เพราะอุปสรรคมีไว้ให้ขับชน: Grab กับเป้าหมายสู่การเป็นสุดยอดแอปพลิเคชั่น !!

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการปรากฏตัวของ Grab ช่วยให้ประสบการณ์การเดินทางของหลายๆ คนดีขึ้น ช่วยให้ระบบขนส่งของเรามีความไฮเทคยิ่งขึ้น ซึ่งสิ่งนี้ก็ตรงตามเป้าหมายที่บริษัทวางไว้ นั่นก็คือ “Driving Southeast Asia forward.”

แต่! ต่อจากนี้แค่บริการเรียกรถ (Ride-Hailing) ซึ่งมีทั้ง GrabTaxi, GrabCar, GrabBike อาจน้อยเกินไป เพราะการแข่งขันในอุตสาหกรรมนี้สูงขึ้นมาก หลายคนน่าจะเคยเห็นบริการอื่นๆ นอกจากบริการด้านการเดินทาง อย่าง GrabPay, GrabFood กันมาบ้างแล้ว

จากบริการเรียกรถธรรมดาๆ Grab มาถึงจุดนี้ได้ยังไง? ต้องย้อนไปจุดเริ่มต้นก่อน

Grab นั้นก่อตั้งขึ้นในมาเลเซีย เมื่อปี 2012 โดย 2 ศิษย์เก่าจาก Harvard Business School โดย Grab นั้นมุ่งเน้นทำตลาดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งที่ผ่านมาก็เติบโตอย่างรวดเร็วเพราะแถบนี้ยังไม่มีระบบการคมนาคมที่พัฒนามากนัก และระบบแท็กซี่ดั้งเดิมก็…เอิ่ม นั่นแหละ (//ไม่พูดมากเจ็บคอ)

จำนวนรอบโดยสารของ Grab ได้แตะระดับ 1 พันล้านรอบเมื่อตุลาคมปีที่แล้ว และแตะระดับ 2 พันล้านรอบเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ช่วง 9 แรกในปี 2018 นั้น Grab มีจำนวนรอบโดยสารเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 3.7 ล้านรอบ

Grab ทำธุรกิจในหลายประเทศ ทั้งไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม อินโนนีเซีย พม่า และกัมพูชา มีพนักงานประมาณ 3,000 คนซึ่งมาจาก 40 ประเทศ แถมยังมีวิศวกรคอมพิวเตอร์ซึ่งเคยทำงานที่ Google และ Facebook ด้วย!! ไม่ธรรมดาจริงๆ

มีอะไรไม่ธรรมดาอีกไหม? มี ! ก่อนหน้านั้นก็กวาดเงินทุนไปมากกว่า $5 พันล้าน (~1.6 แสนล้านบาท) และตอนนี้ก็เป็นบริษัท Unicorn ที่ใหญ่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปแล้วด้วยมูลค่าบริษัทที่ $1 หมื่นล้าน (~3 แสนล้านบาท) ซึ่งมากกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของการเข้าแก๊ง Unicorn ตั้ง 10 เท่า!

ทาง Softbank Group นักลงทุนรายใหญ่ของ Grab มองว่า Grab ถือเป็นกำลังสำคัญสำหรับธุรกิจแอปฯ ให้บริการรถยนต์ร่วม เสริมทัพไปกับ Uber ของสหรัฐฯ, Didi Chuxing ของจีน และ Ola ของอินเดีย ซึ่งทั้งหมดนั้นอยู่ในพอร์ตโฟลิโอของ Softbank นั่นเอง

ข่าวใหญ่ที่เป็นประเด็นฮือฮาอยู่พักนึงในปีนี้คือตอนที่ Grab เข้าซื้อกิจการ Uber ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลังแข่งขันกันมาอย่างดุเดือดเป็นระยะเวลา 5 ปี ซึ่งกลยุทธ์นี้เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ Grab เป็นอย่างมาก

แต่อย่าเพิ่งเฉลิมฉลองไป เพราะแม้ว่าจะมีข่าวดีรายล้อม แต่ Grab ก็เจอแรงกดดันมากมายในหลายประเทศและจากหลายหน่วยงาน

เริ่มกันที่บ้านเกิดอย่างมาเลเซียเลย

เมื่อวันที่ 11 ก.ค. รัฐบาลมาเลเซียได้ออกกฎให้คนขับ Grab ต้องมีมาตรฐานเดียวกันกับคนขับแท็กซี่ทั่วไปซึ่งทางการก็ระบุว่ากฎหมายนี้ต้องการส่งเสริมให้ผู้ขับรถมีความเป็นมืออาชีพ ถึงอย่างนั้นก็มีเสียงตอบโต้มาว่าอันที่จริงแล้วมาตรการนี้มีเพื่อปกป้องคนขับแท็กซี่ท้องถิ่นต่างหาก อิโธ่

กฏหมายนี้มีผลบังคับใช้ในอีก 1 ปีข้างหน้า ซึ่งจะส่งผลกระทบต่างๆ เช่น คนขับ Grab ต้องสอบเอาใบอนุญาตเฉพาะสำหรับคนขับรถสาธารณะ ส่วนรถที่อายุเกิน 3 ปีก็ต้องได้รับการตรวจสอบทุกๆ ปี สิ่งเหล่านี้เพิ่มต้นทุนใ้ห้คนขับ Grab สุดๆในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่กฏหมายใหม่นี้คนขับ Grab หลายคนก็ได้ออกมาบ่นว่าแล้วแบบนี้ใครจะไปขับ เรื่องมากชะมัด ซึ่งก็เป็นไปได้ว่าหากกฎนี้มีผลบังคับใ้ช้จริงๆ เมื่อไรอาจจะได้เห็นจำนวนคนขับรถ Grab ในมาเลเซียลดลง

มาต่อกันที่ประเทศใกล้เคียงอย่างสิงคโปร์

เมื่อเดือน ก.ค. หน่วยงานอย่างคณะกรรมการด้านการแข่งขันและผู้บริโภคก็มองว่าการควบรวมธุรกิจกันของ Grab และ Uber เมื่อเดือนมีนาคมทำให้ระดับการแข่งขันของอุตสาหกรรมลดลง โดยส่วนแบ่งตลาดของ Grab ในสิงคโปร์ได้เพิ่มขึ้นเป็น 80% !! หน่วยงานนี้ออกมาตรการควบคุมด้วยการอนุญาตให้คนขับ Grab ทำงานกับหลายบริษัทได้ ไม่จำเป็นต้องจบที่ Grab ที่เดียว และออกกฏสั่งให้บริษัทเก็บค่าบริการในระดับเดียวกันกับช่วงเวลาก่อนเกิดการควบรวม ซึ่งทางคณะกรรมการได้อ้างเสียงบ่นของทั้งคนขับและผู้ใช้บริการเกี่ยวกับราคาที่เพิ่มขึ้นถึง 10-15%ผลลัพธ์ล่าสุดก็คือหน่วยงานได้ลงโทษด้วยการเรียกค่าปรับรวมทั้งหมด $9.5 ล้าน (~300 ล้านบาท)

Grab ก็ไม่ได้อยู่เฉย ออกมาปฏิเสธว่าการแข่งขันไม่ได้ลดลงเลยเหอะ เพราะยังไง Grab ก็ต้องแข่งกันแย่งลูกค้ากับบริษัทให้บริการคมนาคมอื่นๆ อยู่ดี และการที่ห้ามไม่ให้คนขับผูกสัญญากับ Grab ที่เดียวก็ไม่แฟร์เอาซะเลยเพราะบริษัทอื่นๆ เค้าก็ผูกสัญญากับคนขับตัวเองเหมือนกันไม่ใช่หรือ?

ไปดูความท้าทายของ Grab ในเวียดนามบ้าง

เมื่อวันที่ 18 ก.ค. มีการทดลองให้บริการมอเตอร์ไซค์ของ Go-Viet (บริการในเครือ Go-Jek ของอินโดนีเซีย)ในโฮจิมินห์ ซิตี้ เป็นครั้งแรก ซึ่งคนขับก็ไม่ใช่ใครที่ไหน เป็นพนักงานเก่าของ Uber ที่เคยยกธงขาวในเวียดนามน่ะเอง โดยเวียดนามนั้นถือว่าเป็นหนึ่งในจุดหมายที่ Go-Jek อยากจะขยับขยายไปหา นอกเหนือจากนั้นก็มีไทย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ โดย Go-Jek ได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนกว่า $500 ล้าน (~1.6 หมื่นล้านบาท)

นอกจาก Go-Jek แล้ว อุตสาหกรรมนี้ยังมีผู้เล่นเพิ่มเข้ามามากมาย ไม่ว่าจะเป็น Aber จากเวียดนาม หรือ Ryde จากสิงคโปร์ ทำให้การแข่งขันนั้นสูงยิ่งขึ้นกว่าเดิม นักวิเคราะห์ได้ระบุว่าช่วงนี้ธุรกิจให้บริการเรียกรถกำลังเผชิญความท้าทายพอสมควรต้องลงทุนให้คุ้มค่ากว่าเดิมเพื่อให้เกิดการเติบโตที่ดีกว่า ด้วยระดับค่าจ้างตอนนี้ทำให้บริษัทเติบโตได้ยากจริงๆ

ด้วยเหตุนี้แหละ Grab จึงต้องขยับขยายธุรกิจไปยังโอกาสใหม่ๆ

โดย Grab เริ่มขยายไปทำธุรกิจอื่นๆ (diversification) ตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมาเช่น บริการจ่ายเงินออนไลน์อย่าง GrabPay ซึ่งครอบคลุมการใช้จ่ายนอกเหนือไปจากค่าแท็กซี่ และ GrabFresh บริการขนส่งอาหารที่จับมือกับบริษัทสัญชาติอินโดนีเซียอย่าง HappyFresh ที่มีรายการสินค้ากว่า 100,000 รายการ

ใช่แล้ว…Grab กำลังจะกลายร่างเป็น “สุดยอดแอปฯ”ที่เราสามารถใช้งานในทุกๆ วัน ไม่ใช่แค่ไว้เรียกหาเวลาต้องการเดินทางเท่านั้น

เมื่อวันที่ 10 ก.ค. บริษัทได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่าจะขยับขยายไปให้บริการด้านไลฟ์สไตล์ ซึ่งได้พาร์ตเนอร์กับบริษัทอื่นๆ โดย Grab จะไฟเขียวให้บริษัทที่เป็นพาร์ตเนอร์เข้าถึงฐานข้อมูลผู้ใช้ของตัวเอง ภายใต้กลยุทธ์ใหม่นั่นก็คือ Open Platformถึงอย่างนั้นประเด็นนี้เป็นอะไรที่ Grab ต้องควบคุมให้ดี ระหว่างความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ กับ การแสวงหาผลประโยชน์ของบริษัท เพราะถ้าเกิดปัญหาอะไรขึ้นมาเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน คงจบไม่สวยแน่

นอกจากด้านไลฟ์สไตล์แล้ว Grab ยังได้พาร์ตเนอร์กับ Toyota Motor ซึ่งลงทุน $1 พันล้าน (~3 หมื่นล้านบาท) ใน Grab เมื่อเดือนมิ.ย. เพื่อพัฒนารถยนต์ที่สามารถใช้เทคโนโลยี Internet of Things (IoT) ได้ เห็นได้เลยว่าแม้จะขยายไปทำธุรกิจที่หลากหลาย แต่ Grab ก็ยังคงลงทุนในเทคโนโลยีโดยทีมงานหลักๆ ของ Grab นั้นทำงานอยู่ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS) มหา’ลัยระดับท็อปของเอเชียและของโลก ที่ที่ Grab ใช้เป็นห้องทดลองเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI)

เห็นได้ชัดเลยว่า Grab กำลังเดินตามรอย Alibaba และ Tencent ด้วยการสร้างระบบนิเวศของตัวเองด้วยความช่วยเหลือจากพาร์ตเนอร์ท้องถิ่น พิสูจน์ให้เราเห็นว่า Grab พร้อมรับมือกับแรงกดดันด้านการแข่งขัน เพราะแทนที่จะยอมแพ้ ความท้าทายเหล่านี้กระตุ้นให้ Grab ยิ่งต้องพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมา

ดูจากศักยภาพการพัฒนาแล้ว ต้องมาดูกันว่าในอนาคต Grab จะมีอะไรมาเซอร์ไพรส์เราอีก 🙂

Sources:
https://www.sanook.com/money/599741/

https://asia.nikkei.com/Business/Company-in-focus/Grab-aims-to-stay-on-top-with-evolution-into-everyday-superapp
https://www.reuters.com/article/us-uber-grab-singapore/singapore-fines-grab-and-uber-imposes-measures-to-open-up-market-idUSKCN1M406J

Leave a comment

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

Blog at WordPress.com.

Up ↑