานะเจ้าของเนื้อหาไม่ได้ด้วย

คำถามที่ 6: เขียนไม่เก่ง ทำบล็อกได้มั้ย?

ได้!! อันที่จริงแล้วบล็อกไม่ได้จำกัดแค่งานเขียนอย่างเดียว จะเป็นรูปภาพหรือวิดีโอก็ได้ทั้งนั้น ยิ่งทำได้หลายอย่างยิ่งดี คนที่ชอบถ่ายภาพก็สามารถเน้นประดับบล็อกตัวเองด้วยภาพสวยๆ ที่คนเห็นแล้วต้องร้องว้าว ภาพดีๆ ภาพหนึ่งมีพลังมหาศาลมากนะ ดูอย่างพวกบล็อกท่องเที่ยวสิ แต่ละภาพที่ถ่ายมานี่อย่างกับอยู่คนละโลก ใครเห็นก็อยากไปเยือนทั้งนั้น ในกรณีนี้ รูปภาพมีอิทธิพลในการโน้มน้าวให้คนอยากไปเที่ยว ก็ถือว่าบรรลุเป้าหมายของมันแล้ว

ใครที่เขียนไม่เก่ง ถ่ายรูปไม่เก่ง แต่พูดเก่ง ก็สามารถ่ายวิดีโอลง YouTube ได้ เดี๋ยวนี้มี Youtuber เยอะแยะมากมายที่มีรายได้มหาศาล แถมคนสมัยนี้ก็ชอบเสพวิดีโอกันด้วย ดังนั้นวิดีโอจึงเป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งที่จะช่วยดึงคนให้มาอยู่กับเรา

คำถามที่ 7: โปรโมตบล็อกยังไงดี?

ในยุคที่อินเตอร์เน็ตรุ่งเรืองแบบนี้ การโปรโมตดูเหมือนไม่ใช่เรื่องยากเท่าไร โพสไปในโซเชียลมีเดียให้เพื่อนๆ เห็นก็จบแล้ว แต่ๆๆ อย่าเพิ่งหยุดอยู่แค่นั้น ยังมีอีกหลายๆ ทริคที่บล็อกเกอร์สามารถนำไปใช้เพื่อ leverage อำนาจแห่งการโปรโมตได้อีก ตัวอย่างเช่น

โฆษณาบล็อกของเราไปแบบเนียนๆ ในโพสของเว็บ/เพจอื่นๆ

อย่าเพิ่งนึกถึงอินสตาแกรม ทำนองว่า “รูปนี้สวยจัง ฝากร้านหน่อยนะคะ ร้านชื่อ XXX” แบบนั้นไม่เวิร์กแน่แถมยังน่ารำคาญอีก ที่สำคัญคือโพสแบบนี้กันเยอะมาก ถามจริงเถอะ ใครมันจะเลื่อนอ่าน แค่เห็นรูปแบบโพสก็รุงรังสายตาจะแย่แล้ว

การจะโปรโมตแบบเนียนๆ นั้น อาจจะต้องทำการบ้านกันนิดนึง และติดตามคู่แข่งสักหน่อย เราสามารถทำด้วยการไปโหนกระแสเพจใหญ่ๆ ทั้งหลายที่มีผู้คน engage เยอะๆ โดยอาจจะใช้วิธีที่ว่า พอเราเห็นโพสไหนของเขาที่มีเนื้อหาเชื่อมโยงกับโพสของเราได้ ก็นำโพสของเราไปแปะพร้อมๆ กับคอมเม้นท์ของเราใต้โพสนั้น เขียนเป็นเชิงแนะนำโพสเราในฐานะอีกแหล่งข้อมูลหนึ่งที่จะช่วยสนับสนุนคนอ่านที่สนใจเนื้อหานี้ อย่า-โฆษ-ณา-ตรงๆ! เพราะเดี๋ยวจะโดนมาร์กว่าเป็นแสปมเอาได้ ภาพลักษณ์เสียกันพอดี

ตัวอย่าง สมมติเราเป็นเพจที่เขียนเกี่ยวกับเรื่องญี่ปุ่น รู้หมดทุกซอกทุกมุม อยู่มาวันหนึ่งเราเจอเพจ mass เพจหนึ่งโพสเกี่ยวกับการเที่ยวโตเกียวพอดี แต่เขาไม่ได้โพสแบบเจาะลึกน่ะสิ โอเค เราเริ่มเห็นทางละ เราสามารถเข้าไปทิ้งความเห็นใต้โพสนั้นได้ “โตเกียวเป็นเมืองโปรดเลยค่ะ ไปญี่ปุ่นทีไรต้องไปโตเกียวทุกที เรามีรวบรวมร้านอาหารเด็ดๆ ในโตเกียวไว้ด้วย แปะไว้เผื่อใครสนใจนะคะ” ว่าแล้วก็แปะลิ้งก์เข้าบล็อกตัวเอง ทีนี้ คนที่มาอ่านโพสนี้แล้วไล่อ่านคอมเม้นต์ก็จะเจอลิ้งก์ของเรา และถ้าเขาสนใจจริงๆ ก็มีแนวโน้มว่าเขาจะเข้ามาอ่านโพสเรา แล้วติดตามเราก็เป็นได้

ฝากคนรู้จักแชร์ต่อ

อันนี้เป็นกลยุทธ์ที่ค่อนข้างคุ้นเคยกันหน่อย เชื่อว่าหากใครมีเพื่อนที่เคยเปิดบล็อกเปิดเพจ ก็จะต้องเคยโดนฝากแชร์มาแล้วทั้งนั้นแหละ โดยเฉพาะช่วงเพิ่งเริ่มเปิดเพจ ซึ่งต้องการแรงสนับสนุนมากกกเป็นพิเศษ วิธีนี้ดูเป็นวิธีง่ายๆ แต่เอาเข้าจริง จากที่เราเคยเจอมา ไม่ใช่แค่แชร์แล้วจบนะ แต่ต้องมีลูกเล่นอย่างอื่นด้วย

เราลองคิดดูว่าถ้าเป็นเรา เจอเพื่อนคนนึงแชร์เนื้อหาของเพจมา แชร์แบบเฉยๆ เลยนะ ไม่มีแคปชั่นอะไรทั้งสิ้น เราอาจจะหยุดดูสักสามวิ ถ้าไม่โดนใจจริงๆ เราก็เลื่อนฟีดลง ไม่ได้กดเข้าไปอ่านต่อ เพราะเราจะรู้สึกว่า แล้วไง? เราไม่เห็นรู้เลยว่าเพื่อนคิดยังไงกับเนื้อหานี้ คือถ้าเป็นใน Facebook เราจะให้ความสำคัญกับความเป็นตัวตนของเพื่อนเราอะ เราจะสนใจว่าเพื่อนคนนี้ทำอะไร คิดยังไง แต่ถ้าเขาแชร์เฉยๆ โดยไม่มีความเห็นอะไรเลย เราก็จะรู้สึกว่า อ้าว ไม่ใช่เรื่องของเพื่อนนี่หว่า เรื่องใครก็ไม่รู้ เนื้อหาก็ไม่ตรงความชอบเรา งั้นไม่สนใจละ แล้วยิ่งถ้าเพื่อนคนนี้เป็นสายรับแชร์ แชร์ทุกอย่างในโลกหล้า เราก็จะยิ่งรู้สึกว่า ไอ้คนนี้มันไม่มีอะไรน่าสนใจเลยว่ะ เรื่องที่มันโพสไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับตัวมันเลยสักอย่าง คราวนี้แหละ พอมันแชร์อะไรมา เราก็จะรู้สึกว่ามันไม่น่าสนใจแล้ว เพื่อนคนนี้กลายเป็นคลังรวมหนังสือพิมพ์เก่าที่พาดหัวข้อข่าวทุกแนว ไม่มีจุดไหนที่ชวนให้น่าติดตามเป็นพิเศษเลย

กลับกัน มีเพื่อนอีกคน ชอบปลูกต้นไม้มากกก อยู่มาวันหนึ่ง เพื่อนคนนี้แชร์เพจต้นไม้ใหม่มา พร้อมกับแคปชั่นว่า “เพจเปิดใหม่จ้า เพื่อนของเราที่มีประสบการณ์การปลูกต้นไม้มายาวนานกว่า 10 ปี!! จะมาแชร์ให้ทุกคนที่ชื่นชอบต้นไม้ได้รู้เคล็ดลับต่างๆ กัน เพราะคนนี้แหละที่ทำให้เรามีความรู้เรื่องต้นไม้ขนาดนี้ ใครสนใจก็ลองเข้าไปติดตามกันได้นะจ๊ะ” พอเจอโพสนี้ของเพื่อน เราก็จะมีความรู้สึกว่า โอ้ ขนาดเซียนต้นไม้อย่างเพื่อนเรามันยังชอบเพจนี้ รู้จักเจ้าของเพจนี้ แสดงว่ามันต้องดีแน่ๆ พออ่านเนื้อหา ก็รู้สึกว่า เขียนดีนี่หว่า น่าสนใจ เผื่อวันไหนเราสนใจอยากปลูกต้นไม้ต้นใหม่ที่บ้าน จะมาขอคำแนะนำจากเพจนี้ ว่าแล้วก็กดติดตาม

จะเห็นได้ว่า เพื่อนที่เราขอให้แชร์ ก็เปรียบเสมือนพรีเซ็นเตอร์ให้บล็อก/เพจเราอีกทีนั่นแหละ ถ้าเราไปขอให้เพื่อนทุกคนช่วยแชร์ คนบางคนเค้าอาจจะไม่ใช่สายแชร์ พอแชร์ทีเพื่อนของเขาจะรู้สึกว่า หืม? โดนบังคับมาสินะ ในขณะที่อีกคนเป็นสายแชร์แหลก พอแชร์ทีเพื่อนของเขาจะรู้สึกว่า แชร์อีกละ เบื่อมัน บล็อกดีกว่า ทางที่ดูน่าจะมีประสิทธิภาพที่สุด คือการเลือกเพื่อนที่มีไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต หรือมีความชอบที่ตรงกับบล็อกเราพอดี คนกลุ่มนี้จะมีพลังในการช่วยโปรโมตบล็อกของเรา อินกับเนื้อหาของเราพอที่จะไปเวิ่นเว้อต่อในแคปชั่นได้ ประเด็นนี้ก็คงเหมือนเรื่องสปอนเซอร์ที่เราเอ่ยถึงข้างบนนั่นแหละ สปอนเซอร์ย่อมอยากได้บล็อกเฉพาะทางมาโปรโมตผลิตภัณฑ์ของเขาอยู่แล้ว ดังนั้น บางทีบล็อกเกอร์ก็อาจจะต้องการแค่เพื่อนที่สนใจในเรื่องเดียวกันจริงๆ มาช่วยแชร์ ไม่จำเป็นต้องทักไปหาทุกคนในเครือข่ายเพื่อให้ช่วยแชร์ก็เป็นได้

ข้างบนนี้เป็นความรู้สึกส่วนตัวของเรา อาจจะไม่จริงเสมอไป บางทีมันอาจจะมีมนุษย์ที่เน้นเสพเนื้อหามากกว่าเสพความคิดเห็นของเพื่อนก็ได้ ประมาณว่า ขอให้เป็นเนื้อหาที่ฉันชอบเถอะ ฉันสนใจหมด ไม่ว่าคนโพสจะเป็นใคร ไม่ว่าคนโพสจะมีความเห็นหรือไม่มีความเห็น ฉันอ่านหมด บางทีเราก็เป็นแบบนั้นเหมือนกัน แต่ต้องเป็นเนื้อหาที่สนใจจริงๆ ถึงจะเตะตาเราจนหยุดดูได้

ต้องมั่นใจด้วยว่าดีไซน์ของบล็อกเรา เป็นมิตรต่อสายตาผู้พบเห็น

ยังไงมนุษย์เราก็ชอบตัดสินทุกๆ อย่างผ่านหน้าตาอยู่แล้ว เราก็ใช้ประโยชน์จากตรงนี้ซะเลย สะกดจิตตัวเองตลอดเวลาว่าเราจะสามารถอะไรได้บ้าง ให้บล็อกของเราดูสวยงาม ดูอ่านง่ายสบายตา ให้โพสของเราเตะตาตั้งแต่ feature image บางคนอาจจะเถียงว่า คุณค่าของบล็อก คือ เนื้อหาต่างหาก ไม่ใช่ดีไซน์ มันก็จริงแหละ แต่ต้องอย่าลืมว่าคนสมัยนี้สมาธิสั้น แค่เค้าเห็นว่าดีไซน์ไม่สวย รูปไม่เป๊ะ หลายๆ ครั้งก็เลื่อนผ่านตาแล้ว ดังนั้น จะดีกว่ามั้ยหากเราทุ่มเทเวลาตรงนี้สักนิด อาจจะไม่ต้องถึงขั้นสวยงามอลังการ ขอแค่อ่านง่าย ใช้งานง่าย เปิดในมือถือแล้วรูปไม่เบี้ยว ตัวหนังสือไม่ทับกันก็พอ (ซึ่งถ้าใช้บริการบล็อกสำเร็จรูปสมัยใหม่ ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่ถ้าเผลอไปใช้เว็บรูปแบบเก่าๆ ก็อาจจะต้องเปลี่ยนนะ)

คำถามที่ 8: ระหว่างเปิดเพจ Facebook กับสร้างบล็อก แบบไหนดีกว่ากัน?

นี่เป็นอีกข้อสงสัยที่เราแอบหอบมางานสัมมนาด้วย และได้รับคำตอบด้วยเช่นกัน เนื่องจากทุกวันนี้เราเห็นว่า Facebook ลด Reach ลงเรื่อยๆ แต่ถึงอย่างนั้น Facebook ก็ยังมีอิทธิพลในแง่ของการกระจายข่าวสารอยู่ดี ในขณะที่บล็อกนั้นเปรียบเสมือนร้านค้าที่อยู่นิ่งๆ หากเราไม่ป่าวประกาศออกไป ก็ไม่มีใครรู้ว่าร้านเราอยู่ตรงนี้ สุดท้ายแล้วเราก็ยังต้องพึ่ง Facebook อยู่ดีรึเปล่า?

จริงๆ ก็คือ เราสามารถใช้ 2 แพลตฟอร์มควบคู่กันไปได้ เพราะถึงแม้จะมีหน้าที่เป็นเครื่องมือในการส่งผ่านข้อมูลเหมือนกัน แต่พฤติกรรมของทั้งคู่กลับไม่เหมือนกันเลย อย่างที่กล่าวไปข้างต้น บล็อกนั้นจะเปรียบเสมือนร้านของเรา ร้านที่ตั้งอยู่เฉยๆ อะ ทำหน้าที่เป็นการตั้งด่านเอาไว้ว่า ถ้าใครเดินผ่านมา ถ้าใครเสิร์ชคีย์เวิร์ดนี้ในกูเกิ้ล จะต้องเจอร้านฉัน ฉันจะดักทางไว้ก่อนเลย ส่วน Facebook จะเปรียบเสมือนการที่เรานำสินค้าของเราออกไปขายตามตลาด แล้วโปรโมตกลับมายังร้านอีกทีอะ เน้นการสร้าง Awareness ให้คนเห็นผ่านตาตาม News Feed มากกว่า

ในช่วงเวลาที่จำนวนเพจ Facebook เพิ่มขึ้นเป็นดอกเห็ดอย่างนี้ หลายคนอาจจะรู้สึกว่า ไม่เห็นจำเป็นต้องมีบล็อกให้ยุ่งยากเลย แค่เปิดเพจ Facebook ก็ถือว่ามีพื้นที่เป็นของตัวเองแล้ว แต่เอาเข้าจริง เพจ Facebook ไม่ใช่พื้นที่ของคุณโดย 100% หรอก เหมือนตลาดที่คุณไปเช่าพื้นที่เพื่อโปรโมตร้านนั่นแหละ เพราะคุณควบคุมมันไม่ได้เลย วันดีคืนดี เจ้าของตลาดนามว่ามาร์ก ซัคเคอร์เบิร์ก อาจจะเปลี่ยนกฎใหม่ก็ได้ จากขายได้ 8 โมงถึง 5 โมง อาจจะเหลือแค่ 8 โมงถึง 3 โมง ก็ต้องหอบของกลับบ้านแล้ว ถามว่าคุณทำอะไรได้มั้ย? ก็ไม่ได้อะ เพราะตลาดเขาใหญ่มาก ถึงคุณจะออกจากตลาดไป ก็ยังมีคนอื่นเค้าขายของกันอยู่ เหมือนตอนนี้ที่อัลกอริธึมของ Facebook เปลี่ยนไปเรื่อยๆ จนเจ้าของเพจอยากทึ้งหัวตัวเองอยู่บ่อยครั้ง พอเปลี่ยนทีก็ต้องมาอัพเดตกลยุทธ์ที

ในทางตรงกันข้าม บล็อกคือพื้นที่ของคุณโดยแท้จริง แม้ว่าจะมีโลโก้ห้อยท้ายอย่าง wordpress หรือ blogspot แต่ถ้าเราจ่ายเงินเพิ่มขึ้นอีกนิด ก็จะได้โดเมนเนมส่วนตัวไปใช้กันเลย มันก็เหมือนเราซื้อพื้นที่เพื่อสร้างร้านนั่นแหละ คราวนี้เราอยากจะแต่งหน้าร้านยังไง จะขายอะไร จะเขียนคำโฆษณายังไงก็ย่อมได้ทั้งนั้น ที่สำคัญคือ!! บล็อกนั้นเอื้ออำนวยต่อการเสิร์ชของ google มาก หากใครเสิร์ชอะไรใน google ส่วนมากก็จะเจอเว็บไซต์ที่เป็นเว็บจริงๆ มากกว่าที่จะเป็น facebook แล้วถามว่าส่วนใหญ่คนชอบเสิร์ชอะไรเวลาต้องการหาคำตอบ? ก็เสิร์ช google นี่ละ จะมีสักกี่คนที่เสิร์ชจาก facebook โดยตรง? หากเรามีบล็อกที่ดักทาง keyword ของกูเกิ้ลไว้แล้ว ก็มีสิทธิ์ที่บล็อกของเราจะได้โลดแล่นบนหน้า google เพื่อให้คนคลิกเข้าไปอ่าน

สรุปนะ บล็อกคือการตั้งด่านดักทางคนที่หลงเข้ามาใน keyword ที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาของเรา ส่วน facebook คือการโปรโมตเนื้อหาบล็อกของเราให้คนรู้จัก ถ้าทำทั้ง 2 อย่างนี้ได้ ก็จะถือว่ากลยุทธ์สร้างบล็อกของเราสมบูรณ์ไปอีกระดับแล้วละ


จบแล้วววว สรุปออกมายาวมากเลย เนื้อหาอัดแน่นจริงๆ มีทั้งที่เป็นเนื้อหาจากในคอร์ส และเนื้อหาที่เราเวิ่นเว้อเอง ฮา เราหวังว่าใครที่สนใจด้านการเขียนบล็อก หรือการทำคอนเท้นต์จะได้ไอเดียกลับไปบ้างไม่มากก็น้อยนะ นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของคอร์สเท่านั้น เราแนะนำเลยว่าหากใครสนใจสายนี้ ลองไปเข้าคอร์สดู เพราะในคอร์สจะมีการพูดคุยถึงตัวอย่าง case study ที่น่าสนใจมากมาย รวมถึงยังได้ถามตอบข้อสงสัยทุกอย่างกับคุณคุกกี้อีกด้วย ที่สำคัญคือนอกจากจะได้ความรู้แล้ว ยังได้กำลังใจและไฟกลับมาทำงานต่อ ถือว่าคุ้มจริงๆ จ้า

ใครสนใจ วาร์ปไปได้เลย คุณคุกกี้เปิดคอร์สเรื่อยๆ เลยค่ะ >> http://www.cookiecoffee.com/

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

Blog at WordPress.com.

Up ↑

%d bloggers like this: