วางกลยุทธ์ยังไงให้บรรลุเป้าหมาย? คำตอบจากเวิร์คช็อป Digital Content & Media – Growth Hacker by DTAC Accelerate

เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2018 เราได้มีโอกาสเข้าร่วมเวิร์คช็อปหัวข้อ Digital Content & Media – Growth hacker ซึ่งจัดโดย DTAC Accelerate ที่ออฟฟิศของ Kaidee.com

ครั้งก่อนๆ ได้สรุปในหัวข้อ Digital Content & Communication และ Performance Marketing ไปแล้ว มาต่อกันในส่วนสุดท้าย กับหัวข้อ Business Strategy to Execution ซึ่งมีวิทยากรคือ คุณ ทิวา ยอร์ค จาก Kaidee.com เว็บไซต์ศูนย์กลางการซื้อขายของมือสองที่เราคุ้นเคยกันนั่นเอง

สำหรับ Session นี้ จะเน้นไปที่โมเดลการวางแผนตั้งแต่เป้าหมาย วางกลยุทธ์ จนถึงจัดเก็บข้อมูลเพื่อวัดผลเลย ซึ่งเป็น Session ที่เราได้ทำแบบฝึกหัดตามไปด้วย ทำให้เข้าใจรายละเอียดขึ้น หากใครมือไม้ว่างๆ ก็ลองหยิบปากกากระดาษมาลองเล่นตามดูได้ แล้วจะเข้าใจมากขึ้นจริงๆ

ลายแทงจากเป้าหมาย (Goal) สู่ข้อมูล (Data)

มีใครรู้บ้างว่าความแตกต่างระหว่าง Strategy (กลยุทธ์) และ Tactics (อุบาย) คืออะไร? หลายๆ คนอาจจะนึกว่าสองคำนี้มีความหมายเหมือนกัน ซึ่งก็เข้าใจได้ละเพราะเวลาแปลไทยก็มักจะถูกแปลว่ากลยุทธ์เหมือนกัน (จับไปใส่ใน Google Translate ก็จะเห็น)

Strategy เปรียบเสมือนคำถามที่ว่า “เราต้องทำอะไร เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย” “มีอะไรที่เราไม่จำเป็นต้องทำบ้าง” (อันนี้ก็สำคัญ)

ส่วน Tactics เหมือนคำถามที่ว่า “เราต้องทำยังไง” “มีวิธีไหนที่จะช่วยให้เราไปถึงเป้าหมายได้บ้าง”

แล้วไอ้ที่เขาชอบพูดๆ ถึง KPI กันน่ะ มันคือแบบเดียวกันกับเป้าหมายรึเปล่า?

ว่าแล้วก็ขอแปะภาพโมเดลแบบเต็มๆ ที่ร่ายตั้งแต่เป้าหมายยันข้อมูลที่เก็บได้จากการดำเนินงาน

วางกลยุทธ์ยังไงให้บรรลุเป้าหมาย? คำตอบจากเวิร์กช็อป Digital Content & Media – Growth Hacker by DTAC Accelerate

สิ่งนี้เปรียบเสมือนลายแทงสำหรับธุรกิจใหม่ที่อาจจะยังงงๆ อยู่ว่าตัวเองต้องการอะไร ต้องทำอะไร อย่างว่าแหละ คือถ้าเราไม่กำหนดออกมาให้ชัดเจนว่าเป้าหมายคืออะไร อยากได้อะไร ก็เป็นเรื่องยากที่จะวางกลยุทธ์ วางแผนการดำเนินงาน ในเมื่อมันไม่มีเป้าหมายนี่นะ อันนี้ทุกคนน่าจะรู้กันดี

ทีนี้ เราลองมาไล่ทีละส่วนของโมเดลกันเลยดีกว่า

  • เป้าหมายหลักของธุรกิจ (Business Goals): สิ่งที่เราอยากทำให้สำเร็จในปีนี้
  • กลยุทธ์ (Strategies): วิธีที่จะทำให้เราบรรลุเป้าหมายนั้น
  • จุดประสงค์ (Objectives): ขั้นตอนที่วัดผลได้ เพื่อให้เราบรรลุกลยุทธ์นั้น
  • อุบาย (Tactics): เครื่องมือที่จะช่วยให้เราบรรลุจุดประสงค์นั้น
  • ดัชนีชี้วัดผลงาน (KPIs): มาตรวัตรที่ช่วยระบุความคืบหน้าว่าเราใกล้ถึงเป้าหมายรึยัง (ไม่ใช่เป้าหมาย!)
  • มาตรวัตรสำคัญ (Metrics That Matter): ข้อมูลที่บ่งบอกถึงความสำเร็จจากการดำเนินการ
  • การวัดผลข้อมูล (Measurement / Data): รูปแบบการนำเสนอข้อมูล

อ่านแค่ประโยคสั้นๆ อาจจะยังไม่เห็นภาพกัน เลยขอยกตัวอย่างมาให้ดูก่อนละกัน ลองสมมติก่อนว่าเราจะใช้โมเดลนี้ในชีวิตประจำวัน ยังไม่ต้องไปธุรกิจ เอาแค่เรื่องส่วนตัวอย่างการลงทุนก่อนละกัน

  • เป้าหมายหลักของเรา (Personal Goals): ปีนี้อยากรวยขึ้น
  • กลยุทธ์ (Strategies): มุ่งหาสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนดีๆ
  • จุดประสงค์ (Objectives): อยากมีมูลค่าทรัพย์สินทั้งหมดเป็นจำนวน XXXX บาท เพิ่มจากปีก่อน XXX บาท
  • อุบาย (Tactics): เข้าร่วมสัมมนาการลงทุน, อ่านบทวิเคราะห์, ตีซี้กูรูด้านการลงทุน
  • ดัชนีชี้วัดผลงาน (KPIs): มูลค่าสินทรัพย์ทั้งหมดที่เรามี
  • มาตรวัตรสำคัญ (Metrics That Matter): % ผลตอบแทนโดยรวม มากหรือน้อยกว่าเดิมเท่าไร, % ผลตอบแทนของแต่ละสินทรัพย์
  • การวัดผลข้อมูล (Measurement / Data): เก็บข้อมูลและแสดงผลใน Excel

เอ่อ ไม่รู้จะงงกว่าเดิมรึเปล่า สำหรับคนที่ไม่ลงทุน งั้นกลับมาที่ประเด็นหลักอย่างธุรกิจละกัน ขอยกตัวอย่างจากกรณีจริงของ Kaidee.com เลย

Kaidee ได้แบ่งเป้าหมายออกเป็นหลายๆ ขั้น (Stage) เนื่องจากบริษัทมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังนั้นเป้าหมายก็จะต้องเปลี่ยนตามไปด้วย อย่างสเตจ 1 คือสเตจเริ่มต้น มาลองดูกันเลยว่าเค้าวางแผนกันยังไง

  • เป้าหมายหลักของธุรกิจ (Business Goals): สร้างแพลตฟอร์ม C2C ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
  • กลยุทธ์ (Strategies): ดึงผู้ซื้อและผู้ขายที่มีอยู่ในปัจจุบันให้เข้ามาร่วมใช้งานให้มากที่สุด
  • จุดประสงค์ (Objectives): แซงหน้าผู้นำตลาดเจ้าปัจจุบันในเชิงอันดับรายวันและ traffic การใช้งานให้ได้ภายใน 12 เดือน
  • อุบาย (Tactics): ใช้โฆษณาทางทีวีเพื่อเพิ่ม Awareness และใช้ SEM เพื่อดึงดูดผู้ซื้อผู้ขาย
  • ดัชนีชี้วัดผลงาน (KPIs): จำนวนสินค้าที่วางขายต่อวัน และจำนวน page views
  • มาตรวัตรสำคัญ (Metrics That Matter): Engagement ของผู้ซื้อและผู้ขาย (ผู้ซื้อ: จำนวน page views/จำนวนเข้าชม, ผู้ขาย: จำนวนสินค้า/จำนวนผู้ขาย)
  • การวัดผลข้อมูล (Measurement / Data): Analytics, รายงานทั่วไป ฯลฯ

จากสเตจนี้ ใช้เวลาเพียง 9 เดือน Kaidee ก็สามารถเอาชนะเจ้าตลาดอย่าง Pantip Market ได้ โอ้ ทรงพลังจริงๆ เมื่อผ่านสเตจนี้ไปแล้ว ก็ไปสู่สเตจ 2 มาดูกันว่าคราวนี้เป้าหมายเปลี่ยนไปเป็นยังไง แล้ว Kaidee ปรับกลยุทธ์ไปแบบไหนบ้าง

  • เป้าหมายหลักของธุรกิจ (Business Goals): สร้างความโดดเด่นให้แพลตฟอร์ม ในเชิงสินค้าและผู้ขาย
  • กลยุทธ์ (Strategies): โฟกัสไปที่สินค้าจำพวกซื้อเร็วขายเร็ว (เช่น มือถือ แฟชั่น นาฬิกา ของใช้ในบ้าน)
  • จุดประสงค์ (Objectives): เพิ่มจำนวนผู้ขายทั่วไป (ไม่ใช่บริษัท) เพราะผู้ขายทั่วไปมีตัวเลือกไม่มากในการนำสินค้าตัวเองไปขาย
  • อุบาย (Tactics): ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับผู้ขาย ที่จะช่วยให้เขาใช้งานแพลตฟอร์มได้อย่างง่ายๆ
  • ดัชนีชี้วัดผลงาน (KPIs): จำนวนสินค้าที่ขายได้
  • มาตรวัตรสำคัญ (Metrics That Matter): ดูสถิติว่าผู้ซื้อที่ซื้อไปนั้นได้ใช้งานสินค้าจริงๆ รึเปล่า
  • การวัดผลข้อมูล (Measurement / Data): กลไกการวัดข้อมูลเริ่มซับซ้อนขึ้น เพราะมีการแบ่งแยกประเภทลูกค้ามากขึ้น

หลักๆ ที่สำคัญเลยคือเราจะเห็นว่า Kaidee.com ไม่ได้หยุดแค่ที่เป้าหมายแรก เมื่อเป้าหมายแรกลุล่วงไปแล้ว ก็มาถึงเป้าหมายที่สอง และที่สาม (ขอข้ามรายละเอียดไปนะฮะ) เมื่อเป้าหมายเปลี่ยน กลยุทธ์และองค์ประกอบอื่นๆ ก็ต้องเปลี่ยนตามไปด้วย ย้ำให้เราเห็นว่าการจะทำธุรกิจ มันอยู่นิ่งๆ ไม่ได้นะ ต้องเปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อมและพื้นฐานของบริษัท ถ้าบริษัทโตขึ้น เราก็ต้องทำให้มั่นใจว่ามันจะโตต่อไปได้อีก ไม่ใช่หยุดแค่นี้

โมเดลข้างบนไม่ได้ใช้งานกับแค่เป้าหมายใหญ่ของบริษัทเท่านั้น แต่ยังสามารถนำไปปรับใช้กับเป้าหมายของทีม เป้าหมายส่วนตัว เป้าหมายของแต่ละแคมเปญโฆษณาได้ด้วย

ทีนี้ การจะทำให้บริษัทดำเนินแผนการไปได้อย่างราบรื่น แน่นอนว่าต้องใช้ “คน”

คน 3 ประเภทในธุรกิจ มีแบบไหนบ้าง?

คนแบบที่ 1: Technician (ช่าง)

ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงช่างในเชิงอาชีพนะ แต่หมายถึงในเชิงหน้าที่มากกว่า คนที่อยู่ในกลุ่มช่างนั้นจริงๆ แล้วก็คือคนส่วนใหญ่ในออฟฟิศนั่นแหละ เรียกอีกแบบว่ามดงานก็ได้ คนกลุ่มนี้จะมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน เน้นทำงานที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบตรงหน้า ชอบที่จะจดจ่ออยู่กับเรื่องๆ เดียว โฟกัสในส่วนที่ว่า “จะทำยังไง” พยายามทำให้ตัวเองโคตรเก่งในเรื่องที่ตัวเองถนัด และชอบที่จะมีอิสรภาพ ไม่ชอบให้ใครมาควบคุม

โชคร้ายหน่อยนะ เพราะพวกเขายังต้องเจอ…

คนแบบที่ 2: Manager (ผู้จัดการ)

หากแก๊งช่างอาศัยอยู่ในปัจจุบัน แก๊งผู้จัดการก็จะอาศัยอยู่ในอดีต พวกเขามักจะย้อนกลับไปดูว่ามีอะไรที่เคยประสบความสำเร็จบ้าง และจะวิเคราะห์ผลลัพธ์จากในอดีตเพื่อกำหนดแผนการในปัจจุบัน บางคนจึงอาจมีอาการยึดติดกับธรรมเนียมเก่าๆ ถึงอย่างนั้น พวกเขาก็จะโฟกัสไปยังอะไรก็ตามที่จะปฏิบัติได้จริง เก่งเรื่องการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เป็นนักวางแผนตัวยงที่โหยหาพลังอำนาจในการสั่งผู้อื่น

แต่เดี๋ยว พวกผู้จัดการอย่าเพิ่งเหิมเกริมไป เพราะเจ้ายังต้องเจอกับ…

คนแบบที่ 3: Leader (ผู้นำ)

ผู้นำจะเป็นคนที่อยู่ในโลกอนาคต มองการณ์ไกล วันนี้วันจันทร์แต่คิดไปถึงวันศุกร์แล้ว พวกเขาชอบสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ และชอบที่จะท้าทายความคิดความเชื่อแบบเดิมๆ (อ้าว ตีกับผู้จัดการแล้วสิ) พวกผู้นำจะเป็นคนที่คอยชี้นำทางให้องค์กรเดินไปในทิศที่ถูกต้อง ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ผู้นำจะโหยหาอำนาจในการควบคุม

หากถามว่าอยากเป็นใครมากที่สุด หลายคนคงตอบว่าไม่ผู้จัดการก็ผู้นำ เพราะถือว่าดำรงตำแหน่งอยู่ในส่วนบนๆ ของห่วงโซ่อาหาร ใครจะอยากถูกใช้งานล่ะ ขอเป็นคนสั่งดีกว่า แต่เอาเข้าจริง เราไม่รู้ตัวหรอกว่าจริงๆ เราชอบที่จะเป็นช่าง เพราะอะไร? เพราะงานช่างมันสนุกกว่า! มันเป็นชิ้นเป็นอัน มันเป็นอะไรที่เราเห็นได้ชัดเจนว่าประสบความสำเร็จแล้ว ในขณะที่ถ้ามองไปยังฝั่งของผู้จัดการและผู้นำ (โดยเฉพาะผู้นำ) พวกเขาเผชิญหน้ากับความเครียดเยอะกว่า ยิ่งถ้าเป็นผู้นำด้วยแล้ว ยิ่งหยุดไม่ได้เลย เพราะหากหยุดเมื่อไร บริษัทก็เดี้ยงเมื่อนั้น ผู้นำจะต้องคิดอยู่ตลอดเวลาว่าจะทำอะไร ทำยังไง ทำเมื่อไร พูดง่ายๆ ว่างานของผู้นำไม่เคยเสร็จ

แม้จะดูเหมือนว่ากลุ่มคนเหล่านี้ขัดแย้งกันแค่ไหน แต่ธุรกิจก็ต้องการคนสามกลุ่มนี้นี่แหละ เพราะแต่ละกลุ่มจะช่วยเสริมกันและกัน คอยปรามกันและกันไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายนึงสุดกู่เกินไป การมีอยู่ของคน 3 กลุ่มนี้จะช่วยสร้างสมดุลให้ธุรกิจ เพื่อดำเนินการมุ่งสู่เป้าหมายต่อไปได้

วิเคราะห์ประเภทคนกันไปแล้ว ทีนี้ เราก็ต้องจับคนมาอยู่ด้วยกัน เป็นกลุ่มเดียวกัน ทำงานด้วยกัน ไอ้กลุ่มนี้ก็จะมีการแยกประเภทออกมาอีก 2 แบบ เป็นยังไงหว่า

ความแตกต่างระหว่าง “กลุ่มทำงาน” (Working Group) กับ “ทีม” (Team)

ฟังๆ ดูแล้วมันก็เหมือนกันนี่ ทีมก็แปลว่ากลุ่มทำงานไม่ใช่เหรอ มองแบบเผินๆ ก็ใช่นั่นแหละ แต่มันมีความแตกต่างปลีกย่อยอยู่ ซึ่งจะส่งผลต่อการทำงานของกลุ่มคนกลุ่มนึงมากกกกก

มาดูความแตกต่างแบบหมัดต่อหมัดกันเลย

กลุ่มทำงาน: มีผู้นำชัดๆ คนเดียว
ทีม: ทุกๆ คนมีส่วนแบ่งของความเป็นผู้นำ

ในกลุ่มทำงาน มันจะมีอยู่คนนึงที่ทุกคนเชื่อฟัง ยำเกรง แล้วไอ้คนคนนี้ก็จะรู้ตัวว่าตัวเองเป็นผู้นำ พูดอะไรทุกคนก็เออออคล้อยตาม หากขาดคนนี้ไปก็จะไปไม่เป็น เปรียบเสมือนเสาหลักของกลุ่ม ในขณะที่หากเป็นทีม เราจะรู้สึกว่าทุกๆ คนเป็นผู้นำในส่วนที่ตัวเองถนัด ไม่ได้มีคนไหนที่โดดเด่นเป็นพิเศษ ถ้าขาดคนนึงไปก็จะรู้สึกว่ามันไม่ใช่ มันไม่ครบทีม

กลุ่มทำงาน: แต่ละคนมีความรับผิดชอบของตัวเอง
ทีม: มีความรับผิดชอบทั้งของตัวเองและของทีม

ถ้าเป็นกลุ่มทำงาน แต่ละคนจะสนใจแค่งานที่เป็นของตัวเองต่างคนอาจจะแบบ โวะ ไม่ใช่เรื่องของฉัน ไม่ยุ่งด้วย เอ็งทำงานไม่เสร็จ มันก็เป็นความผิดของเอ็ง แต่พอเป็นทีม สมาชิกจะช่วยเหลือซึ่งกันและกันมากกว่า หากเห็นว่างานของคนนึงดูท่าว่าจะไปไม่ไหว อีกคนก็จะออกมือช่วย เรียกว่าไม่ทิ้งกัน อะไรประมาณนั้น

กลุ่มทำงาน: เป้าหมายของกลุ่ม ล้อไปกับเป้าหมายขององค์กร
ทีม: มีเป้าหมายเป็นของตัวเอง

องค์กรอยากได้กำไร กลุ่มทำงานก็จะมีเป้าหมายคือทำยังไงก็ได้ให้องค์กรได้กำไร แต่ถ้าเป็นทีม ทีมจะมีเป้าหมายของตัวเองที่แตกต่างออกไป แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ใช่แปลกแยกออกไปเสมือนไม่ได้อยู่ในบริษัทเดียวกันนะ คือเป้าหมายของทีมเนี่ย แม้จะไม่เหมือนขององค์กร แต่ก็จะถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยช่วยให้องค์กรบรรลุเป้าหมายได้ ตัวอย่างนะ เราอยู่ในทีม Tractions ซึ่งเน้นการสร้าง Awareness ให้คนรู้จักแบรนด์ เป้าหมายของทีมเราไม่ใช่กำไร แต่เป็นจำนวนคนที่ติดตามแบรนด์เราต่างหาก ซึ่งสุดท้ายปัจจัยตรงนี้ก็จะช่วยสนับสนุนเรื่องยอดขายและกำไรเอง

กลุ่มทำงาน: ประชุมแบบเน้นประสิทธิภาพ
ทีม: เน้นคุยแลกเปลี่ยนความเห็น

ในกลุ่มทำงาน จะประชุมกันแบบเร็วที่สุด เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด แต่ถ้าเป็นทีม จะเน้นเป็นการคุยถกเถียงกันมากกว่า ซึ่งเอาจริงๆ เราว่าสองแบบนี้มันก็มีข้อดีข้อเสียต่างกันไป แบบแรกอาจจะทำให้เราไม่มีไอเดียใหม่ๆ หรือมองไม่ทันเห็นอะไรที่ซ่อนอยู่ ส่วนแบบที่สอง หากไม่บริหารจัดการให้ดีๆ ก็อาจกินเวลาเกินควรได้ ทางที่ดีเราว่าควรจะบาลานซ์กันระหว่างสองแบบนี้ คืออาจจะกำหนดเวลาให้ชัดเจนว่าวันนี้มีอาเจนด้าอะไรบ้าง หากมีการพูดคุยกันก็เผื่อเวลาไว้สำหรับส่วนนั้น เพื่อที่ว่าส่วนอื่นๆ จะได้ดำเนินไปอย่างรวดเร็วว่องไว

แล้วทีมที่ดี ต้องเป็นยังไงบ้าง?

1. มีความเชื่อใจกัน

สิ่งนี้สำคัญมาก การทำงานร่วมกันย่อมต้องอาศัยความเชื่อใจกัน เพราะถ้าไม่เชื่อใจกันแล้ว ก็จะเริ่มเกิดการกังวล กังขา ไม่มั่นใจในตัวคนคนนี้ ไม่กล้าส่งงานให้คนคนนี้ ซึ่งมันจะทำให้การทำงานสะดุด

2. มีการสื่อสารที่ชัดเจน เข้าใจตรงกัน

สำหรับทีมเล็กๆ อันนี้ไม่มีปัญหา แค่หันหน้าคุยกันหรือเดินไปแตะไหล่ก็เรียบร้อยแล้ว แต่ถ้าเป็นทีมใหญ่ อันนี้ต้องวางแผนกันดีๆ เพราะถ้าสื่อสารไม่ชัดเจน ทั้งงานทั้งความสัมพันธ์อาจพังได้

3. มีเป้าหมายที่ชัดเจน

ทีมที่ดีควรรู้ว่าสิ่งที่ทำนั้น ทำไปเพื่ออะไร ไอ้ที่ทำอยู่เนี่ยมันมีประโยชน์ตรงไหน ไม่ใช่สักแต่ว่าทำไปวันๆ การมีเป้าหมายชัดเจนจะช่วยให้สามารถทำงานได้อย่างโฟกัสมากขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น

4. แชร์ความรับผิดชอบร่วมกัน

ทีมที่ดีจะไม่โบ้ยกันหากคนใดคนนึงทำผิด (แม้ว่าจะผิดจริงๆ) แต่จะช่วยกันหาทางแก้ไข และร่วมกันให้คำปรึกษามากกว่า ที่น่าสนใจคือพอคนนึงทำพลาด เราก็จะรู้สึกว่าเราพลาดไปด้วย เพราะเราไม่ได้ไปช่วยเขา หรือช่วยไม่ดีพอ เราว่านี่ละคือความรู้สึกของทีม

5. มีการพัฒนาสม่ำเสมอ และมีความคิดสร้างสรรค์

การพัฒนาทักษะอยู่เรื่อยๆ จะทำให้ทีมแข็งแกร่งได้ เพราะถ้าหากหยุดนิ่งอยู่เฉยๆ ไม่เรียนรู้อะไรเพิ่มเติม สิ่งที่ทีมทำได้มันก็จะอยู่ที่เดิม ไม่มีการพัฒนาให้ดียิ่งๆ ขึ้น นอกจากนี้ การมีไอเดียใหม่ๆ จะช่วยให้ทีมได้ลองทำอะไรใหม่ๆ ที่ต่างไปจากเดิม อาจจะค้นพบสิ่งที่จะช่วยให้ทำงานได้ดีขึ้นก็เป็นได้

6. เปิดรับความเปลี่ยนแปลง และกล้าที่จะเสี่ยง

สถานการณ์รอบตัวมันเปลี่ยนตลอดเวลา เป้าหมายเปลี่ยนแปลงตามแต่ละสเตจขององค์กร คนในทีมก็อาจจะต้องเปลี่ยนไปทำนู่นทำนี่บ้าง หรือทำงานในวิธีที่แตกต่างจากเดิมไปบ้าง ส่วนความเสี่ยงที่ทีมจะเปิดรับนั้นต้องมีเหตุผล มีความเป็นไปได้ที่จะนำมาซึ่งความสำเร็จ ไม่ใช่แค่เสี่ยงไปเฉยๆ แล้วไม่ได้อะไรกลับมาเลย ความเสี่ยงที่เพิ่มเข้ามาบ้างจะช่วยให้ทีมได้รับบทเรียนว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควร ซึ่งจะเป็นประโยชน์มากในภายภาคหน้า

7. สมาชิกกล้าที่จะเป็นกระบอกเสียงของทีม

กล่าวคือ หากคนคนหนึ่งในทีมต้องไปตัดสินใจอะไรสักอย่าง คนคนนั้นจะรู้สึกว่าเขาคู่ควรกับการกระทำนี้ เพราะเขาเป็นส่วนหนึ่งของทีม นั่นหมายความว่าเขาสามารถตัดสินใจแทนสมาชิกที่เหลือได้ การกระทำนี้จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลยกับกลุ่มทำงาน เพราะสมาชิกในกลุ่มจะรอให้ผู้นำเป็นคนตัดสินใจแทน

8. มอบฟีดแบ็กที่เป็นประโยชน์ให้แก่กัน

ภาษาอังกฤษคือ Constructive Feedback แปลตรงๆ เลยคือฟีดแบ็กที่ช่วยเสริมสร้างอะไรก็ตามให้ดียิ่งกว่าเดิม ซึ่งฟีดแบ็กนี้จริงๆ จะมาในเชิงบวกหรือลบก็ได้ ในเชิงบวกก็คือการแทรกรายละเอียดเข้าไปในคำชม ไม่ใช่ชมอย่างเดียว แต่ระบุด้วยว่าทำดีเพราะอะไร ทำไมถึงสมควรได้รับคำชมนี้ ส่วนในทางลบ ก็คือไม่ใช่แค่ด่าเฉยๆ อะ แต่ควรชี้แนะด้วยว่าทำไมสิ่งนี้ถึงผิด แล้วแนะนำว่าควรแก้ไขอย่างไร ฟีดแบ็กที่เป็นประโยชน์แบบนี้จะช่วยให้สมาชิกทีมเห็นความเป็นจริงว่าควรพัฒนาหรือปรับปรุงตรงไหน

รู้จักทีมที่ดีกันไปแล้ว แล้วทีมที่แย่ล่ะเป็นยังไง?

1. ช่างวิพากษ์วิจารณ์ ตำหนิติเตียนเกินไป

ไม่ต้องอธิบายอะไรมาก ใครจะอยากอยู่ในทีมที่มีแต่การพูดคุยด้านลบๆ ล่ะ? ใครจะอยากถูกด่าทุกวัน? ทำอะไรก็ไม่เคยได้ดั่งใจ ด่าอย่างเดียวแต่ไม่เคยแนะนำ เจอแบบนี้บ่อยๆ เข้า ก็คงอึดอัดจนทนอยู่ไม่ไหวแน่ๆ

2. ชอบบ่น

การบ่นเป็นกิริยาที่ง่ายที่สุดเพื่อปลดปล่อยความทุกข์ แต่การบ่นเฉยๆ โดยไม่ทำอะไรเลยนั้นเป็นการกระทำที่ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพเท่าไรนัก เพราะนอกจากจะทำให้บรรยากาศโดยรอบเต็มไปด้วยพลังงานด้านลบแล้ว เวลาที่เสียไปกับการบ่นยังไม่ช่วยพัฒนาอะไรให้ดีขึ้นด้วย

3. ชอบเปรียบเทียบ

ทำไมคนคนนี้ถึงได้คอมใหม่แต่เราไม่ได้? ถ้าเราชอบเปรียบเทียบ เราก็อาจจะอิจฉาว่าทำไมเราไม่ได้แบบเค้าบ้าง แต่ถ้าเข้าใจ เราก็จะรู้ว่า อ๋อ คนนี้เค้าต้องทำกราฟิก ต้องเขียนโค้ด ฉะนั้นจึงต้องการคอมที่ใหม่กว่า แรงกว่า ก็เป็นอันเข้าใจได้

4. แข่งขันกันเอง และจะไม่หยุดจนกว่าจะรู้ผล

การแข่งขันอะ ถ้ามีพอให้กระชุ่มกระชวย พอให้สนุกๆ มันก็โอเคนะ แต่ถ้าการแข่งขันเริ่มมีการแพ้ชนะจริงๆ จังๆ เมื่อไร เมื่อนั้นแหละการแข่งขันจะถือว่าเป็นพิษแล้ว ไม่มีใครอยากเป็นผู้แพ้หรอกจริงมั้ย? และการที่เราไม่หยุดแข่งจนกว่าจะรู้ผลก็อาจจะทำเราหลุดโฟกัสในสิ่งที่สำคัญจริงๆ เพราะมัวแต่ไปสนกับผลแพ้ชนะในสิ่งที่ไม่ได้สำคัญขนาดนั้น

5. มีความช่างแม่ง

ช่างแม่งในทีนี้คือรู้สึกว่าทุกอย่างมันโอเคแล้ว ปล่อยมันเถอะ คงไม่มีอะไรดีไปกว่านี้อีกแล้วแหละ การที่ทีมมีความช่างแม่งมากเกินไป จะทำให้ทีมเผลอมองข้ามโอกาสที่อาจจะซ่อนอยู่ หรือภัยอันตรายอะไรที่กำลังจะคุกคาม และไม่คิดที่จะพัฒนาตัวเองต่อไป

สรุป

จากทั้งหมดทั้งมวลนี้ เราจะเห็นได้เลยว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่จะช่วยขับเคลื่อนองค์กรให้ไปสู่เป้าหมายได้ ตั้งแต่การวางกลยุทธ์ วางอุบาย วัดผล ไปจนถึงการบริหารทีม แต่ละปัจจัยสำคัญมากจริงๆ หวังว่าทุกคนจะได้ไอเดียใหม่ๆ ไปเล่นในองค์กรไม่มากก็น้อยนะ

สุดท้ายแล้ว ก็ต้องขอขอบคุณคุณทิวาที่นำประสบการณ์และความรู้มาแชร์กันในวันนี้ และขอบคุณ DTAC Accelerate สำหรับเวิร์คช็อปดีๆ ค่ะ

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

Blog at WordPress.com.

Up ↑

%d bloggers like this: